30/03/2022
Life

เมืองไม่สะดวกยิ่งทำให้คนพิการรู้สึกเป็นอื่น ‘หนู’-นลัทพร ไกรฤกษ์’ บรรณาธิการเพจ ThisAble.me

ชยากรณ์ กำโชค
 


เชื่อว่าทุกคนคงจะเคยมีประสบการณ์หงุดหงิดกับปัญหาเดินบนฟุตพาทที่พื้นไม่ราบเรียบ ต้องคอยหลบสิ่งกีดขวางซ้ายขวา ราวกับบททดสอบก่อนไปถึงจุดหมาย แต่สำหรับคนพิการ พวกเขาอาจต้องอ้อมไกลนับกิโลเพื่อไปยังจุดหมายเดียวกัน หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ ไม่สามารถเดินทางไปได้เลย

การพาผู้อ่านตระเวนไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ด้วยวีลแชร์ของ ‘หนู-นลัทพร ไกรฤกษ์’ บรรณาธิการเพจ ThisAble.me สื่อออนไลน์ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับคนพิการ สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินชีวิตประจำวันของคนพิการยากลำบากเพียงใด และเมื่อเมืองไม่เป็นใจคนพิการยิ่งขาดโอกาสในการใช้ชีวิตนอกบ้าน ซึ่งเกี่ยวพันธ์ตั้งแต่การประกอบอาชีพ การหาประสบการณ์ใหม่ ตลอดจนการเข้าสังคม 

ประสบการณ์เคยไปใช้ชีวิตอยู่สหรัฐอเมริการะยะหนึ่งของหนู ทำให้เธอเห็นความต่างอย่างชัดเจนว่าเมืองที่ออกแบบมาเพื่อผู้ใช้ทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่เพียงแค่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ยังทำให้คนพิการไม่รู้สึกเป็นอื่นในสังคม จนเธอถึงกับเอ่ยปากว่า “มันเป็นความรู้สึกชัดเจนที่สุดถึงการมีชีวิตที่เป็นปกติ”

เมื่อปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการอยู่ถึง 2,102, 384 คน (ข้อมูล วันที่ 31 ธ.ค 64 จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) The Urbanis จึงชวนหนู ผู้เป็นทั้งคนพิการ และผู้เคลื่อนไหวประเด็นนี้ผ่านการทำสื่อ มาบอกเล่าผลกระทบจากเมืองที่คนพิการต้องเผชิญ พร้อมตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เมืองจะออกแบบโดยคำนึงการใช้งานที่รองรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะคนพิการก็นับเป็นพลเมืองคนหนึ่งของสังคม 

ชีวิตประจำวันที่ไม่เคยง่ายของคนพิการ

เมื่อถามถึงความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันในกรุงเทพฯ สำหรับคนพิการ หนูเริ่มเล่าให้ฟังว่าแต่ละประเภทความพิการพบความยากลำบากในการใช้ชีวิตต่างกันออกไป ทว่าคนที่นั่งวีลแชร์หรือคนใช้ไม้ค้ำยันอาจจะเห็นภาพชัดที่สุดว่า สภาพเมืองของเราไม่ได้เอื้อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่าง สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว 

“ความพิการของตัวเขากลายมาเป็นข้อจำกัดของการใช้ชีวิตหรือการมีส่วนร่วมกับสังคม ทั้งที่จริงๆ แล้วในหลายประเทศความพิการถูกนิยามใหม่แล้วว่าไม่ใช่อุปสรรค แต่สภาพแวดล้อมต่างหากที่เป็นอุปสรรคต่อสภาพร่างกายของคนๆ หนึ่ง ซึ่งแนวคิดนี้ยังไม่ค่อยถูกเอามาใช้ในประเทศไทยเท่าไร ถ้าประเทศเราคิดว่าอุปสรรคที่แท้จริงของคนพิการคือ สภาพแวดล้อม เราคิดว่ามันก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้ ไม่ใช่ให้เขาพยายามปรับความพิการของเขา เขานั่งวีลแชร์ล้อขึ้นไม่ได้ก็ต้องไปปรับล้อ แบบนั้นไม่ได้มองในฐานะสภาพแวดล้อมเป็นอุปสรรค แต่มองว่าคนพิการเป็นอุปสรรคต่อสภาพแวดล้อม”

“ที่ผ่านมาเราคิดว่างานด้านคนพิการเวลาคิดถึงเรื่องเมือง เราไม่ได้มองว่าสภาพแวดล้อมเป็นอุปสรรคสักเท่าไร การออกแบบจึงเป็นแบบไม่รู้ใครสะดวก ไม่รู้ออกแบบเพื่อคนกลุ่มไหน เพราะว่าท้ายที่สุด ถึงแม้จะสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี เดินสะดวก ตามองเห็น หูได้ยิน แต่หลายคนยังเจออุบัติเหตุ หรือความไม่สะดวกในการใช้พื้นที่เมืองของเราอยู่ ไม่ใช่แค่คนพิการ เพียงแต่ว่าพอเรามีความพิการเข้าไป เราก็เลยเห็นชัดขึ้นว่าสภาพแวดล้อมมันไม่เอื้อให้เราใช้ชีวิตยังไงมากกว่า” 

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อการสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเดินทาง สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้มีตั้งแต่อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอันตรายถึงชีวิต สำหรับหนูเธอไม่เคยเจอประสบการณ์เลวร้ายดังกล่าว แต่บางครั้งการต้องพาวีลแชร์ลงไปบนถนนเท่ากับความปลอดภัยในชีวิตเธอแขวนอยู่บนเส้นด้าย 

“เรายังไม่เคยเจออุบัติเหตุที่ทำให้เจ็บตัว อาจเพราะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนถนนเป็นประจำ รวมถึงเราก็ค่อนข้างไปในที่ที่คิดว่าตัวเองไปได้ และเป็นพื้นที่ที่คุ้นชิน เช่น เดินทางจากบ้านมาออฟฟิศ แต่พอเป็นสถานที่ใหม่ที่ไม่รู้จัก เราค่อนข้างกังวลมาก ไม่รู้ว่าจะไปเจอกับอะไร และสภาพแวดล้อมที่จะไปเจอ เราจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือเปล่า หลายครั้งไปก็จะพบว่า ไม่มีทางลาด ไม่มีพื้นที่ที่ช่วยให้เราสามารถเดินไปบนฟุตพาทได้ เราก็จำเป็นที่จะต้องลงไปบนถนน และบนถนนมันน่ากลัว แต่เราไม่มีทางเลือก เพราะก็อยากไปถึงจุดหมาย”

“ตอนที่เราทำคอนเทนต์ไปคลองช่องนนทรี และต้องลงไปบนถนน ถามว่าเป็นเรื่องที่ตัดสินใจง่ายหรือเปล่าในการที่จะเอาชีวิตตัวเองไปอยู่ท่ามกลางรถมากมาย เราคิดว่าเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากมากถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ ไม่ได้มีทางเลือกจริง เราคิดว่าคงไม่มีคนพิการคนไหนอยากจะเอาตัวเองลงไปอยู่บนถนนที่เรารู้ว่าไม่ปลอดภัยหรอก และถึงเราจะไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ แต่หลายครั้งมันพ่วงมากับ การเสียเวลา และเสียโอกาส พอใช้วีลแชร์เห็นได้ชัดมากว่าจะต้องเผื่อเวลาไปไหนมาไหนเยอะ เนื่องจากเราอาจจะต้องอ้อมไกลเพื่อเดินทางไปจุดหมายแค่ใกล้ๆ”

“หลายครั้งมากที่เราต้องเดินไปถึงแยกไฟแดงเพื่ออ้อมกลับมาที่ที่เราจะข้ามถนน แม้แต่การใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่าง รถเมล์ชานต่ำ เราต้องรอรถเมล์ชานต่ำนานมากกว่าจะมาคันหนึ่ง และไม่สามารถคาดเดาได้ด้วยว่ารถเมล์จะมาเมื่อไร เนื่องจากในแอปฯ รถเมล์ไม่ได้แจ้งว่าเป็นชานต่ำหรือชานสูง เราจะรู้แค่ว่าสายไหน และรู้แค่ว่าสายนั้นมีชานต่ำ แต่ไม่ได้แปลว่าสายนั้นจะเป็นชานต่ำทุกคัน เพราะฉะนั้นเราต้องนั่งรอไปจนกว่ารถเมล์ชานต่ำจะมา สถิติที่เราเคยรอนานที่สุดคือ 2 ชั่วโมงครึ่ง จนสุดท้ายเราไม่รอ ต้องเรียก Grab กลับแทน เพราะไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นกี่ชั่วโมงกว่ารถเมล์จะมา”

“แม้แต่การขึ้น BTS ที่เรามองว่าสะดวกแล้ว ปรากฎว่าก็เจอปัญหา เช่น ต้องรอให้เจ้าหน้าที่มาเปิดลิฟต์  ลิฟต์ที่มีถูกล็อกไว้ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ เราเคยถามเหมือนกันนะว่าทำไมต้องล็อกไว้ ในเมื่อคุณมีลิฟต์ คุณก็ให้คนพิการใช้เลยไม่ได้เหรอ เขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะมีคนเอาขยะไปทิ้ง เดี๋ยวจะมีคนมากดปุ่มเล่น เราก็ไม่รู้หรอกว่าเหตุผลจริงๆ ที่เขาต้องล็อกลิฟต์คืออะไร แต่เวลาคนพิการจะมาใช้ก็ต้องรอ บางสถานีจะมีเบอร์ติดไว้และให้โทรไป บางสถานีจะต้องไปเรียก รปภ. ที่อยู่ตรงบันไดเพื่อให้เขามาเปิด ซึ่งนานที่สุดที่เคยรอคือครึ่งชั่วโมง เราเลยรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส คนพิการไม่ได้มีเวลาที่มากกว่าคนอื่น คนพิการก็มีเวลาเท่ากัน  เพราะฉะนั้นการเสียเวลาชีวิตไปกับอะไรแบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกเหนื่อยหน่ายในการเดินทาง ทำให้บางครั้งเราเหมือนเป็นคนไม่ตรงเวลา เพราะไปสายหรือไปไม่ทันนัด” 

“ค่าเดินทางเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน รถเมล์ชานต่ำค่าโดยสารประมาณ 15 บาท แต่เมื่อวันนั้นเเราเรียก Grab กลายเป็นค่าโดยสาร 300 บาท ซึ่งจะต้องมีคนพิการแน่นอนที่พบเจอปัญหาเหล่านี้แทบทุกวัน เราอาจจะเจอแค่วันเดียวเพราะไปที่ที่ไม่คุ้น และไม่รู้จะกลับบ้านยังไง แต่มีคนพิการอีกจำนวนมากที่เดินทางด้วยค่าใช้จ่ายสูงมากขนาดนี้เป็นปกติ คนพิการได้ค่าแรงประมาณค่าแรงขั้นต่ำ แต่ทำไมค่าเดินทางของเขาในชีวิตมันถึงมากมายมหาศาลขนาดนี้ ทำไมการเดินทางที่ประหยัด ปลอดภัย ขึ้นได้ทุกคนมันถึงไม่สามารถเกิดขึ้น และทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้ สุดท้ายจะผลักดันคนพิการไปทำงานนอกบ้านเพื่ออะไร ถ้าเกิดสุดท้ายค่าเดินทางแพง เขาก็คงอยู่ไม่ไหว”

ช่องว่างของกฎหมาย และการออกแบบที่ชวนฉงน

แม้ปัจจุบันจะมีกฎกระทรวงกําหนดลักษณะหรือการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอํานวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2556 แต่ความจริงเรายังพบว่าบางอาคารยังไม่มีทางลาดสำหรับคนพิการ หรือบริการขนส่งสาธารณะเองนั้นก็ไม่ได้ออกแบบให้คนพิการสามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึง

“กฎหมายเพิ่งเกิดมาไม่นาน และตึกที่เกิดขึ้นไปแล้ว โดยไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ก็ไม่ได้ถูกบังคับตามกฎหมายนี้ ซึ่งเราคิดว่าเป็นปัญหามาก เนื่องจากเมื่อเราไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจัง  ในตัวกฎหมายเองก็เขียนคลุมเครือ เช่น การเขียนว่าจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ความเป็นจริงมันอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คนหูหนวก คนตาบอด คนนั่งวีลแชร์ เราใช้สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เหมือนกัน จะมีเบรลล์บล็อกอย่างเดียว แต่ไม่มีทางลาด คนนั่งวีลแชร์ก็ไปไม่ได้เหมือนกัน”

“อีกประโยคหนึ่งที่เป็นปัญหาและกฎหมายไทยชอบใช้คือ ตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่หรือของสถานที่ อันนี้ก็เป็นปัญหาว่าดุลยพินิจของใคร และดุลยพินิจของเขาคำนึงหรือยังว่า การใช้งานจะต้องใช้งานได้ทุกคน ถึงแม้จะมีกฎหมาย แต่เราก็ยังมีช่องว่างตรงส่วนนี้ที่หลายครั้งต่อให้ตึกสร้างใหม่ สุดท้ายเขาอาจจะบอกว่ามีแค่ราวจับก็พอแล้วไหม เพราะเรามีอย่างใดอย่างหนึ่ง เลยทำให้คนพิการหลายประเภทเข้าไม่ถึงอยู่ดี นี่เป็นปัญหา และไม่มีบทบังคับด้วยว่าถ้าไม่ทำแล้วเราจะโดนอะไรหรือจะมีการบังคับได้ยังไงบ้าง”

“เราได้ยินหลายคนพูดว่า จริงๆ กฎหมายคนพิการของไทยก็ค่อนข้างดี เป็นน้องญี่ปุ่นเลย แต่ว่าการบังคับใช้ในบ้านเราไม่จริงจัง ขนาดภาครัฐยังทำไม่ได้ และในภาคเอกชนเมื่อคนพิการอาจจะไม่ใช่ลูกค้าของเขา มันน่าจะเมคเซนส์กว่าอีกว่าทำไมภาคเอกชนถึงไม่ใส่ใจคนพิการ แต่ในฐานะภาครัฐนั้น ไม่สามารถเป็นข้อยกเว้นได้ ในเมื่อคนพิการก็เป็นพลเมือง เป็นประชาชนผู้เสียภาษีคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นไม่ว่าเขาจะพิการหรือไม่พิการ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครในสังคมเรา ภาครัฐไม่มีข้อยกเว้นที่จะเลือกปฎิบัติกับคนบางกลุ่ม หรือละเลยคนบางกลุ่ม และภาครัฐเองก็ไม่ได้แสดงความจริงใจจะทำให้เห็นว่า การทำให้คุณภาพชีวิตคนพิการดีขึ้นส่งผลดีอย่างไร หรือการมีคนพิการเข้าทำงานในตำแหน่งเท่าเทียมกับคนที่ไม่พิการเป็นไปได้จริงไหม”

“เราคิดว่าในกรณีแบบนี้ภาครัฐจะมีบทบาทมากที่จะทำให้สังคมเห็น ถ้าเขาพูดว่าคนพิการมีศักยภาพ คนพิการไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คนพิการเป็นพลังไม่ใช่ภาระ ตาม Motto ต่างๆ ของเขา เขาก็ต้องทำให้เห็นอย่างนั้น ด้วยการจ้างงานคนพิการในอัตราที่เท่าเทียมเสมอภาคกับคนอื่น ด้วยตำแหน่งงานที่ได้เลื่อนขั้น ไม่มองว่าคนพิการเป็นได้แค่นั้น หรือเป็นอะไรได้ เป็นอะไรไม่ได้ มันต้องเปิดโอกาสจริงๆ และสังคมจะเห็นว่าคนพิการสามารถทำได้ ไม่ได้ต่างอะไรจากคนไม่พิการ”

นอกจากปัญหาทางด้านกฎหมาย หลายครั้งการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ กลับไม่ได้อำนวยความสะดวกเลยสักนิด ไม่ว่าจะเบรลล์บล็อกที่พาลงไปเจอเสา หรือลิฟต์คนพิการที่ชำรุดตลอดทั้งปี รวมถึงฟุตบาทขนาดเล็กที่พบเห็นได้ทั่วไป ประเด็นนี้หนูมองว่า 

“เมืองไทยเรามีองค์ความรู้เรื่องการออกแบบนะ และถ้าเราไม่มี ต่างประเทศมีความรู้เรื่องนี้เยอะมาก เขาทำกันจนเป็นมาตรฐานแล้ว จริงๆ เราไม่ได้ไม่มีความรู้ หน่วยงานภาครัฐก็ดี เอกชนก็ดี มีความรู้อยู่แล้วว่าจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างไรให้ใช้งานได้จริงและปลอดภัย ไม่ผุพังง่าย สิ่งสำคัญที่ทำให้ไม่เกิดขึ้นน่าจะมีหลายปัจจัย เช่น การถูกมองว่า ‘คนพิการไม่ออกนอกบ้านหรอก’ เขาไม่ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้หรอก และถ้าสร้างตึกขึ้นมางบเกินหรืออยากจะคุมงบ สิ่งแรกๆ ที่จะถูกตัดทิ้งไปก็อาจจะเป็นเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก เพราะมองว่าไม่มีคนพิการมาใช้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ เรื่องของการตรวจรับงาน เราเคยคุยกับพี่ๆ หลายคนว่าทำไมตึกใหม่ๆ การออกแบบเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ หรือ Universal Design ถึงไม่ถูกใส่เข้าไป เขาก็บอกว่าจริงๆ หลายที่ตอนออกแบบมีนะ แต่พอต้องตรวจรับงาน เขาไม่ได้มาซีเรียสกับดีเทลเล็กๆ เหล่านี้ว่าจะต้องถูกมาตรฐาน จะต้องมี หรือต้องใช้งานได้ คือเขาก็มองว่าเป็นส่วนที่ไม่ได้มีความสำคัญกับโครงสร้าง ไม่ได้มีส่วนสำคัญต่อหน้าตาความสวย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็อาจจะถูกละเลยไป”

“บางครั้งก็ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ดีนะ แต่สุดท้ายกลับใช้งานไม่ได้จริง เช่น ทางลาดที่ชันมากๆ หรือ สิ่งกีดขวางระดับศีรษะที่เราก็มักจะเห็นประจำ เช่น พวกป้ายต่างๆ หรือทางลาดถูกสร้างมาอย่างสวยงามริมฟุตพาท แต่อีกหน่วยงานหนึ่งมาตั้งเสาไฟฟ้าบนทางลาดเพราะมันโล่งดี อันนี้น่าจะเป็นปัญหานโยบายในการทำงานว่าเขาไม่ได้เห็นความสำคัญของการที่จะต้องทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกถูกใช้ได้ เราเห็นหลายที่มากเลยนะที่มีเบรลล์บล็อกอยู่ที่พื้น แต่สุดท้ายป้ายรถเมล์มาตั้งทับ ปัญหาเหล่านี้ควรแก้กันที่หลักการทำงานว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งของจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนพิการ เพราะฉะนั้นต้องไม่มีข้อยกเว้นในการทำให้สิ่งของเหล่านี้ถูกทำลาย ขัดขวางหรือทำให้ใช้งานไม่ได้”

ความรู้สึก ‘ปกติ’ ในเมืองที่ต่างออกไป 

หนูมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริการะยะหนึ่ง ตะเวนไปหลายเมืองตั้งแต่ วอชิงตัน ดี.ซี. , โอเรกอน ,บอสตัน และอัลบูเคอร์คี ซึ่งเธอย้ำว่าทุกเมืองสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายหมดเลย กระทั่งเมืองอัลบูเคอร์คี ในรัฐนิวเม็กซิโก ที่ว่ากันว่ามีฟุตพาทแย่ที่สุดในประเทศนั้น เธอยังลงความเห็นว่า “อยากให้มาดูงานบ้านเรามากเลย ว่าแย่ที่สุดมันเป็นยังไง”

“ที่อเมริกาเราสามารถเดินทางเพื่อไปไหนมาไหนในเมือง ออกไปกินข้าว ออกไปช็อปปิ้ง ออกไปห้าง ไปสวนสาธารณะได้หมด เป็นความรู้สึกที่เรามองว่า ‘นี่แหละชีวิตที่มีความเป็นอิสระ’ และเราได้สิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตกลับคืนมา เราไม่ต้องเป็นภาระใคร สามารถมีชีวิตที่ทุกคนมีได้ อยากไปเที่ยวก็ไปเที่ยว อยากไปสวนก็ไป อยากจะไปในที่ที่คนอาจจะมองว่ามาด้วยเหรอก็ทำได้”

“ในเมืองไทยมีคนมองแบบนี้นะว่าทำไมเธอถึงมาที่นี่ เช่น ทำไมเธอถึงไปร้านเหล้า ทำไมถึงเข้าโรงหนัง แต่ตอนอยู่ที่นู้นเรากลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติมาก ไม่มีใครมามองเราในฐานะคนพิการว่า คนพิการไม่ควรจะมา แต่เขามองว่าเราเป็นคนหนึ่งในสังคมที่สามารถใช้ชีวิตไปไหนก็ได้ มันเป็นความรู้สึกชัดเจนที่สุดของการมีชีวิตที่เป็นปกติ”

“อยู่เมืองไทยเราไม่เคยรู้สึกเลยว่าสามารถไปไหนมาไหนด้วยชีวิตอย่างอิสระที่แท้จริง เราจะต้องขอความช่วยเหลือตลอดเวลา เช่น ขึ้นฟุตพาทไม่ได้เราก็ต้องเรียกคนช่วย หยิบนู้นหยิบนี่ไม่ได้ก็ต้องเรียกคนช่วย แต่ตอนไปอยู่อเมริกา เราสามารถใช้นาฬิกาจับการเดินได้ 5-6 กิโลเมตรต่อวัน ขณะที่เมืองไทยไม่เคยทำได้เพราะเราไม่เคยเดินไปไหนได้ ทุกครั้งที่ไปจะติดนู้นติดนี่ สุดท้ายก็ต้องเลือกนั่งรถ”

ปัจจัยที่เอื้อให้เธอรู้สึกมีชีวิตที่ปกติ ไม่พ้นการมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับคนพิการ  

“รถโดยสารสามารถขึ้นได้ทุกคัน แท็กซี่ก็วีลแชร์ขึ้นได้ รถเมล์เป็นชานต่ำทุกคัน เราสามารถโบกจากป้ายไหนก็ได้ รถไฟใต้ดิน รถไฟบนดินสามารถขึ้นได้หมด ไม่ได้มีปัญหาอะไรในส่วนนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางสถานีเหมือนกันที่อาจจะเข้าไม่ถึง เพราะบางสถานีรถไฟเป็นรางขนานไปกับพื้นดิน ตัวรถไฟจึงสูง และเราต้องขึ้นบันไดไปบนตัวรถไฟ แต่สุดท้ายเขามีลิฟต์มาช่วยยกเราขึ้น ซึ่งเขาก็มีวิธีแก้ไขปัญหา แล้วฟุตพาทหรือทางเดินเท้าถึงแม้จะเป็นในซอยก็ค่อนข้างกว้าง เรียบเสมอกัน สามารถใช้งานได้สะดวก ไฟแดงรถก็หยุดแบบไม่ต้องไปกดปุ่ม คนอื่นข้ามถนนได้ เราก็ข้ามได้ ถ้าในเมืองไทยสังเกตว่าหลายๆ แยก ไม่มีทางลาดลง ทางลาดไปอยู่ด้านข้างและไม่ได้มีทางม้าลายตรงนั้น เราจะพบเจออะไรแบบนี้หลายที่มาก แต่ที่อเมริกาไม่มีอะไรแบบนี้เลยแม้แต่น้อย”

“ไม่มีใครมองเราแปลกๆ ในการที่เราใช้วีลแชร์ หลายคนก็ใช้วีลแชร์และสกูตเตอร์เยอะแยะ เราสามารถกลมกลืนไปกลับคนอื่นๆ ในสังคมได้ เช่น เวลาเราเข้าไปนั่งในสวน ปกติที่เมืองไทย คนจะไม่ค่อยเข้าไปนั่งเล่น ส่วนมากจะเข้าไปวิ่งจ็อกกิ่งมากกว่า แต่ที่นู้นคนนั่งกันเต็มเลย เราที่อยู่บนวีลแชร์ถึงแม้จะนั่งสูงก็เถอะ กลับรู้สึกไม่แปลกแยกเท่ากับคนที่วิ่งในเมืองไทยเลย เรารู้สึกตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเขา ไม่ได้รู้สึกดูน่ากลัวหรือแปลกประหลาดอะไรที่มาอยู่บนพื้นที่แห่งนี้” 

“อีกอันที่แตกต่างกันมาก นอกจากเรื่องความสะดวกสบายต่างๆ ที่อเมริกามีการคิดเรื่อง Safetyness ด้วย เราสงสัยตลอดเลยว่าถ้าอยู่ในรถไฟฟ้าใต้ดิน และเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นมา เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือรถไฟใต้ดินถล่มเหมือนในหนัง ตัวเราเองที่นั่งวีลแชร์จะหนีอย่างไร มันเป็นความกังวลลึกๆ  ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้”

“เราเลยไปถามเขาว่าถ้าเกิดไฟไหม้ทำอย่างไร เขาก็ผายมือไปยังห้องหนึ่งที่เป็นกระจกใสๆ อยู่กลางสถานี เป็นห้องกันไฟ กันน้ำ ใช้กระจกนิรภัย และเขาบอกว่าแผนแรกของการอพยพคนเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น คือเราจะพยายามเอาคุณขึ้นให้เร็วที่สุด ทุกสถานีมีการติดตั้งลิฟต์เกาะบันไดที่สามารถเอาวีลแชร์ขึ้นไปได้ แต่ปัญหาคือสามารถเอาขึ้นไปได้ทีละคัน เพราะฉะนั้นก็จะมีคนติดค้างอยู่ข้างล่าง จึงต้องมีห้องกันไฟเพื่อให้คนที่ไม่สามารถขึ้นไปได้เข้าไปหลบก่อน”

“เขาคิดมาแล้วว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น คนพิการเป็นคนที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ไม่ใช่แค่เพียงคนที่วิ่งหนีได้ สิ่งเหล่านี้ถูกคิดมาเพื่อให้คนใช้ชีวิตสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ส่วนเมืองไทยทางหนีไฟในรถไฟฟ้าใต้ดินก็มีเหมือนกัน แต่เข้าใจว่ามันเป็นบันไดนะ แล้วคนพิการที่นั่งวีลแชร์หรือคนตาบอดที่งงว่าเกิดอะไรขึ้นอยู่ หรือคนหูหนวกที่ไม่เข้าใจเสียงประกาศไฟไหม้ เขาจะสามารถเอาชีวิตรอดได้อย่างไรในเหตุการณ์เหล่านี้ อันนี้เป็นคำถามที่อยู่ในใจเรามาตลอดเลย อยากให้เมืองไทยพัฒนาสิ่งเหล่านี้ด้วย เพราะเรามองว่าเมื่อคนพิการจะออกมาใช้ชีวิตแล้ว แต่ถ้าชีวิตเขาไม่มีอะไรรับรองความปลอดภัยได้ ก็ไม่ใช่ชีวิตที่น่าออกไปใช้นัก”

ฝันของคนพิการที่ถูกเมืองพราก

“คนหลายคนชอบพูดว่าคนพิการก็ออกมาให้คนอื่นเห็นสิ คนจะได้เข้าใจปัญหาคนพิการ คนพิการต้องออกมาเยอะๆ แต่ในใจก็คิดว่า การออกมาในปัจจุบันมันมีต้นทุนที่สูงมาก อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องต้นทุนของเงินหรอก ต้นทุนทางจิตใจที่เขาต้องออกมาเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ออกมากับความรู้สึกเป็นภาระของคนอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่ออกมา เมื่อไรก็ตามที่ทุกวันของเรา แค่ออกไปทำงาน แต่เป็นภาระไป 10 คนต่อวัน สิ่งเหล่านี้มันบั่นทอนความเชื่อในใจด้วยนะว่า เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ถึงแม้จะทำงานหาเงินได้ มีเงินเดือนที่มั่นคง แต่สุดท้ายแค่การพึ่งตัวเองในการใช้ชีวิต หรือการพึ่งตัวเองที่จะออกนอกบ้านยังทำไม่ได้เลย ซึ่งกดทับความเชื่อมั่นในตัวเองของคนพิการที่จะมีชีวิตร่วมกับสังคมด้วย”

“เพราะฉะนั้นสิ่งพื้นฐานเบื้องต้นเลยที่ควรจะต้องเกิดขึ้น เพื่อทำให้ในสังคมเห็นคนพิการก็คือสภาพแวดล้อมของเมืองเอื้อให้ทุกคนใช้ชีวิตจริงๆ และไม่ใช่ใช้ชีวิตแบบพลเมืองชั้นสอง แต่ต้องใช้ชีวิตบนความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่คนอื่นสามารถขึ้นหน้าตึกได้ แต่คนพิการต้องไปอ้อมขึ้นหลังตึก ซึ่งเราควรต้องเปลี่ยน ไม่ว่าคนพิการหรือใคร เขาก็มีความเป็นคนเท่ากับคนอื่น มายด์เซตต่างๆ ที่คิดต่อการสร้างเมืองต้องเปลี่ยนไปในฐานะของผู้ใช้ ไม่ใช่ในฐานะสงเคราะห์ หรือทำให้มีขึ้นมาเฉยๆ เพื่อบอกว่ามีแล้ว มันต้องถูกคิดแบบ Inclusive ให้เขาสามารถกล้าเดินไปพร้อมกับเพื่อนได้ เราเคยเจอนะ เดินๆ ไปกับเพื่อน อ้าว ขึ้นไม่ได้เฉย กลายเป็นว่าเมื่อกี้เดินมาสวยเลย พอถึงหน้าตึกต้องให้เพื่อนยก”

“ภาพจำแบบนี้พอเกิดขึ้นเรื่อยๆ มันไม่ผิดหรอกที่คนอื่นในสังคมจะมองว่าคนพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในเมื่อเขาต้องเห็นคนพิการถูกแบกขึ้นตึกทุกวัน สุดท้ายเมื่อเขาทำอะไรสักอย่าง ภาพความจำว่าคนพิการต้องถูกช่วยเหลือ ก็จะสะท้อนออกมาผ่านสิ่งต่างๆ ที่เขาสร้างต่อไปในอนาคต การออกแบบเมืองที่ทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้เท่ากับคนอื่น โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระของคนอื่น ไม่ต้องเป็นวัตถุสิ่งของที่ต้องให้คนอื่นมาหยิบยกไปยกมามีความจำเป็น และควรเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน”

“ถ้าตอนนี้เรามีแต่เพื่อนคนพิการด้วยกัน เพื่อนที่นั่งวีลแชร์เหมือนกัน เราอาจจะไม่รู้สึกอะไรมากก็ได้นะ แต่เมื่อโลกกว้างขึ้น สังคมเรากว้างขึ้น เราเห็นว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้นั่งวีลแชร์ เขาสามารถไปนู้นไปนี่ได้ ถึงแม้จะไม่ได้สะดวกก็เถอะ แต่เขาสามารถไปได้ สามารถเข้าสู่สังคมที่เขาชอบ ที่เขาเลือกเองได้ มันก็เกิดการเปรียบเทียบว่าทำไมคนพิการถึงมีโอกาสในชีวิตแบบนั้นไม่ได้ ทำไมเราถึงถูกมาลิมิตให้ทำบางเรื่องที่เขามองว่าเราควรทำ เช่นการคิดว่าต้องรวมศูนย์คนพิการให้มาอยู่ที่เดียวกัน แล้วคนพิการเขาไม่อยากไปที่อื่นเหรอ คุณไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาสามารถตัดสินใจเองได้ และสามารถมีชีวิตอิสระแบบที่เขาต้องการได้ดีกว่า การคิดแทนไม่ควรเกิดขึ้น และทำให้คนพิการขาดโอกาสในชีวิตที่มีครั้งเดียวนั้นไป” 

“เราบอกหลายที่มากว่า เวลามันย้อนกลับมาไม่ได้ คุณไม่สามารถไปชดเชยเยียวยากับโอกาสที่เขาเสียไปในชีวิตได้เลย คนพิการบางคนไม่ได้เรียนหนังสือจนอายุ 20 ปี คุณจะชดเชยสิ่งที่เขาเสียไปอย่างไรจากการที่ไม่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย คำตอบคือ ชดเชยไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นอะไรที่ทำแล้วคนใหม่ๆ จะไม่ต้องสูญเสียอะไรแบบนี้อีก ก็ควรทำอย่างแรก ไม่ควรต้องให้ใครรู้สึกเสียดายในชีวิตที่ไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำ เช่น ไม่ได้เรียน ไม่ได้มีเพื่อน พูดแล้วรู้สึกโกรธมาก โดยเฉพาะคนคิดนโยบาย คุณใฝ่ฝันอยากจะมีชีวิตที่ดี มีบ้าน มีรถ เดินทางสะดวก แต่สุดท้ายสิ่งที่คุณคิดให้คนพิการ กลายเป็นแยกคนพิการออกไปมีชีวิตของเขา มองว่าคนพิการก็ทำได้แค่นี้แหละ”

น้ำใจคนไทย ไม่ควรเป็นข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยนั้นขึ้นชื่อในเรื่องของ ‘ความมีน้ำใจ’ และที่ผ่านมาคนพิการต้องดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาความช่วยเหลือจากพลเมืองที่มีน้ำใจอยู่ แต่นั่นอาจเป็นเพราะคนพิการไม่มีทางเลือกอื่น

“ในสภาพสังคมที่ไม่เอื้อแบบนี้ น้ำใจมีความจำเป็นมากสำหรับคนพิการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง ลองคิดดูว่าถ้าบอกว่าวันนี้ทุกคนไม่ช่วยแล้ว เห็นคนพิการก็เมินเฉย ตัวเราเองก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบเหมือนกันนะ อาจจะไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้แล้วด้วยซ้ำ ซึ่งทุกวันนี้เวลาเราไปไหนมาไหน ข้ามถนนไม่ได้ หรือเวลาติดเสา ติดท่ออะไรก็แล้วแต่ หลายคนพร้อมจะช่วยนะ โดยเฉพาะพี่วินมอเตอร์ไซต์ เราพบว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่พร้อมช่วยมาก เขาพร้อมจะยกเราข้ามนู้นข้ามนี่ตลอดเวลา และเขามักอยู่ตรงสี่แยก ฉะนั้นเวลาเราติดปัญหาต่างๆ ใกล้สี่แยก เขาจะเป็นคนยื่นมือเข้ามาช่วย รวมถึงคนที่ผ่านไปผ่านมาด้วย 

“เราคิดว่าเมืองไทยยังโชคดีนะที่มีคนพร้อมช่วย แต่ว่าสุดท้ายแล้วน้ำใจมันไม่ยั่งยืน  น้ำใจเป็นเรื่องส่วนบุคคลมาก ถ้าเราโชคดีอาจจะไปเจอคนที่อยากช่วย หรือคนที่ร่างกายพร้อมจะช่วย เพราะบางคนร่างกายเขาไม่พร้อม ซึ่งเราเข้าใจ แต่น้ำใจไม่ควรเป็นข้ออ้างที่รัฐจะไม่ทำสิ่งอำนวยความสะดวก หรือรัฐจะไม่ปรับปรุงพื้นที่เมืองให้สามารถใช้ได้ เราเคยเห็นหน่วยงานภาครัฐเชิดชูพี่วินมอไซต์ที่ช่วยยกคนพิการข้ามสะพานลอยแล้วรู้สึกผิดฝาผิดตัวมาก ในฐานะปัจเจกเราชื่นชมพี่วินฯ ที่เขาเอากำลังกายของตัวเองมาช่วยเพื่อนอีกคนที่อยากข้ามถนน และชื่นชมคนที่นั่งวีลแชร์ด้วยว่าตัวเขาพร้อมจะออกมาเจออะไรแบบนี้ แต่นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาที่ภาครัฐจะต้องแก้เมื่อคุณเห็นว่ามีคนพิการที่ไม่สามารถข้ามถนนได้จนต้องอาศัยพี่วินฯ อีกคน”

“เขาต้องไม่เอาน้ำใจมาเป็นข้ออ้างว่า ‘คนไทยมีน้ำใจ เราก็เลยไม่ทำ’  โห คนพิการจะต้องพึ่งน้ำใจไปอีกกี่ปี สุดท้ายคนพิการก็อยากมีน้ำใจกับคนอื่นบ้าง ไม่ได้อยากเป็นผู้รับน้ำใจคนเดียวตลอดไป ถ้าวันหนึ่งคนพิการสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ แบบไม่ต้องพึ่งพาใคร หรือพึ่งพาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เราว่าเขาจะภาคภูมิใจนะที่เขาสามารถเผื่อแพร่น้ำใจของเขาให้คนอื่นได้บ้าง และสิ่งนี้จำเป็นมากในการอยู่ร่วมกัน เราไม่สามารถทำให้คนๆ หนึ่งเป็นผู้รับตลอดเวลา และทำให้เขารู้สึกดีในชีวิตได้หรอก เพราะวันหนึ่งอาจจะรู้สึกว่า เราไม่สามารถเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคมได้ เราไม่สามารถเป็นผู้ให้อะไรใครได้เลย แต่เราเป็นคนที่ต้องรอคอยความช่วยเหลือทุกวันไม่ว่าจะไปไหน ปัญหาโครงสร้างจึงต้องไม่ถูกแก้ด้วยน้ำใจ”

หนูเล่าให้ฟังว่าการต้องพึ่งพาน้ำใจคนอื่นอยู่ตลอดนั้น บางครั้งก็ทำให้เธอไม่เป็นตัวเอง และเลือกเป็นคนพิการแบบที่สังคมคาดหวัง “เราเป็นคนพิการที่น่าเหวี่ยงมาก และด้วยบรรทัดฐานของสังคมเขาชอบคิดว่าคนพิการจะต้องเป็นคนน่ารัก อ่อนน้อม ถ่อมตน บรรทัดฐานของสังคมกำหนดให้คนพิการต้องเป็นแบบนั้น เมื่อเราไม่ใช่คนที่สังคมคาดหวังว่าเราต้องเป็น เราก็จะถูกมองว่าเป็นคนพิการที่รุนแรง เป็นคนพิการที่ทำแบบนี้แล้วใครจะช่วย หรือเป็นคนพิการที่ทำไมเธอถึงไม่ยิ้มให้คนอื่นละเวลาขอความช่วยเหลือ ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนพิการสามารถเป็นอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ควรไปกำหนดเลยว่าใครจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างอะไรเลย เป็นแค่สิ่งที่คุณอยากเห็นเท่านั้นเอง”

“บางทีเราทำงานเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว จะขึ้นรถไฟฟ้าต้องไปยิ้มเพื่อจะบอกว่าพี่ไปเปิดอันนี้ให้หน่อยนะคะ ขอบคุณมากนะคะ มันเคยมีที่เราเป็นแบบนั้นอยู่พักหนึ่ง เพราะเรารู้สึกว่าถ้าไม่ยิ้ม ไม่ทำตัวร่าเริง ไม่ทำตัวน่ารัก คนจะไม่ช่วยเรา จนมีวันหนึ่งที่เหมือนเส้นด้ายขาดผึง รู้สึกว่าพยายามไปเพื่ออะไร ทำไมเราจะต้องเป็นคนเฟรนด์ลี่เพื่อให้คนอื่นช่วยเหลือเรา ทำไมเราไม่โกรธที่ระบบเมืองและการออกแบบเมืองไม่ทำให้เราสามารถเป็นคนที่ใช้ชีวิตเองได้ เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่งเราก็ไม่แคร์แล้วว่าทำไมเราต้องยิ้ม ต้องเป็นคนน่ารัก เพื่อให้เกิดสิ่งที่ตัวเองอยากได้ เราควรต้องมีตัวเองอยู่ในนั้น โดยไม่ต้องพยายามเป็นคนอื่นเพราะเราอยากได้ความช่วยเหลือ”

ถ้าทางเท้าดี อย่างอื่นจะดีตาม 

หากจะเริ่มทำเมืองให้เป็นมิตรต่อคนพิการ หนูเสนอว่าทางเท้าเป็นอันดับแรกที่ควรปรับปรุง เพราะเป็นการเดินทางขั้นพื้นฐานที่สุด 

“เราทำงานอยู่ห้วยขวาง ถ้าทางเท้าหรือฟุตพาทดีเราสามารถเดินไปเซ็นทรัลพระรามเก้าได้ทุกวัน โดยที่ไม่ต้องขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน เราเลยมองว่าฟุตพาทที่ดีเป็นโจทย์อันดับแรกที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง เมื่อเกิดขึ้นจริงได้ เราคิดว่าสวนสาธารณะใกล้บ้านก็จะมีคนพิการ ห่างแถวบ้านก็จะมีคนพิการออกไปใช้ เมื่อเราเห็นคนพิการอยู่ในสังคมมากขึ้นก็จะค่อยๆ ขยายความรับรู้” 

“สิ่งต่อมาที่คิดว่าควรต้องมี คือการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย ใช้งานได้สำหรับทุกคน ไม่งั้นคนพิการก็อาจจะเที่ยวได้แค่ใกล้ๆ บ้านที่เขาเดินถึง แต่สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถมีสังคมที่เขาอยากจะมีจริงๆ สองสิ่งนี้อาจจะต้องมาพร้อมกันแหละ เพราะเมื่อมีฟุตพาทที่ดี คนพิการก็สามารถไปรอที่ป้ายรถเมล์ได้ เพราะฉะนั้นขนส่งสาธารณะจะต้องพัฒนาเพื่อให้ทุกคนใช้งานได้ ถ้าคนอื่นสามารถขึ้นอะไรได้คนพิการก็ต้องสามารถขึ้นได้เหมือนกัน โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ที่มองว่าเขาเป็นแค่คนพิการ อย่ามาขึ้นเลย และเรามองว่าถ้าการเดินทางดี ทางเท้าดี สุดท้ายคนพิการจะออกสู่สังคมมากขึ้น”

“การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในอาคารต่างๆ ก็อาจจะค่อยๆ เกิดขึ้น อย่างเราไปร้านนั่งชิลล์ ร้านหนึ่งบ่อย เดิมทีร้านนี้เขาไม่ได้สิ่งอำนวยความสะดวกอะไรเลย ไม่ได้มีทางลาด ไม่ได้มีห้องน้ำที่ใหญ่ และทุกครั้งที่เราไปพี่เจ้าของร้านจะต้องมาช่วยยกวีลแชร์ขึ้นร้านตลอดเวลา แต่ปรากกฎว่าพอเราไปบ่อยเข้า เหมือนเขาเริ่มมาทำความรู้จักกับเราว่ามันลำบากไหมกว่าจะมาที่นี่ พอมาคุยเขาก็พบว่า ลำบากสำหรับเรานะ และการที่คนต้องมาช่วยเราบ่อยๆ เรารู้สึกยังไงเมื่อต้องถูกช่วย”

“เมื่อเขาได้รู้อย่างนั้น เขาก็พยายามเปลี่ยนหน้าร้านให้ขึ้นสะดวก ทำห้องน้ำให้ใหญ่ขึ้น เพราะเขามองว่าเราเป็นคนนั่งวีลแชร์ ก็อาจจะมีเพื่อนเป็นคนนั่งวีลแชร์มาเหมือนกัน เท่ากับว่าเขาเองก็จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเขามีลูกค้าเป็นคนพิการ แต่ในภาครัฐ พวกเขาไม่จำเป็นต้องค่อยๆ รู้จักคนพิการ เขารู้จักดีแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ใช่เหตุผลว่าต้องมีคนพิการออกมาก่อนเราถึงจะสร้าง เหตุผลนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ว่าจะมีคนพิการออกมาใช้หรือไม่ สาธารณูปโภคต่างๆ จะต้องทำรองรับไว้อยู่แล้ว อันนี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่สิ่งก่อสร้างของภาครัฐจะต้องมี คนพิการเป็นคนหนึ่งที่ต้องมีสิทธิ์ในการใช้ชีวิต”

 “เพราะฉะนั้นภาครัฐจะต้องตอบสนองความต้องการเหล่านี้ และเห็นทุกคนสำคัญเท่ากันไม่ว่าจะพิการหรือไม่ เช่นปัจจุบันนี้โรงเรียนอาจจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเดือดร้อนมากที่ไม่สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ เพราะไม่มีคนพิการมาเรียนอยู่ดี แต่ถ้าสมมุติวันหนึ่งการเดินทางสะดวก ฟุตพาทใช้ได้คนพิการสามารถไปโรงเรียนได้ แต่ไม่มีโรงเรียนไหนเลยที่สามารถรับเขาเข้าเรียนได้ สิ่งเหล่านี้ก็จะกระทบไปเป็นทอดๆ การแก้ไขแค่เรื่องการเดินทางปัญหาจึงไม่จบ เพราะปัญหาที่มีมากกว่าแค่เรื่องของการเดินทางหรือสภาพแวดล้อมในเมือง”

แค่พลเมืองร่วมตั้งคำถาม ก็นับเป็นการส่งเสียงเพื่อคนพิการ

เมื่อก่อนภาพลักษณ์คนพิการมักถูกนำเสนอผ่านเลนส์ลายตาที่ครอบด้วย ‘ความสงสาร’ อันมีส่วนทำให้ความรับรู้ของผู้คนในสังคมไม่เปิดกว้างต่อคนคนพิการเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องการใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่ปัจจุบันหนูมีความคิดเห็นว่า สังคมทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เปิดกว้างมากขึ้น โดยได้รับอิทธิพลทางความคิดจากต่างประเทศที่มีนโยบายไม่เลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการ เพศ สีผิว ศาสนา และความเชื่อ

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มองว่าประเด็นคนพิการค่อนข้างถูกเข้าใจใหม่ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย เมื่อก่อนจะเห็นว่า ถ้าคนตาบอดต้องการข้ามถนน และมีคนใจดีมาจูงลุงตาบอดข้ามถนน โลกโซเชียลจะแห่ชื่นชม ซึ่งก็ดีที่เขามีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่น แต่ระยะมานี้เขาชื่นชม และพ่วงมากับการตั้งคำถามต่อภาครัฐด้วยว่า ทำไมถึงทำให้คนตาบอดบางคนไม่สามารถข้ามถนนได้ ทำไมเขาถึงไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ในฐานะปัจเจกคนหนึ่ง เราสามารถส่งเสียงตรงนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของทุกคน ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกว่า เรามีความพิการ แล้วเราถึงจะออกมาต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก เรื่องทางลาด เรื่องลิฟต์ แค่มุมมองแบบนี้ที่คุณมองต่อปัญหา เปลี่ยนมันนิดหนึ่ง มองให้ลึกลงไปกว่าแค่ เขาน่าชื่นชมจัง หรือเขาเก่งจังเลยที่ออกจากบ้านได้ แค่แต่ละคนฉุกคิดขึ้นมาว่าจริงๆ เราต้องตั้งคำถามกับเรื่องอะไร แค่นั้นก็แฮปปี้แล้ว ในฐานะปัจเจกเราอาจจะไม่ต้องสร้างอะไรยิ่งใหญ่ แค่ช่วยกันส่งเสียงเรียกร้อง ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือแทบจะเป็นนักข่าวในตัวเอง  ส่วนนี้ทุกคนสามารถช่วยกันได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คนพิการก็ตาม”

“สังคมโดยรวมดูมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ในภาครัฐส่วนตัวคาดหวังว่าหน่วยงานที่ทำงานเรื่องคนพิการ เขาน่าจะอยู่ข้างคนพิการ เขาเป็นหน่วยงานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้พิทักษ์สิทธิ์เรา เพื่อให้อยู่ข้างเดียวกับเรา เราเข้าไม่ถึงสิทธิ์ ถูกเลือกปฏิบัติ เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ พอเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น หน่วยงานที่ควรออกมาแอคชันควรเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ทำเรื่องคนพิการ เขาทำงานภายใต้ภาษีของประชาชน เขาจึงควรตอบสนองความต้องการของคนพิการจริงๆ ไม่ใช่ว่าคนพิการมีปัญหาทีแก้ที”

“ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เป็นคนพิการ เรารู้สึกว่าก็อยากมีภาครัฐเป็นคนสนับสนุน ให้เรากล้าที่จะพูดเรื่องต่างๆ แต่เมื่อเราพูดไป คนที่คิดว่าจะสนับสนุนเรากลับมาบอกว่า เราไม่ควรทำ หรือทำไมเราถึงทำ ภาพลักษณ์เหล่านี้ในระยะยาว คนพิการกับองค์กรคนพิการก็จะค่อยๆ ห่างกันออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายแล้วคนพิการที่ไปบอกเล่าปัญหากลับถูกมองว่าเป็นปัญหา เป็นคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อภาครัฐ ถ้าเรายอมรับกันได้เมื่อไรว่ายังมีข้อผิดพลาด หรืออะไรที่ยังทำไม่สมบูรณ์ คิดว่ามันจะทำให้วิธีแก้ปัญหาเป็นไปได้แบบเห็นอกเห็นใจทุกฝ่ายมากขึ้น” 

นับตั้งแต่ ThisAble.me ถือกำเนิดขึ้นมา จนถึงวันนี้เป็นเวลา 4 ปี แล้วที่พวกเขาได้สื่อสารประเด็นคนพิการในแง่มุมใหม่ จากความสนใจเฉพาะในหมู่คนพิการ เริ่มขยับขยายไปสู่คนทั่วไป จึงไม่อาจปฎิเสธได้ว่า ThisAble.me มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการรับรู้ต่อคนพิการให้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทีละนิดเช่นกัน 

“ช่วงแรกๆ คนยังงงว่านี่คือสื่ออะไรทำไมเฉพาะเจาะจงจัง ระยะหลังพอเรามีความน่าเชื่อถือในประเด็นคนพิการ สื่อหลายๆ ที่เขาก็จะมาถามข้อมูลว่าการทำเสนอภาพลักษณ์คนพิการแบบนี้โอเคไหม หรือการทำประเด็นประมาณนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร  หรือเรื่องเล็กๆ น้อยอย่างเช่น การใช้คำเรียกคนพิการประเภทต่างๆ ควรใช้ยังไง ระยะหลังจะมีคนเข้ามาคุยเรื่องแบบนี้เยอะขึ้น เราคิดว่าเป็นความสำเร็จก้าวหนึ่งแล้วกัน ก้าวเล็กๆ ก็ได้ที่ทำให้ภูมิทัศน์สื่อออนไลน์ที่อยู่รอบตัวสนใจประเด็นคนพิการมากขึ้น เรียนรู้ที่จะนำเสนออย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ไม่นำเสนออย่างสุดโต่งอย่างที่สื่อสมัยก่อนเคยทำมา”

“ต่อจากนี้ที่ ThisAble.me  อยากทำคือขยับให้คำว่า ‘ความพิการ’ มีนิยามที่กว้างขึ้น เรามองว่าในประเทศไทยนิยามความพิการแคบมากเลย ความพิการถูกนิยามอยู่แค่ไม่กี่ประเภท เราอาจจะนิยามว่าคนตาบอดต้องตาบอดสองข้าง คนหูหนวกต้องหูหนวกสองข้าง มันเป็นนิยามที่แคบมากๆ และเรามองว่าการนิยามที่แคบแบบนี้ทำให้ความพิการอาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องแย่ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องร้าย เพราะคุณนิยามอะไรที่มันสุดโต่งมาก เมื่อถูกนิยามสุดโต่งแบบนั้น คำว่า คนพิการจะไม่มีทางเข้าใกล้สังคมทั่วไปได้เลย เพราะฉะนั้นเรามองว่า การนิยามคนพิการจะต้องถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติให้ได้ คุณแค่มีอะไรบางอย่างในชีวิตที่เข้าไม่ถึง ไม่สามารถมีส่วนร่วมกับมันได้เต็มที่ เกิดการเลือกปฏิบัติ เกิดความไม่เสมอภาคอะไรในสังคม และส่งผลกระทบต่อตัวคุณ นี่ก็เกิดความพิการขึ้นมาแล้ว”

“เราอยากให้นิยามความพิการกว้างขึ้นกว่านั้น เพื่อทำให้คนพิการเองที่หลายครั้งภาครัฐไม่ยอมรับ เช่น ตาบอดข้างเดียว สามารถเข้าถึงสิทธิ์ เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่คนพิการควรได้รับด้วย เราต้องขยายนิยามความพิการ และทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่เราพูดถึง ไม่ใช่เรื่องของความโชคร้าย แต่เป็นแค่เรื่องของอัตลักษณ์บุคคล อัตลักษณ์หนึ่งที่คุณมีในความเป็นคนของคุณ ในขณะเดียวกันคนพิการก็อาจจะมีอัตลักษณ์อื่น เช่น เป็น LGBTQ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นนักเรียน แต่คุณก็เป็นคนพิการด้วยแค่นั้น มันต้องกลายเป็นเรื่องธรรมดาให้ได้ ไม่ใช่ต้องมีห้อยท้ายว่า พิการต้องน่าสงสารจังเลย เราคิดว่าจะไม่ส่งผลดีต่อความเข้าใจความเป็นมนุษย์ของคนพิการเลย”  

คำตอบของหนูสะท้อนถึงปัญหาเมืองหลายแง่มุม การออกแบบเมืองที่ไม่ได้คิดถึงทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เพียงแค่สร้างความลำบากทางกาย แต่กระทบต่อความเชื่อมั่นภายในจิตใจด้วย การจะปลดโซ่ตรวนที่เหนี่ยวรั้งคนพิการไว้ ลำดับแรกอาจเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงเมือง เมื่อวันนั้นมาถึงคนพิการจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง เพราะเมืองไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


Contributor