28/06/2021
Life

ทำไมอยู่ในเมืองถึง “เปราะบาง” กว่าอยู่ในชนบท คุยปัญหาคนสูงอายุในวิกฤตโควิด-19 กับ ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ

ชยากรณ์ กำโชค ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


หลายคนทราบดีว่ากลุ่มคนเปราะบาง เช่น คนพิการ คนไร้บ้าน คนสูงอายุ ฯลฯ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด ไม่ว่าผลกระทบด้านการทำงาน สุขภาพและปากท้อง และเชื่อหรือไม่ว่า คนสูงอายุที่อยู่อาศัยในเขตเมืองประสบปัญหามากกว่าผู้สูงอายุในเขตชนบท 

การศึกษาผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อประชากรสูงอายุในประเทศไทย โดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) พบข้อมูล อาทิ ผู้สูงอายุที่ทำแบบสำรวจประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านสุขภาพ 

1 ใน 3 ระบุว่ามีรายได้ไม่เพียงพอในช่วงวิกฤตโควิด-19 ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุที่มีรายได้หลักจากการทำงานลดลงจาก 40% เหลือเพียง 22% จากผลการสำรวจผู้สูงอายุที่ทำงานพบว่า 81% เจออุปสรรคในการทำงานที่เป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ของโควิค-19 และในสัดส่วนดังกล่าว 36% สูญเสียอาชีพ พื้นที่ค้าขาย หรือถูกปรับลดเงินเดือน

นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีรายได้จากการทำงานและดอกเบี้ยเงินออมลดลงในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อีกด้วย ในด้านสุขภาพร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุระบุว่าตนเองมีอาการทางสุขภาพจิตอย่างน้อย 1 อาการเป็นบางครั้งหรือตลอดเวลา ได้แก้ วิตกกังวล ไม่อยากอาหาร เหงาและไม่มีความสุข สัดส่วนดังกล่าวทั้งหมดแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างผู้สูงอายุชายและหญิง แต่มีค่าสูงกว่าสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในเขตเมืองเปรียบเทียบกับเขตชนบท นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังมีแนวโน้มที่จะมีอาการเหงามากกว่าผู้สูงอายุที่มีลักษณะการอยู่อาศัยในรูปแบบอื่นๆ 

ศาสตราจารย์ ดร. วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า นโยบายและมาตรการที่รัฐนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ควรต้องคำนึงถึงประชากรสูงอายุที่ยังต้องการทำงานและพึ่งพารายได้จากการทำงานในการดำรงชีวิตโดยการสร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองผู้สูงอายุซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องในเชิงนโยบายในหลายระดับเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครองในช่วงเวลาวิกฤตด้วยเช่นกัน

สถานการณ์สังคมสูงวัยนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยแม้แต่น้อย ในอนาคตที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับโรคอุบัติใหม่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นนโยบายและมาตรการสำหรับรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มเปราะบางในช่วงภาวะวิกฤตโรคระบาดแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรมาสนทนากันอย่างบ่อยครั้งเพื่อที่จะหาทางออกและรับฟังข้อเสนอแนะ ทั้งนี้ไม่เพียงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้นเท่านั้นแต่ยังสามารถที่จะรองรับกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในระยะกลางระยะยาวต่อไปข้างหน้า 

แผนภูมิแสดงสัดส่วนร้อยละของประชากรอายุ 60 ปีและ 80 ปีขึ้นไปเทียบในแต่ละประเทศ โดย วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาของการระบาดของโควิด-19 นั้นมีผลกระทบกับผู้สูงอายุในด้านต่างๆ อย่างไรบ้าง

ในส่วนของสุขภาพ เรารู้ว่าผู้สูงอายุมีโอกาสเสียงติดสูง ถ้าหากติดแล้วก็มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นเพราะด้วยสุขภาพ ด้วยภาวะสุขภาพของท่านที่ถดถอยลงตามวัย เรื่องของภูมิคุ้มกันต่างๆที่ลดลง ก็เป็นประเด็นที่น่าห่วงในช่วงที่เกิดโรคระบาดขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่น่าห่วงเช่นเดียวกันก็คือ ในช่วงที่มีโรคระบาดโดยเฉพาะระลอกที่ 3 ทำให้ต้องมีการหยุดให้บริการในสถานพยาบาลหลายแห่งเพราะว่าต้องรองรับคนไข้ที่เป็นโควิด ไม่อยากให้กลุ่มที่ยังไม่มีความเสี่ยงไปเสี่ยงติดเชื้อ สถานพยาบาลจึงมีการงดให้บริการการดูแลสำหรับคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังมีความน่าเป็นห่วงเพราะถ้าไม่ได้รับยาหรือไม่ได้รับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องจะทำให้โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ควบคุมได้ยากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดัน แล้วก็อาจจะเสี่ยงไปทำให้คนกลุ่มนี้จากที่ยังพอช่วยตัวเองได้กลายเป็นกลุ่มติดเตียงไปได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องของระบบตรงนี้ก็สำคัญ ไม่ใช่แค่โรคระบาดอย่างเดียวแต่โรคเรื้อรังจะได้รับผลกระทบด้วยสำหรับในกลุ่มผู้สูงอายุ 

อีกส่วนหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่องของปากท้อง จริงๆแล้วผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน ส่วนมากทำงานไปได้เรื่อยๆจนกว่าร่างกายทำไม่ไหว ฉะนั้นสิ่งที่คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทันทีก็คือเรื่องของโอกาสที่พวกเขาจะสูญเสียงานมีค่อนข้างมาก ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนต้องหยุดออกไปทำงานเพราะกลัวติดโรคหรือว่าอีกกลุ่มหนึ่งถูกเลิกจ้างงานก็มี อีกกลุ่มที่เคยไปขายของตามตลาดนัดตามที่สถานต่างๆ ซึ่งการปิดตลาดก็ทำให้สูญเสียรายได้ส่วนนี้ไปเช่นกัน หลายครั้งคนไทยเราอยู่กันเป็นครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่ด้วย หากคนในครอบครัวตกงานก็กระทบกันทั้งบ้าน เศรษฐกิจนี้ไม่ได้มีผลกับตัวผู้สูงอายุคนเดียวแต่ว่ามันเป็นเศรษฐกิจของทั้งครอบครัว 

จากที่เราสำรวจผู้สูงอายุในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ระลอก 1 และระลอก 2 ได้เจอว่าปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุอยู่ได้คือเรื่องของเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีแหล่งรายได้จากรัฐหรือแหล่งอื่นๆไม่ได้มีบำเหน็จบำนาญ ก็จะมีเรื่องของเบี้ยนังชีพที่เข้ามาช่วยเสริมได้บ้างซึ่งบอกได้เลยว่ามันช่วยมากๆในช่วงโควิด เพราะว่าถ้าทุกคนในบ้านตกงานหมดอย่างน้อยพวกเขาก็มีเงินกองนี้ที่พอให้อยู่กินพอประทังไปได้ในช่วงแรกๆ แต่ถ้าตกงานยาวๆผลกระทบแรงก็จะขึ้นไปอีก

แผนภูมิแสดงรายได้และรายจ่ายของครัวเรือนในกลุ่มเปราะบางแต่ละประเภท โดย วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในภาวะโรคระบาด ณ ตอนนี้ สถานการณ์ใดที่มันเกิดขึ้นกับคนสูงอายุที่สะท้อนให้เห็นว่าตอนนี้ต้องมีการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว

เรื่องที่ 1 ก็คือว่าจริงๆแล้วจุดที่สังเกตเห็นคือ ระบบที่ดูแลด้านสุขภาพและสังคมในชนบทนั้นค่อนข้างดีเพราะว่ามีการปูพื้นฐานเรื่องของการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิไว้ค่อนข้างดี มีเรื่องของอาสาสมัคร สาธารณสุขซึ่งเข้าเยี่ยมบ้านอยู่แล้ว แล้วก็เป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุด้วย กลุ่มนี้ส่วนมากก็จะเป็นกลุ่มเดียวกัน เขาจะดูแลทางด้านสุขภาพและสังคม ในช่วงโควิดที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้เป็นแกนนำที่สำคัญในการที่จะส่งข้าว ส่งน้ำ คอยสื่อสารข้อมูลถึงผู้สูงอายุ คอยติดตามดูว่าผู้สูงอายุเป็นอย่างไร นี่คือภาพในชนบท ซึ่งความเข้มแข็งในส่วนนี้ชุมชนในชนบทก็จะค่อนข้างเข้มแข็งกว่าชุมชนเมือง รู้กันหมดว่าใครเป็นใคร ผู้สูงอายุอยู่ตรงไหนอย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร แต่พอมาถึงในเมืองใหญ่ซึ่งมีการย้ายถิ่นสูงมาก มีกลุ่มของบ้านเช่า มีกลุ่มอะไรต่างๆ มันก็จะเป็นเรื่องยาก สิ่งที่เห็นก็คือเมืองใหญ่มากอย่างเช่นกรุงเทพฯ ซึ่งก็เคยพูดประเด็นนี้ไว้แล้วว่าประเด็นของชุมชนแออัดน่าเป็นห่วงและในพื้นที่ชุมชนแออัดก็มีผู้สูงอายุอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งเขาก็อยู่ลำบากเพราะว่าต้องอยู่กับครอบครัวแล้วก็เสี่ยงติดเชื้ออะไรต่างๆอันนี้ก็เป็นประเด็น แล้วก็ในส่วนของระบบต่างๆนั้นยังเข้าไม่ค่อยถึงพวกเขา โดยเฉพาะเรื่องของการที่จะเข้าไปเยี่ยมตามบ้านหรือเก็บข้อมูลให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้ยังไม่มีระบบที่ชัดเจน เรื่องของการส่งข้าว ส่งน้ำ ส่งยา ตอนนี้การส่งข้าวมีให้เห็นแล้วส่งน้ำ ส่งยา เริ่มมีทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน แต่ตรงนี้ไม่อยากให้เป็นระบบเฉพาะกิจเพราะการ มันควรจะมีระบบที่เข้าเยี่ยมบ้านอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในยามปกติและในยามที่ไม่ปกติ คอยติดตามดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของระบบอาสาสมัครในชุมชนก็สำคัญ ซึ่งบางชุมชนก็มี บางชุมชนก็ไม่มี เป็นต้น เพราะมันมีความแต่งต่างกันไปในแต่ละชุมชน เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่คิดว่าห่วง

เรื่องที่ 2 ที่เห็นชัดก็คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่มีสูงมากในชุมชนเมือง ในเรื่องของประเด็นที่ท้าทายมากๆก็คือเรื่องของมาตรฐานการอยู่อาศัย อันนี้จะเป็นประเด็นใหญ่ว่าจะทำอย่างไรที่ทำให้ชุมชนแออัดซึ่งอยู่กันอย่างแออัดมากมีมาตรฐานที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น การที่แบ่งห้องให้เช่าหรืออะไรต่างๆ มันควรจะมีมาตรฐานว่าจะอยู่กันได้กี่คนอย่างไร ซึ่งมันสำคัญมากๆในยามที่มีโรคระบาด หรือว่ามันต้องมีพื้นที่เป็นพื้นที่ให้แยกตัวได้บ้างไหม เพราะว่าในชุมชนเองในบางชุมชนเขามีการเตรียมพื้นที่สำหรับแยกตัวกักตัวผู้ที่ติดโควิดหรือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแต่บางชุมชนก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และเรื่องที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในระยะยาว ต้องมีการพูดถึงเรื่องการสร้างพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยใหม่เพื่อให้รับมือกับโรคที่กำลังเปลี่ยนไป โรคระบาดต่างๆที่มาแรงขึ้น เพื่อเป็นการช่วยกันดูแลสุขภาพของทั้งผู้สูงอายุและครอบครัว

สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้สร้างบทเรียนสำคัญอย่างไรบ้างในการที่จะป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มสูงวัย 

ตอนนี้ในระยะสั้นถ้าจะเร่งช่วยประชากรโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุให้เร็วที่สุดก็พูดถึงเรื่องของวัคซีน การลดความรุนแรงของโรค แต่ตัวที่สำคัญจริงๆแล้วก็คือการลดการติด การลดการติดในเชิงพฤติกรรมสุขภาพในระยะยาวซึ่งมันต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไปเลย ที่เราบอกว่าวิธีใหม่วิธีใหม่ๆจริงๆแล้วมันยังไม่ได้เป็นวิถีของคนไทยเลย คือว่าเราต้องยอมรับว่าโรคระบาดจะรุนแรงขึ้นเพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของเราให้ทัน เรื่องของสุขลักษณะ เรื่องของการที่จะป้องกันตัวเองสำคัญมาก อย่างเช่นเรื่องของการใช้หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ ในที่สุดมันก็ต้องเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของเรา เรื่องของการป้องกันตัวให้ดีที่สุด ไปที่ไหนมาล้างมือให้สะอาดอะไรต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมตรงนี้ต้องเปลี่ยนทั้งของผู้สูงอายุซึ่งก็ไม่ง่ายเพราะท่านเป็นผู้สูงอายุแล้วมันต้องมีการปูพื้นฐานมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ทั้งของคนในวัยทำงานด้วย 

หลายครั้งตอนนี้ที่เกิดการระบาดผู้สูงอายุมีความตระหนักและระวังตัวอยู่พอสมควร แต่ว่าคนในบ้านที่เป็นคนไปทำงานข้างนอกแล้วเสี่ยงที่จะนำโรคเข้ามาสู่ที่บ้านไม่ค่อยระวังตัว เพราะฉะนั้นมันต้องเปลี่ยนทั้งหมดเลย เช่นก่อนจะเจอคนในบ้านต้องอาบน้ำ สระผมให้เรียบร้อย ล้างมือล้างอะไรต่างๆที่มือไปสัมผัส  ถ้ากลับเข้ามาแล้วเราคิดว่าเราเป็นคนเสี่ยงก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย เพราะฉะนั้นพฤติกรรมสุขภาพหรือความรอบรู้ด้านสุขภาพ ตรงนี้คนไทยต้องได้รับการให้ความรู้เพิ่มขึ้นรวมทั้งสามารถทำให้เปลี่ยนเป็นพฤติกรรมจริงๆให้ได้ เราคงต้องช่วยกันยกเครื่องเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เลย เพราะว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้เปลี่ยนง่ายๆ แล้วก็สิ่งที่สำคัญจริงๆก็คือการป้องกันมากกว่าการตามแก้ 

ถ้าเรามีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีคอยรักษาสุขลักษณะ คอยทำให้ตัวเราแข็งแรงอยู่เสมอ เรื่องของการกิน การออกกำลัง การอะไรทุกอย่าง มันก็จะช่วยปกป้องเราไปได้ส่วนหนึ่งซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่แล้วก็คิดว่าเป็นวิถีใหม่ที่เราต้องเปลี่ยนจริงๆไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะกิจเฉพาะกาล

ให้ประเมินมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาของรัฐในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามันน่าพึงพอใจหรือต้องปรับปรุงในด้านใดเพิ่มเติมหรือไม่

ที่ผ่านมาภาครัฐก็พยายามช่วยในระดับหนึ่ง ในช่วงที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับหนึ่งทีเดียว อย่างน้อยก็มีการช่วยไปก่อนในเบื้องต้น แต่ในระยะยาวอาจต้องคิดหาแนวทางอื่น เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเงินถุงเงินถังมาแจกประชากรทุกคน เนื่องจากว่าเราไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย ฐานะเศรษฐกิจการคลังเราก็ไม่ได้ดีเลิศเพราะฉะนั้นมันก็จำเป็นที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลตัวเองด้วย 

นโยบายในระยะยาวนี้ก็คงต้องเร่งเรื่องของนโยบายการฟื้นฟูให้ชัดเจน หลายส่วนที่เห็นตอนนี้ก็คือเรื่องของการพัฒนาระบบการสร้างงานต่างๆ อย่างเช่นในส่วนของผู้สูงอายุเองก็คงต้องมีการพูดถึงระบบการจ้างงานที่ผู้สูงอายุไม่ต้องออกจากบ้าน เป็นระบบที่งานวิ่งสู่บ้านแล้วก็อาจจะคนมาช่วยเก็บชิ้นงานไปอะไรต่างๆ โดยที่ผู้สูงอายุไม่ต้องออกไปเสี่ยงข้างนอก แต่จะต้องมีระบบที่มาเอางานของพวกเขาไปสู่ตลาด หรือเรื่องของการขายของออนไลน์ต่างๆ ในผู้สูงอายุก็บอกว่าสนใจมากแล้วก็คิดว่าจะเข้าไปอบรมเรื่องการค้าขายออนไลน์ด้วย แต่ตอนนี้ไม่มีตลาด ก็ต้องทำให้ครบ ไม่ได้มีแต่ออนไลน์อย่างเดียวเนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุบางคนอาจเข้าไม่ถึงเพราะว่าความรอบรู้ทางด้านเทคโนโลยีอะไรต่างๆบางท่านเข้าถึงไม่ได้ จึงจะต้องมีการช่วยในส่วนนี้ด้วย 

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากพูดถึงก็คือว่า เราจะเห็นแล้วว่าคนส่วนหนึ่งย้ายเข้ามากระจุกอยู่ในเขตเมืองกันหมดเพื่อจะเข้ามาหางานทำ เมื่อเกิดโรคระบาดมันจึงเป็นแหล่งรังโรคมากๆเพราะคนมากระจุก มาแออัดในที่ที่เดียว แต่ถ้าเขากลับไปที่บ้านที่มีพื้นที่กว้างไกล เขาก็น่าจะมีโอกาสในการทำงานเชิงเศรษฐกิจด้วย จริงๆแล้วตอนนี้ภาครัฐควรจะเร่งนโยบายกระจายงานสู่จังหวัดอื่น สู่พื้นที่ในชนบทให้มากขึ้น ให้งานมีได้หลายลักษณะหรือจะเป็นงานใหม่ๆก็ได้เพราะว่าคนที่กลับไปตอนนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนที่มีทักษะในระดับหนึ่ง เคยผ่านการทำงานในเมืองมาแล้ว เขาสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ต่างๆที่จะช่วยเสริมให้สามารถทำงานที่บ้านเดิมของเขาได้โดยไม่ต้องกลับมาแออัดในเมือง หรือเรื่องของเศรษฐกิจฐานรากเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องของเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farmer อะไรต่างๆพวกนี้ ซึ่งเหมาะกับบริบทของไทย ควรจะมุ่งในประเด็นนี้มากกว่า เราสามารถเป็นแหล่งอาหารแหล่งอาหารของโลกได้ มีเกษตรที่พัฒนาได้ ตอนนี้น่าจะไปมุ่งตรงนั้นเพื่อไม่ให้คนย้ายถิ่นกลับเข้ามา ถ้ามาแออัดกันอยู่ในเมืองเวลาเกิดโรคระบาดก็จะเป็นปัญหาอย่างเดิม เพราะฉะนั้นจุดที่สำคัญก็คือต้องมองไปถึงระยะยาว แล้วตอนนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดีที่จะรีบในแต่ละพื้นที่ช่วยกันสร้างงานในพื้นที่ของตัว เช่นหอการค้าจังหวัดอะไรต่างๆ ก็คงจะต้องเข้ามาร่วมภาคเอกชนเพื่อจะช่วยสร้างงานให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยที่จะทำให้คนไม่ต้องย้ายเข้ามาสู่เมืองใหญ่ๆแล้วเมื่อเกิดโรคระบาดต่างๆผลกระทบจะได้ไม่มากมายมหาศาล

ตลอดช่วงเวลาของการระบาดของโควิด-19 วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ศึกษาวิจัยอะไรบ้างที่ตอบสนองความท้าทายด้านโรคระบาด

เราก็ได้ทำเรื่องของผลกระทบของโควิคกับผู้สูงอายุร่วมกับองค์การสหประชาชาติ เป็นการดูผลกระทบกับผู้สูงอายุทั้งประเทศ อีกส่วนหนึ่งเราได้ทำงานภายใต้โครงการจุฬาฯอารีย์ ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยจุฬาฯได้ให้การสนับสนุน โดยนำเงินส่วนที่เป็นรายได้จากมาบุญครองมาทำให้เกิดประโยชน์ที่สุดกับผู้คน และทำให้เกิดประโยชน์กับผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งตอนนี้เรามี 9 ชุมชนด้วยกัน 

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19นี้ เรามีการทำแผนร่วมกันทำแผนรองรับสถานการณ์โควิด ซึ่งเรามองไปไกลกว่านั้น คือการรองรับนานาวิกฤตที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการช่วยผู้สูงอายุให้ได้ ในตอนนี้เองที่เป็นช่วงสถานการณ์โควิด เราก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะติดต่อกับแกนนำชุมชนและแกนนำผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการสื่อสารของข้อมูล มีการคุยกันทุกวันว่าจะต้องป้องกันดูแลกลุ่มผู้สูงอายุอย่างไร พวกเขามีปัญหาอะไร แล้วเราก็จะช่วยประสานกับหน่วยงานภายนอก หรือว่าตอนนี้เราก็มีระบบที่ประสานไปกับทางสมาคมนิสิตเก่า อย่างเช่นเรื่องของอาหารเพื่อหมอ และตอนนี้ก็มีอาหารที่เข้าไปสู่ชุมชนหรือ food for fighter ที่จะเข้าไปช่วยชุมชนต่างๆที่เป็นชุมชนที่อยู่ภายใต้โครงการจุฬาฯอารีย์ซึ่งมีผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนมากแล้วก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเราทำบทบาททั้งในเรื่องของการวิจัยที่จัดเก็บข้อมูลแล้วก็การวิจัยที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจริงๆ

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19นี้เราได้บทเรียนเยอะมากแล้วก็ได้มีโอกาสที่จะทำงานช่วยผู้สูงอายุในชุมชนได้จริงๆ ระยะต่อไปก็คงจะเร่งการฟื้นฟูหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งผู้คนได้รับผลกระทบกันเยอะมากทั้งผู้สูงอายุและครอบครัว ทางจุฬาฯของเราก็คงจะได้มีบทบาทเข้าไปฟื้นฟูให้สมกับเป็นมหาวิทยาลัยที่ทำงานอย่างมีประสิทธิผลต่อสังคมเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ส่วนนี้คิดว่าวิทยาลัยก็คงจะเป็นตัวเล็กๆส่วนหนึ่งหรือว่าโครงการบูรณาการสหศาสตร์ของจุฬาฯอารีย์ซึ่งเกิดจากการรวมกันของหลายคณะในจุฬาฯนี้ก็คงจะได้ช่วยทำให้เกิดประสิทธิผลจริงๆต่อไปที่จะช่วยในส่วนของผลกระทบต่อผู้สูงอายุและครอบครัว

หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ จุฬาฯปริทรรศน์ ออกอากาศทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม 2564 ดำเนินรายการโดย คุณชยากรณ์ กำโชค ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ฝ่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ และบรรณาธิการ The Urbanis 


Contributor