25/08/2021
Life

ฟื้นฟูย่านเมืองเก่าไชน่าทาวน์ให้ตอบโจทย์คนหลายรุ่นโดย จุฤทธิ์ กังวานภูมิ จากกลุ่มปั้นเมือง

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


สัมภาษณ์โดย อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้

เรียบเรียงโดย สรวิชญ์ อังศุธาร, ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต

หากพูดถึงย่านในกรุงเทพมหานครที่แสนเก่าแก่แต่เก๋าพอให้คนรุ่นใหม่นึกถึง เชื่อได้ว่าหนึ่งในคำตอบต้องมีย่านตลาดน้อย-ไชน่าทาวน์อยู่ในนั้น เพราะย่านนี้มีเอกลักษณ์ชัดเจน ผู้คนส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน ชุมชนและตึกรามบ้านช่องที่ยังคงกลิ่นอายดั้งเดิมไว้มาก ขณะเดียวกันมีองค์ประกอบของศิลปะ งานสื่อสารสมัยใหม่ และพื้นที่การเรียนรู้แทรกอยู่เป็นจังหวะ

 โจ-จุฤทธิ์ กังวานภูมิ ผู้ที่มีสวมหมวกหลายใบ เป็นทั้งคนในพื้นที่ เป็นนักวิชาชีพด้านสถาปนิกชุมชน และ เป็นประธานชุมชน คือหนึ่งในคนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ย่านนี้มีพลวัตที่น่าสนใจตลอดทศวรรษที่ผ่านมา โจขับเคลื่อนบ้านเกิดผ่านกลุ่มฟื้นฟูเมืองที่ชื่อ ปั้นเมือง แม้พื้นที่ทำงานหลักของปั้นเมืองจะอยู่ในโซนตลาดน้อย แต่เป้าหมายของทีมปั้นเมืองมองครอบคลุมทั้งย่านไชน่าทาวน์

การทำงานฟื้นฟูเมืองในย่านชุมชนเก่าที่ค่อนข้างแข็งตัวมีโจทย์เฉพาะแบบไหน ทีมปั้นเมืองเข้าหาชุมชนด้วยวิธีการใด ก้าวต่อไปของพื้นที่นี้ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ The Urbanis พูดคุยกับโจเพื่อหาคำตอบ

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ปั้นเมือง มีที่มาที่ไปอย่างไร           

พวกเราเป็นกลุ่มสถาปนิกและนักสังคมศาสตร์ที่มีความสนใจและเป้าหมายคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะในเรื่องการฟื้นฟูเมือง ก่อนหน้านี้พวกเราเคยทำงานด้วยกันมาประมาณสัก 9-10 ปีแล้วจึงตัดสินใจตั้งเป็นกลุ่มปั้นเมืองได้ 6-7 ปี 

เราเริ่มต้นจากการทำโปรเจกต์ย่านไชน่าทาวน์ แม้ตอนแรกจะไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละด้าน นอกจากความเชื่อที่ว่า ถ้าย่านนี้จะต้องฟื้นฟู ก็ควรจะมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะเราเริ่มเห็นประเด็นปัญหาเรื่องของเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คนที่เติบโตมาในเมืองรุ่นหลังย้ายออกจากเมืองไปอยู่ตามย่านชานเมืองมากขึ้น จนทำให้ย่านเก่าที่อยู่กลางเมืองค่อยๆ ซบเซาลง คนทั่วไปเมื่อเห็นปัญหานี้อาจจะมองด้านมิติทางเศรษฐกิจ หรือมิติท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่พวกเรามองว่ามันเป็นย่านอยู่อาศัย ย่านการค้าซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีชุมชนเดิมอยู่

พอมองว่าพื้นที่นี้เป็นย่านชุมชน คุณมองเห็นอะไรอีก

ชุมชนไม่ได้มีแต่คนเพียงอย่างเดียว แต่มันประกอบไปด้วยความรู้ ความทรงจำ ความผูกพันกับพื้นที่ ประวัติศาสตร์ และการสำนึกถึงความเป็นเจ้าของ ซึ่งในย่านไชน่าทาวน์มีทุนตรงนี้อยู่ แต่หากปล่อยไว้เฉยๆ หรือไม่ปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น จนสามารถทำให้คนรุ่นหลังอยากเลือกที่จะอยู่ต่อ ความเป็นย่านและเมืองก็จะค่อยๆ เสื่อมลง นี่จึงกลายมาเป็นโจทย์หลักของเรา

เมื่อได้โจทย์แล้วปั้นเมืองทำงานอย่างไร

เราเริ่มจากการชวนคนมาสร้างกระบวนการในการพูดคุยกัน ว่าเขาเห็นย่านตัวเอง และย่านรอบๆ เป็นอย่างไรในอนาคต แล้วเขาเห็นตัวเองและลูกหลานทำอะไรอยู่ในนั้น

เราพบว่าสิ่งที่คนเก่าแก่ในชุมชนรู้สึกคือเขาเป็นคนบุกเบิกย่าน ส่งต่อมาหลายต่อหลายรุ่น และอยากส่งมอบเป็นมรดกต่อไปให้กับลูกหลาน แต่เมื่อเรามองมุมสายตาของคนรุ่นใหม่ เขาต้องการความสะดวกในการใช้ชีวิตหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ความสะอาด ซึ่งจุดนี้เอง เป็นจุดที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน ประกอบกับเราได้โจทย์จาก สสส. เรื่องการทำ Healthy City เมืองน่าอยู่ เมืองสุขภาวะ เราจึงพัฒนาเป้าหมายเป็น จะฟื้นฟูย่านอย่างไร ให้สามารถอยู่ได้จริง และคนรุ่นใหม่อยากอยู่ต่อ โดยใช้กระบวนการพูดคุย ถามตอบ เพื่อแตกไปยังปัญหาต่างๆ ค่อยๆ เรียนรู้และแก้ไขประเด็นเหล่านั้น

ใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการทำงานในพื้นที่นี้

คนในพื้นที่ย่านไชน่าทาวน์ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน หลายๆ คนจะมีความเชื่อที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงโดยไม่จำเป็น เขาจึงกังวลหากมีสิ่งใดมากระทบความเป็นไปในปัจจุบัน ที่อาจทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ แต่ถ้าเรามีตัวอย่างหรือรูปธรรมที่สามารถแสดงให้เขาเห็น เข้าใจ และทดลองได้ง่ายๆ โดยที่อาจเริ่มจากอะไรที่ไม่ได้สร้างผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาก ก็พอที่จะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เราจึงเริ่มทำที่ย่านตลาดน้อย เพราะมีความเป็นย่านอยู่อาศัย มีความเป็นชุมชน และมีความซับซ้อนในการใช้พื้นที่น้อยกว่าโซนสำเพ็งหรือเยาวราช เพื่อเป็นตัวอย่างเริ่มต้นให้กับพื้นที่อื่น ๆในย่านไชน่าทาวน์ ซึ่งในตลาดน้อยมีคนดั้งเดิมอาศัยอยู่กว่า 60-70% ทำให้เราสามารถสื่อสารกันได้ง่าย พอเริ่มมีเครือข่ายความสัมพันธ์แล้ว ก็ค่อย ๆ คุย และจูงมือกันไป 

ตัวกลุ่มปั้นเมืองเอง ก็พยายามทำตัวให้เขากับชุมชน เข้าถึงง่าย เราตั้งสำนักงานในพื้นที่เลย ทำให้สามารถเกิดการแลกเปลี่ยน เข้ามาคุยกันได้ตลอด 

แล้วเริ่มจับทางคนในพื้นที่ได้ตอนไหน

พอได้ชวนคุยเราก็โยงให้เห็นภาพใหญ่ และเราก็เริ่มจับประเด็นร่วมของพื้นที่ สิ่งแรกที่เราค้นพบเลยคือประเด็นวัฒนธรรม คนในย่านมีความภาคภูมิใจในเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่เขาไม่รู้ว่าจะถ่ายทอดวัฒนธรรมนี้อย่างไร นอกจากงานประเพณีที่จัดกันเป็นปกติ เราจึงช่วยเขาทำแผนที่ทางวัฒนธรรม ที่เก็บรวบรวมเรื่องของข้อมูลต่าง ๆ ช่วยเขาจัดนิทรรศการ ใช้คอนเทนต์จากคนในท้องที่ในการเล่าเรื่อง เพราะเขาต้องการที่จะส่งสารส่วนตรงนี้ ไปให้คนอีกเจนเนอเรชั่นหนึ่ง ให้คนอีกรุ่นเห็นถึงความสำคัญ และเหตุผลในการทำสิ่งเหล่านี้ หลังจากนั้นพอเราเริ่มด้วยเรื่องวัฒนธรรม มันก็เริ่มไปในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การทำแผนที่เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวไม่หลงทางเองก็ทำให้ทุกคนได้เห็นภาพกว้างของย่านในหลายๆมิติ ซึ่งทางทีมเราก็ได้เรียนรู้พื้นที่ไปพร้อมๆกับชุมชน

นอกเหนือจากวัฒนธรรมมีประเด็นอะไรอีกบ้าง

หลายเรื่อง มันขยายผลไปแตะในเรื่องของประวัติศาสตร์ แล้วเราก็จะเริ่มถามคำถามในเชิงเปรียบเทียบได้ว่า วิถีชีวิตในอดีต กับปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างไร อะไรที่ชุมชนคิดว่าดีขึ้น อะไรที่แย่ลง หรืออะไรที่มันหายไป แล้วเราสามารถที่จะเอาสิ่งเหล่านั้นกลับมาได้หรือไม่ เช่น ประเด็นการเข้าถึงแม่น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกลืม แต่พอมีคนเริ่มที่จะนึกถึง ผู้คนก็รู้สึกว่าอยากให้ภาพเหล่านั้นกลับมา

เรื่องของพื้นที่สาธารณะที่เมื่อก่อนเคยมี แล้วสาบสูญไป หรือแม้กระทั่ง เรื่องลักษณะของซอยสมัยก่อนที่แตกต่างกับปัจจุบัน ไปจนถึงเรื่องสภาพแวดล้อมในชุมชน และเรื่องคุณภาพชีวิต

เราก็ค่อยๆ จับประเด็น นำมาผูกโยงกับเรื่องของเมือง ใช้เรื่องการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยให้เขาได้เข้ามาเป็นคนที่ลงมือทำร่วมกับเราด้วย

ย่านเมืองเก่าซึ่งรวมถึงย่านไชน่าทาวน์เป็นที่นิยมด้านการท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัยมองเรื่องนี้อย่างไร

เวลาถามคนในชุมชนว่ามีคนมาท่องเที่ยวแล้วได้อะไร เขามักบอกว่าไม่ได้อะไร แต่จริงๆ แล้ว มันมีเรื่องผลประโยชน์ที่เราได้มาโดยไม่รู้ตัว เช่น พื้นที่มีความปลอดภัยมากขึ้นจากการมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทางเท้าที่เมื่อก่อนชำรุดเสียหายก็พยายามซ่อมแซมปรับปรุง ชุมชนก็เรียบร้อยและเป็นกิจลักษณะมากขึ้น เมื่อทางเขตเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาก็จะเกิดโครงการและงบประมาณในการปรับปรุงต่างๆ คนในพื้นที่ก็จะมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าบ้าน ก็จะพยายามจัดการพื้นที่รับผิดชอบของตัวเองให้เรียบร้อยขึ้นเช่นกัน อย่างโครงการ Street Art ที่ตลาดน้อย ช่วง 10 ปีที่แล้วที่เราเริ่มเข้ามาทำ ซอยเลอะเทอะ คนเอาขยะมาทิ้ง เต็มไปด้วยมูลสุนัข และแมว พอนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะขึ้น คนในชุมชนก็อยากที่จะพัฒนา เห็นผลประโยชน์ร่วมกัน จึงโยงโจทย์การเล่าเรื่องของตัวเองที่ชุมชนอยากที่จะบอกต่อ โดยการใช้เรื่องของ painting เป็นสื่อที่ใช้ในการช่วยเล่า คอนเทนต์ต่างๆ ในชุมชน รวมไปถึงการจัดทำแผนที่ ก็เกิดการร่วมมือพัฒนา ทางเขตเริ่มเห็นกระแสตอบรับก็ออกมาช่วยจัดการ

คิดว่างานพัฒนาเมืองลักษณะนี้จะเดินต่อเองจากคนในชุมชนเลยได้ไหม

ส่วนนี้เป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ละคนก็จะมีความเชี่ยวชาญคนละกันด้าน คนส่วนมากที่ทำงานตรงนี้จะเป็น third party แบบเรา ที่มองเป็นการขับเคลื่อนของเมือง ว่ามันควรเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งโจทย์นี้คือโจทย์แรก

ประเด็นที่สองคือตัวชุมชนเอง แต่ละคนก็จะมีธุระ งานประจำที่เป็นงานเต็มเวลาที่เขาทำอยู่ ทำให้ยาก เท่าที่เห็นในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะมี agency เฉพาะที่ทำเรื่องนี้แล้วเกาะกันไป เติบโตไปพร้อมกับย่าน ซึ่งหากไม่มีสองประเด็นนี้แล้ว เราต้องสร้างตัวตนที่ชัดเจน จึงเป็นสาเหตุให้เราคิดว่าหากจะไปได้ไกล เราต้องกัดไม่ปล่อย และอยู่ในพื้นที่มาเรื่อยๆ เราอาจรับงานอื่นควบคู่ไปบ้าง แต่งานนี้ต้องเป็นงานหลักที่เราต้องดันมันไปให้ทะลุ 

อะไรคือจุดแข็งของคุณเองจนสามารถทำงานพัฒนาเมืองได้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่นี้

เราพยายามรักษาความสัมพันธ์กับคนในชุมชนมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการไปร่วมงานต่างๆ ทำนิทรรศการ ทำวารสารแจก และส่วนหนึ่งมันอาจจะเกิดจากการที่คนในทีมมีความผูกพันกับพื้นที่จนรู้สึกเหมือนจะเป็นคนที่นี่ รวมถึงการที่ตัวเองเป็นผู้อยู่อาศัยและมีสถานะเป็นกรรมการชุมชนจนมาเป็นประธานชุมชน ซึ่งถือว่ามีส่วนช่วยได้เยอะมาก ช่วง 6-7 ปีก่อน เวลาเข้าไปเข้าพบหรือประชุมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขต เขาจะมองเราในฐานะเป็น NGO หรือเป็นกลุ่มเอกชนที่อาจจะมาทำงานับพื้นที่แบบชั่ครั้งชั่วคราว แบบเดี๋ยวมาแล้วก็เดี๋ยวไป เขาจะ ไม่ค่อยเห็นประโยชน์ร่วมในการทำงานกับเรา พอเราเริ่มมีสถานะทางชุมชนมาเสริมก็เริ่มดีขึ้น บางครั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆก็มาขอความร่วมมือกับเราในการสร้างปฏิบัติการในหลายๆรูปแบบกับชุมชนและพื้นที่ นอกจากนี้กระบวนการต่อรองต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูย่านก็สามารถเจรจาในกรอบความคิดที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น

กลับไปที่คนรุ่นใหม่ผู้เป็นตัวละครสำคัญ ที่ตลาดน้อยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่มารับช่วงต่อหรือยัง

ยังครับ เรากำลังหาอยู่เหมือนกัน หลายๆ คนก็ติดงาน ตอนนี้วิธีการที่เราพยายามใช้คือพูดคุยกันตอนเย็น

บางครั้งอาอี๊ในชุมชนก็จะพาลูกมาด้วยหรือมีลูกมารับ เราก็จะพยายามเล่าให้เขาฟัง ว่าเรากำลังทำอะไร แล้วทำไมพ่อ แม่ เขาถึงต้องกลับบ้านเย็น คาดหวังว่าเขาก็พอจะรู้ความเป็นมาเป็นไปของโครงการ

หรือบางครั้งเขาหาที่โยคะกัน เราก็ยกออฟฟิศของเราให้เป็นที่รวมตัว จะได้เกิดการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการขึ้นบ้าง มีอะไรก็เล่าสู่กันฟัง หรือว่าไลน์หากัน เราก็พยายามใช้วิธีหลากหลายในการจัดการ แต่หลัก ๆ ที่สามารถทำให้คนเข้าใจ และเห็นภาพตรงกันได้ ในฐานะที่เราเป็น third party คือต้องพยายามสร้างอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม หรือหากทำไม่ได้ ก็ต้องให้เขาเห็นตัวอย่าง อย่างเราเริ่มจากการทำแผนที่ bird’s-eye view เริ่มเห็นภาพรวมของชุมชน เห็นกลุ่มพื้นที่สีเขียว เห็นพื้นที่ตั้งของมรดกทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เขาก็จะเริ่มนึกภาพออก มองเห็นอนาคตมากขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างก็คือการสื่อสารซึ่งกันและกัน เพราะในบางครั้งที่เราไม่ได้สื่อสารกันก็มีหลงทางหรือเข้าใจผิดกันบ้างในบางครั้ง ซึ่งต้องพยายามหาทางแก้ไขด้วยการพยายามสื่อสารซึ่งกันละกันทั้งเราหรือพี่ๆชุมชน

อุปสรรคการทำงานที่ยังไม่เอื้อให้งานไปไกลได้เท่าที่ควรมีอะไรบ้าง

ในความคิดของผม มีอยู่สองประเด็น คือกฎหมายกับนโยบาย และอีกส่วนคือเรื่องคนในชุมชนเอง

เรื่องนโยบายของเรายังไม่ค่อยชัดเจน เปลี่ยนไปตามผู้บริหาร ซึ่งตรงนี้ทำให้เป็นอุปสรรค ถ้าให้ดีเลย เราอยากให้ไม่ว่าจะนโยบายอะไรก็ตาม ขอให้มีความมั่นคงไม่เปลี่ยนไปมา มีอะไรแล้วไปให้สุดทาง 

อย่างที่ออสเตรเลียแม้ว่าการเมืองจะเปลี่ยนพรรค แต่นโยบาย วิสัยทัศน์ของเมืองยังเดินหน้าต่อไปตามเดิม เขาจะมี masterplan ที่มีความชัดเจน ขบวนการดำเนินการเขามีแบบแผน เข้าถึงง่าย มีการแลกเปลี่ยนคุยกันกับคน ที่เราเห็นคือ จะมีรถ กางโต๊ะ มีกาแฟสด และโดนัทบริการ ให้คนเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงการจัดนิทรรศการให้เด็กในพิพิธภัณฑ์ แล้วเขาก็เก็บรวบรวมข้อมูลตรงนี้ไปทำแผนต่อ ใช้ทั้งวิธีทางการ และกึ่งทางการ ให้คนเข้าถึงได้ 

หรือแม้แต่นโยบายด้าน Creative district เองก็ยังไม่มีความชัดเจนเท่าไรนัก Infrastructure ยังไม่ขยับ Incentive ก็ยังไม่มี Ecosystem ก็ยังไม่ค่อยเกิด ซึ่งถ้าไม่ได้มี Event กับ Influencer ลงมาจัดงานนิทรรศการหรือเทศกาล บางคนก็คงไม่รู้ว่าพื้นที่บริเวณนี้มันอยู่ในโซนของ Creative district ที่ต้องการสนับสนุนให้เกิด Creative economy มากขึ้น

ด้านกฎหมายเป็นอย่างไรบ้าง

กฎหมายทำให้ภาครัฐมีความแข็งตัวมาก อะไรที่ตีความได้ไม่ชัดเจน เขาก็จะไม่ลงมาเสี่ยง ต้องรอผู้บริหารตัดสินใจในหลายขั้นตอน และกินเวลามาก คนที่ผลักดันเรื่องการพัฒนา การหาช่องทางการจัดการต่างๆ โดยมากพวกเรากับชุมชนก็ลงมือกันเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ปั้นเมืองทำกับชุมชน เราทำในรูปแบบชั่วคราวทั้งหมด เพื่อให้เขตสามารถรื้อถอน และอนุมัติให้เราทำได้ทุกเมื่อ หรือถ้าต้องเซ็นเอกสารในการเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่จะต้องรื้อถอน เราก็ต้องรับ ซึ่งถ้าไม่ใช่ประธานชุมชนก็ต้องเป็นทางปั้นเมืองเอง ไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่สามารถทำได้เลย

นอกจากนี้ ข้อห้ามของกฎหมายบางข้อก็มีส่วน เช่น ข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ภาครัฐเองก็ไม่สามารถที่จะเบิกงบประมาณมาซื้อที่ดิน หรือขอพื้นที่จากหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองมาบริหารจัดการพื้นที่ในนามท้องถิ่นได้ง่ายนัก อย่างในเยาวราชเอง เราทราบดีว่าพื้นที่เต็มทุกตารางนิ้ว ทางสัญจรก็แคบ พื้นที่สาธารณะก็มีไม่มากเพราะเป็นย่านเมืองเก่า  ถ้าเขตสามารถซื้ออาคารทุกช่วง 300 เมตร (ถนนเยาวราชยาว 1.5 กม.) เพื่อทำเป็นสถานีในการจัดการขยะจากเศษอาหาร หรือเอาพื้นที่ถนนมาขยายทางเท้าแล้วจัดการวางแนวสาธารณูโภคหรือบำบัดของเสียที่มีประสิทธิภาพเข้าไปข้างใต้ จะสามารถแก้ปัญหา และจัดการระบบขยะอย่างเป็นระบบได้ ดีกว่าการเทเศษอาหารลงท่อ จับตัวเป็นไขมัน มีปัญหาต้องมาขุดลอก 

พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ก็เป็นอีกข้อจำกัด สำหรับเมืองเก่าที่ทุกอย่างแน่นแล้ว มันมีเงื่อนไขเยอะมาก ที่สุดท้ายทำให้เราทำอะไรไม่ได้เพราะขัดกับกฎหมาย ผลก็คือบ้านในเมืองเก่าก็ถูกทิ้งร้างเป็นแถว สภาพแวดล้อมแย่ลง ในขณะที่ราคาที่ดินในทำเลยังสูงอยู่ อย่างในตลาดน้อย คนใหม่ๆ ที่เข้ามาหากไม่เจ๋งจริง ก็จะอยู่ได้ปีสองปี และต้องม้วนเสื่อกลับไปเพราะสู้ค่าเช่าไม่ไหว ไม่ก็ผลักภาระด้านราคาที่ตัวเองแบบไว้ไปที่ผู้บริโภค จนอาจจะกลายเป็นย่านที่แพงแบบไร้เหตุผล ในส่วนเจ้าของเองก็ไม่ลงทุน สุดท้ายก็ปล่อยร้างในที่สุด อาคารก็เสื่อมโทรมไปเรื่อยๆ หรืออาจตกเป็นที่เช่าของแรงงานราคาถูก

ถ้ากฎหมายสามารถปรับส่วนนี้ให้เราปรับปรุงอาคารได้ตามสมบูรณ์ มีไกด์ไลน์ที่เหมาะสม คนในชุมชนก็ไม่ต้องทนกับบ้านที่ไม่รู้ว่าวันนี้ฝนตกน้ำจะรั่วหรือไม่ ถ้าทำตรงนี้ได้ ก็ได้อยู่ในบ้านดั้งเดิม ที่มีชุมชนที่รู้จักกัน และอยู่บ้านที่สะดวกสบายน่าอยู่ มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ทันสมัย คลองโอ่งอ่างกับคลองผดุงฯก็จะใสขึ้น

แล้วข้อจำกัดด้านคนล่ะ?

พวกเราเอง ในฐานะของคนเมืองหรือคนในชุมชนเองก็อยู่ด้วยความเคยชินกับเรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่องปกติกันประมาณหนึ่ง เราเดินไปถนนได้โดยไม่รู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัยอะไรทั้งที่มันไม่ปลอดภัย หรือไม่สามารถเดินได้ตามปกติถ้าสภาพร่างกายไม่เต็มร้อย เพราะเราเข้าใจว่ามันก็เป็นไปตามปกติของมัน ทำให้เรานึกภาพสิ่งที่ดีกว่า หรือการพัฒนาไม่ออก เพราะเราชินจนไม่เห็นปัญหา ถ้าเดินไม่ได้ก็ไปนั่งรถ หรือต้องหาวิธีตัดตัวเองออกจากสภาวะแวดล้อมเพื่อหนีปัญหา เข้าสู่โลกส่วนตัว เปิด Noise cancelling ก้มหน้าหาข้อมูลจากอุปกรณ์ของเราแทนที่จะคุยกับคนรอบๆ หรือมีสุนทรีย์กับพื้นที่รอบๆ จนเราแทบไม่มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับย่านและพื้นที่เลย ดังนั้นความอันตรายคือ คนจะนึกไม่ออก ว่าเราควรพัฒนาไปอย่างไร ไปจนถึงไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างที่มันควรจะเป็น

ประเด็นการขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับย่านคิดว่ามีทางออกไหม

มันอาจจะไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการมีพื้นที่ให้คนได้เกิดการพูดคุยกันอย่างเป็นธรรมชาติ และการเรียนรู้จะตามมาเอง อาจจะมาจากการถามคำถาม หรือการซื้อของต่าง ๆ อย่างที่เราเห็น เวลาไปซื้อของในย่านเก่า แม่ค้าก็จะบ่นนู่นนี่ให้เราฟัง หรือเล่าถึงผลิตภัณฑ์ของเขา

เราอาจจะเริ่มด้วยเรื่องง่ายๆ เช่นการทักทายพูดคุย กินข้าวหรือยัง หรือตั้งคำถาม เช่น ทำไมบ้านนี้ถึงเป็นสีนี้ มันต้องมีพื้นที่และบรรยากาศที่ทำให้คนรู้สึกอยากถ่ายทอดและอยากพูดคุยกัน

สุดท้ายแล้ว หากพื้นที่มันดีจริง คนอาจจะมานั่งพูดคุยกัน อย่างสวนลุมพินี ที่คนออกกำลังกายมาคุยกัน หรืออาจจะเกิด street performer ต่างๆ ซึ่งก็จะเกิดการส่งต่อความรู้กันในหลายมิติ โดยเราไม่ได้พูดถึงความรู้ที่เรานิยามเท่านั้น แต่มิติที่สำคัญ คือการทำให้คนเกิดความเป็นมนุษย์มากขึ้น เห็นใจ เข้าใจ รับฟังกันมากขึ้น สิ่งนี้เองจะทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นมาตามธรรมชาติจากสภาพแวดล้อมที่มันเอื้อ ผมเชื่อพื้นที่สาธารณะคือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบ้านแต่ละคนมีพื้นที่ที่จำกัด และในสถานการณ์ปกติเราก็มักจะใช้ชีวิดส่วนใหญ่อยู่นอกบ้านทั้งการเดินทาง การเรียน การทำงาน การจับจ่าย ไปจนถึงการพบปะกับผู้คน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาบทบาท ศักยภาพ และพัฒนาดัชนีชี้วัดการขับเคลื่อนเมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต ได้รับทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) / หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) / ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ป่าสาละ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor