24/06/2020
Life
พินิจพิศเรื่องเมืองกับพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
เอกศาสตร์ สรรพช่าง
“คุณจะถามอะไรผมอีก ผมพูดบ่อยมากเรื่องเมือง ไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว”
นั่นเป็นปฎิกิริยาแรกของ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หรือ ‘จารย์พิชญ์’ ของนิสิต นักศึกษาและแฟนๆ รายการของอาจารย์ที่มักรู้ถึงสมญานามของฝีปากของอาจารย์ว่าเด็ดดวงถึงเพียงใด
แม้ว่าอาจารย์พิชญ์ พื้นเพเป็นนักรัฐศาสตร์ แต่ความสนใจของอาจารย์อาจเรียกได้ว่าเป็นนักรัฐศาสตร์พหูสูตรเพราะอาจารย์สนใจความรู้ในหลากหลายแขนง และเรื่องเมืองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่อาจารย์มักลุกมาวิพากษ์เสมอ ส่วนหนึ่งอาจเพราะความเป็นรัฐและความเป็นเมืองนั้นล้วนเป็นเรื่องคู่กันมานับตั้งแต่มนุษย์เราเริ่มตั้งถิ่นฐานเลยก็ว่าได้
ครั้งนี้เราชวนอาจารย์พิชญ์มาคุยเรื่องเมืองกรุงเทพฯ ในยุคหลังโควิดมาอ่านความคิดของอาจารย์ดูว่า หลังจากนี้โฉมหน้าของกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร
มุมมองของนักรัฐศาสตร์อย่างคุณ โรคระบาดสะท้อนให้เห็นปัญหาอะไรในสังคมไทยบ้าง
เราเห็นภาพของการเน้นใช้ระบบราชการเป็นหลักในการแก้ปัญหา จนจบงานนี้เราก็ยังไม่เห็นว่าชุมชนหรือสังคมจะเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอะไร ทุกอย่างมันเอื้อไปที่การใช้อำนาจของระบบราชการ ปัญหาคือรอบนี้เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีการลองผิดลองถูกเยอะ ซึ่งการลองผิดลองถูกคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประชาชน
แล้วปัญหามันหลากหลายเพราะเมืองอย่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดมันแตกต่างกันมาก กรุงเทพฯเป็นจังหวัดเดียวที่มีพื้นที่ความเป็นเมืองหนาแน่น ขณะที่ต่างจังหวัดความเป็นเมืองมันมีเป็นหย่อมๆ ไม่มีจังหวัดไหนที่มีพื้นที่เมืองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ หากคุณอยู่ในแวดวงรัฐศาสตร์อาจพอเห็นภาพว่า คนที่ดูแลต่างจังหวัดจริงๆ ไม่ใช่ตัวผู้ว่าฯ มันจะเป็นเป็นนายกเทศมนตรี ผู้ว่าฯ ถูกส่งจากส่วนกลาง หลายคนก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องพื้นที่ เดี๋ยวก็เปลี่ยนตัว เขาก็ทำดีที่สุดเท่าที่เขาทำได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องมีกระทรวงมหาดไทยนะ แต่เราเห็นบทบาทขององค์กรท้องถิ่นน้อย อย่างอบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ไม่เห็นบทบาทของเทศบาล ไม่เห็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานท้องถิ่นกับส่วนกลางเท่าไหร่
ผู้ว่าฯ ถูกส่งจากส่วนกลาง ถึงเวลารัฐออกออก พรก.ฉุกเฉินปุ๊บก็ overrule สิ่งที่ท้องถิ่นเขาคิดไว้ทั้งหมด จะเห็นว่าการบริหารจัดการส่วนกลางมันไม่แคร์เรื่องความหลากหลายของท้องถิ่น บางจังหวัดไม่มีคนติดเชื้อก็สั่งหยุด โรงเรียนก็ไม่ให้เปิด
จะบอกว่าการแก้ปัญหาในครั้งนี้ ทำให้เรายิ่งเห็นข้อเสียของการรวมศูนย์อำนาจ เราไม่สามารถเข้าใจปัญหาของท้องถิ่นจริงๆ เพราะทุกอย่างถูกมองจากส่วนกลาง คุณไม่เห็นเลยว่าท้องถิ่นเขาบริหารจัดการดูแลตัวเองได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งการจัดการศึกษาในท้องถิ่น ไม่มีการสร้างเงื่อนไขให้ชุมชนหารือกับส่วนกลาง วิธีคิดในการจัดการปัญหามาจากส่วนกลางจากระบบราชการอย่างเดียว ตั้งตารอส่วนกลางอสม.ปูพรม แต่คุณไม่เห็นบทบาท อบต. ไม่เห็นภาพของเทศบาล ทำได้ดีสุดก็คือออกไปแจกของ เพราะยิ่งทำอะไรมากส่วนกลางก็มองว่าเป็นการซื้อเสียงหรือเปล่า แจกเงินเดี๋ยวก็ผิดระเบียบไหม ทุกคนก็นิ่งไว้ก่อน ต่อให้ผู้ว่าฯ เริ่มเข้าใจในพื้นที่ ก็ถูกส่วนกลาง overrule อยู่ดี
ในกรุงเทพฯ สภาพก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เราไม่เห็นบทบาทของแต่ละเขตเลยว่าจะทำอะไร สภาเขตในแต่ละเขตเขาจะมีส่วนร่วมในการช่วยกระจายอะไรไหม ไม่มี ทุกอย่างเป็นการสั่งการโดยระบบราชการส่วนกลางทั้งหมด
ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ มันมีเมืองอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงก็คือ จังหวัดตามชายแดน ซึ่งคนพูดถึงน้อย อาจารย์ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ที่อยู่ภาคใต้ เคยยกประเด็นนี้มาพูด คือจังหวัดชายแดนมีพลวัตแบบหนึ่ง คนมันเคลื่อนย้ายกันไปมา ซึ่งควบคุมไม่ง่ายเมื่อเทียบกับการเข้าเมืองหลวง เพราะจังหวัดชายแดนมันเข้ามาแล้ว แม้ว่าจะมีการกักตัวตามด่านตรวจฯ แต่กักได้ไม่หมดหรอก เพราะความไม่พร้อมหลายอย่าง และเมืองชายแดนเหล่านี้เราไม่ได้โฟกัสเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เรื่องราวมีมากโดยเฉพาะฝั่งที่ติดกับเพื่อนบ้านของเรา ทั้งพม่า กัมพูชา จังหวัดแบบนี้น่าเป็นห่วง
สรุปคือในทัศนะของคุณเอง มองว่าชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาครั้งนี้น้อยมาก
มีส่วนแต่แบบตามมีตามเกิดไง แต่คุณไม่ได้มีโครงสร้างให้เขาทำอะไรได้มากกว่านี้ คุณลองไปดูคู่มือโรคระบาดขององค์กรอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) ดูส่วนสำคัญตัวที่เขาบอกไว้เลยก็คือ ในการแก้ปัญหาโรคระบาดคุณต้องมีชุมชนในการเข้ามาร่วมบริหารจัดการตั้งแต่ต้น
หากมองในแง่ของการควบคุมโรค ระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดอื่นมีช่องว่างอยู่มากไหมในการจัดการปัญหา
เรื่องนี้อาจมองได้จากสองมุม ด้านหนึ่งดูในเชิงพื้นที่ อีกด้านหนึ่งดูผู้บริหารจัดการ ในแง่หนึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองเปิด เมืองที่มีความลื่นไหล คนเดินทางเข้าออกมาก แต่ศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯกลับน้อย คนสั่งการไม่เป็นระบบ เพราะกรุงเทพฯ ไม่มีกลไกที่เป็นจังหวัดจริงๆ ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันดี
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีระบบการปกครองที่ไม่สมบูรณ์แบบเท่าไหร่ เป็นหน่วยงานที่ออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเสียมากกว่า วิกฤตครั้งนี้เราจะเห็นเลยว่า ผู้ว่ากรุงเทพฯ พยายามทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ แต่ตัวกรุงเทพฯ ไม่ได้มีสถานภาพแบบนั้น ฉะนั้นจริงๆ แล้วผู้ว่ากรุงเทพฯ ทำอะไรได้ไม่มากเท่าผู้ว่าราชการจังหวัดเสียด้วยซ้ำ เพราะโดนรัฐส่วนกลางกลบความสำคัญ
เทียบกับผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนภูมิภาค ในความหมายนี้ผู้ว่าฯ มีเครื่องไม้เครื่องมือครบกว่ามีระบบราชการ มี อสม. มีสาธารณสุขแต่ละระดับคอยกำกับดูแล ทำงานภายใต้ system command ของผู้ว่าฯ แต่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่สามารถทำอย่างนั้น เพราะรัฐบาลกลางนั้นข่มความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ไว้หมด
กรุงเทพฯ ยังมีผู้เล่นคนสำคัญอีกหน่วยคือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย วิกฤตการระบาดของโควิดคราวนี้ คุณจะเห็นภาพว่ามีกลุ่มคุณหมออยู่สองกลุ่มที่ไม่เหมือนกัน คือกลุ่มคุณหมอที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขกับที่สังกัดโรงเรียนแพทย์ สังเกตว่าช่วงแรกที่เริ่มมีการระบาด ระบบการดูแลถูกแต่งตั้งดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสั่งการไปตามโรงพยาบาลในสังกัด ซึ่งในกรุงเทพฯ เข้าใจว่ามีแต่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งการทำงานมันก็จะมันอยู่ในโครงสร้างของโรงพยาบาลราชวิถีกับโรงพยาบาลบำราศนราดูรเท่านั้น แล้วก็ไม่ได้ให้โรงพยาบาลอื่นรับผู้ป่วย เพราะโรงพยาบาลอื่นๆ ส่วนมากก็เป็นโรงพยาบาลเอกชน กับโรงพยาบาลที่สังกัดกับมหาวิทยาลัย หรือหน่วยอื่นๆ เช่น ทหาร ซึ่งไม่ได้รายงานตรงต่อกระทรวงสาธารณสุข
เราจะเห็นวันที่อาจารย์หมอมารวมตัวกันเข้าพบคุณประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ) แล้วช่วงที่ประยุทธ์เริ่มยึดอำนาจ ก็ดึงเอาคุณหมอปิยะสกล สกลสัตยาทร (อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) กลับมาซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขช่วงที่คุณประยุทธ์ทำรัฐประหาร (พ.ศ. 2558 – 2562) การทำงานก็เริ่มเปลี่ยน กระแสที่ออกมาว่าประเทศไทยอาจมีคนติดระดับสามแสนคนซึ่งนำมาไปสู่การปิดเมืองก็เป็นสายที่มาจากอาจารย์หมอเหล่านั้น ซึ่งมันเป็นคนละกลุ่มคนที่จัดการการระบาดในตอนแรก วิธีการเข้าถึงการแก้ปัญหาจึงเป็นคนละแบบ
กระทรวงสาธารณสุข อยากเน้นตรวจเยอะๆ เน้นเฝ้าระวัง เน้นการเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล อีกสายหนึ่งเขาเห็นว่าไม่พอ ต้องปิดเมือง คุณต้องเข้าใจว่าตัวละครที่เข้ามา มันมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน
ฉะนั้นกรุงเทพฯ ตัวหลักจริงๆ คือทีมโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์นี่แหละที่เป็น game changer แต่สุดท้ายคุณประยุทธ์เขาก็ยึดอำนาจ เพราะต้องการสั่งทุกคน มันก็นำไปสู่คำถามที่ทุกคนอยากรู้ว่าตกลงเราจำเป็นที่ต้องมี พรก.ฉุกเฉินไหม
โรคระบาดคราวนี้ถูกโยงไปเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไปหรือเปล่า
มันเป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้วตั้งแต่แรก เราชวนตั้งคำถามว่าตกลงปัญหาคราวนี้เรามีกระบวนการแก้ปัญหายังไง คนที่เป็นคนกำหนดมาตรการการแก้ปัญหากลุ่มแรกๆ เลยคือสาธารณสุข แต่สาธารณสุขก็มีลักษณะตั้งรับมากเกินไป ให้ความสำคัญกับการรักษา ไม่ได้โฟกัสที่การระบาด พอมันระบาดจริงๆ เขาก็ถูกแทรกแซงโดยทีมของนายกฯ บวกกับอาจารย์หมอจากคณะแพทย์ต่างๆ เลยทำให้การแก้ปัญหาครั้งนี้มีลักษณะที่อนุรักษ์นิยมมากจนกระทบกับเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งหมดคือมันก็เกี่ยวพันกับการเมืองตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ในความคิดของคุณการใช้ พรก. ฉุกเฉิน ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ มันไม่จำเป็น?
พรก.ฉุกเฉินทำหน้ารวบอำนาจเข้าสู่นายกรัฐมนตรี มันไม่ได้ทำหน้าที่สำคัญในประเด็นอื่นๆ เพราะประเด็นอื่นๆ มันสามารถใช้อำนาจที่นายกรัฐมนตรีมีอยู่ ทำได้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น ตอนแรกๆ ที่คุณอนุทิน (นายอนุทิน ชาญวีระกูล-รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข) เข้ามาดูแลช่วงแรกๆ ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เขาก็เสนอให้ปิดสนามบินอยู่แล้ว แต่คณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติ ซึ่งมันก็เห็นแล้วว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการ พูดง่ายๆ คือนายกฯ คุม ครม.ไม่ได้ก็เลยต้องใช้ธีนี้แทน
ส่วนการประกาศเคอร์ฟิว มันก็เป็นคำถามว่าการประกาศเคอร์ฟิวจำเป็นต้องใช้พรก.ฉุกเฉินหรือเปล่า ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า นี่คือเรื่องทางการเมืองหรือไม่ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถสื่อสารข้ามหน่วยงานที่เขาไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงได้ มันก็เลยกลายเป็นปัญหาทาง ‘การเมือง’ แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา ‘เมือง’
คิดว่าพรก.ฉุกเฉิน เมื่อไรจะเลิก
อาจจะไม่เลิกง่ายๆ ปัจจุบันมันก็ไม่มีความหมายอะไรนอกจากการรวบอำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีอีกทางหนึ่งมันก็เป็นการสร้างความมั่นใจว่าคุณสามารถบริหารจัดการประเทศนี้ได้โดยไม่ต้องทำให้นักการเมืองที่ร่วมรัฐบาลมีฐานะเท่าเทียมกับคุณ
อีกทางหนึ่งนี่ก็เป็นเงื่อนไขห้ามการการรวมตัวจุดชนวนของนักศึกษาได้ มันเลยถูกมองว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้มันมีนัยยะทางการเมือง เพราะข้อหนึ่งที่สำคัญคือเมื่อออกกฎหมายนี้มาแล้ว คนสั่งไม่ต้องรับผิด ทำอะไรไปแล้วคุณฟ้องไม่ได้ แต่ถ้าคุณออกคำสั่งในพรบ.ปกติ คุณฟ้องศาลปกครองได้ว่ามันเป็นคำสั่งไม่ชอบธรรม เป็นคำสั่งที่เกินเลย
พอมองเห็นตัวอย่างว่ามีที่ไหนที่สร้างสมดุลได้ดีระหว่างการควบคุมกับการรักษาเสถียรภาพ ปล่อยวางให้เศรษฐกิจมันเดินได้
ผมว่าส่วนใหญ่เขาก็ทำกัน อย่างสิงคโปร์ใช้ตรรกะแบบตลาดหุ้นคือแก้ปัญหาแบบ circuit breaker หมายความว่าเวลาที่คุณจะปิดหรือเปิดเมือง ต้องมีเงื่อนไขว่าด้วยเหตุผลอะไรคุณถึงจะปิดหรือกลับมาเปิดเช่นว่า ถึงระดับที่ระบาดมากขึ้นก็ปิดทีหนึ่ง พอดีขึ้นก็เปิดเมือง แต่ของเรามันเป็นลักษณะที่ว่าปิดแล้วไม่ได้บอกเงื่อนไขที่เป็นรูปธรรมว่าจะเปิดเมื่อไร ผมถามว่าเวลาที่คุณเปิดจากขั้นหนึ่งไปเป็นขั้นสองและสามรัฐบาลบอกประชาชนหรือเปล่าว่าอะไรเป็นตรรกะเงื่อนไข แต่คุณเปิดเหมือนเป็นความเมตตากรุณาของผู้ปกครอง
ทำไมไม่กำหนดไปว่าถ้ามีคนติดต่ำกว่า 5% ภายในกี่วัน เราจะเปิดหรือมีมาตรการต่อไปเป็นแบบนี้ๆ หรือคำนวณผู้ป่วยกับจำนวนเตียงที่เรามี โรงพยาบาลมีกำลังแบกรับเท่าไร ฯลฯ ไม่ใช่ว่าคุณมาบอกอย่างเดียวว่า การ์ดอย่าตกๆ แต่ไม่บอกว่ากำลังตัดสินใจทำอะไรอยู่ ยิ่งเป็นแบบนี้ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าประชาชนไม่มีบทบาทอำนาจอะไรเลย รัฐไม่ได้สร้างความรู้สึกร่วมกับประชาชนว่าถ้าเราร่วมมือกันทำตรงนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ในช่วงเวลาที่เราโดนจำกัดเรื่องพื้นที่ทั้งในแง่ของกายภาพและในเชิงความคิดเห็นในการแสดงออกมันสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง
มันทำให้เราเห็นว่าสังคมเรามีความเหลื่อมล้ำสูง ความเหลื่อมล้ำมันฉายภาพชัดขึ้น คนรวยไม่เดือดร้อนเพราะเขาบริหารจัดการชีวิตได้ แต่คนจนเขาต้องอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ต้องพึ่งพากันสูงอยู่แล้ว มันก็กระทบหนักกับอีกชนชั้นหนึ่งค่อนข้างมาก
บ้านเมืองของเราพื้นที่ความเป็นสาธารณะมีอยู่จริงไหม แล้วถ้าหากมันไม่มีอยู่จริงมันเกิดผลดีผลเสียอย่างไรกับชุมชน
มันมีสิ มันมีอยู่จริง แต่มันก็ถูกบีบให้แคบลงเรื่อยๆ คือคนไทยชอบมองว่าสาธารณะกับรัฐเท่ากันสาธารณะคือเท่ากับของรัฐอย่างเดียว ส่วนกลางก็ถูกจัดการโดยรัฐ ในขณะที่เมืองนอกเนี่ย สวนสาธารณะอย่างในนิวยอร์ก มีเซ็นทรัล พาร์ค มันมีองค์กรอย่าง friend of central park อย่างนี้ก็บริหารโดยกลุ่มคน ไม่ได้บริหารโดยรัฐเสมอไป
หากสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประชาธิปไตยกว่านี้ การจัดการโรคระบาดเขาจะทำได้เหมือนอย่างที่เราเห็นไหม หรือจะเกิดปัญหาเหมือนในสหรัฐอเมริกาหรือในยุโรป ที่คนออกมาต่อต้าน
คุณโฟกัสที่อะไรละ เรามักถูกบีบให้เลือกใช่ไหมว่า การแก้ปัญหาโรคระบาดที่ดีต้องใช้อำนาจเผด็จการหรือเปล่า เพราะคุณเอาโรคระบาดเป็นตัวตั้งว่า ‘ต้องไม่มีโรคระบาด’ แต่ถามว่าคุณคิดว่าคนในอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เขาไม่หวาดกลัวเรื่องพวกนี้เหรอ แล้วเราก็ไปตั้งคำถามว่า การมีเสรีภาพจะทำให้ประชาชนทำในสิ่งที่เกินเลยและเสี่ยงต่อการติดโรคไหม
ผมคิดว่าเรามองโรคระบาดในมุมเดียว คือต้องจัดการให้เป็นศูนย์ เศรษฐกิจจะพังก็ช่างมัน เสรีภาพของคนจะพังก็ช่างมัน ซึ่งตอนนี้มันเริ่มพิสูจน์แล้วว่า มันอาจเกิดทำให้เกิดปัญหา
เวลาคุณพูดถึงจีน แล้วคุณบอกว่าจีนแก้ปัญหาได้ มันมีใครลองมองอีกมุมไหมล่ะว่าถ้าสังคมโลกไม่กดดันประเทศจีน จีนจะยอมรับตั้งแต่แรกเหรอว่ามีโรคนี้ ฉะนั้นคุณมองไม่ได้หรอกว่าจีนใช้อำนาจเผด็จการแล้วได้ผล คุณต้องมองว่าเผด็จการของจีนก็มีปัญหาในเรื่องของการปกปิดความจริงอยู่ อย่างวันที่หมอหลี่เหวินเหลียน (จักษุแพทย์ชาวจีนที่พยายามเตือนบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการเชื้อไวรัสชนิดใหม่ก่อนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระบาด ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว หลังติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาต้อหิน) ออกมาพูดเรื่องโควิด รัฐบาลจีนก็ไม่เชื่อแถมไปลงโทษเขาอีก จนกระทั่งข้อมูลมันแพร่กระจายออกไป เริ่มมีคนติดจริงๆ เขาถึงเริ่มขยับตัว ฉะนั้นที่คุณมองว่าจีนเป็นเผด็จการในการแก้ปัญหานี้มันเป็นการบริหารจัดการในขั้นที่สอง แต่ขั้นแรกจีนก็ไม่ยอมรับว่าการะบาดไวรัสโควิด-19 นั้นน่ากลัว
ปัญหาใหญ่ของระบอบเผด็จการคือปฏิเสธความจริง
ทีนี้ถ้ามามองเรื่องการบริหารจัดการ หลังจากเกิดปัญหาก็ต้องยอมรับว่าจีนทำได้อย่างเข้มข้น มาพร้อมด้วยการดูแลสารพัด ในมุมนี้เราอาจมองได้ว่าจีนเป็นรัฐที่มีการใช้อำนาจอย่างเข้มข้นที่จะพยายามดูแลประชาชนของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น ในมหาวิทยาลัยเขาล็อกคนไม่ให้ออกไปไหน แต่มีคนส่งอาหารให้ เป็นต้น คือถามว่าเป็นเผด็จการไหม มันเป็นเผด็จการในการบริหาร แต่มันก็มีการรับผิดชอบต่อคนส่วนต่างๆ ในสังคม มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ จีนสร้างโรงพยาบาล ระดมทีมหมอ อะไรต่อมิอะไรจนสามารถเคลียร์ได้ แล้วก็เปิด ถามว่ามันเปิดตอนที่ยังเหลือคนติดไหมก็มี แต่ผมคิดว่าการบริหารจัดการเขาทำได้ดีเมื่อเทียบกับเราที่เน้นการควบคุมแต่ไม่วางแผนอย่างอื่น
ถามว่าคุณไม่ให้คนไทยทำงานแล้วคุณส่งอาหารให้เขากินทุกวันไหม การันตีหรือเปล่าว่าคนจะมีข้าวกิน จะไม่ปล่อยให้คนจนอดตายไม่ให้มาปีนกระทรวง
เราต้องหลุดพ้นจากวาทกรรม เผด็จการถูก ประชาธิปไตยผิด คือประชาธิปไตยทำให้เกิดการถกเถียง เพราะว่าสิ่งที่เราเจอมันเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน การรวมกัน มาช่วยกันคิด ทำให้เราได้ข้อสรุปที่ยอมรับร่วมกันในการแก้ปัญหา
สหรัฐอเมริกาพูดกันมากเรื่องของภัยเหลือง การเหยียดเชื้อชาติรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมาจากโรคระบาด อาจารย์คิดว่าสุดท้ายมันจะลงเอยอย่างไร
ถ้าคุณเคยไปเรียนที่อเมริกาจริงๆ แล้วใช้ชีวิตไม่ใช่แต่ในมหาวิทยาลัย คุณก็ต้องรู้เรื่องการเหยีดสีผิวว่ามันเป็นแกนกลางของความเหลื่อมล้ำในอเมริกามาโดยตลอด เพียงแต่ว่าคนจำนวนหนึ่งที่มันตกใจต่อวิกฤตโควิด เพราะคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียเชื่อมาตลอดว่า ตัวเองไม่เคยเป็นเหยื่อของการเหยียด คนผิวเหลืองรุ่นหลังเป็นคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ พ่อแม่พอมีเงิน พอมาเจอเรื่องนี้สุดท้ายมันถึงพบไงว่ามันก็หนีไม่พ้นเรื่องการเหยีดเชื้อชาติอยู่ดี ซึ่งเมื่อก่อนไอ้พวกคนผิวเหลืองก็ไม่ใช่พวกที่จะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนผิวสีสักเท่าไหร่
ผมยกตัวอย่างสมัยที่ผมเรียน มีข้อถกเถียงเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากในอเมริกา เรื่องทุน affirmative action อธิบายง่ายๆ คือแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีโควต้าให้คนจนแบบบ้านเราที่อาจเรียนไม่เก่งได้มีโอกาสเรียน ซึ่งส่วนมากคนที่ขอรับทุนก็จะเป็นคนผิวสี แต่คนที่ไม่เอาทุนแบบนี้เลยคือพวกผิวเหลืองพวกเอเชียมีความคิดว่าถ้ายอมรับเงินทุนแบบนี้มันก็เหมือนว่า เราเป็นพวกเดียวกันกับคนผิวสี คือเรียนไม่เก่งแต่ก็ได้ทุน มันไม่ได้วัดกันตามความสามารถ คนเอเชียจะพยายามเรียนให้เก่งแล้วได้ทุนเรียนดีมากกว่า แล้วได้มากกว่าคนขาวด้วยเพราะพ่อแม่คนเอเชียคุณก็รู้เคี่ยวเข็ญลูกจะตายเรื่องเรียนหนังสือคนเอเขียจึงเชื่อมาตลอดว่าสถานภาพของพวกเขาค่อนข้างจะเท่าเทียมกับคนขาว แต่พอมันมาเจอเหตุการณ์นี้ถึงเริ่มรู้ว่ามันก็หนีไม่พ้น เรื่องอคติมันก็คงต้องมีประเด็นกันอีกสักพักครับ เดี๋ยวพออะไรๆ ดีขึ้นนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาก็ต้องมีประเด็นอีก
เห็นภาพของเมืองหลังจากนี้ไหมว่าเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร
เรื่องใหญ่ที่มันกำลังจะเกิดในสังคมไทยก็คือ ข้อถกเถียงเรื่องลักษณะหลังโควิด มันมีคนอยู่สองกลุ่มใหญ่ที่เห็นต่างกัน กลุ่มแรกคือคนที่บอกว่าทุกอย่างจะเปลี่ยน สังคมใหม่เต็มไปด้วยเงื่อนไขที่แบบควรจะทำและสังคมก็ต้องปรับตัว เราควรจะใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้น ทุกคนควรจะมีคุณภาพชีวิตมีสุขภาวะที่ดีขึ้น และต้องไม่ละเลยมิติของความเท่าเทียมและเป็นธรรมในเมือง แต่ไม่ใช่ว่าใช้เงื่อนไขเรื่องสุขอนามัยไล่คนออกจากเมืองนะไม่ใช่ ส่วนคนกลุ่มที่สองคือคนที่ออกมาพูดที่ค่อนข้างที่จะดิสเครติดคนกลุ่มแรกว่า ไม่เห็นต้องเปลี่ยนอะไรขนาดนั้น ไม่เห็นมีอะไรที่เป็นปัญหาใหญ่โต การที่คุณบอกว่าไม่รู้จะเปลี่ยนอะไร ไม่รู้จะทำอะไร ทั้งที่ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่เราควรช่วยกันคิดปรับปรุงเมืองให้มันดีขึ้นมีความเป็นธรรมมากขึ้น สำหรับผมตรงนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าหดหู่