พินิจพิศเรื่องเมืองกับพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

24/06/2020

“คุณจะถามอะไรผมอีก ผมพูดบ่อยมากเรื่องเมือง ไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว” นั่นเป็นปฎิกิริยาแรกของ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หรือ ‘จารย์พิชญ์’ ของนิสิต นักศึกษาและแฟนๆ รายการของอาจารย์ที่มักรู้ถึงสมญานามของฝีปากของอาจารย์ว่าเด็ดดวงถึงเพียงใด แม้ว่าอาจารย์พิชญ์ พื้นเพเป็นนักรัฐศาสตร์ แต่ความสนใจของอาจารย์อาจเรียกได้ว่าเป็นนักรัฐศาสตร์พหูสูตรเพราะอาจารย์สนใจความรู้ในหลากหลายแขนง และเรื่องเมืองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่อาจารย์มักลุกมาวิพากษ์เสมอ ส่วนหนึ่งอาจเพราะความเป็นรัฐและความเป็นเมืองนั้นล้วนเป็นเรื่องคู่กันมานับตั้งแต่มนุษย์เราเริ่มตั้งถิ่นฐานเลยก็ว่าได้ ครั้งนี้เราชวนอาจารย์พิชญ์มาคุยเรื่องเมืองกรุงเทพฯ ในยุคหลังโควิดมาอ่านความคิดของอาจารย์ดูว่า หลังจากนี้โฉมหน้าของกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร มุมมองของนักรัฐศาสตร์อย่างคุณ โรคระบาดสะท้อนให้เห็นปัญหาอะไรในสังคมไทยบ้าง เราเห็นภาพของการเน้นใช้ระบบราชการเป็นหลักในการแก้ปัญหา จนจบงานนี้เราก็ยังไม่เห็นว่าชุมชนหรือสังคมจะเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอะไร ทุกอย่างมันเอื้อไปที่การใช้อำนาจของระบบราชการ ปัญหาคือรอบนี้เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีการลองผิดลองถูกเยอะ ซึ่งการลองผิดลองถูกคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประชาชน แล้วปัญหามันหลากหลายเพราะเมืองอย่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดมันแตกต่างกันมาก กรุงเทพฯเป็นจังหวัดเดียวที่มีพื้นที่ความเป็นเมืองหนาแน่น ขณะที่ต่างจังหวัดความเป็นเมืองมันมีเป็นหย่อมๆ ไม่มีจังหวัดไหนที่มีพื้นที่เมืองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ หากคุณอยู่ในแวดวงรัฐศาสตร์อาจพอเห็นภาพว่า คนที่ดูแลต่างจังหวัดจริงๆ ไม่ใช่ตัวผู้ว่าฯ มันจะเป็นเป็นนายกเทศมนตรี ผู้ว่าฯ ​ถูกส่งจากส่วนกลาง หลายคนก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องพื้นที่ เดี๋ยวก็เปลี่ยนตัว เขาก็ทำดีที่สุดเท่าที่เขาทำได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องมีกระทรวงมหาดไทยนะ แต่เราเห็นบทบาทขององค์กรท้องถิ่นน้อย อย่างอบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ไม่เห็นบทบาทของเทศบาล ไม่เห็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานท้องถิ่นกับส่วนกลางเท่าไหร่ ผู้ว่าฯ ถูกส่งจากส่วนกลาง ถึงเวลารัฐออกออก พรก.ฉุกเฉินปุ๊บก็ overrule สิ่งที่ท้องถิ่นเขาคิดไว้ทั้งหมด จะเห็นว่าการบริหารจัดการส่วนกลางมันไม่แคร์เรื่องความหลากหลายของท้องถิ่น บางจังหวัดไม่มีคนติดเชื้อก็สั่งหยุด โรงเรียนก็ไม่ให้เปิด จะบอกว่าการแก้ปัญหาในครั้งนี้ ทำให้เรายิ่งเห็นข้อเสียของการรวมศูนย์อำนาจ เราไม่สามารถเข้าใจปัญหาของท้องถิ่นจริงๆ เพราะทุกอย่างถูกมองจากส่วนกลาง คุณไม่เห็นเลยว่าท้องถิ่นเขาบริหารจัดการดูแลตัวเองได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งการจัดการศึกษาในท้องถิ่น ไม่มีการสร้างเงื่อนไขให้ชุมชนหารือกับส่วนกลาง วิธีคิดในการจัดการปัญหามาจากส่วนกลางจากระบบราชการอย่างเดียว ตั้งตารอส่วนกลางอสม.ปูพรม แต่คุณไม่เห็นบทบาท อบต. ไม่เห็นภาพของเทศบาล ทำได้ดีสุดก็คือออกไปแจกของ เพราะยิ่งทำอะไรมากส่วนกลางก็มองว่าเป็นการซื้อเสียงหรือเปล่า แจกเงินเดี๋ยวก็ผิดระเบียบไหม ทุกคนก็นิ่งไว้ก่อน ต่อให้ผู้ว่าฯ เริ่มเข้าใจในพื้นที่ ก็ถูกส่วนกลาง overrule อยู่ดี ในกรุงเทพฯ สภาพก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เราไม่เห็นบทบาทของแต่ละเขตเลยว่าจะทำอะไร สภาเขตในแต่ละเขตเขาจะมีส่วนร่วมในการช่วยกระจายอะไรไหม ไม่มี ทุกอย่างเป็นการสั่งการโดยระบบราชการส่วนกลางทั้งหมด ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ มันมีเมืองอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงก็คือ จังหวัดตามชายแดน ซึ่งคนพูดถึงน้อย อาจารย์ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ที่อยู่ภาคใต้ เคยยกประเด็นนี้มาพูด  คือจังหวัดชายแดนมีพลวัตแบบหนึ่ง คนมันเคลื่อนย้ายกันไปมา ซึ่งควบคุมไม่ง่ายเมื่อเทียบกับการเข้าเมืองหลวง เพราะจังหวัดชายแดนมันเข้ามาแล้ว แม้ว่าจะมีการกักตัวตามด่านตรวจฯ แต่กักได้ไม่หมดหรอก เพราะความไม่พร้อมหลายอย่าง  และเมืองชายแดนเหล่านี้เราไม่ได้โฟกัสเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เรื่องราวมีมากโดยเฉพาะฝั่งที่ติดกับเพื่อนบ้านของเรา ทั้งพม่า กัมพูชา จังหวัดแบบนี้น่าเป็นห่วง สรุปคือในทัศนะของคุณเอง มองว่าชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาครั้งนี้น้อยมาก มีส่วนแต่แบบตามมีตามเกิดไง แต่คุณไม่ได้มีโครงสร้างให้เขาทำอะไรได้มากกว่านี้ คุณลองไปดูคู่มือโรคระบาดขององค์กรอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) ดูส่วนสำคัญตัวที่เขาบอกไว้เลยก็คือ ในการแก้ปัญหาโรคระบาดคุณต้องมีชุมชนในการเข้ามาร่วมบริหารจัดการตั้งแต่ต้น หากมองในแง่ของการควบคุมโรค ระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดอื่นมีช่องว่างอยู่มากไหมในการจัดการปัญหา เรื่องนี้อาจมองได้จากสองมุม ด้านหนึ่งดูในเชิงพื้นที่ อีกด้านหนึ่งดูผู้บริหารจัดการ ในแง่หนึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองเปิด เมืองที่มีความลื่นไหล คนเดินทางเข้าออกมาก แต่ศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯกลับน้อย คนสั่งการไม่เป็นระบบ เพราะกรุงเทพฯ ไม่มีกลไกที่เป็นจังหวัดจริงๆ ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันดี กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีระบบการปกครองที่ไม่สมบูรณ์แบบเท่าไหร่ เป็นหน่วยงานที่ออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเสียมากกว่า วิกฤตครั้งนี้เราจะเห็นเลยว่า ผู้ว่ากรุงเทพฯ พยายามทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ แต่ตัวกรุงเทพฯ ไม่ได้มีสถานภาพแบบนั้น ฉะนั้นจริงๆ แล้วผู้ว่ากรุงเทพฯ ทำอะไรได้ไม่มากเท่าผู้ว่าราชการจังหวัดเสียด้วยซ้ำ เพราะโดนรัฐส่วนกลางกลบความสำคัญ เทียบกับผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนภูมิภาค ในความหมายนี้ผู้ว่าฯ มีเครื่องไม้เครื่องมือครบกว่ามีระบบราชการ มี อสม. มีสาธารณสุขแต่ละระดับคอยกำกับดูแล ทำงานภายใต้ system command ของผู้ว่าฯ แต่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่สามารถทำอย่างนั้น เพราะรัฐบาลกลางนั้นข่มความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ไว้หมด กรุงเทพฯ ยังมีผู้เล่นคนสำคัญอีกหน่วยคือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย วิกฤตการระบาดของโควิดคราวนี้ คุณจะเห็นภาพว่ามีกลุ่มคุณหมออยู่สองกลุ่มที่ไม่เหมือนกัน คือกลุ่มคุณหมอที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขกับที่สังกัดโรงเรียนแพทย์ สังเกตว่าช่วงแรกที่เริ่มมีการระบาด ระบบการดูแลถูกแต่งตั้งดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสั่งการไปตามโรงพยาบาลในสังกัด ซึ่งในกรุงเทพฯ เข้าใจว่ามีแต่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งการทำงานมันก็จะมันอยู่ในโครงสร้างของโรงพยาบาลราชวิถีกับโรงพยาบาลบำราศนราดูรเท่านั้น แล้วก็ไม่ได้ให้โรงพยาบาลอื่นรับผู้ป่วย เพราะโรงพยาบาลอื่นๆ ส่วนมากก็เป็นโรงพยาบาลเอกชน กับโรงพยาบาลที่สังกัดกับมหาวิทยาลัย หรือหน่วยอื่นๆ เช่น ทหาร ซึ่งไม่ได้รายงานตรงต่อกระทรวงสาธารณสุข เราจะเห็นวันที่อาจารย์หมอมารวมตัวกันเข้าพบคุณประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ) แล้วช่วงที่ประยุทธ์เริ่มยึดอำนาจ ก็ดึงเอาคุณหมอปิยะสกล สกลสัตยาทร (อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) กลับมาซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขช่วงที่คุณประยุทธ์ทำรัฐประหาร (พ.ศ. 2558 – 2562) การทำงานก็เริ่มเปลี่ยน กระแสที่ออกมาว่าประเทศไทยอาจมีคนติดระดับสามแสนคนซึ่งนำมาไปสู่การปิดเมืองก็เป็นสายที่มาจากอาจารย์หมอเหล่านั้น ซึ่งมันเป็นคนละกลุ่มคนที่จัดการการระบาดในตอนแรก วิธีการเข้าถึงการแก้ปัญหาจึงเป็นคนละแบบ กระทรวงสาธารณสุข อยากเน้นตรวจเยอะๆ เน้นเฝ้าระวัง เน้นการเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล อีกสายหนึ่งเขาเห็นว่าไม่พอ ต้องปิดเมือง คุณต้องเข้าใจว่าตัวละครที่เข้ามา มันมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน ฉะนั้นกรุงเทพฯ ตัวหลักจริงๆ คือทีมโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์นี่แหละที่เป็น game changer แต่สุดท้ายคุณประยุทธ์เขาก็ยึดอำนาจ เพราะต้องการสั่งทุกคน มันก็นำไปสู่คำถามที่ทุกคนอยากรู้ว่าตกลงเราจำเป็นที่ต้องมี พรก.ฉุกเฉินไหม โรคระบาดคราวนี้ถูกโยงไปเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไปหรือเปล่า มันเป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้วตั้งแต่แรก เราชวนตั้งคำถามว่าตกลงปัญหาคราวนี้เรามีกระบวนการแก้ปัญหายังไง คนที่เป็นคนกำหนดมาตรการการแก้ปัญหากลุ่มแรกๆ เลยคือสาธารณสุข แต่สาธารณสุขก็มีลักษณะตั้งรับมากเกินไป ให้ความสำคัญกับการรักษา ไม่ได้โฟกัสที่การระบาด พอมันระบาดจริงๆ เขาก็ถูกแทรกแซงโดยทีมของนายกฯ บวกกับอาจารย์หมอจากคณะแพทย์ต่างๆ  เลยทำให้การแก้ปัญหาครั้งนี้มีลักษณะที่อนุรักษ์นิยมมากจนกระทบกับเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งหมดคือมันก็เกี่ยวพันกับการเมืองตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ในความคิดของคุณการใช้ พรก. ฉุกเฉิน ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ มันไม่จำเป็น?  พรก.ฉุกเฉินทำหน้ารวบอำนาจเข้าสู่นายกรัฐมนตรี มันไม่ได้ทำหน้าที่สำคัญในประเด็นอื่นๆ เพราะประเด็นอื่นๆ มันสามารถใช้อำนาจที่นายกรัฐมนตรีมีอยู่ ทำได้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น ตอนแรกๆ ที่คุณอนุทิน (นายอนุทิน ชาญวีระกูล-รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข) เข้ามาดูแลช่วงแรกๆ ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เขาก็เสนอให้ปิดสนามบินอยู่แล้ว แต่คณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติ ซึ่งมันก็เห็นแล้วว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการ พูดง่ายๆ คือนายกฯ คุม ครม.ไม่ได้ก็เลยต้องใช้ธีนี้แทน ส่วนการประกาศเคอร์ฟิว มันก็เป็นคำถามว่าการประกาศเคอร์ฟิวจำเป็นต้องใช้พรก.ฉุกเฉินหรือเปล่า ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า นี่คือเรื่องทางการเมืองหรือไม่ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถสื่อสารข้ามหน่วยงานที่เขาไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงได้ มันก็เลยกลายเป็นปัญหาทาง ‘การเมือง’ แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา ‘เมือง’ คิดว่าพรก.ฉุกเฉิน เมื่อไรจะเลิก อาจจะไม่เลิกง่ายๆ ปัจจุบันมันก็ไม่มีความหมายอะไรนอกจากการรวบอำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีอีกทางหนึ่งมันก็เป็นการสร้างความมั่นใจว่าคุณสามารถบริหารจัดการประเทศนี้ได้โดยไม่ต้องทำให้นักการเมืองที่ร่วมรัฐบาลมีฐานะเท่าเทียมกับคุณ อีกทางหนึ่งนี่ก็เป็นเงื่อนไขห้ามการการรวมตัวจุดชนวนของนักศึกษาได้ มันเลยถูกมองว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้มันมีนัยยะทางการเมือง เพราะข้อหนึ่งที่สำคัญคือเมื่อออกกฎหมายนี้มาแล้ว คนสั่งไม่ต้องรับผิด ทำอะไรไปแล้วคุณฟ้องไม่ได้ แต่ถ้าคุณออกคำสั่งในพรบ.ปกติ คุณฟ้องศาลปกครองได้ว่ามันเป็นคำสั่งไม่ชอบธรรม เป็นคำสั่งที่เกินเลย พอมองเห็นตัวอย่างว่ามีที่ไหนที่สร้างสมดุลได้ดีระหว่างการควบคุมกับการรักษาเสถียรภาพ ปล่อยวางให้เศรษฐกิจมันเดินได้ ผมว่าส่วนใหญ่เขาก็ทำกัน อย่างสิงคโปร์ใช้ตรรกะแบบตลาดหุ้นคือแก้ปัญหาแบบ circuit breaker หมายความว่าเวลาที่คุณจะปิดหรือเปิดเมือง ต้องมีเงื่อนไขว่าด้วยเหตุผลอะไรคุณถึงจะปิดหรือกลับมาเปิดเช่นว่า ถึงระดับที่ระบาดมากขึ้นก็ปิดทีหนึ่ง พอดีขึ้นก็เปิดเมือง แต่ของเรามันเป็นลักษณะที่ว่าปิดแล้วไม่ได้บอกเงื่อนไขที่เป็นรูปธรรมว่าจะเปิดเมื่อไร ผมถามว่าเวลาที่คุณเปิดจากขั้นหนึ่งไปเป็นขั้นสองและสามรัฐบาลบอกประชาชนหรือเปล่าว่าอะไรเป็นตรรกะเงื่อนไข แต่คุณเปิดเหมือนเป็นความเมตตากรุณาของผู้ปกครอง ทำไมไม่กำหนดไปว่าถ้ามีคนติดต่ำกว่า 5% ภายในกี่วัน เราจะเปิดหรือมีมาตรการต่อไปเป็นแบบนี้ๆ หรือคำนวณผู้ป่วยกับจำนวนเตียงที่เรามี โรงพยาบาลมีกำลังแบกรับเท่าไร ฯลฯ ไม่ใช่ว่าคุณมาบอกอย่างเดียวว่า การ์ดอย่าตกๆ แต่ไม่บอกว่ากำลังตัดสินใจทำอะไรอยู่ ยิ่งเป็นแบบนี้ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าประชาชนไม่มีบทบาทอำนาจอะไรเลย  รัฐไม่ได้สร้างความรู้สึกร่วมกับประชาชนว่าถ้าเราร่วมมือกันทำตรงนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในช่วงเวลาที่เราโดนจำกัดเรื่องพื้นที่ทั้งในแง่ของกายภาพและในเชิงความคิดเห็นในการแสดงออกมันสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง มันทำให้เราเห็นว่าสังคมเรามีความเหลื่อมล้ำสูง ความเหลื่อมล้ำมันฉายภาพชัดขึ้น คนรวยไม่เดือดร้อนเพราะเขาบริหารจัดการชีวิตได้ แต่คนจนเขาต้องอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ต้องพึ่งพากันสูงอยู่แล้ว มันก็กระทบหนักกับอีกชนชั้นหนึ่งค่อนข้างมาก […]

พลอากาศตรี หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ นายกสภาสถาปนิก ว่าด้วยสถาปนิกกับแผนการพิชิตโควิด

04/05/2020

ทันที่เราได้ยินโครงการ Zero Covid ซึ่งเป็นความร่วมมือของสภาสถาปนิกกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์และสังคมในการพิชิตโรคระบาดที่กำลังเป็นปัญหาบาดอกบาดใจเราทุกวันนี้ อดสงสัยไม่ได้เหล่าสถาปนิกเหล่านี้จะเข้าไปช่วยส่วนไหน แบบไหนได้บ้าง  The Urbanis มีโอกาสได้พูดคุยกับพลอากาศตรี หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ นายกสภาสถาปนิกถึงที่มาของโครงการ ว่าทำไมสถาปนิกถึงมีบทบาทที่จำเป็นไม่น้อยในการช่วยเหลือสังคมให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ แรกเริ่ม Zero Covid Project เกิดขึ้นมาได้อย่างไรมาจากอะไร และทำไมงานสถาปัตยกรรมถึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับโรคระบาด  เรื่องเริ่มมาจากว่า ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำงานเรื่องการสนับสนุนการเอาวิชาชีพและเทคโนโลยีด้านการออกแบบมารับใช้สังคม พอมีเหตุการณ์เรื่องสถานการณ์โควิด-19 ทางศูนย์ฯ ก็เข้าไปทำวิจัยเพื่อสร้างแบบจำลองของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม ก็พบว่ามันมีแนวโน้มที่โรคนี้จะมีการระบาดเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับเคสจากต่างประเทศในตอนที่เริ่มทำวิจัยเมื่อหลายเดือนก่อน เราก็เห็นว่าเมืองไทยก็น่าจะไปทางนั้น ซึ่งหากสถานการณ์เป็นอย่างนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากกว่าจำนวนเตียงหรือมากกว่าขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลที่ประเทศเรามีอยู่ ก็เลยมีความคิดว่าน่าจะจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยโรงพยาบาล พอตั้งโครงการนี้เสร็จ ก็เสนอไปที่คณะสถาปัตย์จุฬาฯ ผ่านทางสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตย์จุฬา​ฯ​ เพราะแนวทางที่จะใช้แก้ปัญหานี้คือการออกแบบอาคารของโรงพยาบาล ซึ่งก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตย์โดยตรง จากนั้นก็เริ่มมีการประสานงานกับนักออกแบบที่มีความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับอาคารทางการแพทย์ การพยาบาล  ส่วนสภาสถาปนิกเองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็เพราะว่า ระหว่างที่เกิดวิกฤตนี้ขึ้นมา ก็มีหลายหน่วยงานติดต่อเราเข้ามาเหมือนกัน เพราะเรามีหน้าที่โดยตรงเพราะเป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติที่มีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม เราเข้าไปช่วยประสานงานไปยังสมาชิกของเราที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับงานออกแบบโรงพยาบาล พอเริ่มมีการติดต่อก็พบว่ามันก็ไปทับซ้อนกับโครงการซีโร่โควิดซึ่งเขาก็ประสานงานไว้เหมือนกัน พอเป็นอย่างนั้น หากเราจะต่างคนต่างทำเรื่องเดียวกันก็มาทำด้วยกันเลยน่าจะดีกว่า สุดท้ายก็กลายเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สภาสถาปนิก สมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตย์จุฬา​ฯ​ ร่วมกับและศูนย์​การออกแบบเพื่อสังคมจุฬา​ลง​กร​ณ์ ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาปนิกที่เชี่ยวชาญการออกแบบโรงพยาบาลมากแค่ไหน มีไม่มากนัก ส่วนมากจะเป็นสำนักงานสถาปนิกขนาดใหญ่อยู่สามสี่แห่งเท่านั้น อีกที่หนึ่งก็คือกระทรวงสาธารณสุขโครงกาสรนี้เราดึงทุกคนที่ว่าเข้ามาช่วยกันทั้งหมด […]