23/03/2021
Life

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม: เราต้องทำการเดินให้เป็นเรื่องปกติของชีวิตประจำวัน

นรวิชญ์ นิธิปัญญา อวิกา สุปินะ ชยากรณ์ กำโชค
 


“เราต้อง normalize การเดิน ปัจจุบันการเดินกลายเป็นเรื่องพิสดาร กลายเป็นว่าต้องไม่มีรถแล้วสิถึงต้องเดิน นี่ทำให้การเดินกลายเป็นทางเลี่ยง ทั้งที่การเดินเป็นวิถีชีวิต ในชีวิตปกติเราเดินอยู่แล้ว ”  

คือบทสนทนาส่วนหนึ่งของ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สสส. ที่เราได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนพูดคุยมุมมองเกี่ยวกับประเด็นการเดินกับภารกิจสร้างเสริมสุขภาวะ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้บริหารคนสำคัญของ สสส. และ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องเข้าปีที่ 8 แล้ว

บทสนทนาของเราและ “คุณหมอไพโรจน์” เกิดขึ้นภายหลัง ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS และหัวหน้าโครงการ GoodWalk นำเสนอความคืบหน้าโครงการซึ่งปัจจุบันได้ขยายผลการดำเนินงานทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองรองอย่างเป็นรูปธรรม ในการประชุมผู้อำนวยการ UddC-CEUS ยกให้ สสส. เป็น Change Agent ที่สนับสนุนกระบวนการศึกษาและกระบวนการร่วมมือในโครงการเมืองจำนวนมากทั่วประเทศ

การเดินมีความสำคัญอย่างไร? การเดินสร้างเมืองสุขภาวะได้อย่างไร? ทำไมถึงต้อง normalize การเดิน? ภารกิจของ สสส. กับเมืองมีความสำคัญอย่างไร? ชวนอ่านทัศนะของ “คุณหมอไพโรจน์” กับภารกิจสร้างเสริมสุขภาวะด้วยการเดินในชีวิตประจำวันจากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

การเดินกับการขับเคลื่อนเมืองสร้างเสริมสุขภาวะ

“การเดิน” ถือว่าเป็นกิจกรรมที่มนุษย์ทำได้ง่ายที่สุด เป็นพื้นฐานที่สุด และเชื่อมโยงกับสุขภาวะใน 4 มิติ คือ กาย จิตใจ สังคม สติปัญญา การที่จะมีสุขภาพดี ต้องอาศัยปัจจัยของตัวบุคคลเอง และปัจจัยสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการให้เราได้ใช้ชีวิต ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย ในปัจจุบันนี้ด้านสุขภาวะมันก็สะท้อนให้เห็นได้จาก 3 ประการ       

ประการแรก คือ “โรคภัยไข้เจ็บ” พบว่า โรคภัยส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม ทำให้คนไทยเสียชีวิตจากโรคเชิงพฤติกรรม คือ โรค NCDs (non-communicable diseases หรือ กลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน) ถึง 3 ใน 4 จากอัตราผู้เสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย     

ประการต่อมา คือ ตัวเชิงพฤติกรรมที่เราเห็นจากคนที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวน้อยลงจากสังคม วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น    

ประการสุดท้าย คือ องค์ความรู้ คนส่วนใหญ่มักคุ้นชินกับองค์ความรู้เดิม ๆ ด้านสุขภาพ แต่แท้จริงแล้ว ในยุคปัจจุบันนี้เราจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ เปิดรับความรู้ใหม่ ๆ เช่น การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น   

ตอนนี้เราพูดถึงประเด็นเหล่านี้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการเดินเท้า พร้อมทั้งใส่ใจการขยับร่างกายมากยิ่งขึ้น เมื่อก่อนถ้าเราพูดว่าการขยับต้องเป็นการเล่นกีฬา แต่ตอนนี้เมื่อเราพูดถึงกิจกรรมทางกายมันมีความเชื่อมโยงกันในแง่ของมิติทางการเมือง มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่อยู่รายล้อมตัวของเราทุกคน ด้วยปัจจัยของสิ่งแวดล้อมย่อมปฏิสัมพันธ์ต่อสุขภาพ อีกทั้งพื้นที่กายภาพ (physical space) อาทิ ทางเดินเท้า ถนนหนทาง ย่อม  มีความเกี่ยวข้องกับการเดิน และหากพื้นที่เหล่านี้มีการออกแบบให้เหมาะสมกับผู้คน โดยอาศัยหลักการ design-build and development ทำให้บุคคลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการเดินมากยิ่งขึ้น และผู้คนจะมีสุขภาพดีขึ้นได้จากการเดิน    

การเดินเท้าสามารถขับเคลื่อนเมืองในการส่งเสริมสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้คนได้นั้น พื้นที่เมืองย่อมต้องมีพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต (lifestyle) ของแต่ละบุคคล หมายความว่าพื้นที่เมืองต้องออกแบบให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย พื้นที่กายภาพจึงมีความสำคัญมาก เพราะไม่มองเพียงแค่ว่าเมืองเป็นพื้นที่สำหรับการทำงานและการใช้ชีวิต แต่เมืองต้องตอบโจทย์ในทุกด้านอาศัยการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง

ทางเดินเท้ากับการสร้างโครงข่ายเมืองสุขภาวะ

การเดินเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในเมืองทุกคน ทางเดินเท้าย่อมมีความสำคัญต่อผู้คนที่ใช้ทางเดินในการเดินสัญจรไปมา ความสำคัญของทางเดินเท้าในฐานะที่เป็นคนเดิน คือ หนึ่งความปลอดภัยเดินได้ ไม่ใช่เดินเตะอะไรไปมาเป็นพื้นฐานเลยครับของทางเดินเท้าที่ดี ต่อมาคือ ความสวยงาม ความร่มรื่น ความสะอาด และปัจจัยอื่น ๆ แต่หากทางเดินเท้าปลอดภัยสามารถตอบโจทย์ของผู้สัญจรไปมาได้เลยทีเดียว 

นอกจากนี้ทางเดินเท้าจำเป็นต้องเชื่อมโยงคนจากสถานที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่ง ยกตัวอย่าง การเดินเท้าออกจากบ้านไปยังพื้นที่ระบบขนส่งสาธารณะ (public transport) ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้า รถเมล์ เป็นต้น สามารถสร้างพื้นที่ธุรกิจการค้าแล้วมันสามารถสร้างความสำเร็จจากเส้นทางเดินเท้าเหล่านี้ เป็นการเชื่อมโยงผู้คน ระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ และการทำงานเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน มันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการใช้รถยนต์ สู่การใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ จะสามารถสร้างการเดินเป็นกิจวัตรประจำวัน  

แท้จริงแล้วการเดินเป็นเรื่องของ normalize หรือทำให้เป็นปกติธรรมดา

“เราต้อง normalize การเดิน ปัจจุบันการเดินกลายเป็นเรื่องพิสดาร กลายเป็นว่าต้องไม่มีรถแล้วสิถึงต้องเดิน นี่ทำให้การเดินกลายเป็นทางเลี่ยง ทั้งที่การเดินเป็นวิถีชีวิต ในชีวิตปกติเราเดินอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราอยากให้ทุกคนกลับมา มองว่าการเดินเป็นเรื่องปกติ ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวัน ส่วนตัวผมเป็นคนชอบเดิน เพราะเป็นคนออกกำลังกาย อีกทั้งเราถูกหล่อหลอมด้วยองค์ความรู้ บรรยากาศ และมันทำให้เราได้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติธรรมดา อาศัยทั้งความเป็นกายภาพ ส่งเสริมสุขภาพ ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมผมว่าเป็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่เลยนะ      

ดังนั้น ทางเดินเท้าที่ดีจะสามารถสร้างโครงข่ายเมืองสุขภาวะได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ความสำคัญคือต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพราะการบูรณาการร่วมกัน สามารถสร้างเมืองที่มีความเหมาะสมกับทุกคน และสร้างเสริมสุขภาวะได้อย่างยั่งยืนแน่นอน” ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม กล่าว

การเดินโอกาสแห่งอนาคต โอกาสแห่งการพัฒนาเมือง

การเดินเท้ายังไม่เป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่มากนัก ด้วยสภาพความทรุดโทรมของทางเดินเท้า ความปลอดภัย ขาดการเชื่อมโยงของเส้นทางต่าง ๆ รวมถึงสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน และช่วงกลางคืนทางเท้ามีแสงสว่างไม่เพียงพอเสี่ยงต่อการเกิดเหตุอาชญากรรม

“ก่อนที่คนเราจะเลือกเดินเท้า มักนึกถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ทางเท้าต้องเดินได้ ไม่ใช่เดินเตะอะไรไป หรือมีจุดอันตรายมากมาย จากนั้นก็ต้องมีทัศนียภาพที่สวยงาม ร่มรื่น เอื้อต่อการเดินเท้า” นพ.ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะนี้ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (สนย.) UddC-CEUS และภาคีวิชาชีพสถาปนิก มุ่งพัฒนาทางเดินเท้าด้วยโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ หากมีการพัฒนา นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางเดินเท้า คงพอจะกล่าวได้ว่า ทางเท้าจะมิได้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงในมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดขึ้น สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เส้นทางบางเส้นทางสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ผู้คนในสังคมหันมาเดินเท้า

จึงสามารถกล่าวได้ว่า ทางเท้านอกจากจะเป็นเส้นทางสัญจรแล้ว ยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่เอื้อให้เกิดความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตัวบุคคล สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงภูมิทัศน์ไม่ใช่การปรับปรุงเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทางเท้าดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาพให้กับผู้คนทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงในอนาคต

ด้วยโอกาสในการพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการ สสส. ได้ใช้ระยะเวลาอย่างยาวนาน ต้องฝ่าฝันจนมาถึง จุดที่ทำให้เห็นกระบวนการ ทำให้มันเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีความสำคัญคือ พยายามสร้างทัศนคติเชิงบวกในการเดินเท้า และพยายามเข้ามาจัดการอุปสรรคให้ผู้คนที่ไม่เดินให้เกิดการเดินขึ้นมาเป็นปกติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามสร้างความตระหนักรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยอาศัยการเรียนรู้ผ่านสิ่งแวดล้อม และประสบการณ์จริงของบุคคล อีกทั้งการพัฒนาสื่อสาธารณะให้เกิดการปฏิบัติจริง จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคต


Contributor