21/04/2021
Life

เป็นคนแรกที่ถูกลืมและเป็นคนสุดท้ายที่ถูกนึกถึง: ทางเท้าสำหรับทุกคนผ่านมุมมอง กฤษนะ ละไล

นรวิชญ์ นิธิปัญญา อวิกา สุปินะ
 


“คนพิการมักเป็นกลุ่มแรกที่ถูกลืม และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ถูกนึกถึงในการพัฒนาทางเท้า”  

ส่วนหนึ่งจากบทสนทนาของ กฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล (Friendly Design for All Foundation) ผู้ที่บอกว่าตนเองเป็น “คนสำคัญที่มักถูกลืมในการพัฒนาทางเท้า” เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองว่าด้วยเรื่องทางเท้า และโครงการฟื้นฟูทางเท้าย่านรัตนโกสินทร์ 33 เส้นทาง ผ่านบทความสัมภาษณ์ฉบับนี้

สภาพแวดล้อมพิการ: ภาพสะท้อนความลำบากของคนสำคัญที่มักถูกลืม

อดีตนั้นเราอาจยังไม่มีความรู้สึกกับปัญหาสภาพแวดล้อมทางเท้า หรือให้ความสนใจมากขนาดนี้ จนกระทั่งเราได้มานั่งบนเก้าอี้วีลแชร์ ได้ทราบปัญหา ได้สัมผัสกับความยากลำบาก ได้ประสบกับบทโหดของชีวิตในการออกเดินทางผจญภัยนอกบ้าน ซึ่งสภาพแวดล้อมไม่เป็นมิตรกับเราเลย โดยเฉพาะทางเท้าหรือฟุตพาทอย่างที่เราเห็น คนปกติเดินยังไม่ Friendly คนนั่งวีลแชร์ไม่ต้องนึกถึงเลย คือ มันไม่ได้ไปใช้แน่นอน

ยิ่งตัวเองเป็นแบบนี้ ยิ่งทำให้เราเห็นและรู้ถึงปัญหาเพราะปัญหาเหล่านี้อยู่ในสิ่งแวดล้อมของเมือง ไม่ใช่แค่ทางเท้าแต่มันทุกอย่างเลย ตึกอาคาร สถานที่ แหล่งท่องเที่ยวทุกอย่างมันมีอุปสรรคสำหรับชาววีลแชร์มาก รวมถึงทางเท้าเป็นปัญหาใหญ่ ที่กล่าวได้ว่าเป็น “สภาพแวดล้อมที่พิการ

การดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมพิการ ลดทอนความภูมิใจ และคุณค่าความเป็นมนุษย์ 

เมื่อหลาย 10 ปีก่อน พอเราประสบปัญหากับตัวเอง เราพบว่า การเดินทางไปไหนมาไหนช่างลำบากเหลือเกิน ขึ้นรถสาธารณะต้องมีคนยกคนแบก ขึ้นเครื่องบินต้องมีคนอุ้มขึ้น เรากลายเป็นตัวประหลาด กลายเป็นภาระของคนที่ไปด้วย รู้สึกไม่มีความภูมิใจในการเป็นมนุษย์เลย ไปไหนทำอะไรเจอแต่เรื่องติดขัด เจอแต่บันได เข้าห้องน้ำก็เข้าไม่ได้

ในอดีตคนออกแบบคงไม่ได้คิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้จำเป็นต้องเดินทางเข้าห้องน้ำ หรือออกมาใช้ชีวิตนอกห้องพักตัวเอง ไปวัดวาอารามไปไหว้พระเจอแต่บันไดชันสูง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนแบบเราหรือคนชราเลย ด้วยการอยู่ในสภาพแวดล้อมพิการ ทำให้เรารู้สึกว่าสงสารตัวเอง ว่านี้แหละคนพิการหรือความพิการมันเป็นเช่นนี้ คือ มันช่วยตัวเองให้ไปไหนมาไหนแทบจะไม่ได้ และไปไหนมาไหนมันต้องมีคนช่วยยก ช่วยแบกและหาม      

ที่สุดแล้วรู้สึกว่าอยู่บ้านดีกว่า ไม่ไปไหนดีกว่า เดินทางไปไหนแล้วมีความรู้สึกอายเขา ไปเป็นภาระเขา ก็เข้าใจเลยว่าคนพิการเป็นแบบนี้ แต่ในใจคิดว่า “ไม่ใช่คนพิการ สภาพแวดล้อมและการออกแบบต่างหากที่พิการ” อยู่เมืองไทยเรารู้สึกพิการมาก เรามีปัญหาและอุปสรรคในการเดินทางจนถอดใจอยู่บ้าน ถ้าไม่รักกันจริงเลือกอยู่บ้านดีกว่า “เมื่อเราอยู่ข้างนอกเรากลายเป็นคนพิการ รู้สึกขาดความมั่นใจและขาดความภาคภูมิใจในเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

จนกระทั่งพี่ไปญี่ปุ่นทำไมไม่รู้สึกถึงความพิการเหมือนตอนอยู่เมืองไทย ทำไมเราไปไหนเอง ใช้ชีวิตเอง รู้สึกถึงการใช้ชีวิตอย่างอิสระ (independent living) อยู่เมืองไทยไปไหนมาไหนต้องมี 2-3 คน เป็นอย่างน้อย ต้องยก แบก จนถึงอุ้มในบางเวลาถ้าจำเป็น แต่ญี่ปุ่นแทบไม่ต้องมีใครมายุ่งกับเรา รถเข็นก็คันที่ใช้ในปัจจุบันกับเมืองไทยไปได้ทั่วเลย ทั้งใช้ทางเท้า ระบบสาธารณะ สนามบิน เข้าห้องน้ำ พิพิธภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยว หรือแม้แต่วัดเก่าแก่อายุ 500 ปี – 1,000 ปี ทำไมญี่ปุ่นถึงมีการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับทุกคนได้ แล้วทำไมประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

พี่พูดเสมอว่า “คนพิการไม่มี แต่ที่มีอยู่ เห็นอยู่ เป็นอยู่ คือ ปัญหาสภาพแวดล้อมพิการ เพราะฉะนั้นสภาพแวดล้อมพิการ มันทำให้คนพิการ” พี่นั่งวีลแชร์มา 20 กว่าปี เพิ่งฉลองครบรอบ 24 ปี ทำให้เป็นภารกิจในการที่เราต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เราทราบถึงความยากลำบาก กลุ่มคนแบบเรานั้นต้องการอะไรบ้าง เมื่อเราทราบแล้วจึงจำเป็นต้องหาทางแก้ไขปัญหา จึงมีการรณรงค์ทั่วประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจว่ากลุ่มคนแบบเราหรือใกล้เคียงกับเรา โดยเฉพาะประเทศไทยกับการเข้าสังคมสูงวัย (aging society) ทำให้ตระหนักว่าเราต้องดูแลสภาพแวดล้อมให้ท่านเหล่านี้ ก่อนที่มันจะสายเกินไป

ถึงแม้กำลังสายเกินไปแต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะในสังคมสูงวัยของไทยในปัจจุบันอาจมีความคล้ายคลึงกับประเทศญี่ปุ่น คือ ต้องดูแลตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง ยิ่งตอนนี้อัตราการเกิดของประชากรลดลงยิ่งหมายความว่าผู้สูงอายุต้องดูแลตัวเอง ทั้งหมดนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีหลักประกัน คือ สภาพแวดล้อมต้องไม่พิการ ต้องเหมาะสมสำหรับคนทุกคน เป็นที่มาของคำว่า “อารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design”

อารยสถาปัตย์ คือ โอกาสของการสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับทุกคน

อารยสถาปัตย์ คือ หลักคิดการออกแบบของชนชาติที่เจริญแล้ว มีความประเสริฐและมีความก้าวหน้า นี่คืออารยสถาปัตยกรรม เช่น ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเราเดินทางมาไม่มีความรู้สึกพิการเลย แต่ที่ผ่านมาเราถูกทำให้พิการเพียงเพราะสภาพแวดล้อมพิการจากการออกแบบพิการ ทำให้เกิดความตกหล่นและทิ้งคนหลายกลุ่มไว้ข้างหลังในประเทศเรา

ปัจจุบันในระดับโลกโดยองค์การสหประชาชาติได้บัญญัติศัพท์ใหม่ที่ว่า “การพัฒนายุคใหม่ต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ตกหล่นหรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในอดีตก่อนหน้านี้ 20 ปีก่อนทิ้งกองไว้เพียบเลย โดยเฉพาะคนพิการ

จึงมีประโยคที่กล่าวว่า “กลุ่มคนพิการในทุกวงทั่วโลกทุกการพัฒนาทั้งในอดีตและการออกแบบตึกอาคารสถานที่ คนพิการหรือมนุษย์ล้อทั้งหลายมักจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลืม และที่น่าเศร้ากว่านั้นอีก คือ กลุ่มคนพิการก็มักเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะถูกนึกถึง” มันเจ็บปวดที่ต้องเป็นกลุ่มแรกที่ถูกลืม และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ถูกนึกถึง

มันจึงกลายเป็นปัญหาระยะยาวของไทย ยิ่งไปต่างประเทศยิ่งทำให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมเรามีความล้าหลัง หมายความว่า เป็นการออกแบบที่มิได้คิดถึงคนพิการ มนุษย์ล้อ ชนชาติที่เขาเจริญก้าวหน้า และประเสริฐแล้วนั้น เขาไม่ลืมพวกเรา ทำไมเขาคิดถึงเรานะ นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เรียกว่า อารยสถาปัตย์

คำว่า “อารยสถาปัตย์” ตามหลักแล้วภาษาอังกฤษเรียกว่า “universal design” ซึ่งพี่มองว่าคนไทยอาจไม่เข้าใจ แต่ประเทศไทยเป็นสยามเมืองยิ้ม เพราะเราเป็นมิตร ดังนั้นจะสามารถอธิบายให้คนไทยเข้าใจง่ายว่า “friendly Design” คือ การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล (design for all) มีแนวคิดเกี่ยวกับ non-step design เรียกได้ว่าสภาพแวดล้อมแบบไร้บันได ตัดปัญหาในการออกแบบ หรือแม้แต่ฟุตพาทต้องมีต้องเลิกการทำฟุตพาทเป็นแท่งที่ทำให้การเดินหรือมนุษย์ล้อไม่สามารถเชื่อมโยงได้ โดยทุกทางเชื่อมมีความเป็น Non Step Design จะสามารถทำให้ปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ทางเท้าและการออกแบบทุกอย่างจบลงไป ณ เวลานี้การออกแบบมีความแปลกประหลาดมาก เช่น ฝั่งหนึ่งมีทางลาด อีกฝั่งไม่มีทางลาด เป็นต้น

ดังนั้น non step design เป็นส่วนหนึ่งของ friendly design เป็นหลักคิดการออกแบบที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน ทุกคนใช้ประโยชน์ได้เข้าถึงได้ สะดวก ทันสมัย มีความปลอดภัย เป็นธรรม เข้าถึง เสมอภาค ทัดเทียมและเทียบเท่ากับอารยประเทศ

ความสำคัญของทางเท้าผ่านทัศนะของ “มนุษย์วีลแชร์”  

เราสามารถเปรียบทางเท้าเป็นเสมือนเส้นเลือด มันหล่อเลี้ยงไปทุกอวัยวะของเรา ฟุตพาทมันควรเชื่อมโยงกันทั้งหมด เมื่อไม่มีฟุตพาทที่เชื่อมโยงกันก็เสมือนถูกตัดแขนตัดขา ยิ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งปัญหาจราจร ปัญหาสุขภาพ ด้วยทางเท้ามันมีความสำคัญมากมันเปรียบเหมือนเส้นเลือด ซึ่งตอนนี้มันโดนตัดเกือบทั้งหมดเลย

ในความเห็นส่วนตัวจึงมองว่ามันควรเป็นวาระแห่งชาติและควรเป็นนโยบายหลักของ กทม. ถ้ามีนโยบายสิบข้อ ทางเท้าควรเป็นหนึ่งในสิบในนโยบาย และต้องเป็นอันดับต้น ๆ ด้วย คือ การออกแบบทางเท้าจำเป็นต้องออกสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทางเท้าควรมีความเป็น Friendly Design สามารถทำตามตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ หรือกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ชนชาติที่เจริญแล้ว ในเรื่องอารยสถาปัตย์ทำดีมากเลย แล้วทำให้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชาชน ดัชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ และดัชนีวัดความเป็นเมือง Smart City เป็นเมืองที่มีคุณภาพที่ทำให้ประชาชนทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมมีความสุขตอบโจทย์ทุกสิ่งอย่างได้ก็คือฟุตบาทก็ต้องดี มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ทุกคนเข้าถึงมีส่วนร่วมในการใช้โดยสะดวกและปลอดภัย สะอาด สวยงาม

ทางเท้าต้องเป็นวาระแห่งชาติ

กว่า 24 ปีแล้วที่ไม่ได้เดิน แต่พอจำได้ว่าไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีแน่นอน และที่น่าเศร้า คือ ทางเท้า

เมื่อ 24 ปีก่อนกับเวลานี้ไม่ได้มีความแตกต่างจากเดิมเท่าใดนัก โดยเฉพาะในหลายจุดของกรุงเทพมหานคร บางจุดเขาพยายามปรับปรุงนะ จากที่เราทำข่าวมา พบว่า มันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากถึง 10 หน่วยงาน มีการไฟฟ้า การประปานครหลวง ดิจิทัล สายโทรศัพท์ สายสื่อสาร มากมายไปหมด กทม. จำเป็นต้องยอมรับสภาพโดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะ กทม. เป็นเจ้าภาพหลัก ทั้งในการประสานงาน เป็นต้น กทม. มีความพยายามนำร่องทางเท้าต้นแบบ แต่ยังไม่ได้มีความเป็นรูปธรรมที่เพียงพอ

ส่วนตัวมองว่าการปรับปรุงทางเท้ามันควรเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่งาน routine ไม่อย่างนั้นจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย ตอนนี้ทางเท้าสภาพกลายเป็นงานอาสา เห็นได้ชัดจากทางเท้าใน กทม. ที่มีมากมายกลับมีทางเท้าที่ดีประมาณ 10 กิโลเมตร ถ้าจะให้ดีมันควรเป็นทางเท้าที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนได้ ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เขาทำเชื่อมไปได้หมด และมันจะสามารถแก้ปัญหาจราจร ทำไมเราทำรถไฟฟ้าแล้วรถติดเหมือนเดิม เพราะเราไม่มีทางเชื่อมให้มันเอื้อ สะดวกสบาย ให้มันสามารถเชื่อมต่อทุกที่เข้าด้วยกัน สร้างการออกกำลังกายให้กับคนทุกกลุ่ม

หากมีการออกแบบเป็นอารยสถาปัตย์ มนุษย์วีลแชร์ที่มีโอกาสออกกำลังกายน้อย จะสามารถออกกำลังกายได้เพื่อมีภูมิต้านทานและสุขภาพที่ดี จึงต้องฝากถึงผู้บริหาร กทม. รวมถึงทุกหน่วยงาน และคณะรัฐบาล อำนาจหลายหน่วยงานมิได้อยู่ที่ กทม. เป็นอำนาจของผู้มีอำนาจรัฐจึงจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือและให้รัฐผลักดันการปรับปรุงและพัฒนาทางเท้าเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมให้ความสำคัญกับทางเท้าที่มี “ความปลอดภัย สะดวก สะอาด และสวยงาม” ซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาทางเท้าเลย

ต้นแบบทางเท้าแห่งโอกาส: โครงการฟื้นฟูทางเท้าย่านรัตนโกสินทร์ 33 เส้นทาง

โครงการฟื้นฟูทางเท้าย่านรัตนโกสินทร์ 33 เส้นทาง เป็นโครงการที่ดีมากเลยสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาทางเท้าของ กทม. ได้เลย หากเป็นไปตามการออกแบบ แต่ที่สุดแล้วในการออกแบบเชื่อได้ว่า มีอารยสถาปัตย์เป็นหลักคิดพื้นฐาน

หลักของมันคือการให้ความสำคัญกับทุกคน ออกแบบเพื่อทุกคน โดยเฉพาะวีลแชร์บางทีไม่ใช่สำหรับแค่ผู้สูงอายุหรือคนพิการ รวมถึงรถเข็นเด็ก รถเข็นผู้ป่วย หรือแม้แต่คนท้อง การออกแบบจำเป็นต้องคำนึงถึงทุกคน เข้าถึงได้ง่าย ปลอดภัย สะดวก สะอาดและสวยงาม มันเป็นเรื่องพื้นฐานในระดับสากล อาจเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการทำทางเท้าให้ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ของคนทุกกลุ่มวัยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังต้องย้ำ โดยเฉพาะวีลแชร์ซึ่งควรจะเป็นกลุ่มแรกที่ถูกนึกถึง และควรเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ควรถูกลืม ขอชดเชยให้กลุ่มนี้ขึ้นมาเป็นกลุ่มแรกในการปรับปรุงทางเท้า หากโครงการนี้มีดำเนินการสำเร็จเสร็จสิ้นเชื่อได้ว่าอาจเป็นต้นแบบทางเท้าที่ดีของ กทม. ต่อไปในอนาคต

อยากให้คำนึงถึงงบประมาณในการซ่อมบำรุงด้วย การดำเนินโครงการหวังว่าคงมีการวางแผนเป็นระยะยาว 3-5 ปี ในการปรับปรุงบำรุงซ่อมแซม เพราะแท้จริงแล้วภายหลังการปรับปรุงทางเท้าย่อมมีพื้นที่ชำรุดบ้าง การซ่อมแซม บำรุงรักษา และการดูแลมีความสำคัญอย่างยิ่ง และการตรวจสอบก่อนการรับงาน เป็นการตรวจสอบผลงาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดควรเข้ามาตรวจรับงาน บางทีทางลาดกลายเป็นทางชันมันไม่ได้มาตรฐาน มันจึงจำเป็นต้องมีตัวกรองอีกชั้นหนึ่งว่าได้รับมาตรฐานหรือไม่ หรือแม้แต่ระดับผู้บริหารเองควรทดลองนั่งวีลแชร์บนทางเท้าจะได้เข้าใจ และตรวจสอบการดำเนินโครงการได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

เครือข่ายผู้พิการสำรวจพื้นที่ทางเท้าบริเวณ ถ.พระอาทิตย์ ถ.พระสุเมรุ ถ.จักรพงษ์ และ ถ.เจ้าฟ้า เพื่อร่วมกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม โครงการฟื้นฟูทางเท้าย่านรัตนโกสินทร์ 33 เส้นทาง

จากใจของมนุษย์ล้อ: ความคาดหวังในการพัฒนาทางเท้า กทม.  

จากที่ได้สัมผัสทางเท้าในหลายพื้นที่ของ กทม. ภาพรวมหลาย ๆ ที่ก็ยังชำรุดทรุดโทรม ใช้การไม่ได้ ไม่สะดวก ไม่ปลอดภัยและอันตราย ไม่เป็นมิตร ไม่สวยงาม แล้วก็ไม่สะอาด ถึงจะมีการพัฒนาหรือว่าดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ปัญหาคือว่าจะทำยังไงให้ฟุตปาธมันยกระดับให้สมกับฐานะที่คนจำนวนมากในโลกที่เขาคาดหวังตั้งใจ

เหมือนคำว่า “กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร” กลายเป็นภาพไม่ตรงปก เพราะว่าขาดคุณภาพ ขาดการใส่ใจ ขาดความจริงใจ ความมุ่งมั่นตั้งใจ โดยเฉพาะผู้นำอันนี้สำคัญมาก ถ้าผู้นำดีทางเท้ามันก็จะดี ถ้าเราใส่ใจ ตั้งใจ ให้ใจกับความจริงใจฟุตบาททางเท้าสำหรับทุกคนมันก็สำเร็จ  

“ฟุตพาทที่พึงปรารถนาของคนทั่วโลกเป็นทางเท้าที่รองรับสังคมผู้สูงวัย ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและสร้างโอกาส เปิดตลาดทางธุรกิจการท่องเที่ยวสำหรับทุกคน”

การท่องเที่ยวที่ทุกคนเข้าถึงได้ กรุงเทพฯ ประเทศไทยเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลทางเท้าที่ดีควรมีนโยบายในการออกแบบให้ 5 กลุ่ม ดังนี้ 1) มนุษย์ล้อ ได้แก่ ผู้สูงวัย คนป่วย และคนพิการ (2) มนุษย์ไม้เท้า ได้แก่ ผู้สูงวัยกับคนตาบอด) 3) คนท้อง 4) เด็ก และ 5) คนทั่วไป (สำหรับทุกคน)

เมื่อสามารถออกแบบฟุตพาททางเท้าสำหรับทุกคนได้แล้ว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แล้วหัวใจสำคัญของการพัฒนาทางเท้าอย่างที่ย้ำคือ “ปลอดภัย สะดวก สะอาด และสวยงาม” คงเป็นความคาดหวังของเราคนไทยทุกคน

เครือข่ายผู้พิการสำรวจพื้นที่ทางเท้าบริเวณ ถ.พระอาทิตย์ ถ.พระสุเมรุ ถ.จักรพงษ์ และ ถ.เจ้าฟ้า เพื่อร่วมกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม โครงการฟื้นฟูทางเท้าย่านรัตนโกสินทร์ 33 เส้นทาง

การสนทนากับ กฤษณะ ละไล แสดงให้เห็นถึงมุมมองของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ ที่หลายครั้งมักถูกผลักให้กลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความสำคัญจากการพัฒนา ทั้งที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบลำดับต้น ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาทางเท้าหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในเมือง กับกลุ่มแรกที่ถูกลืมและเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ถูกนึกถึง

การปรับปรุงทางเท้าในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการออกแบบสำหรับทุกคน อันแสดงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคและเท่าเทียม และเป็นการยกระดับการออกแบบของประเทศให้มีความเป็นเมืองแห่งอารยสถาปัตย์มากยิ่งขึ้น เอื้อประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่ม ปลอดภัย สะดวก สะอาด สวยงาม และไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง ย่อมจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบของการพัฒนาทางเท้า กทม. ต่อไปในอนาคตได้อย่างแท้จริง


Contributor