19/12/2019
Life

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา City Lab สีลม กับเส้นทางไปสู่เมืองที่มีพื้นที่ส่วนรวมมากกว่าพื้นที่ส่วนตัว

The Urbanis
 


ใครที่สัญจรไปมาบริเวณถนนสีลมในช่วงเดือนธันวาคม จะเห็นว่าถนนเส้นนี้ดูแปลกตาออกไปในพื้นที่หลายๆ จุด ไม่ว่าจะเป็นป้ายรถเมล์ที่มีอุปกรณ์ออกกำลังกาย ที่นั่งพักริมถนน ทางม้าลายสีฟ้าสด ทางเท้าที่ออกแบบตีตารางให้สามารถกระโดดเล่นได้ กระดานหมากฮอสยักษ์ ไฟส่องสว่างรูปทรงหวือหวา

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้อยู่ภายใต้โครง City Lab สีลม โดยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum), กลุ่มคนรักสีลม, กรุงเทพมหานคร (อนุญาตให้ใช้พื้นที่โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของกทม.)

City Lab หรือ ‘ห้องทดลองเมือง’ คือกระบวนการนำเมืองที่เราอาศัยอยู่มาเป็นห้องทดลอง ศึกษาความต้องการและพฤติกรรมของคนเมือง เพื่อนำไปเป็นแนวทางการพัฒนางานออกแบบพื้นที่สาธารณะ ที่จะส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่คนเมือง รวมไปถึงเพื่อพัฒนาอัตลักษณ์ของเมือง

เมื่อโครงการทดลองนี้ถูกเผยแพร่ออกไปในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโลกออนไลน์ แน่นอนว่ามีเสียงตอบรับทั้งในทางลบและบวก เรามีโอกาสได้สนทนากับ รศ.ดร. พนิต ภู่จินดา ผู้อำนวยการศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมืองและหัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนนี้ เพื่อที่จะได้เข้้าใจภาพใหญ่และเจตนารมณ์ของสิ่งที่เรียกว่า City Lab ให้มากขึ้น 

หลักการของสิ่งที่เรียกว่า City Lab คืออะไร

หลักการของ City Lab คือ เราพบว่าการที่จะทำอะไรลงไปสักอย่างในพื้นที่เมือง การที่เราไปพรีเซนต์ด้วยกระดาษสวยๆ คำพูดสวยๆ ผังสวยๆ เราไม่รู้หรอกว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ มันจะเป็นอย่างนั้นมั้ย มันจะประสบความสำเร็จตามที่เราต้องการมั้ย จะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ซึ่งการไม่ประสบความสำเร็จอันนั้นมันจะมีทั้ง Cost มีทั้งความเสียหาย มีทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ และอื่นๆ อีกมากมาย 

ฉะนั้นหลักการที่ทำผังขนาดใหญ่ ระยะเวลายาวๆ งบประมาณสูงๆ มีผลมากๆ ตูมเดียว เราคิดว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง หรืออาจจะไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมกับการพัฒนาเมืองมากนัก แน่นอน เรามีมาสเตอร์แพลนขนาดใหญ่เหมือนกับการทำผังระยะยาว แต่เราจะไม่ทำทั้งหมดในทีเดียว เหมือนกับบอกว่า ถ้าผมจะพัฒนาถนนสีลม เขียนมาสเตอร์แพลนใช้งบประมาณ 20 ล้าน คำถามคือ เมื่อเห็นผังนั้นออกมา มีใครจะจ่ายมั้ย จำนวนเงิน 20 ล้าน ไม่มี ไม่มีใครมีงบประมาณขนาดนั้น ต่อให้เจ้าของตึกทั้งหลายจะลงขันกันก็ตาม เขาก็ไม่มั่นใจหรอกว่าจะประสบความสำเร็จแบบนั้น

ดังนั้นเราจึงตั้งแนวคิดใหม่ ก็คือมันจะเป็นการทดลอง จึงใช้คำว่า City Lab ทดลองให้คนใช้งาน ทดลองกับความคิดของเราว่า ทำแล้วมันดีหรือไม่ดียังไงบ้าง เอาองค์ประกอบที่เราต้องการจะสื่อสาร องค์ประกอบใหญ่ที่จะมีผลต่อพื้นที่ลงไปทดลองชั่วคราวก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ เมืองต่างๆ ในโลกทำมาหมดแล้ว 

เรามีเคสของหลายๆ เมืองที่แก้ปัญหาพื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีคนใช้งาน ด้วยการทดลอง เอาครูสอนโยคะ หรือตู้ใส่หนังสือเป็นรถเข็นไปตั้ง แล้วก็เอาเบาะเอาที่นั่งไปตั้งไว้ อาจใช้เวลาสัก 3 อาทิตย์ 1 เดือน แล้วมีคนคอยเก็บผล เก็บผลทั้งภาพรวม เก็บผลจากการสัมภาษณ์ผู้มาใช้งาน เก็บปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็รายงานผลนี้ออกไปสู่สาธารณะ มันก็มีทั้งดีและไม่ดี แต่ถ้าเกิดว่าได้ผลดีมาก มันก็ถูกรายงานต่อไปสู่สาธารณะ หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่นี้ก็มีตัวตั้งว่า ได้ทำการทดลองแล้ว ประสบความสำเร็จดี ของบประมาณได้ โอกาสในการประสบความสำเร็จก็สูง เพราะได้ชิมลาง ได้ทดลองก่อน

แล้วมันมีตัวอย่างมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นการเอากระดานหมากรุกยักษ์ใส่ไปในพื้นที่เพื่อให้มี Activity การเอาที่นั่งไปใส่ในพื้นที่ การขีดสีตีเส้นทางเท้า หรือพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะให้เป็น Acitivity Area การเอาเครื่องดนตรีไปตั้งเป็นบางเวลาแล้วให้ครูหรือนักเรียนโรงเรียนสอนดนตรีภายในพื้นที่เขาได้ Slot มาแสดง มันคือการสร้าง Activity ให้กับพื้นที่เมือง 

กับบ้านเรานี่ถือเป็นเรื่องใหม่มั้ยสำหรับ City Lab

เป็นเรื่องใหม่ครับ เพราะว่าการทดลองแบบนี้ กว่าผมจะมาถึงตรงนี้ ผ่านอะไรหลายๆ อย่างมามากมาย ผ่านคนไม่ยอมรับ คุณอาจจะเคยเห็นข้างในสยามสแควร์ ตอนนี้มันลอกไปหมดแล้ว ที่ทาสีทางข้าม ศิลปินที่มาออกแบบให้เรา คือคนที่ออกแบบเพนท์เครื่องบินของสายการบินไทยแอร์เอเชียที่เป็นรูปยักษ์ จบปริญญาตรีจากที่นี่ ตอนแรกเนื่องจากเราอยู่ที่จุฬาฯ ก็อยากทำให้จุฬาฯ ก่อน ก็เสนอตรงหน้าโรงเรียนสาธิตจุฬา ที่มีคนข้ามเยอะๆ กับตรงจากจุฬาข้ามไปตึก I’m Park และสวน 100 ปีจุฬา จุฬาฯ ว่าไงรู้มั้ยครับ จุฬาฯ บอกว่าไม่เอา เลอะเทอะ ให้เราไปทำที่สยามฯ แทน ผมก็ไปติดต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศูนย์รังสิต เขาให้ทำตรงทางข้ามที่ใหญ่ที่สุดของเขาเลย หน้าหอพักกับโรงอาหารกลาง แล้วก็ไปทำพื้นที่เล็กๆ ที่อยู่หน้าหอพัก ขีดสีตีเส้นและสามารถออกกำลังกายตามเส้นพวกนี้ได้ 40 แบบ Success จุฬาฯอยากให้ทำบ้าง ก็ไม่มีเวลาและไม่มีคนมาทำให้ 

เรากำลังทำพื้นที่เหล่านี้และเราก็เรียนรู้มันไปเรื่อยๆ เราหวังว่าผลของการทดลองจะทำให้คนยอมรับมากขึ้น พอคนยอมรับปุ๊บ มันจะนำมาซึ่งแรงผลักดันในการใช้งาน มันคือการ Educate คน ให้รู้ว่าพื้นที่สาธารณะมีคุณค่าและสามารถใช้งานได้มากกว่าที่จะเดินผ่านแล้วก็หนีมันไปเฉยๆ หนีปัญหาของมันไป ไม่ได้หยุดใช้งานมัน เรากำลังออกแบบป้ายรถเมล์ที่คุณสามารถออกกำลังกาย มีห่วงให้ดึงมีอะไรต่างๆ ระหว่างคุณรอรถเมล์ได้ เรากำลังออกแบบทางข้ามที่ทาสีไปแล้ว จุดจอดต่างๆ ที่รถมาก่อนถึงทางข้าม ไม่ใช่ทางข้ามที่เป็นแค่สีสันเท่านั้น แต่สิ่งที่เราต้องการคือให้รถชะลอมาก่อนแล้วรู้ว่าทางข้ามอยู่ตรงไหน เราผ่านกระบวนการการเรียนรู้มากมายโดยหลักการของ City Lab

City Lab ไม่ได้ต้องการแค่ Educate เราเท่านั้น แต่เป็นการทดลองเพื่อ Educate ทั้งผู้ใช้งาน เมืองในฐานะผู้ดูแลเมืองและผู้ออกงบประมาณเมือง ประชาชนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อเอาตรงนี้ไปทำซ้ำกับคนอื่นโดยเราเป็นผู้ทดลองให้ เราไม่ได้หวังครับว่าจบแค่สีลม เราไม่ได้หวังว่า City Lab ต้องหน้าตาเป็นยังไง เพราะแต่ละพื้นที่ ผมว่ามีรูปแบบของการออกแบบที่แตกต่างกัน บางที่ถนนแคบ บางที่ถนนกว้าง บางที่ทางเท้าดีอยู่แล้ว บางที่ทางเท้าแย่ บางที่มีป้ายรถเมล์ บางที่ไม่มีป้ายรถเมล์ คงไม่ได้ทำคู่มือมาตรฐานให้คนไปทำทางเท้าแบบเดียวกันหมดทั่วโลกหรือทั่วประเทศไทย แต่สิ่งที่เราต้องการคือ ทำยังไงให้การทดลองเหล่านี้ได้ถูกคนอื่นเอาไปทดลองบ้าง แล้วแต่ท้องเรื่องของเขา

เราเชื่อว่ากระบวนการนี้น่าจะเป็นกระบวนการที่ 1.ไม่ใช้เงินมาก 2. ไม่เสียโครงสร้างพื้นฐาน เราบอกเราทดลองแค่ 2-3 อาทิตย์ เพราะฉะนั้น อัตราการประท้วงลด อัตราการยอมรับช่วงระยะเวลาสั้นง่ายกว่า อัตราการยอมรับว่าถ้ามันประสบความสำเร็จแล้วจะมีคนมาทำต่อเขาก็ง่าย ของบประมาณง่าย เพราะมีหลักฐานของความสำเร็จออกมาอยู่แล้ว อัตราการใช้งานอัตราการเข้ามาร่วมก็จะมากขึ้น

เราผ่านความยากลำบากมามากมาย เอาแค่หมากรุกยักษ์ เราได้เรียนรู้มากมายจริงๆ เพราะตอนแรกเราออกแบบเป็นที่นั่งแล้วเป็นกระดานหมากรุกเล็กๆ ตามไซส์มาตรฐาน เรายืนดูแล้วคิดว่า เอ๊ะ! เล่นได้กี่คน  2 คน พอเป็นกระดานหมากรุกยักษ์ เนื่องจากกระดานมันใหญ่เท่าห้อง กลายเป็นว่าคนที่มา Engage ก็มีได้มากกว่า 2 คนละ มันกลายเป็นสาธารณะ กลายเป็น Public Space ได้คนที่ได้พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจอะไรต่างๆ มากขึ้น 

ฉะนั้นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ ณ วันนี้ ต่อไปคงได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กับการพัฒนาพื้นที่ 

ข้อที่ 1 มีผังใหญ่ได้แต่อย่าทำใหญ่ในวันแรกที่เริ่มต้น แต่ให้ทำเล็กเพื่อพิสูจน์ตัวเอง พิสูจน์สมมติฐานของตัวเอง ไม่ได้บอกว่าประสบความสำเร็จทุกครั้ง มันไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ มันประสบความสำเร็จบางส่วนก็ได้ หรือประสบความสำเร็จดีมากก็ได้ แต่เราก็รู้ว่า อะไรที่เราจะไม่ทำ อันที่ไม่ประสบความสำเร็จเราจะไม่ทำอีกแล้ว จบ เราไม่ได้เสียเงินอะไรไปมากมาย เราไม่ได้เสียพื้นที่ตลอดไป เราก็เสียเวลาช่วงหนึ่ง อันไหนที่ประสบความสำเร็จดีเราจะ Report มัน แล้วทำให้มันยั่งยืนกลายเป็นสิ่งถาวรต่อไปได้อย่างไร มันให้ความรู้เราทุกด้าน 

ข้อที่ 2 เราได้มาตรฐานการออกแบบในเบื้องต้น อย่างน้อยๆ 3-4 ข้อ อย่างที่หนึ่งคือ อยู่ในพื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัย แปลว่าเราเคยออกแบบแล้ว ปรากฏว่า ตัวทางข้ามจากฟุตบาทลงไป เราอยากให้ตอนกลางคืนคนเห็นชัด ไฟตรงทางข้ามต้องสว่างกว่าที่อื่น เราก็เลยทำไฟเป็นซุ้มประตูกรอบสี่เหลี่ยมเอียงๆ พอมายืนดู แล้วถ้าเกิดรถเข็นหรือคนเดินไปเตะหลอดไฟที่อยู่ในระดับที่คนเตะถึงจะทำยังไง นั่นคือเราได้ว่า ถ้าอยู่ในพื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัย 

อย่างที่สอง คือต้อง Over Scale เหมือนกับกระดานหมากรุกที่ผมบอก เราไม่ได้เอาพื้นที่ส่วนตัวไปกินพื้นที่สาธารณะ เราต้องการพื้นที่สาธารณะ เพราะฉะนั้นพื้นที่สาธารณะ อุปกรณ์ในพื้นที่สาธารณะต้อง Over Scale เพื่อให้คนสามารถ Engage เข้ามาร่วมทั้งด้วยสายตาและเอาตัวเข้ามาร่วมได้กว้างขวางขึ้นกว่าอยู่กันแค่ 2 คน อย่างที่สามคือต้องบำรุงรักษาต่ำ อย่างเช่นอุปกรณ์ที่ใช้ออกกำลังกาย ถ้า Joice มันต่อกันแนบสนิท มันต้องหยอดน้ำมัน ใครจะมาหยอด ฉะนั้นต้องบำรุงรักษาต่ำ ทำไมชิงช้าจึงอยู่ในสวน อยู่ในสนามเด็กเล่น เพราะโซ่ของชิงช้าอันเท่านี้ ไม่ต้องไปหยอดน้ำมัน ไม่ต้องไปทำอะไรหลายอย่าง เราก็ได้เรียนรู้ว่าการออกแบบในพื้นที่สาธารณะต้องเป็นอย่างไรบ้าง 

แต่ละจุด วิธีคิดคือยังไง ว่าจะเอาอะไรไปใส่ตรงไหน

เราเปลี่ยนมาเยอะมากนะสีลม สิ่งที่เราเก็บข้อมูลคือ ใครใช้ ตรงบริเวณนี้เป็นคนในพื้นที่ใช้เยอะ บริเวณนี้นักท่องเที่ยวใช้เยอะ วิธีคิดที่มีคนหลายคนเข้ามาช่วย วิธีการคิดก็จะถูกพัฒนา กรุงเทพมหานครก็เรียนรู้จากเราว่า การทำในพื้นที่สาธารณะเขาต้องเตรียมอะไรไว้บ้าง เรายังเจอปัญหา และช่วยกันแก้ปัญหาได้ ใช้ไฟไม่ได้หรือเปล่า คอกต้นไม้มีข้อจำกัดในการใช้อะไรบ้าง ฉะนั้นโครงการ City Lab ไม่ใช่เราเรียนรู้คนเดียว ประชาชนก็เรียนรู้ หน่วยงานของรัฐก็เรียนรู้ ในการจะทำให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่สาธารณะจริง 

ดังนั้นตำแหน่งว่าเราจะใส่อะไรลงไปก็คือ Accessing Use ของแต่ละพื้นที่ แน่นอนอย่างแรกก็คือเราต้อง Keep ช่องทางเดินเอาไว้ ยังไงทางเท้ายังต้อง Flow ได้เหมือนเดิม แต่ว่าตรงนี้มีคนมานั่งเยอะ มาใช้เยอะ ป้ายรถเมล์มันไม่พอหรอก เราก็ขยายการนั่งของป้ายรถเมล์ออกไป บริเวณตรงนี้มีคนข้ามเยอะ มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เพราะว่าเป็นทางข้ามที่อยู่ตรง Mid Block ถ้าอยู่ตรงสี่แยก คุณได้วงรอบของสัญญาณไฟของรถช่วยคุณในการข้ามอยู่แล้ว ด้านนี้ไฟแดงก็แปลว่าคุณข้ามตัดหน้ารถที่ติดไฟแดงได้ แต่ว่า Mid Block มันไม่มี เพราะฉะนั้นตรง Mid Block ก็คือเป้าหมายของเราที่จะแก้ไข แล้วเราก็ใส่จิตวิทยาลงไป ด้วยการที่ทำให้เลนรู้สึกว่าแคบลงด้วยการทำหยักๆ พอเลนรู้สึกว่าแคบลงสิ่งที่จะมีผลก็คือคนขับรถก็จะขับช้าลงโดยอัตโนมัติ Pavement ที่เป็นสีนูนก็คือการทำให้เปลี่ยนพื้นผิว การที่ล้อรถรู้สึกสะดุด ทำให้คนขับช้าลงโดยอัตโนมัติ มันก็มีวิธีคิดที่แทรกเข้าไปตามพฤติกรรมของคนในพื้นที่

สิ่งที่ใส่เข้าไปในสีลม คือ มีที่นั่ง มี Public Space ที่คนสามารถมาทำกิจกรรมได้ มีกระดานหมากรุกยักษ์ มีที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีที่ออกกำลังกายระหว่างรอรถเมล์ มีทางข้ามที่มีความชัดเจนและมีแนวโน้มที่จะปลอดภัยมากขึ้น มีการปรับพื้นที่ที่ไม่ใช้งานมาเป็นพื้นที่สีเขียว ตัวอย่างเช่น ใต้สะพานลอย ใต้ทางขึ้นลง BTS ที่มันลาด เพราะฉะนั้นพื้นที่สาธารณะจะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีความหลากหลายและใช้งานได้มากกว่าเป็นแค่ทางเดินผ่านไป และเมื่อคุณเดินผ่านไปแบบเมื่อก่อนคุณไม่สนใจมัน ขอให้ฉันหนีปัญหาทางเท้าที่ไม่เรียบ แต่ถ้ามันกลายเป็นพื้นที่ที่คุณใช้งาน มันมีแนวโน้มที่จะดูแลรักษามากขึ้น เอาง่ายๆ ว่าตรงไหนที่ทางเท้าเรียบ ก็คือหน้าวินมอเตอร์ไซค์ เพราะเขาใช้ไง พอเขาใช้ปุ๊บเขามีการดูแลรักษาตรงนั้นที่ดี เราก็อยู่บนฐานคิดว่า ถ้าเรามี Activity มากกว่าแค่เดินหนีมันไป มันก็น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาได้

หลังจากจบตรงนี้แล้วยังไงต่อ

เราไม่ได้มีแค่ City Lab สีลมที่เดียวครับ เรากำลังทำ City Lab ที่ตัวเมืองสระบุรีด้วยเช่นกัน เป็นโครงการเดียวกันเพียงแต่ว่าสีลมขึ้นก่อน สระบุรีเราร่วมกับบริษัท ฉมา จำกัด เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูตลาดใหม่ เนื่องจากตลาดกลางเดิมของตัวเมืองสระบุรีเริ่มซบเซา เราจะใส่พื้นที่สาธารณะเข้าไป เพราะเราไปคุยกับคนในพื้นที่แล้วเราพบว่า การเป็นตลาด คนมาซื้อของที่ตลาด ถ้าไม่ใช่เวลาเช้าที่ต้องมาซื้อของไปกินไปทำโน่นทำนี่ คำถามคือคนมาตลาดเวลาเย็นเพราะอะไร คำตอบคือมี Activity ต่างๆ คนมาตลาดในเวลาเย็นแตกต่างกับเช้านะ เพราะมาเช้าคือซื้อของไปทำกินตลอดทั้งวัน แต่คนที่มาตลาดตอนเย็นคือมาออกกำลังกาย หรือมาร่วม Activity อื่นๆ แล้วก็แวะซื้อของ ฉะนั้นสิ่งที่ตลาดของสระบุรีไม่มีคือพื้นที่ Activity ในตอนเย็น นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องใส่ Activity หรือตัวกิจกรรมที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้พื้นที่โดยรอบ แล้วก็จะทำให้ความคึกคักกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

เราไม่ได้มีแค่ City Lab สีลมที่เดียวครับ เรากำลังทำ City Lab ที่ตัวเมืองสระบุรีด้วยเช่นกัน เป็นโครงการเดียวกันเพียงแต่ว่าสีลมขึ้นก่อน สระบุรีเราร่วมกับบริษัท ฉมา จำกัด เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูตลาดใหม่ เนื่องจากตลาดกลางเดิมของตัวเมืองสระบุรีเริ่มซบเซา เราจะใส่พื้นที่สาธารณะเข้าไป เพราะเราไปคุยกับคนในพื้นที่แล้วเราพบว่า การเป็นตลาด คนมาซื้อของที่ตลาด ถ้าไม่ใช่เวลาเช้าที่ต้องมาซื้อของไปกินไปทำโน่นทำนี่ คำถามคือคนมาตลาดเวลาเย็นเพราะอะไร คำตอบคือมี Activity ต่างๆ คนมาตลาดในเวลาเย็นแตกต่างกับเช้านะ เพราะมาเช้าคือซื้อของไปทำกินตลอดทั้งวัน แต่คนที่มาตลาดตอนเย็นคือมาออกกำลังกาย หรือมาร่วม Activity อื่นๆ แล้วก็แวะซื้อของ ฉะนั้นสิ่งที่ตลาดของสระบุรีไม่มีคือพื้นที่ Activity ในตอนเย็น นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องใส่ Activity หรือตัวกิจกรรมที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้พื้นที่โดยรอบ แล้วก็จะทำให้ความคึกคักกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อแต่ละโครงการจบไปแล้ว หวังผลยังไงว่ามันจะถูกนำไปพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงถาวร

สิ่งที่ทำจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า เราใช้ Power of crowd เราใช้วิธีการรายงานผลว่า ทำแบบนี้แล้วดี ถ้าทำแบบนี้แล้วดี สิ่งที่เราจะผลักดันต่อคือ คนที่เห็นความดีของมัน เขาก็ง่ายที่จะไปของบมา หรือขอแรงคนอื่นมาทำ เพราะมีรายงานจากทางจุฬาฯ แล้วว่ามันประสบความสำเร็จ เราไม่ได้หวังให้มันจบแค่นั้น แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ กฎระเบียบต่างๆ เราทำตลอดไปไม่ได้ แต่รายงานของเราจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในหลายช่องทาง ก็จะเป็นแรงผลักดันว่าจากรายงานเหล่านี้มันดี ช่วยมาทำต่อทีเถอะ

เพราะฉะนั้นเราเหมือนเป็นคนเขี่ยลูก เราไม่ได้ผูกขาดครับว่า City Lab เป็นลิขสิทธิ์ของเราที่ไม่มีใครทำได้ เราอยากหวังให้เขาเอาไปทำเสียด้วยซ้ำ ช่วยเอาไปทำต่อกันหน่อยเถอะ แล้วการทดลองนี้ในมุมหนึ่ง ในเชิงของวิชาการ จะล้มเหลว จะกึ่งสำเร็จ หรือสำเร็จ ก็คือ record ที่เราเก็บไว้เป็นบทเรียนต่อๆ ไปว่า เมืองอื่นๆ ที่มาทำทีหลังอย่าทำแบบนี้นะ หรือถ้าจะทำแบบนี้ต้องทำอะไรบ้าง เราไม่ได้หวังว่าจะเก็บเป็นของเราคนเดียว ไม่หวงเลยครับ อยากให้เอาไปทำซ้ำเสียด้วยซ้ำ หรือจะทำซ้ำแล้วทำไม่ได้ เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษา

นิยามของคำว่าสุขภาวะเมือง 

หลักการของสุขภาวะเมือง คือการที่ทำให้มนุษย์อยู่ในรูปแบบใหม่ คือสรีระทางชีววิทยาของมนุษย์คือสัตว์ใช้แรงงาน ที่คุณใส่ Active tracker ที่เขาสนับสนุนให้คนเดินนับก้าว ให้คุณเดินไม่น้อยกว่า 10,000 ก้าวต่อวัน หรือ 8.05 กิโลเมตร หรือ 5 ไมล์ เพราะว่าฐานของมนุษย์คือสัตว์ใช้แรงงาน แต่พอคุณมาใช้ชีวิตอยู่ในเมือง มันกลายเป็นคุณไม่ได้ใช้แรงงาน ฉะนั้นคนในเมืองก็เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคเครียด โรคมะเร็งโรค ที่ไม่ติดต่อ เพราะการป้องกันโรคติดต่อของเมืองเนื่องจากเทคโนโลยีของเมือง เนื่องจากความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค การจัดการของเสียในเมืองที่ได้มาตรฐาน มันลดโรคระบาดไปได้แล้ว 

แต่สิ่งที่ย้อนกลับมาคือ มนุษย์ก็ไม่ได้ใช้ร่างกายอย่างที่ชีววิทยามันเป็น ฉะนั้นโครงการ Healthy City เป้าหมายก็คือทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในเมืองอย่างที่ไม่ขัดแย้งกับชีววิทยาของมนุษย์ มนุษย์ป่วยเป็นโรคที่ไม่ติดต่อทั้งหลาย คือโรคของคนเมือง เพราะว่าเราใช้ร่างกายน้อยกว่าชีววิทยา ดังนั้นหลักการของ Healthy City คือ พยายามส่งเสริมให้มนุษย์เมืองมีชีววิทยาที่ใกล้เคียงกับชีววิทยาของมนุษย์ 

หลักการก็คือมีทั้ง 2 อย่าง ให้มีโดยตรง คือส่งเสริมการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพกาย ส่งเสริมการใช้พื้นที่สาธารณะหรือสวนสาธารณะเพื่อสุขภาพใจสุขภาพจิต ลดความเครียดจากการทำงาน อีกอันหนึ่งคือโดยอ้อม ก็คือให้ใช้ชีวิตปกตินี่แหละ แต่เป็นชีวิตปกติที่มีความ Active ตัวอย่างเช่น แทนที่คุณจะขึ้นลิฟต์คุณก็เดินขึ้นบันได แทนที่คุณจะขับรถไป คุณก็ขึ้นรถเมล์หรือเดินไป คุณยังใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้เหมือนเดิม 

แต่พวกนี้มันไม่ง่าย การที่จะให้มนุษย์ put effort ออกไปแปลว่าคุณต้องมี Facility ครบ ตัวอย่างเช่น ถ้าให้คนเดินแล้วมันร้อนคนก็ไม่เดินถูกมั้ย ถ้าคุณให้คนใช้ระบบขนส่งมวลชน ปรากฎว่ายืนรอรถเมล์แล้วนานเกินไปมากๆ หรือให้คนเดินแต่ทางเท้าห่วยมาก มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น คนก็ไม่ใช้ เพราะฉะนั้น มันคือการที่เราจะออกแบบเมือง หรือสร้างสรรค์เมืองยังไงเพื่อให้คนมาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะของเมืองอย่างที่ชีววิทยาของมนุษย์ต้องการ

ปัจจุบันดูเหมือนมีหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ มากมายลงมาทำอะไรในทางสร้างสรรค์เพื่อเมืองให้ดีขึ้น แต่กรุงเทพฯ ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่ามันแย่ ทีนี้ภาพรวมมันจะดีขึ้นได้ยังไง

ผมว่ากลไกตลาดหรือกลไกทางการเงินจะเป็นตัวบีบเอง ที่เราเห็นเมืองอื่นๆ มีพื้นที่สาธารณะที่ดี ไม่ได้มีตัวตั้งจากการที่มีพื้นที่สาธารณะที่ดีมาตั้งแต่แรกนะ แต่เพราะว่าโลกของเมือง เมื่อก่อนนี้คนอยู่ในพื้นที่ชนบท อยู่ในพื้นที่กว้างๆ หรือตอนนี้ก็ตาม คนในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมไม่ต้องการสวนสาธารณะ เพราะมีสวนอยู่รอบตัวเขาอยู่แล้ว พอเริ่มเป็นเมืองครั้งแรก คนเข้ามาอยู่ในเมือง ก็ยังเอาความเป็นชนบทเข้ามาอยู่ในเมืองนั่นแหละ ก็คือเป็นบ้านสวน บ้านหลังใหญ่ๆ ก็ยังมีพื้นที่ออกกำลังกายหรือพื้นที่สีเขียวอยู่ในรั้วของตัวเอง 

แต่แรงบีบมาเรื่อยๆ ตรงที่ราคาที่ดินในเมืองแพงขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจากเดิมพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนตัว ก็ถูกดึงออกไปเป็นส่วนรวม ต่อมาที่นั่งอ่านหนังสือ เดิมเคยเป็นส่วนตัว ก็ออกไปเป็นส่วนรวม เมื่อก่อนนั่งทำงานที่บ้าน ตอนนี้กลายเป็น Co-working space อยู่ข้างนอก เพราะฉะนั้นพื้นที่ส่วนตัวลดลง พื้นที่ส่วนรวมเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วง process นั้น แต่ประเทศอื่นเขาไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวจะรวยหรือจะจนอยู่ในห้องปิดของตัวเองแค่ส่วนนอนส่วนกินข้าว ที่เหลือออกมาใช้ข้างนอกหมด ประเทศไทยกำลังเดินเข้าไปอยู่ในเส้นทางนี้ แม้เราจะเดินหลังเขาหน่อยก็ตาม แต่ว่าเราก็ต้องเดินอยู่ในเส้นทางเดียวกับเขานี่แหละ 

ฉะนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านคือช่วงที่ลำบากที่สุด ในกรุงเทพฯ มีบ้านเดี่ยวอยู่ตั้งเยอะแยะ คนกลุ่มนี้เขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ส่วนรวม เพราะทุกอย่างอยู่ในรั้วส่วนตัวหมด ค่อยๆ ถูกเปลี่ยน ค่อยๆ เปลี่ยน เราก็ได้ออกแบบพื้นที่สาธารณะไว้รองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ ไปสู่เมืองที่มีพื้นที่ส่วนรวมมากกว่าพื้นที่ส่วนตัว

ฉะนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านคือช่วงที่ลำบากที่สุด ในกรุงเทพฯ มีบ้านเดี่ยวอยู่ตั้งเยอะแยะ คนกลุ่มนี้เขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ส่วนรวม เพราะทุกอย่างอยู่ในรั้วส่วนตัวหมด ค่อยๆ ถูกเปลี่ยน ค่อยๆ เปลี่ยน เราก็ได้ออกแบบพื้นที่สาธารณะไว้รองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ ไปสู่เมืองที่มีพื้นที่ส่วนรวมมากกว่าพื้นที่ส่วนตัว

มันจะเป็นไปเองเพราะว่า cost เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนคนรุ่นพ่อแม่คุณ การดูแลสวน การดูแลพื้นที่ใหญ่ๆ ในบ้านเป็นเรื่องง่าย จ้างคนมาดายหญ้า ดูแลสวน เวลาว่างเยอะ ได้เงินมากพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้โดยการทำงานเช้าถึงเย็น ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว การเดินทางก็ไม่ใช่แบบเดิมแล้ว การดูแลพื้นที่ขนาดใหญ่ก็เป็นต้นทุน 

การมีที่ส่วนรวมต่างกับส่วนตัวตรงที่ว่า 1. คุณไม่ได้จ่ายค่าดูแลรักษาเองทั้งหมด 2. การมีพื้นที่ส่วนรวมประหยัดกว่า ได้เทคโนโลยีที่ดีกว่า รวมเงินกับคนอื่นแล้วก็ใช้งานคุ้มค่ากว่า เช่น การที่เราไม่ต้องกรองน้ำใช้เอง คุณใช้น้ำประปา น้ำก็มีคุณภาพที่ดีกว่า ประหยัดกว่าถูกกว่า นั่นคือเรื่องปกติ

มันมีหลักการอยู่ 2 อันทำไมจึงเป็นสาธารณะ ข้อที่ 1. คือเทคนิคหรือองค์ความรู้สูงเกินกว่าที่คนปกติจะทำได้ และหรือ 2. ต้นทุนสูงเกินกว่าที่คนเดียวจะทำได้ เราจึงมีไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะ เพราะว่าเทคนิคการผลิตไฟฟ้ายากเกินกว่าที่มนุษย์ปกติจะทำได้ และต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากที่จะใช้งานเพียงพอมันแพงกว่าที่คุณจะจ่ายไหว หลักการเดียวกับเรื่องของสุขภาวะเมือง หรือเมืองที่ดีก็หลักการเดียวกัน คือคุณทำคนเดียวไม่ได้ เทคนิคมันสูงเกินไปหรือมันใช้แรงงานมากเกินไป และมันแพงเกินกว่าที่คุณคนเดียวจะรับได้ เพราะฉะนั้นการมีพื้นที่สุขภาวะที่ดี ถ้าคุณมีไว้ใช้คนเดียวเหมือนคุณมีลู่วิ่งที่บ้าน ลู่วิ่ง 40,000 บาท กับคุณมีพื้นที่สวนสาธารณะที่คุณจ่ายภาษีปีละ 100 บาท คุณได้สวนลุมพินี แต่ถ้าคุณบอกว่าอยากมีที่วิ่งคนเดียว คุณจ่าย 40,000 บาทได้ลู่วิ่ง 1 อัน นี่คือสิ่งที่แตกต่างกัน การที่มีส่วนรวมทำให้ประหยัดและได้บริการที่ดีกว่า ใช้คุ้มค่ากว่า มันก็ตอบคำถามของมันทั้งหมดว่า การที่เราจะมีสุขภาวะดีเป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐหรือส่วนกลางจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพราะถ้าไม่ทำใครจะมีปัญญาจ่ายลู่วิ่งราคา 40,000 บาทได้ทุกคน แต่ถ้าคุณจ่าย 100 บาทสัดส่วนของภาษี ทุกคนจ่ายได้หมด คุณได้สวนลุมพินี


Contributor