17/08/2020
Life

คุยกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เมื่อเพศสภาพไม่ได้มีแค่หญิงชาย เมืองจึงสะท้อนและตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในสังคม

The Urbanis
 


เรื่อง : สหธร เพชรวิโรจน์ชัย

‘เมือง’ เป็นศูนย์กลางของความหลากหลาย ผู้คนต่างฐานะ เชื้อชาติ ศาสนา และรวมถึงเพศสภาพต่างเข้ามาสังสรรค์และสัมพันธ์ภายในเมือง และความหลากหลายเหล่านี้เองที่ทำให้โลกมองเห็นความ ‘ไม่เท่าเทียม’ ระหว่างกลุ่มคนได้แจ่มชัดขึ้น

แต่ในด้านกลับ สมรภูมิของการต่อสู้เพื่อความหลากหลายจึงเกิดในพื้นที่เมืองเป็นสำคัญ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นความไม่เท่าเทียมเป็นสิ่งที่ถูกยกมาพูดอย่างจริงจังในทุกมิติของสังคม หนึ่งในนั้นคือมิติเรื่องเพศที่มีการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนเพศหลากหลายด้วยเช่นกัน

เพราะแท้จริงแล้วเพศสภาพมีความลื่นไหลได้หลากหลาย ทว่ามนุษย์เรากลับมองเห็นเพียงแค่สองเพศหญิงชายเท่านั้น ช่วงเวลาที่ผ่านมาประเด็นเหล่านี้จึงกลายเป็นที่ถกเถียงมากขึ้น การเรียกร้องต่างๆ ในปัจจุบันจึงมีรายละเอียดซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม เราจึงชวนคุยกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ศึกษาด้านเพศสภาพมาอย่างยาวนาน

ประเด็นพูดคุยในวันนี้ว่าด้วยความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดในเมือง เพศสภาพกับบทบาทต่อการสร้างเมือง ไปจนถึงปัญหาพื้นที่สาธารณะที่เกิดจากการมองแค่สองเพศ เพื่อหาคำตอบว่าเมืองที่เท่าเทียมควรมีหน้าตาอย่างไร 

ไม่นานมานี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ก็มีการถกเถียงว่ามันไม่ใช่การสมรสเท่าเทียม ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “ขนาดหญิงชายยังไม่เท่าเทียมเลย แล้วเพศหลากหลายจะเท่าเทียมได้ยังไง” อาจารย์มีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

ต้องเริ่มมองจากวิธีที่รัฐไทยจัดการเรื่อง “ครอบครัว” ในความหมายของเพศก่อน เพราะกลุ่มกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่พูดถึงการหมั้นและการสมรสยังมีปัญหาอยู่ แปลว่าคนที่ไม่ใช่รักต่างเพศ (non-heterosexual) ที่จะมาสมรสกัน คุณก็จะเจอปัญหาแบบเดียวกับที่รักต่างเพศ (heterosexual) เจออยู่ตอนนี้

ถ้าคุณดูวิธีที่รัฐนิยามครอบครัว ทั้งในเชิงกฎหมายและนโยบายต่างๆ ครอบครัวจะหมายถึงหญิงชายที่แต่งงานกัน รวมไปถึงลูกของหญิงชายนั้น พูดง่ายๆ คือสามี ภรรยา และลูกที่เกิดจากสามีภรรยา เป็นครอบครัวแบบรักต่างเพศ (heterosexual) อย่างเดียว

แต่ถ้ามองกลับมาที่พลเมืองของรัฐ รูปแบบความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดมีมากมายหลายรูปแบบนะ ทั้งการอยู่ร่วมกันแบบยึดความผูกพันทางใจ ความสัมพันธ์ ความห่วงใย หรือความเอื้ออาทร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หล่นหายไปหมดเลยในสายตาของรัฐ เพราะรัฐมองเห็นความรักแค่แบบเดียว

ฉะนั้นคนที่ต่อสู้เพื่อให้รัฐรองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (same sex marriage) มันไม่ใช่แค่การรับรองเฉยๆ แต่จะมาพร้อมกับสิทธิ์และการคุ้มครองมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสืบทอดทรัพย์สิน สิทธิเรื่องภาษี หรือเรื่องอื่นที่ตามมาเป็นกระบิใหญ่ ถ้ารัฐไม่รับรองการอยู่ร่วมกันของคุณ คุณก็จะไม่สามารถเข้าถึงความคุ้มครองนั้นได้ 

เราต้องกลับไปแก้ที่ตัวเริ่มอย่างกฎหมายคุ้มครองการสมรสของรักต่างเพศก่อนหรือเปล่า

การจัดการเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมมันแยกเป็นเรื่องๆ ไม่ได้ เพราะทุกปัญหาอย่างเชื่อมโยงกันหมด แต่สังคมไทยทำออกมาเป็นชิ้นๆ คุณทำเรื่องนี้แล้วก็หยุด แล้วไปอีกเรื่องหนึ่งไม่ได้

ประเด็นการแต่งงานเป็นโจทย์ใหญ่มากนะคะ เพราะว่าการแต่งงานมีนัยยะทางอารมณ์และความศักดิ์สิทธิ์สูงมาก การแต่งงานเหมือนเป็นจุดสมบูรณ์แบบของความรัก บังเอิญดิฉันเพิ่งเขียนถึงซีรีส์วายของจีน The Untamed (ชื่อภาษาไทย “ปรมาจารย์ลัทธิมาร”) ทำให้รู้ว่าทั้งคนไทย จีน และคนชาติอื่นๆ อยากเห็นตัวละครทั้งสองแต่งงานกัน เขาเชื่ออย่างจริงจังกันมากว่าตัวละครทั้งสองรักกัน การสมรมจึงมีนัยยะทางอารมณ์สูง แต่คนที่มองแค่ทางอารมณ์อย่างเดียว คุณจะมองไม่เห็นปัญหาเรื่องประเด็นสิทธิประโยชน์ ความคุ้มครอง มันเลยเกิดปรากฏการณ์พูดกันคนละเรื่อง

ฝ่ายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เขาจะบอกว่าควรรับไปก่อน อย่างน้อยๆ ก็มีอะไรที่รัฐรับรองคุณ เพราะเขาเคยผ่านช่วงเวลาที่รัฐไม่รับรอง ไม่คุ้มครอง เขาก็เลยอยากได้รับการคุ้มครองนั้นๆ ขณะที่บางคนบอกว่ายังมีปัญหาอื่นๆ อีกนะ ไปทำเรื่องอื่นก่อน ไม่ควรทดลองอะไรแบบนี้ คือคุณกำลังพูดกันคนละเรื่อง

แต่คุณเชื่อไหม? การต่อสู้ทางกฎหมายในสังคมไทยเป็นเหมือนกันหมด คือรับรองไปก่อนแล้วค่อยแก้ไข แต่สุดท้ายการแก้ไขไม่เกิดขึ้นหรอกค่ะ รองรับยังไงก็จะอยู่อย่างนั้น

นอกเหนือจากการเรียกร้องเรื่องความรักในเชิงกฎหมายแล้ว อาจารย์คิดว่าในแง่สังคมเมือง เราแสดงความรักในพื้นที่สาธารณะอย่างเปิดเผยกันได้หรือยัง

ประเด็นสังคมไทยไม่มีพื้นที่ให้คนแสดงออกถึงความใกล้ชิด (intimacy) ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางความโรแมนติก กอด จูบ หรือหนักสุดคือเพศสัมพันธ์ เราอาจต้องกลับมาคิดกันดีๆ ว่า ทำไมคนเราถึงไม่ควรทำในพื้นที่สาธารณะ? ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าผิดศีลธรรมประเพณี

ทุกสังคมมีกติกาอยู่แล้วว่า คุณทำอะไรได้-ไม่ได้ในเรื่องความรัก ซึ่งเรามักจะนำความรักความสัมพันธ์ไปรวมกับเพศสัมพันธ์จนกลายเป็นแพ็คเกจใหญ่ ฉะนั้นแค่จับมือ คนไม่ได้มองว่าคุณรักกันนะ แต่มันจะมาพร้อมแพ็คเกจว่าคุณกำลังแสดงออกเรื่องเพศสัมพันธ์ ทำให้รู้สึกว่าการจับมือในพื้นที่สาธารณะกลายเป็นเรื่องใหญ่ 

กติกาแบบนี้คุณอยากชวนคิดหรือถกเถียงกันไหม? ไม่ใช่ว่าคนเดินจับมือกันแล้วคุณพูดประโยคเดียวว่าผิดศีลธรรม ไม่มีความเป็นไทย มันใช้ไม่ได้ เหมือนกับว่าคุณไม่อยากถกเถียงหรือคิดใคร่ครวญว่าพื้นที่สาธารณะอะไรควรทำ-ไม่ควรทำ

อย่างนี้คำว่า “กุลสตรี” เป็นคำที่มีปัญหาไหม

คำว่ากุลสตรีหรือภาพของผู้หญิงที่ดี รักนวลสงวนตัว ไม่เคยหมายถึงผู้หญิงทุกคนในสยาม มันหมายถึงหญิงชนชั้นสูงหรือเจ้าเท่านั้น เพราะความบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือพรหมจรรย์สำคัญมากสำหรับชนชั้นสูง เนื่องจากผู้หญิงจะถูกใช้เป็นเครื่องสร้างพันธมิตรทางการเมือง แต่ไม่ใช่สำหรับไพร่สยามที่มีอิสระทางเพศมากกว่าชนชั้นสูงอีก

แล้วทำไมกรอบดังกล่าว ถึงโยกย้ายมาอยู่กับคนทั่วไปถึงปัจจุบัน

เป็นกรอบอิมพอร์ตพร้อมกับแพ็คเกจที่คุณเรียกว่าความทันสมัยใหม่ (modernity) ไล่ตั้งแต่การศึกษา การจัดระบบราชการ หรือรัฐสมัยใหม่ รวมทั้งกรอบทางเพศแบบวิกตอเรีย (Victorian Sexuality) หรือแบบชนชั้นกลาง (Middle-Class Sexuality)

พอเข้าในสังคมไทย คุณจะเห็นว่ารัฐไทยแข็งมากในการเข้าไปกำกับเรื่องกิจกรรมทางเพศ (sexuality) ตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งจริงๆ มีเข้ามาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แล้วนะ แต่พวกเราชาวไพร่ทั้งหลายอาจไม่รู้สึกเท่าไหร่ แต่พอสมัย จอมพล ป. เราเริ่มมีวิธีคิดว่าการจับมือกันหรือการแสดงออกทางความรัก ไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นเรื่องผิดวัฒนธรรม 

ฉะนั้นสิ่งที่คุณบอกว่าเป็นความเป็นไทย ต้องปกป้อง แท้จริงแล้วไม่ใช่ความเป็นไทย แต่นำมาจากวิกตอเรีย กติกาการใช้พื้นที่สาธารณะหลายๆ อย่างก็มาจากฝรั่งเหมือนกันค่ะ

แล้วโครงสร้างของพื้นที่สาธารณที่ถูกจัดไว้สำหรับหญิงชายเป็นหลัก เช่น ห้องน้ำสาธารณะ อาจารย์มองว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในการสร้างโครงสร้างเหล่านั้น

การแบ่งห้องน้ำหญิงชายบ่งบอกว่า คุณจัดประเภทของเพศสภาพ (gender) ไว้เพียงสองประเภทเท่านั้น แต่ความจริงเพศสภาพมีหลากหลายและเลื่อนไหลมาก เช่น ผู้หญิงข้ามเพศจะมาใช้ห้องน้ำหญิง ผู้หญิงบางคนก็ไม่เอา ไปห้องน้ำผู้ชาย ผู้ชายก็ไม่เอา แล้วคุณจะให้เขาทำยังไง? 

กลายเป็นว่าคุณมองว่าเพศสภาพมีเพียงสองเพศ แล้วคุณก็เตรียมบริการสาธารณะไว้เพียงสองเพศนี้เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่แค่สะท้อนอย่างเดียวนะ แต่ยังพยายามกำกับให้คนแสดงออกแค่สองเพศด้วย มันเป็นการใช้อำนาจมหาศาลเลยนะ แต่คนไม่รู้ตัวและคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ 

แล้วจะมีคนชอบพูดชุ่ยๆ ว่า “ทำห้องน้ำเพศที่สามสิ” คนที่พูดแบบนี้ชุ่ยมาก เพราะอะไรที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย คุณก็ไปเหมารวมเป็นกระบิใหญ่ว่าเป็นเพศที่สาม ทั้งที่จริงคนก็ไม่ได้แยกเป็นสามเพศสภาพด้วยซ้ำ

หมายถึงคำว่า “เพศที่สาม” ก็มีปัญหาในตัวมันเองใช่ไหม

ใช่ คำว่าเพศที่สามสะท้อนถึงความชุ่ยของคนที่ใช้คำคำนี้ว่า คุณไม่อยากจะลงไปตรวจสอบ หรือมองไม่เห็นความหลากหลายนั้น ฉะนั้นอะไรที่ดูไม่เหมือนกล่องหญิงหรือชาย คุณก็จับลงกล่องนี้ แต่ถ้าหากสำรวจลงไปลึกๆ แล้ว กล่องเพศที่สามก็มีความหลากหลายมาก

เหมือนว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมากๆ แต่คนเรามักสนใจกันแค่ปลายเหตุหรือเปล่า

ใช่ แล้วคุณไม่อยากคิดต่อ คุณเถียง ด่า และสาดอารมณ์ใส่กันด้วยความเอาชนะอย่างเดียว การถกเถียงในสังคมไทยก็เลยออกมาคุณภาพต่ำมาก

รวมไปถึงการเถียงในออนไลน์ด้วยใช่ไหม

แน่นอนค่ะ ยกตัวอย่างเสียงของเฟมินิสต์ก็จะมีหลายเสียง ตอนนี้ก็มีการต่อสู้ในหลายพื้นที่เช่นกัน และมันก็เริ่มเคลื่อนมาสู่พื้นที่ออนไลน์ ถามว่าพื้นที่ออนไลน์เปลี่ยนเฟมินิสต์ไหม ดิฉันคิดว่าเร็วไปที่จะสรุป 

แต่เอาเป็นว่าเฟมินิสต์หลายกลุ่มก็พยายามเปล่งเสียง​อยู่ แล้วคนที่เสียงดังสุดเป็นพวกที่พูดถึงความเท่าเทียม บอกว่าผู้หญิงกับผู้ชายมีความเหลื่อมล้ำกัน ก็ต้องทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกัน ตระกูลนี้ฟังง่ายสุดเพราะคือภาษาเสรีนิยม ตอนนี้เราเองก็กำลังใช้ภาษาเสรีนิยมในการต่อสู้ทางการเมืองว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตย เสียงเหล่านี้เลยถูกรับได้ง่าย แล้วพอรับไปก็เกิดเป็นการสร้างที่จอดรถสำหรับผู้หญิง

แต่สำหรับตระกูลอื่นอาจจะฟังดูโหดร้ายหน่อย เพราะระบบสองเพศสภาพมันใช้ไม่ได้แล้ว จุดหมายปลางทางของระบบสองเพศควรจะหายไป หรือไม่คุณก็ต้องอยู่กับความอีเหละเขละขละแบบนี้ เรื่องเพศสภาพจริงๆ มันหลากหลายมาก เลื่อนไหลมาก 

อีกหนึ่งประเด็นที่ถกเถียงในออนไลน์กันมากคือ #มองนมไม่ผิด อาจารย์คิดว่าการถกเถียงเรื่องนี้มีปัญหาอะไรไหม

ประเด็น #มองนมไม่ผิด ผู้ชายคิดว่าการมองนมผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมดา จะมาบังคับกันไม่ได้ ถ้าจะพูดเช่นนั้น ผู้ชายมองนมผู้หญิงถูกต้องแล้ว แต่การที่คุณเสพร่างกายมนุษย์ คุณมองเขาเป็นวัตถุหรือเปล่า? ถ้าคุณบอกว่าการมองนมผู้หญิงไม่ผิด ก็แสดงว่าการทำให้ร่างกายมนุษย์เป็นวัตถุทางเพศเป็นเรื่องปกติ คุณคิดแบบนั้นหรือเปล่า? เพราะนี่คือตรรกะเดียวกัน ขณะที่คนอื่นที่เถียงกับคุณมองไปถึงความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) แต่คุณกำลังมองอีกเรื่อง มันก็เลยดูเหมือนจะพูดเรื่องเดียวกัน แต่จริงๆ คนละเรื่องกัน

ฝ่ายที่มองเรื่องเพศ คุณจะรู้สึกว่าความต้องการทางเพศเป็นเรื่องของปัจเจก คุณจะมาบังคับฉันได้ไง ก็ฉันชอบมองนมผู้หญิง คนอื่นไม่ควรมากำกับ แล้วคนที่เสพเรื่องพวกนี้เป็นจินตนาการ เป็นความพึงพอใจส่วนตัว คุณจึงแค่จินตนาการแต่ไม่ได้ทำอะไร แล้วคุณจะยอมให้คนอื่นเข้ามาห้ามจินตนาการของคุณเชียวเหรอ? ฉะนั้นฐานของมองนมไม่ผิดมันเป็นความพึงพอใจของเขา ฉันไม่ได้ทำอะไร ฉันดูเฉยๆ 

ขณะที่อีกฝั่งพูดจากมุมมองเรื่องเพศสภาพ เขาจะบอกว่า #มองนมไม่ผิด เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture) เพราะเขามองกิจกรรมทางเพศ (sexuality) ที่เชื่อมโยงกับเพศสภาพ (gender) แนวคิด #มองผมไม่ผิด จึงหล่อเลี้ยงความรุนแรงกับผู้หญิง ฉะนั้นวิธีที่คุณมองร่างกายผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ก็จะเป็นรากหล่อเลี้ยงความรุนแรงทางเพศมากมายหลายรูปแบบตามมา

จริงๆ ทั้งสองฝ่ายกำลังพูดเรื่องที่สำคัญมาก แต่คุณกลับพูดจากคนละมุม ฝั่งหนึ่งพูดเรื่องปัจเจกสุดๆ แต่อีกฝ่ายพูดเรื่องวัฒนธรรมการข่มขืน เป็นการพูดกันคนละเรื่อง แต่เป็นคนละเรื่องที่เชื่อมโยงถึงกัน

ย้อนกลับมาที่ตัวเมือง โครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่เท่าเทียมควรมีหน้าตาลักษณะอย่างไร

ดิฉันคิดใคร่ครวญเรื่องนี้มานาน ย้อนกลับไปที่ประเด็นแบบที่จอดรถสำหรับผู้หญิงว่า คุณจะจัดพื้นที่สาธารณะยังไง ทีนี้คำถามสำคัญก็คือ แล้วอะไรคือความเท่าเทียม? 

ถ้าระบบสองเพศสภาพทำให้หญิงชายถูกนิยามไม่เหมือนกัน วิธีการจัดการพื้นที่สาธารณะก็จะสะท้อนความไม่เหมือนกันอยู่ดี คุณถึงต้องมีที่จอดรถสำหรับผู้หญิงไง การจัดการแบบนี้ทำให้ความไม่เท่าเทียมทางเพศนั้นยังอยู่ เพียงแต่ว่าคุณจัดบริการให้คนเพศสภาพหญิงใช้ชีวิตอยู่ง่ายขึ้นในระดับหนึ่ง

แต่สำหรับคนที่บอกว่าชายหญิงต้องได้เท่ากัน คุณอย่าลืมว่าระบบสองเพศสภาพมันยังอยู่นะ พอคุณไม่จัดพื้นที่ที่สะท้อนความไม่เหมือนกันนี้เลย ก็จะกลายเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำหรือความยากลำบากให้กับเพศสภาพหญิงอีก แล้วแบบนี้คุณจะเอาไง?

แสดงว่าเมืองของเราไม่เท่ากัน เพราะเกิดจากการมองระบบสองสภาพที่ไม่เท่ากัน

ไม่ใช่การมองไม่เท่ากัน แต่เป็นการมองมนุษย์ในทางเพศสภาพสองแบบที่เป๊ะมากๆ ผู้หญิงเป็นอย่างนี้ ผู้ชายเป็นอย่างนี้ แล้วพอต่อสู้กันแต่ละฝ่ายก็ยึดภาพดังกล่าว ฉะนั้นผู้หญิงก็จะมีประสบการณ์ไม่เหมือนผู้ชาย มีปัญหาที่ไม่เหมือนผู้ชาย คุณก็เลยต้องจัดการบริการเพื่อรองรับผู้หญิงไง ตราบใดที่คุณยังพูดถึง “ผู้หญิง” และ “ผู้ชาย” มนุษย์ก็จะไม่เท่ากัน (หัวเราะ) เพราะเพศสภาพหญิงชายมันถูกนิยาม ถูกคิด ถูกสมมติอย่างไม่เท่าอยู่แล้ว 

ถ้าอย่างนั้น เมืองเท่าเทียมในอุดมคติของอาจารย์คือ “เมืองมนุษย์” ไม่ใช่เมืองเท่าเทียมสำหรับหญิงชายหรือเปล่า

เป็นไปไม่ได้ (หัวเราะ) ความเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องระหว่างหญิงชายเท่านั้น มันจะมีมิติอื่นมากมาย เมืองเท่าเทียมคือจะทำยังไงให้พื้นที่ของเมืองมันรองรับความหลากหลายของคนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้ต่างหาก

เหมือนกับประเด็นของ #เฟมทวิต ที่เถียงกันมากในโลกออนไลน์ คุณรู้ไหมว่าเวลาพวกเขาเถียงกัน บางทีคุณลืมไปว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเพียงอย่างเดียว เพศสภาพไม่ใช่ทุกอย่างนะ เป็นส่วนประกอบหนึ่งของคุณ แต่คุณมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ชนชั้น ศาสนา ฐานะ ฯลฯ ที่ซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้นคนเพศสภาพเดียวกันไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์แบบเดียวกัน

แล้วเวลาเถียงกัน ฝั่งหนึ่งพูดจากเพศสภาพ อีกฝั่งพูดเรื่องชนชั้น ซึ่งคนละเรื่อง แต่คุณกลับพูดในปรากฏการณ์เดียวกัน ฉะนั้นสังคมไทยมีความซับซ้อนในหลายมิติ พื้นที่สาธารณะที่เท่าเทียมจึงจะทำอย่างไรให้โอบอุ้มความหลากหลายนี้ได้มากกว่า

รัฐเป็นส่วนสำคัญในการกำหนด แก้ไข หรือจัดการสิ่งเหล่านี้ไหม

รัฐเป็นตัวแสดงที่สำคัญแต่ไม่ใช่ทุกอย่าง ถ้าคุณได้รัฐเป็นพวก รัฐจะออกกฎหมายรับรองให้คุณ และคุณก็สามารถจะนำเสนอหรือปลูกฝังความคิดค่านิยมได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะไปเข้าข้างใคร 

แต่รัฐไทยเข้าข้างระบบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) มาอย่างยาวนาน เพราะฉะนั้นกฎหมายและมาตรการต่างๆ ของรัฐก็จะสะท้อนชายเป็นใหญ่ รองรับมาตรฐานต่างระดับระหว่างหญิงชาย รองรับเรื่องความรุนแรงทางเพศ รองรับความเหลื่อมล้ำในทางนิยมชาย… ก็ดูสิว่าใครกุมอำนาจรัฐล่ะ

เหมือนปัญหาหลักๆ คือการที่รัฐจับกลุ่มคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหญิง ชาย เพศทางเลือก ฯลฯ

รัฐไม่ใช่คนจัดนะ มนุษย์นี่แหละที่จัดแบ่งประเภทกันเอง มนุษย์ไม่สามารถทนอยู่กับความคลุมเครือได้ คุณต้องการความชัดเจนด้วยการแบ่งประเภทให้เกิดระบบระเบียบ เกิดลำดับขั้น แล้วโลกของคุณก็จะมีระเบียบ ซึ่งขณะนี้ที่คุณยังไม่เป็นบ้าอยู่เพราะโลกของคุณมีระเบียบนะ คุณรู้ว่าอะไรคืออะไร 

แล้วเราก็จัดประเภทมนุษย์ออกเป็นมากมายหลายอย่าง เช่น แบ่งตามสีผิว สีผม อ้วน ผอม ภาษา ซึ่งถ้าเราจัดโดยความแตกต่างเฉยๆ คงไม่ยุ่งเท่าไหร่ แต่ที่ยุ่งมากก็เพราะความแตกต่างมันมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำ สีผิวบางสีผิวสูงส่งกว่าสีผิวอื่น เพศสภาพชายสูงส่งกว่าเพศสภาพหญิง แล้วรัฐเองก็ยังไปรับรองความคิดของกลุ่มเหล่านี้

แล้วเมืองที่เราอยู่ ณ ตอนนี้เป็นเมืองแบบไหนกันแน่

เป็นเมืองที่สะท้อนและผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำหลายอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วทุกอย่างซับซ้อนมากนะ แล้วเวลาคนเถียงเรื่องเพศสภาพในเมืองมันไม่ได้เถียงเรื่องเพศสภาพอย่างเดียว แต่เป็นเพศสภาพที่เชื่อมโยงกับมิติอื่นมากมาย

ดิฉันจึงอยากเห็นเมืองที่สามารถโอบอุ้มคนที่แตกต่างหลากหลายได้ อย่างทางเดินริมน้ำตรงนี้ ณ ช่วงเวลาหนึ่งผู้หญิงเดินไม่ได้นะคะ อันตรายมาก ซึ่งจริงๆ เป็นทางเดินที่คนแถวนี้ชอบใช้สัญจร คำถามสำคัญคือคุณจะทำยังไงให้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ต่างหาก

ดิฉันนึกถึงพื้นที่สาธารณะที่คุณไม่ต้องสร้างห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว คุณจะมีพื้นที่ให้คนสามารถออกมาหายใจได้มากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันสวนสาธารณะของเราก็น้อย แล้วก็เป็นสวนสาธารณะที่ถูกใช้แต่คนชนชั้นกลาง เราจะทำยังไงให้เมืองเปิดรับความหลากหลาย และคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางข้อจำกัดนี้ 

ขณะเดียวกันไม่ใช่แค่โอบอุ้มเฉยๆ นะ แต่ต้องทำให้ความเหลื่อมล้ำค่อยๆ หายไป ดิฉันเลยอยากให้ทุกคนต้องชวนกันคิดและเปลี่ยนวิธีคิด เราจะทำยังไงให้คนสามารถจะจัดการกับชีวิตของตัวเอง โดยใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันได้มากกว่านี้ค่ะ


Contributor