17/02/2020
Life

กรุงเทพฯ แสงสุดจ้า! กับจรรยาพร จุลตามระ

The Urbanis
 


เอกศาสตร์ สรรพช่าง

ทั้งชื่อ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยาพร จุลตามระ) และงาน (นักวิจัยและนักออกแบบแสงสว่างจาก ศูนย์วิจัยนวัตกรรมเพื่อการส่องสว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี)  ของเธอไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนักเหมือนนักออกแบบสาขาอื่น ทว่าในแวดวงของคนที่ทำงานเรื่องการออกแบบแสง (Lighting Design) แล้ว เธอเป็นไม่กี่คนในไทย ที่มีบทบาทโดดเด่นในเรื่องของการออกแบบแสงกับเมือง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องแสงบนพื้นที่สาธารณะ 

นักออกแบบแสงกับเมืองนั้นมีความสำคัญมากเพราะเกี่ยวโยงเข้ากับหลายมิติของคนที่อยู่อาศัย ใต้ความสว่าง ทั้งเรื่องความปลอดภัย เรื่องการใช้พลังงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพและอัตลักษณ์ของเมือง แต่ผู้คนส่วนมากมักมองเห็นแสงไฟในมุมของการใช้งานแต่เพียงอย่างเดียว 

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเธอบนโถงกิจกรรมที่ชั้น 6 ของตึก KX Connect ซึ่งราวกับมาผิดที่เพราะไฟทุกดวงปิด และเราหาสวิตช์กันอยู่นานกว่าจะเจอ บทสนทนาเรื่องแสงเริ่มต้นในห้องสลัว มีเพียงแสงแดดจากภาพนอกที่ลอดเข้ามาทางหน้าต่างให้พอได้เห็นท่าทีสบายๆ แผงแววตาของความมุ่งมั่น สนุกสนานและ เอาจริงๆ เราแอบเห็นความปลงนิดๆ แบบคนเข้าใจโลกอยู่ในนั้นด้วย

Q: คุณเริ่มสนใจเรื่องการออกแบบแสงสว่าง(lighting design) ได้อย่างไร ผมว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบุคลากรที่สนใจเรื่องนี้อยู่ไม่มากนัก

A: ครั้งแรกจริงๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก คือจบการออกแบบอุตสาหกรรม(Industrial Design) จากจุฬาฯ หลังจากเรียนจบก็หาที่เรียนที่เป็นเฉพาะทาง ซึ่งตอนนั้นก็ไม่มีทางเลือกมาก มีแค่ design management กับ lighting design ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าทั้งคู่คืออะไร แต่อาจารย์ที่ปรึกษา ณ ตอนนั้น แนะนำว่าไหนๆ จะเรียนต่อแล้ว น่าจะหาอะไรที่มันเฉพาะทางไปเลย อินทีเรียก็เรียนแล้วจะเรียนอะไรอีก ก็เลยสอบรับทุนของบางมด(มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) เป็นทุนปริญญาโทและเอก

ตอนเรียนปริญญาโท เราไปเรียนที่ชิคาโก (School of the Art Institure of Chicago) ซึ่งก็เป็นแหล่งของงานออกแบบและสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นเรื่องการออกแบบแสง (lighting design) เองก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักจนถึงตอนนั้นที่ไปเรียนก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรแน่ (หัวเราะ) แต่คิดว่าจะมาทางนี้แล้ว ยังคิดว่าออกแบบแสงก็คงเหมือนงานออกแบบทั่วไป แต่พอมาเรียนต่อปริญญาเอก ความคิดหลายอย่างก็เปลี่ยนไป 

เราย้ายจากฝั่งอเมริกามาเรียนลอนดอน (University College London-UCL) ตอนนั้นมหาวิทยาลัยที่สอน เรื่องงานออกแบบแสง ทั้งปริญญาโทและเอกน่าจะมีที่เดียว คือที่ UCL ซึ่งเขาเปิดมานานแล้วและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ก็เรียนจนจบ 

จบมาก็แบบ…คือเมืองไทย งานส่วนมากจะเป็นงานฝั่งคอมเมอร์เชียลมากกว่า ซึ่งเราไม่อยากทำเท่าไรเพราะไม่อยากดีลกับลูกค้า เราสนใจในมุมมองเชิงสังคมและวัฒนธรรมมากกว่า หรือเรื่องที่แสงจะมีผลกับคนหมู่มาก  จริงๆ ทุกวันนี้นักออกแบบที่ทำงานด้านนี้ก็มากขึ้นนะคะ แม้สัดส่วนยังน้อยถ้าเทียบกับงานออกแบบอื่นๆ เแต่ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในรอบห้าปีที่ผ่านมา จากปีที่แล้วปีเดียวมีคนเชิญไปพูดเรื่อง  urban lighting ตั้งสี่ห้ารอบ ซึ่งเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ต้องยอมรับว่างานรื่องการออกแบบแสงเราไม่ได้ ก้าวหน้าเหมือนยุโรป ญี่ปุ่นเองนักออกแบบแสงก็มีเยอะ แต่เขาก็มีมานาน ไม่น้อยกว่าห้าสิบปี ในโตเกียวอย่างเดียวก็มีนักออกแบบแสงประมาณ 200 คนแล้ว ในระดับเทศบาลก็ให้ความสำคัญของการออกแบบแสง หากใกล้บ้านเราหน่อยอย่างจีนก็มีการทำแต่เขาใช้นักออกแบบจากฝรั่งเศสเข้ามาช่วย

Q:แล้วกรุงเทพฯ คิดว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน

A: ถ้าเรื่องโฉมหน้าเมืองคือยังไม่เปลี่ยนเพราะหน่วยงานรัฐยังไม่มีใครทำ สิ่งที่เห็นว่าเปลี่ยน เป็นในแง่ของวิชาชีพมากกว่าคือในกลุ่มสถาปนิก นักออกแบบภายในหรือเจ้าของโครงการเห็นความสำคัญ มันเป็นยุคที่เราไม่ต้องไปโน้มน้าวว่าคุณควรต้องออกแบบแสงสว่างนะ เพราะเขาเข้าใจแล้วบมากงบน้อยนั่นก็อีกเรื่องแต่ถ้าเป็นสักสิบห้าปีที่แล้วที่เราเพิ่งกลับมา เรายังต้องไปโน้มน้าวเจ้าของโครงการอยู่ว่าคุณต้องทำนะเรื่องงานออกแบบแสง ตอนนี้มันเลยเรื่องความสวยงามไปอีก เช่นเรื่องสมาร์ทไลท์ติ้ง(smart lighting) หริอออกแบบพวกไฟส่องสว่างในสวนหย่อม แต่ส่วนใหญ่เป็นฝั่งของผู้ประกอบการมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของรัฐ  ฉะนั้นถ้าพูดในระดับเมือง เรายังไม่เห็นหัวข้อนี้ในที่สาธารณะมากนัก แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราและหลายๆ หน่วยงาน รวมถึง UDDC เองก็พยายามผลักดันให้มันเกิดขึ้น เช่น โครงการสะพานเขียว แต่พอเราเข้าไปทำโครงการนี้จริงๆ ก็พบว่ามันมีความซับซ้อนของระบบราชการอยู่ เช่นว่าจริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเจ้าของสะพานเขียว สะพานที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าของจริงๆ เลยก็คือสะพานพระรามแปด นอกนั้นเป็นของหน่วยงานอื่นซึ่งก็มีขั้นตอนยุ่งยากในการติดต่อประสานงานอีก

 

Q: ทำไมต้องเป็นสะพาน มีเหตุผลอะไรไหม 

A: สะพานมันสามารถใช้แสงในการเล่าเรื่องได้ เล่าเรื่องแม่น้ำได้ เวลาพูดถึง ‘urban lighting’ มันไม่ได้ดูหรูหราฟู่ฟ่าเหมือน ‘festival lighting’ หรืองานแสดง แสง สี เสียงแบบที่การท่องเที่ยวฯ ทำเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาอะไรแบบนั้น สิ่งที่เราผลักดันคือ ‘permanent lighting’ คือติดไฟถาวรเลยเพื่อเพิ่มอัตลักษณ์ให้กับเมือง แต่ก็ว่าใครไม่ได้เพราะเขาไม่เคยเห็น ทีนี้เราจะทำให้ทุกคนเห็นภาพใหญ่ๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะที่เราทำได้คือการทำตัวอย่าง(mock up) มันก็จะเล็กๆ คนที่มาดูถ้าไม่ต่อยอดมันก็จะจบแค่ตรงนั้น เวลาที่ทำตัวอย่าง อย่างสะพานเขียวเราต้องไปขอยืมไฟจากแบรนด์ต่างๆ อย่างฟิลิปส์ หรือไปยืมบริษัทไฟที่สนับสนุนเรามาสิบห้าปีแล้ว เราจะโดนถามบ่อยๆ ว่า“ทำแล้วเหรออาจารย์ เมื่อไรเขาจะทำจริงสักที” (หัวเราะ) เราก็ได้แต่บอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็ต้องทำเพราะมันคือเรื่องของความรู้  

Q: แสดงว่าแสงมีบทบาทในการขับเคลื่อนอัตลักษณ์ของเมืองได้พอควร

A: แน่นอนค่ะ มันถึงต้องทำความเข้าใจกันก่อน อย่างเช่นถ้าจพเริ่มต้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ก็ต้องเข้าใจว่าประวัติศาสตร์คืออะไร มีอัตลักษณ์อะไรบ้างที่เราอยากดึงออกมาใช้ มันก็นำมาใช้ เรื่องสี แพตเทิร์น มันก็เหมือนคนสร้างพิพิธภัณฑ์น่ะ เราจะเล่าเรื่องยังไง สามคนอาจจะเล่าไม่เหมือนกันก็ได้ แต่จุดประสงค์คือการดึงอัตลักษณ์ออกมา เล่าเรื่องเมืองผ่านแสงผ่านสี 

Q: สำหรับกรุงเทพฯ ถ้ามองในเชิงการใช้งาน เช่น เรื่องเสริมสร้างความปลอดภัย หรือทำให้เมืองสว่างขึ้น คิดว่าเราอยู่ในระดับไหน

A: มันก็อยู่ในขั้นพื้นฐาน พูดง่ายๆ คืออยู่ในยุคน้ำไหลไฟสว่างอยู่ เรื่องหลอดไฟประหยัดพลังงานก็ยังเป็นเรื่องพื้นฐาน บ้านเรามันเปลี่ยนเพราะเทคโนโลยีมันบังคับให้เราต้องเปลี่ยน แต่เราไม่ได้เปลี่ยนเอง เช่นเราเคยใช้หลอดไส้หน้าตาแบบนี้ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นหลอดฟลูโอเรสเซนต์ มีเกลียวหมุนเข้าไปได้ ตอนนี้เปลี่ยนเป็นหลอดแอลอีดี แต่จริงๆ เราไม่ได้มีอะไรเปลี่ยน เสาไฟ เบ้าที่เสียบหลอดก็ยังเป็นแบบเดิม สิ่งที่เรียกว่าสมาร์ทไลท์ติ้ง หรือเสาไฟอัจฉริยะ คือเสาไฟมีประมาณสิบสิ่งอยู่ในนั้นคือทำอะไรได้หลายอย่างบ้านเรายังไม่มี ทุกวันนี้เสาไฟก็เหมือนเดิมเมื่อหลายสิบปีก่อน หลอดไฟใช้สีผิดเหมือนเดิม คือตัวคุณภาพของแสงไม่ได้เปลี่ยน

ในอเมริกามีหน่วยงานดูแลเรื่องแสงสว่าง(department of energy) เวลาเขาพูดถึงแสงไฟ แสงสว่าง เขาไม่ได้พูดถึงประสิทธิภาพของแสงแล้ว เพราะบ้านเขามันเลยจุดที่จะพูดถึงเรื่องประหยัด เพราะเขาทำได้แล้ว แต่เขาจะมองไปถึงเรื่องระบบแสงอัจฉริยะ เช่นว่าตอนไม่มีคนเดิน มันสามารถลดแสงสว่างลงได้ เป็น low setting พอมีคนมาถึงจะขึ้นเป็น 80-100 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจเป็นเรื่องของให้ระบบไฟสามารถสื่อสารกันเองเป็นระบบ IoT สมมติว่ามีหลอดไฟอยู่หมื่นดวงในสวนสาธารณะ ให้ทุกดวงเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกัน ไฟดวงไหนมีปัญหาสามารถเตือนได้ เดี๋ยวนี้ในหลายประเทศ พื้นที่สาธารณะเขาไม่ใฃ้แสงเดย์ไลท์กันแล้วเขาลดความเข้มของแสงลง ใช้อยู่ประมาณ 3000 เคลวินคือมันจะออกเหลืองกลางๆ ไม่เหลืองไป ไม่ให้แสงสีฟ้ามากเกินไปเพราะดีต่อสุขภาพ ต่างประเทศมันไปไกลถึงเรื่องแสงกับสุขภาพกันแล้ว  แต่ก่อนมันอาจเป็นเรื่องแสงกับการมองเห็น ตอนนี้มันเป็นเรื่องแสงกับสมองเป็นเรื่องเซลล์ที่อยู่ในตาเรา ประมาณสิบปีที่แล้วเขาค้นพบเซลล์ในตาอีกชุดนึงซึ่งเกี่ยวกับเรื่องเจ็ตแลค เรื่องนาฬิกาชีวิต ซึ่งเกี่ยวกับเริ่องสเปกตรัมของแสงฉะนั้นประเทศที่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ การใช้แสงเดย์ไลท์ตอนกลางคืนจะถูกห้าม บางเมืองอย่างลอส แองเจิลลิส เขาเลิกใช้ไฟที่สว่างเกินไประดับ 4000 เคลวินนี่เลิกใช้แล้ว สิ่งนี้จะไปเกี่ยวข้องถึงเรื่องมลภาวะทางแสงด้วย  บ้านเราอย่าเพิ่งมองไปไกลเรื่องสีของหลอด เอาแค่เสาไฟก็ยังผิด

Q: แสดงว่าบ้านเราก็จะอยู่อย่างนี้ไปอีกนาน เพราะรัฐไม่ได้ทำงานเชิงรุกมากนัก

A: ก็มีความพยายามจะเปลี่ยนแปลง อย่างตอนนี้ สวทช. ก็มีทุนวิจัยด้านการพัฒนาและนวัตกรรมที่ส่งเสริมเรื่องประหยัดพลังงาน แต่เขาไม่ค่อยรู้เรื่องแสง ก็เลยมาให้เราจัดโฟกัสกรุ๊ป แต่ปัญหาก็คือเมื่อพูดถึงเรื่องงบประมาณ นั่นอาจเป็นจุดแรกที่ทำให้รัฐเรายังไปไม่ถึงไหน ผิดกับเอกชน เพราะมันแพง แต่ที่แพงก็เพราะ เทคโนโลยีพวกนี้ไม่ใช่ของๆ เรา แต่ก็มีความพยายามหาทำกันอยู่ค่ะ แต่ต้องให้เวลากันสักพักใหญ่ๆ   

Q: ถ้ากรุงเทพฯ ต้องเริ่มทำแผนแม่บทเรื่องการออกแบบแสง (lighting master plan) คิดว่าเราต้องเริ่มจากอะไรก่อน

A: จริงๆ การทำแผนแม่บทนี่ไม่ใช่ส่วนที่ยากที่สุด ส่วนที่ยากที่สุดคือการนำเอาไปใช้และการบำรุงรักษาให้มันสวยเหมือนตอนที่ติดตั้ง นั่นแหละท้ายที่สุด มันไม่ใช่แค่เรื่องไฟที่จะทำให้เมืองดูสวย แต่มันมีทั้งเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและที่สำคัญคือมันไม่ใช่ของรัฐทั้งหมด มันมีส่วนที่เป็นบ้านคน มีเอกชน มีตึกของหน่วยงานโน้นนี้เต็มไปหมด ซึ่งเขาอาจไม่ได้อยากทำ ไม่อยากดูแล ติดแล้วใครจะค่าไฟ หลอดเสียจะเอางบฯ มาจากไหน หากอยากให้เอกชนเปลี่ยน เช่นว่าอยากให้บ้านคนเปลี่ยนหลอดไฟหน้าห้องแถว ใครเป็นเจ้าภาพออกเงิน มันอีกเยอะ ซึ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องของดีไซเนอร์ ฉะนั้นเราอาจต้องไปทำให้สาธารณชนเข้าใจก่อน ต้องลำดับความสำคัญ หากเขาเห็นความสำคัญแล้ว ความร่วมไม้ร่วมมือถึงจะตามมา

งานเกี่ยวกับแสงเป็นงานที่ต้องอาศัยความแม่นยำของทั้งคนทำงานและเทคโนโลยีระดับหนึ่ง ต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรปความเคลื่อนไหวเรื่องแสงทำกันอย่างเป็นกระบวนการและเป็นรูปธรรม อย่างที่เบอร์ลิน ก็จะมีมหาวิทยาลัยเบอร์ินเทคนิคัล (Technical University of Berlin) เขาได้ทุนจากสหภาพยุโรปและภาคเอกชนเป็นสิบล้านยูโร ตั้งเป็นหน่วยงานที่เรียกว่า ‘electrical department’ ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างพวกโคมไฟฉลาดๆ แล้วสร้าง พื้นที่ทดลอง(demonstration space) คือถ้าอยากเชิญหน่วยงานไหนมาดูงาน เทศบาลนั้น เมืองนี้ก็เชิญมาที่นี่ ผลิตภัณฑ์เขาก็จะมีหลายอย่างเช่นว่า เสาไฟที่ปรับเปลี่ยนความสูงได้ อะไรแบบนั้น บ้านเราอาจต้องเริ่มแบบนั้นก่อน คือขอให้มีที่ได้ทดลองทำ ให้คนเห็นแล้วค่อยขยายการนำเอาไปใช้  ถึงบอกว่าส่วนที่พร้อมก็อาจลองทำก่อน อย่างเกาะรัตนโกสินทร์ หรือคลองผดุงกรุงเกษมคือทำได้ทำก่อน เพราะเราเชื่อว่าแสงจะช่วยให้เมืองเราสวยได้กว่านี้ได้อีกมาก

Q: ถ้าพูดถึงเมืองที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำแผนแม่แบบแสงนึกถึงที่ไหนเป็นเมืองแรก 

A: ต้องยกให้ลีอง ที่ฝรั่งเศส เขาเป็นเมืองแรกๆ ที่ทำ ตัวเมืองก็สวยอยู่แล้ว มีด้านเมืองเก่าที่ยังให้เราได้เห็นคงอิทธิพลของโรม แล้วก็ไล่ยุคมาเรื่อยๆ แต่กลางคืนแสงจะมาช่วยเน้นทำให้มันดูสวยกว่ากลางวัน ตรงไหนไม่ใช่จุดสำคัญ แสงก็จะเฟดไปแต่ไม่ถึงกับมืด ตรงไหนที่สวยก็จะถูกเน้นขึ้นมา ตอนนี้เขาก็พัฒนาขึ้นไปอีก มีการเปลี่ยนเป็นหลอดแอลอีดี เปลี่ยนเป็นระบบสมาร์ทไลท์ สมมติว่าตอนเย็นมันสามารถเปลี่ยนสีหลอดไฟได้สี่ฉาก ไฟก็จะเปลี่ยนความสว่างและสีไปตามเวลาของเมือง คือสวยทุกฉากทุกซีน ถึงได้บอกว่าสมาร์ทไลท์ติ้งมันไม่ใช่แค่หลอดแอลอีดีหรือคิดว่าจะเอาเสาไฟดีๆ ไปตั้ง คือมันต้องมีแนวคิดอะไรบางอย่างอยู่ในนั้นด้วย

เราเคยไปดูงานแสง สี เสียงที่นั่น เวลาเขาจัดกันทีเขาจัดกันข้ามปี ใช้เงินเยอะ เตรียมตัวกันตั้งแต่ต้นปี มีพนักงานประจำสำหรับการจัดงาน พอถึงช่วงงานก็มีอาสาสมัครเป็นร้อยๆ คนมาช่วย เมืองไทยไม่มีอะไรอย่างที่เราเห็น ไม่มีแม้แต่หยน่วยงานเรื่องแสง แล้วงานแบบนี้ไม่มีเจ้าภาพไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่หน่วยงานเดียวจะทำได้ แล้วคนไทยพอเป็นเรื่องงานก็ไม่ค่อยสื่อสารกัน มันเลยยากที่จะเห็นเป็นรูปธรรม

Q: ในเอเชียมีเมืองไหนที่พอจะเป็นตัวอย่างได้บ้างครับ  

A: สิงคโปร์มีแผนแม่แบบเรื่องแสงนะคะ แต่เคยคุยกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเมืองของสิงคโปร์ รวมไปถึงดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นอย่างคาโอรุ เมนเดะ ที่เขามีออฟฟิศที่สิงคโปร์ เขาบอกว่าอย่างคาล์ก คลีซึ่งเป็นย่านไนท์ไลฟ์ของสิงคโปร์ มีการทำมาสเตอร์แพลนจริง แต่ตอนเลือกผู้รับเหมา ตอนตรวจรับงานเขาไม่ได้เป็นคนไฟนอลเพราะฉะนั้นหน้างานมันก็มีปัจจัยอื่นๆ ทำให้มันอาจไม่ได้ออกมาอย่างที่ดีไซเนอร์เขาวาดหวังไว้ก็ได้

Q: แสดงว่าเบื้องหลังความคิดเรื่องโครงการสะพานเขียวก็คือแบบนี้

A: ใช่ค่ะ คืออย่างน้อยคิดว่านี่จะเป็นตัวอย่างของภูมิสถาปัตย์แสง(landscape lighting) ของกรุงเทพฯ จริงๆ หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย การบำรุงรักษายากไหมและห่วงว่าคนจะมาขโมยของแต่เราก็พยายามเพื่อจะบอกว่าทั้งหมดนี้ว่ามันสามารถออกแบบให้มีทั้งความปลอดภัย ประหยัดพลังงานและสวยงามนั้นทำได้ อยากใช้โอกาสของโครงการสะพานเขียว เป็นพื้นที่ทดลองให้เห็น อย่างเรื่องความปลอดภัยไม่ใช่แค่การติดไฟเยอะๆ เพราะแสงเยอะใช่ว่าจะดี ซึ่งจุดนี้คนทั่วไปอาจยังไม่เข้าใจ เขาเข้าใจว่าตรงไหนไม่ปลอดภัยก็เอาไฟไปติดให้สว่าง ไฟอะไรก็ได้แต่จริงๆ มันมีมากกว่านั้น 

Q: ปัจจุบันบทบาทของศูนย์วิจัยนวตกรรมเพื่อการส่องสว่างหลักๆ ทำอะไรบ้าง  

A: หลักๆ คือทำอย่างไรให้เราสามารถนำมาประยุกต์เทคโนโลยีจากต่างประเทศ มาใช้กับบ้านเราได้อย่างเหมาะสม เพราะองค์ความรู้ต่างๆ มันไม่สามารถยกมาใช้ได้ทั้งดุ้น หน้าที่ของศูนย์ฯ คือจะปรับยังไง ทั้งในเชิงบริหารจัดการให้คนใช้ยอมรับและมีดีไซน์ มีคอนเซ็ปต์อยู่ในนั้นด้วย เราไม่มองว่าปัญหาเรื่องการปรับปรุงงานเรื่องสถาปัตยกรรมแสงสว่างในเมือง เป็นเรื่องของงบประมาณอย่างเดียวเพราะงบฯ มันเป็นปัญหาของทุกสิ่งบนโลกใบนี้(หัวเราะ) มีโครงการไหนบ้างเหรอที่เจ้าของเขาบอกว่าให้งบฯ มาเหลือเฟือ คือถ้าเรามองว่างบประมาณคือคือปัญหา ก็ไม่ต้องมาทำอะไรแล้ว ที่ควรทำคือต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน ดูว่าปัญหาและอุปสรรคที่เราเจอมีกี่ด้าน ไปสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ไปวัดแสงจริงๆ ไปดูว่าทำแล้วมันเวิร์กไม่เวิร์ก ไปเปรียบเทียบว่าทำไมเขาถึงใช้แบบนี้ ใช้แล้วเป็นยังไง อย่างบางมดเองก็เคยทำวิจัยเรื่องการติดไฟไฟตามถนน เราเอาไฟสองประเภทมาติด จ้างคนหลายๆ กลุ่มช่วงอายุและวัย มาเดินนั่ง ขับรถผ่านเป็น experimental study คือมันต้องลงมือทำแบบนี้ก่อน ศูนย์ฯ เราก็พยายามจะทำแบบนี้ให้การวิจัยของเรานำไปอ้างอิงได้จริง น่าเชื่อถือ

Q: เคยอ่านงานวิจัยในชิคาโกที่ทำเรื่องแสงไฟกับการอพยพของสัตว์จำพวกนก ซึ่งก็พบว่าก็มีผลจริงๆ  เพราะบางทีนกบินชนตึก นกบินหลงทางบ้าง ในเมืองไทยมีงานวิจัยทำนองนี้บ้างไหม เราเจอผลกระทบแบบนี้บ้างหรือยัง

A: ที่เคยได้ยินคือเรื่องแสงกับหิ่งห้อยที่บางกระเจ้าแล้วก็ที่อัพวา ตอนนั้นที่ไปฟังที่มูลนิธิโลกสีเขียวจัดร่วมกับสมาคมดาราศาสตร์ เขาสนใจเรื่องมลภาวะทางแสงที่กระบกับหิ่งห้อย มีอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ท่านหนึ่งศึกษาเรื่องหิ่งห้อย ซึ่งแกพบว่าหิ่งห้อยมีจำนวนลดลง เมื่อความเจริญเข้าไปมากขึ้น แต่ตรงนั้นก็อาจมาจากหลายสาเหตุ  ไม่ใช่แค่เรื่องของมลภาวะทางแสงอย่างเดียว มันมีเรื่องต้นไม้ที่หายไปด้วย 

อีกเรื่องคือเรื่องเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่แล้วหลงทางเพราะคิดว่าหลอดไฟเป็นแสงจันทร์ ที่อเมริกานอกเหนือจากชิคาโก ที่นิวยอร์กก็มีประเด็นเรื่องมลภาวะทางแสงที่เกิดจากแสงบริเวณ ground  zero ที่เขาส่องขึ้นฟ้า ตอนหลังเมืองนิวยอร์กมีการออกเคอร์ฟิวช่วงที่นกอพยพว่าต้องปิดไฟ

Q: ในเมืองใหญ่ๆ  ที่เป็นเมืองระดับมหานครเขาจัดการมลภาวะเกี่ยวกับแสงยังไง เคยได้ยินอย่างเช่น ใช้โคมจำกัดการใช้แสง หรือปลูกต้นไม้ใหญ่ให้บังแสง มันเอามาประยุกต์ใช้กับกรุงเทพฯได้ไหม 

A: คือมันได้ทุกที่แหละ ถึงได้บอกว่ามันต้องเริ่มจากการออกแบบตัวแสงสว่าง ไม่ใช่ออกแบบให้สวยงามนะ เช่นวิธีการเลือกโคมเช่นต้องเลือกโคมไฟแบบ ‘full cutoff’  คือตัดแสงที่จะส่องขึ้นด้านบนออกหมด บางเมืองจะห้ามใช้เสาไฟที่เป็นลูกกลมๆ เด็ดขาดเพราะแสงกระจายทั่วทุกทาง เดี๋ยวนี้ในอเมริกาเหนือหากอาคารไหนจะขอใบรองเรื่องสิ่งแวดล้อม(LEAD) เรื่องการก่อมลภาวะทางแสงก็เป็นประเด็นหนึ่งที่เขาต้องตรวจสอบด้วย อย่างปารีสปัจจุบันนี้ห้ามเอาไฟไปส่องต้นไม้แล้ว ในยุโรปพูดกันไปถึงเรื่องการักษาระบบนิเวศน์มากๆ เขาคิดไปถึงเรื่องสัตว์ เรื่องแมลงในเมืองแล้ว


Contributor