13/11/2019
Life

Why so democracy on public space ประชาธิปไตยบนที่สาธารณะของ ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ

สุธามาส ทวินันท์
 


ชื่อของ ‘ไอติม’ – พริษฐ์ วัชรสินธุ ถูกจับตามองว่าเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ไฟแรงมาตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ’62 

แม้ว่าผลการเลือกตั้ง ส.ส. ของเขาจะไม่เป็นไปอย่างใจหวัง แต่อดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์คนนี้ยังคงเดินหน้าเรียกร้องประชาธิปไตยต่อไปภายใต้การเป็นนักการเมืองอิสระ, แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และบทบาทใหม่ล่าสุดของเขากับการเขียนหนังสือ ‘Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร’ หนังสือที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับประชาธิปไตย บนพื้นฐานความเคลือบแคลงใจทางการเมืองที่หลายคนอาจเคยตั้งคำถามกับตัวเอง

เมื่อคำถามเป็นบ่อเกิดของหนังสือเล่มนี้ เราจึงอยากตั้งคำถามไอติมกลับว่า “Why so democracy on public space ” เพื่อเป็นบ่อเกิดของความเข้าใจว่าพื้นที่สาธารณะนั้นสัมพันธ์อย่างไรกับประชาธิปไตย  และเมื่อเราขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ เราจึงขาดความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือเปล่า 

พื้นที่สาธารณะมีความเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอย่างไร

ไอติม : มันมีความเชื่อมโยงกันพอสมควรนะครับ  อย่างแรกคือเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพื้นที่ทำมาหากิน เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วประชาธิปไตย คือการที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน แน่นอนถ้าแปลโดยตรง มันคือการมีสิทธิที่เท่าเทียมกันทางการเมืองในการกำหนดประเทศ แต่ว่าในภาษาอังกฤษเนี่ยเขาจะใช้คำว่า Democratize Education Democratize Healthcare คือทำให้การศึกษาและสาธารณสุขเป็นประชาธิปไตย หมายความว่าการทำให้คนมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพมากขึ้นบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน  เพราะฉะนั้นเรื่องที่ดิน เรื่องพื้นที่สาธารณะก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

ปัจจุบันถ้าเราไปดูความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยเนี่ย อันที่สูงสุดน่าจะเป็นความเลื่อมล้ำของที่ดิน คือคนแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์คุมที่ดินหลายเปอร์เซ็นของประเทศ เพราะงั้นถ้าเกิดมันไม่มีพื้นที่สาธารณะเลย หรือถ้าไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยและมีที่ดินมันก็ลำบาก  

อย่างที่สองพื้นที่สาธารณะมันเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนไปรวมตัวกันแล้วก็แสดงความเห็นได้ แต่สำหรับผมนั้น ผมคิดว่าพื้นที่สาธารณะที่มีอิทธิพลมากขึ้นในมุมนั้นเนี่ย คือพื้นที่ออนไลน์ ถามว่าจำเป็นไหมที่ตอนนี้วัยรุ่นจะต้องหยุดงานหรือลาเรียนเพื่อไปประท้วงตรงหน้าทำเนียบ ผมว่ามันไม่ได้ส่งเสียงดังมากกว่าการส่งเสียงผ่านแฮชแท็กในทวิตเตอร์ขนาดนั้น

อย่างที่สามผมคิดว่าเรื่องพื้นที่สาธารณะอีกอันหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ พอมันเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของเดี่ยวๆ เนี่ย แสดงว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกต้องมานั่งคุยกันว่าเราจะใช้พื้นที่นี้ทำอะไรดี เราจะออกแบบพื้นที่นี้อย่างไร เราจะเห็นว่าในพื้นที่ตามชุมชนบางแห่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว มันจะมีพื้นที่สีเขียวอยู่ตรงกลางชุมชน โดยก่อนจะลงมือทำเขาก็ต้องมาคุยกันก่อนว่า จะมีสนามบอลไหมหรือมีอะไรดี อันนี้คือกระบวนการประชาธิปไตยที่ทำให้เหมือนกับทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่แถวนั้นมาร่วมกันถกเถียงว่าเราจะใช้พื้นที่นี้เป็นแบบไหน ฉะนั้นผมว่ามันสำคัญได้หลายอย่างเกี่ยวกับประชาธิปไตย

พื้นที่สาธารณะในไทยบางครั้งก็มีข้อจำกัดที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น เวลาเปิด-ปิดสวนสาธารณะที่อาจจะเร็วเกินไปสำหรับคนกรุงซึ่งต้องฝ่ารถติดเดินทางมา ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างนี้ มันจึงมีความเป็นพื้นที่สาธารณะที่อาจจะไม่ใช่พื้นที่สาธารณะจริงๆ ไหม

ไอติม : ใช่ คือมันตลก ถ้าเทียบกับลอนดอนพื้นที่สาธารณะอย่างสวนสาธารณะเขาปิดช้า แต่ว่าห้างเนี่ยปิดเร็ว แต่ในไทยกลับกัน คือห้างปิดช้าแต่ว่าพื้นที่สาธารณะปิดเร็ว อันนั้นก็เป็นการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะในเรื่องของช่วงเวลา แต่อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นแนวคิดที่ใหม่มากขึ้น ก็คือเรื่องของ Co-Working Space ถ้าเราบอกว่างานในอนาคตเนี่ยมันเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะขึ้น หรือว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นประเภทของงานที่จะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีได้ช้าที่สุด และมันถูกกระตุ้นโดยการแลกเปลี่ยนไอเดียกับคนอื่น Co-Working Space จึงสำคัญ ซึ่งเราก็เห็นไอเดียเรื่อง Co-Working Space มากขึ้น แต่ปัจจุบัน Co-Working Space พอเป็นบริษัทเอกชนทำ บางทีก็ค่าใช้จ่ายมันแพงเกินไป จึงไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ผมก็เลยมีไอเดียขึ้นมาว่าตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีพื้นที่เยอะๆ เนี่ย เป็นไปได้ไหมที่จะทำพื้นที่สาธารณะในรูปแบบ Co-Working Space มากขึ้น โดยทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่จ่ายได้จริงๆ ไม่ว่าคนวัยทำงานหรือว่านักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ก็ตาม

การใช้พื้นที่สาธารณะของคนในอังกฤษเป็นอย่างไร ทำไมคนไทยถึงไม่มีวัฒนธรรมการใช้พื้นที่สาธารณะแต่เรานิยมไปห้างสรรพสินค้ามากกว่า

ไอติม : ก็คือสวนสาธารณะที่อังกฤษเนี่ยเป็นอะไรที่ผมว่าคนนึกถึงบ่อยกว่าห้าง คือถ้าถามวัยรุ่นอังกฤษว่า เฮ้ย! ว่างแล้วทำอะไรกัน ถ้าอากาศอำนวยพวกเขาก็จะคิดถึงสวนสาธารณะก่อนอันดับแรก เพราะมันเป็นพื้นที่ที่ร่มรื่น เป็นพื้นที่ที่สามารถเล่นกีฬา สามารถได้พบปะผู้คนที่หลากหลาย แต่ผมก็อยู่ในโลกของความเป็นจริงด้วยระดับหนึ่งด้วยว่าประเทศไทยมันร้อนมากๆ อากาศมันก็อาจจะไม่เอื้อ

อีกที่ที่คนอังกฤษมักไปกันคือพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผมไปเดินบ่อยมาก พวกพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ National History เนี่ย ค่าเข้ามันฟรีนะ พอค่าเข้ามันฟรีมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนก็เข้าถึงได้ แล้วไปเดินเล่นกันในพิพิธภัณฑ์มันก็ได้ความรู้ไปด้วย อาจจะได้มากกว่าการไปห้างเสียเงินอีก เพราะงั้นเราควรเพิ่มตัวเลือกแบบนี้ดีกว่า แต่ผมไม่ได้บอกว่าการไปห้างผิด ก็มีบางคนที่ชอบไปห้าง  ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขา เป็นความชอบของเขา แต่ว่าทำยังไงให้คนมีตัวเลือกมากขึ้นว่า เสาร์-อาทิตย์เราจะทำอะไร เราจะนัดเจอเพื่อนที่ไหน ไม่ใช่แค่ว่ามีทางเลือกคือไปห้างอย่างเดียว และตอนผมอยู่ลอนดอน คือทุกหมู่บ้านเขาจะมีพื้นที่สีเขียวตรงกลาง

เราเดินเข้ามาในหมู่บ้านหน่อยเดียวจะเห็นเป็นสวนตรงกลาง ผมจะไปนั่งทวนหนังสือที่สวนสาธารณะอยู่บ่อยๆ แต่ว่าเขามีทางเลือกให้เราเยอะนะที่ไทยเองก็มีบ้างแต่ไม่ได้เยอะขนาดนั้น ซึ่งมันก็เลยทำให้กิจกรรมที่ได้ทำมันถูกจำกัดระดับหนึ่ง ผมเองก็ชอบไปสวนรถไฟและคิดว่าเป็นสวนสาธารณะที่ค่อนข้างน่าไปทำงาน แต่ว่ามันอาจจะยังเยอะไม่พอสำหรับทุกคน

ปัญหาพื้นที่สาธารณะเท่าที่สังเกตเรื่องสำคัญเลยคืออะไร

ไอติม : ถ้าพูดถึงกรุงเทพฯ นะครับ ปัญหาพื้นที่สาธารณะมีสองอย่าง อย่างแรกคือเรื่องพื้นที่สีเขียว เราจะเห็นว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือปัญหาอะไรหลายๆ อย่าง เมื่อมันมีพื้นที่สีเขียวน้อยก็ทำให้เป็นปัญหาทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น และในเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมเนี่ยไม่ใช่แค่ฝุ่นหรอก แต่วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่มีการผลิตก๊าซเรือนกระจกเยอะท้ายที่สุดแล้วถ้ามีพื้นที่สีเขียว มันจะช่วยบรรเทาได้ ยิ่งไปกว่านั้นถึงแม้ไม่พูดถึงฝุ่นหรือมลพิษ พื้นที่สีเขียวมันทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น

จะเป็นไปได้ไหมที่ตามคอนโดเราจะขอให้พื้นที่ของอาคารชั้นบนสุดเป็นสวนสาธารณะหรือ Green roof เพื่อเป็นพื้นที่ส่วนรวมให้คนในอาคารสามารถขึ้นไปใช้ได้ แล้วหากมองในมุมของเชิงวิทยาศาสตร์เนี่ย การที่ชั้นบนสุดของอาคารเป็นสีเขียว มันสามารถช่วยลดจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่กระจายไปสู่สภาพอากาศได้นะ เพราะงั้นนั่นคือหนึ่งในแนวคิดเรื่องเพิ่มพื้นที่สีเขียว

อันที่สองคือเรื่องพื้นที่สาธารณะสำหรับหาบเร่แผงลอย เราต้องหาทางออกร่วมกัน ถ้าเราสุดโต่งไปเลยบอกว่าต้องให้เขาขายได้เหมือนเดิมจะขายตรงไหนก็ขายได้ แต่คนก็เดินทางเท้าไม่ได้ มันก็คือพื้นที่สาธารณะที่คนที่ใช้ทางเท้าก็ใช้ทางเท้าไม่ได้ แต่ถ้าเราสุดโต่งเลยว่าถอดทุกอย่างออกหมด และให้ไปอยู่ตรงนี้นะ แต่พื้นที่ที่จัดหาให้ก็ไม่ได้มีคนเดินผ่าน การทำแบบนั้นอาจกลายเป็นว่าไม่ใช่แค่พ่อค้าแม่ค้าเสียผลประโยชน์ แต่พนักงานออฟฟิสที่เขาจำเป็นต้องพึ่งอาหารข้างทาง ก็ต้องไปจ่ายอาหารที่แพงขึ้นในโรงอาหารต่างๆ แบบนั้นก็ไม่ใช่ทางออกเหมือนกัน เพราะงั้นหากึ่งกลางยังไง หาพื้นที่สาธารณะที่พ่อค้า แม่ค้าหาบเร่แผงลอย สามารถทำมาหากินได้ แต่ว่าไม่ได้ไปขวางทางเท้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะเหมือนกันไหม

พื้นที่รกร้างที่เป็นของภาครัฐก็มีเยอะ แต่ทำไมถึงไม่สามารถนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะได้

ไอติม : มันก็เป็นปัญหาเชิงนโยบายนะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นอะไรที่ถูกถกเถียงกันเยอะในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. แต่ว่าถ้าย้อนมาเรื่อง ผู้ว่า กทม.เนี่ย คือปัจจุบัน ผู้ว่ากทม.ไม่ได้มีอำนาจมากขนาดนั้นในการกำหนดนโยบายเหล่านี้ ถ้าเทียบอำนาจที่ ผู้ว่ากทม.มี กับ ผู้ว่านิวยอร์ค ผู้ว่าลอนดอน ผู้ว่าเมืองหลวงต่างๆ เนี่ย เราไม่ได้มีอำนาจเยอะขนาดนั้น

ปัญหาหนึ่งที่ทุกคนคาดหวังอย่างรถติด ก็ยอมรับว่ายากในการแก้ไขเพราะดูสัดส่วนขอพื้นที่ถนนต่อพื้นที่ทั้งหมดเนี่ยก็น้อยมาก ดูจำนวนรถที่มีต่อพื้นที่ก็เยอะมาก แต่ว่าถ้าเราดูทางออกเรื่องการแก้ไขปัญหารถติดของประเทศอื่นที่ผู้ว่าในเมืองต่างๆ เขาใช้ เราจะรู้เลยว่าและผู้ว่ากทม.ไม่ได้มีอำนาจตรงนั้น เช่น ในอังกฤษเนี่ยเขาใช้นโยบายที่เรียกว่า Congestion Charge โดยเขาจะวาดวงกลมตรงใจกลางเมืองไว้ และถ้ารถเข้ามาในเมืองคุณต้องเสียค่าเข้ามาเพิ่ม ซึ่งถ้าเราจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องติดกล้องดูว่ารถคันไหนเข้ามา หรือในสิงคโปร์เขาก็มี Road Passing ที่ให้รถทุกคันมีเซ็นเซอร์อยู่ข้างใน ถ้าขับไปตรงไหนเขาก็จะคิดค่าใช้ถนนกับคุณ เช่นคุณขับไปถนนนี้กี่กิโล ถนนนั้นกี่กิโล บวกลบคูณหาร ต้องจ่ายค่าใช้ถนนเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันอำนาจที่ ผู้ว่ากทม.จะติดกล้องบนถนนยังไม่มีเลย สมมุติว่ามีรถจอดขวางอยู่บนถนนเนี่ย ผู้ว่าก็ไม่ได้มีอำนาจในการให้ไปจับรถคันนั้นนะ เพราะว่าตำรวจไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่า และหน่วยงานที่ดูแลถนนต่างๆ ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ว่าเช่นกัน ปัญหาของมันจึงเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจการตัดสินใจ ถือว่าโชคดีแล้วนะครับที่อย่างน้อยยังมีผู้ว่าที่เลือกมาด้วยตัวเอง แต่ว่าอย่างที่บอกคือว่าอำนาจมันไม่กระจายไป

นอกจากพื้นที่สาธารณะจะไม่พอและรัฐก็ไม่สามารถใช้พื้นที่รกร้างได้ ยังมีประเด็นพื้นที่สาธารณะของคนกรุงเทพ ฯ ถูกลิดรอน เช่น กรณีหอศิลป์ถูกตัดงบประมาณ หรือโรงภาษีร้อยชักที่รัฐให้เอกชนเข้าไปพัฒนาพื้นที่เป็นโรงแรมแทนที่รัฐจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์เอง คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร

ไอติม : คือผมมองว่าภาพรวมมันคือเรื่องของการวางผังเมืองด้วย ต้องยอมรับว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่พัฒนาเติบโตขึ้นมาโดยอาจจะไม่ได้มีการวางผังเมืองที่เป็นระบบอย่างเพียงพอ เพราะสุดท้ายแล้วเราเคยมาพูดกันหรือยังว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่กี่เปอร์เซ็นต์และกี่เปอร์เซ็นต์ให้เป็นพื้นที่สำหรับอะไร แล้วโซนไหนจะเป็นพื้นที่สำหรับอะไรบ้าง ผมยกตัวอย่างปารีส ตอนผมขึ้นหอไอเฟลแล้วมองลงมานะ มันจะมีแค่ส่วนเดียวเท่านั้นที่เห็นตึกสูง ที่เหลือคือเป็นตึกอาคารเก่าที่เขาก็มีการวางกฎเกณฑ์ไว้ว่าไม่อยากให้อัตลักษณ์ของเมืองมันเสียไป ไม่อยากให้วัฒนธรรมมันเสียไป เพราะงั้นห้ามมีการทุบอาคารเก่าๆ ทิ้งแล้วก็สร้างตึกสูงขึ้นมา ตึกใหม่และตึกพาณิชย์ก็จะอยู่แค่หนึ่งส่วนสี่ของวิวที่เรามองไป

แต่ของไทยนั้นไม่ใช่ มันไม่ได้มีการออกแบบว่า โซนนี้เป็นโซนของอะไร มันก็เลยส่งผลกระทบตรงนี้ อย่างแรกการวางผังเมืองควรคุ้มครองพื้นที่สาธารณะที่คนยึดเหนี่ยวในทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เพราะมันไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นระบบเพียงพอ แล้วอย่างที่สองมันก็จะนำไปสู่เรื่องของการแก้ไขปัญหารถติดด้วย เพราะว่าการวางผังเมืองที่ดีควรวางด้วยว่าทำยังไงผู้คนถึงจะลดระยะทางของการเดินทางจากละแวกที่เป็นที่พักอาศัยถึงที่ทำงานให้น้อยที่สุด คือมันไม่ใช่แค่ว่าทำให้จำนวนรถน้อยเท่านั้นแต่เราต้องจัดการตรงนี้ด้วย เพราะงั้นผมมองว่ามันเป็นเรื่องของผังเมือง การวางผังเมืองทั้งหมดด้วยการจัดโซนที่ดินต่างๆ ว่าทำอะไรได้บ้าง

ในกรณีที่ยกตัวอย่างนั้นก็มีประชาชนและนักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็น แต่เหมือนว่ารัฐไม่ฟังเสียงประชาชนเลย และก็ผูกขาดอำนาจตัดสินใจทั้งหมด ทำไมเสียงของประชาชนถึงไม่สามารถต่อกรอะไรกับภาครัฐได้บ้าง

ไอติม : อันนี้มันก็กลับมาเรื่องการเมืองครับถ้างั้น ก็คือเรื่องกลไกของระบบประชาธิปไตย อย่างที่บอกประชาธิปไตยมันไม่ใช่แค่การเลือกตั้งในระดับประเทศ เลือกตั้ง ส.ส. ไปแล้ว 4 ปีก็หายไป แต่มันทำยังไงให้มันมีการเพิ่มความมีส่วนร่วม เพิ่มความเป็นเจ้าของในทุกๆ มิติ  มีความเป็นประชาธิปไตยในการบริหารจัดการชุมชนตัวเอง มีการมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎกติกาของโรงเรียนๆ หนึ่ง มีเด็กที่สามารถลุกขึ้นมาเป็นหัวหน้าห้องมาช่วยมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกากฎเกณฑ์บางอย่างของโรงเรียนได้ หรือมีความเป็นประชาธิปไตยในบริษัทที่มีการรับฟังเสียงของพนักงาน เพื่อให้เขามีความสุขกับการทำงานมากขึ้น เพื่อให้เขามีการนำเสนอไอเดียออกมา ยกตัวอย่าง Google เขาจะมีให้พนักงานทุกระดับเสนอไอเดียขึ้นมา อันนี้เขาเรียกว่านโยบาย 20 เปอร์เซ็นต์ คือ 20 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทำงานเขาให้ใช้กับ Personal Project ส่วนตัว ซึ่งหนึ่งใน Project นั้นก็คือกลุ่ม Facebook live ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะงั้นนี่แหละมันคือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ทำยังไงให้ทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่ในระดับของสภามีส่วนร่วม เพราะงั้นเรื่องการกระจายอำนาจก็สำคัญ มันสามารถทำให้คนในพื้นที่ คนในจังหวัดเนี่ย สามารถจัดการจังหวัดตัวเองได้และผู้มีอำนาจ ผู้มีสิทธิต่างๆ ในการบริหารจัดการจังหวัดอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น

คิดเห็นอย่างไรกับประโยคที่ว่า “หากพื้นที่สาธารณะถูกทำลาย วัฒนธรรมการเป็นอยู่ในเมืองและความเป็นประชาธิปไตยก็จะเสียหายไปด้วย” ซึ่งเป็นประโยคของ ริชาร์ด โรเจอร์ สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษ-อิตาลี

ไอติม : ผมว่าข้อดีอย่างหนึ่งของพื้นที่สาธารณะ คือมันทำให้เราพบปะกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกันมากขึ้น มันทำให้เรารู้สึกถึงการเป็น Community หรือการอยู่ในสังคมส่วนรวมมากขึ้น หากถามว่าประชาธิปไตยคืออะไร ประชาธิปไตยมันคือความต้องการได้มีโอกาสเป็นเจ้าของร่วมกับประเทศ ซึ่งการได้รับโอกาสนั้นขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งตามระบบรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ แต่ความรู้สึกที่ว่าเราเป็นเจ้าของคนหนึ่งในประเทศเนี่ย ผมคิดว่ามันมาจากการที่เรารู้สึกผูกพันธ์กับคนในประเทศด้วยกัน เพราะงั้นถ้าเกิดว่าเรามีเมืองที่แต่ละคนก็ใช้ชีวิตของตัวเอง ตอนเช้าตื่นมาในบ้านตัวเอง ออกไปทำงานกลับมาก็อยู่ในบ้านตัวเองตลอดเนี่ย เราก็จะไม่รู้สึกผูกพันธ์กับคนข้างบ้าน

ผมถามว่าอย่างคนในกรุงเทพฯ สักกี่คนที่รู้จักชื่อของเพื่อนบ้านข้างๆ ผมว่าน้อยนะครับ และส่วนหนึ่งมันอาจเป็นเพราะว่ามันไม่ได้มีพื้นที่สาธารณะที่จะไปใช้ร่วมกันได้ แต่สมัยผมอยู่ที่อังกฤษตอนเย็นๆ จะไปวิ่งที่สวนสาธารณะที่ติดกับตรงที่พักอาศัย ก็จะเจอเพื่อนบ้านพาลูกออกมา บางคนก็พาคุณพ่อคุณแม่ออกมาออกกำลังกายแล้วก็พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และตอนที่ผมลงพื้นที่ในเขตบางกะปิ ผมก็เห็นว่าพื้นที่สาธารณะนั้นสำคัญมากในระดับชุมชน ในระดับหมู่บ้าน

หมู่บ้านไหนที่เข้าไปแล้วช่วงเย็นๆ คึกคักเนี่ย ก็คือหมู่บ้านที่มีพื้นที่ออกกำลังกายเยอะหรือมีพื้นที่ให้ผู้สูงอายุ เมื่อพวกเขามีพื้นที่ตรงนี้ทำให้แต่ละคนที่อยู่คนเดียวมากขึ้นได้ออกไปมีสังคมร่วมกัน พอมีสังคมร่วมกันเขาก็รู้สึกว่าการพัฒนาหมู่บ้านเนี่ย เขาคำนึงถึงตัวเองไม่ได้แล้วนะ มันไม่ใช่แค่ว่ามาเรียกร้องว่าทางเข้าบ้านฉันมันต้องสะอาดมากขึ้น แต่มันเหมือนต้องคิดถึงส่วนรวมมากขึ้น เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกันมากขึ้นด้วย


Contributor