12/05/2020
Life
ชุมนุมอย่างไรให้อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย คุยกับ ‘เป๋า-ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ เมื่อประเทศขาดพื้นที่สาธารณะ ในการแสดงออกทางการเมือง
สุธามาส ทวินันท์
ช่วงที่ผ่านมาคำว่า ‘ลงถนน’ ดูจะเป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยขึ้น
อาจนับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งปี 62 ถูกประกาศ จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่บวกกับความไม่พอใจในการบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนเป็นการชุมนุมแบบ ‘แฟลชม็อบ’ ในหมู่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ
น่าเสียดายที่การเคลื่อนไหวครั้งนั้นต้องยุติลงเพราะการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาพการลงถนนที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นจึงเริ่มเลือนลางไป แต่คำว่า ‘ลงถนน’ กลับมาเด่นชัดขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลขาดศักยภาพในการรับมือกับ COVID-19 จนสร้างผลกระทบต่อประชาชนทุกย่อมหญ้า แม้ตอนนี้สถานการณ์ COVID-19 จะยังไม่คลี่คลาย แต่หลายฝ่ายต่างลงความเห็นตรงกันว่า ‘สิ้น COVID-19 นี้อาจเกิดการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่’
อย่างไรก็ตามการชุมนุมที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ถือว่าไม่ง่ายเลย ทั้งในแง่ของการปฏิบัติและในเชิงพื้นที่ แต่จะทำอย่างไรให้การชุมนุมดำเนินไปได้ ?
หากจะมีใครสักคนให้คำตอบได้ ‘เป๋า’ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) น่าจะเป็นคนนั้น
จากประสบการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา และการทำงานภาคประชาสังคมที่หยิบจับประเด็นทางกฎหมายมาสื่อสารให้เกิดการตั้งคำถาม ไปจนถึงการทำงานรณรงค์ด้านสิทธิเสรีภาพอย่างแข็งขัน เมื่อเอ่ยถึงเรื่องกฎหมายที่พ่วงมากับการเคลื่อนไหวทางการเมืองทีไร ชื่อของเขามักปรากฎขึ้นมาเสมอ
บทสทนาระหว่าง The Urbanis กับ เป๋า ยิ่งชีพ ในวันนี้ จึงว่าด้วยการชุมนุมประท้วงอย่างไรให้ไม่ให้ผิดกฎหมาย พร้อมพูดคุยถึงปัญหาเรื่องพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ชุมนุม อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ผูกโยงกับเสรีภาพในการแสดงออก
เราจะทำอย่างไรเมื่อความคิดเห็นทางการเมืองยังไร้พื้นที่จะแสดงพลังออกไป
ช่วงต้นปีคุณโพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัวเกี่ยวกับรัฐสภาเก่า ว่าร่มรื่นเอื้อให้ประชาชนไปชุมนุมกันได้ แต่รัฐสภาใหม่แห้งแล้ง ไม่มีแม้แต่ฟุตบาทให้ยืน รัฐสภาเก่าในวันนั้นกับรัฐสภาใหม่ในวันนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
ผมเคยไปประท้วงหลายครั้งที่รัฐสภาเก่า มันดีตรงที่ถนนโดยรอบกว้างใหญ่ และติดกับลานพระรูปทรงม้า ใครจะไปรวมตัวกันก็เข้าเเถวตรงลานพระรูปทรงม้าได้เลย แล้วค่อยเดินไปหน้าทำเนียบรัฐบาลหรือไปหน้ารัฐสภาก็ว่าไป ซึ่งตรงข้ามหน้ารัฐสภาเป็นเขาดินพอดี ฟุตบาทฝั่งเขาดินก็ใหญ่พอที่คนจะสามารถยืนได้ประมาณสัก 500-600 คน เเละเเถวนั้นต้นไม้ร่มรื่นตั้งเเต่ถนนราชดำเนินนอกจนถึงหน้ารัฐสภา ดังนั้นการปิดถนนหน้ารัฐสภามันไม่ได้กีดขวางใคร เพราะถนนไม่ได้ทะลุไปไหน ไม่ได้มีบ้านเรือน ไม่ได้มีโรงเรียนอะไรที่ทำให้เสียงดังไม่ได้ แม้ว่าอาจจะรบกวนสัตว์ เเต่ว่าในเเง่ของคน เราไม่ได้รบกวน
ส่วนเรื่องการจราจรถ้าเกิดกรณีที่คนมาชุมนุมเยอะก็ปิดไปเลนหนึ่ง หรือเยอะมากก็ปิดไปสองเลน ซึ่งมันก็ยังเหลืออีก 2 เลนที่รถสามารถสัญจรได้ เเละคนที่ผ่านมาเส้นนี้ส่วนใหญ่ก็คือคนที่มารัฐสภา เขาไม่ได้ไปไหน ดังนั้นหลายกลุ่มจึงไปปักหลักประท้วง บางกลุ่มก็ไปนอนหน้ารัฐสภาเพื่อไปรอคำตอบอะไรก็เเล้วเเต่ โดยที่บางทีไม่ต้องนัดอะไรกับคนข้างใน คุณมีเครื่องเสียงอันหนึ่งยืนป่าวประกาศไปเรื่อยๆ รถของ ส.ส.หรือคนที่เขาทำงานขับผ่านมา ถ้าเขาสนใจก็จะเดินเข้ามาถามไถ่
ผมเคยไปประท้วงเรื่องกฎหมายฉบับหนึ่ง และเราก็นัด ส.ส.กลุ่มหนึ่งเอาไว้ เเต่ก็มี ส.ส. คนอื่นที่เขาเห็นเราไปประท้วงจึงเดินเข้ามาคุยด้วย มันจึงเป็นบรรยากาศที่ตรงไปตรงมา ถ้าเราอยากเรียกร้องไปยังคนกลุ่มนี้ที่เขามีอำนาจตัดสินใจ ก็ไปรวมตัวกันหน้าที่ทำงานเขา ถ้าเขาอยากรู้ เขาก็จะเข้ามาคุยกับเราเอง
สมมุติว่าในกฎหมายฉบับนี้กำลังจะผ่านพอดี วันที่เขาต้องลงมติ เขาต้องทำการบ้าน เขารู้วาระ เขาเห็นคนมาประท้วง อาจจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยเเละไม่เห็นด้วย เเต่เขาก็เดินออกมารับเอกสารว่ากลุ่มเห็นด้วยว่ายังไง กลุ่มไม่เห็นด้วยว่ายังไง ถ้าเขาเตรียมการบ้านมาเขาอาจจะเเสดงความคิดเห็นกลับไป เเต่ถ้าเขาไม่เตรียมมาเขาก็อาจจะรับเอกสารไปนั่งคิดต่อว่าจะลงมติดีไหม ผมไม่เเน่ใจว่ารัฐสภาเก่าตั้งใจให้ออกมาเป็นลักษณะนี้ไหม เเต่มันก็ออกมาเป็นเเบบนี้ แบบที่อาจจะไม่ถึงกับดีร้อยเปอร์เซ็นต์ เเต่ก็โอเค
รัฐสภาใหม่ก็ได้ยินว่าเขาเตรียมสิ่งที่เรียกว่า ‘ลานประชาธิปไตย’ ไว้ให้คนมาชุมนุมกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าหน้าตาจะเป็นยังไง แต่ไม่เห็นมีต้นไม้อะไรเลย ไปยืนได้ เเต่ก็คงจะโหดร้ายเหมือนกันถ้าให้ไปยืนนานๆ ทุกวันนี้ก็คือเเย่มาก เพราะทางไปรัฐสภาไม่มีพื้นที่ที่สามารถเดินขบวนได้เลย มีเเต่หน่วยงานทหาร ถ้าจะเดินก็ต้องนัดรวมตัวกันหน้าค่ายทหารถึงค่อยเดินไป แล้วฟุตบาทก็เล็กมาก ฟุตบาทเดินได้เเค่สองคนเองมั้ง คนอื่นก็เดินสวนมาไม่ได้
ส่วนลานหน้ารัฐสภาก็มีสนามหญ้าเล็กๆ ที่จุคนได้ประมาณ 100-150 คน ป้ายก็ยังไม่ทำ เหมือนจะมีการคิดเเต่ว่าคิดได้เเย่มาก เห็นว่ามีการเตรียมห้องรับรองที่ติดเเอร์ไว้ด้านหน้าประตูรัฐสภาด้วย แต่ก็ไม่รู้ว่าเอาไว้รับใคร ไม่ได้เอาไว้รับชาวบ้านที่มาชุมนุมเเน่นอน เท่าที่เข้าใจถ้าเกิดลานใหม่สร้างเสร็จ เราก็ต้องเดินเข้าประตูก่อน ต้องเเลกบัตร ต้องผ่านยาม ต้องถูกถามว่าประท้วงเรื่องไหน ถ้าเป็นเรื่องที่เขาไม่อยากให้ประท้วง เขาก็คงไม่ให้เข้าไปตั้งเเต่เเรก ถ้าไม่ให้เข้าก็ต้องมาประท้วงข้างหน้ารัฐสภา เเต่ข้างหน้าก็ไม่มีพื้นที่ที่จะทำการประท้วงได้ พอไม่มีพื้นที่มันก็นำไปสู่ปัญหาการชุมนุมล้นมาบนถนน หรือกีดขวางประตู ตรงนี้ก็จะกลายเป็นความผิดของ พ.ร.บ. การชุมนุมฯ อีก
ในทางกฎหมายพื้นที่สาธารณะคืออะไร เพราะความเป็นจริงเราดูไม่มีพื้นที่ตรงไหนเข้าข่ายพื้นที่สาธารณะเลย
ใน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ระบุไว้ว่าที่สาธารณะก็คือพื้นที่ที่ไม่ใช่ของเอกชน ซึ่งก็คือพื้นที่ราชการทั้งหลาย หรือที่การรถไฟหรือว่าที่ราชพัสดุซึ่งปล่อยรกร้างว่างเปล่า เหล่านี้ก็เป็นที่สาธารณะทั้งหมด แต่สถานที่รกร้างก็ไม่รู้จะไปทำไมกัน เเต่พื้นที่ที่อยู่ในความดูเเลของราชการทั้งหลายก็มีเรื่องบุกรุกสถานที่ราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน หรือหน้ากระทรวงต่างๆ จึงกลายเป็นว่าต้องให้เจ้าของสถานที่อนุญาตอีกทีหนึ่ง พอจะมีการชุมนุม เขาก็ต้องไม่อนุญาตไว้ก่อน เพราะโดยพื้นฐานเขาก็ไม่อยากออกหน้าอยู่เเล้ว ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ คือ ไม่ต้องขอ (หัวเราะ) ไปใช้เลย สมมุติคุณไปชุมนุมเรื่องการศึกษาที่หน้ากระทรวงศึกษาตรงลานจอดรถโล่งๆ ที่จุได้สัก 200 คน คุณก็ไปยืนเลย เพราะถึงเขาไม่อนุญาตแต่ในทางกฎหมาย หลักเสรีภาพเรื่องการชุมนุมมันใหญ่กว่าการไม่ให้ในเรื่องยิบย่อย
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์จะมีพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนไปชุมนุมกันได้ เเต่ที่ไทยไม่มีตรงนี้ส่วนหนึ่งเพราะว่าเราเป็นประชาธิปไตยที่อยู่ในคราบเผด็จการมาโดยตลอดด้วยหรือเปล่า
ผมมองเป็นว่ามันมีสองเหตุผลนะ หนึ่งเป็นเรื่องของกฎหมาย สองเป็นเรื่องของการออกเเบบผังเมืองด้วย ผมก็เคยไปประเทศที่เขามีพื้นที่ในการให้จัดกิจกรรมนะ อย่างเเรกที่เห็นเลยคือ ฟุตบาทมันกว้าง กว้างระดับที่คนยืนเรียงหน้ากระดานกันได้เป็นสิบคน สวนสาธารณะทุกที่ก็มีพื้นที่ว่าง พอถึงเวลาคนของเขาก็สามารถไปยืนชุมนุมได้เลย แล้วในประเทศฝั่งตะวันตกเขาจะมี square คือลานโล่งๆ สี่เหลี่ยมที่เอื้อให้สามารถไปทำกิจกรรมหรือว่าชุมนุมได้ ไม่ว่าจะมีกฎหมายห้ามหรือกฎหมายให้ หรือรัฐบาลจะเป็นเผด็จการหรือไม่เผด็จการก็ตาม เพราะโดยสภาพมันเปิดกว้างอยู่เเล้ว
แต่บ้านเรามันไม่ได้เป็นเเบบนั้น จะมีที่เดียวก็คือถนนราชดำเนินนั่นแหละที่กว้างพอให้ไปชุมนุมได้ พอกฎหมายเข้ามาจำกัดเเละอำนาจทางการเมืองมีเเนวโน้มไม่อยากให้ชุมนุม มันก็ตีบตันเลย เพราะในทางกายภาพมันไม่ได้ สถานที่ก็ไม่ได้ พอชุมนุมไม่ได้ เราก็ไม่รู้ว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาอะไรบ้าง อะไรที่มันดำเนินไปอย่างถูกต้อง อะไรที่ประชาชนพอใจ ไม่พอใจ เราไม่เห็นกันเลย ทุกคนก็เลยอยู่กันแบบว่า รัฐบาลจะทำอะไรก็ทำ คือการชุมนุมมันเป็นเรื่องปกติทั้งทางกายภาพเเละในทางกฎหมาย เเต่ด้วยสภาพของเรามันไม่เป็นใจให้เขาไง
การที่เราขาดพื้นที่ชุมนุม เท่ากับว่าเราขาดพื้นที่เเสดงออกทางการเมืองหรือเปล่า
ใช่ครับ ผมคิดว่ามันอึดอัดมากนะ คือในภาพจำของผมสมัยหนุ่มๆ พื้นที่ชุมนุมอันดับหนึ่งเลย คือ สนามหลวง ถ้ามีการชุมนุมใหญ่อะไรต้องนัดสนามหลวงไว้ก่อน รองลงมาจากสนามหลวงก็ถนนราชดำเนิน ที่ต้องเป็นถนนเส้นนั้นเนื่องจากว่าหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตร หรือทำเนียบรัฐบาลก็อยู่ตรงนั้น
ผมคิดว่าสังคมไทยเราโตมากับพื้นที่ทางการเมืองเเบบนั้น มันกลายเป็นภาพในประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ พฤษภาทมิฬด้วยว่าคุณต้องมาที่นี่ ปิดถนนนี้ เดินเต็มถนนนี้ แล้วมันจะเกิดพลัง เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่เดินทางไม่สะดวก ไม่มีรถไฟฟ้า รถเมล์ก็พอมี เเต่ว่าพอปิดพื้นที่จริงๆ มันก็ลำบากอยู่พอสมควร และกระทบการจราจรของคนอื่น ยิ่งถ้าปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็จะลำบากเลย
ส่วนสนามหลวงที่เคยใช้ได้ ตอนนี้ก็ใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งมันเป็นช่วงรอยต่อของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ที่ออกมาตอนยุคคสช. ตอนนั้นการชุมนุมเกิดขึ้นได้ยากอยู่เเล้วจากการใช้อำนาจรัฐต่างๆ แต่พอ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ออกมาว่าห้ามมีการชุมนุม 150 เมตรจากสถานที่สำคัญต่างๆ และห้ามชุมนุมในเขตพระราชฐานเลย
ในจังหวะที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ออกมาใหม่ๆ คนก็ใช้ไม่ค่อยเป็น เพราะแถวนั้นถือว่าให้เป็นเขตพระราชฐานทั้งหมด เและก็โดนห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ห้ามด้วยเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมาย จนตำรวจประกาศว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเขตพระราชฐานทั้งหมดตั้งเเต่สนามหลวงถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนินทั้งหมดใช้ไม่ได้เลย รวมถึงอะไรที่ใกล้เคียงเเถวๆ นั้น เช่น เเถวกองบัญชาการกองทัพบก เเถวหอประชุมกองทัพบก ถนนสุโขทัย ถนนราชสีมา ถนนหน้าครุรุสภา ซึ่งล้วนเเต่มีประวัติทางการชุมนุมก็ไม่สามารถใช้ได้เลย
ตอนนี้ที่ใช้ได้คือเเถวหน้า กพ.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เเต่เเถวนั้นผมไม่เเน่ใจว่าเป็นเขตพระราชฐานหรือเปล่า เเต่ว่าพื้นที่ตรงนั้นพอจะเป็นพื้นที่ต่อรองได้ ถ้าใครมาประท้วงเขาจะดันให้เข้าตึก กพ.ให้หมด นี่คือสิ่งที่ตำรวจทำ บรรดาคนทำกิจกรรมทางสังคมเองก็ต้องเริ่มปรับตัวในการหาที่ใหม่ เเต่ว่าพูดตามความจริงเลย ที่ใหม่มันไม่มี ยกเว้นคุณจะปิดถนน หรือใช้ลานเซ็นทรัลเวิร์ด ซึ่งก็เป็นของเอกชนอีก คุณต้องขออนุญาตเขา และเขาก็คงไม่อนุญาต
ดังนั้นตอนนี้ภาพรวมการชุมนุมของบ้านเราก็คือ การชุมนุมในที่สาธารณะที่ต้องไปเเจ้งตำรวจก่อน เเล้วตำรวจก็จะบอกว่าที่ตรงนั้นได้หรือไม่ได้ ถ้าตรงนั้นเป็นเขตพระราชฐาน ตรงนั้นก็จะใช้ไม่ได้ ถ้าตรงนั้นห่างจากหน่วยงานราชการสำคัญ 150 เมตรขึ้นไป ต้องไม่กีดขวางการจราจร ต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก ต้องรวมกันได้ 200-300 คน หน้าหอศิลป์ฯ จริงๆ ก็ไม่ได้ ซึ่งยังเถียงกันอยู่ว่าห่างจากวังสระปทุมถึง 150 เมตรไหม และในทางกฎหมายมันก็คือพื้นที่ของเอกชน
ส่วนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ต้องขึ้นไปยืนตรงกลางถึงเป็นจะที่สาธารณะ (หัวเราะ) ถ้าไปยืน Sky walk มันก็เป็นที่ของ BTS ถ้าคุณจะเข้าไปในสวนสาธารณะคุณก็ต้องได้รับอนุญาตจากสวนนั้น ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยก็ต้องได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย ใช้สถานที่ราชการที่ไหนก็ต้องได้รับการอนุญาตจากที่นั่น สรุปก็คือมันไม่มีเลย ไม่เหลือเเม้เเต่ที่เดียวที่คนจะรวมตัวกันได้สัก 100-200 คน ในที่สาธารณะ ในที่ที่คนเห็น เเล้วคุณเดินออกไปเเล้วยืนถือป้ายอะไรสักอย่างโดยไม่ผิดกฎหมาย
พื้นที่ชุมนุมเป็นเรื่องที่ประชาชนพยายามเรียกร้องจากรัฐมาตลอด คุณคิดว่าเพราะอะไรรัฐจึงไม่จัดสรรให้
เพราะเขาตั้งใจ การที่คนชุมนุมไม่ได้ นี่เป็นเป้าหมายของเขาเลย ซึ่งเขาพยายามเรื่องนี้อย่างหนักมาตั้งแต่ยุค คสช. เเม้กระทั่งชาวบ้านไปชุมนุมเรื่องพื้นที่ทำกินถูกบุกรุก รัฐบาลก็ยอมยกให้เลย เพียงขอให้ประชาชนที่ออกมาชุมนุมนั้นกลับบ้านไป เเต่ในเเง่หนึ่งการเรียกร้องมันก็ได้รับผลตอบรับ เเต่ได้รับผลตอบรับในเเบบที่น่าประหลาดใจ เพราะรัฐมนตรียอมลงมานั่งคุยกับคุณที่ถนน เพื่อทำยังไงก็ได้ให้คุณกลับบ้าน ดังนั้นเขาตั้งใจที่จะไม่สร้างอยู่เเล้ว ถ้าจะรอให้หน่วยงานรัฐสร้างจึงเป็นอะไรที่ยากมาก ไม่มีทางเป็นไปได้ ยกเว้นเปลี่ยนรัฐบาล หรือเปลี่ยนเเนวความคิดของคนมีอำนาจ
แต่ผมอยากท้าทายเอกชนมากกว่า คุณทำคอมมูนิตี้มอลล์มีลานข้างหน้า แล้วคุณอยากจัดกิจกรรมหารายได้อะไรก็ว่ากันไป เเต่วันหนึ่งไม่มีกิจกรรมอะไร ถ้าคนอยากรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องอะไรสักอย่าง คุณอนุญาตให้เขามาใช้ลานตรงนั้นได้ มันก็จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรด้วย และสภาพของกิจกรรมที่มันร้อน มันเหนื่อย เขาอยู่กันไม่นานหรอก อาจจะมีการระบุเรื่องใช้พื้นที่เป็นรายกรณีไป แต่คนที่มาชุมนุมเขาต้องกินข้าว ต้องเข้าห้องน้ำในพื้นที่ของคุณ ซึ่งก็กลับไปเป็นรายได้ให้คุณอีกทาง
ผมคิดว่าถ้าเอกชนกล้าให้ทำเเบบนี้ อาจจะโดนตำตวจไปหาก่อน เเต่ในทางกฎหมายมันทำอะไรไม่ได้อยู่เเล้ว คุณก็จะได้ลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ถ้าจะมีการเรียกร้องอะไรคนก็จะมารวมตัวที่นี่ ซึ่งมันจะทำให้บ้านเมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น คืออย่าไปคิดว่าจะต้องมีการเมืองตลอด จะต้องมาชู 3 นิ้วไล่รัฐบาลอะไรแบบนั้น มันไม่ใช่ อาจจะมีบ้าง เเต่ไม่ใช่ว่าจะมีบ่อย เเล้วเเต่ว่าช่วงนั้นคนสนใจประเด็นไหนมากกว่า
ทุกวันนี้เรามีพื้นออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่สร้างแรงขับเคลื่อนในสังคมได้ระดับหนึ่ง แต่อยากทราบว่าทำไมพื้นที่การชุมนุมยังมีความจำเป็นที่ทุกคนจะต้องเรียกร้องให้ได้มา
ผมคงไม่ได้บอกว่าอะไรสำคัญกว่ากัน เพราะวันหนึ่งที่อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้มันก็คงเดือดร้อนพอๆ กัน เเต่ว่าเรามีพื้นที่หลายเเบบ แม้เราจะสามารถดู Live หรือคุยกันผ่าน Video conference ได้ แต่การออกมาเจอกันมันก็มีความหมายมากกว่า เราก็มีโอกาสที่จะเรียนรู้อะไรมากขึ้น มีโอกาสได้เจอคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วที่ต้องการสังคม
ส่วนในแง่การตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ถ้าคนออกมาชุมนุมกันมันวัดผลได้ชัด ถ้าเป็นในออนไลน์เราวัดไม่ได้ เราไม่รู้ว่าเป็น IO หรือเปล่า ซื้อโฆษณามาไหม พื้นที่สาธารณะจึงยังมีความสำคัญอยู่ และสังคมมันจะเดินไปข้างหน้าไปในเเบบที่เกิดความเข้าใจซึ่งกันเเละกันไม่ได้ ถ้าหากคนไม่สามารถทำกิจกรรมเพื่อเเสดงออกได้ ใช่ มันสามารถเดินหน้าไปได้ เเต่เป็นไปเเบบอึดอัด ก็คือผู้มีอำนาจก็พูดไป คนในออนไลน์ด่าก็มี ชมก็มี ถ้าเกิดว่าเรารู้เเน่ชัดว่าใครเป็นยังไง ข้อเสนอเป็นยังไง ใครบ้างที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยมันวัดผลได้มากกว่า
อย่างน้อยต้องปรากฎตัวออกมาให้เขาเห็นก่อน ถ้าปรากฎตัวออกมาเเล้วอำนาจการตัดสินใจก็อยู่ในมือรัฐนั่นเเหละ แต่ถ้าไม่ปรากฎตัวออกมา มันก็จะเดินหน้าไปแบบอึดอัด ไม่ชัดเจนว่าคนที่คัดค้านนี่เป็นใคร หน้าตายังไง เเล้วสิ่งที่เขาคัดค้านนี้มีเหตุผลไหม ซึ่งเหล่านี้มันไม่เกิดความเข้าใจซึ่งกันเเละกันเลย
เคยมีการประเมินทางการเมืองมาเเล้วว่า ถึงประเทศจะเดินไปได้ เเต่วันหนึ่งเราก็ต้องเกลียดกัน สังคมก็ต้องเเตกออกจากกัน ในตอนนี้มันก็แตกแล้วแหละ เพราะเราโดนกดมาเรื่อยๆ เเต่ดันมาโดนไวรัสซะก่อน ก็เลยเดาไม่ได้ว่าการเเตกมันจะเเตกเเบบไหน ผมก็กลัวอีกเหมือนกันว่าหลังไวรัสอาจจะหนักกว่าเดิม คือไวรัสมันทำให้คนเกลียดรัฐบาลมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เริ่มคลี่คลายว่าจะสู้รัฐบาลในทิศทางไหน พอไวรัสมาทุกอย่างหยุด มันก็เลยอึดอัด แต่ความเกลียดรัฐบาลไม่เคยลดลง การชุมนุมหรือไม่ชุมนุมมันไม่ได้ทำให้ความเกลียดลดลงเลย เพราะฉะนั้นวันหนึ่งที่ไวรัสจบ การเคลื่อนไหวจะออกมาเป็นอย่างไรนี่น่าสนใจ
ถ้าหากว่าเราต้องการชุมนุมประท้วงโดยอยู่บนพื้นฐานของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มีอะไรที่เราต้องพึงระวังมากเป็นพิเศษ
โดยกฎหมายถ้าอ่านตามตัวอักษร และมีการใช้ให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ ผมคิดว่ามันก็พออยู่ด้วยกันได้นะ เพราะกฎหมายก็มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม โดยมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูเเลให้สามารถชุมนุมได้ เเละถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ให้ชุมนุมคุณก็ต้องมีขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติให้เป็นระบบระเบียบ ซึ่งถ้าเราอยู่ในรัฐที่ปกติ อำนาจรัฐถูกใช้อย่างปกติ ผมว่าเราสามารถอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ได้ เเต่ว่า พ.ร.บ. ก็มีข้อเสียในรายละเอียดก็ต้องปรับแก้เหมือนกัน เนื่องจากอำนาจรัฐมันไม่ปกติ คือเเนวทางของอำนาจรัฐห้ามการทำกิจกรรม ห้ามการเเสดงออก ทำให้ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ถูกตีความเอามาใช้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ เช่น ถ้าเราจะรวมตัวกันที่บ้าน แล้วเดินไปยื่นหนังสือที่หน่วยงานรัฐเเห่งหนึ่งระยะทาง 1 กิโลเมตร นี่คือไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะห้าม เพราะตลอดเส้นทางเป็นถนนปกติ เเต่ว่าถ้าตำรวจเห็น เขาก็จะเริ่มจากวิธีกดดันทางอ้อมก่อน คือเขาจะไม่ดูกฎหมาย เพราะถ้าดูกฎหมายเขาเเพ้เเน่ๆ เขาก็จะเริ่มจากโทรมาเจรจาว่าไม่เดินได้ไหม บ้านไหนใช้รวมตัว ก็จะมีการพูดอ้อมๆ ในลักษณะที่ว่าถ้ามีการชุมนุมอาจจะผิดกฎหมายได้นะ
ถ้ายื่นหนังสือไปเเจ้งเรื่องการชุมนุม ถ้าเขาไม่อนุญาตให้มีการจัดการชุมนุมเขาก็จะส่งคนมา ส่งตำรวจมากดดันหลายวิธี เช่น มาเฝ้าหน้าบ้าน มาหาพ่อเเม่ ถ้าเป็นนักศึกษาก็ไปเฝ้าที่มหาลัย ถ้าเป็นคนทำงานก็ไปที่ทำงาน อะไรเเบบนี้มันคือการกดดันทางอ้อม ที่ทำให้คนไม่อยากไปชุมนุม เเล้วคนก็จะถอยไป เพราะการยื่นเเจ้งเป็นการบังคับให้คุณต้องเปิดหน้าว่าคุณเป็นใคร เเล้วคนนั้นเเหละที่จะโดนเเรงกดดันวิ่งเข้าไปหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าคนที่ไม่เคยอ่านกฎหมายก็อาจจะมีความกลัวเกิดขึ้น และสุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะไม่เดิน แต่ถ้าเราไม่ยอมเขาก็จะส่งคนที่ดุกว่าลงมาเจรจา มาข่มขู่ คนที่จิตไม่เเข็งพอก็จะเเพ้ไปในกระบวนการนี้ เเต่ในตัวบทกฎหมายเราไม่ได้ทำอะไรผิดเลยนะ เขาหาข้อผิดให้เราไม่ได้เลย
ในการชุมนุมที่ Sky walk เเกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ โดนแจ้งข้อหาฐานกระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และข้อหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร
เขาก็ผิด พ.ร.บ. การชุมนุมฯ จริง เพราะเขาไม่ได้เเจ้งไว้ก่อน แต่เขารู้ว่าถ้าแจ้งยังไงก็ไม่ได้รับอนุญาต ประเด็นก็คือตำรวจดันไปเพิ่มข้อหาอื่นๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งก็เป็นการเอากฎหมายโบราณมาใช้ การชุมนุมขับไล่รัฐบาลมันไม่ผิด ม.116 ซึ่งการขับไล่รัฐบาลก็เป็นเสรีภาพในการชุมนุมเหมือนกัน จะเป็น ม.116 ได้ก็ต่อเมื่อคุณยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนละเมิดกฎหมายเเผ่นดินในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ยุยงบอกว่าให้ทุกคนออกมาที่ถนน ให้ทุกคนไปที่สภาวันนี้ หรือปิดสถานที่ คือเรียกว่าเเทบจะปฏิวัติเลย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ม.116 จะใช้เมื่อปฎิวัติเเต่มันไม่สำเร็จอะไรเเบบนั้น เเต่ที่ชุมนุมกันมันไม่ผิด อาจจะเห็นได้ชัดว่ามีการนำกฎหมายมาใช้ในทางที่ผิดเพื่อทำให้เราเกิดความกลัว เเต่ว่าเอาจริงๆ แล้วก็ไม่ได้นำไปสู่การลงโทษอะไร มันก็เเค่นำไปสู่การใช้กฎหมายที่เป็นภาระเเบบที่ต้องขึ้นศาลไปยื่นประกันตัวอะไรในลักษณะนั้น
หมายความว่าตัว พ.ร.บ. การชุมนุมฯ ไม่ได้มีข้อบกพร่องหรือข้อจำกัดในการแสดงออกทางการเมืองเเต่ขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่รัฐ
ด้วยหลักเเล้วมันก็เป็นเเบบนั้น เเต่ข้อยิบย่อยมันก็ค่อนข้างเยอะ เช่น ห้ามผู้ชุมนุมปิดบังใบหน้า เเล้วถ้าเราจะใส่หน้ากากกัน COVID-19 ได้ไหม อันนี้ก็เรื่องหนึ่ง และถ้าผู้ชุมนุมถืออาวุธเข้ามา ผู้จัดงานชุมนุมมีความผิดเลย เเต่ถามว่าผู้จัดจะสามารถไปตรวจทุกคนได้ไหม ตรงนี้มันก็ค่อนข้างลำบาก อีกเรื่องก็คือถ้าตำรวจจะสั่งสลายการชุมนุมให้ไปศาลเเพ่ง ไม่ใช่ไปศาลปกครองทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องการใช้อำนาจทางปกครองชัดเจน เเต่บอกว่าไม่ให้ไปศาลปกครองที่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ในทางกฎหมายมันมีปัญหาอยู่เยอะพอสมควร เเต่ว่าโดยหลักการมันต้องจัดได้ เเต่ที่เห็นจัดไม่ได้เพราะเรื่องข้างหลังหมดเลย ซึ่งบางทีถ้าเราเเค่ติดตามการเมืองห่างๆ เราจะไม่เห็น เราจะเข้าใจว่าบ้านเมืองไม่มีการชุมนุม คือสงบ รัฐบาลควบคุมได้ดี เเต่ความเป็นจริงเเล้วมันไม่ใช่
หากเราดำเนินการตาม พ.ร.บ. การชุมนุมฯ ทุกอย่าง แต่เจ้าหน้าที่รัฐอาจจะไม่ได้ทำงานเป็นธรรม กรณีนี้เราจะสามารถต่อสู้กับพวกเขาได้อย่างไรบ้าง
สิ่งที่เราเรียนรู้กันก็คือ กดดันให้ตำรวจออกมาเป็นเอกสาร ถ้าเขาโทรมาก็ไม่ต้องรับ ให้ตอบกันเป็นเอกสารเท่านั้น เพรา ตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ ตำรวจจะต้องทำหนังสือสรุปสาระสำคัญตอบกลับมาภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งเเต่เราเเจ้งจะทำการชุมนุม ถ้าคิดว่าขัดกับกฎหมายเขาต้องเเจ้งมาเป็นหนังสือ ซึ่งบางครั้งถ้าเขาไม่อยากให้ชุมนุมจริงๆ เขาก็จะยกเรื่องอื่นมา เช่น การใช้เครื่องขยายเสียงต้องได้รับการอนุญาต หรือเดินเส้นทางนี้จะกีดขวางการเข้าออกประตู หรือผ่านโรงเรียน เขาก็จะหาข้ออ้างมา
บางครั้งเวลาอ่านหนังสือบางฉบับเราก็รู้ว่าเขาพยายามจะหาเหตุผลที่จะไม่ให้เราชุมนุม ซึ่งมันหาไม่ได้หรอก แต่ก็จะมีคนจิตอ่อนที่พอได้รับหนังสือตอบกลับว่าไม่ให้มีการชุมนุมด้วยเหตุผลนั่นนี่ก็โอเค ไม่ชุมนุมก็ได้ ถ้าเรายอมถอยเเบบนี้ เราก็ชุมนุมไม่ได้ วิธีการที่เราจะชุมนุมได้ก็คือ เราต้องยืนบนเอกสาร ภาษาอังกฤษก็คือเราต้องเป็นนักกฎหมายแบบ ‘Black letter’ ด้วยการอยู่กับตัวอักษร เปิด พ.ร.บ.เลยว่ามันขัดไม่ขัด เราก็ทำเอกสารยืนยันไปว่ามันไม่ขัด ซึ่งผมทำแบบนี้มาหลายรอบเเล้วเหมือนกัน พอทำเสร็จเเล้วสุดท้ายเขาก็ไปไม่เป็น เพราะโดยกฎหมายเราไม่ผิด เราสามารถทำได้ เเต่โดยวิธีกดดันด้วยการมาเถียง ด้วยการมาคุยอ้อมๆ มาคุยตรงๆ มันจะเหนื่อยมาก เนื่องจากรัฐไม่ปกติ พอรัฐไม่ปกติขั้นตอนต่างๆ ตาม พ.ร.บ. การชุมนุมฯ มันก็ยากไปหมด เเต่ถ้ารัฐปกติก็ไม่เป็นอะไร
ถึงเวลาที่เราอยากจัดอะไรเราก็คิดให้ดี คิดให้ถี่ถ้วนว่าจะมีการรวมตัวกันที่ไหน เส้นทางที่จะเดินจากเส้นไปไหน คนที่มารวมตัวกันมีกี่คน นัดเวลาการชุมนุมเท่าไหร่ เลิกกี่โมง เเล้วก็ไปที่สน.ใกล้บ้านว่าจะทำการชุมนุมในท้องที่นะ เเค่นั้นเอง ตำรวจก็จะมีหน้าที่มาอำนวยความสะดวก เขาก็จะได้มากั้นรถ กั้นการจราจรให้เรา ซึ่งมันเป็นเหมือนภาพฝันนะ (หัวเราะ) ในแทบทุกครั้งที่เราออกชุมนุมระดับการเจรจาข้างหลังนี่วุ่นวายมาก เหนื่อย เเล้วก็ซับซ้อนอ้างหยิบใช้กฎหมายในทางที่ผิดปนกันไปหมด เเต่พอสุดท้ายที่ต่อรองถึงวันงานจริงๆ ก็มีมอเตอร์ไซค์ 2-3 คน ในเครื่องเเบบมาดูเเลให้ เเต่กว่าจะถึงวันนั้นได้เนี่ย มันยากมาก ยากตลอดเลยด้วย
คุณคิดอย่างไรกับแฟลชม็อบของนักศึกษามหาวิทยาลัยช่วงที่ผ่านมา ใน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มหาวิทยาลัยถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถทำการชุมนุมได้ เเต่ก็มีบุคลากรออกมาเตือนว่าผิดกฎมหาลัย และจะมีบทลงโทษแก่นักศึกษา สรุปแล้วมหาวิทยาลัยยังเป็นพื้นที่ที่สามารถชุมนุมได้หรือไม่
ผมมองว่าคำเตือนของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคำขู่เฉยๆ ในทางกฎหมายมันผิดไม่ได้อยู่เเล้ว เพราะเมื่อไม่ได้อยู่ใต้ พ.ร.บ. การชุมนุมฯ ก็ไม่ผิดอะไร เว้นเเต่ว่าถ้ามันมีกฎระเบียบมหาลัยอะไรก็เเล้วเเต่ที่เขียนระบุเอาไว้ ซึ่งผมเข้าใจว่ามันไม่มี ถ้ามีกฎระเบียบมหาลัยที่เขียนไว้ว่าห้ามชุมนุมในมหาวิทยาลัยก็เป็นกฎที่ขัดต่อหลักทั่วไป ขัดต่อทั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ขัดต่อทั้งเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่นี้เท่าที่ผมทราบก็คือ เขาอ้างกฎมหาลัยที่ว่าห้ามทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง ได้รับความเสียหาย ห้ามเอาชื่อมหาวิทยาลัยไปใช้โดยไม่อนุญาต ซึ่งก็ต้องไปตีความกัน และก็ขึ้นอยู่กับนักศึกษาว่ามีจิตใจเข้มเเข็งเเค่ไหน
ส่วนตัวผมคิดว่าช่วงสัปดาห์เเรกที่เริ่มมีการออกมาชุมนุมกัน ทางผู้ใหญ่เขายังตั้งตัวไม่ทัน พอเขาตั้งตัวไม่ทันเขาก็เลยปล่อยให้จัดไปก่อน เเต่ว่าพอเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งที่เขาตั้งตัวได้ ผมก็ไม่เเน่ใจว่าจะเป็นบุคคลกลุ่มไหนอาจจะเป็นกระทรวงที่ไปทำการกดดันสถาบันการศึกษาอีกทีว่าให้มีมาตรการต่างๆ เข้ามาควบคุม อาจมีการไปเยี่ยมบ้านนักศึกษา มีการจดชื่อ ซึ่งในลักษณะนี้มันเป็นการพฤติกรรมการข่มขู่ทางอ้อม เเต่ถ้านักศึกษาที่เขาจัดกิจกรรมบ่อยๆ เขาจะรู้วิธี เขาจะรู้ว่าต้องทำยังไง และที่น่าสนใจก็คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นของกลุ่มใหม่ๆ เช่น มหาวิทยาราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กลุ่มเหล่านี้ไม่เคยเห็นมาก่อน พอเขาถูกกดดันเขาก็ตื่นกลัว ทำตัวไม่ถูกเล้ว ผมก็อยากรู้เหมือนว่าถ้าเขาถูกกดดันเเล้ว สุดท้ายจะยังมีการออกมาจัดกิจกรรมต่อไหม เเต่ว่าประเทศเราดันเผชิญกับช่วง COVID-19 เสียก่อน กระแสที่เหมือนจะจุดติดก็เลยหายไป ไม่งั้นเราก็คงจะได้เห็นอะไรหลายอย่าง
ผมคิดว่าอะไรเหล่านี้น่าสนใจตรงที่ว่าสังคมจะโต้กลับอย่างไร และจะปกป้องเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นของนักศึกษาอย่างไร ซึ่งผมคิดว่ามหาวิทยาลัยอาจจะถอย เขาจะไม่กล้าเล่นบทอะไรที่มันเเข็งกร้าวมากนัก เพราะกลัวกระเเสสังคม
ถ้าหากจะจัดกิจกรรมชุมนุมประท้วง นอกจากดำเนินการตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ไปตรงๆ เรายังสามารถเลี่ยงด้วยการจัดกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่เข้าข่ายการชุมนุมเหมือนกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุงได้ด้วยใช่ไหม
กิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นก็เป็นงานทางศาสนา งานมหรสพ งานรื่นเริง งานดนตรี เเล้วก็กิจกรรมในมหาวิทยาลัยทั้งหลาย งานของหน่วยงานรัฐ และงานพระราชพิธี พวกนี้ไม่นับว่าเป็นการชุมนุม แต่ด้วยความที่ผมเป็นนักรณรงค์จึงไม่คิดเรื่องเลี่ยงเลย ถ้าจะชุมนุมก็บอกชัดๆ ไปเลยว่าจะชุมนุม นี่การเรียกร้องทางการเมือง กฎหมายไม่ได้ห้าม พ.ร.บ. การชุมนุมฯ ก็ไม่มีข้อไหนที่ห้ามเลยว่าไม่ให้มีการชุมนุม อย่างกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่เลี่ยงไปใช้ว่าเป็นการจัดกิจกรรมทางกีฬาแทน ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยนะ เพราะถ้าเป็นกิจกรรมทางกีฬามันก็ต้องห้ามปราศรัย ห้ามชูป้าย ก็เลยค่อนข้างที่จะอึดอัด ซึ่งก็เหมือนเป็นช่องให้ตำรวจตั้งเงื่อนไขขึ้นมาด้วยว่าห้ามชูป้าย ห้ามกล่าวถึงประยุทธ์ ห้ามใส่เสื้อที่มีข้อความ เเต่ถ้าเป็นการชุมนุมคุณสามารถทำได้ ป้ายก็ชูได้ เสื้อก็ใส่ได้ เพราะการชุมนุมเป็นเสรีภาพ และถ้าเราชนไปตรงๆ ได้มันก็จะผ่านไปได้ แต่เนื่องจากรัฐเราไม่ปกติ คุณต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ. การชุมนุมฯ ศึกษาตัวอย่างการปฏิบัติที่ผ่านๆ มาว่าที่ทำได้เพราะอะไร ที่ถอยเพราะอะไร ถ้าเขาขู่เราในระดับต่อไปมันจะจริงเเค่ไหน อะไรพวกนี้ที่ต้องศึกษาให้หมด หรือจะไปปรึกษากับทนายก็ได้
คนชอบพูดกันว่า ‘คนไทยอดทนเกินไปเลยไม่ลงถนนเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง’ คิดว่าประโยคนี้จริงไหม
ก็จริงนิดหน่อย (หัวเราะ) เเต่ที่อดทนเพราะเราถูกบังคับให้อดทน ถูกทำให้รู้สึกว่าการชุมนุมเป็นเรื่องยาก เพราะบางคนเขาก็กลัวดำเนินคดี เพราะฉะนั้นก็เลยต้องอดทนไปก่อน อีกอย่างเราโดนสร้างภาพจำมาด้วยว่าการชุมนุมมันน่ากลัว มันวุ่นวาย ทำให้เศรษฐกิจพัง ซึ่งอะไรพวกนี้ถูกสร้างขึ้นมาให้คนไม่ชอบการชุมนุม แต่ถ้าการชุมนุมถูกทำให้รู้สึกปลอดภัย อยากชุมนุมก็ชุมนุมไป อยากออกเเบบอะไรก็ออกเเบบได้เลย คนที่เขามีความคิดสร้างสรรค์ก็เอาไอเดียต่างๆ มาลง และถ้าการชุมนุมไม่เกิดการดำเนินคดีเลยสักครั้ง แต่ตำรวจก็เข้ามาดูเเลความเรียบร้อยให้ สุดท้ายพอคุณทำกิจกรรมได้ดี ออกมาเรียบร้อยรัฐมันก็จะรับเอาข้องเรียกร้องของคุณไปปฏิบัติ หรืออย่าน้อยคือเอาไปพิจารณา ถ้ามีอะไรเเบบนี้คนก็คงจัดอะไรขึ้นมาบ่อยๆ เขาก็คงพยายามที่จะเรียนรู้เเล้วก็พยายามที่จะจัด เเต่พอบรรยากาศมันเป็นไปในทางตรงกันข้าม คนก็พยายามที่จะไม่จัด เเล้วรัฐไทยที่ผ่านมาก็สอนให้เราเลือกใช้วิธีอื่นก่อนการชุมนุม เช่น ไปคุยข้างหลัง ไปยื่นหนังสือขอพบรัฐมนตรีหน่อยเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ