07/08/2020
Life

“การศึกษาต้องช่วยยกระดับเมือง” พูดคุยกับ ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ว่าด้วยการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ และแนวคิดการศึกษาละแวกย่าน

นาริฐา โภไคยอนันต์
 


โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเมืองของผู้คนอย่างพร้อมหน้าในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเดินทาง การจับจ่าย ฯลฯ ดังที่หลายคนกำลังปรับตัวสภาวะดังกล่าวอยู่เสมอ นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค หากประเด็นที่สำคัญไม่แพ้เรื่องใด เหตุเพราะเกี่ยวข้องกับประชากรเมืองนับพันล้านคนทั่วโลกคือเรื่อง การศึกษา

ข้อมูลจาก UNESCO ระบุว่า ในช่วงการระบาดอย่างรุนแรงประมาณเดือนเมษายน 2563 มีผู้เรียนในระดับอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษาเกือบ 1,300 ล้านคน จากเกือบ 186 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็นผู้เรียนกว่า 73.8 % ได้รับผลกระทบจากการปิดการเรียนการสอนในระบบ เฉพาะในประเทศไทยเองมีนักเรียนได้รับผลกระทบกว่า 15 ล้านคน โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นนักเรียนมัธยมและนักเรียนประถม ตามลำดับ

นักเรียนประถมและมัธยมถือเป็นผู้เรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับ ที่ต้องปรับรูปแบบการเรียนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรียกได้ว่าเป็น “หนู” ในกระบวนการทดลองอันแสนท้าทาย ด้วยการเรียนออนไลน์และเคเบิลทีวี สลับกับการเข้าเรียนในห้องโดยผลัดกันเป็นกลุ่ม ไม่หยุดวันเสาร์ งดกิจกรรมทางกายที่ต้องปฏิบัติในระยะประชิด ฯลฯ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับตัวดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาในหลายพื้นที่ ดังที่ปรากฏในข่าวแม้จะเปิดเทอมมาแล้วหลายสัปดาห์ 

The Urbanis พูดคุยกับ ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง แลกเปลี่ยนมุมมองด้านการศึกษา เมือง และการจัดการในภาวะวิกฤติ

การศึกษากับเมืองว่าสัมพันธ์กันอย่างไร

ในเบื้องต้น อยากให้มองว่า “เมือง” เป็นสภาพแวดล้อมชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรม และเป็นสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมอื่นเยอะมาก ส่วนการศึกษาเป็นกิจกรรมชุดหนึ่งของมนุษย์เพื่อที่จะเรียนรู้และเพื่อที่จะมีชีวิต ในฐานะมนุษย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิต 

มิติแรก ถ้าพูดเรื่องเมือง (กับการศึกษา) “เมืองแบบไหนสอนคนให้เป็นแบบนั้น” สมมติเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำ เมืองที่ไม่สามารถจัดการให้มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้ทั่วถึงเพียงพอได้ เมืองแบบนั้นก็ทำให้คนเรียนรู้ที่จะเอาเปรียบกันทุกวัน ดังนั้น การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียน แต่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และเมืองมีบทบาทที่จะสอนคนให้เป็นคนแบบไหน เหมือนโรงเรียนที่สอนคนในสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา แต่ในความจริงแล้วเราอยู่ในสถานศึกษาอย่างมากในหนึ่งวันคือ 8 ชั่วโมง แต่เราอยู่ในเมืองมากกว่า

เมืองที่ไม่มีต้นไม้มีแต่ความแห้งแล้ง เมืองที่สอนว่าถ้าจะพัฒนาอะไรสักอย่างเราจะเทคอนกรีตไปก่อน ทำให้เราคิดเอาตัวรอดแบบไหน อันนี้คือในมิติแรก ส่วนมิติสองคือเมืองเป็นระบบที่จัดการการศึกษาให้กับคน การตั้งโรงเรียน สถาบันการศึกษา รวมถึงสถาบันการเรียนรู้อื่นๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ เมืองจึงมีหน้าที่ให้การศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบให้กับพลเมือง

กรุงเทพฯ สามารถตอบโจทย์ทางการศึกษาให้กับคนหรือยัง

การศึกษาในประเทศไทยแบ่งเป็นการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ ซึ่งมีรัฐบาล 2 ระดับ คือ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นคอยจัดการการศึกษา โดยทั่วไปจะพยายามจัดการศึกษาในระบบและพัฒนาหลักสูตรให้ดีที่สุด โดยมีหน่วยงานของรัฐดูแลมาตรฐานให้เท่าเทียมกัน นั่นก็คือ การศึกษาขั้นพื้นฐานที่บังคับตามอายุ เช่น ประถมและมัธยมต้น เพราะรัฐมีหน้าที่ให้การศึกษา และรัฐเองสามารถเจริญเติบโตได้ เพราะมีพลเมืองที่มีความรู้โดยพื้นฐานตามมาตรฐานของรัฐบาลกลางและเกิดข้อถกเถียงว่าการศึกษาในแต่ละพื้นที่ไม่หมือนกัน

เพราะฉะนั้น จะมีการศึกษาในระบบส่วนหนึ่งกระจายตัวให้ท้องถิ่นจัดการ โดยมีรัฐบาลกลางเป็นคนดูแลอีกขั้น ขณะที่โรงเรียนบางระบบจะถูกดูแลโดยท้องถิ่นเอง เพราะมีความใกล้ชิด และมีสิ่งพื้นฐานที่คนในท้องถิ่นควรรู้ ท้องถิ่นควรเป็นคนตั้งพื้นฐาน(ความรู้) เมืองต่างๆ ก็จะดูแล

เมื่อการศึกษาเริ่มไม่ตอบรับกับการมีชีวิตอยู่ในเมือง ในระบบเศรษฐกิจ สังคม จึงเริ่มเกิดความต้องการองค์ความรู้อีกชุดหนึ่งขึ้นมา ตัวอย่างเช่น การทำงานนอกระบบต่างๆ ที่ไม่ได้เรียนรู้ในห้องเรียน การเรียนรู้บางอย่างจึงเริ่มกลับเข้ามาในระบบ เช่น การนวดแผนไทยที่เมื่อก่อนต้องไปเรียนที่วัด แต่ภายหลังก็เริ่มมีเป็นสถาบัน ที่ผมยกตัวอย่างเรื่องนี้เพราะว่ามีการศึกษานอกระบบที่จำเป็นใช้กับวิชาชีพอีกมาก ซึ่งคนต้องใช้ในการประกอบอาชีพ ตอนนี้หากให้รัฐทั้งหมดมานั่งดู ต่อให้กระจายไปยังท้องถิ่นก็ยังอาจจะทำไม่ได้ หรือทำได้ช้า เพราะต้องการระบบการดูแลการศึกษากลุ่มนี้ ด้วยคนที่ต้องใช้องค์ความรู้เรื่องนี้เอง

ที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการศึกษาหรือ Education ของประชากรผ่านการเล่าเรียนหรือ Studying ที่มักจะผูกโยงกับระบบหรือสถาบัน แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนรู้ หรือ Learning  ที่อาจจะเกิดจากสภาพแวดล้้อมและวิถีชีวิตของผูู้เรียนเอง ซึ่งเมืองเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญ ความแก่งแย่งเบียดเสียดของกรุงเทพฯบางทีสอนให้คนเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดมากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนเสียอีก วิชาชีวิตมันอยู่กับเมือง แต่มันน่าคิดว่าหากเป็นเช่นนี้ คนที่ผ่านชีวิตคนกรุงไปจะเป็นคนเช่นไรเหมือนกัน 

พบว่าการเรียนออนไลน์มีความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ?

ผมคิดว่าภาพรวมของทั้งโลก ด้วยมาตรการปิดเมือง หรือ งดการติดเชื้อ การระบาด ก็มีการปิดพื้นที่สาธารณะ ในหลายๆ ส่วน โรงเรียนก็เป็นพื้นที่สาธารณะ ในบางประเทศมีการตัดสินใจเปิดเลย มาตราการของประเทศไทยคือ ค่อยๆ เปิด ทีละส่วน เช่น ส่วนที่ต้องขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับเด็กเรามองว่า เด็กนักเรียนต้องการการปกป้อง รัฐมีมุมมองแบบนี้ การเปิดโรงเรียนจึงทำให้นักเรียนได้รับเชื้อ อันตราย ก่อนการเปิดเทอม รัฐจึงออกมาตรการ คือ การเรียนออนไลน์และใช้สื่อโทรทัศน์ เคเบิ้ล จึงต้องแยกออนไลน์เป็น 2 รูปแบบ คือ อินเทอร์เน็ตและทีวีดิจิทัล ด้านหนึ่งคือเป็นตัวทดสอบที่ดี

อย่างน้อยก่อนเปิดเทอมมีการทดสอบระบบ เพียงแต่ว่า เสียงสะท้อนของการทดสอบในครั้งนี้คือ เหมือนมีการไปบังคับ แต่การทดสอบควรเป็นความสมัครใจยินยอม ในขณะเดียวกันการทดสอบที่จะได้ผลคือต้องมีการทดสอบเชิญชวนกึ่งบังคับนิดหน่อยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางสถิติมากที่สุด ดูความพร้อมเลยกลายเป็นมีการเช็คชื่อ ผลที่ออกมาจึงกลายเป็นว่า มาตรการที่ออกมาชี้ให้เห็นว่าในการศึกษาซึ่งเป็นนิเทศศาสตร์ ถึงแม้ผมจะเป็นอาจารย์แต่ผมยังรู้สึกว่าผมเป็นเครื่องมือในการส่งผ่านด้วยการรวบรวมความรู้ใส่ตัวเอง คัดกรองและส่งผ่านไปยังเด็ก บางครั้งจึงเกิดคำถามเหมือนกันว่า มันเป็นระบบที่ดีไหม ที่ผมพยายามรวบรวมความรู้และยัดใส่ผ่านเครื่องอีกเครื่องคือนักเรียน และหวังว่าความรู้จะแพร่กระจายต่อ ซึ่งในหลายส่วนมีการเกิดข้อผิดพลาด ถ้าอย่างนั้นการกระจายความรู้ที่จะสามารถกระจายได้เร็วโดยไม่ต้องผ่านผม ในด้านหนึ่งผมจึงมองว่าสื่อทีวี สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ดี

โดยสมมติฐานว่าน่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดความผิดพลาดหรือแม้แต่ตัวระบบ หากเอาผมออกจากระบบสามารถเอาความรู้ไปสู่คนที่ต้องการใช้ความรู้โดยตรงได้ เช่น ผมคุยกับคุณ คุณไปถ่ายทอดส่งต่ออีก ด้วยระบบนี้ สื่อออนไลน์ สื่อทีวีช่วยลดปัญหาได้ เมื่อรัฐเปิดทดสอบระบบ จึงมองเป็นให้คนได้รับ ใช้งาน หรือตรวจสอบต่อ ในอีกทางคือ เป็นเครื่องมือที่น่าจะมีพลัง ในการส่งถ่ายมอบความรู้ อย่างยูทูบ (youtube) โดยเฉพาะความรู้ทางเทคนิคอย่างการทำอาหาร เราสามารถเรียนรู้ผ่านยูทูบได้ แต่ในขณะเดียวกันมีคนอีกกลุ่มหนึ่งและเป็นคนกลุ่มใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้

มีคนอีกกลุ่มหนึ่งและเป็นกลุ่มใหญ่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงติดขัด ตั้งแต่ไม่มีเงินไปซื้อเครื่องมือ ขาดเครื่องมือ อย่างที่สองคือไม่มีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลนั่นก็คือไม่มีเวลา เช่น พ่อแม่อยู่บ้านสามารถช่วยในการเรียนขั้นพื้นฐานในการเปิดเครื่องมือ แต่ว่าเด็กยังจะต้องใช้เวลาในการจัดการตัวเอง โดยปกติแล้วการจัดการว่าช่วงเวลาไหนเรียนอะไรจะมีระบบเป็นตัวจัดการ ก็คือคุณครูแล้วก็โรงเรียน เมื่อตัดคุณครูออกจากระบบแล้วพ่อแม่จะต้องทำหน้าที่ในการให้ความรู้แทน ทำให้รู้ว่าเครื่องมือที่เราคิดว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำกลับมีปัญหาขึ้นมาแล้วก็ถูกวิพากษ์จากที่เคยคิดว่าโลกสมัยใหม่จะมีการเรียนรู้ระบบดิจิทัลอันนี้คือตัวอย่างในการวิพากษ์ที่ดีของการสื่อสารสาธารณะและการศึกษาสาธารณะ ไม่นับรวมการวิพากย์เรื่องสำเนียงของคุณครูผู้สอน

ประเด็นที่สองการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์ เริ่มมีการพูดถึงการคุ้มค่า เศรษฐศาสตร์ในการลงทุนความคุ้มค่า ตัวอย่างเช่น เนื้อหาที่สอน เด็กอาจจะรู้สึกว่าพวกนี้เรียนรู้มาหมดแล้ว ในภาพนี้จะเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในระบบที่คิดว่าควรจะมีมาตรฐานเดียวกัน แต่สำหรับเด็กบางกลุ่มเช่น Maverick ได้เกินไปจากจุดนี้แล้ว เด็ก ม.3 อาจจะอ่านหนังสือถึง ม.6 เพื่อเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจึงเกิดการวิพากษ์การออกอากาศของรัฐบาล (National Broadcast) ว่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการความรู้ของเขาได้ ไม่ตอบโจทย์ ถูกบังคับให้เรียนแบบมาตรฐาน องค์ความรู้ที่ได้รับนั้นล้าหลังและไม่คุ้มค่าในการเข้าไปนั่งเรียน เด็กกลุ่มนี้ไม่มีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ตหรือเครื่องมือแต่มีปัญหากับเรื่องเนื้อหาในการเรียน สิ่งที่เขาต้องการก็คือ คุณครูโรงเรียนติวเตอร์ชั้นนำหรือว่าความรู้ที่ล้ำหน้ามาสอน แสดงถึงความเหลื่อมล้ำของคนอีกกลุ่มหนึ่งเรื่องความล้ำหน้า

ส่วนความเหลื่อมล้ำอีก 10% ฐานล่าง ตัวอย่างเช่น เวลาไปโรงเรียนจะมีอาหารกลางวันให้กิน ในหลายครอบครัวการที่เด็กได้ไปโรงเรียนคือการรับประกันว่าช่วงกลางวันมีคนเลี้ยงดูลูก เพราะว่าโรงเรียนเป็นที่ที่ปลอดภัย แล้วก็เหมือนว่าควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยของทุกคน การส่งลูกไปโรงเรียนก็คือการใช้เวลาช่วงกลางวันของพ่อแม่ในการประกอบอาชีพทำมาหากิน ในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็คือว่าแล้วอาหารกลางวันของโรงเรียนหายไปไหน พ่อแม่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาระนี้ขึ้นมา โควิดเนี่ยทำให้เห็นปัญหาพวกนี้ขึ้นมา

การพัฒนาเชิงพื้นที่ของเมืองกับการศึกษาผังเมืองจะทำให้การจัดการเมืองมีประสิทธิภาพกับคนทุกกลุ่มได้อย่างไร

ก่อนอื่นผมพูดในเรื่องของผังเมืองสำหรับรัฐที่สามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบระเบียบที่ดี มาตรฐานการเข้าถึงโรงเรียนอนุบาลในระยะเดินได้ สวนสาธารณะกับโรงเรียนอยู่ใกล้กัน 500-800 เมตร ในระดับเด็กโตอาจจะ 5 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น ตามมาตรฐานผังเมืองที่ดีจะมีการกระจายตัวของโรงเรียน อย่างประเทศญี่ปุ่น เด็กอนุบาลหรือเด็กประถมสามารถเดินไปโรงเรียนด้วยตัวเอง โดยที่วันแรกอาจจะมีอาสาพาเดินไปก่อน

ในมิติการออกแบบจะมองการศึกษาเป็นตำแหน่งมีระยะในการเข้าถึง ในเชิงพื้นฐานคือรัศมีการให้บริการและตำแหน่งที่ตั้งในระบบ แต่ยังมีการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระบบและไม่จำเป็นต้องไปยังสถานที่ไม่มีเวลา ดังนั้นระบบการผังเมืองยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เมื่อมีเวลาปิดเปิดไปผูกกับระยะเวลาและไม่สามารถเข้าถึงได้ หากย้อนกลับไปดูการเรียนออนไลน์จะช่วยลดตำแหน่งสถาบันการศึกษา จากแต่เดิมที่โรงเรียนจะต้องมีตำแหน่งและมีการเข้าถึง เมื่อไปเรียนออนไลน์จึงช่วยลดการเข้าถึง ดังนั้น จากสมมติฐานเรียนออนไลน์จึงช่วยตอบโจทย์ตำแหน่งของสถานศึกษา แต่จากการทดสอบระบบการเรียนออนไลน์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์ถึงปัญหาเรื่องสถานที่ของตำแหน่งที่ยังจะต้องมีอยู่และเข้าถึงได้

แก้ปัญหาอย่างไร

เกิดการตั้งคำถามการทำโรงเรียนเคลื่อนที่ เช่น การเอาครูเข้าไปหานักเรียนตามพื้นที่ที่เขาต้องการเปลี่ยนโครงสร้าง เป็นการเรียนรู้ตามหมู่บ้าน ตามชุมชนแทนที่จะเอาเด็กมาโรงเรียน แต่ก็มีข้อจำกัด การเรียนรู้ตามอัธยาศัยจะไม่ใช่การเรียนแบบนี้ ไม่ใช่การตอบโจทย์ขั้นพื้นฐาน แต่เป็นการตอบโจทย์เพื่อการเรียนเพื่อมีชีวิตอยู่ เพื่อมีเวลาว่าง การเล่นแบบนี้จะไม่ตอบโจทย์การเรียนเพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย โรงเรียนจึงมีความจำเป็นอยู่ เพราะต้องใช้ห้องแลป ห้องทดลอง เครื่องมือในการเรียน แต่ตอนนี้ปัญหาคือว่าควรจะอยู่ในจุดไหน

สำหรับห้องเรียนอาจจะเป็นเด็กโต การเรียนศึกษาขั้นพื้นฐานอาจจะสามารถหาความรู้เพิ่มเติมเองถึงจะนำไปสู่การศึกษาแบบเปิดขึ้นมาได้ ในเชิงผังเมืองจึงเกิดการรื้อโครงสร้างเรื่องตำแหน่งโรงเรียน ด้วยการใช้โรงเรียนเคลื่อนที่หรือการศึกษาออนไลน์และสุดท้ายคือการศึกษาที่บ้านหรือโฮมสคูล ทำให้เกิดภาพสะท้อนของการศึกษาจากที่บ้าน สำหรับพ่อแม่ในเมื่อจะต้องทำงานที่บ้าน ทำไมถึงไม่สอนลูกตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วพ่อแม่ทุกคนไม่ได้ทำงานที่บ้าน และถึงจะทำงานที่บ้านก็ไม่ได้มีเวลาในการเล่นกับลูก หรือไม่สามารถให้การศึกษาลูกได้ การศึกษาประถมศึกษาคือการเรียนรู้พื้นฐานชีวิตเช่นการทำความสะอาดเก็บกวาดที่นอน ทำอาหาร พ่อแม่บางคนต้องเริ่มหัด เช่น หัดทำกับข้าว พ่อแม่ที่เพิ่งเริ่มหัดทำกับข้าวก็สามารถหัดเรียนรู้ไปกับลูก ถือว่าเป็นโอกาส แต่อันนี้คือในกรณีการศึกษาขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่เล่นกับเด็ก ตัวอย่างลูกศิษย์ก็มีการทำวิดีโอร่วมกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ในการเล่นกับลูก เช่น เราต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้างการจัดตารางเวลา มีโอกาสทำได้ไหม มีเครื่องมือไหม

ในระดับเมือง ระดับผังเมืองจึงมีความแตกต่างกันเพราะว่าระดับเมืองจากมีการศึกษาไปถึงขั้นตอนของวิถีชีวิต และย้อนกลับไปที่ส่วนแรกก็คือการศึกษากับการเรียนรู้เพื่อที่จะมีชีวิตมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะฉะนั้นในมุมหนึ่งการศึกษาที่บ้านมีความสำคัญถ้ามีโอกาส แต่สำหรับพ่อแม่ที่ยังจะต้องนั่งรถไฟฟ้าไปทำงานจะมีปัญหา เพราะไม่สามารถจัดการศึกษาที่บ้านได้ดังนั้นโรงเรียนจึงมาเติมเต็มในส่วนนี้ การศึกษาที่บ้านมาสามารถจัดได้ พ่อแม่ไม่ให้การศึกษาลูกผิดกฎหมาย พ่อแม่สอนลูกที่บ้านได้ แต่ต้องมีการมาตรวจสอบว่าเด็กคนนี้ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะเป็นพลเมืองไหมเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ในเชิงตำแหน่งการศึกษาที่บ้าน เกิดคำถามว่าแล้วย่านแถวบ้านพร้อมจะเกิดการเรียนรู้ไหม ย่านถือเป็นพื้นที่การศึกษา พื้นที่การศึกษาละแวกบ้านพร้อมไหม

การเรียนรู้พื้นฐานของชีวิตคืออะไร

การเรียนรู้พื้นฐานของชีวิตไม่มีระดับ เช่น การสอนล้างมือ สาธารณสุข การศึกษาเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ ถ้าเราไม่รู้เราตายได้ จึงมีการสอนเพื่อการเรียนรู้ใหม่ แล้วสิ่งที่เรียนมาคืออะไร จริงๆแล้วสิ่งพวกนี้เราเคยเรียนรู้มาแล้วแต่เราแค่ลืม หรือการสอนวิธีการใส่หน้ากากอนามัยเป็นองค์ความรู้ใหม่ นี่คือการศึกษาที่ไม่มีระดับ แต่ผู้ใหญ่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ การทำอาหาร เพื่อการมีชีวิตอยู่ อย่างการเสียภาษี การเรียนรู้ เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ไม่มีระดับแต่จะมีจังหวะในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้บางเรื่องเป็นเรื่องพื้นฐาน

การเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐานของชีวิตคือการมีความรู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขและสมดุล ความเข้าใจเรื่องสาธารณสุขอาจจะเป็นมููลฐาน แต่มันก็กลายเป็นความเข้าใจระดับวัฒนธรรมเหมือนกัน อาทิ  กรณีของการใส่หน้ากากอนามัย ในบางวัฒนธรรมกลายเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล หากไม่ใช่คนป่วยก็ไม่ต้องใส่ แต่สิ่งที่เราเรียนรู้ใหม่คือการป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นสิ่งที่ต้องกระทำร่วมกันของคนในสังคม เพื่อลดการระบาด จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้ที่จะมีความสุขและสมดุลต้องอาศัยข้อมูลและการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา บางเรื่องรอการพิสูจน์ไม่ได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ที่จะอยู่กันเป็นสังคมที่ดี การเคารพกัน ไม่ละเมิดกัน  เราควรให้คความสำคัญกับการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ความรู้ 

การเรียนรู้ที่จะมีชีวิตที่ดี มันเกิดขึ้นได้นอกห้องเรียน มันเกิดขึ้นได้ในระดับนย่าน ระดับระแวกบ้าน และจนถึงระดับเมือง เราเรียนรู้ความรุนแรงจากนอกห้องเรียนแล้วลามเข้าไปถึงในโรงเรียนนี่แหละ เราทำให้เฉพาะในห้องเรียนเป็น  Utopia ด้วยกฏระเบียบจากครูและนักเรียนที่สภาพแวดล้อมมัน Dystopia ไม่ได้

เมืองที่ให้การศึกษามีความสำคัญอย่างไร

เมืองควรเป็นที่ให้การศึกษาและการศึกษาในเมืองจะไม่ใช่เพียงการศึกษาในระบบ รัฐบาลท้องถิ่นไม่ควรให้การศึกษาขั้นพื้นฐานเฉพาะในโรงเรียน สิ่งที่เรียกว่าเมือง ย่าน ละแวกบ้านสามารถร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ไหมส่วนหนึ่งเวลา และทรัพยากรที่สูญเสียไปจากการสอนล้างมือ เรื่องพื้นฐาน เมือง ชุมชน ละแวกบ้านสามารถปูพื้นฐานเรื่องพวกนี้ได้ คำว่าเมือง ไม่ใช่ระบบการผังเมืองเพียงอย่างเดียวแต่คือ เข้าถึงได้ ตอบสนองได้ คนใช้พื้นที่เมืองสามารถเรียนรู้ไม่ใช่เพียงเฉพาะการเอาตัวรอด เพราะการที่สอนเพียงแค่ให้คนเอาตัวรอดจะยิ่งไปสร้างความเหลื่อมล้ำ

เมืองการศึกษาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนหรือไม่ในจุดเริ่มต้น

ผมมองว่าในเชิงตำแหน่งสามารถช่วยได้ ต้องไม่มองระบบการศึกษาเป็นเพียงสาธารณูปการ แต่การออกแบบเมืองจะสามารถช่วยในการเรียนรู้ได้หรือไม่ เช่น เราเดินไปตามถนนเส้นหนึ่ง เราสามารถให้การศึกษาได้ตลอดทาง ต้นไม้ คน ป้ายตามทาง เราออกแบบเมือง เพื่อให้คนได้เรียนรู้ตลอดเส้นทาง หรือบางระบบเราให้การศึกษาในระบบเคลื่อนที่ร่วมกับระบบโฮมสคูล บ้านอาจมีข้อจำกัดเรื่องขนาด เพราะฉะนั้นละแวกบ้านและศูนย์ชุมชนจะเป็นตัวประสานกัน การกระจายศูนย์ชุมชน เรียนรู้เรื่องต่างๆ เด็กออกมานอกบ้านแทนการไปห้างสรรพสินค้า เป็นการศึกษาระดับชุมชนมากขึ้นอันนี้คือเมืองเป็นตัวจัดการ

เมืองหมายรวมถึงคน ผู้คนและระบบบริหาร ผู้บริหารเมือง พลเมือง เห็นถึงความสำคัญ สร้างทรัพยากรการศึกษา อันนี้เทียบเท่ากับการจบ ม. 6 การรับรอง ตรงกับความรู้ความต้องการ การจัดการเมืองเป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญ ดังนั้น การจัดการเมืองจะต้องทำงานร่วมกันทั้งพลเมือง นักวางผังจะเป็นตัวบอก หรืออาจไม่ต้องอาศัยการวางผังเลยก็ได้

ในทางกลับกันสิ่งที่อยากให้พลเมืองเมืองและผู้บริหารจัดการเมืองเห็นพ้องต้องกันก็คือการศึกษาไม่ใช่เรื่องสิ้นเปลือง การลดค่าใช้จ่าย กระจายการศึกษาต้องยกระดับเมืองขึ้นมา การศึกษาที่สามารถเดินไปไหน สามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมเข้าใจคนและทำมาหากินได้ การศึกษาขั้นพื้นฐานจึงอาจจะไม่ต้องนับจำนวนปีแต่สามารถทำให้เกิดอาชีพได้ต่อยอดได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง ดังนั้นในการลงทุนการศึกษาอีกแบบหนึ่งในการประกอบอาชีพ ทำยังไงให้คนมีความรู้เรื่องพวกนี้ การศึกษาไม่เพียงให้ความรู้แต่ช่วยยกระดับ ไม่เพียงแค่ให้การศึกษากับคน แต่คนต้องกลับมายกระดับให้กับเมืองด้วย เมืองมีการอพยพเข้าซึ่งคนที่เข้ามาเป็นเพียงแรงงานในเมืองแต่ไม่ได้เป็นพลเมือง เพราะฉะนั้นการศึกษาแบบไหนที่จะทำให้คนกลายเป็นพลเมือง คือการศึกษาของเมืองด้วยเช่นกัน การเรียนรู้ในชีวิตประจำวันไม่ได้สร้างให้เขาเป็นพลเมือง ไม่ได้อยากยกระดับเมือง

การศึกษาตลอดชีวิตเป็นการศึกษานอกระบบหรือในระบบ อยากให้อาจารย์อธิบายเพิ่มเติม

การศึกษาตลอดชีวิตสามารถอยู่ในระบบได้เช่นกัน เช่นอายุเยอะแล้วแต่ยังกลับมาเรียนออนไลน์ บางอย่างที่จัดการโดยเมือง การศึกษานอกระบบคือนอกห้องเรียน สามารถจัดการให้ได้ การออกแบบเมือง สภาพแวดล้อมก็เป็นส่วนหนึ่ง

อยากจะเน้นย้ำว่าอย่ามองการศึกษาเป็นโจทก์หรือโลเกชั่น อย่างมิวเซียม หอศิลป์ที่ไม่เข้ากับบริบท เช่น พิพิธภัณฑ์รถยนต์อยู่กลางทุ่ง แต่ระหว่างทางไม่ได้สร้างการเรียนรู้เรื่องนั้นเลย ไม่มีบริบทที่เกี่ยวข้องเลย หรือมีข้อถกเถียงหอศิลป์ที่อยู่ตรงปทุมวันด้วยโลเกชั่นล้อมรอบไปด้วยห้าง น่าจะเอาคอลเลคชั่นจากต่างประเทศแล้วมาเก็บค่าเข้าชม  น่ายกระดับอินเตอร์ พิพิธภัณฑ์บางอย่างในระดับย่านเรียนรู้วิถีชีวิตควรจะไปตั้งอยู่ในเขตชุมชน สอดคล้องกับบริบท ให้ชุมชนเป็นคนดูแล เป็นการเรียนรู้ละแวกย่านจะนำไปสู่การพัฒนาย่านให้เป็นการเรียนรู้ พลิกโจทย์การออกแบบ ที่ไม่ใช่การออกแบบให้สวยงามแต่เป็นการที่เข้าไปถึงพื้นที่นั้นแล้วเกิดการเรียนรู้ ในกรุงเทพฯเริ่มมี เช่น มิวเซียมสยาม มีสภาพการณ์อย่างนั้นเมื่อเดินผ่านแถวนั้น เพราะฉะนั้นควรมีทั้งเมือง เช่น การเรียนรู้วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ความแตกต่างของความเชื่อ ไปเที่ยวพร้อมการเรียนรู้ การศึกษาเป็นหนึ่งในการพักผ่อน Education entertainment การใช้เวลาว่างชนิดหนึ่ง ซึ่งหากเราย้อนกลับไปมองการศึกษาจะไม่เกิดวิธีคิดแบบนี้ อย่ามองการศึกษาเป็นจุด

มหาวิทยาลัยยังจำเป็นไหม

พอเราแยกให้เห็นว่ามันมีคนหลายกลุ่ม การศึกษาขั้นสูง (higher education) ยังจำเป็น ไม่ใช่เพราะผมสอนมหาวิทยาลัยผมจึงบอกว่าจำเป็นแต่บางเรื่อง การวางผังเมือง การดูแลเมืองต้องแทรกซึม จะทำยังไงให้เป็นเรื่องของพลเมือง การศึกษาระดับสูงถูกนำไปพบกับชนชั้นและมองเป็นเรื่องสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ บิดเบือน

การศึกษาขั้นสูง คือการต่อยอดองค์ความรู้และผลิตองค์ความรู้ขึ้นใช้ มหาวิทยาลัยยังมีความจำเป็นในบทบาทนี้ ถ้าฐานเปลี่ยนไป บทบาทการศึกษาขั้นสูงยิ่งเข้มข้นขึ้น และต้องยอมให้ความรู้เกิดขึ้นจากระดับฐานรากหญ้าได้ ซึ่งคือความรู้เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่นั้นเกิดจากระดับฐานรากหญ้าอยู่แล้ว แต่จะทำยังไงให้เป็นองค์ความรู้ใหม่และส่งต่อได้ การศึกษาขั้นสูงทำหน้าที่ตรงนี้ การวิจัย การสร้างนวัตกรรมยังเป็นบทบาทสำคัญอยู่และงานวิจัยที่กลับมาตอบโจทย์และลงมาสู่การพัฒนาขั้นพื้นฐาน ตัวอย่าง การล้างมือให้สะอาดเป็นการศึกษาขั้นสูง เพราะเกิดจากการวิจัย ว่าต้องล้างแบบนี้ เพราะมีการวิจัยมาแล้ว กลับมาสู่ขั้นพื้นฐาน ความรู้จะสะเปะสะปะ มีการพิสูจน์ ทดสอบ เกิดการประยุกต์ใช้ให้ง่ายมากที่สุด จะไม่มีใครมาบอกว่าอันไหนใช้ได้ผล ใครเป็นคนพิสูจน์ การศึกษาระดับสูงจึงทำหน้าที่ในการตรวจสอบแยกแยะว่าอันไหนคือเรื่องเล่าตำนานหรือข้อเท็จจริง ไปต่อยอด

การศึกษาขั้นสูงมันเกิดขึ้นได้ทุกที่นะ แต่ไม่ใช่การเอาปริญญาไปไล่แจกให้ถึงในชุมชน แต่มันเป็นการสร้างกลไกในการพิสูจน์ทราบและแสวงหาความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือชุมชนอย่างเป็นระบบ

การศึกษาที่เป็นจุด อยากให้อาจารย์อธิบายเพิ่มเติม

พอเรามองการศึกษาเป็นจุด แล้วเราก็ลืมว่า การเข้าถึงพื้นที่ที่เป็นจุดมันเป็นเส้นพอจะเปิดเทอม เราก็วุ่นวายกับรถติด แล้วเราก็แก้ปัญหารถติดโดยที่แก้ไขปัญหาโรงเรียนใกล้บ้านไม่ประสบความสำเร็จ

คราวนี้กรณีอย่างโควิด เราก็ดูแค่เปิดโรงเรียน โรงเรียนสะอาด แต่ไม่ได้มองว่าระบบขนส่งมันพร้อมที่จะรองรับความหนาแน่นไหม รัฐเองกับเมืองก็ไม่อยากให้เปิด แต่เอกชนอยากเปิด เพราะการเปิดเทอม มันคือค่าเทอม เพราะถ้าไม่เปิด ค่าเทอมที่เก็บมาแล้ว มันอยู่ในกระแสเงินสด(Cash Flow) ครูยังต้องจ้างไว้ Margin คิดไว้แล้ว ยิ่งโรงเรียนนานาชาตินี่ยิ่งอยากให้เปิด ซึ่งระบบทั้งหมด ความหนาแน่นเขาต่ำ นักเรียนต่อห้องอาจจะนั่งแบบเว้นระยะได้ แต่การเดินทางหล่ะหรือจะบอกว่าพวกนี้สามารถมารถส่วนตัวก็ได้ เรื่องพวกนี้มันสะท้อนความแตกต่างเหมือนกัน

คราวนี้ พอการศึกษา มันถูกมองว่าโรงเรียน เป็นมาตรฐานระดับชาติ (National Standard) การเปิด-ปิด จริงๆ มันก็ไม่ได้พร้อมกันอยู่แล้ว แต่ถ้าจะเปิดก็ต้องอนุญาตให้เปิดพร้อมกัน ข้อเรียกร้องมันคือ โรงเรียนแต่ละที่มันอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน

พวกชายขอบจริงๆ หรือ Maverick จริงๆ อาจจะไม่สะเทือน พวกหนึ่งอยู่ในความหนาแน่นต่ำ ไม่ได้เดินทางด้วยขนส่งมวลชน ปัญหาคือ ทำไมไม่ให้ท้องถิ่น เป็นคนตัดสินใจ และสร้างมาตรการขึ้นมา แต่อีกพวก อาทิ โรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้ขนส่งมวลชนเป็นหลัก แต่เข้าถึงระบบการศึกษาผ่านออนไลน์ได้ง่าย ก็ต้องจัดการอีกแอบหนึ่ง

การศึกษาที่เป็นตำแหน่ง มันเกี่ยวกับเมืองในเชิงระบบโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องการสัญจร รวมถึงความเป็นประชากรแฝง ถ้าเรียนกรุงเทพฯอาจจะรู้ดีว่าบางทีเพื่อน 20-30 % ในชั้นเดียวกัน อาจจะไม่ใช่คนกรุงเทพ และอาจจะมีแค่ 10 – 20% แค่นั้นที่จะมีบ้านใกล้โรงเรียน

การศึกษาในระบบกับการศึกษาละแวกย่านดำเนินการไปพร้อมกันได้หรือไม่

เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการขนส่ง เมือง ดูนักเรียนเป็นพลเมืองเท่ากันหมด บนพื้นฐานที่มีข้อยกเว้นหรือสิทธิจำเพาะนิดหน่อย อาทิ ตั๋วถูกกว่า ทั้งๆ ที่ถ้ามองในมุมกลับกัน ถ้าทุกคนต้องการการศึกษา ทำไมการเดินทางของนักเรียน ถึงถูกกว่า คนอื่น สุดท้าย คืออยากกระตุ้นให้คนอยู่ในระบบสิ่งที่เรียกว่าระบบ มันเป็นปมซ้อนปม การศึกษาในย่าน และที่บ้าน อาจจะลดความซับซ้อน และได้ผลในเชิงสังคมมากกว่า

การเรียนรู้อาจจะไม่ต้องเป็นระบบ แต่การศึกษา ต้องเป็นระบบ มันมีเป้าประสงค์ และการกำหนดผลสำเร็จ ระบบถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ทรัพยากรรองรับ เป้าหมายต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้คราวนี้ด้วยที่ชั้นความซับซ้อนเมืองที่สำคัญ มันคือ ชั้นทางสังคม แม้เมืองใหญ่ แต่ชั้นทางสังคมถือว่ายังเป็นพื้นแน่นอน สังคมมันคือความสัมพันธ์ของมนุษย์ เป็นข้อตกลงในการจัดการผลประโยชน์ร่วม สถาบันการศึกษา และบุคคลากรแบบครู ซึ่งเคยเป็นโครงสร้างที่สำคัญของคนไทยอยู่ระหว่างวัด กับบ้าน และเแวดล้อมด้วยชุมชนแต่ด้วยการพัฒนาระบบการศึกษาให้เข้มข้น คนยังนับถือครู ในระบบที่คล้ายกับพระ แต่ตัวความรู้ ความเข้าใจ ครูบางส่วนโดยเฉพาะสังคมเมือง ไม่ได้ต้องทำหน้าที่ผู้นำทางปัญญาอีกต่อไป ยิ่งในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมันถึงกัน ครูถูกเอาไปผูกไว้กับนักเรียน แทนที่จะเป็นสถาบันของปัญญาในพื้นที่

ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้เพราะว่า คำว่าโฮมสคูล (Home School) ไม่ใช่การเรียนที่บ้าน แต่คือเอาระบบคิด ตรรกะ และปัญญามาปลูกฝังที่บ้าน และคำว่าบ้านในที่นี้ ควรจะหมายถึงละแวกบ้าน ที่มีโอกาส มาแบ่งปันความรู้ร่วมกัน

ผมยกตัวอย่างว่า Condo หลังหนึ่ง มีคน 1,000 คน มันต้องมีความรู้ มีเวลา แต่พอทำงานจากที่บ้านหรือ Work From Home ละ ทุกคนกักตัวเองหมด (Quanrantine) แต่การจัดการศึกษาที่เกิดขึ้นโดยชุมชนตัวเองมันไม่เกิด มันไปไว้ใจการศึกษาในระบบมากกว่า เพราะมันง่ายกว่า มันสำเร็จรูปกว่า มันให้คนอื่นช่วยคุมคุณภาพ มันสะดวก เหมือนวิถีเมืองที่ซื้อ อุ่นกิน คนเมืองก็มองการศึกษาอย่างนั้น

ดังนั้นการสร้างระบบการศึกษา ที่อยู่บนฐานย่านและชุมชน และจัดการขึ้นด้วยตนเอง มันไม่ใช่แค่การลดต้นทุน หรือบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพื่อมนุษย์เอง แต่มันเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับสังคม ในภาวะอื่นๆ อีกด้วย

การจัดการการศึกษาโดยย่าน ที่ชุมชนมีความพร้อม จึงเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเมือง ที่คนลืมไปแล้ว เพราะชินกับการจัดการศึกษาสำเร็จรูป ในเมืองสำเร็จรูปสุดท้าย มันเลยจบด้วย “ฉันส่งแกไปเรียนหนังสือ ทำไมไม่ตั้งใจเรียน” แล้วลูกก็คิดในใจว่า “ทำไมไม่ไปเรียนเอง” … จริงนะ ถ้าอยากรู้ อยากให้เกิดการพัฒนา ทำไมไม่ไปเรียนเอง ทำไมการเรียนจึงเป็นหน้าที่ของเด็ก หรือพ่อแม่บางคนบอกว่า ไม่ต้องเรียนเก่ง แต่ขอให้เป็นคนดี…ทำไมไม่เรียนศีลธรรมที่บ้าน ระบบโรงเรียนมันบิดเบี้ยวจากการศึกษาเพื่อการมีชีวิต ไปตั้งแต่ความคิดของพ่อแม่


Contributor