06/01/2020
Life

ART SPACE กระจกสะท้อนความสำคัญของศิลปะในมุม อุทิศ เหมะมูล

สุธามาส ทวินันท์
 


ปกติ ‘อุทิศ เหมะมูล’ เป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนมือดีเจ้าของผลงานวรรณกรรมเปี่ยมคุณภาพหลายเล่มโดยเฉพาะนวนิยายเรื่อง ‘ลับแล, แก่งคอย’ ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. 2552 และในปี พ.ศ. 2561 เขาก็ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ จากความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 15  ปี

แต่หลังจากอุทิศลุกขึ้นมาจัดแสดงนิทรรศการ ‘ภาพร่างของปรารถนา’ ที่รวมผลงานจิตรกรรมของ ‘เข้าสิง’ ตัวละครเอกในนวนิยายเรื่อง ‘ร่างของปรารถนา’ มาจัดแสดง พร้อมกับเปลี่ยนเรื่องราวบนหน้ากระดาษไปสู่ละครเวที ‘ปรารถนา : ภาพเหมือนการเข้าสิง’ ซึ่งเป็นการร่วมงานกับ ‘โทชิกิ โอคาดะ’ (Toshiki Okada) ผู้กำกับละครเวทีชื่อดังชาวญี่ปุ่น และออกตะเวนแสดงไปทั่วโลก ทั้งกรุงเทพฯ โตเกียว และปารีส ชื่อของ ‘อุทิศ เหมะมูล’ ก็ถูกพูดถึงในฐานะ ‘ศิลปิน’ ที่ทำงานศิลปะขนานกันไปกับงานวรรณกรรม 

ผลงานครั้งนั้นไม่เพียงแค่พิสูจน์ว่าอุทิศยังคงมีฝีไม้ลายมือด้านศิลปะ แต่เป็นใบเบิกที่บอกว่าเขาหวนกลับมาทำงานศาสตร์นี้เต็มตัวหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรหรือเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว  

หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นผลงานของเขาอีกครั้งในนิทรรศการ ‘ความสุขของแสง The Light of Day’ ที่รวบรวมผลงานจิตรกรรมไว้มากถึง 40 ผลงาน และล่าสุดอุทิศก็กำลังทำงานศิลปะร่วมกับกลุ่ม ‘จุกๆ’  

สำหรับบางคนหากพลันตัวเองไปสู่เส้นทางใหม่แล้วก็มักจะไม่ย้อนกลับมาสู่เส้นทางเดิม แต่อะไรที่ทำให้อุทิศกลับมาทำงานศิลปะอีกครั้ง และการทำงานศิลปะในยุคก่อนกับตอนนี้มีความต่างกันอย่างไร ถือว่าประเทศไทยมีความพร้อมมากพอในการส่งเสริมงานศิลปะได้ขนาดไหน โดยเฉพาะประเด็น ‘Art Space หรือ พื้นที่จัดแสดงศิลปะ’ และการได้มีโอกาสไปจัดแสดงผลงานในต่างประเทศ อุทิศมีมุมมองอย่างไรต่อพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะเมื่อเทียบกับไทย 

การกลับไปทำงานศิลปะอีกครั้งหลังหันหน้าเข้าสู่เส้นทางนักเขียนมาพักใหญ่เป็นอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2541 ที่คุณเป็น Curator จัดเทศกาลศิลปะเอง 10 วัน มีฉายหนัง ดนตรี และก็การแสดงงานศิลปะในชุมชนแบบไม่พึ่งแกลเลอรี่ ฟังดูเป็นเรื่องที่คูลมากเลยในยุคนั้น

(หัวเราะ) พอดูด้วยสายตาที่ผ่านไปแล้ว 20 ปี มันดูเหมือนคูลเนอะ แต่ตอนนั้นก็ไม่คูลหรอก มันก็ลุ่มๆ ดอนๆ ก็เป็นการร่วมมือกันของกลุ่มเพื่อน  ซึ่งมันเกิดจากที่เราเริ่มตั้งคำถามกันว่าอำนาจของงานศิลปะที่คนจะเเสดงมีโอกาสอย่างอื่นไหมมากกว่าเเค่ส่งงานเข้าประกวดรางวัลศิลปกรรมเเห่งชาติ หรือจิตรกรรมบัวหลวงอะไรก็ว่าไป เพราะตอนนั้นถ้าศิลปินจะแสดงผลงานได้ก็ต้องผ่านเวทีประกวดเป็นส่วนใหญ่ 

ทีนี้ก็เลยเริ่มมีกลุ่มอิสระต่างๆ เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะพื้นที่ทางศิลปะที่เริ่มปรับภาพออกมาจากมิวเซียมหรือแกลเลอรี่อย่าง about cafe ที่ใช้ร้านหนังมุมถนนตรงไมตรีจิตทำเป็น Art space หรือโปรเจกต์ 304 ตอนนั้นก็ใช้ห้องในคอนโดมิเนียมเปิดเป็นแกลเลอรี่ ทำให้เวลาคนมาดูผลงานรู้สึกเเปลกตาแปลกใจไป เพราะในสมัยนั้นเวลาที่เราไปดูงานศิลปะมันก็ต้องเป็นแกลเลอรี่ ต้องเป็นห้องขาวอะไรเเบบนี้ เเต่โปรเจกต์ 304 ในตอนนั้นต้องเดินเข้าไปในคอนโด ขึ้นลิฟต์ไปดูงานศิลปะบนชั้น 4 คือมันเป็นการจัดแสดงงานศิลปะที่เริ่มเปลี่ยนไป

ในสมัยนั้นพื้นที่จัดแสดงศิลปะมีจำนวนน้อยหรือค่าใช้จ่ายสูง ศิลปินถึงต้องพยายามหาทางออกอื่นที่จะจัดแสดงผลงานตัวเอง 

อันนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งด้วย คือการเกิดของศิลปินมันเกิดยากกว่าสมัยนี้พอสมควรในหลายๆอย่าง ทั้งพื้นที่ในการจัดเเสดง ผู้สนับสนุนที่มองเห็นว่าผลงานของคนๆ นี้น่าจะได้จัดเเสดง มันควบเกี่ยวกับอำนาจการตัดสินใจของเจ้าของแกลเลอรี่หรือสถาบันทางศิลปะที่คนทำงานศิลปะต้องฝ่าด่านของชั้นอำนาจนั้นไปให้ได้ ในเเต่ละด่านก็ค่อนข้างลำบาก อย่างเราที่เรียนจิตรกรรม ศิลปากร สิ่งที่เป็นหลักประกันทางอาชีพศิลปินก็คือการส่งประกวด ถ้าได้รางวัล ก็ได้เงินรางวัล แล้วก็ค่อยๆ สร้างชื่อจากการได้รางวัลกับงานประกวด คือตอนนั้นในประเทศไทยมันยังเป็นเเบบเดียวอยู่ 

คนที่เป็นศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา ก็เลยเกิดเเรงปะทะกับช่วงเวลานั้น และพอมี Art scene ของต่างประเทศค่อยๆ เริ่มเคลื่อนไหวเข้ามา เราก็เริ่มเห็นความหวัง เริ่มเห็นทางออก เลยมานั่งคุยกันเรื่องคุณค่าหรือรูปแบบของศิลปะที่มันเปลี่ยนไป ก็เป็นยุคที่ศิลปินตื่นตัวเเล้วก็ค่อยๆ ก่อตัวกันมาก  

จริงๆ มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวระบบการศึกษาเอง เเม้เเต่การศึกษาทางด้านศิลปะมันก็ไม่ได้เเตกต่างจากการศึกษาทางด้านสาขาวิชาอื่นๆ คือเราคิดว่ามันเป็นการทำลายพรสวรรค์หรือความสามารถของคนคนนั้นที่จับเขาไปไว้ในรูปแบบวิธีหนึ่ง กรอบคิดอันหนึ่ง เเล้วก็ลำดับขั้นทางเดินของชีวิตที่เหมือนกับคนอื่นเขาทำมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งบางทีเรารู้สึกว่าเรามีพลังงานสร้างสรรค์อย่างเต็มที่เเต่ถูกยับยั้ง ถูกกดเอาไว้ด้วยหลักสูตรการเรียนที่ต้องทำไปเป็นลำดับขั้น ยังไม่ถึงเวลาต้องทำ ต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ก่อน คือมันเป็นคำถามเดียวกับปัจจุบันนี้ว่า อยากจะเป็นนักปฏิวัติเเต่ช่วยเเม่ถูบ้านหรือยัง อะไรเเบบนี้ เราว่ามันไม่ Make sense นะ มันคนละคำถามกัน มันคนละเรื่องกัน เเต่ว่าเวลาที่ถูกถามเเบบนี้มันทำให้คนถามมีอำนาจ เลยทำให้คนตอบเสียกำลังใจได้เหมือนกัน

เมื่อลองเทียบกับยุคนี้การเเจ้งเกิดของศิลปินถือว่าง่ายขึ้นเยอะเลยไหม เพราะพื้นที่จัดแสดงศิลปะก็เพิ่มมากขึ้นด้วย 

(นิ่งคิด) คือแกลเลอรี่มันก็มีมากขึ้น ไม่ได้มีเเค่ศิลปินอย่างเดียวเเล้ว คือ สมัยก่อนมีเเค่ศิลปิน และก็คนที่มีต้นทุน มีฐานะทางสังคมพอที่จะเปิดแกลเลอรี่ของตัวเองได้ แต่ว่าในปัจจุบันที่ผ่านมา 20 ปีเเล้วเนี่ย ระบบมันค่อยๆ โตขึ้น มันไม่ใช่เเค่สร้างศิลปินขึ้นมาอย่างเดียว แต่มันสร้างความเข้าใจของคนดู ของคนที่อยากจะสนับสนุนงานศิลปะ ของคนที่จะยืนเคียงข้างกับการทำงานสร้างสรรค์ของศิลปินด้วย เราว่ามันเกิดขึ้นมาเป็นระบบมากขึ้น ผ่านตัวเเทนอย่าง curator หรือตัวแกลเลอรี่เอง หรือตัวมิวเซียมเองเอง รวมถึงนักวิจารณ์ นักวิชาการทางด้านศิลปะ คือมันไปด้วยกันทั้งระบบ 

อย่างนักวิชาการ นักวิจารณ์ทางด้านศิลปะก็ไม่ได้ผูกขาดองค์ความรู้ทางการวิจารณ์อยู่กับคนไม่กี่คนแล้ว ซึ่งในปัจจุบันเราก็จะเห็นว่ามีนักวิชาการหรือนักวิจารณ์ทางด้านศิลปะเกิดขึ้นมากมาย และหลายคนที่ไปเรียนต่างประเทศมาก็มีองค์ความรู้ที่ร่วมสมัยขึ้นกว่าสมัยก่อนเยอะ การบริหารจัดการโลกของศิลปะ โลกของธุรกิจนี้จึงมีทัศนคติ มีวิธีการมองอะไรหลายอย่างที่เปลี่ยนไป คือสมัยก่อนเรายังมองว่าศิลปะเป็นอาหารทิพย์ทางจิตใจ ศิลปินไม่ต้องร่ำรวย ไม่ต้องมีเงินหรอก เเต่จริงๆ เเล้วมันไม่ใช่ 

ซึ่งในปัจจุบันเราก็จะมองว่าในโลกของศิลปะเองมันมีระบบ มีกลไก มีการตลาด มีทุน มีการเมือง มีทุกอย่างเหมือนที่โลกอื่นๆ เป็น ในโลกของศิลปะก็เป็นเบบนั้นเหมือนกัน เเล้วพอมันโตขึ้นก็ช่วยปรับทัศนคติของคนไทย ทำให้เรามองเห็นภาพได้กว้างมากขึ้นว่าไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เเค่ในกรอบของศิลปะที่เหมือนกับเป็นโลกของคนบ้า หรือว่าเป็นโลกของคนอิ่มทิพย์อะไรเเบบนี้แล้ว ศิลปะถูกทำให้ดึงเข้ามาใกล้กับชีวิตของทุกคนมากขึ้น เเล้วศิลปะเองมันก็เป็นชีวิตเเบบปกติธรรมดาทั่วไป 

พอทัศนคติของคนในสังคมไทยเราเปลี่ยนไป การทำงานศิลปะมันก็ง่ายขึ้นอย่างนั้นหรือเปล่า

ใช่ มันก็ได้รับรู้มากขึ้น มีความเข้าใจมากขึ้น

ตรงนั้นเป็นเหตุผลหนึ่งที่คุณคิดว่าจะกลับมาทำงานศิลปะในตอนนี้ เพราะทุกอย่างมันเอื้อต่อการทำงานศิลปะมากขึ้น หรือเป็นเพราะรู้สึกว่าอยากขยายงานเขียนไปสู่ศิลปะเเขนงอื่นเท่านั้น

ไม่ครับ ไม่เกี่ยว คือการที่เรากลับมาทำงานศิลปะมันเหมือนกับ (นิ่งคิด) เเฟนเก่า (หัวเราะ) เป็นเหมือนแฟนเก่าที่เลิกร้างกันไปตั้งเเต่เรียนจบใหม่ๆ เเล้วก็ไปหาเครื่องมือ เครื่องไม้อื่นในการทำงานศิลปะ เพราะเราเองก็ไปพูดรู้เรื่องกับการเขียนหนังสือ แต่ตอนที่ทำงานทัศนศิลป์นี่คือพูดไม่รู้เรื่องนะ (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าจะเอาสิ่งที่มันอยู่ในตัวเอง ไอ้พวกความคิด หรือว่าระเบียบวิธีการที่เราคิด ที่เรามองโลก ที่เรารู้สึกกับสิ่งต่างๆ รอบตัวถ่ายทอดออกมาผ่านมีเดีย หรือ Visual art ยังไง เพราะเราพูดไม่รู้เรื่องไง ก็เลยหาทางออกไม่ได้ ก็เลยเหมือนกับยอมเเพ้ เลิกร้างกัน แล้วก็หันไปหาวรรณกรรม ซึ่งก็อยู่กับวรรณกรรมมาเกือบ 20 ปี 

แต่ในช่วง 6-7 ปี หลังมานี้ เราขอเรียกว่าทศวรรษหลังกระเเสเคลื่อนไหวของศิลปะ มันทำให้เกิดการร่วมมือกัน เกิดการทำงานร่วมกันเป็น Corporation มากขึ้น โลกของศิลปะมันไม่ได้เดินเเยกกันอีกต่อไปเเล้ว เมื่อก่อนคนทำทัศนศิลป์ก็เเยกไป คนเขียนหนังสือก็เเยกไป คนทำเวทีก็เเยกไป คนทำละครก็เเยกไป เเต่สิบปีหลังที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าความเคลื่อนไหวของศิลปินทุกๆ อย่างกลับเข้ามาหากัน และทำงานร่วมกันบ่อยขึ้น เราจะเห็นว่าโลกมันเลือนเส้นเเบ่งขอบเขตของศิลปะ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกำจัดสถานะของมันว่า อันนี้คือวรรณกรรม อันนี้คือจิตรกรรมอะไรเเบบนี้ เเต่ตอนนี้มันเป็นองค์รวมของกันเเละกัน ซึ่งมันเป็นคำถามสำหรับตัวเราเองด้วยว่าการทำงานเขียนมาเกือบ 20 ปีเนี่ย เราเริ่มรู้สึกว่าต้องการผลักขอบเขตหรือว่าไอ้ตัวเส้นเเบ่งของศิลปะต่างๆ ยังไง และสามารถที่จะเอาวรรณกรรมเข้าไปเชื่อมกับศิลปะอื่นๆ ได้ยังไง

พอเกิดคำถามเเบบนี้มันก็ค่อยๆ พัฒนาหรือทำให้มันกลายเป็นจริงขึ้นมา เเล้วทัศนศิลป์เป็นสิ่งที่เรามีติดตัว เป็นเเฟนเก่าที่เราจดจำ (หัวเราะ) เพราะงั้นมันเป็นสิ่งที่เรารู้จักอย่างดีตั้งแต่ก่อนที่จะมาเขียนหนังสือ เราเลยเลือกที่จะกลับมาสื่อสารทางด้านทัศนศิลป์อีกครั้ง 

คิดว่าพื้นที่จัดแสดงศิลปะ มีความจำเป็นมากขนาดไหนสำหรับคนที่ทำงานศิลปะ ในเมื่อเราก็มีพื้นที่ออนไลน์ที่สามารถเผยเเพร่ผลงานของตัวเองได้ ซึ่งศิลปินหลายคนก็เเจ้งเกิดจากพื้นที่ออนไลน์ 

มันก็ยังสำคัญนะ แกลเลอรี่ก็เป็นแพลตฟอร์มอันหนึ่ง พื้นที่ทางออนไลน์ก็เป็นแพลตฟอร์มอันหนึ่ง เเต่ว่า(นิ่งคิด)การปรากฎของฟอร์มหรือของงานศิลปะชิ้นหนึ่งถ้าได้อยู่ในพื้นที่ที่เป็นโลเคชั่นของมันจริงๆ  มันก็ดีกว่า โดยอาจจะไม่ใช้เฉพาะแค่ในตัวแกลเลอรี่อย่างเดียว ศิลปะอาจจะอยู่ในพื้นที่สาธารณะหรืออยู่ในพื้นที่อื่นตามเเต่ตัวคอนเซปต์หรือไอเดียของศิลปินจะพาไป คือยังไงก็ตามสำหรับเรามองว่าการเห็นงานจริงๆ ด้วยตาตัวเองยังเป็นสิ่งที่สำคัญเเละจำเป็นมาก เพราะว่าในโลกออนไลน์เป็นอีกโลกหนึ่ง มันเป็นเเค่โลกที่เสมือน เเล้วสุนทรียะมันมีคุณค่าที่เราต้องตั้งคำถามกับมัน ซึ่งเเน่นอนถ้าเป็นงานประติมากรรม คุณไปถ่ายรูปเเล้วแปะไว้ในออนไลน์ คุณจะเห็นปริมาตรของมันไหม นอกจากเห็นเเค่ภาพปรากฏที่เกิดขึ้น เเล้วภาพที่ปรากฏก็ถูกคัดเลือกโดยใครอีก 

สิ่งที่ปรากฏทั้งหมดที่เป็น Visual ที่เป็นภาพ มันมีสถานะของพื้นที่ที่ต้องถูกตั้งคำถามว่าเราเห็นผ่านใคร เพราะฉะนั้นพื้นที่เสมือนกับพื้นที่จริงเราคิดว่ามันต่างกัน อย่างเรากลับมาทำงาน Painting มันก็เห็นชัดเลยว่าห้องงานเพ้นท์เนี่ยที่ยุ่งกับเรื่องสีสัน เรื่องอะไรต่างๆ คือการที่เราเห็นผลงานนั้นด้วยตากับที่เราเห็นผ่านรูปภาพในโลกออนไลน์มันไม่เหมือนกันนะ มันไม่มีวันเหมือนกัน เเล้วกล้องที่ถ่ายมาสีก็ไม่เหมือนกัน 

เราเองวาดรูปเเล้วหยิบโทรศัพท์มาถ่ายรูป มันก็ไม่ใช่ภาพที่เราวาดเเล้ว เรามองภาพที่ตาตัวเองกับกล้องที่ถ่ายมันก็ไม่เหมือนกัน เเล้วคิดว่าหลายๆ อย่างในโลกออนไลน์ ศิลปินหลายๆ คนในโลกออนไลน์สำหรับเราในฐานะที่เป็นศิลปินคนหนึ่ง เราเองก็ไม่เชื่องานเขาที่ได้เห็นจากรูปภาพที่เห็นในออนไลน์นะ จนกว่าเราจะได้เห็นงานจริงว่าแปลนเขาเป็นแบบไหน ทักษะการทำงาน สิ่งที่เขาใช้ชั่วโมงในการเขียนรูป ความทุ่มเทของเขามีมากเเค่ไหน เราจะสัมผัสมันได้จากการเห็นงานจริงเท่านั้น 

ในงานศิลปะมันมีมิติที่ลึกซึ้งกว่านั้นที่คุณจะต้องไปดูงานจริง เเล้วเราว่าในโลกออนไลน์มันถูกลวงตาด้วยพื้นที่ของโลกออนไลน์เยอะเหมือนกัน ไม่ใช่เเค่ในเรื่องศิลปะนะเเต่เป็นเรื่องอื่นๆ ในชีวิตจริง เรื่องประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งภาพมันไม่ได้บอกความเป็นจริง มันไม่บอกอดีต บอกปัจจุบัน หรือบอกอนาคต ในโลกออนไลน์มันเป็นอะไรที่ไม่ได้บอกอะไร มันไม่เหมือนกับงานศิลปะที่เราต้องสื่อสาร ต้องอยู่กับอีกพื้นที่หนึ่ง 

ทราบมาว่าการจัดนิทรรศการเดี่ยวของคุณสองครั้งนั้น มีการเลือกแกลเลอรี่จัดแสดงให้ช่วยเสริมผลงานด้วย และก็มีการจัดเตรียมอะไรหลายอย่างด้วยตัวเอง แต่ในการทำงานจริงๆ ทางแกลเลอรี่ต้องทำหน้าที่นี้หรือเปล่า

ใช่ จริงๆ เเกลเลอรี่ต้องทำหน้าที่นี้ เเต่ว่าศิลปินไทยก็ต้องทำเองหมดนะ (หัวเราะ) คือบางทีเราก็ไม่ได้เจอคนที่ได้ร่วมงานด้วย คนที่เขาจะสามารถมองเห็นในสิ่งที่เรามองไม่เห็น ช่วยเหลือเราในสิ่งที่เราไม่มีความรู้หรือความเข้าใจในด้านนั้นๆ ซึ่งมันต่างกับระบบของต่างประเทศที่เขามีบุคลากรที่มีคุณภาพในทุกๆ สายงาน อย่างงานนักเขียนเราก็ต้องทำเองหมดตั้งเเต่ดูจัดหน้า ออกแบบปก คือทำทุกอย่างเลย(หัวเราะ) เราจะมีความสุขมากกว่าถ้าเราได้เขียนหนังสือเเค่อย่างเดียว (หัวเราะ) หรือเเม้เเต่งานที่ถูกแปลออกไปเป็นภาษาต่างประเทศ คือต่างประเทศเขาก็มีคนกลางที่จะดูแลผลประโยชน์ ดูเเลสิ่งตรงนี้ให้กับเรา ติดต่อหาสำนักพิมพ์ให้กับเรา นักเขียนมันไม่ต้องทำเอง พอนักเขียนมาทำเองทุกอย่างมันก็เลยคาบเส้นอยู่ระหว่างความเป็น Artist กับ ความเป็นนักธุรกิจ 

แต่ก่อน Artist ก็คือทำงานไปไม่ต้องมาดูเเลเรื่องธุรกิจ เรื่องเงินทอง เพราะว่ามีคนมาดูเเลให้ ก็เลยดูเหมือนว่า Artist หยิ่ง ไม่เเตะต้องเงินทองเเบบนั้น(หัวเราะ) เเต่ในปัจจุบันในร่างของ Artist คนหนึ่งดูเหมือนว่าต้องทำทุกอย่างเลย อาจเพราะว่าเรายังไม่เจอคนที่จะเข้ามาทำงานทุกอย่างกับเราหรือเเบ่งเบาภาระต่างๆ ของเราไปได้ หรือว่าการทำหน้าที่เเบบนี้มีต้นทุน มีรายได้ มีรายจ่าย เขาเองก็ไม่ได้เข้ามาทำให้เราฟรีๆ เราเองต้องให้ค่าตอบเเทนการทำงานกับเขาในส่วนนี้ และการทำงานร่วมกันในระบบเเบบนี้มันยังไม่เกิดขึ้นเต็มวงจรในเมืองไทยเท่าที่ควร อาจจะมีกับศิลปินบางคนเเต่ไม่ใช่ทุกคนครับ

ละครเวที ‘ปรารถนา : ภาพเหมือนการเข้าสิง’ กับประสบการณ์ไปแสดงที่โตเกียวและปารีสนั้นผลตอบรับแต่ละประเทศเป็นอย่างไร เห็นภาพสะท้อนของการให้ความสำคัญด้านศิลปะในประเทศนั้นๆ ไหม

ได้รับการตอบรับดีมาก ที่ไทยก็ดีนะ เเต่ว่าความตื่นตัว ความกระหายในศิลปะ ความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องของการสร้างสรรค์เนี่ยต่างประเทศเขามีมากกว่า มันเหมือนกับว่าในต่างประเทศศิลปะกลายเป็นชีวิตของเขาไปเเล้ว ในบ้านเราถ้าเบื่อ เซ็งเเล้วไปเดินสยามผ่อนคลาย ในต่างประเทศเขาก็ผ่อนคลายชีวิตเขาด้วยกิจกรรมทางศิลปะ เช่น ไปดูละคร ไปดูงานศิลปะ ไปฟังดนตรี คือมันเป็นเรื่องเรียบง่ายมากในต่างประเทศ เเล้วศิลปะมันเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเขา มันอยู่ทุกที่ โดยไม่ได้ถูกเเบ่งเเยกว่าศิลปะจะต้องอยู่ในแกลเลอรี่ แต่มันรวมกันหมดเลย และเป็นสุนทรียะที่รัฐให้กับสังคมได้ เพราะฉะนั้นตอนเราแสดงที่ไทยก็จะเห็นแค่คนในเเวดวงศิลปะมาดูละคร เเต่ว่าในต่างประเทศคนในเเวดวงอื่นๆ ทุกสาขาอาชีพเขามาดูด้วย ไม่ว่าจะเป็นเเม่บ้าน นักกฏหมาย ทันตเเพทย์ ซึ่งมันหลากหลายจริงๆ เพราะงั้นตอนที่ไปแสดงที่ปารีสหรือว่าที่ญี่ปุ่น เราได้เห็นสิ่งพวกนี้ 

ถ้ามองในเเง่ของพื้นที่จัดเเสดงศิลปะความพร้อมของที่ต่างประเทศกับของที่ไทยเป็นอย่างไร 

ของต่างประเทศมันก็ต้องพร้อมกว่าสิ อย่างญี่ปุ่นคือเล่นที่โรงละครเขามีความพร้อมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากร ถ้าเราพูดถึงโรงละครมันก็ต้องเป็นโรงละครมีทั้งคนที่อยู่ข้างหน้าเเล้วก็คนที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะต้องทำให้ทุกอย่างมันลื่นไหลและดำเนินไปได้โดยไม่รบกวนกันเเละกัน

ตอนเราไปดูโรงละครครั้งแรกคือเเบบ โอ้โห เพราะข้างในมันเหมือนเป็นอีกอานาจักรหนึ่ง มีชั้นใต้ดินหลายชั้น  มีพื้นที่ให้กับสิ่งต่างๆ มีครบ มีพร้อมหมด เเต่ไม่วุ่นวายนะ เพราะทุกอย่างถูกจัดเป็นระบบเพราะงั้นเวลาเล่นเสร็จ 11 รอบ ภายในเวลา 1 ชั่วโมงโรงละครนี่คือโล่งหมดเเล้ว โต๊ะเก้าอี้ต่างๆ ถูกเก็บออกหมด เเม้เเต่ไฟทั้งหมดที่เซตเอาไว้ ก็มีคนมาจัดการออกไปเรียบร้อยเสร็จสรรพ ทำงานกันเป็นมืออาชีพมาก

เเต่ที่ไทยนี่ทำกันเองหมด ตี2 ตี3 ยังนั่งคุม นั่งเก็บงานกันอยู่เลย (หัวเราะ) เพราะงั้นการทำงานมันต่างกันมาก และบ้านเราเองก็ไม่ได้มีบุคลากรมากมายขนาดนั้น เราไม่สร้างบุคลากรมากมายขนาดนั้นขึ้นมาด้วย เเละก็ไม่ได้มีค่าตอบเเทนที่สมเหตุสมผลให้กับบุคลากรเหล่านั้น หรือทำให้เขารู้สึกว่าเป็นงานที่น่าภูมิใจหรือมีเกียรติ

ส่วนที่ปารีสจะต่างออกไปเพราะเราเข้าไปเล่นที่ Centre Georges Pompidou ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์กลางของโลกศิลปะที่คนมาดูส่วนใหญ่เป็นคนในวงการศิลปะทั้งภูมิภาคยุโรป คือไม่จำกัดอยู่เเค่ในปารีส เพราะงั้นทุกรอบที่เราเล่น พอเล่นเสร็จเเล้วก็จะมีการเดินไปแนะนำตัวกับคนนู้นคนนี้ บางคนเขาก็บอกว่าเป็นผู้กำกับของพิพิธภัณฑ์นี้นะ คนนี้เป็นผู้กำกับมาจากสเปนนะ คนนี้มาจากเนเธอร์เเลนด์ คนนี้มาจากเยอรมันอะไรเเบบนี้ คือดูเหมือนว่าการเดินทางของเขาเพื่อที่จะมาที่นี่มันง่ายมาก คนที่ทำงานในสาขาเดียวกัน ในเเวดวงเดียวกันพร้อมใจกันที่จะเข้ามารุมยำ (หัวเราะ) มารุมให้ความสนใจกับเราตรงนี้ ซึ่งมันก็สนุกอีกเเบบ

และสมมุติว่ามี Project manager มาดูงานเเสดง เเล้วเขาเห็นนักเเสดงคนนี้มีอนาคต น่าสนใจอยากร่วมงานด้วย หลังแสดงเสร็จเขาก็คุยกันเลยนะว่าสนใจไหม ทำโครงการอะไรอยู่ อยากเอาละคร Company ของตัวเองมาร่วมงานนี้ไหม คือมันสนุกมาก ในขณะที่ของเรายังเป็นลักษณะเเบบนิ่งๆ ตายๆ อยู่ อย่างเปิดงานแล้วเชิญคนมาดู เปิดงานจบก็เลิก ระบบที่จะดำเนินต่อ เช่น การติดต่อเจรจาคนที่ให้ความสนใจจากแหล่งต่างๆ สิ่งต่างๆ มันไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไหร่

เหตุผลเป็นเพราะบ้านเราไม่ได้ให้การสนับสนุนศิลปะอย่างที่ต่างประเทศทำหรือเปล่า และก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่พื้นที่จัดแสดงศิลปะของรัฐน้อยด้วยไหม

เราต้องดูด้วยว่าสุนทรียะของรัฐคืออะไรด้วย ต่อให้ศิลปินในประเทศทำงานน่าสนใจเเค่ไหน ถ้ามันพูดคนละเรื่องกับที่รัฐต้องการ รัฐก็ไม่เอา เขาก็มีงบ มีทุน เเต่ถ้าไม่ใช่เรื่องที่เขาต้องการ เขาก็ไม่ให้ เรามองว่ามันคนละสุนทรียะ คนละนโยบาย เขารับนโยบายจากรัฐบาลยุคปัจจุบันมาว่าเขาจะทำเรื่องอะไร จะผลักดันเรื่องอะไร และในโครงการต่างๆ ที่มีคนส่งเข้ามาขอทุน เขาก็จะสำรวจว่าโครงการนั้นมันไปในทิศทางเดียวกับที่เขาร่างนโยบายไว้ไหม เพราะฉะนั้นไม่มีวิธีเเบบอื่นที่จะเข้าถึงเเหล่งทุนของรัฐได้เลย

คือทำงานศิลปะก็เหนื่อยอยู่เเล้ว ยังต้องมาเหนื่อยเขียนโครงการขอเงินอีก (หัวเราะ) เพื่อที่จะบอกว่างานฉันน่าสนใจนะ สนับสนุนฉันหน่อย เราว่ามันยังน้อยไปที่รัฐจะทำงานในเชิงรุก คงทำได้เเค่เชิงรับอย่างเดียว รับสนองนโยบายรัฐบาลปัจจุบันเท่านั้น เเล้วก็รับในฐานะที่ไม่เดินออกไปหาเพชรเม็ดงามมาเจียระไน หรือไม่เเม้เเต่จะสร้างเพรชเม็ดงามด้วยซ้ำ เเค่นั่งเฉยๆ เเล้วรอให้เขาเดินเข้ามาพรีเซนเตอร์ตัวเอง (หัวเราะ) นานๆ ทีถึงจะทำเเบบเชิงรุกเเต่สำหรับเราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเชิงรุก นอกจากว่าเขาทำงานจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างหรือถูกยอมรับในระดับการทำงานนานาชาติ แล้วถึงมาให้รางวัลอะไรก็ว่าไป (หัวเราะ)

จริงๆ วิธีหนึ่งที่เราอยากให้รัฐทำงานเชิงรุกก็คือ การพยายามที่จะมีสายตาอันยาวไกลที่จะมองเห็นศักยภาพของศิลปินคนใดคนหนึ่ง เเล้วผลักดันให้เขาได้เข้าถึงศักยภาพอันนั้นของตัวเอง เเต่ว่ารัฐไม่ทำหรอก รัฐมีงบให้เป็นปี ไม่สามารถเลี้ยงใครเหมือนที่พ่อเเม่เลี้ยงลูกจนเห็นการเติบโตได้ เพระฉะนั้นความผูกพันมันไม่มีหรอกระหว่างศิลปินกับรัฐ

ทุกวันนี้พื้นที่จัดแสดงศิลปะก็อาจจะมีน้อยอยู่เเล้ว หรือที่มีอยู่ก็ไม่ค่อยมีคนเข้าไปใช้บริการ คิดว่าพื้นที่เหล่านั้นต้องทำอย่างไรถึงจะดำรงอยู่ได้

(นิ่งคิด) อยู่ได้สองทางนะ ทางเเรกคือการรับรู้ การรับรู้ก็คือมีคนเข้ามาดูงานศิลปะ เเต่ทางจริงๆ ที่อยู่ได้ คือคนที่ซื้องาน เเล้วยิ่งในโลกของงานศิลปะสมัยใหม่นี่งานเเบบ ‘อะไรหว่า’ เยอะมากนะ (หัวเราะ) มันเเบบขายไอเดีย ขายคอนเซ็ปท์ จับต้องเป็นวัตถุไม่ได้ ยิ่งเเกลอรี่ไหนอยู่ได้นั่นเเสดงว่ามีคนบริหารงานที่เจ๋งมาก สามารถที่จะหาแหล่งทุน หรือว่าสามารถทำให้ตัวแกลเลอรี่มันยืนอยู่ได้ คือมันต้องมีคอนเนกชั่นค่อนข้างสูง มีศักยภาพค่อนที่สามารถดึงความสนใจจากที่กลุ่มคนที่ไม่ใช่เเค่คนในประเทศ เเต่เป็นต่างประเทศด้วย เเล้วมันจะอยู่ได้ด้วยการเเลกเปลี่ยนและร่วมมือกัน เห็นไหมว่ามันคือไอเดีย คือคอนเซ็ปท์เดียวกันกับช่วงสิบปีที่ผ่านมา คือการร่วมมือกันเพื่อทำให้มันเกิดขึ้น มันไม่สามารถทำเองคนเดียวได้แล้ว แต่ต้องร่วมมือกันจากหลายทิศทาง

การร่วมมือกันของกลุ่มจุกๆ นั้นก็เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนด้านศิลปะในรูปแบบนั้นใช่ไหม

ใช่ครับ ‘จุกๆ’ เป็นกลุ่มคนทำงานศิลปะที่รวมตัวกันด้วยความอึดอัด ขัดข้องใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เเล้วเรารวมศิลปินที่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกันเพื่อที่จะทำงานศิลปะ และเราต้องการให้จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่เราจะสร้างชุมชนของคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ชุมชนของคนที่มองเห็นเหมือนกันว่าเราอยู่ในสภาพบ้านเมืองที่กูต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเองโว้ย ถูกรังเเก ถูกกระทำ ถูกหัวเราะใส่ เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด เป็นบ้านเมืองที่เเบบ Magicalrealism กันทุกวันนี้ ในตอนนี้มี 20 กว่าคนเเล้ว เเต่เราต้องการมากกว่านั้น เป็นประชาชนทั่วไปหรือใครก็ได้ที่รู้สึกแบบเดียวกัน เราจะมาร่วมหุ้นกัน เราจะขายหุ้นจุกๆ ตามกำลังศรัทธา

ถ้าถามว่าเป็นสมาชิกจุกๆ ไปทำไม ก็เพื่อที่เราจะได้มองเห็นกันเเละกันชัดขึ้น เวลาที่สมาชิกคนไหนต้องการความช่วยเหลือ ใครกำลังเดือดร้อน ใครต้องการสิ่งไหน เเล้วมีสมาชิกคนไหนสามารถให้สิ่งนั้นได้ เติมสิ่งนั้นได้ ปลอบประโลมกันได้ เราสามารถที่จะช่วยตรงนั้นได้ เรียกว่าเหมือนเป็นภาคีศิลปะใหญ่ๆ ละกัน

นอกจากนี้เราก็มี JUXJUX ART BOX ที่รวบรวมผลงานของศิลปินยุคเริ่มต้นประมาณเกือบ 20 ท่านเอาไว้ในหนึ่งกล่องเดียว โดยทำเป็น Special edition เเค่ 100 กล่องเท่านั้น ราคาอยู่ที่ 19,049.9  (ตัวเลขมาจากวันปฏิวัติรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549) สามารถสั่งซื้อได้ที่ juxjux.com รายได้ทั้งหมดเราจะนำไปจัดเทศกาลศิลปะที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นปลายปีหน้า หรือคนที่สนใจกลุ่ม เเต่ไม่ได้มีเงินทุนขนาดนั้นเราก็มีใบหุ้นให้ซื้อหุ้นได้ 

หากสามารถขยายจำนวนสมาชิกได้ตามเป้าหมาย มองภาพเทศกาลศิลปะที่จะจัดขึ้นในนามจุกๆ ไว้อย่างไร 

เราต้องการดูหน้าตาของศิลปินหลายๆ สาขาที่เข้าร่วมกับเราก่อนว่ามีใครบ้าง เเล้วค่อยมาคุยกันว่า คุณมีไอเดียไหม หรือคุณมีอะไรที่อยากจะสร้างสรรค์ใน Art festival ไหม ซึ่งธีมงานอาจจะจัดเป็นหลายวันเลย ศิลปินก็อาจจะไปคิดไอเดีย เเต่ละซุ้มให้มันเป็นศิลปะ หรือเกิดในเเง่เเค่เป็นตัวงานศิลปะ เเต่เรารวมงานศิลปินหลายๆ สาขาที่เขาอาจจะมีทั้งภาพยนตร์ฉาย มี Performance มาเล่น มี Visual artist มาดีไซน์ให้พื้นที่ในเทศกาลเหมือนเป็น Art space ขนาดใหญ่ เเล้วเราจะเก็บเงินคนที่เข้ามาดูด้วยระบบเเบบใหม่ที่เป็นศิลปะอีกแบบหนึ่งก็ได้ โดยไม่ได้ใช้ธนบัตรเเบบที่เราใช้จ่ายกัน คือมันสามารถเป็นไอเดียคอนเซ็ปท์ศิลปะได้ตั้งเเต่เริ่มคิดยันจบงานเลย โดยเปิดโอกาสให้กับคนที่มาร่วมงานมีส่วนร่วมต่อกันได้ด้วย และการทำงานให้มีประสิทธิภาพกับยุคปัจจุบันมันไม่ใช่เเค่พื้นที่ในความเป็นจริงอย่างเดียว พื้นที่ในโลกเสมือนเราก็จะทำ เราอาจจะมีช่องพอดแคสต์ หรือช่อง YouTube ที่เลคเชอร์เกี่ยวกับศิลปะที่น่าสนใจ คือเราไม่ได้ต้องการให้กลุ่มจุกๆ ที่สร้างขึ้นมาเป็นสถาบันอันหนึ่ง เเต่ว่าเราต้องการทำให้จุกๆ เป็นประตูสำหรับไหลผ่านทางศิลปะครับ


Contributor