05/05/2020
Life

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ โลกการทำงานหลังยุคโควิด-19 เมื่อ ‘งาน’ ไม่ได้ติดอยู่กับ ‘เมือง’ อีกต่อไป

ณัฐพล ศรีเมือง
 


โลกหลังวิกฤตโควิด-19 จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ทุกคนอยากรู้

หนึ่งในเรื่องที่หลายคนอยากรู้ก็คือ โฉมหน้าของการทำงานในเมืองนับจากนี้ ซึ่งหนึ่งใน New Normal ยุคโควิด-19 ก็คือการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home 

เราอยากรู้ว่าหลังจากนี้ บริษัทต่างๆ จะมีทิศทางในการทำงานอย่างไร ความจำเป็นของการมีออฟฟิศจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะไหน เพราะทำงานที่ไหนก็ได้ หรือวิถีเช่นนี้จะไปกระตุ้น Gig Economy ซึ่งก่อนหน้านี้กำลังมีบทบาทอย่างมากอย่างไร นี่เป็นเรื่องของคนทำงานในเมืองจำนวนหนึ่ง

ขณะเดียวกันไม่ใช่ทุกคนจะย้ายตัวเองไปทำมาหากินบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ดังที่เราเห็นว่า คนที่อาศัยอยู่ในเมืองอีกจำนวนมากต้องตกงานและระเห็จกลับภูมิลำเนา สิ่งนี้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับเมืองบ้าง และในเมื่อเมืองไม่มีงานไม่มีเงินอีกต่อไป คนเหล่านี้ยังมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองอีกหรือไม่  

เราชวน อ.ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ หนึ่งในนักวิจัยจากโครงการวิจัย ‘คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย’ พูดคุยถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำงานในเมืองในยุคโควิด-19 และประเด็นที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางแอปพลิเคชัน Zoom ซึ่งน่าจะกลายเป็น New Normal ของการสัมภาษณ์เช่นกัน

หลังจากเกิดโควิด-19 ผลกระทบกับตัวคุณเองในแง่การทำงานเป็นอย่างไรบ้าง และมีประสบการณ์ต่อการ Work from home อย่างไร

ส่วนตัวไม่ได้ประสบปัญหามาก เพราะโชคดีว่าชอบทำงานคนเดียวอยู่แล้ว ถ้าได้ทำงานที่บ้านคือเป็นอะไรที่ชอบอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้ติดขัดอะไร ความโชคดีอีกอย่างคืออยู่กับครอบครัว เขาก็ช่วยเราทำอาหารหรือว่าออกไปซื้อกับข้าวให้ได้ แต่ถ้าพูดถึงโดยทั่วๆ ไป ประเด็นที่มันเห็นชัดขึ้นก็คือว่า เพื่อนร่วมงานหลายๆ คนที่เดิมอาจจะไม่ชินกับการทำงานผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีมากนัก ก็เหมือนโดนบังคับให้ต้องทำงานผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้เห็นว่ากระบวนการการทำงานเริ่มมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป คือโดนสถานการณ์บังคับให้ต้องทำงานผ่านเทคโนโลยี ผ่านเครื่องมือดิจิทัล ผ่านคลาวด์ ไปโดยปริยาย แนวโน้มการทำงานทางดิจิทัลเหมือนโดนเร่งเครื่องด้วยเหตุการณ์นี้

ตรงนี้ไปช่วยเร่ง Gig Economy ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่พูดถึงในงานวิจัยคนเมือง 4.0 อย่างไรบ้าง

เวลาพูดถึง Gig Economy มันมี 2 ระดับด้วยกัน คือ Gig Economy ที่เป็นระดับแรงงานขั้นพื้นฐาน อย่างเช่นขับมอเตอร์ไซค์ขนส่งอาหาร หรือว่าเป็นแม่บ้าน เรียกผ่านแอปพลิเคชันแล้วก็มาทำงานที่บ้าน

ส่วน Gig Economy อีกประเภทหนึ่งคือ ทำงานออนไลน์ หรือเป็นฟรีแลนซ์ออนไลน์ ซึ่งคิดว่าโควิดมันเร่งเครื่องในส่วนหลังมากกว่า มากไปกว่านั้น คนที่ไม่ใช่ Gig Workers ก็คือเขาทำงานประจำนี่แหละ แต่กลายเป็นว่าอยู่รีโมทก็ทำงานได้ อย่างตอนทำงานอยู่นี่ ทีมงานน้องๆ ที่ทำอยู่ด้วยกัน บ้างก็อยู่ต่างประเทศ และอีกหลายคนก็อยู่ต่างจังหวัด ในมุมนี้มันเหมือนส่งเสริมให้โอกาสการทำงานที่อยู่รีโมทเป็นไปได้มากขึ้น 

ทีนี้ถ้ากลับมาในมุมที่เป็น Gig Workers คือเอา portfolio ของตัวเองอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ รับงานจากต่างประเทศหรือรับงานจากที่โน่นที่นี่ โดยที่เราไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าคนนั้นเป็นใครหรือมาจากไหน คือขอให้ฉันส่งงานแล้วฉันก็ได้เงินค่าตอบแทนมา ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าผลกระทบมันขนาดไหน เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าโควิดมันเกิดขึ้นเร็วมาก แล้วการทำงานบนแพลตฟอร์มอีโคโนมีเชิงที่เป็นฟรีแลนซ์ยังคงมีช่องว่างเชิงทักษะ ที่ต้องอาศัยเวลาในการเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวอยู่ จึงยังไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้จะมากน้อยขนาดไหน

สมมุติว่าปิดเมืองนานขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะโดนกระทบมากขึ้น เมื่อไหร่ที่มันกระทบมาถึงเซกเตอร์ที่คนในระดับ แรงงาน white collar ได้รับผลกระทบ คือมีพนักงานโดนเลย์ออฟมากขึ้น เข้าใจว่าคนกลุ่มนี้อาจจะเริ่มเข้ามาเห็นว่าแพลตฟอร์ม economy อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหางานได้ เพราะการจ้างงานเป็นครั้งคราวสามารถช่วยประหยัดรายจ่ายขององค์การได้มากกว่าการจ้างเต็มเวลา แต่ว่าถ้าเศรษฐกิจทั้งโลกมันฝืดเคืองรุนแรงมากจริงๆ มันก็คงจะแย่ตามๆ กัน โครงการจ้างงานโดยรวมก็อาจจะน้อยลงไปเลย คนเหล่านี้ที่อยู่บนแพลตฟอร์มก็อาจจะหางานไม่ได้ด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน Gig Economy ที่เป็นระดับแรงงานบริการขั้นพื้นฐานอย่างที่บอก ถ้าขับมอเตอร์ไซค์หรือว่าเป็นแม่บ้าน ส่วนหนึ่งคือมันถูกพัฒนามาด้วยพื้นฐานที่ว่า คุณไม่สามารถทำงานแบบนอกสถานที่ได้ คือถ้าจะขับรถส่งอาหาร ก็ต้องขับอยู่กับรถ เราไม่สามารถขับออนไลน์ได้

แต่ว่าประเด็นที่มันตามมาก็คือ ถ้าเกิดว่าเรื่องอื่นๆ เซอร์วิสอื่นๆ ที่ต้องการคนนี่แหละ เช่น ช่างตัดผม ครูดูแลเด็ก หรืออื่นๆ แต่เราไม่รู้ว่าจะไปจ้างจากไหน เพราะเราไม่สามารถที่จะไปเรียกคนโน้นคนนี้มาได้โดยที่เราเห็นหน้าเขาก่อน แพลตฟอร์มก็คงเข้ามาตอบโจทย์ได้บางส่วน แต่ว่ามันจะสามารถพัฒนาทันไหม ช่วงโควิดนี้มันจะนานพอไหม ที่จะทำให้ความต้องการนั้นถูกพัฒนาเป็น market segment ที่คนกระโดดเข้ามาผลิตแพลตฟอร์มพวกนั้นขึ้นมา จริงๆ ก็คงต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง ถ้าตอบคำถามแบบให้ตรงมากขึ้นก็คือว่า ช่วงโควิดนี้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหรือ driving force แต่ว่าระยะเวลาการกักตัวจะเป็นตัวเร่งหรือชะลอการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ แตกต่างกัน แล้วก็ผลกระทบกับแต่ละกลุ่มคนกลุ่มแรงงานนี่ก็คงแตกต่างกันไปด้วย

Work from home หรือ Safe at home นั้น ที่สุดแล้วเป็นเรื่องของคนเมืองส่วนหนึ่ง ขณะที่มีคนอีกจำนวนมาก ที่ไม่ถูกรวมเข้ามา หรือถูกผลักออกไป จากการที่มีคนจำนวนมากตกงานต้องอพยพกลับภูมิลำเนา สิ่งนี้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับเมืองหรือการทำงานในเมือง

อันแรกเลยที่รู้สึกว่ามันชัดมาก คือเหตุการณ์ที่บอกว่า พอเมืองปิดปุ๊บ ทุกคนกลับบ้านที่ภูมิลำเนาของตน นั่นแปลว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาอยู่บ้านนะเวลาเขาอยู่ในเมือง ถูกไหมคะ คือมันชัดมากเลยว่า เมืองนี้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตเขา ไม่มี safety net ให้เขาทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงจิตใจ safety net ของเขาคือการกลับไปอยู่บ้าน กลับไปภูมิลำเนาของตัวเอง ซึ่งนั่นแปลว่า ที่ผ่านมาเราละเลยคุณภาพชีวิตในเมือง ถ้าเขาไม่ได้มีงาน คุณภาพชีวิตเขาไม่ได้ดีกว่าการอยู่ต่างจังหวัดหรือการอยู่ที่บ้านของเขาเอง มีเมืองหลายเมืองทั่วโลกที่พัฒนาผ่านแนวความคิดการเป็น inclusive city เป็นเมืองที่เน้นคุณภาพการอยู่อาศัยของคนในทุกรูปแบบ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่มาจากไหนก็ตาม ตราบใดที่คุณอยู่ในเมืองนี้ ตราบใดที่คุณมีห้องเช่าในเมืองนี้ คุณถือเป็นประชากรหรือ citizen ของเมืองที่เมืองต้องดูแล

เพราะฉะนั้น mindset ของการพัฒนาเมืองที่ผ่านมาแสดงถึงว่า เราไม่ได้มองเมืองเป็นบ้านที่เชิญชวนและอ้าแขนรับแขกให้ทุกคนเข้ามาอยู่กันโดยทุกคนได้รับการดูแลอย่างดี เรามองเมืองเป็นตัวขับเคลื่อน เศรษฐกิจเป็นหลัก เรามองเมืองเป็นแค่พื้นที่ที่เข้ามาหาโอกาส เหตุการณ์ครั้งนี้มันก็เลยเหมือนเผยตัวตนที่แท้จริงว่า อ๋อ จริงๆ แล้วเมืองยังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านให้แก่คนที่มาเยือน เมืองเป็นแค่ที่ทำมาหากิน ซึ่งหลายๆ อย่างก็เลยยิ่งทำให้เห็นชัดว่า นี่แหละ มันเป็นความเหลื่อมล้ำหนึ่งที่ซ่อนอยู่มาโดยตลอด เป็นความเหลื่อมล้ำในเชิงของคุณภาพที่อยู่อาศัย ในเชิงของคุณภาพชีวิต

ความเหลื่อมล้ำตรงนี้ควรนำไปสู่การคิดต่ออย่างไร

คิดว่าในอนาคตอันใกล้ ถ้าผู้ว่าฯ กทม. เริ่มเห็นว่าจริงๆ แล้ว บทบาทของความเป็นกรุงเทพฯ คือการเป็นเจ้าบ้าน คือ กทม.จะต้องเป็นฝ่ายที่พยายามทำให้คุณภาพชีวิตคนเมืองดีขึ้น มันจะเริ่มเห็นประเด็นต่างๆ ที่เขาต้องเริ่มพัฒนา อย่างเช่นการดูแลเวลามีภัยพิบัติเป็นอย่างไร ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนเป็นอย่างไร หรือกระทั่งพื้นที่สาธารณะเป็นยังไงบ้าง

โอเค ตอนโควิด การพูดถึงพื้นที่สาธารณะมันไม่ค่อยเมกเซนส์ แต่ว่าในอนาคตถ้าเราจะทำให้เมืองเป็นบ้านให้ทุกคนได้ บ้านหลังนี้จะต้องบรรลุเป้าหมายในการทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น นั่นแปลว่าพื้นที่สาธารณะต้องมีพอและดีพร้อม ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยต้องมี การสร้างความเป็นชุมชน community ระหว่างคนต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ตอนนี้จริงๆ คนอยู่กรุงเทพฯ เหมือนเป็นคนแปลกหน้าที่มาอยู่ข้างๆ กันเฉยๆ ความผูกพันหรือความรู้สึกว่า กทม. คือบ้านของฉันยังน้อย ความเป็นชุมชนความเป็น community จะเป็นประเด็นหนึ่งที่ช่วยสร้างให้เรารู้สึกว่าเหมือนเรากลับบ้าน 

อย่างไรก็ตามในอนาคต อันหนึ่งที่เริ่มแทรกเข้ามากับปรากฎการณ์โควิด คือ ตอนนี้คนเริ่มทำงานจากที่ไหนก็ได้ เขาทำงานผ่านออนไลน์ได้ นั่นแปลว่างานไม่ได้ติดอยู่กับเมืองอีกต่อไป แต่งานจะติดอยู่กับเทคโนโลยีหรือว่าการสื่อสารมากขึ้น นั่นแปลว่าคนจะมีสิทธิในการเลือกมากขึ้นว่าเขาจะยอมมาอยู่กรุงเทพฯ หรือเปล่า ซึ่งมันก็เป็นผลตามมาว่า ถ้าเกิดว่ากรุงเทพฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตคน สมมติว่าเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับตรงนี้มากขึ้น ถ้าภูเก็ตให้ความสำคัญกับตรงนี้มากขึ้น ถ้าเมืองอื่นๆ ให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ในเมืองไทย แต่รวมถึงต่างประเทศด้วยก็ตาม นั่นแปลว่าคนก็จะเลือกไปอยู่ในที่ๆ คุณภาพของชีวิตตัวเองดีกว่าได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็แปลตามกลับมาว่า จริงๆ แล้วถ้ากรุงเทพฯ มองตนเองเป็นเครื่องมือผลักดันทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ในอนาคตถัดๆ ไป จริงๆ ความเป็นอยู่ของกรุงเทพฯ หรือความเติบโตของเมืองกรุงเทพฯ มันก็อาจจะไม่ได้เป็นภาพอย่างนี้เหมือนเดิมแล้วก็ได้ เพราะว่าถ้าเราไม่ได้ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต คนก็เลือกไปทำงานจากที่อื่นที่คุณภาพชีวิตเขาดีกว่า

อันนี้มันตอบคำถามที่ว่านี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนย้ายแรงงานให้กระจายออกไปได้เลยใช่ไหม

ใช่ แต่ก็เหมือนเดิมคือ มันก็จะกลับมากับประเด็นที่บอกว่า คนไทยมีทักษะที่จะทำงานออนไลน์ได้มากน้อยขนาดไหน หลายคนยังต้องติดทำงานเป็นแม่บ้าน ยังทำงานที่ต้องติดที่ มันก็มีความยากที่เขาจะสามารถที่จะปรับตัวขึ้นมาทำงานออนไลน์

เคยคุยกันกับพี่คนหนึ่งอายุ 50 กว่าแล้ว เขารับทุกอย่างเลย เขาทำตั้งแต่เก็บขยะ เป็นหมอนวด เป็นช่างก่อสร้าง ให้ทำอะไรก็ทำ คือเขาต้องหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ทีนี้ก็เคยถามเขาว่าเคยเรียนทำโน่นทำนี่ไหมตามที่รัฐจัดให้ เขาบอกเคย คือมีอะไรให้เขาเรียนเขาเรียนหมดเลย คือเขาไม่ได้เกี่ยงการเรียน ไม่ได้ไม่ขยัน แต่ประเด็นคือว่า ทำงานฝีมือต่างๆ ไปแล้วมันขายไม่ได้ มันไม่มีตลาดมารองรับ ก็เลยถามเขาว่า ถ้าให้พี่ไปเรียนพิมพ์คอมฯ ถ้าพี่พิมพ์ได้พี่ก็หางานถอดเทปออนไลน์ได้ สามารถนั่งเลี้ยงดูลูกที่บ้านได้ พี่เอาไหม เขาก็บอกเอา คือตราบใดที่เขาได้เงินน่ะเขาเรียนหมด แต่ประเด็นก็คือว่า โอกาสการเรียนอันนั้นน่ะมีมากน้อยขนาดไหนสำหรับคนกลุ่มนี้ บางทีเราอาจจะมองข้ามไปว่า จริงๆ แล้วคนแรงงานในระดับใดก็ตามสามารถจะ skip ช่วงการเรียนที่แบบต้องมาเรียนเลขเรียนอะไร ไม่ต้องก็ได้ แค่เรียนทักษะการพิมพ์ การใช้โปรแกรมง่ายๆ ให้มันได้ก็โอเคแล้วหรือไม่ เขาอาจจะหางานหาเงินได้มากกว่าการทำงานฝีมืออีก 

ตัวแปรหนึ่งของเรื่องการทำงานในเมืองที่เราคุยกันอยู่นี้ก็คือ พื้นที่สาธารณะ อนาคตของการใช้พื้นที่สาธารณะจะเป็นอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้เรื่อง Sharing Economy เติบโตมาก

คิดว่า sharing economy มันสำคัญ คือมันมาคู่กับ ความหนาแน่นของเมือง ว่าแต่ประเด็นที่โควิดมันเผยละกัน ก็คือว่า มันมีลิมิตไหม คือเดิมเราก็จะแชร์ขึ้นไปเรื่อยๆ เราแชร์มันทุกอย่างเลย แชร์รถแชร์บ้าน ซึ่งในมุมหนึ่งมันคือ efficiency หรือประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เพราะว่าถ้าเราแชร์มากขึ้น แปลว่าเราใช้ทรัพยากรน้อยลง เพราะของชิ้นหนึ่งที่เราซื้อมาได้ เราก็แชร์ไปเรื่อยๆ แสดงว่าไม่ใช่ทุกคนต้องมี ของเหมือนๆ กัน แต่ 1 ชิ้นมันสามารถใช้ได้หลายๆ คน การประหยัดทรัพยากรเช่นนี้ก็จะต่อเนื่องกับ sustainability ในเชิงสิ่งแวดล้อมซึ่งยังไงมันก็ยังสำคัญต่อการพัฒนาในอนาคตอยู่

แต่ว่าที่โควิดบอกให้เราเริ่มรู้ก็คือว่า มันมีลิมิตกับการแชร์ไหม เราแชร์ได้แค่ไหนบ้าง อย่างบ้าน ถ้าเรามองว่า โอเค บางคนอาจจะมองว่าบ้านเราเล็กแค่ไหนก็ได้ ขอแค่มีที่ซุกหัวนอนก็พอ แต่มันเล็กแค่ไหนได้จริงๆ หรือเปล่า มันเล็กแค่ไหนที่จะยังทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ อย่างตอนนี้คอนโดที่หลายๆ ห้องก็กลับไม่มีครัวในนั้นล่ะ นั่นแปลว่าคนที่อยู่ในคอนโดก็จะไม่สามารถประทังชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ออกไปไหน คือจะทำอาหารกินเองยังไม่ได้เลย ต้องไปซื้ออาหารข้างนอกกิน เป็นต้น โอเคมันอาจจะไม่ใช่แค่พื้นที่ที่เรามีลิมิต แต่มันคือฟังก์ชั่นต่างๆ ที่เราต้องทำอะไรได้ด้วยตัวเองด้วยทรัพยากรที่เรามีเองบ้างหรือเปล่า

Office space พวกให้เช่าสำนักงานต่างๆ หรือว่าเทรนด์ของการทำงานที่อาจจะเกิดขึ้นกับพวกองค์กรหน่วยงานบริษัทจะเป็นอย่างไร 

อันหนึ่งที่คิดว่ามันจะมาควบคู่กันกับสภาพเศรษฐกิจที่จะแย่ลง ก็คือหลายๆ ธุรกิจคงต้องพยายามที่จะทำให้ตัวเองลีนมากขึ้น พยายามที่จะอยู่รอดด้วยการลดขนาดของตัวเอง ซึ่งพอลดขนาดคนมันก็ลดขนาดพื้นที่ตามไปด้วย ทีนี้โอกาสหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือว่า เราจะเริ่มเห็นหน่วยของออฟฟิศมันเป็นหน่วยที่เล็กลง เดิมบางทีเราอาจจะมองว่า headquarter มันจะต้องเป็นพื้นที่ใหญ่ แต่ว่า sense ของความเป็น headquarter อาจจะไม่ได้สำคัญเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าการทำงานตอนนี้มันกลายเป็นว่า ทุกคนทำงานเป็น pocket เป็น node ที่มีความยืดหยุ่นสูง การทำงานในออฟฟิศสามารถที่จะปรับเปลี่ยนทีมทำงานได้หลากหลายและรวดเร็ว แล้วยิ่งตอนนี้โดนบังคับให้ทุกคนทำงานจากที่บ้าน headquarter ใหญ่แค่ไหนตอนนี้ก็โล่ง แปลว่า headquarter ของบริษัทใหญ่ๆ เขาอาจจะเริ่มคิดว่า หรือจริงๆ เขาไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ใหญ่ขนาดนั้นก็ได้

จริงๆ การปิดเมืองจากโควิดเหมือนเปิดให้มีโอกาสคิดว่า ถ้าเขามีพื้นที่เล็กๆ แต่กระจายอยู่ทุกที่เพื่อตอบรับคนที่ทำงานหลากหลาย อาจจะช่วยสร้างการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็เป็นได้

เพราะฉะนั้น ถามว่าออฟฟิศเองจะเป็นยังไงในอนาคต คงจะตอบยากนะคะ เพราะมันอยู่ที่ rate ของการ adopt ใช้เทคโนโลยีพวกนี้แหละ แต่ว่าความเป็นไปได้ก็คือว่า ถ้าเกิดว่าโควิดมันนานขึ้นเรื่อยๆ คนเริ่มชินกับระบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทต้องเริ่ม adopt นำเทคโนโลยีเข้ามาจับการทำงานจริงๆ มันก็เป็นไปได้สูงที่ว่า เมืองอาจจะไม่ต้อง centralize มากขนาดนี้ มันอาจจะมีโอกาสเกิด sub-CBD อยู่รอบๆ เมืองด้วยก็ได้

co-working space ถามว่าจำเป็นไหมคิดว่าหลังจากนี้ เผลอๆ จำเป็นมากกว่าเดิม เพราะว่าถ้ามันมี gig workers เยอะขึ้น การที่บริษัทก็ลดขนาดของตัวเองลงจ้างฟรีแลนซ์เยอะขึ้น ฟรีแลนซ์เหล่านี้ถ้าเขาทำงานที่บ้านไม่ได้ก็คงต้องหาที่ทำงานอื่น ซึ่งก็คงเป็นพื้นที่ที่ทำให้เช่าได้ชั่วขณะนี่แหละที่เขาจะมานั่งทำงาน แต่ว่าอันนี้คือมองช็อตไกลกว่าโควิดนะคะ เพราะว่าช่วงโควิดคงไม่ make sense เท่าไหร่

คุณคิดว่าต่อไปคนที่จะ survive ในการทำงานในเมืองควรจะเป็นอย่างไร 

ถ้า survive ในมุมหางานได้ เรื่อง digitalization คงเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงได้ยาก คือถ้าเราไม่คอยหันมาใช้เทคโนโลยี หันมาสร้าง Competitive Edge ให้ตัวเอง คือในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่มันเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ เขาเรียกว่า monopolistic competition หรือการแข่งขันแบบผูกขาด ก็คือทุกคนเป็นแรงงานที่แข่งขันกัน แต่ว่าแรงงานแต่ละคนไม่เหมือนกัน คือเดิมยุคก่อนแรงงานทุกคนเหมือนกันเลย ขอให้คุณเป็นคนมีแขน 2 แขน ขา 2 ข้าง พูดได้ คุณก็ทำงานได้เหมือนกับคนอื่น แต่ว่าพอตอนนี้เรา drive ไปที่ service economy มากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าทุกคนเริ่มมีความพิเศษของตัวเอง อย่างคนนี้อาจจะมองว่าเขียนได้ดี อีกคนก็เขียนได้ดีนะแต่เขียนไม่เหมือนกัน คนหนึ่งเขียนนิยายแบบแฟนตาซี อีกคนเป็นนิยายแต่เป็นนิยายแบบเรื่อง specialize ไปด้านอะไรก็ว่าไป แต่ว่า edge เล็กๆ พวกนี้จะทำให้แต่ละคนผูกขาดงานในตัวเอง คือเราไม่เหมือนคนอื่น แล้วความไม่เหมือนคนอื่นนี่แหละจะเป็นทางที่ทำให้เราหา niche market ได้ที่เขาจะมาจ้าง

เพราะฉะนั้น sense หนึ่งมันก็จะกลับเข้ามาเรื่องความเป็นปัจเจก individualism ของคนในยุคนี้ที่ต้องการจะสร้าง edge ให้กับตัวเองและผลผลิตของตัวเองอย่างไรบ้าง คนที่อยู่ในออฟฟิศอาจจะไม่ต้องคิดถึงเรื่องนี้มากนัก ที่เขามองว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะ drive ให้บริษัทต่อไป แต่ถ้าเกิดว่าหลุดออกมาทำเป็นฟรีแลนซ์ปุ๊บความคิดเรื่องตรงนี้ต้องคิดเยอะขึ้น แล้วก็การที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งอันนี้ก็เป็นคำพูดที่มีมาอยู่เรื่อยๆ ก็จะยิ่งจำเป็นมากขึ้น เพราะว่าการเรียนรู้ตลอดก็ยิ่งสร้างให้เรามี edge ของตัวเองมากขึ้น ในการที่จะขายว่าฉันทำอันนี้ได้นะ ทำอันนี้ก็ได้นะ เป็นต้น 

ทีนี้อยากเน้นอีกมุมหนึ่งก็คือว่าแรงงานบริการขั้นพื้นฐานที่คิดว่าเราก็ไม่ควรลืม แรงงานเหล่านั้นเขาจะมีชีวิตรอดและสามารถหารายได้ได้อย่างไร ส่วนหนึ่งคิดว่างานบริการในเมืองไทยยังมีโอกาสอยู่ เพราะว่าคนไทยเอาจริงๆ ก็ยังชอบการบริการ การบริการเหล่านี้คิดว่าหลังจากโควิดยังจำเป็นอยู่ คนคงโหยหา human touch ในสังคม คือตอนนี้เหมือนเราโดนพลากจากความสัมพันธ์ในสังคม หลังจากนี้หลายคนก็อาจจะต้องการตรงนั้นอยู่เหมือนกัน

แต่มันก็จะพ่วงมากับระบบเศรษฐกิจด้วย ระบบเศรษฐกิจตอนนี้คือทุกอย่างเงินมันฝืดเคืองไปหมด นั่นแปลว่าถ้าสังคมจะ move ไปด้วยกันได้ เราจะต้องเริ่มๆ ค่อยๆ build จากข้างล่างนี่แหละ เราจะต้องเห็นว่าแรงงานข้างล่างจริงๆ สำคัญที่จะทำให้เงินมัน flow ถ้าเงินข้างล่าง flow มันก็ flow กลับขึ้นมาถึงข้างบนได้เหมือนกัน จริงๆ ตอนนี้มันก็มี movement ในต่างประเทศที่คนเริ่มทิปเยอะขึ้น ไม่ว่าจะทิปคนส่งของ แม่บ้าน หรือคนขายของในตลาด ซึ่งเขาอาจจะโดนกดราคาด้วยตัวแพลตฟอร์มเองหรือว่าโอกาสการหางานอาจจะไม่ได้เยอะเท่าเดิม คนที่จ่ายไหวก็จะทิปเยอะขึ้นเพื่อที่จะให้คนเหล่านั้นสามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อได้ เหล่านี้คิดว่ามันเป็นเหมือน social cohesion แบบใหม่ หรือ social capital แบบใหม่ที่เราไม่ได้มองแล้วแหละว่า ต้องเป็นคนรู้จัก เรามองว่าสังคมที่เราอยู่ด้วยกันมันเป็นความสัมพันธ์ที่เราไม่ต้องรู้จักเขาก็ได้ แต่ในฐานะสังคมเรายังต้องไปด้วยกันอยู่เพราะฉะนั้นเราก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ 

คุณพูดไว้ว่า ในยามคับขันรัฐต้องบริหารให้ตรงความต้องการของคน ซึ่งคำถามคือรัฐรู้จักพลเมืองดีพอหรือไม่ และบอกว่าควรเก็บ Database เป็น Digitalization เพราะในอนาคตไม่ได้มีภัยแค่โควิดหรือโรคระบาด อยากให้ขยายความเรื่องนี้ให้ฟังอีกสักครั้ง 

ตอนนี้วิธีที่รัฐเก็บข้อมูลคน จะมีเป็น survey จะมี survey เต็มไปหมดเลย แต่เรามักเก็บข้อมูลเพื่อที่จะเห็นภาพรวม เราไม่ได้เก็บเพื่อจะเห็นภาพที่ละเอียด เราไม่ได้รู้ว่าใน 1 บล็อกของถนน ใน 1 ซอย คนมีรายได้เท่าไหร่บ้าง คอนโดนี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งเพราะว่าเข้าไม่ได้ นิติบุคคลไม่ให้เข้า คนที่อาศัยอยู่ในคอนโด 1 หลัง มีความแตกต่างกันทางรายได้มากน้อยขนาดไหน เราไม่รู้ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าห้องเช่ามีกี่ห้อง และอยู่เองกี่ห้อง เปิดเป็น Airbnb มีเท่าไหร่ 

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้รู้จริงๆ ว่าเรามีกลุ่มคนที่หลากหลายอยู่ที่ไหนบ้าง กลุ่มที่เปราะบางอยู่ที่ไหน อย่างปัจจุบันตอนนี้พอมีโควิด ความสนใจที่คนมุ่งไปก็จะไปอยู่ที่ชุมชนที่เรารู้ว่าเขารายได้ไม่เยอะ เช่น คลองเตย หรือชุมชนที่เป็นรู้จัก แต่ว่าความเหลื่อมล้ำในเมือง ความยากจนในเมือง มันซ่อนตัวอยู่ในทุกที่ แต่หลายที่เราไม่รู้จักเพราะว่าเราไม่ได้เก็บข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยซ้ำ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาอยู่ที่ไหน เขาเป็นยังไง แล้วเราจะเข้าไปถึงเขาได้อย่างไร แล้วรู้มั้ยว่าเขาเหล่านั้นต้องการแค่ไหน

นอกจากชุมชนแล้ว คนจนที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนล่ะ คนรายได้น้อยที่อยู่กับบ้านเช่าหรือห้องเช่าราคาถูก ซึ่งหลายคนก็ย้ายมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำงาน หรือบางคนอาจจะอยู่ในห้องเช่าเหล่านั้นโดยไม่มีญาติที่ต่างจังหวัดก็ได้ คนเหล่านั้นอาจจะ suffer กว่าด้วยซ้ำเพราะกรุงเทพฯ ที่เป็นภูมิลำเนาของตนก็ยังดูแลคุณภาพชีวิตของเขาได้ไม่ดีพอ

ประเด็นเหล่านี้เริ่มทำให้ตั้งคำถามว่า เรารู้จักคนในเมืองดีพอแล้วหรือยัง ถ้าในต่างประเทศ บางประเทศหรือบางเมืองที่เขามีการเก็บข้อมูลที่ถี่และละเอียด เขารู้ถึงกระทั่งว่าอาคารหลังนี้ใครเป็นเจ้าของ อาคารหลังนี้เป็นอาคารแบบไหน เช่นเป็นอิฐ เป็นไม้ คือถ้าเรามองความเสี่ยงในรอบด้าน เราควรที่จะรู้ด้วยซ้ำว่าถ้าน้ำท่วม บ้านหลังนี้ถ้าเป็นบ้านไม้โอกาสที่จะพังเยอะกว่าที่เป็นบ้านอิฐ คืออยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเท่ากัน แต่ความเสี่ยงไม่เท่ากัน ถ้าเป็นบ้านไม้ แล้วรายได้ของคนในบ้านนี้น้อยกว่าอีก แสดงว่าความเสี่ยงของเขาเยอะมาก คุณสามารถ identify ได้ว่าเราต้องช่วยคนกลุ่มนี้ๆ เป็นต้น

คือการที่เราทราบรายละเอียดเหล่านี้ในเชิงพื้นที่มันก็จะยิ่งทำให้รัฐสามารถเอื้อมมือไปแตะถึงคนที่ต้องการได้จริงๆ แล้วรัฐก็จะมีหลักฐานข้อมูลที่จะมาบอกว่า ทำไมจึงต้องช่วยแก้ปัญหาให้กับคนกลุ่มหนึ่งๆ ก่อนอีกกลุ่มที่ก็ได้รับผลกระทบด้วยกันแต่ในระดับที่ต่างกัน เมื่อมีข้อมูลที่ละเอียดในการพิสูจน์ผลงานของรัฐน่าจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิมด้วย วิน-วินกับทั้งประชาชนและก็ทั้งรัฐ

ที่สุดแล้วคุณได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง

คิดว่าภัยพิบัตินี้มันทำให้เราฉุกคิดถึงอะไรที่เป็นอนาคตมากขึ้นในสังคม มากกว่าจะพยายามมองแค่การแก้ปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน อันหนึ่งที่คิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ และอาจจะไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก คือเรื่องของ sustainability คือตอนนี้พอมันเกิดเหตุการณ์วิกฤตปุ๊บ ทุกคนเหมือนกับว่าโดนช็อก คือทำยังไงก็ได้ให้ฉันอยู่ได้ในสถานการณ์ช็อกนี้ เราลืมไปเลยเรื่องขยะ เมื่อวันก่อนมีบทความ หลายๆ หน่วยงานเริ่มออกมาบอกแล้วว่า ปริมาณขยะพุ่งขึ้นเยอะมาก ก่อนหน้านี้เราเคยพูดกันเรื่องการลดการใช้พลาสติก เคยพูดเรื่องน้ำ เคยพูดเรื่องสัตว์ทะเล ตอนนี้บทสนทนาเหล่านั้นหายไปหมดเลย กลายเป็นว่าทุกคนก็สั่งฟู๊ดเดลิเวอรี่ เพราะว่าฉันต้องอยู่รอด 

ถัดไปที่คิดว่าสำคัญก็คือว่า หลังจากโควิดหรือขณะนี้นี่เองก็ตาม เรื่องเศรษฐกิจฝืดมันน่าจะมาแน่นอน แล้วยิ่งโควิดมันมีนานขึ้น หรือการปิดเมืองมีนานขึ้น เศรษฐกิจฝืดก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น พอรุนแรงมากขึ้นสิ่งที่หลายๆ หน่วยงานจะต้องพยายามทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ ก็คือจะต้องกระเตื้องเศรษฐกิจขึ้นมา การกระเตื้องเศรษฐกิจมันทำได้หลายวิธี  แต่ประเด็นที่ไม่อยากให้หน่วยงานรัฐและสังคมลืมคือเรื่องความยั่งยืนทางธรรมชาติ เราจะเติบโตอย่างไรให้มัน sustainable กับทั้งคนและธรรมชาติ เราอาจจะไม่ควรมุ่งไปที่ productivity อย่างเดียว แต่อาจจะควรมุ่งที่เรื่องของความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม และ ความยั่งยืนทางธรรมชาติควบคู่กันมาด้วย ตอนนี้จริงๆ อยากเริ่มสร้าง conversation แบบนี้ ว่าเราจะเติบโตในรูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้ยังไง 

ถ้าเรามองว่าโควิดมันเหมือนกดปุ่มรีสตาร์ทให้กับสังคมในนัยหนึ่ง เราจะรีสตาร์ทยังไงให้มันดีกว่าเดิม จากการมุ่งเน้น productivity ที่เราทำมาหลายสิบปี ทำให้เศรษฐกิจเราดีขึ้นมาได้ประมาณหนึ่งแล้ว กลายเป็น higher middle income country ในปัจจุบัน เราจะกดปุ่มรีสตาร์ทครั้งใหม่นี้ยังไง ให้เราเป็น… ไม่รู้ว่าต้องเป็น higher middle income หรือว่าต้องเป็น higher income countries หรือเปล่า

แต่ว่าสุดท้ายแล้วทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุข ซึ่งรวมถึงทั้งคนและธรรมชาติด้วย อยู่ด้วยกันได้อย่างมีสมดุลที่ดีขึ้น คิดว่ามันเป็นอะไรที่เริ่มน่าคิดและยุทธศาสตร์ของชาติที่จะเริ่มต้องปรับต่อไป ถ้ามองถึงการพัฒนาและการเติบโตไปข้างหน้าในสังคมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตคนที่ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นเชิงรุก แล้วมองเรื่องการรับมือกับความเสี่ยงสำหรับวิกฤตการณ์ต่างๆ อย่างไรให้ได้ดีที่สุดเป็นเชิงรับ การพัฒนาต่อไปในอนาคตควรจะไปในท่าไหนก็ควรจะต้องคิดควบคู่กันไป อย่าลืมข้างใดข้างหนึ่ง


Contributor