04/05/2020
Life

พลอากาศตรี หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ นายกสภาสถาปนิก ว่าด้วยสถาปนิกกับแผนการพิชิตโควิด

เอกศาสตร์ สรรพช่าง
 


ทันที่เราได้ยินโครงการ Zero Covid ซึ่งเป็นความร่วมมือของสภาสถาปนิกกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์และสังคมในการพิชิตโรคระบาดที่กำลังเป็นปัญหาบาดอกบาดใจเราทุกวันนี้ อดสงสัยไม่ได้เหล่าสถาปนิกเหล่านี้จะเข้าไปช่วยส่วนไหน แบบไหนได้บ้าง 

The Urbanis มีโอกาสได้พูดคุยกับพลอากาศตรี หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ นายกสภาสถาปนิกถึงที่มาของโครงการ ว่าทำไมสถาปนิกถึงมีบทบาทที่จำเป็นไม่น้อยในการช่วยเหลือสังคมให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้

แรกเริ่ม Zero Covid Project เกิดขึ้นมาได้อย่างไรมาจากอะไร และทำไมงานสถาปัตยกรรมถึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับโรคระบาด 

เรื่องเริ่มมาจากว่า ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำงานเรื่องการสนับสนุนการเอาวิชาชีพและเทคโนโลยีด้านการออกแบบมารับใช้สังคม พอมีเหตุการณ์เรื่องสถานการณ์โควิด-19 ทางศูนย์ฯ ก็เข้าไปทำวิจัยเพื่อสร้างแบบจำลองของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม ก็พบว่ามันมีแนวโน้มที่โรคนี้จะมีการระบาดเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับเคสจากต่างประเทศในตอนที่เริ่มทำวิจัยเมื่อหลายเดือนก่อน เราก็เห็นว่าเมืองไทยก็น่าจะไปทางนั้น ซึ่งหากสถานการณ์เป็นอย่างนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากกว่าจำนวนเตียงหรือมากกว่าขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลที่ประเทศเรามีอยู่ ก็เลยมีความคิดว่าน่าจะจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยโรงพยาบาล พอตั้งโครงการนี้เสร็จ ก็เสนอไปที่คณะสถาปัตย์จุฬาฯ ผ่านทางสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตย์จุฬา​ฯ​ เพราะแนวทางที่จะใช้แก้ปัญหานี้คือการออกแบบอาคารของโรงพยาบาล ซึ่งก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตย์โดยตรง จากนั้นก็เริ่มมีการประสานงานกับนักออกแบบที่มีความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับอาคารทางการแพทย์ การพยาบาล 

ส่วนสภาสถาปนิกเองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็เพราะว่า ระหว่างที่เกิดวิกฤตนี้ขึ้นมา ก็มีหลายหน่วยงานติดต่อเราเข้ามาเหมือนกัน เพราะเรามีหน้าที่โดยตรงเพราะเป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติที่มีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม เราเข้าไปช่วยประสานงานไปยังสมาชิกของเราที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับงานออกแบบโรงพยาบาล พอเริ่มมีการติดต่อก็พบว่ามันก็ไปทับซ้อนกับโครงการซีโร่โควิดซึ่งเขาก็ประสานงานไว้เหมือนกัน พอเป็นอย่างนั้น หากเราจะต่างคนต่างทำเรื่องเดียวกันก็มาทำด้วยกันเลยน่าจะดีกว่า สุดท้ายก็กลายเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สภาสถาปนิก สมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตย์จุฬา​ฯ​ ร่วมกับและศูนย์​การออกแบบเพื่อสังคมจุฬา​ลง​กร​ณ์

ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาปนิกที่เชี่ยวชาญการออกแบบโรงพยาบาลมากแค่ไหน

มีไม่มากนัก ส่วนมากจะเป็นสำนักงานสถาปนิกขนาดใหญ่อยู่สามสี่แห่งเท่านั้น อีกที่หนึ่งก็คือกระทรวงสาธารณสุขโครงกาสรนี้เราดึงทุกคนที่ว่าเข้ามาช่วยกันทั้งหมด

ในโครงการซีโร่โควิด เห็นว่ามีการแบ่งโครงการย่อยๆ อีก ช่วยเล่าให้เราฟังด้วยว่าแต่ละโครงการมีความคืบหน้าไปถึงไหน เจออุปสรรคอะไรบ้าง สถานการณ์หน้างานเป็นอย่างไร  

ผมเล่าไปทีละโครงการนะครับ ในซีโร่โควิด เราแบ่งโครงการออกเป็น 4 โครงการคือ โครงการ A เป็นเรื่องของการให้คำปรึกษา​เรื่องการออกแบบให้กับโรงพยาบาลชุมชน, โครงการ B เป็นเรื่องการพัฒนาดีไซน์ไกด์ไลน์และต้นแบบ ของโรงพยาบาล​สนาม (Cohort Ward), โครงการ C เป็นเรื่องของการพัฒนา​ต้นแบบและโมเดลการผลิตชุด PPE สำหรับบุคลากร​ทางการแพทย์​ ส่วนโครงการ D เป็นเรื่องของการพัฒ​นาระบบ Area Base Dashboard เพื่อวางแผนบริหารจัดการทรัพยา​กรระบบ​บริการสุขภาพบนฐานของข้อมูล​ที่ได้ จากการทำ Model Simulation แบบ Resonable Worst Case Scenario คือประเมินความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุด  

โครงการ A กับ B เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสถาปัตยกรรมโดยตรง เป็นเรื่องการจัดการพื้นที่การจัดทำโซนนิ่ง เรื่องของโรงพยาบาลชุมชนกับการโรงพยาบาลสนาม 

โครงการ A เป็นเรื่องของโรงพยาบาลชุมชนโครงการ B เป็นเรื่องของการสร้างโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ เรื่องของสถาปนิกโดยตรง เราก็เลยดูแลเรื่องนี้เป็นอันดับแรกครับส่วนโครงการ C เป็นเรื่องการพัฒนาต้นแบบชุด PPE ซึ่งความจริงมันต้องพัฒนาไปถึงขั้นการทำเป็นอุตสาหกรรม ต้องมีการทดสอบอะไรต่างๆ อย่างเป็นระบบ ตอนนี้ในโครงการซีโร่โควิดในส่วนที่สภาสถาปนิกเข้าไปดูแลยังไม่ได้เริ่มตรงนี้ แต่ถามไปทางศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม เขาก็ยังพิจารณาเรื่องนี้กันอยู่ครับ 

ส่วนโครงการ D เป็นการรวบรวมผู้ที่มาช่วยกันทำข้อมูล ทำข้อมูลแบบจำลองต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ ซึ่งประเด็นนี้เราทำกันอยู่ตลอดมีผลสรุปเป็นแนวโน้มการพยากรณ์ต่างๆ ว่าจะออกมาเป็นยังไง 

ผมขอย้อนไปที่โครงการ A กับโครงการ B อีกนิดว่าเราใช้วิธีการเชิญชวนทาบทามผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงพยาบาลให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นแก่นแกนอยู่ตรงกลาง แล้วเราก็ประกาศรับอาสาสมัครซึ่งเป็นสถาปนิกอาสาซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อให้เข้ามาสนุบสนุนโคงการซีโร่โควิด 

เจออุปสรรคอะไรบ้างไหมครับ

อุปสรรคที่เห็นตอนนี้คือความต้องการที่กระจายไปทุกประเทศ เพราะฉะนั้นเราคาดการณ์ว่าความต้องการมันไปทั่วทุกจังหวัด โรงพยาบาลระดับชุมชนประสานงานเข้ามาที่เราประมาณ 40 กว่าแห่งที่ขอรับความช่วยเหลือ 

แต่เขาอาจยังไม่ทราบข่าวเรามากนักและเขาอาจมีทางออกด้านอื่นๆ อยู่แล้ว ก็เลยยังไม่ได้ประสานเข้ามา แต่เราก็มีการประสานงานไว้กับสถาปนิกอาสาก้ได้เกือบทั่วแล้วครับ ขาดอยู่ไม่กี่จังหวัด 

ทีนี้วิธีบริหารคือ เราจะมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นกลุ่มที่จะทำงานเรื่องการดีไซน์อาคารต้นแบบและมีงานในส่วนของการให้ความรู้และชี้แนะในการออกแบบ และสุดท้ายคือการตรวจสอบมาตรฐานของงาน 

ส่วนสถาปนิกหรือนักออกแบบอาสาที่เราเชิญชวนเข้ามาจะลงพื้นที่หน้างาน หากมีความต้องการแจ้งเข้ามาเราก็จะให้อาสาสมัครกลุ่มนี้เข้าไปตรวจสอบดูก่อนโดยทำตามแม่แบบที่เรากำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว  

ไม่แน่ใจเรื่องสถานการณ์ว่าโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนานไหม แล้วการสร้าง การออกแบบ การวางผัง การพัฒนาต่างๆ คิดว่างานสถาปัตยกรรมกับการแพร่กระจายของโรคจะทันกันไหม หรือคิดว่ามันจะเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงของโครงการนี้หรือเปล่า

จาการประเมินของศูนย์การออกแบบเพื่อสังคมที่เขาวิจัยมา น่าจะมีช่วงเวลาอีกช่วงหนึ่งที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น จนเกินขีดความสามารถ ฉะนั้นการที่เราเตรียมพร้อมกันตอนนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนจะทันกับความต้องการหรือไม่ คิดว่าขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย 

ปัจจัยแรกคือนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาใช้ในการควบคุมโรค ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มสถานการณ์จนถึงวันนี้ มาตรการการควบคุมการแพร่กระจายของรัฐบาลดีกว่าที่เราคาดไว้ คือมันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คาดการณ์ทั้งหมดจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าที่เราประมาณการณ์ไว้ ฉะนั้นถือเป็นการทอดเวลาให้เราได้เตรียมตัวได้นานขึ้น การปรับปรุงอะไรต่างๆ ผมคิดว่าทางโรงพยาบาลมีความพร้อมในระดับหนึ่ง เพียงแต่เราจะเข้าไปเสริมให้เขาทำงานได้มั่นใจยิ่งขึ้นเท่านั้นเองครับ 

ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน ทางศูนย์การออกแบบเพื่อสังคมเขาวิจัยออกมาว่ามันจะเป็นด่านแรกที่ผู้ป่วยต้องเข้าไปเจอ ในกรณีที่ผู้ป่วยสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคนี้หรือเปล่าหรือมีอาการเริ่มแรก ส่วนการรักษาเต็มรูปแบบคงต้องเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลชุมชนก็เลยมีความสำคัญซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 800 แห่งทั่วประเทศทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ 

คิดว่างบประมาณจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับโครงการเหล่านี้หรือไม่ เพราะฟังๆ ดูแล้วนี่เป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณไม่น้อยในการดำเนินการ 

ตอนที่เราพิจารณา เราคิดถึงความเป็นไปได้ด้วยครับว่า มันต้องใช้งบประมาณที่ไม่สูงเกินไป ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็มีแบบมาตรฐานที่ใช้ในการปรับปรุงเพื่อรองรับโครงการนี้เช่นกัน แต่หากว่าดำเนินงานเต็มรูปแบบจริงๆ ค่าใช้จ่ายต่อพื้นที่ก็ค่อนข้างสูงโรงพยาบาลบางแห่งมีงบประมาณไม่เพียงพอ เราก็จะเข้าไปช่วยดูสิ่งที่สถาปนิกจะช่วยได้คือ ดูว่าสิ่งไหนที่ยังไม่จำเป็นมากนัก หรือสามารถาหาสิ่งทดแทนได้ไหม หากทำได้ยังไม่ต้องปรับเรียกว่าเราเอาความเป็นไปได้เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาด้วยครับ

โครงการนี้ได้วางแผนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน 

เรื่องของการดูแลอาคารหรือโรงพยาบาลอะไรพวกนี้เป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะ งานก่อสร้างเหล่านี้ทางชุมชนคงมีส่วนร่วมได้น้อย แต่เนื่องจากโครงการอยู่ในพื้นที่ของชุมชนการขอรับความร่วมมือและการเข้าใช้บริการจากคนในชุมชนก็คงต้องมีอยู่แล้วครับ 

ในมุมมองของสถาปนิก คิดว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มันจะเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทัศนคติต่อการออกแบบสิ่งก่อสร้าง อาคารสำนักงานมากน้อยแค่ไหนครับ 

ผมอยากจะย้อนกลับไปสถานการณ์อื่นๆ ที่มนุษยชาติเราเคยเผชิญหน้ามาก่อนหน้านี้ เช่น กรณีน้ำท่วม แผ่นดินไหว  เมื่อมนุษย์เราเกิดปัญหาใหม่ๆ เราก็จะแก้ปัญหา พอเราแก้ปัญหาเสร็จเราก็จะมีองค์ความรู้ด้านนั้นๆ อย่างสมัยก่อนเราไม่ได้สนใจเรื่องความปลอดภัยในอาคารนักแต่พอมีเหตุการณ์ที่เกิดการสูญเสียก็มีมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัย มีเครื่องมือดับเพลิง บันไดหนีไฟ อะไรพวกนี้ หรืออย่างหลายๆ บ้านก็ยกพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่สูงเข้าไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วม เรื่องนี้ก็เช่นกัน ผมคิดว่าต่อไปเราก็ต้องพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับด้านสุขภาพในอาคารและอาสาสมัครสถาปนิกอาสาจำนวนมากที่เข้ามาร่วมโครงการนี้ก็จะได้รับการแนะนำหรือให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญกลุ่มแรกที่เราเตรียมเอาไว้ เวลาคนเหล่านี้ลงพื้นที่เขาก็จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอาคารด้านสุขภาพ สถาปนิกอาสาก็จะได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ไปทำงานด้วยเช่นกัน

อยากฝากอะไรกับผู้อ่านของเราบ้าง เกี่ยวกับโครงการ 

ผมว่าตอนนี้สังคมไทยเราเป็นสังคมที่มีความน่ารักคือทุกคนร่วมมือกัน โครงการเราไม่ใช่โครงการเดียวที่เข้ามาดูแลเรื่องโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่มีโครงการอื่นๆ อีกเยอะแยะ ทว่าการช่วยกันทำก็ควรช่วยกันดูว่าเราจะช่วยกันได้ในจุดไหนและช่วยแล้วส่งผลดีกับส่วนรวม อย่างมีบางหน่วยงานที่ทำเรื่อง PPE หรือโครงการป้องกันส่วนบุคคล บางทีเรารีบร้อนทำเราอาจต้องย้อนกลับมาดูเรื่องมาตรฐานว่ามันทำแล้วได้ผลจริงไหม เอาไปใช้แล้วเสี่ยงอันตรายไหม เรื่องเหล่านี้ก็ต้องร่วมมือกันหลายๆ ฝ่ายครับ อย่าต่างคนต่างทำ ทางสภาสถาปนิกเองเราดูแลเรื่องการจัดพื้นที่การจัดโซนนิ่งต่างๆ แต่รายละเอียดด้านงานระบบเช่นระบบการหมุนเวียนของอากาศเรายังต้องพึ่งวิศวกรที่ดูแลเรื่องการปรับอากาศ อยากให้ทุกๆ ท่านที่มีใจจิตอาสา หากจะทำสิ่งใด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องทางการแพทย์ ฝากไว้เรื่องของมาตรฐานครับ  

ดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการได้ที่ https://www.zerocovidproject.com/


Contributor