03/11/2021
Life

MOOC โอกาสใหม่ในการส่งต่อองค์ความรู้ของเมืองด้วยเทคโนโลยี

The Urbanis
 


สัมภาษณ์โดย ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ และคณะ

การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้ให้ฝังในตัวคน และในสังคม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้ไปจากการศึกษาในระบบ การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นส่วนหนึ่งที่ระบบการศึกษาสมัยใหม่ยึดถือและมุ่งเน้นทำโดยกว้างขวางอยู่แล้ว ไม่ว่าจะผ่านการจัดกิจกรรม ผ่านพื้นที่เปิดสำหรับการเรียนรู้ หรือการศึกษาเฉพาะด้านที่เปิดให้ผู้สนใจทุกคนสามารถเข้ามาเรียนได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คมกริช ธนะเพทย์ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ คุณธนพร โอวาทวรวรัญญู คุณมัชชุชาดา เดชาคณีวงศ์ สนทนากับศาสตรจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับระบบ MOOC ที่จะส่งเสริมให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งใกล้ตัวทุกคนมากขึ้นกว่าที่เคย ส่งเสริมให้องค์ความรู้ทุก ๆ เรื่องถูกส่งต่อได้อย่างกว้างไกล และคงอยู่ต่อไปคู่กับสังคม

รู้จักกับ MOOC

MOOC เรียกเต็ม ๆ ได้ว่า Massive Open Online Course เป็นระบบสำหรับการเรียนการสอนทางออนไลน์ ที่เป็นเสมือนพื้นที่ให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถนำวิชา หรือหลักสูตรที่ตนสอนมาวางไว้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถมาเลือกหยิบไปเรียนรู้ได้ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นผ่านทางสื่อที่สามารถใช้งานทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ อินโฟกราฟิก เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือแบบฝึกหัดและข้อสอบที่ทำได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เหล่านี้ทำให้ระบบ MOOC เป็นนวัตกรรมที่จะส่งเสริมให้การศึกษานอกระบบสามารถทำได้ง่าย และเข้าถึงได้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น 

ในหลาย ๆ ประเทศได้มีการวางระบบ MOOC ระดับประเทศภายใต้การควบคุมของหน่วยงานกลาง เป็นแพลตฟอร์มหลักที่ผู้สอนจากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่าง ๆ สามารถเข้ามาใส่เนื้อหาได้ เช่น JMOOC ในประเทศญี่ปุ่น หรือ K-MOOC ในประเทศเกาหลีใต้ และสำหรับประเทศไทยก็มี Thai MOOC ที่ดูแลโดยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นอกจากนั้น ในอีกระดับหนึ่ง สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยก็อาจจะวางระบบ MOOC ขึ้นเป็นของตัวเอง เพื่อความเป็นเอกภาพในสการรวบรวมรายวิชาและหลักสูตรที่จัดขึ้นโดยคณะ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันนั้น ๆ เองก็ได้ด้วยเช่นกัน

ข้อจำกัดและความเป็นไปได้ของ MOOC

ในปัจจุบัน เนื้อหาที่อยู่ใน MOOC ส่วนมากเป็นเนื้อหาที่เป็นวิดีโอเป็นหลัก เนื่องจากเป็นรูปแบบการนำเสนอที่เรียบง่าย ทั้งต่อการจัดทำ และต่อการเข้าถึง ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ กล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญในการจัดทำเนื้อหา คือ เนื้อหาบน MOOC นั้นควรจะเข้าถึงได้โดยคนส่วนมาก จึงต้องลดกำแพงทางด้านอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด

การเรียนรู้ผ่าน MOOC สัมพันธ์อย่างมากกับหลักการทำงานแบบ BYOD (Bring Your Own Device) ที่หมายถึงการให้ผู้คนนำอุปกรณ์ของตัวเองมาใช้ในการทำกิจกรรม โดยไม่ต้องมีการจัดสรรให้โดยองค์กร หลักการทำงานนี้เป็นที่นิยมมากในปัจจุบันรวมถึงในด้านการศึกษาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่กิจกรรมทุกอย่างต้องทำผ่านทางออนไลน์เช่นนี้

ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ ได้เสริมถึงปัญหาการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นจากอุปสรรคในด้านพื้นที่ห่างไกลที่สัญญาณเข้าไม่ถึง หรืออุปสรรคด้านราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับอินเทอร์เน็ต ดังนี้ยังเป็นอุปสรรคที่ท้าทายอย่างหนึ่งที่ MOOC ยังต้องเผชิญ ทั้งนี้ ปัญหานี้อาจแก้ไขได้ด้วยการใช้สื่อทางเลือกอื่นที่ใช้อินเทอร์เน็ตน้อยกว่า เช่น สื่อเสียง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าข้อจำกัดทางเทคโนโลยีจะค่อย ๆ ลดลงเป็นลำดับไปในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้กระบวนการที่เคยทำได้ยากง่ายดายมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายลงได้ด้วย ในส่วนนี้ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ยกตัวอย่างของเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality: VR) ที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นผ่านโทรศัพท์มือถือที่สามารถเล่นไฟล์ภาพถ่ายภาพแบบ 360 องศาได้แล้วในปัจจุบัน

MOOC กับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้คู่ชุมชน

เช่นเดียวกับองค์ความรู้ทุกแบบ ข้อมูล ความรู้ และภูมิปัญญาที่แฝงอยู่ในสมาชิกในเมืองนั้นก็มีโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี MOOC นี้เช่นกัน MOOC จะเข้ามาเป็นวิธีการนำเสนอและรวบรวมความรู้แบบหนึ่งที่ไม่เพียงแต่จะเข้าถึงผู้คนได้กว้างขวาง แต่ยังมีส่วนทำให้ความรู้เป็นระบบระเบียบ แสดงความสัมพันธ์ต่อกัน และถูกเรียกกลับมาใช้ได้ง่ายขึ้นด้วย

“มีคอนเทนต์อยู่แล้ว เพียงแค่ต้องนำมาจัดระเบียบ”

ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ กล่าวถึงการดึงเอาความรู้ย่อย ๆ จากองค์กรต่าง ๆ เข้ามาสู่ระบบ MOOC เนื่องจาก MOOC เป็นพื้นที่ของวิชาเรียน ไม่ใช่แค่คลังเก็บข้อมูล ความรู้เหล่านั้นจึงไม่อาจจะนำเข้ามากองไว้รวมกันเฉย ๆ ได้ แต่ต้องมีการจัดให้เป็นเรื่องราว เป็นลำดับขั้นที่ผู้เรียนจะทำความเข้าใจตามขั้นไปได้ หรือเรียกว่า “Series of Learning” องค์ความรู้เล็ก ๆ อาจถูกนำมาเรียงต่อกัน เพื่อสร้างหลักสูตรที่จะให้ผลลัพธ์เป็นความรู้ความเข้าใจในด้านใดด้านหนึ่งให้แก่ผู้เรียน เพียงพอที่จะสามารถเป็นเป้าหมาย เป็นการรับรองความสามารถ และเป็น Certificate ได้ชิ้นหนึ่ง

สำหรับหลักการการร้อยเรียงหัวข้อความรู้ขึ้นเป็นรายวิชานั้น ควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ (Course Objective) ให้ชัดเจน เลือกเนื้อหาที่นำเสนอให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์นั้น และต้องมีการคำนึงถึงวิธีการสอน สื่อการสอน และวิธีการประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

หากมีองค์ความรู้แต่ละเรื่องอยู่แล้ว พร้อมจะให้นำไปร้อยเรียงกันได้ การเริ่มจัดทำรายวิชาบน MOOC นั้นก็ถือว่าไม่ยาก เพราะผู้จัดทำจะเข้าใจถึงกลุ่มเป้าหมาย และรูปแบบการนำเสนออยู่แล้ว

ทิศทางของ Thai MOOC ต่อจากนี้

ในปัจจุบัน Thai MOOC กำลังมุ่งเน้นพัฒนาระบบ MOOC ของประเทศไทยให้เชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกัน อาจจะมีการขอความร่วมมือจากองค์กรและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้เข้ามาทำระบบร่วมมากขึ้น เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มความครอบคลุมของเนื้อหา สร้างสภาพแวดล้อมเดียวสำหรับทั้งประเทศที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานได้

ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ยังได้กล่าวถึงโอกาสในการเชื่อมต่อเข้ากับบริการด้านวิทยทรัพยากร ที่จะเพิ่มคลังข้อมูลสำหรับการใช้งานของนักเรียนนักศึกษาแต่ละสถาบันได้ และรวมถึงเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไปได้ด้วย เหล่านี้เป็นบริการใหม่ที่อาจเพิ่มเข้ามาเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ผ่าน MOOC ได้ในอนาคต

นอกจากนั้น ยังมีความพยายามในการร่วมมือกันระหว่างองค์กรของภาครัฐ เพื่อนำเอา MOOC เข้ามาใช้ประกอบเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระบบ และการศึกษาขั้นพื้นฐานไปด้วยเช่นกัน ภาคส่วนต่าง ๆ เช่น กระทรวงอุดมศึกษาฯ สภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น มีความพยายามอย่างยิ่งในการปรับระบบเพื่อทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ดี ด้วยเป็นการทำงานที่ต้องข้ามระบบของแต่ละกระทรวง การเปลี่ยนแปลงตรงนี้จึงอาจต้องใช้เวลาทำอีกสักหน่อย ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อนาคตของ Thai MOOC ยังมีโอกาสมากมายที่รอให้สังคมไทยหยิบมาใช้งานได้ เทคโนโลยีใหม่นี้จะเข้ามาเป็นสิ่งขับเคลื่อนให้การศึกษาด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิตสามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น และอาจจะกลายเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมไทย ไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ได้ในอนาคต


Contributor