03/02/2023
Life

ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนบนฐานความรู้ ย่านกะดีจีน-คลองสาน

นวพร เต็งประเสริฐ สุภาภรณ์ แก่นคำหล่อ
 


หลายๆ คนคงรู้จักย่านกะดีจีน-คลองสาน กันอยู่แล้ว ในฐานะย่านที่เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน วันนี้ The Urbanis จะพาทุกคนไปรู้จักย่านนี้ให้มากขึ้นผ่านมุมมองการพัฒนาชุมชนบนฐานความรู้ จากเหล่าผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนพื้นที่ริมน้ำที่เป็นย่านที่มีศักยภาพและรายล้อมไปด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ที่สามารถมีองค์ความรู้ชุมชนเป็นของตนเอง

จากการศึกษาของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง พบว่า ย่านกะดีจีน-คลองสาน มีสาธารณูปโภคเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ครอบคลุมพื้นที่มากถึงประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่ย่าน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: รู้จักเมือง รู้จักย่านกะดีจีน-คลองสาน) สะท้อนให้เห็นถึง ศักยภาพของย่านกะดีจีน-คลองสาน ในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ จากการมีแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาของเมือง มากไปกว่านั้นผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้เองก็นำองค์ความรู้เหล่านั้นมาต่อยอดและพัฒนาศักยภาพของตนเอง พร้อมกับนำความรู้มาพัฒนาชุมชน

ก่อนอื่นขอแนะนำ 3 ผู้นำชุมชนและ 1 ลูกบ้าน ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนย่านกะดีจีน-คลองสาน ผ่านองค์ความรู้และการประสานงานความร่วมมือ คุณปิ่น หรือ ปิ่นทอง วงษ์สกุล ประธานชุมชนกุฎีจีน ที่ทำหน้าที่นี้มากว่าเกือบ 10 ปี พี่ปิ่นเล่าว่าบทบาทหลักๆ ที่ตนรับผิดชอบคือคอยสอดส่องดูแลและแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับคนในชุมชน รวมถึงคอยประสานงานกับลูกบ้าน ภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนที่เข้ามาในพื้นที่ด้วยเช่นกัน “การทำงานทุกขั้นตอนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากคนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือหรือจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมที่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในสิ่งที่เป็นสาธารณะในสิทธิที่จะดูแลและบำรุงรักษาร่วมกัน” 

เช่นเดียวกับ เฮียเซี๊ยะ สัมฤทธิ์ เอื้อโชติ ประธานชุมชนสวนสมเด็จย่า ที่บอกเปรียบตนเองเสมือนเป็นสื่อกลางในการพัฒนา เพราะต้องคอยทำหน้าที่ประสานทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน และเฮียล้าน วรชัย วิลาสรมณ์ ประธานชุมชนวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ที่มองบทบาทตนเองในฐานะประธานชุมชนไว้ว่า มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการศึกษา และสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยมีการทำงานร่วมกับสำนักงานเขต 

และคนสุดท้าย ป้าน้อย ธนธรณ์ ธงน้อย สมาชิกชุมชนวัดประยูร ที่บอกเล่าถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองแม้ว่าไม่ได้เป็นผู้นำชุมชน แต่ตัวลูกบ้านเองก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน กล่าวคือ บทบาทหลักๆ ของตนเอง คือ คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนคนอื่นๆ หากมีใครต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงนำความรู้ที่ตนเองมีแบ่งปันแก่ผู้อื่นเพื่อช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าการพัฒนาไม่สามารถเริ่มได้จากผู้นำชุมชนเพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนมีบทบาทที่จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

พอจะทราบบทบาทคร่าวๆ ของผู้นำชุมชนและอีกหนึ่งสมาชิกชุมชนกันไปพอสังเขปแล้ว เรามาดูกันว่าพวกเขาเหล่านั้นนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาชุมชนของพวกเขาได้อย่างไร 

เฮียล้าน ประธานชุมชนวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าย่านกะดีจีน-คลองสาน เพียบพร้อมไปด้วยแหล่งเรียนรู้หลากหลายแห่งและหลากหลายด้าน ทำให้ทุกๆ ชุมชนในย่านนี้มีแหล่งการเรียนรู้ซ่อนอยู่เต็มไปหมด มากไปกว่านั้น คือเหล่าผู้นำชุมชนก็นำความรู้เหล่านั้นมาถ่ายทอดและใช้ในการพัฒนาชุมชนไปด้วย สอดคล้องกับคำบอกเล่าของเฮียล้าน ประธานชุมชนวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ที่เล่าว่าชุมชนวัดกัลยาณ์เป็นชุมชนที่มีแหล่งเรียนรู้อยู่มากมาย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาตั้งแต่สมัยอดีต เป็นเมืองหน้าด่านของกรุงธนบุรี ถือเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างมาก และเดิมทีย่านนี้มีชาวจีนจำนวนมากมาอาศัยอยู่จึงทำให้มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน เช่น ศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้าที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชและมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานที่รอให้ทุกคนเข้าไปเยี่ยมชมและศึกษาวัฒนธรรม โดยเฮียล้านพูดเสริมว่า เวลามีวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันสงกรานต์ ทางชุมชนมักจะมีการจัดตลาด ที่เปิดให้ชาวชุมชนมาค้าขาย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน โดยตนเองจะเป็นคนช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับย่านและแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่

คุณปิ่นทอง ประธานชุมชนกุฎีจีน

เช่นเดียวกับชุมชนกุฎีจีน ที่ห่างจากชุมชนวัดกัลยาณ์ไม่ถีง 500 เมตร วันนี้มาพูดคุยกับ คุณปิ่นทอง ประธานชุมชนกุฎีจีน ที่ทำหน้าที่ดูแลและช่วยเหลือชาวชุมชนมานานหลายปี ชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนฝั่งธนบุรีเก่าแก่มาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม ผู้คนที่อาศัยอยู่มาเป็นเวลานานกว่า 5 รุ่น หลากหลายเชื้อสาย ทั้ง ไทย จีน โปรตุเกส มอญ จึงทำให้ชุมชนมีมรดกและวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างมาก

คุณปิ่นเล่าว่า ชุมชนตนเองเป็นชุมชนที่มีแหล่งเรียนรู้ภายในพื้นที่หลายแห่ง ทั้งโบสถ์ซางตาครู้ส (Santa Cruz Church) โบสถ์สีชมพูตั้งเด่นสง่าอยู่ริมน้ำและสถาปัตยกรรมตะวันตกที่มีความสวยงาม พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจศึกษาด้านศาสนาและสถาปัตยกรรมเข้ามาเยี่ยมชม และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เช่น พิพิธภัณฑ์กุฎีจีน บ้านขนมฝรั่งกุฎีจีน ที่เปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาของย่าน หรือแม้กระทั่งสูตรอาหารที่ไม่มีที่ไหนมาก่อนกับผู้อยู่อาศัยในย่านได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาท่องเที่ยว และยังมีกิจกรรมต่างๆ มากมายตามเทศกาล โดยคุณปิ่นก็พร้อมที่จะสนับสนุนด้านการให้ข้อมูลและความรู้ในฐานะผู้นำชุมชนและผู้อยู่อาศัยมาอย่างยาวนานด้วยเช่นกัน

ป้าน้อย สมาชิกชุมชนวัดประยูร

องค์ความรู้ในชุมชนที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งแอบซ่อนอยู่ในชุมชนวัดประยูร ที่อยู่ถัดจากชุมชนกุฎีจีนเพียง คือ 700 เมตร เดินเข้าซอยเล็กๆ ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนต์และเดินเลียบหลังวัดประยุรวงศ์เข้าไป จะพบเจอกับ “หมูกระดาษ” งานศิลปะหัตถกรรมที่อยู่คู่ชุมชนวัดประยูรมานานหลายสิบปี หมูกระดาษ คือกระปุกออมสินวันนี้เราได้พูดคุยกับ ป้าน้อย สมาชิกชุมชนวัดประยูร ทายาทรุ่นที่ 2 ของการทำหมูกระดาษ ได้รับการสืบทอดองค์ความรู้การประดิษฐ์หมูกระดาษมาจากพ่อของตนเอง นอกจากนี้ยังนำองค์ความรู้ที่ตนเองมีไปเผยแพร่ต่อผู้อื่นโดยได้มีการจัดการสอนให้กับผู้ที่สนใจ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี และชุมชนมากกว่า 10 แห่ง และยังได้บอกวิธีทำหมูกระดาษอย่างละเอียดไว้บนอินเตอร์เน็ตอีกด้วย เรียกได้ว่า มีความรู้ที่มีคุณค่าและยังได้ส่งต่อแก่ผู้อื่น เพื่อแบ่งปันร่วมกัน ถือเป็นการช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ผู้ได้รับความรู้อีกด้วย 

หมูกระดาษ

“หมูกระดาษของป้าเป็นเพียงงานที่ทำเพื่อฆ่าเวลา แต่ถ้าหากมีคนที่สนใจป้าก็พร้อมที่จะสอนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเพียงแต่ไม่อยากให้สิ่งนี้ที่เรามีกันมาต้องหายไป” ป้าน้อยกล่าว

เฮียเซี๊ยะ ประธานชุมชนสวนสมเด็จย่า

เฮียเซี๊ยะ ประธานชุมชนสวนสมเด็จย่าที่คอยผลักดันชุมชนสวนสมเด็จย่าอยู่เสมอ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมกิจกรรมภายในชุมชน เช่น กิจกรรมรำไทเก๊ก ที่มักจะเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนชรา มารำไทเก๊กกันบริเวณอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าอุทยานสมเด็จย่า โดยเฮียเซี๊ยะก็ได้พยายามผลักดันกิจกรรมนี้ขึ้นมาเป็นโครงการ เพื่อเผยแพร่ความรู้และจัดกิจกรรมขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือกับสำนักงานเขต และในฐานะผู้นำชุมชนและผู้อยู่อาศัยภายในย่านมาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งนำความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และมรดกวัฒนธรรมมาเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย นอกจากนี้ยังนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าอบรมกับทางสำนักงานเขตมาเผยแพร่ต่อให้แก่ชาวชุมชน อาทิ การจัดการขยะ หรือแม้กระทั่งการรับมือกับ โควิด-19 

จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว คงทำให้ผู้อ่านมองเห็นถึงการหยิบยกองค์ความรู้มาใช้ในการพัฒนาชุมชน จากทั้งประธานชุมชนและสมาชิกชุมชน ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นกลุ่มคนเล็กๆ แต่กระนั้น พวกเขาก็คือกลุ่มคนที่คอยส่งต่อ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาดูแลสมาชิกในชุมชน แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่ก็มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนชุมชนย่านกะดีจีน-คลองสานมาถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการถ่ายทอดองค์ความรู้อันมีค่าเหล่านั้นที่ตนเองมีไปสู่ผู้อื่น เรียกได้ว่าไม่มีการ ‘หวงวิชา’ เพราะทุกท่านเชื่อว่าการบอกเล่าหรือส่งต่อความรู้จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการประโยชน์แก่ชุมชนและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

และโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


Contributor