21/06/2023
Insight

คนเมือง สนามกีฬา สวนสาธารณะ และการออกกำลังกาย

ณัฐชนน ปราบพล พิชญุตม์ ตั้งพานิชยกุล
 


“ทำไมปัจจุบันเราต้องจ่ายเงินมากมายเพื่อแลกกับการบริการเพื่อสุขภาพ ทั้งที่เราควรจะมีพื้นที่สวนสาธารณะ สนามกีฬา และสถานที่ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ”

การออกกำลังกายในปัจจุบันนั้นมีความนิยมมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้คนหันมาสนใจการดูแลตัวเองมากขึ้น แต่จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้คนพบว่าในปี 2564 นั้นผู้คนส่วนใหญ่นั้นมักจะนิยมการออกกำลังที่ฟิตเนส และที่บ้านตนเองเป็นส่วนใหญ่ แต่การออกกำลังกายที่ฟิตเนสนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะนั้นมีไม่เพียงพอครอบคลุมพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย ทำให้ผู้คนหันไปเลือกการใช้ฟิตเนสและการออกกำลังกายที่บ้านเป็นส่วนมาก ดังนั้นควรจะมองหาโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ เพื่อสร้างทางเลือกในการออกกำลังกายมากขึ้น

สถานที่การออกกำลังกับความนิยมในปัจจุบัน?

พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่เลือกการออกกำลังกายที่ฟิตเนสมากที่สุด คิดเป็น 63.4% โดยผู้คนส่วนใหญ่นั้นกลับมาสนใจการออกกำลังกายในฟิตเนสสูงจากช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาดอีกครั้ง รองลงมาคือบ้าน คิดเป็น 36.6% ซึ่งผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 จากที่เคยไปสวนสาธารณะหรือสนามกีฬาเปลี่ยนมาเป็นการออกกำลังกายที่หน้าบ้านมากขึ้น (การกีฬาแห่งประเทศไทย, 2564)

ข้อดีของการวิ่งที่ฟิตเนส และ สวนสาธารณะ

โดยจะเป็นการเปรียบเทียบข้อดีสถานที่ระหว่างที่ฟิตเนสและที่สวนสาธารณะ ซึ่งประเภทของการออกกำลังกายจะเป็นการวิ่ง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแรงในปัจจุบัน

ข้อดีของการวิ่งในฟิตเนส

1. ความสะดวกสบาย

2. กำหนดการวิ่งได้

3. ก้าวขาอัตโนมัติ ลดการออกแรง

4. ปลอดภัย ไร้คน เด็ก และรถ

5. บังคับตัวเองให้มีวินัยในการออกกำลังกาย

ข้อดีของการวิ่งในสวนสาธารณะ

1. บรรยากาศที่ดีกว่า

2. พื้นที่ในการวิ่งแตกต่างกันไป ในระหว่างการวิ่ง

3. รับออกซิเจนได้เต็มปอด

4. เลือกบรรยากาศในการวิ่งได้เอง

5. วิ่งได้ตามใจ ไม่ต้องรอเครื่องเล่น

“ธุรกิจฟิตเนสและการออกกำลังกายช่วงหลังโควิด-19 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยจะยกตัวอย่างจากสถานการณ์ของประเทศสิงคโปร์”

คนสิงคโปร์สนใจในการออกกำลังกายและเข้ายิมมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19

ข้อมูลจากการกีฬาแห่งสิงคโปร์ (SportSG) รายงานว่า คนสิงคโปร์ใช้บริการศูนย์ออกกำลังกายในโครงการ ActiveSG ทั่วประเทศมากขึ้น เพิ่มจากช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 6% นอกจากยิมแล้ว คนสิงคโปร์ก็สนใจคลาสออกกำลังกายต่าง ๆ ที่เปิดให้บริการมากยิ่งขึ้น เช่น โยคะ เต้นซุมบา และการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ รวมทั้งกีฬาต่าง ๆ ก็กลับมานิยม แสดงให้เห็นว่า คนสิงคโปร์สนใจการออกกำลังกายมากขึ้น หลังจากอุตสาหกรรมฟิตเนสได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมฟิตเนสและการรณรงค์การออกกำลังกายของรัฐบาลสิงคโปร์

หลังจากได้มีการผ่อนคลายมาตรการสาธารณสุขเมื่อเดือนเมษายน 2565 โดยเฉพาะการยกเลิกการเว้นระยะห่างและการจำกัดการรวบกลุ่มทางสังคม กิจกรรมฟิตเนสก็เริ่มฟื้นตัวคึกคักมากอีกครั้ง และผู้คนต่างให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลเชิงบวกกับการออกกำลังกายและธุรกิจฟิตเนส เนื่องจากคนสิงคโปร์ตระหนักเรื่องความสำคัญของการรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายมากขึ้น

แนวโน้มของอุตสาหกรรมฟิตเนสในสิงคโปร์ปี 2565

แนวโน้มธุรกิจฟิตเนสหลังโควิด-19 ปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนสิงคโปร์ เพิ่มความยืดหยุ่นและน่าสนใจแก่ผู้ใช้บริการและยังเน้นการออกกำลังกายแบบองค์รวมมากขึ้น ทั้งการบำบัด (healing) และความสมบูรณ์พูนสุข (wellness) ควบคู่กันไป นอกจากนี้ การบริการคลาสออกกำลังกายออนไลน์นั้นก็เป็นที่นิยม เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ทำงานจากที่บ้าน และคนที่ทำงานแบบผสมบ้านและที่ทำงาน (hybrid working) คนวัยทำงานสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะออกกำลังกายในช่วงสั้น ๆ และระหว่างทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ สินค้าที่เกี่ยวกับด้านการออกกำลังกาย เช่น เสื้อผ้าแนวกีฬาที่สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ก็ได้กลายเป็นเทรนด์ที่ได้ความนิยมที่แพร่หลาย รวมไปถึง Smart Watch ที่สามารถวัดข้อมูลสุขภาพในด้านต่าง ๆ และอุปกรณ์กีฬา ก็มียอดขายที่สูงเช่นกัน

“ทำไมการออกกำลังกายที่สวนสาธารณะถึงไม่ได้มีความนิยมเท่าฟิตเนส”

สถานการณ์/สภาพอากาศ/ความปลอดภัย/อุปกรณ์/การเข้าถึง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้คนนั้นออกกำลังกายที่บ้านหรือฟิตเนสมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สภาพอากาศในประเทศเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้คนไปสวนสาธารณะหรือสนามกีฬาน้อย เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อน ถึงจะมีความรมรื่นจากต้นไม้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่พอที่จะช่วยให้คนสนใจในการไปสวนสาธารณะตอนกลางวัน และในช่วงปัจจุบัน ปัญหาฝุ่นละอองที่กลับมาอีกครั้ง ทำให้คุณภาพของอากาศแย่ยิ่งกว่าปกติ ดังนั้นการวิ่งหรือการออกกำลังกายในช่วงระดับค่าฝุ่นสีส้มหรือค่าฝุ่นที่อยู่ในช่วง 51 – 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและระดับสีแดงที่ค่าฝุ่นอยู่ที่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ซึ่งการออกกำลังกายในช่วงนั้นอาจจะไม่ได้รับผลกระทบต่อร่างกายมากแต่ส่งต่อประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย

ความปลอดภัยของสถานที่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแสงไฟ ความสว่างในแต่ละพื้นที่ในสวนสาธารณะ รวมถึงกล้องวงจรปิดก็เช่นกัน ถ้าหากชาดสิ่งเหล่านี้หรือมีไม่มากเท่าที่ควรก็เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย ขโมยสิ่งของได้ ทำให้เป็นข้อจำกัดในการไปสวนสาธารณะ

อุปกรณ์การออกกำลังกายหรือศูนย์ออกกำลังกายในสวนสาธารณะควรมีอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เพียงพอสำหรับคนที่ไปใช้บริการ รวมถึงความสะอาดและแข็งแรงของอุปกรณ์ด้วย

การเข้าถึงสวนสาธารณะหรือสนามกีฬา ก็นับว่าเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางสำหรับคนที่อยู่ไกล นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ยังต้องเสียเวลาในการเดินทางอีกด้วย เพราะสวนสาธารณะนั้นยังมีไม่ครอบคลุมมากพอ

แผนที่แสดงจุดตำแหน่งสถานบริการอื่นๆในแต่ละพื้นที่ ในระยะการเข้าถึง 500m.
แผนที่แสดงตำแหน่งการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะในระยะ 500m. 1km. 3km.และ 5km.

จะเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบกันพื้นที่สาธารณะนั้นยังไม่มีครอบคลุมพื้นที่มากพอ ทำให้คนส่วนใหญ่นั้นหันไปใช้สถานบริการอื่น ๆ (เช่น ฟิตเนส ยิม คลับ) แต่ถ้าประเมินจากราคาเฉลี่ย (จากค่าเข้าบริการต่อเดือนที่ถูกสุดกับแพงสุด) ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3,720 บาทต่อเดือน ซึ่งรายได้เฉลี่ยของคนกรุงเทพนั้นเฉลี่ยได้เดือนละ 16,307 บาทต่อคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2564) แต่บางคนก็ยังเลือกใช้บริการเหล่านี้มากกว่าพื้นที่สาธารณะที่การเข้าถึงไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่มากพอ

ส่งเสริม พัฒนา สร้างทางเลือกเพื่อลดค่าใช้จ่าย

จากบทความนี้คงได้เห็นแล้วว่าทำไมปัจจุบันทางเลือกในการออกกำลังถึงเป็นการออกกำลังกายที่บ้านหรือฟิตเนสมากกว่าพื้นที่สาธารณะที่มี เพราะเข้าถึงได้ง่ายกว่าและพื้นที่สาธารณะที่มีนั้นไม่เพียงพอครอบคลุมต่อพื้นที่ ดังนั้นเราควรจะส่งเสริมกับการพัฒนาพื้นที่เราเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อพื้นที่ เพื่อสร้างทางเลือกให้มากขึ้นและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

พฤติกรรมการออกกำลังกาย – การกีฬาแห่งประเทศไทย (sat.or.th)

วิ่งในฟิตเนส VS วิ่งในสวน แบบไหนดีกว่ากัน (sanook.com)

จับตาธุรกิจฟิตเนสและการออกกำลังกายในสิงคโปร์ช่วงหลังโควิด-19 ขยายตัวต่อเนื่อง – ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์) (thaibizsingapore.com)

สุขภาพดีแสนลำบาก!! วิ่งก็อยาก ฝุ่นก็กลัว เอาไงดี?? (mgronline.com)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผย กรุงเทพ รายได้เฉลี่ยครัวเรือนสูงสุด เชียงราย น้อยสุด (amarintv.com)


Contributor