19/05/2022
Insight

จักรวาลการค้าปลีกเมืองเชียงใหม่ กับบทบาทในการเปลี่ยนแปลงเมือง

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


หลังการปิดกิจการ(ชั่วคราว) แบบสายฟ้าเเลบของห้างดังในเมืองเชียงใหม่ ยิ่งเป็นตัวตอกย้ำสถานการณ์ด้านธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ (big box retail) ได้อย่างชัดเจน ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่เท่านั้น หากแต่ยังปรากฏให้เห็นในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร และเมืองในต่างประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ของการลดขนาดของกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่นี้ ความจริงแล้วเริ่มมีให้เห็นได้แต่ช่วงปี 2550 ซึ่งมีการลดขนาด(down size) ของกิจการค้าปลีกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) ซึ่งมีการเปิดประเภทธุรกิจค้าปลีกประเภทใหม่ ๆ ที่มีขนาดเล็กลง ผนวกกับการเข้ามาของกลุ่มร้านสะดวกซื้อที่กระจายเป็นดอกเห็ดทั่วเมือง จนเป็นวาระของธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม ร้านโชห่วยต่าง ๆ ที่ต้องหาหนทางของการอยู่รอด ไม่เว้นในเมืองเชียงใหม่

บทความนี้ทีมงาน TheUrbanIs จะชวนทุกท่านมาสำรวจจักรวาลการค้าปลีกของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีรูปแบบและพัฒนาการเปลี่ยนแปลงตามบริบททางเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมือง ผ่านการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ อันเป็นกระแสธารการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่

จักรวาลค้าปลีกในเมืองเชียงใหม่

ธุรกิจการค้าปลีกกับการพัฒนาเมืองนั้นเป็นของคู่กัน เพราะถือเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นนั้นๆ โดยทั่วไปพัฒนาการของการค้าปลีกในเมือง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงแรกของภูมิทัศน์การค้าปลีกหรือพื้นที่การค้าปลีกของเมือง จะประกอบไปด้วยร้านค้าปลีกโดดๆ เป็นร้าน ๆ ไปร้านค้าเหล่านี้มักกระจุกตัวอยู่บริเวณรอบ ๆ ตลาดสดใจกลางเมือง

ขั้นที่ 2 ร้านค้าปลีกในเมืองจะเพิ่มจำนวนขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของประชากร และกระจายไปทั่วเมือง อาจกระจายไปตามถนนสายสำคัญ โดยเฉพาะถนนรัศมีที่เชื่อมกับพื้นที่ชานเมืองหรือเมืองข้างเคียง

ขั้นที่ 3 ในระยะนี้การค้าปลีกจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของเมืองในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การเพิ่มขึ้นของประชากร การใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้น การเดินทางเชื่อมต่อได้อย่างสะดวกจากเทคโนโลยีด้านการคมนาคมขนส่งที่สูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเทคนิควิธีการซื้อขาย

ทั้งนี้ หากจะกล่าวถึงประเภทของร้านค้าปลีกในเมืองซึ่งมีการจัดประเภทไว้อย่างหลากหลายและชวนให้งุนงงอยู่สักหน่อย ทั้งการจำแนกจากขนาดพื้นที่ขาย พื้นที่ให้บริการ รวมถึงประเภทของสินค้า ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลายในปัจจุบัน ประเภทธุรกิจค้าปลีกในเมืองเชียงใหม่ อาทิ

ร้านขายของชำ/ร้านโชห่วย (grocery store)
เป็นร้านค้าแบบดั้งเดิมจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคขนาด 1-2 คูหา ซึ่งเรารู้จักกันดี และพบเจอได้แถวบ้าน ร้านใด้หอ ที่เป็นที่รู้จักกันดีในเมืองเชียงใหม่ เช่น ร้านป้าโรบอท ร้านกิมง้อ ร้านเจ้แดงหลังมอ ซึ่งเราจะยังไม่กล่าวถึงในบทความชิ้นนี้

ร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ท (convenience store/mini mart)
มีพื้นที่ขายตั้งแต่ 40 ตารางเมตรขึ้นไป จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวัน ราคาจำหน่ายตามราคาตลาด ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน เน้นการบริหารให้ความสะดวกแก่ลูกค้า เช่น 7-Eleven เลม่อนกรีน (ซึ่งปิดตัวไปแล้ว)

ซุปเปอร์มาร์เก็ต (supermarket)
มีพื้นที่ขายตั้งแต่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป เน้นกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง-สูง จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะหมวดอาหารที่มีความสดใหม่ รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต (ซึ่งถึงเป็นธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นคู่กับเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน) ทอปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ต

ดิสเคาท์สโตวร์หรือซุปเปอร์เซ็นเตอร์ (discount store/supercenter/hypermarket)
มีพื้นที่ขายตั้งแต่ 1000 ตารางเมตรขึ้นไป เน้นกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางลงมา จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน กลยุทธ์ที่สำคัญคือการจำหน่ายสินค้าที่ต่ำกว่าราคาตลาด อาทิ โอชอง (ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว) Big C Lotus’s

ห้างสรรพสินค้า (department store)
มีพื้นที่ขายตั้งแต่ 1000 ตารางเมตรขึ้นไป เน้นกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง-สูง จำหน่ายสินค้าที่ทันสมัย คุณภาพดี มีทั้งสินค้าแบรนด์เนมที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาจำหน่ายตามราคาตลาดหรือสูงกว่า อาทิ เซ็นทรัล โรบินสัน

ซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลายไปมากกว่านี้อีก โดยให้คำนิยามใหม่ว่า “ศูนย์การค้า” ซึ่งรวมประเภทร้านค้าปลีกหลากหลายประเภทเข้าด้วยกัน รวมทั้งกิจกรรมเสริมอื่น ๆ อื่น เช่น

ศูนย์การค้าใกล้บ้าน/ศูนย์การค้าชุมชน (neighborhood/community mall) เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กมีพื้นที่ไม่เกิน 50,000 ตารางเมตร โดยทั่วไปจะมีซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยาเป็นร้านค้าหลัก อาจจะประกอบด้วยร้านค้าประเภทอื่นบ้าง หรือมีสาขาของธนาคาร ศูนย์การค้าประเภทนี้สร้างสำหรับรองรับลูกค้าในระยะรัศมี 5-10 กิโลเมตร เช่น One Nimman ในระยะหลังเริ่มมีการพัฒนาในรูปแบบของ “อะเวนิว” เช่น มีโชคพลาซ่า สตาร์อะเวนิว กาดฝรั่ง

ศูนย์การค้าภูมิภาค (regional mall) เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 50,000 – 150,000 ตารางเมตร มีร้านค้าหลักประกอบด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ธนาคาร ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง พื้นที่กิจกรรม ศูนย์อาหาร อาคารสำนักงาน เป็นต้น ศูนย์การค้าประเภทนี้จะรองรับลูกค้าในรัศมี 30 – 40 กิโลเมตร เช่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ต และศูนย์การค้าพรอมเมนาดา เชียงใหม่

ศูนย์การค้าพหุภูมิภาค (super regional mall) เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่พิเศษ มีขนาดพื้นที่ใหญ่สอยมากกว่า 150,000 ตารางเมตร มีร้านค้าหลักประกอบด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ธนาคาร ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง พื้นที่กิจกรรม ศูนย์อาหาร อาคารสำนักงาน เป็นต้น ศูนย์การค้าประเภทนี้จะรองรับลูกค้าในรัศมีมากกว่า 40 กิโลเมตร เช่น ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว และศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังมีการจำแนกประเภทในลักษณะอื่นๆ ทั้งศูนย์การค้าเฉพาะทาง (specialty mall) ธีมมอล (theme mall) เอาต์เล็ตมอล (outlet mall) เป็นต้น

5 ยุคของกิจการค้าปลีกในเชียงใหม่

ยุคที่ 1 ทุนการค้าปลีกดั้งเดิม (traditional trade)

ในช่วงก่อนปี 2530 – 2535 ถือเป็นยุคทองของธุรกิจท้องถิ่นของเมืองเชียงใหม่ ในยุคนั้นคงไม่มีใครไม่รู้จัก ห้างตันตราภัณฑ์เชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นกิจการค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือและอาจจะใหญ่ที่สุดในภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีริมปิงซูเปอร์มาร์เก็ต สีสวนพลาซ่า ส.การค้า ไนท์บาซาร์ และวรวัฒน์ช๊อปปิ้งเซ็นเตอร์

ยุคที่ 2 ทุนค้าปลีกส่วนกลางรุกคืบ

เริ่มประมาณช่วงปี 2535 – 2540 เป็นการรุกคืบของกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่จากกรุงเทพมหานครสู่ภูมิภาค ที่เห็นได้ชัดคือการเปิดตัวของ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล กาดสวนแก้ว ซึ่งทำให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมเจ้าถิ่นอย่างตันตราภัณฑ์เชียงใหม่ มีการขยายสาขา ตันตราภัณฑ์แอร์พอร์ต ภายหลังก็ประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการและด้านอื่น ๆ จึงได้ขายส่วนพื้นที่เช่าให้กับกลุ่ม เซ็นทรัลพัฒนา และต่อมาก็ขายพื้นที่ส่วนดิพาร์ทเมนต์สโตว์ให้กับโรบินสัน และเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ต ซึ่งกลายเป็นช่วงที่กิจการธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมได้ลดทอนลงตามลำดับ

อย่างไรก็ตามในช่วงนั้นก็มีห้างค้าปลีกท้องถิ่นที่เปิดตัวเพิ่มขึ้นมาสู้กับทุนส่วนกลางอย่าง ศูนย์การค้า 12 ห้วยแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้างกับ เซ็นทรัลกาดสวนแก้ว รวมถึงการเริ่มเข้ามาของกิจการค้าปลีกสมัยใหม่จากทุนข้ามชาติอย่าง ห้างแม็คโคร และคาร์ฟูร ในช่วงปี 2538-2539

ยุคที่ 3 โมเดิร์นเทรดข้ามชาติ

ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 – 2550 ซึ่งเป็นยุคที่กิจการค้าปลีกข้ามชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจนในกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ อาทิ เเม็คโคร โลตัส คาร์ฟู และโอชอง (ภายหลังเปลี่ยนเป็นชื่อ บิ๊กซี) มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วส่วนใหญ่มีทำเลที่ตั้งบริเวณหัวมุมถนนแยกสำคัญในย่านชานเมืองซึ่งเชื่อมต่อไปยังอำเภอข้างเคียง เช่น สารภี และ หางดง

ซึ่งในยุคดังกล่าวยังมีการเปิดตัวห้างในรูปแบบเฉพาะอย่างคอมมูนิตี้มอล์ และห้างสรรพสินค้าเฉพาะอย่าง มีโชคพลาซ่า และศูนย์การค้าพันธ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่ ที่สำคัญในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่มีการเติบโตของ “ร้านสะดวกซื้อ” จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับมือระหว่างธุรกิจร้านสะดวกซื้อกับปั๊มน้ำมัน ตามยุทธการป่าล้อมเมือง อันเป็นผลให้กลุ่มร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ต้องงัดแผนธุรกิจในการลดขนาดร้านและขยายธุรกิจที่มีขนาดร้านเล็กลงแต่กระจายได้ทั่วถึงมากขึ้น

ยุคที่ 4 สงครามจักรวาลค้าปลีก

ถือเป็นยุคทองของกิจการค้าปลีกเมืองเชียงใหม่ ในช่วงปี 2550 – 2555 เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ คือ การลดขนาด (Down Size) ของพื้นที่ขายให้เล็กลงแต่กระจายได้มากขึ้น มีการลดขนาดห้างลงเป็นขนาดกลาง-ขนาดเล็ก อาทิ บิ๊กซีมาร์เก็ต บิ๊กซีมินิ ตลาดโลตัส โลตัสเอ็กซ์เพรส (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โลตัส โกเฟรซ) เเม็คโคร ฟูดเซอร์วิส

รวมถึงการกระจายสาขาเข้าสู่พื้นที่สถานีบริการน้ำมัน รวมถึงการขยายตัวของกลุ่มพื้นที่พาณิชยกรรมค้าปลีกในรูปแบบของ “อเวนิว” อย่าง กาดฝรั่ง ทิงค์ปาร์ค เชียงใหม่ และสตาร์อเวนิว

นอกจากนี้มีการขยายตัวของกิจการค้าปลีกขนาดเล็กอย่าง “ร้านสะดวกซื้อ” (convenient store) ที่รู้จักกันดีอย่าง เซเว่น อิเลฟเว่น (เริ่มเปิดกิจการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2534 สาขาห้วยแก้ว ในชื่อ “ซอยส์ มินิสโตร์”) ซึ่งใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบ “ป่าล้อมเมือง” ภายหลังก็ครองตลาดร้านสะดวกซื้อในสัดส่วนที่สูงมากไม่เฉพาะในเมืองเชียงใหม่แต่เป็นระดับประเทศ

ยุคที่ 5 จุดสูงสุดและสัญญานการอิ่มตัวของจักรวาลค้าปลีกเชียงใหม่

ในช่วงหลังปี 2555 เมืองเชียงใหม่ได้รับความนิยมอย่างมากจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และจุดหมายปลายทางของการเดินทาง การเข้ามาของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างมหาศาล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งใหญ่กับการเกิดขึ้นของ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในรูปแบบศูนย์การค้าอีกมากมาย อาทิ

  • ศูนย์การค้า พรอมเมนาดา รีสอร์ท มอลล์ เชียงใหม่
  • ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่
  • ศูนย์การค้า เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์
  • นิ่มซิตี้ เดลี่
  • รวมโชคมอลล์
  • แอดเคิร์ฟ คอมมูนิตี้ แอนด์ เอดดูเคชั่น มอลล์
  • พรีเมี่ยม เอาท์เล็ท เชียงใหม่
  • ศูนย์การค้า วัน นิมมาน

ที่กิจการค้าปลีกในเมืองเชียงใหม่เข้าสู่ช่วงการอิ่มตัวสูงที่สุดเพราะจำนวนอุปทานในตลาดการค้าปลีกมีสูงมากทั้งในรูปแบบของร้านสะดวกซื้อ คอมมูนิตี้มอลล์ และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่กระจายทั่วเมืองเชียงใหม่

หลังวิกฤติการณ์เเพร่ระบาด โควิด-19 เราได้เห็นกิจการหลายแห่งปิดตัวไป เกิดกิจการใหม่เข้ามาเเทนที่ในกลุ่มของคาเฟ่และร้านค้าทั่วไปในเมืองเชียงใหม่ จนในที่สุดก็คือ การปิดกิจการ(ชั่วคราว)ของพรอมเมนาดา รีสอร์ท มอลล์ เชียงใหม่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ประดิษฐกรรมของเมืองที่พึ่งพารถยนต์

ลักษณะสำคัญของเนื้อเมืองรถยนต์ คือการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงเดี่ยวและมีความหนาแน่นต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นส่วนต่อขยายเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการอพยพจากชนบทเข้าสู่เมือง (urban migration) จุดศูนย์รวมกิจกรรมจะมีน้อยและกระจัดกระจายด้วยแนวคิดแบบหน้าที่นิยม (Functionalism) ของนักวางผังและสถาปนิกลัทธิสมัยใหม่ (Modernists) ที่แบ่งแยกการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เข้มงวดไม่ให้ปะปนกัน เช่น เขตที่พักอาศัย เขตพาณิชยกรรม เขตอุตสาหกรรม ระยะทางระหว่างจุดศูนย์รวมกิจกรรมจะอยู่ห่างไกลกัน ทำให้การเดินทางพึ่งพารถยนต์เป็นหลัก ถนนขนาดใหญ่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง ในเมืองแบบนี้ ทำให้การจัดเตรียมระบบขนส่งสาธารณะเป็นไปอย่างจำกัดและไม่คุ้มค่า รถประจำทางที่มาช้าและไม่บ่อยครั้ง ส่งผลให้การพึ่งพารถยนต์มีสูงขึ้น

ลักษณะโครงข่ายเมืองแบบรถยนต์ ทำให้ผู้คนไม่นิยมเดินเท้าและใช้ชีวิตนอกอาคาร สภาพแวดล้อมเมืองไร้คุณภาพ เนื่องจากวาระสำคัญของการวางแผนคือการทำให้การจราจรลื่นไหลคล่องตัวที่สุด มากกว่าการออกแบบทางเท้าและพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนออกมาใช้ ความหนาแน่นของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เบาบางและแบ่งแยก ทำให้เมืองขาดความหลากหลาย รวมทั้งการพัฒนาในลักษณะแบบริ้ว (ribbon development) ที่เกาะไปตามถนนใหญ่ที่ไกลสุดลูกหูลูกตา ไม่ช่วยสร้างให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างเนื้อเมืองส่วนต่าง ๆ โครงข่ายเมืองแบบนี้ไม่สามารถสร้างให้เกิดพลวัตที่ดึงดูดผู้คนและกิจการร้านค้า ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงน้อยกว่าย่านศูนย์กลางเมือง ดังนั้น ชีวิตในพื้นที่สาธารณะจึงน่าเบื่อและไม่มีสิ่งเร้าสร้างประสบการณ์ ผู้คนจึงรีบเดินรีบไป สภาพแวดล้อมแบบนี้ คนมักอยู่ในบ้านดูทีวีและใช้เวลาในพื้นที่ส่วนตัว กลายเป็น ภูมิทัศน์ชานเมืองที่ไร้ผู้คน (Cullen, 1961)

ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ถือเป็นประดิษฐกรรมจากเมืองที่พึ่งพารถยนต์อย่างอเมริกา จนเกิดเป็นภาพที่พบเห็นอย่างชินตาตั้งแต่ปี 1957 หรือที่เรียกว่า Big Box Store ซึ่งร้านค้าในรูปแบบนี้เข้ามีบทบาทอย่างยิ่งต่อการจับจ่ายใช้สอยของอเมริกันชน รวมถึงเมืองใหญ่ทั่วไป โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และไม่พ้นเมืองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่าง “เมืองเชียงใหม่”

ด้วยจุดขายของความหลากหลายของสินค้าที่จัดหมวดหมู่และมีความเฉพาะเจาะจง รวมถึงเหล่าสินค้าแบรนด์เนมทั้งของไทยและต่างประเทศให้เลือกสรร พร้อมการบริการที่ดีเยี่ยม จึงไม่แปลกใจที่การค้าปลีกในรูปแบบนี้เข้ามามีบทบาทกับทั้งรูปแบบทางกายภาพของเมืองและวิถีชีวิตของคนเมืองนั้นๆ ไม่เว้นแม้แต่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเมืองร่วมสมัยกับการเปลี่ยนแปลงและเข้ามาของตลาดการค้าปลีกขนาดใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้น

จากการพัฒนาและเติบโตของเมืองเชียงใหม่ ทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการตัดถนนวงเเหวนทั้ง 3 เส้นทางและถนนรัศมีที่เชื่อมเมืองเชียงใหม่กับอำเภอรอบข้าง ทำให้เกิดการพัฒนาแบบริ้วตามถนนสายสำคัญเหล่านี้ ประกอบกับทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปี 2550 เป็นต้นมา พร้อม ๆ กับการเติบโตและเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจค้าปลีกของเมืองเชียงใหม่ไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงของการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ (big box retail) ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสอดรับกับวิถีชีวิตเมืองรถยนต์ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

โปรดติดตามบทความของเมืองเชียงใหม่อื่นๆ ได้จากการสังเกตการณ์และเสริมสร้างพฤติกรรมคนเมือง เพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0

ที่มาข้อมูล

นรินทร์ ตันไพบูรย์ (2564). แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2564-66 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่. วิจัยกรุงศรี

เสน่ห์ ญาณสาร (2557). ภูมิศาสตร์เมือง. เอกสารประกอบคำสอน ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สุทธิดา สุวรรณกันธา (2549). สมรภูมิค้าปลีกภาคเหนือระส่ำ! ยักษ์ข้ามชาติงัดกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง. เข้าถึงเมื่อ 17 พฤษภาคม 2565 เข้าถึงจาก http://www.ftawatch.org/node/9456

ประชาไท (2549). ทศวรรษค้าปลีกเชียงใหม่ ทุนยักษ์ใหญ่-ข้ามชาติยึดตลาดเบ็ดเสร็จ. เข้าถึงเมื่อ 17 พฤษภาคม 2565 เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2006/01/22004

นิรมล เสรีสกุล และอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ (2565). เมื่อกรุงเทพฯ ออกเดิน WALKABLE CITY. กรุงเทพฯ: ลายเล้น พับบลิชชิ่ง.


Contributor