16/04/2020
Insight

สุขาอยู่หนใด : ความเป็นสาธารณะของสุขา

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้

สุขาควรเป็นบริการสาธารณะของเมือง ?

แน่นอนว่าสุขาหรือห้องน้ำในพื้นที่สาธารณะ ย่อมถือเป็นหนึ่งในบริการสาธาณณะของเมือง แม้จะไม่ได้เป็นข้อบังคับชัดเจนว่าเมืองต้องมีบริหารห้องน้ำสาธาณณะในทุกระยะทางเท่าไหร่หรือกระจายตัวแค่ไหนก็ตาม

จริงๆ แล้ว มีการกำหนดมาตรฐานห้องน้ำสาธารณะเอาไว้ โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ได้ระบุไว้ว่าเมืองควรต้องมีห้องน้ำสาธาณณะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม 

นอกจากนี้ ในมาตรฐานด้านผังเมืองของกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ปรากฎประเด็นเรื่องห้องน้ำสาธาณณะ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานหรือการออกแบบด้านสาธารณูปการของเมือง

จึงดูเหมือนว่า ห้องน้ำสาธารณะเป็นเพียงองค์ประกอบย่อย ของสถานที่หรือสาธารณูปการสาธารณะอื่นๆ เช่น สวนสาธารณะ ศาสนสถาน สถานที่ราชการ เป็นต้น

ดังนั้น ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ เราจึงเห็นห้องน้ำสาธารณะที่อยู่โดดๆ ในเมืองกรุงเทพฯ น้อยมาก

สุขา อยู่หนใด

แม้ว่าสุขาสาธาณณะในเมืองจะมีน้อยมาก แต่ดูเหมือนว่าเราแทบไม่เคยหยิบยกประเด็นสุขาสาธารณะมาพิจารณากันเท่าไหร่ ว่ามันขาดเเคลนหรือมีน้อยเกินไปเพราะอะไร

หากมีเพื่อนต่างชาติถามว่าเขาควรไปเข้าห้องน้ำที่ไหนเวลาอยู่บนรถไฟฟ้า หรือเวลาอยู่ในเมืองกรุงเทพฯ คำตอบที่อาจจะให้ได้ก็น่าจะมี ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า/ร้านอาหาร วัด ปั้มน้ำมัน หรือสถานที่ราชการอื่นๆ 

จากผลการสำรวจของกรมอนามัย ในปี 2558 พบว่า สุขาสาธารณะที่คนทั่วไปเลือกใช้มากที่สุด 3 อันดับเเรก คือ ห้างสรรพสินค้า 86.64% ปั๊มน้ำมัน 73.09% และแหล่งท่องเที่ยว 58.66% 

แล้วสุขาเหล่านั้นอยู่ที่ไหน

สุขา [กึ่ง] สาธารณะในเมืองกรุงเทพ

ทีมงาน UddC Urban Insight ได้วิเคราะห์การกระจายตัวและความสมารถใน การเข้าถึงตำแหน่งสุขากึ่งสาธารณะ พบว่าสุขาสาธารณะที่คนเข้าไปใช้มากที่สุด 4 อันดับของเมืองคือ สุขาในห้างสรรพสินค้า สุขาในปั๊มน้ำมัน สุขาในแหล่งท่องเที่ยว และสุขาในวัด/ศาสนสถาน

สุขาในห้าง

เป็นสถานที่แรกๆ ที่ถูกนึกถึงเวลาถามว่า อยู่นอกบ้านเราไปเข้าห้องน้ำที่ไหน อาจเพราะส่วนใหญ่เวลานอกบ้านของคนกรุง มักจะวนเวียนอยู่กับห้องสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์สโตร์ แหล่งซ้อปปิ้งซื้อสิ้นค้าอุปโภค บริโภคและการนันทนาการ 

ดังนั้น ห้องน้ำสาธารณะนอกบ้านที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าไปใช้บริการคือ ห้องน้ำในห้างสรรพสินค้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเข้าฟรีและสะอาด มีพี่ๆ แม่บ้านคอยทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้างที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้า เช่น มาบุญครอง สยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เอ็มควอเทีย เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ เซ็นทรัลพระรามเก้า พันทิปพระรามเก้า เทอมินอล21 เป็นต้น ทำให้ห้างสรรพสินค้า ครองแชมป์พื้นที่นอกบ้านที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้บริการสุขาสาธารณะของเมือง

สุขาในปั๊ม

ถือเป็นที่พึ่งพิงยามเดินทางจริงๆ สำหรับการแวะเข้าห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมัน และกลายเป็นเป้าหมายสำคัญเวลาที่เราปวดหนัก ปวดเบากะทันหันในช่วงเวลาการเดินทาง นอกจากนี้แล้ว ห้องน้ำยังเป็น จุดขายของปั๊มน้ำมันหลายแบรนด์ที่นำมาแข่งขันกัน นอกจากประสิทธิภาพของน้ำมันและการเป็นจุดแวะพัก คือการโปรโมทเรื่อง “ห้องน้ำสะอาด” ที่ให้บริการฟรี ในอีกมุมหนึ่งห้องน้ำห้างกลายเป็นสถานที่ที่ดูสุ่มเสี่ยงทั้งในเรื่องยาเสพติดและการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ถึงกระนั้น ปั๊มน้ำมันยังติดอันดับ 2 สำหรับสถานที่ยอดฮิตในการใช้บริการสุขานอกบ้าน

สุขาในสวนหรือในแหล่งท่องเที่ยว

พื้นที่นันทนาการของเมืองนอกจาก ห้างสรรพสินค้าที่เป็นแหล่ง่รวมของบริการในเมืองทุกอย่างแล้ว สถานที่นันทนาการอื่นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของการออกนอกบ้าน ซึ่งนั่นสอดคล้องกับข้อมูลสถิติการใชบริการห้องน้ำนอกบ้าน อันดับ 3 ของเราคือ พื้นที่สวนสาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งโดยทั่วไปสถานที่เหล่านี้จำเป็นต้องมีห้องน้ำเพื่อให้บริการผู้เข้าชมหรือนักท่องเที่ยวที่เข้าไปใช้บริการพื้นที่

สุขาในวัด

อันดับ 4 ที่ตามมาคือ สุขาในวัด หรือศาสนสถาน ซึ่งนอกจากจะเป็นที่พึ่งทางใจแล้ว วัดยังเป็นที่พึ่งยามเมื่อมีทุกข์จากการข้าศึกบุกโจมตีทั้งหนักและเบา จึงเป็นที่มาว่า สุข [า] นั้นหาได้ในวัด 

อย่างไรก็ตาม พบว่้า ในปัจจุบันวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ค่อนข้างที่จะเข้าไปใช้บริการห้องน้ำสาธารณะได้ยากขึ้น อันเนื่องด้วย “ความเป็นสาธารณะ” ของวัดนั้นเริ่มจะลดน้อยลง

จากข้อมูลสุขากึ่งสาธารณะนอกบ้านที่คนกรุงเทพฯ พอจะเข้าไปใช้บริการได้นั้น  เราจะเห็นคร่าวๆ ว่าส่วนใหญ่แล้วกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่เมืองชั้นในเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นสุขาที่อยู่ในปั๊ม ซึ่งกระจายตัวตามแนวเส้นทางถนนรัศมีของเมืองที่เชื่อมออกไปยังพื้นที่รอบนอกและพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร

ทีมงาน UddC Urban Insight จะพาทุกท่านไปดูกันว่า ย่านไหนที่ดูจะขาดแคลนสุขากึ่งสาธารณะในยามฉุกเฉินกันบ้าง ผ่านข้อมูลสุขาในพื้นที่หรือสถานที่บริการรของเมืองทั้ง 4 ประเภทข้างต้น

สุขาสถาน กับ ย่านต้องอั้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลระยะการเข้าถึงสุขาสาธารณะตามข้อมูลข้างเคียง (Proxy) ทั้ง 4 ประเภทข้างต้น พบว่า ระยะให้บริการสุขาสาธารณะนอกบ้านของกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ประมาณ 2.5 กิโลเมตร นั่นหมายถึงระยะทางโดยเฉลี่ยที่เราจะสามารถหาสถานที่ปลดทุกข์ได้นอกบ้าน แต่อย่างไรก็ตามระยะทางเฉลี่ยนี้แปรผันไปตามระยะความใกล้ไกลของศูนย์กลางเมือง ตามสำนึกคิดพื้นฐานของเรา กล่าวคือ ในพื้นที่ที่เขตเมืองชั้นในที่มีสาธารณูปการที่ให้บริการสุขาสาธาณณะอยู่จำนวนมากและเกาะตามแนวถนนสายหลักที่เป็นถนนสายรัศมีของเมือง ซึ่งมีสุขาสาธาณณะตามปั๊มน้ำมันเกาะอยู่รายทาง พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่มีระยะการเข้าถึงสุขาสาธารณะเฉลี่ยประมาณ 500 – 1500 เมตร ซึ่งไม่น่าแปลกใจ

แต่ในพื้นที่ใจกลางเมืองใช่ว่าจะมีการกระจายตัวของบริการสุขาสาธารณะนอกบ้านเหล่านี้ได้ทั่วถึงกันทั้งหมด ย่านที่จัดว่าเป็นย่านต้องอั้น ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน อาทิย่านบ้านหม้อ เยาวราช หัวลำโพง จุฬาฯ ราชดำริ ยิ่งไปกว่านั้นหากอยู่ในสถานการณ์ที่รถติดขณะเดินทางจะกลายเป็นว่าระยะทางที่สั้นกว่าเหล่านี้อาจแปรผกผันกับระยะเวลาที่จะสามารถเข้าถึงสุขาสาธารณะเหล่านั้นได้

สำหรับพื้นที่ในเขตชานเมืองนั้น ระยะทางเฉลี่ย อยู่ประมาณ 2.5 – 6 กิโลเมตร เช่น ในย่าน พระราม 2 บางขุนเทียน บางมด ลาดปลาเค้า ดอนเมือง คลองสามวา สวนหลวง ลำสาลี ลาดกระบัง มีนบุรี เป็นต้น

การใช้ข้อมูลข้างเคียงของพื้นที่ให้บริการสุขาสาธาณณะนอกบ้านนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นการกระจายตัวอย่างง่ายของ “สุขาสาธารณะ” ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น

ประเด็นที่อยากจะชวนให้คิดต่อไปมากไปกว่าระยะการเข้าถึงสุขาสาธารณะเหล่านี้ คือ มิติของการให้บริการสาธารณะของเมือง ความท้าทายในการบริหารจัดการ การให้ความปลอดภัยสาธารณะ การป้องกันอาชญกรรม การล่วงละเมิดทางเพศ และอื่นๆ ที่ตามมากับการใช้บริการห้องน้ำสาธารณะในเมืองของเรานั่นเอง


Contributor