28/06/2022
Environment

พระโขนง-บางนา ฝนตกนิดเดียว น้ำก็ท่วมรอระบาย

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ชนม์ชนิกานต์ ศศิชานนท์
 


นับตั้งแต่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อฝนเริ่มตก น้ำก็เริ่มท่วม เป็นผลกระทบลูกโซ่ที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ในมหานครแห่งนี้ จากผลสำรวจเสียงสะท้อน 10 ปัญหาเรื้อรังที่คนเมืองต้องการให้ผู้ว่าฯ เร่งแก้ไข โดยบริษัท เรียล สมาร์ท บริษัทดิจิทัลเอเยนซี ซึ่งให้บริการ Social Listening พบว่า “ปัญหาน้ำท่วมขัง” ถูกพูดถึงเป็นอันดับที่ 2 หรือคิดเป็นร้อยละ 10.94 ที่คนเมืองพูดถึงในโลกออนไลน์

ระดับความสูง – ต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมไม่เท่ากัน พระโขนง – บางนาเป็นหนึ่งในพื้นที่เปราะบางเสี่ยงน้ำท่วม เนื่องจากบริเวณกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย (Mean Sea Level: MSL) เพียง 0 – 0.5 เมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นในกรุงเทพฯ

พื้นที่แอ่งกระทะหรือบริเวณที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง เช่น บริเวณรอบสถานีปุณณวิถี และซอยสุขุมวิท 101/1 นับเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำท่วมขัง เอ่อล้น รอระบายภายในย่าน ซึ่งนอกจากระดับความสูงต่ำของระดับพื้นดินแล้ว ยังเกี่ยวเนื่องกับคุณสมบัติชั้นดินอีกด้วย โดยชั้นดินของกรุงเทพฯ เป็นดินเหนียวอ่อนซึ่งมีคุณสมบัติทึบน้ำ ประกอบกับความหนาแน่นของสิ่งก่อสร้างในย่านที่สูงขึ้นจากบทบาทการเป็นย่านเศรษฐกิจสุขุมวิทใต้ที่กำลังมาแรงและยังเป็น 1 ใน 4 แหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของกรุงเทพฯ ทำให้เมื่อเกิดสถานการณ์ฝนตกไม่ว่าจะหนักหรือเบาแต่เมืองกลับเต็มไปด้วยพื้นผิวสิ่งสร้างปิดหน้าดิน จึงทำให้น้ำฝนเริ่มเอ่อล้นตามแนวถนนจากการไม่มีพื้นที่รองรับหรือหน่วงน้ำที่เพียงพอ ทำให้ระบบระบายน้ำในเมืองต้องรอการระบายจากถนนลงท่อรวมใต้ดินเพียงช่องทางเดียวและเกิดปัญหาน้ำท่วมขังรอระบายเฉกเช่นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าย่านจะมีข้อจำกัดของสัณฐานที่มีระดับความสูง ประกอบกับการขยายตัวของเมืองในปัจจุบันที่ปิดหน้าดินที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการระบายน้ำในย่านพระโขนง – บางนา แต่หากจะมองหาโอกาสในการแก้ไขปัญหาเรื้อรังดังกล่าวแล้ว คูคลองถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญของการระบายน้ำ เนื่องจากมีโครงข่ายเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงทั้งแนวแกนเหนือใต้และตะวันออกตะวันตก มีระยะทางรวมกันยาวถึง 53 กิโลเมตร โดยเส้นทางธรรมชาติเหล่านี้จะช่วยสัดส่วนเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำรอระบายและกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายได้ หากได้รับการวางแผนปรับปรุงและใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการร่วมสร้างย่านพระโขนง – บางนาเช่นเดียวกัน

บทความนี้เป็นโครงการศึกษาและออกแบบอย่างมีส่วนร่วม โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับ สตูดิโอการฟื้นฟูย่าน ภาคผังเมือง จุฬาฯ


Contributor