27/05/2021
Environment

รั้วรอบ ขอบชิด ปิดประตู : เพียงกรุงเทพฯ “สลายรั้ว” เราจะเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้มากขึ้น

หฤษฎ์ ทะวะบุตร
 


ภาพปกโดย photo created by mrsiraphol – www.freepik.com

บางครั้งการเดินเท้าไปตามถนนใหญ่อาจทำให้เราต้องเจอกับความวุ่นวายและมลพิษมากไปสักหน่อย การได้เดินลัดผ่านสวนหรือพื้นที่สงบ ๆ กว้าง ๆ บ้างก็คงให้บรรยากาศที่ดีกับการเดินในชีวิตประจำวันของเราไม่น้อย ความคิดนี้จะไม่เกินความจริงเลย หากเรากำลังเดินอยู่ในกรุงวอชิงตันดีซี แต่พอเราอยู่ในกรุงเทพฯ มองไปทางไหนก็เจอแต่ตึกและรั้วทึบ ๆ กับถนนใหญ่มหึมาที่มาพร้อมกับทางเดินเท้าขนาดพอดีตัว

3 เหตุผล ทำไมกรุงเทพฯ เป็น “เมืองแห่งรั้ว”

เราคงรู้กันดีว่าสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ นั้นแสนจะห่างไกลเกินเอื้อมถึง ไม่ได้อยู่ให้เราเดินผ่านได้บ่อย ๆ อยู่แล้ว แต่บางครั้งถึงแม้พื้นที่สาธารณะจะอยู่แค่เอื้อม เราก็อาจจะยังต้องติดอยู่กับถนนกับทางเดินเล็ก ๆ ของเราไปอีกไกล ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะรั้วโลหะเจ้ากรรมที่ยั่วให้เราได้เห็นสวน เห็นสนามหญ้า หรือเห็นลานกว้างอยู่ข้างตัว แต่ก็ขวางเราไว้ไม่ให้ไปถึง 

ตั้งแต่สวนสาธารณะ มหาวิทยาลัย ไปจนถึงที่ทำการหน่วยงานราชการ ทุก ๆ พื้นที่เหล่านี้ล้วนแต่มีรั้วรอบขอบชิด เข้าได้แค่จุดนี้ ออกได้แค่ทางนี้ ถ้าโชคไม่ดีมาวันที่เขาปิดประตูลงกลอน เราก็อาจจะต้องเดินอ้อมไปเป็นกิโลเมตร ความเป็นเมืองแห่งรั้วของกรุงเทพฯ นี้มีเหตุมาจาก 3 เรื่องหลัก ๆ คือสัณฐานของเมือง การกระจายความเป็นเจ้าของที่ดิน และมุมมองต่อพื้นที่สาธารณะ

ภาพถ่ายดาวเทียม Google Map แสดงภาพพื้นที่สีเขียวภายในรั้วของสถานที่ราชการ โรงเรียน และวัด ตลอดแนวถนนราชดำเนินนอกและใกล้เคียง

ประการแรก สัณฐานของกรุงเทพฯ แตกต่างจากเมืองอื่น ๆ หลายแห่งในโลกตะวันตก ตั้งแต่ลำดับชั้นของประเภทถนน ที่มีการกำหนดระบบถนนไว้แค่สายประธาน (Principal Arterial) และสายหลัก (Major Arterial) เท่านั้น คือมีแค่ถนนระหว่างเมืองและถนนสายหลักระหว่างย่าน ส่วนพื้นที่อื่น ๆ นั้นไม่ได้มีการวางระบบไว้เป็นแบบแผน พื้นที่เหล่านี้จึงเกิดการกลายเป็นพื้นที่ของตรอกซอกซอย (สามารถอ่านเพิ่มเกี่ยวกับ มหานครซอยตัน) การจัดการเชื่อมต่อพื้นที่สาธารณะเข้ากับตรอกซอกซอยเหล่านี้จึงอาจกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ทั้งในด้านการสร้างจุดเชื่อมต่อ และการดูแลรักษาให้มีความเรียบร้อย

ประการที่สอง โครงสร้างการถือครองที่ดินในเมืองกรุงเทพฯ ไม่อำนวยต่อการเชื่อมต่อพื้นที่ พื้นที่จำนวนมากถูกถือครองโดยเอกชน ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่เจ้าเดียว หรือรายย่อยจำนวนมาก ตรอกซอกซอยต่าง ๆ ก็มักจะเป็นที่ดินส่วนบุคคลหรือทำโดยเอกชนแต่ละเจ้าทำให้ไม่มีความเป็นเอกภาพ และมีแนวความคิดของผู้อาศัยที่หลากหลายเกี่ยวกับการเชื่อมโยงที่ดินหรือบริเวณของตนเข้ากับพื้นที่ของคนอื่น ๆ หรือของสาธารณะ เหล่านี้ทำให้ภาครัฐไม่สามารถเข้ามาจัดการเชื่อมต่อพื้นที่เพื่อให้การเดินทางในระดับย่อยได้สะดวก ตั้งแต่การเชื่อมถนนทะลวงซอยตัน ไปถึงทลายรั้วสร้างทางเดินให้สะดวกสวยงาม

ประการที่สาม พื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ ยังคงติดอยู่ในกรอบมุมมองของการใช้ประโยชน์จำกัด คือพื้นที่แต่ละแห่งจำเป็นต้องมีจุดประสงค์การใช้งานในตัว กรอบมุมมองดังนี้ยิ่งส่งเสริมการล้อมรั้วให้กับพื้นที่สาธารณะได้มากขึ้นอีก เมื่อเราพูดถึงสวนสาธารณะ เราจะนึกถึงการเดินทางเข้าไปในสวนเพื่อออกกำลังกายหรือเพื่อท่องเที่ยว เมื่อเราพูดถึงวัด เราจะนึกถึงการเข้าไปทำบุญหรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม มุมมองต่อสถานที่ของเราคือเพียงแค่เข้าไป ทำกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจง แล้วกลับออกมา เป็นแค่จุดแวะ แต่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่สรรค์สร้างเพื่อคนเมืองทุก ๆ คน

เมื่อกระแสเรียกร้องพื้นที่สีเขียวกำลังมา?

เมื่อมองดูพื้นที่ที่อยู่ในมือของรัฐที่สามารถปรับปรุงเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนได้ง่ายที่สุดในทุกวันนี้ เราก็น่าจะคาดเดาได้ทีเดียวว่ากระแสความพยายามในการให้ที่สาธารณะแก่ประชาชนนี้ยังไม่มีขึ้นอย่างจริงจัง ริมถนนราชดำเนินนอกที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการมากมายหลายกระทรวงต่อกัน ตลอดแนวยังคงมีแต่รั้วสูงตลอดแนวพอให้มองเห็นสนามหญ้ากับอาคารสวยงามได้จากริมถนน และสภาพเหล่านี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกมากนัก ที่จริงแล้วพื้นที่ราชการบางส่วนที่ไม่เคยมีรั้วในอดีต เช่น สนามหลวง ก็ได้มีการล้อมรั้วใหม่ขึ้นมาอีก 

“เป็นที่หน้าสนใจว่าเมื่อพื้นที่สาธารณะจะถูกปรับปรุงหรือเปลี่ยนไปใช้เป็นการเฉพาะกิจ กทม. กลับดำเนินการไปโดยไม่ปรึกษากับสาธารณะ”

บทความ Bangkok Post วิจารณ์การล้อมรั้วสนามหลวงเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับงานของส่วนราชการและศาสนาเท่านั้น เหล่านี้รวมถึงการเปลี่ยนพื้นที่ไปเป็นจุดรับส่งนักท่องเที่ยวสำหรับพระบรมมหาราชวัง

“กทม. ไม่เคยถามผู้เดินทางที่เปลี่ยนรถโดยสารที่บริเวณนี้เกี่ยวกับการสร้างรั้ว แม้ว่ารั้วจะกั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เคยเป็น (และเคยเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับ: ผู้เขียน) ป้ายรถประจำทางไปด้วย”

ด้วยการดำเนินนโยบายออกแบบเมืองจากบนลงสู่ล่างดังนี้ เราอาจจะยังไม่ได้เห็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองในเร็ว ๆ นี้

เชื่อมเมืองด้วยทางเดินเท้าร่มรื่นในรั้วจุฬาฯ

พื้นที่ที่ 1 เส้นทางเดินเท้าจากอุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงปลาย “สะพานเขียว” ที่แยกสารสิน ในกรณีที่ใช้ทางในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านพื้นที่ของราชกรีฑาสโมสร (สีเขียว) และในกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปิดประตูทั้งหมด และไม่สามารถใช้พื้นที่ของราชกรีฑาสโมสรได้ (สีฟ้า) จะเห็นได้ว่าการเดินทางผ่านพื้นที่ในรับผิดชอบของส่วนราชการเหล่านี้สามารถลดระยะเดินทางได้เกือบ 1 กิโลเมตร และเพิ่มการเข้าถึงพื้นที่หลายบริเวณได้

เพิ่มพื้นที่สีเขียว (กึ่ง) สาธารณะจากหน่วยงานรัฐริมถ.ราชดำเนินนอก

พื้นที่ที่ 2 พื้นที่สาธารณะบริเวณถนนราชดำเนินนอกและรอบข้าง จากเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงแยก จ.ป.ร. ในกรณีที่นำรั้วหน้าหน่วยงานออกและเปิดพื้นที่ของหน่วยงานรัฐให้เป็นสาธารณะ โดยเปิดเฉพาะด้านที่สามารถเดินเชื่อมต่อกับทางสาธารณะได้โดยไม่มีอะไรกั้น (สีเขียว) และกรณีที่มีการกั้นรั้วริมทางเท้าอยู่อย่างในปัจจุบัน (สีฟ้า) จะเห็นได้ว่าหากไม่มีรั้วริมถนนแล้วนั้นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้งานได้จะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 8 ไร่  

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การคืนพื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นสาธารณะนั้นเป็นสิ่งปกติในยุโรปและอเมริกาเหนือ การดำเนินการแบบเดียวกันนี้ยังคงอาจทำให้เกิดปัญหาได้หลายประการในเมืองของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การเปิดพื้นที่ให้เป็นสาธารณประโยชน์ในเมืองที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพอยู่เดิม เช่นการเปิดพื้นที่รอบอาคารศาลสูงสุดในกรุงวอชิงตันดีซี หรือมหาวิทยาลัยที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับเมืองของออกซ์ฟอร์ด เป็นการสร้างชุมชนเมืองให้เป็นมิตรมากยิ่งขึ้น แต่การเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้กับเมืองที่ขาดแคลนพื้นที่อยู่เดิม เช่นการเปิดวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยในกรุงไคโร กลับสร้างความกังวลให้กับผู้ใช้สอยเดิม ว่าพื้นที่สาธารณะใหม่จะ “ถูกใช้จนเกินพอดี” และเป็นแหล่ง “พฤติกรรมไม่เหมาะสม” ได้ (สามารถอ่านงานวิจัยเรื่องนี้ได้ในแหล่งอ้างอิง)

อนุสรณ์สถานลินคอล์นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ภาพจาก Mountain photo created by wirestock – www.freepik.com

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเมืองดังนี้จำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงผลกระทบรอบด้านต่อทั้งระบบเมืองโดยรวมและเจ้าของพื้นที่เดิม แต่หากมีวิธีการก่อสร้างและดูแลรักษาให้เหมาะสมได้ พื้นที่ของส่วนราชการจะกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง และพื้นที่สาธารณะที่ล้อมรั้วจะเชื่อมต่อเข้าอย่างไร้รอยต่อกับส่วนอื่น ๆ ของเมืองได้ เราจะมีพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย การพักผ่อน การเชื่อมต่อ และเพื่อความสวยงามทางทัศนียภาพเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนเมืองทุก ๆ คน 

แหล่งข้อมูล

Sirinya Wattanasukchai. “With city’s public spaces, don’t ignore the public”. Bangkok Post. 12 Jan 2019. Retrieved

Ali, M. and Kim, Y. 2020. “Can a University Campus Work as a Public Space in the Metropolis of a Developing Country? The Case of Ain-Shams University, Cairo, Egypt”. Sustainability, 2020, 12, 7229.

ศิริวิไล ธีระโรจนารัตน์. 2564. ภูมิศาสตร์เมือง. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


Contributor