21/07/2020
Environment

เมืองเล็กๆ ตรงเส้นรอยจูบของสายน้ำ

วิทยากร โสวัตร
 


การที่อุบลฯ ตั้งอยู่ตะวันออกสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังเป็นตำบลที่ตั้งของเส้นเวลาหลักของประเทศที่เส้นแวง 105 องศาตะวันออก จึงทำให้นอกจากเห็นพระอาทิตย์ก่อนใครแล้วพระอาทิตย์และพระจันทร์แรกขึ้นที่นี่ยังเห็นขนาดใหญ่กว่าที่อื่น และจุดที่ใกล้เส้นเวลานั้นมากที่สุดได้ซ่อนเมืองเล็กๆ ที่สวยงามแห่งหนึ่งไว้

1

ออกจากอุบลราชธานีมุ่งไปทางตะวันออกจนสุดเขตแดนประเทศซึ่งมีแม่น้ำโขงไหลพาดผ่านจากทิศเหนือลงใต้คล้ายทางช้างเผือกบนแผ่นดิน โขงเจียมเมืองเล็กๆ แห่งนั้นวางตัวเองเงียบๆ ตรงจุดรอยต่อของแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลที่ไหลมาจากทางตะวันตก

เส้นทางจากพิบูลมังสาหารมาสู่โขงเจียมนั้นตีคู่ขนานมากับแม่น้ำมูลและมีลักษณะเป็นเนินเขาหินทรายสลับกับร่องน้ำสาขาแม่น้ำมูลซึ่งเป็นพื้นดินที่เพาะปลูกได้ ทุ่งข้าวที่อยู่ระหว่างคลื่นหุบและเนินเหล่านี้จึงต่างระดับถือเป็นทุ่งนาที่สวยมากแห่งหนึ่ง ประมาณกิโลเมตรที่ 70 จากอุบลฯ หรือ 30 จากพิบูลฯ จะมาถึงจุดสูงสุดของเนินเขาฝั่งไทยที่ตั้งวัดถ้ำคูหาสวรรค์ซึ่งถือเป็นยอดภูเขาศักดิ์สิทธิ์ จุดชมวิวตรงโค้งนี้เองจะเห็นเทือกเขาในแดนลาวด้านทิศตะวันออกขึงทอดยาวจากเหนือลงใต้เบื้องล่างนั้นคือแม่น้ำโขง – สายน้ำแห่งชีวิตของมวลมนุษยชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกซึ่งขนาบข้างด้านทิศเหนือของโขงเจียมไว้ส่วนด้านทิศใต้ก็ติดแม่น้ำมูล  และจุดนี้เองที่เราจะเห็นการบรรจบกันของสายน้ำสองสายมูลกับโขง บางฤดูที่น้ำหลากไหลแรงเราจะเห็นเส้นรอยต่อของแม่น้ำทั้งสอง แต่ถ้าอยากเห็นให้ชัดเจนขึ้น เราต้องเลี้ยวขวาจากถนนหลักเส้นนี้ลงไปข้างล่าง รอยจูบของแม่น้ำทั้งสองจะปรากฏต่อหน้าและสามารถลงเรือไปเอื้อมสัมผัสได้  

เมืองโขงเจียมอยู่บนเส้นรอยจูบนี้เอง

แทรกไว้ตรงนี้ก็ได้ว่า ประมาณ 1-2 กิโลเมตรก่อนที่จะถึงโค้งที่เราจะลอบยลเส้นรอยจูบที่ว่านั้นเราจะผ่านดงป่าไม้สูงใหญ่ขนาบสองข้างถนน ในฤดูใบไม้สดเขียว แสงแดดจะผ่านลงมาได้เพียงแต่น้อย แต่พอเข้าสู่ฤดูที่ใบไม้ร่วง  ถนนช่วงนี้จะถูกปูทับด้วยใบไม้แห้ง และปลิวกระจายออกตามแรงรถที่ขับผ่าน คล้ายดั่งประตูลึกลับก่อนเข้าสู่ดินแดนที่งดงาม

ถ้าเรายืนอยู่ในจุดสูงสุดของเนินตรงโค้งนั้นในคืนข้างขึ้นดวงจันทร์จะลอยตัวขึ้นตรงช่องเขาที่แม่น้ำโขงไหลวกเข้าสู่แดนลาวภายหลังบรรจบกับแม่น้ำมูล รอยจูบของสายน้ำทั้งสองระริกไหวอยู่ภายใต้พระจันทร์ดวงนั้นและระยิบระยับสะท้อนแสงจันทร์ ซูมภาพให้ใกล้เข้ามาด้วยการลงไปยืนอยู่ตรงแหลมในตัวเมืองที่ยื่นลงไปตรงจุดบรรจบของสองสายน้ำ ภาพแผ่นน้ำตรงเส้นรอยจูบปรากฏชัดพร้อมกับเสียงน้ำไหลกระทบเกาะแก่งหินและต้นไม้กลางแม่น้ำ

โขงเจียมเป็นเมืองที่หลับใหลค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะโซนเรียบริมโขง และถ้าเราเดินย้อนกลับมาในทิศทางตรงกันข้ามในความเงียบภายหลังความหลับนั้น เดินไปตามถนนสายเล็กๆ กลางชุมชนเลียบแม่น้ำโขงที่คลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวปลาหรือหน้าบ้านพักสีแบ เพียงแต่เราแหงนมองไปข้างบนฝั่งตะวันตก เราจะรู้สึกเหมือนว่าเดินอยู่ในเมืองบาดาล แสงไฟจากเจดีย์ของวัดถ้ำคูหาสวรรค์ที่อยู่บนยอดเนินและแสงไฟถนนเส้นไปโพธิ์ไทร ศรีเมืองใหม่ เหมือนแสงไฟเหนือผิวน้ำ

ถนนสายที่ตรงไปอำเภอโพธิ์ไทร ยกตัวสูงขึ้นจากตัวเมืองโขงเจียมทอดยาวขึ้นลงตามคลื่นเนินเขา ผ่านผาแต้ม ผาชะนะได ภูสมุย สามพันโบก ยาวไปถึงอำเภอเขมราฐ ต่อไปมุกดาหาร นครพนม บ้านแพง หนองคายได้ ถือเป็นเส้นทางคู่ขนานทวนแม่น้ำโขงขึ้นไปทางเหนือ

ทางทิศใต้ของเมือง ใกล้ๆ กับตลาด มีสะพานข้ามแม่น้ำมูล (สิบกว่าปีที่แล้วไม่มีสะพาน  ข้ามฟากต้องใช้เรือขนานยนต์) ถนนเส้นนั้นตัดตรงไปอำเภอสิรินธรและด่านช่องเม็ก-วังเต่า เข้าสู่ลาวใต้ ปากเซ จำปาสัก ถนนยกตัวสูงขึ้นตามลำดับของเนินเขาหินปูน และขึ้นลงเนินเล็กใหญ่สลับกันไป ต้นไม้บนเนินเขามีฟอร์มโดดเด่นพิเศษ ในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่ใบไม้เปลี่ยนสีเป็นถนนสายที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่ง

จากสภาพแวดล้อมแบบนี้เองทำให้โขงเจียมกลายเป็นการสร้างสรรค์ที่เหมาะเจาะลงตัวของธรรมชาติ เป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ในจุดที่สวยมาก อีกทั้งภูมิทัศน์ทุกๆ ทิศที่แวดล้อมและนำเรามาสู่หรือออกไปจากโขงเจียมในรัศมี 50 กิโลเมตรยังขับเน้นความงามของเมืองเล็กๆ ในเส้นรอยจูบของแม่น้ำนี้ให้เปล่งประกายขึ้นและยังมีสีสันที่ชัดเจนในแต่ละฤดูให้อารมณ์ไม่ซ้ำกัน

ฟังแบบนี้แล้วเหมือนว่าโขงเจียมเป็นเมืองในฝัน ซึ่งก็ใช่อย่างนั้นจริงๆ อย่างน้อยครั้งหนึ่งมันเคยเป็นแบบนั้น

2

ถ้าโขงเจียมโตช้ากว่านี้สัก 30 ปีจะดีที่สุด หลักไมล์ของการเปลี่ยนแปลงนั้นมาพร้อมกับปีการท่องเที่ยวไทย (2530) และเขื่อนปากมูล รูปลักษณ์ของเมืองเล็กๆ บนเส้นรอยจูบของสายน้ำแห่งนี้ถูกดึงให้ยึดโยงกับสองสิ่งนี้ ซึ่งเป็นการพัฒนาตามรูปแบบและรสนิยมกระแสหลักที่ถูกกำหนดโดยศูนย์กลางอำนาจรัฐในขณะนั้น

ถ้ามองโขงเจียมอย่างเข้าใจ ความเปลี่ยนแปลงของเมืองเล็กๆ ที่สวยงามแห่งนี้มันก็มีเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตขึ้นในยุคข่าวสารข้อมูลยังไม่กระจายตัวข้ามโลกแบบทุกวันนี้ ทำให้โขงเจียมต้องเป็นฝ่ายรับแต่ทางเดียว  และเป็นการรับจากนโยบายส่วนกลางเท่านั้น ไม่มีการทำประชามติ ประชาชนในพื้นที่ไม่มีสิทธิ์เลือกแนวทางที่ตัวเองต้องการหรือแนวทางที่ทันสมัยแต่เข้ากับหน้าตาและตัวตนของตัวเอง

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด ผมจะชี้ให้เห็นถนนสี่สายหรือโซนสี่โซนของโขงเจียม หนึ่ง – ถนนในชุมชนค้าขายปลา  ไม่ได้ติดตลิ่งโขงเสียทีเดียว เพราะขนาบข้างด้วยบ้านเรือนไม้ วัด และหน่วยทหารนปข. ถนนสั้นๆ สายนี้ยังคงรูปทรงกลิ่นอายและตัวตนแต่ดั้งเดิมโขงเจียมไว้  

สอง – ต่อเนื่องจากถนนเส้นแรก แต่เส้นนี้เรียบติดริมโขง เส้นนี้เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงโขงเจียมในช่วงปี 2530 เป็นต้นมา พื้นที่ว่างจากริมโขงไปถึงอาคารของศูนย์ราชการ (ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงรูปทรงไปมากนัก) มีช่วงยาวและกว้างมากพอสามารถเป็นปาร์คที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งได้ เพราะมีองค์ประกอบคือทิวทัศน์ฝั่งโขงที่สวยงาม มีต้นสักขึ้นเป็นสวน มีต้นไม้เก่าแก่โบราณขนาดใหญ่อายุเป็นร้อยๆ ปี อย่างมะม่วงและฉำฉาหรือจามจุรี ทอดยาวเป็นทิวไปตามถนนเส้นนี้จนถึงวัดที่อยู่ตรงปลายแหลมเส้นบรรจบของแม่น้ำมูลและโขง ผมยังนึกไม่ออกว่ามีถนนริมโขงเส้นไหนที่มีต้นมะม่วงสลับกับต้นฉำฉาที่มีฟอร์มยิ่งใหญ่สวยงามและลงตัวขนาดนี้ (มีที่หนึ่งที่สามพันโบก  แต่นั่นเป็นแต่ดงมะม่วงใหญ่โบราณริมโขง) ตอนนี้ถนนเส้นนี้หรือโขงเจียมโซนนี้กลายเป็นความอัปลักษณ์ เต็มไปด้วยทัศนอุจาด ต้นฉำฉาและต้นมะม่วงบางต้นถูกตัดโค่น ที่เหลืออยู่ก็ถูกหักรานจนเสียรูปทรง ลำต้นในระดับสายตาถูกตอกตรึงด้วยป้ายโฆษณาและถูกเบียดบังด้วยอาณาจักรของร้านรวงไร้การออกแบบที่ดีจนดูเป็นสลัมรุกล้ำ Spaces ริมโขงและลึกลงไปถึงสายน้ำด้วยเรือ/แพอาหารทรวดทรงสีสันบาดตาและพ่นเสียงอึกทึกจากเครื่องเสียงยิ่งไปเสริมให้ดวงอาทิตย์ที่ตั้งฉากกับเส้นแวงที่ 105 องศาตะวันออกระอุความร้อนขึ้นในความรู้สึก (นึกภาพว่าเวลาเที่ยงและบ่ายที่แผ่นน้ำกว้างสะท้อนแสงแดด ต้นไม้สีเขียวบนฝั่งถูกหักรานลง และพื้นที่เต็มไปด้วยหลังคาและผนังสังกะสี) แม้แต่สวนที่จัดขึ้น การเลือกต้นไม้ก็ไม่เข้าบรรยากาศ

สาม – ขยับขึ้นไปจากถนนเส้นที่สองนี้ เป็นถนนอีกสายที่คู่ขนานกัน คั่นด้วยบ้านเรือน ตึกพาณิชย์เตี้ยๆ และศูนย์ราชการ เป็นถนนสายสั้นๆ ที่เป็นตัวแทนของ ‘การเกิดใหม่’ ของโขงเจียม จากข้อมูลการท่องเที่ยวแบบใหม่ รสนิยมของคนรุ่นใหม่ และถูกสร้างขึ้นโดยเอกชนรายย่อย ตึกโคโลเนียลที่ถูกทอดทิ้งได้รับการบูรณะขึ้น ร้านรวงมีสไตล์และออกแบบเข้ากับสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม

เมื่อเปรียบเทียบถนนสองเส้น สองโซนระหว่าง สองกับสาม เราจะพบว่ากลุ่มรถทัวร์ที่เปิดเพลงอึกทึกบรรทุกคนของหน่วยงานราชการมาเที่ยวมาดูงานก็จะมุ่งไปโซนที่สอง ส่วนรถส่วนตัว คนเดินทางแบกเป้ก็จะมาโซนถนนเส้นที่สาม

สี่ – โซนสะพานข้ามแม่น้ำมูล ถ้ามองว่าเป็นการจัดโซนของเมืองที่ดีก็ถือว่าดี เพราะแยกความอึกทึกยามราตรีออกจากชุมชน ที่นี่เต็มไปด้วยร้านเหล้า ผับ สถานบริการทางเพศทั้งผู้หญิงผู้ชาย เราจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม  แต่นี่คือผลพวงของการพัฒนาการท่องเที่ยวไม่ว่าจะยุคสมัยใดของไทย (ต่างประเทศเป็นหรือเปล่าผมไม่มีข้อมูล) ยิ่งในเมืองที่ติดชายแดนก็จะมีการค้ามนุษย์ทั้งข้ามและไม่ข้ามชาติ

3

แต่ผมก็ยังรักโขงเจียม เมืองเล็กๆ บนเส้นรอยจูบของแม่น้ำแห่งนี้ และชอบที่จะไปเยือน ความรู้สึกต่อโขงเจียมเหมือนหนังสือบางเล่ม ที่เราเปิดอ่านได้เรื่อยๆ ทั้งในห้วงความรู้สึกที่คิดถึงมันและในบางช่วงที่ไม่รู้ว่าจะอ่านอะไรก็จะหยิบมันขึ้นมาเปิดอ่าน หนังสือบางเล่มเขียนและตีพิมพ์มาเป็นร้อยปีแล้ว แต่เราก็ยังดื่มด่ำกับบรรยากาศและความรู้สึกในนั้น แม้บางช่วงระหว่างการอ่านจะมีความคิดหรือภาพเหตุการณ์ในยุคปัจจุบันแทรกผ่านเข้ามาให้ได้ฉุกคิดก็ไม่ได้ทำให้รสชาติของหนังสือเสียไป

แปลกเหมือนกัน, บ่อยครั้งที่ผมพบว่า หนังสือที่ผมติดรถหรือเป้เดินทางไปโขงเจียมนั้นเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ เท่าฝ่ามือชื่อ ‘ร่อนเร่พเนจร’ หรือ ‘wandering’ ที่แฮร์มันน์  เฮสเสะ (Hermann  Hesse) ได้เขียนขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 (สาลินี  คำฉันท์ แปล, สนพ.หนังสือเล่มเล็กตีพิมพ์เมื่อกรกฏาคม 2530) เฮสเสได้แสดงถึงความสามารถทางกวี การเขียนรูป และการเขียนความเรียงเชิงปรัชญาเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้ผ่านพบ และแสดงออกถึงความรู้สึกของตนเองอย่างแจ่มชัดที่สุด โดยไม่ได้ผ่านตัวละครอื่นใดเลย

ระหว่างเปิดอ่าน ‘ร่อนเร่พเนจร’ (wandering) บางจังหวะที่ปิดหนังสือลงแล้วปรายตามองโลกที่เป็นไปเบื้องหน้าหรือที่เคลื่อนไหวในห้วงคิดและจินตนาการ ผมพบว่าโขงเจียมที่แท้จริงเผยตัวเองในยามค่ำคืนหลังสี่ทุ่มและในยามเช้าตรู่ที่มีกลิ่นแม่น้ำโชยมากับลมรุ่งพร้อมกับกลิ่นคาวปลา กลิ่นเหงื่อไคลของคนหาปลาและชาวบ้าน ต่อเมื่อสาย  แดดเริ่มแรง โขงเจียมหลีกเร้นเก็บตัวอยู่ในบ้านเงียบๆ ก่อนที่รถทัวร์จะเข้ามาและเสียงเพลงจากในรถและแพอาหารจะดังขึ้นปนไปกับเสียงตะโกนเรียกหากันของนักท่องเที่ยวดูงานและเสียงเรียกหาลูกค้าของคนในเพิงขายของ

4

ถ้าเวลาคือการเปลี่ยนแปลงจริง โขงเจียมก็อยู่ในกระแสน้ำแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เพียงแต่คลื่นแห่งการพัฒนาเมื่อ 3 ทศวรรษก่อนมันแช่แข็งยาวนานสักหน่อย แต่เมื่อหลุดพ้นช่วงยาวนั้นมา การเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น เราอาจคาดเดาใบหน้าโขงเจียมในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าไม่ได้ แต่ถ้ามองถึงถนนเส้นที่สามว่าเป็นความหวัง บางทีโขงเจียมอาจกลายเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมและธรรมชาติที่งดงามบนเส้นรอยจูบของแม่น้ำ


Contributor