เมืองเล็กๆ ตรงเส้นรอยจูบของสายน้ำ

21/07/2020

การที่อุบลฯ ตั้งอยู่ตะวันออกสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังเป็นตำบลที่ตั้งของเส้นเวลาหลักของประเทศที่เส้นแวง 105 องศาตะวันออก จึงทำให้นอกจากเห็นพระอาทิตย์ก่อนใครแล้วพระอาทิตย์และพระจันทร์แรกขึ้นที่นี่ยังเห็นขนาดใหญ่กว่าที่อื่น และจุดที่ใกล้เส้นเวลานั้นมากที่สุดได้ซ่อนเมืองเล็กๆ ที่สวยงามแห่งหนึ่งไว้ 1 ออกจากอุบลราชธานีมุ่งไปทางตะวันออกจนสุดเขตแดนประเทศซึ่งมีแม่น้ำโขงไหลพาดผ่านจากทิศเหนือลงใต้คล้ายทางช้างเผือกบนแผ่นดิน โขงเจียมเมืองเล็กๆ แห่งนั้นวางตัวเองเงียบๆ ตรงจุดรอยต่อของแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลที่ไหลมาจากทางตะวันตก เส้นทางจากพิบูลมังสาหารมาสู่โขงเจียมนั้นตีคู่ขนานมากับแม่น้ำมูลและมีลักษณะเป็นเนินเขาหินทรายสลับกับร่องน้ำสาขาแม่น้ำมูลซึ่งเป็นพื้นดินที่เพาะปลูกได้ ทุ่งข้าวที่อยู่ระหว่างคลื่นหุบและเนินเหล่านี้จึงต่างระดับถือเป็นทุ่งนาที่สวยมากแห่งหนึ่ง ประมาณกิโลเมตรที่ 70 จากอุบลฯ หรือ 30 จากพิบูลฯ จะมาถึงจุดสูงสุดของเนินเขาฝั่งไทยที่ตั้งวัดถ้ำคูหาสวรรค์ซึ่งถือเป็นยอดภูเขาศักดิ์สิทธิ์ จุดชมวิวตรงโค้งนี้เองจะเห็นเทือกเขาในแดนลาวด้านทิศตะวันออกขึงทอดยาวจากเหนือลงใต้เบื้องล่างนั้นคือแม่น้ำโขง – สายน้ำแห่งชีวิตของมวลมนุษยชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกซึ่งขนาบข้างด้านทิศเหนือของโขงเจียมไว้ส่วนด้านทิศใต้ก็ติดแม่น้ำมูล  และจุดนี้เองที่เราจะเห็นการบรรจบกันของสายน้ำสองสายมูลกับโขง บางฤดูที่น้ำหลากไหลแรงเราจะเห็นเส้นรอยต่อของแม่น้ำทั้งสอง แต่ถ้าอยากเห็นให้ชัดเจนขึ้น เราต้องเลี้ยวขวาจากถนนหลักเส้นนี้ลงไปข้างล่าง รอยจูบของแม่น้ำทั้งสองจะปรากฏต่อหน้าและสามารถลงเรือไปเอื้อมสัมผัสได้   เมืองโขงเจียมอยู่บนเส้นรอยจูบนี้เอง แทรกไว้ตรงนี้ก็ได้ว่า ประมาณ 1-2 กิโลเมตรก่อนที่จะถึงโค้งที่เราจะลอบยลเส้นรอยจูบที่ว่านั้นเราจะผ่านดงป่าไม้สูงใหญ่ขนาบสองข้างถนน ในฤดูใบไม้สดเขียว แสงแดดจะผ่านลงมาได้เพียงแต่น้อย แต่พอเข้าสู่ฤดูที่ใบไม้ร่วง  ถนนช่วงนี้จะถูกปูทับด้วยใบไม้แห้ง และปลิวกระจายออกตามแรงรถที่ขับผ่าน คล้ายดั่งประตูลึกลับก่อนเข้าสู่ดินแดนที่งดงาม ถ้าเรายืนอยู่ในจุดสูงสุดของเนินตรงโค้งนั้นในคืนข้างขึ้นดวงจันทร์จะลอยตัวขึ้นตรงช่องเขาที่แม่น้ำโขงไหลวกเข้าสู่แดนลาวภายหลังบรรจบกับแม่น้ำมูล รอยจูบของสายน้ำทั้งสองระริกไหวอยู่ภายใต้พระจันทร์ดวงนั้นและระยิบระยับสะท้อนแสงจันทร์ ซูมภาพให้ใกล้เข้ามาด้วยการลงไปยืนอยู่ตรงแหลมในตัวเมืองที่ยื่นลงไปตรงจุดบรรจบของสองสายน้ำ ภาพแผ่นน้ำตรงเส้นรอยจูบปรากฏชัดพร้อมกับเสียงน้ำไหลกระทบเกาะแก่งหินและต้นไม้กลางแม่น้ำ โขงเจียมเป็นเมืองที่หลับใหลค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะโซนเรียบริมโขง และถ้าเราเดินย้อนกลับมาในทิศทางตรงกันข้ามในความเงียบภายหลังความหลับนั้น เดินไปตามถนนสายเล็กๆ กลางชุมชนเลียบแม่น้ำโขงที่คลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวปลาหรือหน้าบ้านพักสีแบ เพียงแต่เราแหงนมองไปข้างบนฝั่งตะวันตก เราจะรู้สึกเหมือนว่าเดินอยู่ในเมืองบาดาล แสงไฟจากเจดีย์ของวัดถ้ำคูหาสวรรค์ที่อยู่บนยอดเนินและแสงไฟถนนเส้นไปโพธิ์ไทร ศรีเมืองใหม่ เหมือนแสงไฟเหนือผิวน้ำ ถนนสายที่ตรงไปอำเภอโพธิ์ไทร ยกตัวสูงขึ้นจากตัวเมืองโขงเจียมทอดยาวขึ้นลงตามคลื่นเนินเขา ผ่านผาแต้ม ผาชะนะได ภูสมุย สามพันโบก ยาวไปถึงอำเภอเขมราฐ ต่อไปมุกดาหาร นครพนม บ้านแพง หนองคายได้ ถือเป็นเส้นทางคู่ขนานทวนแม่น้ำโขงขึ้นไปทางเหนือ ทางทิศใต้ของเมือง ใกล้ๆ กับตลาด มีสะพานข้ามแม่น้ำมูล (สิบกว่าปีที่แล้วไม่มีสะพาน  ข้ามฟากต้องใช้เรือขนานยนต์) ถนนเส้นนั้นตัดตรงไปอำเภอสิรินธรและด่านช่องเม็ก-วังเต่า เข้าสู่ลาวใต้ ปากเซ จำปาสัก ถนนยกตัวสูงขึ้นตามลำดับของเนินเขาหินปูน และขึ้นลงเนินเล็กใหญ่สลับกันไป ต้นไม้บนเนินเขามีฟอร์มโดดเด่นพิเศษ ในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่ใบไม้เปลี่ยนสีเป็นถนนสายที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่ง จากสภาพแวดล้อมแบบนี้เองทำให้โขงเจียมกลายเป็นการสร้างสรรค์ที่เหมาะเจาะลงตัวของธรรมชาติ เป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ในจุดที่สวยมาก อีกทั้งภูมิทัศน์ทุกๆ ทิศที่แวดล้อมและนำเรามาสู่หรือออกไปจากโขงเจียมในรัศมี 50 กิโลเมตรยังขับเน้นความงามของเมืองเล็กๆ ในเส้นรอยจูบของแม่น้ำนี้ให้เปล่งประกายขึ้นและยังมีสีสันที่ชัดเจนในแต่ละฤดูให้อารมณ์ไม่ซ้ำกัน ฟังแบบนี้แล้วเหมือนว่าโขงเจียมเป็นเมืองในฝัน ซึ่งก็ใช่อย่างนั้นจริงๆ อย่างน้อยครั้งหนึ่งมันเคยเป็นแบบนั้น 2 ถ้าโขงเจียมโตช้ากว่านี้สัก 30 ปีจะดีที่สุด หลักไมล์ของการเปลี่ยนแปลงนั้นมาพร้อมกับปีการท่องเที่ยวไทย (2530) และเขื่อนปากมูล รูปลักษณ์ของเมืองเล็กๆ บนเส้นรอยจูบของสายน้ำแห่งนี้ถูกดึงให้ยึดโยงกับสองสิ่งนี้ ซึ่งเป็นการพัฒนาตามรูปแบบและรสนิยมกระแสหลักที่ถูกกำหนดโดยศูนย์กลางอำนาจรัฐในขณะนั้น ถ้ามองโขงเจียมอย่างเข้าใจ ความเปลี่ยนแปลงของเมืองเล็กๆ ที่สวยงามแห่งนี้มันก็มีเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตขึ้นในยุคข่าวสารข้อมูลยังไม่กระจายตัวข้ามโลกแบบทุกวันนี้ ทำให้โขงเจียมต้องเป็นฝ่ายรับแต่ทางเดียว  และเป็นการรับจากนโยบายส่วนกลางเท่านั้น ไม่มีการทำประชามติ ประชาชนในพื้นที่ไม่มีสิทธิ์เลือกแนวทางที่ตัวเองต้องการหรือแนวทางที่ทันสมัยแต่เข้ากับหน้าตาและตัวตนของตัวเอง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด ผมจะชี้ให้เห็นถนนสี่สายหรือโซนสี่โซนของโขงเจียม หนึ่ง – ถนนในชุมชนค้าขายปลา  ไม่ได้ติดตลิ่งโขงเสียทีเดียว เพราะขนาบข้างด้วยบ้านเรือนไม้ วัด และหน่วยทหารนปข. […]

เมืองแห่งความว่าง

28/02/2020

1 ค่ำคืนก่อนวันสุดท้ายของปี 2019 ผมนอนอยู่ข้างกองไฟริมแม่น้ำโขงในหมู่บ้านเล็กๆ ที่เก่าแก่เกินร้อยปีห่างจากตัวเมืองเขมราฐประมาณ 10 กิโลเมตร   กองไฟให้ความอบอุ่น  ความมืดให้ความกระจ่างใสแก่ดวงดาว  ยิ่งดึกก็ยิ่งเงียบ  ความเงียบทำให้ได้ยินเสียงน้ำโขงไหลกระทบโขดหินและริมฝั่ง  จินตนาการบางอย่างทำให้ผมละสายตาจากดวงดาวบนท้องฟ้าแล้วลุกขึ้น  เดินไปริมตลิ่ง  แสงไฟจากฝั่งตรงข้ามสะท้อนน้ำระริกไหว  ดาวสุกสกาวบางดวงพริบพรายแสงบนแผ่นน้ำ  เมื่อเพ่งมองลงไปในแม่น้ำก็สัมผัสได้ถึงความสงัดในห้วงลึกสุดของจิตใจตัวเองจนสะท้านไหว   ผมเชื่อว่าถ้า วินเซนต์  แวนโกะห์ เกิดแรงบันดาลใจที่จะวาดภาพทั้งหลายและบรรยากาศในราตรีนี้ลงในเฟรมของเขา  ผมมั่นใจว่าเขาต้องเลือกที่นี่ในคืนนี้  เพราะถ้าเป็นคืนพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันสิ้นปี  ภาพเขียนของเขาจะไม่นิ่งสงัดพอที่จะขับพลังแห่งความเงียบที่อยู่ลึกสุดในหัวใจให้เปล่งเสียงออกมาสะเทือนอารมณ์คนดูงานได้ อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะสว่าง  แม่น้ำมีละอองฝ้าสีขาวหม่นค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้น  คงเป็นไอหมอกจากแม่น้ำ  ไอหมอกนี้ทำให้น้ำในแม่น้ำและอากาศเหนือแผ่นน้ำอุ่นขึ้น ผมมุดเข้าเต้นท์ก่อนที่ฟ้าจะสว่างไม่นาน… ตื่นมาเพราะเสียงนกและเสียงพิณจากเครื่องกระจายเสียงที่แว่วมาจากฝั่งลาวในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองวันสิ้นปี  เมื่อลืมตาขึ้นและปรับแสงตากับแดดเช้าได้แล้ว  ก็เห็นฝูงนกหลายพันตัวโฉบบินอยู่เหนือแม่น้ำ  ไออุ่นที่ระเหยจากแม่น้ำทำให้ฝูงแมลงขยับปีก  เรือหาปลาแหวกไอหมอกอุ่นเหนือแผ่นน้ำทำให้พวกมันแตกตื่น  และหมู่นกกินแมลงจึงโฉบเฉี่ยววาดลวดลายส่งเสียงร้องเหมือนเสียงเพลงในฤดูเก็บเกี่ยว ผมลุกไปทำกาแฟ  แล้วนั่งลงจิบกาแฟอุ่น ๆ มองภาพหมู่นกเหล่านั้น  ย้อนนึกไปถึงเหตุแห่งการปรากฏตัวและแปรขบวนของพวกมัน  ไล่เรียงไปถึงภาพและบรรยากาศของเมื่อคืน และการมาเยือนเขมราฐปีละหลายครั้งในช่วงฤดูหนาว แล้วอยู่ๆ ผมก็รู้สึกขึ้นมาอย่างรุนแรงว่า  ผมอยากให้มีเมืองสักเมืองถูกสร้างขึ้นบนปรัชญาแห่งความว่าง ผมนึกถึงเรื่องราวในหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยอ่านมานานหลายปีแล้ว  จำได้ว่าตอนที่อ่านถึงบทนั้นผมอยากรู้ขึ้นมาจริง ๆ ว่าเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วมหานครลอนดอนมีหน้าตาเป็นอย่างไร  เมื่อชาร์ลส์  ดาร์วิน  […]

เมืองในเรื่องเล่าแห่งจิตวิญญาณ

27/02/2020

1 เมืองบางเมืองมีความหมายทางจิตวิญญาณ  หรือถ้าจะกล่าวให้ตรงกว่านั้นคือมันถูกสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะยูโทเปียผ่านจินตนาการหรือเรื่องเล่า  สถาปัตยกรรมหรือรูปธรรมแห่งเมืองจริงๆ ก็จากแปลนแห่งจิตวิญญาณ   การเดินทางไปสู่เมืองเหล่านี้  ในเบื้องลึกของความรู้สึกคล้ายเรากำลังแกะรอยทางแห่งจิตวิญญาณอันสูงส่ง  หรือถ้าเรามีความปรารถนาหรือการแสวงหาในมิตินี้ความหมายก็จะมากขึ้นไปในระดับที่ว่าเราได้วางเท้าก้าวย่างไปบนเส้นทางที่เราใฝ่ฝันแล้ว 2 ลองนึกภาพพระราชวังโปตาลาในธิเบตหรือบรรดาเมืองในเทือกเขาหิมาลัย อย่างเนปาล  ภูฏาน หรืออื่นๆ  ไม่ว่าเราจะเห็นผ่านรูปหรือผ่านประสบการณ์ตรงจากการเดินทางไปเยือน  เราจะประจักษ์และถูกตรึงไว้กับความงามทั้งตัวอาคารบ้านเรือน  สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตผู้คนราวกับเป็นส่วนผสมอันลงตัวของบทเพลงอันไพเราะ  ในส่วนลึก  ผมอดคิดไม่ได้ว่าเบื้องหลังการสร้างบ้านเมืองแบบนี้มาจากแปลนแห่งจิตวิญญาณบางอย่างซึ่งผมกำลังหมายถึงได้รับแรงบันดาลใจจาก ชัมบาลาเมืองในตำนานซึ่งเป็นต้นตอแห่งศิลปศาสตร์และอารยธรรมหิมาลัย   ตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธเจ้า (ฝ่ายมหายานเรียกว่า ศากยมุนีพุทธ) ได้แสดงธรรมว่าด้วยตันตระขั้นสูงแก่ปฐมกษัตริย์แห่งชัมบาลานาม ดาวะ  สังโป  ซึ่งถือว่าเป็นปรีชาญาณที่ลึกซึ้งที่สุดของพุทธศาสนาแบบธิเบต  ภายหลังที่ธรรมเทศนานี้ได้แสดงออกไปอาณาประชาราษฎรก็ดำเนินชีวิตตามพุทธมรรคาด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา  เจริญเมตตาจิตและใส่ใจต่อทุกข์สุขแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย อาณาจักรที่รุ่งเรืองและสันติสุขนี้ปกครองโดยผู้ทรงสติปัญญาและการุณย์  ทั้งอาณาประชาราษฎร์ก็ล้วนแล้วรอบรู้และเมตตาปราณี    มีนักวิชาการชาวตะวันตกบางคนได้สันนิษฐานว่า  อาณาจักรชัมบาลาอาจจะเป็นอาณาจักรโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีบันทึกอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ดังเช่นอาณาจักรชางซุงในอาเชียกลาง  แต่ก็มีนักวิชาการหลายคนที่เชื่อว่าเรื่องราวเกี่ยวกับชัมบาลาเป็นเพียงเรื่องเล่าขานซึ่งไม่มีมูลความจริง หากแต่ชาวธิเบตเชื่อว่าอาณาจักรชัมบาลานี้ซ่อนตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งในความลี้ลับแห่งเทือกเขาหิมาลัย (ไกรลาส)  เพราะมีบันทึกไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาว่า  ชัมบาลาตั้งอยู่ทางเหนือของแม่น้ำสิตะ  ดินแดนแห่งนี้ถูกแบ่งออกโดยแนวเทือกเขาทั้งแปด  พระราชวังของริกเดนหรือราชันผู้ปกครองชัมบาลานั้น  สร้างอยู่บนยอดเขาทรงกลมซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางดินแดน  ขุนเขาลูกนี้ชื่อว่าไกรลาส  พระราชวังซึ่งมีชื่อว่ากัลปะกว้างยาวหลายร้อยเส้น  เบื้องหน้าพระราชวังทางทิศใต้มีสวนรุกขชาติอันงดงามที่ชื่อว่ามาลัย  ตรงกึ่งกลางสวนรุกขชาตินี้มีวิหารซึ่งสร้างอุทิศถวายแด่กาลจักรโดยดาวะ  สังโป แต่ในบางตำนานบอกว่า  อาณาจักรชัมบาลานี้ได้สาบสูญไปจากโลกหลายร้อยปีแล้ว  เมื่อมาถึงจุดที่ทั้งอาณาจักรได้บรรลุถึงการตรัสรู้จึงได้สูญสลายไปดำรงอยู่ในมิติอื่น    3 สำหรับคนลุ่มน้ำโขงหรือกลุ่มคนในวัฒนธรรมลาวซึ่งมีแผ่นดินถิ่นเกิดโดยมีภูพานเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์แล้ว  เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงที่มีองค์พระธาตุเจดีย์บรรจุอุรังคธาตุหรือกระดูกหัวอกของพระพุทธเจ้าตั้งเป็นหัวใจของดินแดน  เบื้องหลังเป็นเทือกเขาภูพานยาวเหยียดสุดสายตา  เบื้องหน้าเป็นแม่น้ำโขงกว้างใหญ่ไหลเรื่อยมาแต่ปางบรรพ์  […]