20/12/2019
Environment

พื้นที่นอกบ้าน กรุงเทพฯ กับ 22% แห่งโอกาส

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้

เคยถามตัวเองไหมว่า – ในแต่ละวันๆ ที่เราอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น เรา ‘ใช้ชีวิตนอกบ้าน’ กันที่ไหนบ้าง

นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นในงาน “ปักเปลี่ยนเมือง” หรือ Pin Your Point, Point Your Pain ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์ด้านยุทธศาสตร์เมือง (CE.US) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์ และแผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม คนไทย 4.0

คำถามนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสังเกตการณ์และขับเคลื่อนเมือง เป็นคำถามง่ายๆ ว่า “คุณใช้ชีวิตนอกบ้านที่ไหนบ้างในแต่ละวัน” แต่เชื่อไหมว่า ถ้าลองครุ่นคิดพิจารณากันดีๆ คำถามนี้สามารถบอกเราได้ชัดเจนเลยว่า ‘ความเป็นเมือง’ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราอย่างไรบ้าง

ทำไมเราต้องใช้ชีวิตนอกบ้าน

ที่จริงแล้ว เราใช้ชีวิตอยู่ ‘นอกบ้าน’ มากกว่าครึ่งหนึ่ง 

และเมื่ออยู่ ‘นอกบ้าน’ ก็แปลว่าเราอยู่ ‘ในเมือง’ ซึ่งเมืองในที่นี้ก็คือกรุงเทพฯ นี่เอง

คำถามก็คือ ‘ความเป็นเมืองแบบกรุงเทพฯ’ ส่งผลให้การใช้ชีวิตนอกบ้านของเราเป็นอย่างไรบ้าง

คุณอาจจำเป็นต้องใช้ชีวิตนอกบ้านมาก เพราะต้องเดินทางออกไปทำงานในเมือง แต่บ้านอยู่ชานเมือง จึงใช้ชีวิตช่วงเช้าเย็นหลายชั่วโมงอยู่บนรถยนต์หรือรถสาธารณะ ใช้เวลาไปกับการเดินทาง 

เราจะเห็นว่า บางคนมีความจำเป็นที่ต้องออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เพราะไม่มีทางเลือก ต้องเดินทาง ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่มีความ “โหยหาพื้นที่นอกบ้าน” เพราะความคับเเคบของพื้นที่ในบ้านหรือที่พักอาศัยที่นับวันยิ่งหดเล็กลงเรื่อยๆ

จากการเรียกที่อยู่อาศัยว่า ‘บ้าน’ เดี๋ยวนี้หลายคนเรียกว่า ‘ห้อง’ เพราะขนาดของที่อยู่อาศัยเล็กลงกว่าเดิมมาก กิจกรรมที่พอจะทำได้ในห้องพักของเราในเมือง แทบจะคือการนอนเท่านั้น เข้าไปในห้อง จะมีเตียงนอนและเหลือพื้นที่ว่างอีกนิดหน่อย 

ในบางประเทศหรือบางเมืองที่มีความหนาแน่นและแออัดของประชากรเมืองอยู่มาก ที่อยู่อาศัยถูกบีบให้เล็กลงพอๆกับ พื้นที่ขนาดเท่า ห้องนอนแบบแคปซูลเท่านั้น ภาพประกอบในบทความ ชีวิตภายในห้องพักขนาดเท่าโลง ที่ชาวฮ่องกงเรียกว่า “บ้าน” ของ NAtional Geographic ฉบับภาษาไทย ทำให้เห็นสภาพห้องนอนขนาด 6×3 ฟุต ในฮ่องกง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนถึงโหยหาและต้องออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน

เพราะชีวิตเมือง ไม่ได้มีแค่ เตียง กับโต๊ะ

นอกเหนือไปจากกิจกรรมจำเป็นที่ต้องทำในชีวิตคนเมืองอย่างการทำงาน การเรียน และการนอน ซึ่งใช้พื้นที่บ้านและที่ทำงานแล้ว มนุษย์เมืองอย่างเราๆ ยังต้องการกิจกรรมอย่างอื่นอีก ที่ไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของเมือง

กิจกรรมนอกบ้านอาจจะหลากหลายมากๆ ตั้งแต่ การดูนก ตกปลา พาหมาไปเดินเล่น จนถึงการจีบกัน หรือแม้แต่ขอแต่งงาน โดย “กิจกรรมนอกบ้านของคนเมือง” นั้นเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเอื้ออำนวยของพื้นที่ในเมือง

ถนนหนทาง

สิ่งแรกที่เจอหลังจากออกมาจากพื้นที่ส่วนตัวหรือบ้านของเรา นั่นคือ ถนนหนทางในเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่นอกบ้านและยังมีนิยามว่าเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองมาตั้งแต่ในยุคกลางแล้ว

ในการชี้วัดการพัฒนาเมืองหรือดัชนีชี้วัดคุณภาพการเดินทางเคลื่อนที่ของคนในเมือง ถนนเป็นตัวชี้วัดหนึ่งถึงศักยภาพในการเชื่อมต่อและเข้าถึงส่วนต่างๆของเมือง 

โดยมาตรฐานทั่วไป เมืองควรมีสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองไม่น้อยกว่า 20-25% หลายเมืองจึงใช้เกณฑ์มาตรฐานของสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองเป็นตัวชี้วัดคุณภาพเมืองด้านโครงสร้างสัณฐานเมือง เพราะนอกจากถนนจะเป็นพื้นที่สำหรับการสัญจรด้วยรถยนต์แล้ว พื้นที่ถนนในที่นี้ยังหมายรวมถึงพื้นที่ในส่วนเขตทางทั้งหมด อันประกอบไปด้วยพื้นผิวจราจรและพื้นผิวทางเท้า ซึ่งถือเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองอีกด้วย

การวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่และคำนวณพื้นที่ถนนในกรุงเทพมหานคร ทำให้เราทราบว่าสัดส่วนพื้นที่ถนนในกรุงเทพมหานครเมื่อเทียบกับพื้นที่เมืองกรุงเทพมีเพียง 7% เท่านั้น (อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้, กรุงเทพเมืองใหญ่ ถนน้อย ทางเท้าด้อยคุณภาพ)

นอกจากเรื่องพื้นที่ถนนที่ใช้เป็นทางสัญจรโดยรถแล้ว อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญมากกว่านั้นคือ พื้นที่ทางเท้า มีนักคิดเรื่องเมืองอย่าง เจน เจค็อป กล่าวไว้ว่า หากจะดูว่าเมืองไหนเป็นอย่างไร ให้ดูที่ทางเท้า

ในกรุงเทพมหานคร จากผลการสำรวจของโครงการเมืองเดินได้เมืองเดินดี ในปี 2557 พบว่าค่าเฉลี่ยของทางเท้าในกรุงเทพมหานครมีความกว้างเฉลี่ยอยู่ที่ 1.75 เมตร เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนพื้นที่ทางเท้าจะพบว่ามีสัดส่วนทางเท้าเพียง 5 % ของพื้นที่ถนนทั้งหมดเท่านั้น

นอกจากเมืองเราจะมีถนนและทางเท้าเพียงน้อยนิดแล้ว ถนนเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) ยังเป็นถนนที่เรียกว่า “ซอยตัน” อีกด้วย 

นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุหนึ่งของการจราจรที่คับคั่งในบางเส้นทางที่มีกลุ่มซอยตันเกาะอยู่จำนวนมากเช่น ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง เป็นต้น (ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์และอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้, มหานครซอยตัน)

นอกจากถนนแล้วในเมืองกรุงเทพยังมีพื้นที่นอกบ้านอีกแบบที่เรามักพบเจอโดยง่าย นั่นคือ พื้นที่คลองและเเม่น้ำ

คลองและแม่น้ำ

กรุงเทพฯ เป็นเมืองฐานน้ำ อันนี้เรารู้กันมานานมากแล้ว แต่เมืองฐานน้ำนี้ทำให้หน้าตาของพื้นที่นอกบ้านของกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรกัน

อย่างเเรกที่เมืองฐานน้ำมีผลอย่างยิ่ง คือ ระบบคูคลอง ที่เดิมเป็นคลองเชื่อมจากแม่น้ำเข้าสู่เรือกสวน ไร่นา พอพัฒนาการของเมืองเปลี่ยนจากฐานน้ำมาเป็นถนน เราก็สร้างถนนขนาบลำคลอง การพัฒนาถนนตามแนวคลองเช่นนี้ ทำให้กลายเป็นรูปแบบโครงข่ายถนนซอยลึกปลายตัน ดังที่กล่าวในประเด็นเเรก

นอกจากนี้แล้ว ด้วยความที่พื้นที่ริมคลองและริมแม่น้ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของ และส่วนใหญ่เป็นเอกชน ทำให้พื้นที่ว่างริมน้ำหรือที่เรียกกันแบบสวยหรูหน่อยว่า “พื้นที่ริมน้ำ” ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยเสรี

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงสะพานกรุงธนบุรีถึงสะพานกรุงเทพ พบว่าพื้นที่กว่าร้อยละ 64% เป็นพื้นที่เอกชน มีเพียง 36เท่านั้น 

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาด้านความสมารถในการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำแล้ว พบว่า มีพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพียง 15% เท่านั้นที่สมารถเข้าถึงได้โดยสาธารณะ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของสภาพของพื้นที่นอกบ้านในเมืองของเราที่เห็นกันอย่างชินตา แต่พื้นที่นอกบ้านของกรุงเทพฯ ไม่ได้มีเพียง ถนน และ คลองเท่านั้น

พื้นที่นอกบ้านอื่นๆ ของเมือง

ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี 2556 ของ UddC พบว่า คนส่วนใหญ่ออกนอกบ้านเพื่อไปยังสถานที่อื่นๆ คือ กว่า 43% ออกนอกบ้านเพื่อไปจับจ่ายใช้สอย ทั้งการอุปโภคและบริโภค เช่นไปตลาด ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ  หรือห้างสรรพสินค้า อีก 26% ออกนอกบ้านเพื่อไปขึ้นระบบขนส่งสาธาณณะ และ 17% ออกนอกบ้านเพื่อไปพักผ่อนหย่อนใจ กิจกรรมนันทนาการ ไปสวนสาธาณณะ สวนสนุกในเมือง

รวมไปถึงพื้นที่สาธาณณูปการพื้นฐานของเมือง อาทิ สถานศึกษา ศาสนสถาน โรงพยาบาล สุสาน ตลอดจนพื้นที่สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ราชการ นอกจากนี้ยังรวมถึงห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ และสนามกีฬา อีกด้วย

22% แห่งโอกาสในการสร้างพื้นที่ (สาธารณะ) นอกบ้าน

จากข้อมูลข้างต้น พอจะอนุมานพื้นที่นอกบ้านออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ นั่นคือ 1. พื้นที่ถนนและทางเท้า 2. พื้นที่แม่น้ำลำคลอง และ 3. กลุ่มพื้นที่นอกบ้านอื่นๆ ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 22% ของพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ถนนหนทางและทางเท้ารวม 7% พื้นที่แม่น้ำลำคลอง 8% และพื้นที่นอกบ้านอื่นๆ อีก 7% 

พื้นที่นอกบ้านเหล่านี้อาจเป็นพื้นที่แห่งทุกข์ของคนเมืองก็ได้ หรือจะเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของการพัฒนาเมืองก็ได้เช่นกัน หากมีการฟื้นฟูย่านด้วยการปรับปรุงและพลิกฟื้นพื้นที่นอกบ้านกว่า 22% นี้ให้เป็นโอกาสใหม่ในการสร้างพื้นที่สาธารณะนอกบ้าน ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดีขึ้นได้

พื้นที่นอกบ้านกำลังกลายพันธ์ุ

แนวคิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่นอกบ้านที่ยังใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพถูกนำมาใช้เป็นกลไกในการเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งร้างและพื้นที่ศักยภาพนอกบ้านของเมือง ให้กลายเป็นพื้นที่สาธาณระ และนันทนาการสำหรับผู้คนในเมือง

มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งาน เพิ่มอรรถประโยชน์การใช้งานที่หลากหลาย และใช้การออกแบบในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เหล่านั้น

ตัวอย่างการปรับเปลี่ยนและผลักดันพื้นที่สาธารณะกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เราเห็นทั้งที่เป็ฯทางการและเป็นแบบไม่เป็นทางการ อาทิ 

จากพื้นที่บุกรุก สู่ ทางเดินเท้าริมคลอง

เป็นการพลิกฟื้นพื้นที่ริมคลองจากการบุกรุกและใช้ประโยชน์ไม่สมประโยชน์ พัฒนาเป็นทางเดินริมคลองในย่านคลองโอ่งอ่าง หรือที่รู้จักกันในย่านสะพานเหล็ก

คลองโอ่งอ่าง หรือย่านสะพานเหล็ก ซึ่งเดิมเป็นคลองขุดตั้งแต่สมัยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อมต่อกับคลองบางลำพูตรงสะพานผ่านฟ้า สิ้นสุดที่เชิงสะพานพระปกเกล้า ก่อนจะไหลออกแม่น้ำเจ้าพระยา ภายหลังมีการรุกล้ำแนวคลอง กลายเป็นพื้นที่ค้าขายของเล่นและเครื่องเกมต่างๆ ในชนิดที่ว่าแทบไม่มีใครรู้ว่าสภาพก่อนหน้านี้เคยเป็นคลองมาก่อน

กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการจัดระเบียบ ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามในพื้นที่บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง แม้จะมีเสียง และกระแสต่อต้านถึงผลกระทบโดยตรงของชาวบ้าน และชุมชนที่รุกล้ำแนวคลอง แต่หลังจากการพัฒนาและปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธาณระ ทางเดินริมคลอง และเริ่มมีความร่มรื่น และชีวิตแนวริมคลองร่วมกับทางเดินเท้าและทางจักรยานเริ่มกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

นี่เป็นต้วอย่างพื้นที่สาธาณณะกลายพันธ์ุอีกหนึ่งพื้นที่ของกรุงเทพฯ

จากโครงสร้างเปลี่ยว สู่ สะพานเดินจักรยาน

หลายคนอาจไม่เคยทราบว่า ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ระหว่างสวนลุมพินี เขตปทุมวัน และ สวนเบญจกิติ  เขตคลองเตย มีโครงสร้างสะพานที่เชื่อมระหว่าง 2 สวนนี้ แม้ทางลอยฟ้าแห่งนี้ได้อำนวยความสะดวกและทำหน้าที่เชื่อมเส้นทางเดินและจักรยานผ่านหลังคาบ้านเรือนนับร้อย ผ่านคลองสำคัญ ศาสนสถานรวมถึงชุมชนที่มีคุณค่าเก่าแก่มากมาย

แม้จะมีการใช้งานของชุมชนในเวลาเช้าตรู่ แต่แทบไม่มีการใช้งานหรือถูกหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางในช่วงวันเนื่องจากความร้อนระอุของเมืองร้อน ไร้ซึ่งร่มเงา หรือโครงสร้างกันแดดกันฝน และความอันตราย ซึ่งกลายเป็นแหล่งมิจฉาชีพเนื่องจากแสงไฟที่ริบหรี่จากเสาไฟห่าง และทางเข้าออกของเส้นทางที่อยู่ห่างกันจนเกินต่อการหลีกภัย และมีทางเข้า-ออกเพียง 6 จุด ยิ่งส่งผลให้เส้นทางแห่งนี้สามารถพลิกตัวเป็นกับดักโจรได้โดยง่าย!

สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จึงได้ศึกษาสำรวจพื้นที่ทางจักรยานลอยฟ้า และทำกระบวนการออกแบบแย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนและผู้ใช้งานพื้นที่ โดยเสนอการออกแบบทางภูมิทัศน์ และการออกแบบอุปกรณ์ตกแต่ง โครงสร้างกันแดดกันฝน พืชพรรณ ที่ไม่ได้เป็นเพียงมาตรฐาน แต่ต้องให้อะไรที่มากกว่าความสวยงาม และตอบรับกับความต้องการและรูปแบบวิถีชีวิตของกลุ่มคนโดยรอบทำให้เกิดการเชื่อมต่อในหลากมิติ ในเชิงกายภายที่จะเชื่อมทางจักรยานนี้เข้ากับเนื้อเมืองบริเวณโดยรอบอย่างไร้รอยต่อ (Urban Connector)

ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นจริงในกลางปี 2563 นี้

จากสะพานด้วน สู่ สวนลอยฟ้า

ตัวอย่างที่น่าสนใจของพื้นที่สาธาณระกลายพันธุ์นี้ คือการเปลี่ยนจากโครงสร้างทิ้งร้างของเมือง สู่การพัฒนาเป็นสวนและทางเดินลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของกรุงเทพและเป็นสวยลอยฟ้า/ลอยน้ำแห่งเเรกของประเทศไทย

โครงการพระปกเกล้าสกายพาร์ค หรือเรียกติดปากกันว่า “สะพานด้วน” จากเดิมที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินในอดีตที่ถูกยกเลิกไป ทำให้สะพานแห่งนี้ถูกทิ้งร้างร่วม 30 ปี 

เป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักผังเมือง กทม. กรมทางหลวงชนบท และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) โดยปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานให้เป็นทั้งพื้นที่ทำกิจกรรม พื้นที่สำหรับพักผ่อน และโครงข่ายพื้นที่สีเขียวเชื่อม 2 สวนสาธารณะริมสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกัน และนับเป็นโครงการทางเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเป็นลำดับแรก ถึงแม้ว่าจะพระปกเกล้าสกายพาร์ค จะไม่ใช่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ และมีความยาวเพียง 280 เมตร แต่ถือเป็นต้นแบบของการปรับปรุงพื้นที่รกร้างของเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง คาดว่าน่าจะเเล้วเสร็จภายในปลายเดือนมีนาคม 2563 เราจะมีสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกให้ได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านกัน

กิจกรรมในโครงการ ปักเปลี่ยนเมือง คงเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ที่ช่วยให้เราในฐานะของคนเมืองกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่อาศัย หรือผู้เข้ามาใช้บริการ มาทำงาน มาเที่ยวเล่น หรือพักผ่อน ได้มีโอกาสนึกถึงพื้นที่นอกบ้านในเมืองที่สามารถเข้าไปใช้ชีวิตและทำกิจกรรมที่เปิดกว้างและมีความหลากหลายให้เกิดขึ้นจริงได้

ท้ายที่สุดนี้ พื้นที่นอกบ้านที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดในปัจจุบัน จะเป็นพื้นที่ 22% แห่งโอกาสของเมืองได้ไหม ก็ขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนผ่านกระบวนการสร้างพื้นที่หรือแพลทฟอร์มแบบเปิดของพลเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ไปด้วยกัน

เพื่อให้ 22% ของพื้นที่ ‘นอกบ้าน’ กลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขร่วมของพวกเราทุกคน


Contributor