20/05/2022
Environment

Guerrilla Gardening สวนหย่อมกองโจรเคลื่อนเมืองใหญ่

อภิชยา ชัยชิตามร
 


ในเมืองที่ขาดแคลนพื้นที่สีเขียว แต่กลับมีพื้นที่ทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากมายในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการไม่ใช่เจ้าของ กฎหมายและอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือใด ๆ ก็ตามแต่ ชาวเมืองก็ยังล้วนแล้วแต่จำเป็นจะต้องมีพื้นที่สีเขียวเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีภายในเมือง

จากบทความเรื่อง พื้นที่สีเขียว ในเมืองใหญ่ สำคัญไฉน และทำไมต้องสร้างเพิ่ม ? (โดย เว็บไซต์ Salika) ได้รวบรวมประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวต่อคนในเมืองใหญ่ไว้ ไม่ว่าจะเป็น การมีส่วนช่วยลดปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่แปรปรวน ทั้งจากภาวะโลกร้อน และโลกรวน ด้วยการลดมลภาวะทางอากาศ จากสิ่งก่อสร้างในเมืองอย่างฝุ่นควัน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยลดมลภาวะทางเสียง รวมถึงการเป็นพื้นที่กลางในการพักผ่อนหย่อนใจ และเชื่อมต่อระหว่างคนเมืองกับธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างพรรณไม้ และสัตว์เล็กในเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศน์ในเมืองให้น่าอยู่ และยั่งยืนได้

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เท่านั้น แต่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชาวเมืองลึกลงไปในระดับละแวกบ้าน ย่าน ชุมชน หนึ่ง ในวิธีที่มีความน่าสนใจ และสามารถทำได้ทันที คือ แนวคิดการแทรกแซงสวนหย่อมตามชุมชน Guerrilla Gardening

ทำความรู้จัก Guerrilla Gardening

หลายคนให้ความหมายของ Guerrilla Gardening แตกต่างกันออกไป Guerrilla มีความหมายว่า กองโจร ผนวกเข้ากับ Gardening หรือว่าการจัดสวน ทั้งการปลูกพืชพรรณ ปลูกผลผลิตที่สามารถทานได้ ปรับภูมิทัศน์ให้แก่เมือง อาจแปลได้ว่า สวนกองโจร ซึ่งมีลักษณะของการที่ชาวเมือง 1 หรือ 2 คนขึ้นไปมีความคิดและความพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวย่อมในเมืองใหญ่ บนพื้นที่ที่ไม่มีอำนาจกรรมสิทธิ์ใดตามกฎหมายในพื้นที่นั้น

แนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้น และขยายไปสู่หลายที่ทั่วโลก สะท้อนให้ผู้คนเห็นว่าเกิดขึ้นได้และสามารถทำได้ทันที ซึ่งเป็นแนวคิดที่พยายามปรับมุมมองต่อการพัฒนาเมืองแบบ ‘ล่างขึ้นบน’ โดยอาศัยความร่วมมือของกลุ่มภาคประชาชน โดยไม่ต้องพึ่งพิงจากระดับบนเสมอไป

Richard Reynolds ผู้เริ่มทำสวนกองโจรแรก ๆ ในประเทศอังกฤษ กล่าวว่า สำหรับเขาการทำสวนกองโจร คือสัญลักษณ์แห่งความรักที่เขามีต่อเมือง เพราะเขาเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของชุมชน และของเขาในฐานะผู้ที่อยู่ในเมือง (Richard Reynolds, 2008)

Elephant and Castle ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

Guerrilla gardening frontline tour – in pictures | Life and style | The Guardian

Elephant and Castle ย่านใกล้บ้าน Richard Reynolds เขาเกิดไอเดียมีความต้องการอยากปลูกอะไรซักอย่างบริเวณละแวกบ้านตัวเอง เพราะขาดแคลนพื้นที่สีเขียวใกล้บ้าน มากไปกกว่านั้น เขา และกลุ่มคนที่มีความคิดเดียวกันเริ่มปลูกบนพื้นที่ที่เป็นสาธารณะของหน่วยงานรัฐ ที่เขาไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในการดูแล ทั้งทางเท้า เกาะกลางระหว่างถนน  จึงกลายเป็นกิจกรรมที่มีความผิดทางกฎหมาย ในทางกลับกันเขามองว่าพื้นที่แต่เดิมเหล่านี้ไม่ได้ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนเมือง กิจกรรมทางสังคม ซ้ำแล้วยังเป็นพื้นที่ที่ถูกลืม แต่หากฟื้นฟูพื้นที่เหล่านี้ อาจเป็นพื้นที่ที่ทำให้ชาวเมืองมารวมตัวกัน เกิดกิจกรรม ความสร้างสรรค์ และเกิดพื้นที่สีเขียวที่ส่งเสริมความหลายหลายทางชีวภาพของเมืองได้

ตอนแรกเขาทำมันเพราะอยากจะปลูกอะไรซักอย่าง อยากมีสวนละแวกบ้าน แต่เมื่อทำแล้วเห็นผลลัพธ์ทั้งจากการเกิดการรวมตัวของกลุ่มคนในชุมชน เด็กละแวกบ้านที่รู้สึกตื่นเต้นกับกิจกรรมและผลลัพธ์อันน่าทึ่งเหล่านั้น  จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดนี้ไปสู่ที่อื่น ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้แพร่หลายและเดินทางไปทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นหนังสือเรื่อง Guerrilla gardening ที่ริชาร์ดเป็นคนแต่ง ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ออกไปมากกว่า 4 ภาษา ทั้ง อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลี ซึ่งหนึ่งในความสำคัญของการเคลื่อนไหวนี้ คือการลงมือทำของกลุ่มคนที่มีความคิดเดียวกัน ลงไปทำด้วยกัน และความใส่ใจต่อธรรมชาติในเมือง เมื่อทำแล้วเห็นผลก็เกิดร่วมวางแผนกับเครือข่ายในการปลูกพื้นที่อื่น ๆ บริเวณใกล้เคียงละแวกบ้านต่อไปด้วย

South Los Angeles ประเทศสหรัฐอเมริกา

The Ron Finley Project

South Los Angeles เป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วย ร้านอาหารฟาสฟู้ด สุรา ปืน บุหรี่ แต่กลับกันหากจะหาอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพต้องเดินทางออกไปหลายกิโล รอน ฟินลีย์ หนึ่งในคนที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการทำสวนกองโจร ตั้งคำถามว่า เด็กหรือคนในชุมชนจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร หากมีแต่อาหารฟาสฟู้ด ปืน บุหรี่และสุรา เขาจะมีอาหารที่ทำให้สุขภาพดีไหม หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จะช่วยให้เขาเติบโตโดยมีเส้นทางเลือกที่แตกต่างออกไปได้ไหม 

‘Urban Gangsta Gardener’ เป็นคำที่คนใช้เรียก ‘รอน ฟินลีย์’ เขาเปลี่ยนสระว่ายน้ำเป็นสวนพืชพรรณ ผัก ผลไม้ขนาดย่อมของชุมชน และเดินทางเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของเมืองด้วยการแบกพลั่ว ถือดิน ไปยังพื้นที่เล็ก ๆ ของเมืองอย่างทางเท้า ริมถนน หรือแม้แต่บล็อคของทางเดินเท้าและปรับเปลี่ยนพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดย่อมของเมือง เขาเชื่อว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถปลูกได้

รอน ฟินลีย์ เปลี่ยนความคิดต่อพื้นที่สาธารณะในเมือง ให้กับชาวเมืองหลายคน การลุกขึ้นมาปลูกสวนเล็กในเมือง ไม่เพียงแต่เพิ่มสีเขียวให้กับเมือง แต่เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมของชุมชนที่อาศัย การทำให้พื้นที่เกิดประโยชน์ต่อคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน ความมั่นคงทางอาหารจากการปลูกพืช ผัก ผลไม้ในระดับชุมชน เป็นกระบวนการสร้างชุมชนใหม่ด้วยชุมชนเอง พร้อมทั้งเป็นเรื่องของการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ให้กับสัตว์พื้นถิ่นในเมือง

ด้วยความพยายามของรอน และคนในชุมชนร่วมมือด้วย รวมถึงสมาชิกสภาเมือง  ต่อการเพาะปลูกในเมือง กฎหมายก็ได้มีการเปลี่ยนแปลง ให้ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตในการปลูกสวนบนทางเดินของเมือง Los Angeles

สวนชุมชนโปลิศสภา ตลาดน้อย-บางรัก

ที่มา : facebook page Taladnoi 

สวนชุมชนโปลิศสภา หนึ่งในโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่สีเขียวในชุมชน โดยความร่วมมือของกลุ่มปั้นเมือง คนรักตลาดน้อยและการรวมกลุ่มกันในชุมชน โดยแต่เดิมเป็นพื้นที่ไฟไหม้เก่าในชุมชนที่ไม่ได้ใช้งานประโยชน์ใด ๆ นอกจากการเป็นพื้นที่สำหรับทิ้งขยะ จึงทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ทิ้งร้างกลางชุมชนในย่านตลาดน้อย ภายหลังจากการรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนงานฟื้นฟูและพัฒนาย่าน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์พื้นที่ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในระดับชุมชน

คุณโจ หรือ จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิกผังเมืองในกลุ่มปั้นเมือง ที่ร่วมฟื้นฟูและพัฒนาย่านตลาดน้อย เรียกสวนแห่งนี้ ว่า ‘สวนเถื่อน’ จากตอนแรกที่ไม่สามารถเข้าไปทำอะไรในพื้นที่รกร้างแห่งนี้ได้เพราะอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขต จึงรวมตัวกันในกลุ่มตลาดน้อยเพื่อต่อรองกับภาครัฐท้องถิ่นที่ดูแลพื้นที่แห่งนี้ ให้คืนกลับพื้นที่แห่งนี้แก่คนในชุมชน ภายหลังพบว่า การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองนั้นเป็นผลที่ทำให้สำนักงานเขตคืนกลับพื้นที่ให้กับชุมชนร่วมกันดูแล และรังสรรค์ ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดย่อมสำหรับชุมชนในย่าน

รูปแบบการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอาจจะไม่ได้อยู่ในระดับเมืองเสมอไป แต่เป็นรูปแบบของพื้นที่สีเขียวในระดับชุมชน ย่าน ละแวกบ้านที่เราอยู่อาศัยในเมือง การลุกขึ้นมาปลูกสวนเล็กในกลางเมืองใหญ่ มากไปกว่าเรื่องของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว คือการร่วมผลักดันของกลุ่มภาคประชาชน ที่เกิดการรวมกลุ่มขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อพื้นที่ของชุมชนเอง พลังของการมีส่วนร่วมนั้นทำให้เห็นว่าการรวมกลุ่มกันทำอะไรอาจไม่จำเป็นจะต้องรอภาครัฐเสมอไป และทำให้เมืองเคลื่อนได้ด้วยภาคประชาชน นอกจากนี้ยังสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ย่าน รวมไปถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งอาจเป็น หนึ่งในกลวิธีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองอย่างยั่งยืนได้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

พื้นที่สีเขียว ในเมืองใหญ่ สำคัญไฉน และทำไมต้องสร้างเพิ่ม? (salika.co)

Guerrilla gardening frontline tour – in pictures | Life and style | The Guardian

Guerrilla gardening — why people garden without boundaries: Richard Reynolds at TEDxItaewon – YouTube

The Guerrilla Gardening Home Page

รอน ฟินลีย์ นักเลงชาวสวน ผู้ปลูกผักแบบกองโจรบนทางเท้า ช่วยชุมชนที่หิวโหยในลอสแอนเจลิส – ThePeople

Ron Finley: Urban Gangsta Gardener in South Central LA | Game Changers – YouTube

The Ron Finley Project

Taladnoi

Livable+Economy ฟื้นฟูย่านผ่านกระบวนการชุมชน โดย กลุ่มปั้นเมืองและกลุ่มคนรักตลาดน้อย (theurbanis.com)


Contributor