19/05/2020
Environment

A Walk Along San Pedro of Lake Atitlan กว่า San Pedro และทะเลสาบ Atitlan จะได้กลับมา

กรกฎ พัลลภรักษา
 


คนพูดถึงทะเลสาบอทิตแลน ในประเทศกัวเตมาลา ด้วยสายตามีประกาย และเป็นสถานที่ที่สวยที่สุดของหลายคนที่ฉันเจอบนถนนการเดินทาง แต่บางทีการได้ยินเรื่องเดียวเดิมๆ ซ้ำๆ มันทำให้ฉันกลัวว่าจะไม่เห็นด้วยเหมือนคนอื่น 


แต่ฉันก็เห็นด้วยทันทีที่ได้ลงเรือข้ามทะเลสาบ มุ่งหน้าไปหมู่บ้านเล็กๆ ซาน เปโดร ลา ลากูน่า ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของทะเลสาบ เหมือนจะขีดเส้นตรงไปแล้วเจอกันทันที ก่อนจะถึงซาน เปโดร เรือแวะส่งและรับคนตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ขอบด้านหนึ่งของทะเลสาบที่เราเลาะไป จะเรียกให้ใช่ก็คือ น้ำในปากปล่องภูเขาไฟที่ปะทุระเบิดมานานนมแล้ว และฉันก็เห็นภูเขาไฟที่ไม่พยศแล้ว แต่มีเมฆเหนือยอดลอยล้อม เหมือนเป็นมงกุฎเป็นวิวของทะเลสาปแห่งนี้ ถ้าตัดเสียงเครื่องยนต์จากเรือออกไป ฉันคงไม่จำเป็นต้องใช้จินตนาการเลยว่า การเดินทางนี้เป็นการเข้าสู่อีกอาณาจักร ไม่ใช่เมืองไม่ใช่หมู่บ้าน แต่เป็นอีกจักรวาลที่อยู่รอบๆ ทะเลสาบ

ผู้หญิงสาวร่างมีเยื้อมีหนังในผ้านุ่ง แบบนุ่งผ้าซิ่น แต่ผ้าเป็นลายทอออกเป็นสัญลักษณ์เรขาคณิต ที่ทับซ้อนเป็นสีหม่นในหลายเฉด รัดเข็มขัดเส้นใหญ่เป็นผ้าทออีกชนิดเช่นกัน แต่เสื้อที่ใส่นั้น คือราชินีของงานปักที่เห็นแล้วกระพริบตาไม่ได้ทีเดียว เสื้อคอเหลี่ยมแขนตุ๊กตาจีบ ปักเป็นป่าทั้งป่า มีทั้งผีเสื้อ นก ดอกไม้ ใบไม้ บนแผ่นหน้าของเสื้อ สวยสดจนเกือบลืมมองภูเขาไฟไปชั่วขณะ คนแล้วคนเล่าก้าวเท้าขึ้นฝั่งจากเรือ จนกระทั่งเหลือฉัน และนักท่องเที่ยวพูดภาษาสเปนอีกสองสามคน ที่มีปลายทางเป็น ซาน เปโดร หนึ่งในสิบสี่หมู่บ้านของเผ่ามายาที่ตั้งอยู่รอบทะเลสาบ

ซาน เปโดร เป็นหมู่บ้านที่มีบรรพบุรุษเป็นเผ่าซุตุฮิล (TZ’utujil) ชนเผ่าที่ต่อสู้เพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นคนที่นี่ จะพูดกันสองภาษา คือภาษาถิ่นซุติฮิล และภาษาสเปนซึ่งเป็นสำเนียงชัด เพราะ น่าฟัง และเป็นกลางๆ นอกจากจะเป็นเมืองที่สามารถเดินป่าเข้าหาธรรมชาติอย่างขึ้นเขาไปยอดจมูกอินเดียนเพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้น และสบตาภูเขาไฟที่ปะทุอยู่ไกลออกไปแล้ว ยังเป็นที่ที่มีโรงเรียนสอนภาษาสเปน ที่มีคนนิยมมาเรียนมากที่สุดแห่งหนึ่งด้วย ซึ่งก็เป็นทั้งสองจุดประสงค์ในการดั้นด้นค้นทางไปของฉัน

เมืองอยู่ในแสงอาทิตย์ ลดหลั่นเป็นชั้นตามความชันของเขา มีโบสถ์อยู่ที่จุดสูงไกล มีภูเขาไฟดับแล้วทางซ้าย คล้อยไปข้างหลังคล้ายจะเป็นฉากของ ซาน เปโดร และเมื่อเรือแล่นใกล้เข้าฝั่ง ฉันเห็นตุ๊กๆ คันกะทัดรัดจอดเรียงรอผู้โดยสาร ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของ และป้ายต้อนรับที่ท่าน้ำ เขียนว่า “ห้ามใช้ถุงพลาสติก และหลอด” ภาษาสเปนประโยคแรกของเมืองนี้ 


ฉันเรียนภาษาในห้องเรียนที่มีหลังคาเป็นซุ้มเฟื้องฟ้า และเรียนวิถีชีวิตจากครอบครัวที่โรงเรียนจัดให้อยู่ด้วย Cheto และ Elena มีเจ้าหนูน้อยตัวเล็กชื่อ Elenita หรือ เอเลน่าน้อย เชโตเป็นมือกลองเหมือนพ่อและคนในครอบครัวของเขาที่เป็นนักดนตรี ทุกเย็นตอนรอเอลีน่าทำอาหารเย็นเพื่อทานพร้อมกัน เราจะได้ยินเสียงตีกลองจังหวะต่างๆ จากเชโต

การเรียนนอกห้องของเรา คือไปจ่ายตลาด ฉันจะช่วยเอลีน่าถือตะกร้า ผ้า และกล่องพลาสติกใส่อาหาร เวลาเราเดินไปตลาดกัน ระหว่างทางที่เดินไปตลาด ก็เห็นสีสันตะกร้า ย่าม กล่อง และใบไม้ที่กองในกระจาดใหญ่ของร้านขายของริมถนน แล้วคำต้อนรับที่ป้ายตรงท่าเรือ ก็ลอยมาทำให้เข้าใจได้ว่า ซาน เปโดร คือหมู่บ้าน ที่ไม่ใช้ถุงพลาสติก และหลอดจริงๆ  ไม่ว่าเราจะซื้อไก่สด เราเตรียมกล่องพลาสติกมาใส่ เราซื้อปูตัวน้อยแบบปูเค็ม เราห่อในใบตอง เราซื้อชีสที่ทำสด เขาห่อในใบไม้ใหญ่ที่เรียกว่ามาชาน เราซื้อแป้งตอติย่า เอลีน่าห่อไว้ในผ้ากันเปื้อนที่สวมไว้บนชุดของเธอแล้วมัดปม เราแวะดื่มน้ำข้าวโพด ฉันรับจอกอ้วนๆ อุ่นๆ ที่ทำมาจากบวบแห้ง 

ฉันบอกครูรูเบนว่า ประทับใจตลาด ที่ใช้วัสดุธรรมชาติแทนพลาสติก ครูบอก นึกว่าจะตื่นเต้นกับรถตุ๊กๆ ฉันบอกไม่แปลกเลย เพราะใช้กันในกรุงเทพ และประเทศในเอเชียอยู่แล้ว ครูขยับแว่นก่อนจะเล่าต่อว่า “ไม่กี่ปีก่อน ซาน เปโดร เจอวิกฤตขยะล้นเมือง จนทะลักลงไปในทะเลสาบ กลายเป็นปัญหามลพิษแก่ระบบนิเวศน์ ทำลายชื่อเสียงความเป็นทะเลสาบที่สวยที่สุดในโลก… น่าอายมาก” 

จริงอยู่ที่ในวันนี้มีมากกว่า 60 ประเทศในโลก ที่ให้ความร่วมมือในการจำกัด และกำจัดการใช้พลาสติก แต่อยากบอกว่าการตื่นตัวของการกำจัดขยะพลาสติกของประเทศในกลุ่มอเมริกากลาง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ที่มีคนดัง หรือองค์กรอะไร การต่อสู้กับปริมาณพลาสติกของกัวเตมาลา ไม่ใช่ปรากฏการณ์หรือตามสมัยอะไรทั้งสิ้น แต่มาจากแรงขับดันที่ลึกกว่า คือ เป็นสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด คือการรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนมายาที่ต้องมีตัวตน ถิ่นที่อยู่ และดูแลธรรมชาติ เป็นความตระหนักและความจำเป็นที่รู้สึกจริง 


หลังจากเลิกเรียนครึ่งเช้า ฉันจะเดินสำรวจเมืองขึ้นเนิน ลงเนิน เข้าซอย ลงบันได ไปร้านทำตอติย่า ไปร้านทอผ้า ฉันได้เจอผู้หญิงแกร่งคนหนึ่งที่เป็นคนริเริ่มโครงการกลุ่มผู้หญิงทอผ้า และเปิดสอนให้คนมาทอผ้าพันคอใช้เองด้วยกี่เอว อนิต้าเดินมาหาด้วยรอยยิ้มกว้าง เธอบอกว่าเธอกำลังไปตลาด เพื่อเตรียมของสำหรับคลาสทำอาหาร เธอพูดภาษาอังกฤษได้ดี เธอชวนฉันไปตลาด เธอพูดภาษาซุตุฮิลกับสต๊าฟในร้าน แล้วเราก็มีกล่องพลาสติก ถุงผ้า และตะกร้ายาง ห้อยเต็มอานมอเตอร์ไซค์ “ซ้อนเป็นไหม?” แน่นอนฉันกระโดดขึ้นหลังรถเธอไปตลาด เธอเล่าให้ฟังผ่านหมวกกันน็อคของเราทั้งคู่ว่า ในซาน เปโดร มีกฎหมายปรับเรื่องแยกขยะ และการใช้พลาสติกแพงมาก! 

ในปี ค.ศ. 2016 นายกเทศมนตรี เมาริซิโอ เม็นเดส ออกมาตรการที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมือง ด้วยการห้ามไม่ให้มีการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวเด็ดขาดในซาน เปโดร ตอนแรก ชาวบ้านที่ชินกับการใช้พลาสติกแล้วทิ้งก็ไม่เห็นด้วย และประท้วงมาตรการนี้ แต่ทางการไม่ได้ห้ามเพียงอย่างเดียว แต่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นราบรื่น ทางการใช้เวลาสองปีล่วงหน้าในการลงพื้นที่ พบบ้านแต่ละหลังคุยกับทุกครอบครัว เพื่อให้ความรู้ เรื่องการแยกขยะและแนะนำวัสดุทางเลือกแทนถุงพลาสติก พร้อมกับซื้อตะกร้าใส่ของ ที่ทำจากยาง 2,000 ชิ้น ที่ซื้อจากช่างฝีมือท้องถิ่นจากหมู่บ้านโตโตนิกาปัน (Totonicapán) ที่อยู่รอบๆ มาแจกให้ใช้ “ทีละนิดทีละน้อย เราก็ปรับตัวกันได้” อนิต้า ไม่ต้องบอกคนขายว่าไม่เอาถุง เพราะคนขายจะโกยมะเขือเทศ และผักอื่นๆ ลงใส่ตะกร้าที่เธอยื่นให้อัตโนมัติ 

เธอเล่าให้ฟังว่า โชคดีที่เทศบาลเมืองเลือกการไม่สร้างโรงกำจัดขยะเพิ่ม เพราะยังไงขยะก็จะล้นทะลักลงทะเลสาบอยู่ดี มีสถิติของการใช้พลาสติกระบุว่า 80% ของขยะที่นี่ คือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และครอบครัวหนึ่งจะใช้พลาสติกประมาณ 20 ชิ้นต่อวัน ใช้แล้วทิ้งบนถนน หรือบังเอิญลมพัดไปลงท่อระบายน้ำ หรือฝนชะ ก็ไปลงที่ทะเลสาบอยู่ดี เทศบาลซาน เปโดร จึงตัดสินใจแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ “ทุกวันนี้ เรามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 40% และเราได้ชีวิตที่ดีกว่า – ความจริง ก็คือชีวิตเหมือนเดิมที่ใช้ใบไม้ ใช้กะลา ใช้ผ้า ใช้ของจากธรรมชาติ” 

เราหอบกล่องพลาสติกใส่อาหารและตะกร้าบนตัว และบนที่ว่างบนรถมอเตอร์ไซค์ซอกแซกกลับไปที่ร้านผ้าทอที่เราพบกัน ครัวสอนทำอาหารของเธออยู่ข้างบน ฉันขอตัวเดินกลับเอง มองทะเลสาบสลับกับร้านกาแฟที่บังวิวฉัน แต่ให้วิวคนเข้าร้าน รับแสงบ่ายที่อุ่นสบายผิวค่อยๆ ไต่ขึ้นเนินกลับบ้าน ฉันเริ่มเห็นซาน เปโดรในสายตาไม่อยากเชื่อว่าเมืองที่มีประชากร 15,000 คน รับมือกับปัญหาขยะสะสมกว่า 50 ปีได้ ขณะที่รัฐบาลกลางบุ้ยบอกว่า ไม่มีใครเสกขยะให้หายไปข้ามปีได้ แต่รัฐบาลท้องถิ่นของซาน เปโดรพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปได้ และภายใน 2 ปีเท่านั้น  ซาน เปโดร กลายเป็นหมู่บ้านไร้พลาสติกสำเร็จเมืองแรกของกัวเตมาลาในปี ค.ศ. 2016 และกลายเป็นโครงการตัวอย่างให้กับอีก 10 เทศบาลเป็นอย่างน้อย


ฉันเล่าด้วยคำศัพท์เพียงน้อยนิดกระพร่องกระแพร่งแต่งเองจากภาษาอังกฤษด้วยบ้างให้เชโตฟัง บนดาดฟ้าที่เรากินข้าวเย็นกัน เอเลน่าวางมือจากทำอาหาร ออกมาช่วยเติมคำในช่องว่างของศัพท์ที่ฉันไม่รู้ ให้สามารถเล่าเรื่องได้เป็นประโยคราบรื่นบ้าง 

ทั้งคู่บอกว่า จะให้เห็นว่าทะเลสาบกลับมาสวยและสวยที่สุดจริงๆ ต้องไปสูงกว่านี้อีกที่โน่น เราหันหลังกลับไปดูยอดเขาที่โด่แบบภูชี้ฟ้ากัน เอเลนิต้า เจ้าตัวเล็กบอกว่า “ที่นั่น บนจมูกอินเดียนแดง” 

พระอาทิตย์ขึ้นแตะขอบฟ้า ช็อคโกแลตร้อนในแก้วดินเผา อากาศหนาวเย็นเยียบ มีความอุ่นทางตาเห็นจากภูเขาไฟที่กำลังปะทุควันบนฟ้ามืดกว้างระยะไกล จากจุดสูงสุดบนจมูกอินเดียแดง และมีความสงบของภูเขาไฟ 3 ลูกรอบทะเลสาบอทิตแลนคอยประคองให้ฉันค่อยๆ มองผ่านแสงเช้า เห็นทะเลสาบที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอีกมุม ที่กลับมาสวยเหมือนแผ่นกระจกสะท้อนฟ้าสะท้อนเมฆปราศจากขยะอีกที สมกับความหมายของชื่อภาษาถิ่น ที่แปลว่า สถานที่ที่สายรุ้ง ไปเอาสีมาห่มตัว. 


Contributor