13/01/2020
Environment
สถาปัตยกรรมกับการมอง : สะพานเขียว โบสถ์คริสต์ และมัสยิดอินโดนีเซีย
ดุษฎี บุญฤกษ์
ในปี 2020 นี้ คุณผู้อ่านอาจยังไม่ทราบว่า กำลังจะเกิดโครงการใหญ่ที่มีชื่อล้อกับปี ค.ศ. ว่า “สองศูนย์สองสวน” ขึ้นมา สองศูนย์สองสวนก็คือการปรับปรุง ‘ทางเชื่อม’ ของสวนสองแห่งภายในปี 2020 โดยสวนที่ว่าก็คือสวนลุมพินีและสวนเบญกิตติ แน่นอน ทางเชื่อมที่ว่าจะเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้ นอกจาก ‘สะพานเขียว’ นั่นเอง
ความน่าสนใจของการเชื่อมสองสวน ก็คือสะพานเขียวไม่ได้เชื่อมแค่สวน แต่ยังเชื่อมสองชุมชน (คือ ชุมชนร่วมฤดี และชุมชนโปโล) และเชื่อมสองศาสนา ผ่านสองศาสนสถาน คือ โบสถ์พระมหาไถ่ของชาวคริสต์ และมัสยิดอินโดนีเซียของชาวมุสลิม ซึ่งทั้งสองแห่งมีความสำคัญในแง่ของสถาปัตยกรรมกับบริบทวิถีชุมชนอย่างยิ่ง
รูป 1 ตัวอย่างภาพโครงการ “สองศูนย์สองสวน”
ในทางสถาปัตยกรรมผังเมือง ประวัติศาสตร์หรืออัตลักษณ์พื้นถิ่นจะแสดงผ่านรูปแบบของสถาปัตยกรรมและพื้นที่ว่างเสมอ คุณลักษณะที่ปรากฎขึ้นเปรียบเสมือนสื่อกลางที่ช่วยนำทางให้เข้าใจถึงเรื่องราวและรายละเอียดของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้น รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถนำไปใช้สื่อสารความหมายต่อบริบทพื้นที่ หรืออาจเกิดเป็นอัตลักษณ์ของย่านหนึ่งในที่สุด
นักทฤษฎีเมืองอย่าง Lynch ให้ความหมายของคำว่า “ย่าน” เอาไว้ว่าคือ บริเวณพื้นที่ชุมชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมือง มีลักษณะเฉพาะตามบริบทการใช้งานของพื้นที่ มีลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับกายภาพหรือรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้น โดยสาระสำคัญของ Lynch กล่าวถึงจินตภาพเมืองที่มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ เส้นทาง (path) ขอบเขต (edge) ย่าน (district) จุดศูนย์รวม (nodes) และจุดหมายตา (landmark)
พบว่า พื้นที่รอบสะพานเขียวมี 5 องค์ประกอบที่กล่าวมาอย่างครบถ้วน โดยสะพานสามารถเป็นได้ทั้งเส้นทาง ขอบเขต จุดศูนย์รวม และจุดหมายตา กล่าวคือ สะพานเขียวสามารถเป็นทางสัญจรผ่าน เป็นพื้นที่แบ่งแยกระหว่างสองชุมชน เป็นพื้นที่กิจกรรมบนสะพาน และสามารถเป็นจุดหมายตาและเป็นจุดอ้างอิงได้
รูป 2 แนวความคิดจินตภาพเมืองของ Lynch
นอกเหนือจากการเป็นจุดศูนย์รวมของสะพานเขียวแล้ว โดยรอบยังมีสองชุมชนที่ตั้งอยู่ คือ ชุมชนร่วมฤดี และชุมชนโปโล มีการอาศัยอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนชาวพุทธและชาวมุสลิม โดยมีศาสนสถานที่สำคัญตั้งอยู่ใจกลางเป็นโบสถ์พระมหาไถ่ของชาวคริสต์ และมัสยิดอินโดนีเซียของชาวมุสลิม จึงเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่
โบสถ์พระมหาไถ่นั้น แม้ไม่ได้มีชุมชนชาวคริสต์รองรับรายล้อมอย่างชัดเจน แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมไทยปรากฏให้เห็นชัดเจน ในขณะที่มัสยิดมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบอินโดนีเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายที่มาชุมนุมรวมตัวกันอยู่โดยมีสะพานเขียวเป็นตัวเชื่อม
รูป 3 การประชันหน้ากันระหว่างโบสถ์คริสต์สถาปัตยกรรมไทยกับมัสยิดสถาปัตยกรรมอินโดนีเซีย
สะพานเป็นตัวแบ่งให้ฝั่งหนึ่งเป็นฝั่งของโบสถ์พระมหาไถ่ อีกฝั่งเป็นมัสยิดอินโดนีเซีย โดยเมื่อค้นเอกสารที่เกี่ยวข้อง ก็ยิ่งพบความน่าสนใจในความแตกต่างของพื้นที่
โบสถ์พระมหาไถ่เป็นโบสถ์หลังแรกที่คณะพระมหาไถ่สร้างขึ้น รวมถึงเป็นโบสถ์หลังแรกในประเทศไทยที่ใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยในการสร้าง โดยมีสถาปนิกชาวอิตาลีเป็นผู้ออกแบบ แต่เนื่องด้วยโบสถ์เกิดขึ้นมาจากความต้องการของกลุ่มคณะมหาไถ่ และมีจุดประสงค์เพื่อใช้โบสถ์เป็นสถานที่ให้ชาวคาทอลิกที่ใช้ภาษาอังกฤษสามารถติดต่อได้สะดวก ไม่ได้เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนหรือชุมชน จึงทำให้พื้นที่บริเวณรอบข้างไม่มีกลุ่มคนชาวคริสต์อาศัยร่วมกันอยู่เป็นกลุ่มอย่างชัดเจน ทว่าในพื้นที่รายล้อมส่วนใหญ่เป็นคนพุทธที่มาอาศัยมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับโบสถ์คริสต์แห่งนี้
รูป 4 ภาพมุมมองโบสถ์พระมหาไถ่
ส่วนมัสยิดอินโดนีเซียนั้น มีการนำชื่อประเทศอินโดนีเซียมาตั้งเป็นชื่อมัสยิด รวมถึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอินโดนีเซีย ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมและชุมชนอย่างชัดเจน ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า กลุ่มคนจากประเทศอินโดนีเซียเดินทางทางเรือเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณนี้ และบูรณะมัสยิดขึ้นท่ามกลางบ้านเรือน และตั้งชื่อตามสถานทูตอินโดนีเซีย ทำให้กลุ่มคนที่อยู่ระแวกนี้เป็นกลุ่มคนยะวาที่มีเชื้อสายอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวแสดงผ่านวัฒนธรรมอาหารและการใช้ชีวิตอย่างชัดเจน
การประชันหน้ากันของโบสถ์คริสต์สถาปัตยกรรมไทยกับมัสยิดสถาปัตยกรรมอินโดนีเซีย อาจเป็นสัญญะแรกในการเข้าไปทำความรู้จักพื้นที่แห่งนี้ก็ได้ โดยมีสะพานเขียวอยู่ตรงกลาง นับเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญในการศึกษาและเรียนรู้บริบทเนื้อเมือง หรือประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น
สถาปัตยกรรมกับการมองสามารถสะท้อนบริบทหรืออัตลักษณ์ของชุมชนอนุรักษ์รอบสะพานเขียวออกมา และยังเป็นจุดเริ่มต้นในการร้อยเรียงเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชนโดยรอบและเป็นตัวพาเราข้ามเวลาไปทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ พลิกฟื้นประวัติศาสตร์หรืออัตลักษณ์ท้องถิ่นเดิมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ถือเป็นโอกาสอันดีในปี 2020 ที่จะมีการพลิกฟื้นสะพานเขียวให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในฐานะสถาปนิกผังเมืองที่ได้ทดลองใช้สัญญะในรูปแบบของสถาปัตยกรรมกับการมอง เพื่อเข้าไปทำความรู้จักกับสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณโดยรอบสะพาน โดยโครงการ “สะพานเขียวเชื่อมย่าน สะพานเชื่อมเมือง” จะแล้วเสร็จปลายปี 2020
นี่จึงเป็นสะพานที่เชื่อมและแสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยในเนื้อเมืองของกรุงเทพฯ ที่ถูกเก็บซ่อนเอาไว้โดยแท้
โดย ดุษฎี บุญฤกษ์
รายการอ้างอิง
คุณลักษณะของที่ว่างทางสถาปัตยกรรมในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น: แนวทางการศึกษาผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย, เจนยุทธ ล่อใจ, อรศิริ ปาณินท์, เกรียงไกร เกิดศิริ
สถาปัตยกรรมกับพื้นที่ว่าง: ความกลมกลืนภายใต้บริบทที่แตกต่าง, จิระ อำนวยสิทธิ์
Image of the city, Kevin Lynch
http://www.holyredeemerbangkok.net/home/index.php/about-us/about
http://catholichaab.com/main/index.php/1/church7/1/48-2015-09-22-07-26-57