12/06/2020
Environment
สวนป่าเมจิ : วิสัยทัศน์ 150 ปี กับความเขียวที่มนุษย์ร่วมสร้าง
นาริฐา โภไคยอนันต์
กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด ป่ากลางเมืองก็ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันนั้น
สวนป่าเมจิ (Meiji Shrine Forest) ภายในพื้นที่ศาลเจ้าเมจิ เป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเมื่อไปเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ด้วยตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง การเดินทางที่สะดวกเพียงข้ามฝากถนนจากย่านฮาราจูกุ เขตโยโยกิ
นับตั้งแต่ก้าวย่างเข้าไปเขตศาลเจ้าเมจิ ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากฝากถนนที่เพิ่งเดินข้ามผ่านมา นอกจากความสงบทางใจ แล้วยังมีต้นไม้ใหญ่มากมายที่ยืนต้นให้ความร่มเย็นด้วยพื้นที่กว่า 700,000 ตารางเมตรเป็น “ป่ากลางเมือง” อย่างแท้จริงของชาวโตเกียวอีกด้วย
สวนป่าเมจิแห่งนี้เกิดจากการวางแผนกว่า 100 ปีที่แล้ว ภายใต้โครงการวิสัยทัศน์ 150 ปี ด้วยความร่วมมือ ของอาสาสมัครประมาณ 110,000 คน ซึ่งปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น จาก 365 สายพันธุ์ที่ได้รับบริจาคโดยคนจากทั่วประเทศ
การสร้างป่ามาจากพื้นฐานความคิดและแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของญี่ปุ่น ตั้งแต่สมัยโบราณ คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเทพเจ้าจะลงมายังพื้นดินจากยอดต้นไม้สูง และวิญญาณจะอาศัยอยู่ในพืช ต้นไม้ หิน น้ำ และวัตถุทางธรรมชาติอื่น ๆ เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างสววรค์และโลกมนุษย์
วิสัยทัศน์ 150 ปี “โครงการป่าเมจิจิงกุ” (Meji jinyo)
นับย้อนไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2455 เมื่อพระจักรพรรดิเมจิสวรรคต หลังจากที่ตัดสินใจสร้างสุสานในเมืองเกียวโต ที่ประทับของจักรพรรดิโบราณมานานกว่า 1,000 ปี ชาวโตเกียวจึงขอให้รัฐบาลสร้างศาลเจ้าชินโต ซึ่งไม่ใช่หลุมฝังศพไว้ในกรุงโตเกียว เพื่อระลึกถึงคุณธรรมและแสดงความเคารพต่อพระจักรพรรดิ ดังนั้นจึงมีการตัดสินใจว่าศาลเจ้าที่ระลึกถึงพระจักรพรรดิเมจิจะสร้างขึ้นในเขตโยโยกิในโตเกียว
หลังจากการตัดสินใจในปี 2458 จึงเปิดตัวโครงการศาลเจ้าโดยการรวมผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านป่าไม้ อย่างพฤกษศาสตร์และภูมิสภาปัตยกรรมร่วมวางแผน
สร้างป่าด้วยต้นไม้บริจาคจากทั่วประเทศญี่ปุ่น
มีการตัดสินใจว่าต้นไม้จำนวนมากที่จำเป็นในการสร้างป่าจะถูกรวบรวมผ่านการบริจาคจากทั่วประเทศ นำโดย ดร. เซโระคุ ฮอนดะ (Seiroku Honda) ดร. ทาคาโนริ ฮองโกะ (Takanori Hongo) และ เคจิ อูฮะระ (Keiji Uehara)
พื้นที่ส่วนใหญ่ที่วางแผนไว้สำหรับการสร้างป่าประกอบด้วยสวนทุ่งหญ้าและบึง ทีมงานของโครงการได้มีการหารือว่าควรปลูกต้นไม้ชนิดใดเป็นองค์ประกอบหลักของป่าซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทั้งหมด เพื่อการก่อสร้างที่เหมาะกับอาคารของศาลเจ้า
หนึ่งในบทบาทสำคัญของป่าคือการปกป้องศาลเจ้าจากฝุ่นละออง พื้นที่โดยรอบศาลเจ้านั้นได้มีปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดจากลมแรงพัดมาจากศาลฝึกทหารที่อยู่ใกล้เคียงในเวลานั้น นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องพิจารณามลภาวะทางอากาศ ที่เกิดจากตู้รถไฟไอน้ำของสายยามาโนเตะ ซึ่งเพิ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างอีกด้วย
กฎในการเริ่มสร้าง
ด้วยโครงการปลูกป่าที่ต้องอาศัยการวางแผนโดยเฉพาะในเงื่อนไขเรื่องการดูแลเพราะป่าไม่ต้องการการดูแลจากมนุษย์และต้องใช้เวลานานพอสมควรที่จะสามารถเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นป่าซึ่งมีระบบนิเวศที่ซับซ้อนได้
ในช่วงแรก แม้จะมีข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ของรัฐ กำหนดให้ปลูกต้นสนซีดาร์และไซเปรสเป็นสายพันธุ์ต้นไม้หลัก ตามความเชื่อว่า ต้นไม้ใหญ่จะเป็นทางลงมาสู่โลกมนุษย์ แต่ทีมผู้วางแผนเห็นตรงกันว่า ดินในโตเกียวนั้นเหมาะกับไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ เช่น โอ๊กญี่ปุ่นและไม่เหมาะกับการปลูกสนซีดาร์ ที่เข้ากับสภาพอากาศและชนิดของดินและสามารถเติบโตได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องบำรุงรักษา
การคำนึงถึงต้นไม้ที่ควรดูเป็นป่าธรรมชาติและเหมาะสมกับศาลเจ้า สุดท้ายจึงเลือกต้นไม้และพุ่มไม้ 80 ชนิดสำหรับป่าไม้ในศาลเจ้าแห่งนี้ นอกจากนี้ยังไม่รวมพุ่มไม้และต้นไม้ที่มีผลทานได้หรือไม้ดอกไม้ประดับ
บริจาคเพื่อสร้าง
การรับบริจาคต้นไม้เริ่มต้นในปี 2459 มียอดบริจาคต้นไม้มากถึง 95,559 ต้นจาก 365 สายพันธุ์ เช่นต้นสนแดงและสนดำ ซึ่งเคยเป็นสมบัติของจักรวรรดิญี่ปุ่น เนื่องจากทีมวางแผนจำเป็นต้องสร้างป่าด้วยบรรยากาศที่เหมาะสมกับศาลเจ้า พวกเขาจึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วนหลัก ด้วยพื้นที่โดยรอบตามการใช้งานและภูมิทัศน์ แบ่งการเจริญเติบโตเป็น 4 ระยะ
โครงการปลูกป่าถาวร
ในระยะแรกของป่าต้นไม้พื้นเมืองขนาดสูง เช่น ต้นสนแดงและต้นสนดำ ถูกกำหนดให้เป็นต้นไม้หลัก แล้วปลูกต้นไซเปรส สนซะวะระ ต้นซีดาร์ ใต้ต้นไม้หลักอีกที ส่วนไม้ยืนต้นที่จะเขียวชอุ่มตลอดปีนั้น ถูกนำมาปลูกเป็นต้นไม้ข้างใต้ชั้นล่างสุด โดยคาดการณ์ว่าต้นสนประเภทแรกจะค่อย ๆ เหี่ยวเฉาในอีก 50 ปีข้างหน้า ส่วนสนไซเปรสและสนซะวะระจะเติบโตสูงขึ้นแทน ซึ่งช่วยให้แสงแดดส่องไปถึงไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบอย่างโอ๊กในชั้นล่างสุด ที่จะให้ความเขียวชอุ่มตลอดปีและช่วยให้เติบโตอย่างแข็งแรงนำไปสู่ป่าขั้นที่สองต่อไป
ป่าขั้นตอนที่สาม
ประมาณ 100 ปีหลังจากการสร้างต้นไม้หลักที่คาดว่าจะเจริญเติบโตในระยะนี้คือไม้ยืนต้น อย่างต้นโอ๊ก สุดาจี (chinquapin) ไม้ผลัดใบที่ช่วยป้องกันลม และการบูร ไม้พื้นเมือง ยังมีต้นไม้สายพันธุ์สูง เช่น ซีดาร์ ไซเปรส ต้นเคยากิ หรือเซลโคว่า (zelkova) และ ต้นแปะก๊วย อีกด้วย
50 ปีถัดมา ต้นสนจะค่อยๆ หายไป และป่าไม้ส่วนใหญ่อย่างต้นโอ๊กเก่าแก่จะเติบใหญ่และต้นการบูร พร้อมกับต้นกล้าที่เติบโตขึ้นใหม่จากเมล็ดที่ร่วงลงตามธรรมชาติ ในที่สุดต้นไม้ชนิดต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นป่า คาดว่าจะมีเสถียรภาพในระยะที่ 4 ของป่า ในขั้นตอนนี้ป่าจะไม่ต้องได้รับการดูแลจนกลายเป็นป่าถาวรและเติบโตตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์
ตามหนังสือเกี่ยวกับแผน “โครงการป่าไม้” โดย Takanori Hongo หลังจากที่ศาลสร้างขึ้นต้นไม้ยืนต้นจะมีใบเขียวชอุ่มตลอดปี อย่าง ต้นโอ๊ก และการบูรจะกลายเป็นต้นไม้ที่โดดเด่นที่สุดของป่าของศาลเจ้าในช่วงสุดท้ายนี้
ประมาณ 100 ปีผ่านมา นับตั้งแต่ป่าได้ถูกสร้างขึ้นซึ่งหมายความว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 3 และเข้าใกล้ขั้นตอนที่ 4 และต้นสนที่เป็นต้นไม้ที่โดดเด่นในระยะแรกได้หายไปแล้วและในปัจจุบันป่าไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยต้นไม้ที่เหมาะสมสำหรับดิน เช่นต้นโอ๊ก และสุดาจีหรือต้นชินควาพิน โดยจำนวนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่บริจาคในตอนแรกคือ 365 สายพันธุ์ ลดลงเหลือประมาณ 270 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ได้หายไปจากป่า เป็นกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ
ความสำคัญของป่าเมือง
มีการตั้งกฎสามข้อในการจัดการป่าด้วย (1) ห้ามถอนใบไม้ กิ่งไม้ จากต้นไม้ในป่า (2) ห้ามเดินในป่า และ (3) ห้ามดึงหรือนำสิ่งใดออกจากป่า แม้แต่ผู้จัดการป่าก็ยังห้ามไม่ให้เก็บผลไม้จากต้นไม้หรือนำออกมา หรือแม้แต่ใบไม้ที่ร่วงลงมาจะถูกกวาดกลับเข้าไปในพื้นที่ป่า
ขณะเดียวกันอาสาสมัครเยาวชนกว่า 110,000 คนจากทั่วประเทศ ยังมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน เช่น การสร้างทางเข้าสู่ศาลเจ้าและการปลูกต้นไม้ตามแผนโครงการอาสาสมัครเยาวชนเหล่านี้ ได้รับการสืบทอดโดยฮิบิกิ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NPO) ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มีบทบาทปกป้องพื้นที่ป่าอันมีค่าในเมืองและถ่ายทอดวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิม
ป่าในเมืองแห่งศาลเจ้าเมจิที่เงียบสงบ เฝ้ายืนดูช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะได้รับการพัฒนา โดยใช้ทฤษฎีและความคิดที่อิงตามวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เช่นเดียวกับมุมมองของญี่ปุ่นเกี่ยวกับธรรมชาติที่สืบทอดมาจากสมัยก่อนนั่นเอง สวนสาธารณะหรือป่าในเมืองนั้นได้สร้างความคุ้นเคยและเป็นพื้นที่สีเขียว ที่มีคุณค่าต่อพลเมืองชาวโตเกียวและนักท่องเที่ยว เพราะนอกจากเป็นสถานที่ผ่อนคลายแล้ว ก็ยังช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ความสำคัญของป่าไม้ในเขตเมืองได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมมองของการป้องกันภัยพิบัติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากเราเปรียบเทียบป่ากับพื้นที่สนามหญ้า ป่าในเมืองมีพื้นที่ผิวมากกว่าประมาณ 30 เท่า ดังนั้นจึงทำให้มีประสิทธิภาพในการกันเสียง การฟอกอากาศและการอนุรักษ์คุณภาพน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นต้นไม้หนา ยังสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าสนามหญ้าอย่างน้อย 100 เท่า
ป่าในเมืองแห่งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากชาวโตเกียวหรือคนญี่ปุ่นจากทั่วประเทศไม่ได้มองเห็นจุดหมายเดียวกันในการสร้างป่าในเมือง ถึงแม้จุดเริ่มต้นจะมาจากความเชื่อและความศรัทธาต่อพระจักรพรรดิ แต่การระลึกและความเคารพได้ก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ที่สร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ใหญ่ที่สุด และอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ แม้ทีมงานที่คิดวางแผนและร่วมบริจาคเมื่อ 100 ปีก่อน จะไม่สามารถได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าในเมืองแห่งนี้ แต่ความศรัทธาและจิตวิญญาณที่เห็นถึงความสำคัญของป่าในเมือง จะยังคงอยู่และส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น และเฝ้ารอเวลาที่จะได้เปิดพื้นที่ป่าถาวรในเมืองอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่ถึง 50 ปีข้างหน้ากับผลงานของป่าถาวรจากมนุษย์ ผู้อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารมาช้านาน
ที่มา
Meiji Shrine: Dedicated to the deity of Emperor Meiji
Wikipedia: Meiji Shrine
A 150 Year-Project: Meiji Shrine Forest in Central Tokyo