09/09/2020
Life

คุยกับศศิน เฉลิมลาภ: จากเมืองถึงป่า จากป่าถึงเมือง

กรกมล ศรีวัฒน์
 


ในช่วงให้หลังมาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ผู้คนตื่นตัว ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากภัยพิบัติและผลกระทบที่เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ซึ่งล้วนสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของคนทั่วโลก มาวันนี้หลากหลายองค์กรทำงานเพื่อรณรงค์สิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทั้งการรณรงค์เรื่องการกำจัดขยะให้ถูกต้อง การหันมาใส่เสื้อผ้าแบบยั่งยืนที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยังมีอีกองค์กรที่ทำงานเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าและสัตว์น้อยใหญ่ด้วยหัวใจมาอย่างยาวนาน อย่างมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

เพิ่งครบรอบการก่อตั้งมูลนิธิสืบฯ 30 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา The Urbanis พูดคุยกับศศิน เฉลิมลาภ  ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรคนปัจจุบันถึงเรื่องป่ากับเมือง และความท้าท้ายของมูลนิธิในการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม

ทำไมถึงสนใจเรื่องป่า ทั้งที่ตัวเองก็ใช้ชีวิตในเมือง

ก็เพราะมันไม่มีป่าไง เราเรียนหนังสือในเมือง เด็กๆ ผมเกิดกลางทุ่งนา มีแม่น้ำ มีทุ่ง แล้วก็ไม่เคยเห็นป่า ป่าเป็นเรื่องไกลๆ เรื่องลึกลับ เรื่องบนภูเขา ผมอยู่บนที่ราบภาคกลางแล้วก็รู้สึกว่ามันต้องมีหุบเขา มันต้องมีทะเล มันถึงจะเป็นที่ไกลๆ บ้าน ที่ๆ เราไม่รู้ ไอ้ความไม่รู้เนี่ยแหละถึงทำให้เราอยากเรียนรู้ อยากสัมผัส พอไปเรียนรู้ถึงรู้ว่ามันสำคัญนี่นา ก็ไปเรื่อยๆ

ความรู้สึกอยากเรียนรู้แบบนี้เริ่มต้นเมื่อไหร่

มันบอกไม่ถูกว่าเริ่มเมื่อไหร่ เริ่มเมื่อวันที่เราเริ่มมีความรู้ อย่างเช่นก่อนอายุ 20 ที่มันเริ่มมีกระแสสิ่งแวดล้อมเข้ามา มีการเรียนรู้ว่าป่ามันมีคุณค่ายังไง มีรุ่นพี่ๆ เขาประท้วงเขื่อนน้ำโจนก็จะมีข้อมูลมา มีการไปค่ายสิ่งแวดล้อม ค่ายวิทยาศาสตร์ต่างๆ พอเรารู้ว่าเฮ้ย มันมีคุณค่าแล้วมันก็จะมีผลกระทบ มันก็ควรจะมีการต่อสู้อนุรักษ์ รู้สึกแบบนั้นอันนี้เมื่อ 30-40 ปีก่อน

อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อมีคนในชุมชนมากขึ้นก็จำเป็นต้องขยายพื้นที่อาศัยซึ่งอาจหมายถึงการรุกคืบพื้นที่ป่า

ปัจจัยที่ทำให้ป่ามันโดนรุก นอกจากคนมากแล้วก็มีเรื่องอื่นอีก คือเรื่องวิถีสมัยใหม่ มันเริ่มหนักๆ ตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกมันตรงอยู่ในจุดที่มันต้องการโลกใหม่ ดังนั้นการใช้ทรัพยากรเยอะๆ มันก็ตอบสนอง ทุกอย่างมันถูกบุกเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติทั้งหมด เพื่อจะใช้ทรัพยากรเยอะๆ เปลี่ยนสภาพธรรมชาติทั้งหมดเพื่อความเป็นอารยะธรรมแบบฝรั่ง ทำให้การใช้ทรัพยากรมันก้าวกระโดดมาก การค้าขายแบบโลกาภิวัตน์

ทุกอย่างมันก็เป็นไปตามโลกที่มันต้องขับตัวเองจากความยากจน มันไม่มีใครผิด ใครถูกหรอก เมื่อก่อนฝรั่งประเทศเดียวมันไปรุกอาณานิคม มันไปทำนู่นทำนี่ก็เพื่อต้องการสร้างโลกแบบที่เขาคิดนั้นแหละ พอตอนหลังวิธีคิดแบบนี้มันไปทั่วโลก มันก็ยิ่งทำลาย แล้วก็ค้าขายกันมากมาย ธรรมชาติก็ยิ่งหดตัวลงอย่างรวดเร็ว

จริงๆ เราเริ่มทำลายธรรมชาติหนักๆ ในประเทศไทยเพิ่งจะเป็นประมาณ 50 กว่าปีมานี้เอง ตั้งแต่เริ่มค้าขาย ปลูกข้าวโพด หลังจากนั้นก็เริ่มมีอุตสาหกรรม ทุกอย่างมันก็เป็นไปตามโลกที่มันต้องขับตัวเองจากความยากจน มันไม่มีใครผิด ใครถูกหรอก เมื่อก่อนฝรั่งประเทศเดียวมันไปรุกอาณานิคม มันไปทำนู่นทำนี่ก็เพื่อต้องการสร้างโลกแบบที่เขาคิดนั้นแหละ พอตอนหลังวิธีคิดแบบนี้มันไปทั่วโลก มันก็ยิ่งทำลาย แล้วก็ค้าขายกันมากมาย ธรรมชาติก็ยิ่งหดตัวลงอย่างรวดเร็ว แต่ว่าขณะเดียวกันมันก็เกิดกระแสอนุรักษ์ขึ้นมา แล้วปัจจุบันมันก็เกิดกระแสตีกลับ เฮ้ย ตอนนี้ไม่มีใครปฏิเสธ เมื่อก่อนก็จะถกเถียงกันพัฒนาไป วิถีชีวิต การอนุรักษ์ล่ะอะไรแบบนี้ ทุกวันนี้มันจบแล้วมั้ง ทุกคนบอกการพัฒนาก็ต้องทำ แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธของการเก็บทรัพยากร เก็บสิ่งแวดล้อมที่ดีเอาไว้ มันก็มาถึงอีกจุด

แล้วสถานการณ์ทรัพยากรตอนนี้มันเป็นยังไง

ปัญหาคือไม่มีใครรู้ สมัยก่อนผมคิดว่าเรามองเฉพาะประเทศเรา ต้องมีป่าต้นน้ำสัก 20% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศตามแนวสันเขาต่างๆ ใหญ่ๆ เพื่อให้เก็บน้ำไว้ ปัจจุบัน 20% ก็ไม่พอ ไม่พอเลยอย่างญี่ปุ่นมีตั้ง 70% หลายประเทศก็มีป่าเยอะ แต่พอไหมก็ไม่พอ เพราะภัยพิบัติมันมาจากเรื่องอื่น มันมาจากเรื่องของ Climate Change มันมาจากเรื่องมลพิษที่มากเกิน ดังนั้นเราไม่สามารถบอกได้ แค่ว่าน้ำแข็งละลายจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นรึเปล่า ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ถ้ามันไม่ตรงก็ดีไป แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมา ความเลวร้ายมันจะมากกว่านี้เยอะแยะเลย เรื่องของ sixth extinction การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 มันก็เป็นเรื่องเฉพาะนักวิทยาศาสตร์คุยกัน เรื่อง Climate Change ตอนนี้ก็เป็นเรื่อง 50-50 ว่าจะเกิด ใครจะเชื่อคุณทรัมป์ หรือไม่เชื่อคุณทรัมป์

ตอนนี้ป่าไม้ในประเทศไทยมันถึง 20% ไหม หรือกำลังหดตัวอยู่

มันก็คงไม่หดแล้วล่ะ มันก็ประมาณนี้ 20 กว่าหน่อยๆ ยังมีพื้นที่สีเขียวอื่นๆ อีกพอสมควร คือผมคิดว่าถ้ามันทำตามแผนของป่าไม้แห่งชาติที่เขาต้องการป่า 40% แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นป่าอนุรักษ์ทั้งหมด เป็นป่าเศรษฐกิจ มีพื้นที่สีเขียวประมาณ 55% สถานการณ์มันอาจจะดีกว่านี้เยอะ ประเทศไทยก็น่าจะเอาตัวรอดได้ในภาวะ Climate Change อันนี้ผมคิดนะไม่ได้มีข้อมูลอะไรรองรับ ใช้ความรู้สึก

ช่วงที่ผ่านมีการพูดถึงป่าในเมืองกันมากขึ้น

ป่าในเมืองไม่มีนัยยะถ้าเทียบกันทางปริมาณ แต่ถ้าเทียบว่ามันมีคุณค่าอะไรสำหรับใคร เช่น สำหรับคนเมืองที่จะไปเรียนรู้เรื่องป่า ทำให้จิตใจเขาผูกพันกับธรรมชาติยิ่งขึ้น เพื่อที่จะออกไปอนุรักษ์ป่าข้างนอกอันนี้มีนัยยะ เชิงปริมาณไม่น่าจะมีผลอะไร แต่เชิงคุณภาพที่จะทำให้คนเมืองซึ่งชอบทำลายป่า มีสำนึกขึ้นอันนี้มีคุณภาพเยอะ

ภาพถ่ายดารากับต้นไม้ในบ้าน หรือตลาดต้นไม้ที่ราคาพุ่งสูงขึ้นสะท้อนว่าคนโหยหาป่ามากขึ้นไหม

ผมก็ว่าอย่างนั้น ลึกๆ แล้ว ใบไม้ กิ่งไม้มันเป็นชีวิต พอข้างนอกมันไม่มีจริงๆ อีกหน่อยคนเขาก็ปลูก ตอนนี้มันก็มีเยอะ ทุกที่ที่เป็นจุดขาย อย่างสมัยผมเด็กๆ มันมีแฟชั่นต้องทำลายป่า

วัดนี้ก็พวกเปลี่ยนความร่มเย็นเป็นลานจอดรถให้คนมาทำบุญ โรงเรียนก็แข่งกันพัฒนาให้เด็กตีนไม่ติดดินคือราดปูนซีเมนต์หมด สถานที่ราชการก็แข่งกันสร้างตึก แต่ปัจจุบันผมว่าเทรนด์มันไม่ใช่

คนที่นำแฟชั่นทำลายป่า ก็คือจะวิเคราะห์ผมก็ว่าพวกวัดกับโรงเรียนกับสถานที่ราชการ ทำลายธรรมชาติก่อน เยอะสุดก็พวกชอบราดซีเมนต์ วัดนี้ก็พวกเปลี่ยนความร่มเย็นเป็นลานจอดรถให้คนมาทำบุญ โรงเรียนก็แข่งกันพัฒนาให้เด็กตีนไม่ติดดินคือราดปูนซีเมนต์หมด สถานที่ราชการก็แข่งกันสร้างตึก แต่ปัจจุบันผมว่าเทรนด์มันไม่ใช่ พระก็ต้องมีความรู้มากขึ้น โรงเรียน สถานที่ราชการคงต้องมีความรู้มากขึ้น เพราะว่าเอกชนมันไปไกล เอกชนสร้างอาคารใหม่ เขาจะสร้างอาคารที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสวนสีเขียว ที่อยู่สมัยใหม่ก็แข่งกันว่าที่ไหนจะมีธรรมชาติแทรกขึ้น แต่ว่ากระแสหลักวัด โรงเรียน สถานที่ราชการยังไม่ยอมเปลี่ยน และยังเชยอยู่ โดยเฉพาะวัด วัดนี่แย่มาก วัดแย่ที่สุดถ้าให้ผมประเมิน

ทำไมเป็นวัด

พระสมัยใหม่ไม่มีรสนิยม ไม่มีความรู้ แล้วก็ไม่มีจิตใจที่อยากจะไปหาความสงบด้วย ผิดหน้าที่โดยแรงที่สุด ส่วนโรงเรียนก็อยู่แบบมีผลประโยชน์เรื่องของจะทำยังไง เขาคิดอย่างเดียวเด็กตีนไม่ติดดินคือคุณภาพการศึกษาที่น่าจะตามมา ราชการเขาก็ไม่ค่อยคิดอะไรอยู่แล้ว แต่ราชการมีความรู้นะ แต่ว่าไม่ค่อยมีโอกาส เพราะมันไม่มีแรงบันดาลใจ

พื้นที่ป่าลดลงมันจะส่งผลกระทบกับคนเมืองอย่างไร

มันก็ส่งผลกระทบมาตลอด อย่างปีนี้แล้งจัด ถ้าปีนี้มีป่ามันจะไม่แล้งขนาดนี้หรอก แต่คนเมืองเป็นคนที่ถูกปกป้อง คนเมืองเป็นคนที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะระบบเทศบาลจะปกป้องคุณ ไปหาน้ำไปหาท่า มันก็ไปดึงน้ำจากคนอื่นมา ในที่สุดมันก็อยู่กันไม่ได้เพราะทรัพยากรมันถูกดูดเข้ามาในเมืองมากที่สุด จนในที่สุดคนที่เขาถูกแย่งทรัพยากรไป คนที่อยู่ชนบทเขาก็อยู่ไม่ได้ สักพักเมืองก็อยู่ไม่ได้ แต่ว่าปัจจุบันมันก็พยายามเปลี่ยนชนบทเป็นเมือง มันไม่มีชนบทแล้วมั้ง มันเหลือพื้นที่ชนบทจริงๆ อยู่แค่ไหนเอง อบต.มันก็เป็นเมือง มีอบต.ที่ไหนไม่ราดซีเมนต์บ้างอะ ความเป็นเมืองคือปูนซีเมนต์กับระบบเทศบาล เก็บขยะ

ตอนนี้คนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมันจะเชื่อมไปถึงการอนุรักษ์ป่าไหม

วันนี้สิ่งที่เราโชคดีอย่างคือมันเกิดการตื่นตัวพอสมควรกับคนส่วนเล็กๆ ซึ่งมันสามารถเก็บต้นทุนไว้มากพอ แล้วก็พัฒนาเป็นองค์ความรู้มากพอที่จะส่งต่อหรือทำงานร่วมกันได้

ทำงานในรูปแบบไหน

ทุกฝ่ายต้องทำหน้างานของตัวเอง ใครมีหน้าที่อะไรก็ต้องทำหน้างานของตัวเอง อย่างผมเป็นนักอนุรักษ์ผมก็เข้มข้นหน่อยในการที่จะหน่วงนโยบายไม่ให้มันกลับไปทำลายสิ่งแวดล้อมอีก แต่คนที่อยู่หน้างานของตัวเองก็ทำงานของตัวเองให้ดี แม้แต่คนที่กำลังทำลายธรรมชาติก็ทำหน้างานของตัวเองให้ดี มีความรู้ อย่างคนทำเหมืองแร่ก็ทำให้ดีทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ฟื้นฟูสภาพพื้นที่เมื่อคุณใช้เสร็จ คนทำอุตสาหกรรมก็ทำหน้างานของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะคุณคือคนที่ดูดทรัพยากรของคนอื่น มีโอกาสคุณก็ต้องคืนเพื่อช่วยสังคม ผมคิดว่าถ้ามันมีภัยแล้งต่อเนื่องกันสักสองสามปีจนคนเมืองไม่มีน้ำใช้ มันจะหนักกว่าน้ำท่วมเยอะเลย ถ้าไม่มีน้ำกิน ไม่มีน้ำฉีดตูดอันนี้เรื่องใหญ่ที่สุดของคนเมือง ไม่มีน้ำฉีดตูดจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง

ผมคิดว่าถ้ามันมีภัยแล้งต่อเนื่องกันสักสองสามปีจนคนเมืองไม่มีน้ำใช้ มันจะหนักกว่าน้ำท่วมเยอะเลย ถ้าไม่มีน้ำกิน ไม่มีน้ำฉีดตูดอันนี้เรื่องใหญ่ที่สุดของคนเมือง ไม่มีน้ำฉีดตูดจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง

ทำหน้างานให้เกิดความสมดุลกลับไปสู่ความยั่งยืนให้แก่โลก มันจะทำได้ก็ต่อเมื่อคุณมีสำนึก มีความรู้ ผมก็คิดว่ามันจะเกิดขึ้นต้องชัดๆ ว่าหนึ่ง ตอน Pm 2.5 ก็เริ่มสำนึกเห็นไหมล่ะ หายใจไม่ออก อีกอันที่ทำให้สำนึกผมคิดว่าเป็นเรื่องน้ำฉีดตูด วันหนึ่งไม่มีน้ำฉีดตูดคนเมืองเดือดร้อนฉิบหาย นั้นแหละจะกลับมาที่ทำยังไง จะพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ พัฒนาการกระจายการกักเก็บน้ำ พัฒนาเรื่องทำยังไงให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ก็จะย้อนไปว่าทำยังไงให้เรามีป่าสัก 40-50% มีพื้นที่สีเขียวให้เต็มพื้นที่เพื่อที่จะดึงฝนให้มาตกบ้านเราให้ได้ วันนี้มันชัดเลยว่าลมผ่านไปผ่านมาแล้วฝนไม่ตก เพราะความชื้นในอากาศมันไม่พอ แต่ว่าป่าในเมืองก็อาจจะไม่ใช่นัยยะที่มันจะดึงมาได้ แต่มันต้องทำหน้าที่ที่ทำให้คนเข้าใจว่าพอมันมีสีเขียวมันทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

เราสามารถเรียนรู้และป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ไหม

ไม่น่าจะมี ในเรื่องใหญ่นะ มนุษย์ต้องมีบทเรียนเสมอ แต่ว่าเรื่องเล็กคือระบบการศึกษา ระบบการเรียนรู้ซึ่งทุกวันนี้มันมีไม่ใช่จำกัดเฉพาะโรงเรียนไง สื่อสำคัญที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องมีแรงบันดาลใจจากผู้นำ จากนักการเมือง จากฝ่ายสังคม นั่นแหละที่จะสร้างแรงบันดาลใจบนพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ ไม่ใช่แรงบันดาลใจบนฐานของความรู้สึกหรือการสร้างภาพ โดยเฉพาะการเมือง การเมืองมันต้องได้คนรุ่นใหม่ คือคนรุ่นคุณประยุทธ์ มีความดีตรงที่ว่าเคยเห็นป่า เคยเห็นอะไรมากกว่าพวกเรา แต่ก็ไม่ได้มีสำนึกที่จะต้องเดินออกมาเพื่อจะปกป้องรักษา คนรุ่นนั้นไม่ใช่ คนที่จะต้องทำก็คือคนรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องลุกขึ้นมา ที่พูดว่ารุ่นเราต้องไปต่อได้ จะทำอะไรก็ทำ

แต่คนรุ่นเก่าเห็นความเปลี่ยนแปลงมากกว่าคนรุ่นใหม่ ทำไมการอนุรักษ์ถึงเกิดขึ้นน้อย

เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเขาแล้ว เรื่องของคนอื่น เรื่องของคนรุ่นใหม่แล้ว คนรุ่นเขามีพลังอีกไม่เท่าไหร่หรอก ไม่มีแรงทำอะไร นี่พูดเป็นรุ่นนะ ไม่ได้พูดเป็นคน เป็นคนๆ เราอย่าไปดูถูกดูแคลน พลังของคนแก่คนนึง เขายังมีพลัง แต่รุ่นอะไม่มีพลัง

รุ่นนี้เขาปล่อยพลังในการทำลายไปหมดแล้ว รุ่นพ่อผม รุ่นผมเขาปล่อยพลังในการขุด ในการทำลาย ในการราดปูนซีเมนต์ไปหมดแล้ว จะให้เขากลับมาอนุรักษ์มันไม่ใช่ เขาก็ต้องบอกว่ากูทำไว้ให้มึงมีแดก หายจน มึงจะมาโทษกู มึงก็มีหน้าที่ที่จะมองไปข้างหน้า ฉลาดกว่ากู เรียนมากกว่ากูก็คิดดิ แต่กูก็ทำดีที่สุดให้มึงมีแดก เขาก็คงคิดอย่างนั้น โลกมันก็ต้องเป็นแบบนั้น

แปลว่าเกี่ยวกับพลวัตของโลกด้วย

ผมก็คิดว่าวันที่เขาออกไปล่าวาฬกันในมหาสมุทรเพื่อที่จะเอามาทำเทียนไข เพื่อให้อ่านหนังสือได้ มันก็เป็นไปว่าทำไมเขาต้องจุดเทียนไข เพราะเขาต้องการความรู้ จะได้อ่านหนังสือ เขากลัวความมืด ต้องออกไปทำลายปลาวาฬทั่วมหาสมุทร ปลาวาฬก็ถูกล่าเพราะว่าเป็นแหล่งพลังงานมาจากสิ่งมีชีวิต

ตอนหลังก็ตกใจว่าเฮ้ย งั้นเราไม่ต้องล่าวาฬแล้วเว้ย เรามาขุดน้ำมันจากใต้ดิน ตอนนั้นคนที่สงสารวาฬก็คงดีใจ เฮ้ย ไม่ต้องไปฆ่าแล้ว เอาน้ำมันมาคงไม่มีผลกระทบกลายเป็นว่าก็ไม่ได้อีกอะ มันยิ่งทำให้เกิด Pm 2.5 เต็มไปหมด ทำไงต่อมันก็ต้องพัฒนากันต่อไป จากไม่ต้องล่าวาฬมาใช้พลังงานปิโตรเลียม แล้วจากพลังงานปิโตรเลียมมาเป็นพลังงานนิวเคลียร์ใช่ไหม ถ้ามันเป็นคำตอบมันเป็นคำตอบมานานแล้วล่ะ มันไม่เป็นคำตอบไงเพราะมันไม่มีเทคโนโลยีในการเก็ฐซาก หรือไม่ก็ต้องหาคำตอบออกมาก็แข่งกันไป โซลาเซลล์กับพลังงานทางเลือกเป็นคำตอบแน่ แต่ว่ามันจะต้องมาพร้อมกับการลดใช้พลังงาน การทำอะไรที่มันเปลี่ยนไปจากวิธีที่ใช้ทรัพยากรช่วงที่ผ่านมา

มูลนิธิสืบฯ มองเห็นความท้าทายอะไรบ้าง

ความท้าทายคือ ตัวมูลนิธิเราคิดว่าในส่วนของผม ผมไม่ได้ทำงานขาดตกบกพร่องอะไร ในส่วนที่เป็นเป้าหมายหรือจุดที่เราตั้งขึ้นมามันไม่ได้ขาดตกบกพร่อง มันก็ทำไปตามนโยบาย ทำให้ห้วยขาแข้งยังมีต้นทุน วันนี้สัตว์ป่า ความรู้เรื่องป่าอยู่กับเราค่อนข้างเยอะ กรณีศึกษาดีๆ แต่เราไม่ใช่กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ไง เราก็ต้องทำเฉพาะหน้าที่ของเรา

แต่ปรากฏว่าปัญหาของโลกมันใหญ่กว่านั้น ปัญหาที่เกรต้าพูดใหญ่กว่ามูลนิธิสืบฯพูด ปัญหาที่คุณทรัมป์ไม่ยอมทำตามนักวิชาการสิ่งแวดล้อมมันใหญ่กว่าสิ่งที่มูลนิธิสืบฯเคยทำมา สิ่งที่เกรต้าคิดกับสิ่งที่ทรัมป์ทำมันชัดเจนมากนะ ดังนั้นมูลนิธิสืบฯต้องทำคืออะไร เราจะไปสู้กับทรัมป์โดยลำพังก็ไม่ได้ เราจะไปหนุนเกรต้าก็ไม่ใช่ ก็ห่างไกลกับภารกิจเรามาก ในทางกลับกันองค์กรต่างๆ ต้องเชื่อมร้อยกันเป็นพลังใหม่ เป็นพลังใหม่ในการเดินหน้าทำงานในบริบทที่เป็น Climate Change เรื่องของการจะทำยังให้ให้เกิดองค์ความรู้ เกิดเครือข่ายการอนุรักษ์ที่เชื่อมร้อยไปกับโลก แล้วทำยังไงให้เกิดแรงบันดาลใจผู้นำสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ทุกประเทศ เอาสักครึ่งหนึ่งของโลกที่ผู้นำเป็นนักสิ่งแวดล้อม วันนั้นมันถึงจะแก้ไขได้ผมคิดว่าอย่างนั้น

ในประเทศไทยควรเป็นองค์กรอะไรที่มาเชื่อมร้อย ทำงานร่วมกัน

หนึ่งภาครัฐ ภาครัฐเองก็ต้องมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็ง ซึ่งทุกวันนี้มันไม่เข้มแข็งหรอก เขาทำงานไม่เลวร้ายนะเพียงแต่ว่าถ้าเราดูรัฐมนตรีที่ปลอดภัยที่สุดคือรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ เขาจะแย่งตำแหน่งกระทรวงพลังงานกันอยู่เลย มันก็เห็นชัดว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าวันนึงคุณแย่งกระทรวงทรัพย์ฯ แย่งกันปลูกต้นไม้ แย่งกันอนุรักษ์ป่า อันนั้นแหละมันแปลว่างบประมาณมันก็ลงมาที่กระทรวงทรัพย์เพื่อที่จะทำงานสิ่งแวดล้อมอันนั้นคือเรื่องใหญ่ที่สุด ดังนั้นขนาดที่รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ยังไม่มีใครแย่งเป็นเลย

จะไปหานายกด้านสิ่งแวดล้อมมันมีประเทศอะไร ประเทศเล็กนิดเดียว ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศไอซ์แลนด์ เป็นประเทศทางเลือกหมดเลย ถ้าเมื่อไหร่เทรนด์ใหญ่ๆ ของโลกมันกลับมาอีกแบบ แล้วมีผู้นำที่ทำงานสิ่งแวดล้อม คุณเอมมานูเอล มาครงเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสเขาก็ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แล้วเขาก็เป็นประเทศใหญ่ แต่คนอนุรักษ์นิยมไม่สนับสนุนมาครงเลย เกิดการประท้วงพอไปแตะเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม เพราะมันไปกระทบความสะดวกสบายการใช้ชีวิตของเขาไง ดังนั้นทุกอย่างเชื่อมร้อยทั้งหมดตั้งแต่การเมืองระดับโลก ระดับประเทศไปยันความร่วมมือร่วมใจของสาธารณะชน ซึ่งมันเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความรู้มันถึง และเรื่องของสำนึก การไม่มีน้ำฉีดก้น

ฝากอะไรทิ้งท้ายหน่อย

ไม่ฝากอะ ผมไม่เคยฝากอะไรเลย เวลามีคนสัมภาษณ์ผม ผมไม่เคยฝากเลย เพราะว่าผมรู้สึกว่าผมนึกไม่ออก ผมรู้สึกว่าเราก็พยายามทำในส่วนของเรานะทุกงานอะ ส่วนคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่เขาต้อง… ถ้าเขาเชื่อผมก็ดีดิที่ผ่านมาผมไม่เห็นมีใครเชื่ออะไรใครเลย แต่ไม่เป็นไรนะเพราะว่ามันเป็นโลกที่คุณต้องจัดการมัน ใครจะเดินขึ้นมารับผิดชอบ แค่นั้นเอง


Contributor