09/06/2020
Environment

‘สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา’ : ความหวังและความเป็นไปได้ใหม่ ในการเติมสีเขียวให้เมือง เชื่อมเมือง เชื่อมชุมชน ให้ผู้คนเดินได้

The Urbanis
 


กรุงเทพมหานคร เมืองที่แออัด รถติด ขนส่งสาธารณะไม่ทั่วถึง ฝุ่นควัน ความไม่เท่าเทียมไม่เสมอภาค และอื่นๆ อีกมากเรื่อง พูดกันได้ไม่รู้จบ

แม้เราจะบ่นถึงปัญหาสารพัดของเมืองได้ทุกวัน แต่การค้นหาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองให้ดียิ่งขึ้นก็กำลังเดินหน้าทำงานขนานกันไป ล่าสุดหนึ่งในโครงการปรับเปลี่ยนสะพานด้วนให้เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าก็สำเร็จลุล่วง เปิดให้ผู้คนได้ใช้บริการแล้ว 

โครงการ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (Chao Phraya Sky Park) เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงจากโครงการผังแม่บทการฟื้นฟูเมืองชั้นใน ที่มีชื่อเล่นว่า ‘โครงการกรุงเทพฯ 250’ ด้วยความร่วมมือจากภาคีพัฒนาสำคัญ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่น หัวเรี่ยวหัวแรงประสานความร่วมมือ สนับสนุนงบประมาณในการศึกษา ออกแบบวางผัง และดำเนินการก่อสร้าง ร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ในฐานะเจ้าของโครงสร้างสะพานและผู้ดูแลพื้นที่ ที่เปิดไฟเขียวสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะส่งเสริมการสัญจรของเมือง พร้อมด้วย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ในฐานะหัวหน้าทีมศึกษาออกแบบวางผังและเสนอความเป็นไปได้ใหม่ในการพัฒนาฟื้นฟูเมือง สร้างพื้นที่สาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่ผู้คนในเมืองสามารถเดินได้เดินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น 

วันนี้อยากชวนทุกคนมาเดินทอดน่องชมวิวพระอาทิตย์ตกบนสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาแห่งนี้ พร้อมกับฟังแนวคิดและการวางแผนดำเนินการ อุปสรรค รวมถึงข้อจำกัดที่ท้าทาย กับ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC และหัวหน้าโครงการ ผู้มีบทบาทในการวางยุทธศาสตร์เมืองและขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูเมืองทั้งในกรุงเทพมหานครและเมืองต่างๆ พร้อมพันธมิตร กชกร วรอาคม หัวหน้าทีมภูมิสถาปนิกจาก LANDPROCESS และ จักรดาว นาวาเจริญ หัวหน้าทีมสถาปนิกจาก N7A Architectsทั้งสามท่านนำทีมร่วมกันวางผังออกแบบพลิกฟื้นโครงสร้าง ‘สะพานด้วน’ ให้กลายเป็นสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของโลก ในนาม ‘สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา’ แห่งนี้ได้สำเร็จ

เตรียมตัว แล้วออกเดินหน้าไปพร้อมกัน!

กว่าจะมาเป็นสวนลอยฟ้า

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เป็นโครงสร้างที่ถูกทิ้งร้างมากว่า 30 ปี ตั้งแต่สมัยที่คนกรุงเทพฯ ต่างดีใจที่จะมีโครงการรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยในชื่อ ‘รถไฟฟ้าลาวาลิน’ แต่ฝันในการเดินทางสะดวกสบายของคนเมืองต้องดับลงไป เพราะโครงการที่ดำเนินอยู่ไปต่อไม่ได้ด้วยเงื่อนไขบางอย่างที่ซับซ้อนยากจะแก้ไข ทำให้โครงสร้างของสะพานที่สร้างไม่เสร็จ ถูกเรียกจากภาพที่ผู้คนมองเห็นว่า ‘สะพานด้วน’

“ช่วงที่วางผังแม่บทอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน อันเป็นโครงการนำร่องของโครงการกรุงเทพฯ 250 คุณลุงประดิษฐ์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานชุมชนบุปผารามแห่งย่านกะดีจีน เดินมาทักว่าทำไมอาจารย์แดงไม่เอาสะพานด้วนที่ทิ้งไว้เฉยๆ มาทำอะไรให้เกิดประโยชน์ พอพูดขึ้นมาเท่านั้น ความเป็นนักผังเมืองของพวกเราก็ทำงานทันที ภาพการเชื่อมเมือง เชื่อมการสัญจร เชื่อมพื้นที่สีเขียว เชื่อมชุมชนก็ผุดขึ้นมา นี่คือการจุดประกายครั้งสำคัญจากคนจริงในพื้นที่” ผศ.ดร.นิรมล เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการชุบชีวิตสะพานด้วน ซากสถาปัตยกรรมทิ้งร้างที่อยู่ตรงกลางระหว่างสะพานพระปกเกล้า ขึ้นมาใหม่อีกครั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ คุณลุงประดิษฐ์ ห้วยหงส์ทอง ประธานชุมชนวัดบุปผาราม

“กทม.ให้การสนับสนุนโครงการนี้มาก ทั้งผู้บริหารและคณะทำงานจากสำนักผังเมืองที่ทำงานประกบให้คำปรึกษาแก่เรา ล้วนมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า นี่คือโครงการยุทธศาสตร์ ด้วยเหตุผลสามประการ

หนึ่ง โครงการนี้จะสร้างอิมแพคได้สูง (high impact) โดยจะช่วยปลดล็อคการเชื่อมโยงการสัญจรโดยเท้าและจักรยานของฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ 

สอง ผู้คนสามารถรับรู้มองเห็นโครงการนี้ได้ชัดเจน (high visibility) สวนลอยเหนือแม่น้ำแบบนี้ ใครๆ หน่วยงานไหนก็คงจะรู้จัก อันเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างแนวร่วมนโยบายการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวเมืองของ กทม. 

สาม อันนี้สำคัญ โครงการนี้มีความซับซ้อนน้อย มีหน่วยงานที่ กทม.ต้องเจรจาหารือและร่วมมือคือ เจ้าของและผู้ดูแลโครงสร้าง นั่นคือ กทพ. และ ทช. ไม่ต้องไปไล่รื้อหรือสร้างผลกระทบกับชุมชน”

“โครงการนี้คือความหวังของการฟื้นฟูเมือง ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างกทม. อันเป็นหน่วยงานท้องถิ่นกับรัฐบาลในการสร้างพื้นที่สาธารณะคุณภาพดี เป็นความสำเร็จแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นมากนัก กทม.ทำงานหนักในการเชื่อมประสานทั้งแนวตั้งและแนวนอน อันเป็นความท้าทายของการพัฒนาฟื้นฟูเมือง โดยเฉพาะในบริบทรัฐไทยที่โครงสร้างราชการสลับซับซ้อนและแยกส่วน เรามักเห็นเจ้าของพื้นที่เป็นหน่วยงานหนึ่ง เจ้าของงบประมาณศึกษาเป็นหน่วยงานหนึ่ง เจ้าของงบประมาณก่อสร้างเป็นหน่วยงานหนึ่ง แต่โครงการนี้ก็ก้าวข้ามผ่านได้ด้วยการเจรจาหารือและร่วมมือกัน จากนี้ไป หากใครบอกว่าโครงการนั้นโครงการนี้ทำยากเป็นไปไม่ได้ ก็ขอให้หันมามองโครงการนี้ มันเป็นไปได้นะ ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับเจ้าหน้าที่ กทม.หลายท่านก็บอกว่า พอโครงการนี้เสร็จเป็นรูปธรรม โครงการอื่นๆ ก็ง่ายขึ้น เพราะมองเห็นภาพ”

“หากยืนมองจากมุมทั้งวิชาชีพและมุมวิชาการ โครงการนี้อาจจะไม่ได้ใหญ่โตเชิงของขนาด ความยาวแค่ 280 เมตร กว้าง 8 เมตรเท่านั้น แต่สิ่งที่สมควรจะ celebrate คือการจุดประกายให้เห็นโอกาสใหม่ๆ ในการฟื้นฟูเมือง ลองคิดดูว่านี่คือ การเปลี่ยนวิธีมองพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งวิธีการลงทุนของภาครัฐ เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการอนุญาตให้ลองนำเอาโครงสร้างทิ้งร้างมาปรับเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่ร่วมสมัย เพื่อการเดินเท้า เพื่อจักรยาน แทนที่จะไปลงทุนสร้างใหม่ทั้งหมด ซึ่งคงใช้งบประมาณมากกว่านี้หลายเท่า นอกจากนี้ กทม.ยังให้อิสระกับพวกเรานักออกแบบอย่างเต็มที่ กรอบมีเพียงมาตรฐานความปลอดภัยทางวิศวกรรมและการขับขี่ของทช. ซึ่งพวกเราทีมออกแบบก็พยายามไปให้สุดขอบความเป็นไปได้นั้น พอแบบเสร็จ กทม.ก็ยินดีเต็มใจในการลงทุนงบประมาณกับการออกแบบอันนี้ ดิฉันถือว่านี่อาจจะเป็นก้าวสำคัญในการ Transform กรุงเทพมหานคร ดิฉันในฐานะที่ยืนอยู่ในฝั่งวิชาการและวิชาชีพ ต้องขอบคุณ กทม. กทพ. และ ทช.อีกครั้งที่ให้โอกาสนี้กับพวกเรา” ผศ.ดร.นิรมล ย้ำถึงความสำคัญของสวนลอยฟ้าแห่งนี้

ข้อจำกัดคือความท้าทาย

กว่าจะกลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของโลก สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาผ่านข้อจำกัดมากมาย เป็นสิ่งที่ทีมทำงานต่างรู้ว่าช่างยากเย็น และอุปสรรคที่มีจะส่งผลให้การดำเนินงานยากลำบากขนาดไหน เพราะข้อจำกัดไม่ได้มีแค่เพียงโครงสร้างสะพานหรือการออกแบบพื้นที่สีเขียวเท่านั้น หากลองไล่ย้อนกลับไปดูความเป็นมาของอุปสรรคจะพบว่า… แม้จะมีสวนลอยฟ้าบนสะพานก็จริง แต่เราไม่อาจหวังถึง ‘สวน’ ที่หมายถึงพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น มีนกร้องเช่นนั้นได้ จึงทำให้ในวันที่สะพานเปิดใช้งาน ภาพของสวนที่หลายคนต่างคาดหวังจึงเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามมากมาย

ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างสะพานที่ต้องคำนึงถึงความหลายหลากมากเรื่อง ไล่กันไปตั้งแต่ช่วงเวลาเริ่มทำโครงการ ผู้มีส่วนดำเนินโครงการหลากหลายหน่วยงานต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ วางแผนร่วมหารือกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มองเห็นภาพอนาคตเดียวกันอยู่หลายครั้ง กว่าจะตกลงเคาะไฟเขียวเดินหน้าโครงการ

เพราะไม่สามารถขนเครื่องจักรขึ้นไปทำงานบนโครงสร้างได้ ข้อจำกัดต่อมาคือ การมีโครงสร้างเก่าที่ด้วนไร้ทางขึ้นลง จึงต้องดำเนินการต่อแขนขาให้กับสะพานด้วยวิธีการที่ค่อนข้างยากลำบาก การก่อสร้างมีลักษณะเหมือนมดงาน ให้นึกภาพขบวนมดขนน้ำตาลต่อแถวลำเลียงสิ่งของขึ้นไปวางประกอบบนสะพาน ทั้งยังต้องคำนวณน้ำหนักที่โครงสร้างเก่าจะสามารถแบกรับการเกิดขึ้นใหม่ของสิ่งต่างๆ บนสะพานด้วยอีกเรื่อง

“เมื่อผู้บริหาร กทม.ได้นำเสนอโครงการนี้ต่อสภา กทม. จนสภา กทม.อนุมัติงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังไม่ happy ending แค่นั้น ในครั้งแรกไม่มีผู้รับเหมาเจ้าไหนมายื่นประมูล โดยเฉพาะผู้รับเหมาเจ้าใหญ่อาจจะเห็นว่าไม่คุ้ม ไหนจะวิธีการทำงานที่ยากและข้อจำกัดเยอะมาก คิดว่าไม่มีใครอยากมาเสียเวลาทำสิ่งยากๆ กับโครงการเล็กแบบนี้แน่ๆ แต่สุดท้ายก็ได้บริษัทรับเหมาก่อสร้างในการเปิดหาผู้รับเหมาในรอบที่สอง ให้พวกเราได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ได้คุณภาพตามแบบ” ผศ.ดร.นิรมล เล่าถึงความท้าทายแรกให้เราฟัง

“แม้สะพานด้วนจะถูกรีไซเคิล อัดฉีดโปรแกรมกลายเป็นร่างใหม่แล้วก็ตาม แต่พื้นที่ความยาว 280 เมตร และกว้างเพียง 8 เมตร ก็เป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งสำหรับการวางแผนออกแบบ ลองนึกถึงการจัดการที่ต้องแบ่งพื้นที่สำหรับคนเดิน คนปั่นจักรยาน จุดนั่งชมวิว ฯลฯ เพียงเท่านี้การจัดสรรปันส่วนพื้นที่ก็ยากแล้ว”

“เมืองร้อนอย่าง กทม. เราก็คงอยากได้ต้นไม้ที่มีร่มเงากว้างๆ หนาๆ แม้กระทั่งเคยมีคนถามว่าทำไมไม่เอาจามจุรีร่มดี ทีมออกแบบก็อยากได้ค่ะ แต่ข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักของสิ่งก่อสร้างต้องไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดโดย ทช. กลายเป็นข้อจำกัดของน้ำหนักดิน ความลึกของกระบะปลูก แดดที่ร้อนจัด ลมที่แรง รวมทั้งลมหมุนกลางสะพาน ทำให้ต้นไม้ที่ขึ้นไปนั้นจำกัดทั้งชนิดและจำนวน ซึ่งแท้จริงแล้วสวนลอยฟ้านี้ออกแบบเพื่อตอบวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการสัญจรทางเลือกโดยเท้าและจักรยานของสองฝั่งเจ้าพระยา และชมวิวเมือง ดังนั้น ร่มเงาเราจึงออกแบบไว้พอประมาณ แต่อาจจะไม่เพียงพอให้มานั่งปิกนิกบนสะพานตอนเที่ยงได้

ข้อจำกัดอื่นๆ เช่น การดูแลรักษาต้องง่าย ดังนั้นไม้ดอกที่ต้องการการดูแลรักษามากนี้ต้องตัดใจ การออกแบบพันธุ์ไม้ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยในการขับขี่ไม่บดบังทัศวิสัยผู้ขับขี่บนสะพานพระปกเกล้าทั้ง 2 ฝั่ง ดังนั้น ต้นไม้แผ่พุ่มใบออกทางกว้างจะไม่เข้าเกณฑ์ หากมีลมแรง พายุฝน จนทำให้กิ่งไม้หักโค่นลงไปบนท้องถนนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ได้ และโครงการนี้ไม่มีการสนับสนุนให้ล้อมต้นไม้ใหญ่จากป่าเพื่อนำมาปลูกในเมืองด้วย”

สะพานที่เป็นมากกว่าสะพาน

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยามีรูปร่างเป็นสะพาน ด้านบนประดับด้วยพื้นที่สีเขียว มีทางสัญจรที่การันตีได้เลยว่าทำมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้คนอย่างชัดเจน ไม่มีรถยนต์มาติด ไม่มีรถเมล์มาจอด ไม่มีรถมอเตอร์ไซค์มาวิ่งบนฟุตปาธให้พบเจอ ทุกคนสามารถใช้พื้นที่บนสะพานทำกิจกรรมได้มากมาย ทั้งออกกำลังกาย เดินข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่ง หรือผ่อนคลายด้วยการนั่งดูพระอาทิตย์ขึ้นและตกเพียงแค่หันหน้าและกลับหลัง ในมุมมอง 360 องศา กว้างเหมือนตอนมองดูทะเล แต่เป็นความสวยงามของแม่น้ำเจ้าพระยา 

“โจทย์สำคัญของทีมออกแบบมี 2 เรื่อง หนึ่งคือการสัญจรของเมือง (urban mobility) สองคือคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานสุดๆ เลย คือขอปลดล็อคโครงข่ายการสัญจรเมืองให้เดินและขี่จักรยานถึงกันได้ ขอให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น มีพื้นที่สาธารณะให้คนสามารถไปนั่งเล่นหย่อนใจนอกบ้านได้บ้าง”

ผศ.ดร.นิรมล เล่าว่าสวนลอยฟ้าแห่งนี้อาจเป็นต้นแบบที่นำเอาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งาน (wasted space) เป็นโครงสร้างทิ้งร้างมาทำให้เกิดประโยชน์ และการเกิดขึ้นของสวนลอยฟ้าแห่งนี้จึงเป็นต้นแบบในการนำพื้นที่ที่คนอาจมองผ่านซึ่งมีอยู่มากมายในเมือง ผสานกลับให้มีประโยชน์ใช้สอยใหม่ บทบาทใหม่ เป็นเส้นเลือด เป็นปอด เป็นองคาพยพให้เมือง

“กทม.ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน รวมทั้งไม่ได้มีอำนาจเหนือที่ดินในเมืองทั้งหมด เราจึงเสนอยุทธศาสตร์ที่เรียกว่าการฝังเข็มเมือง (urban acupuncture) คือทำน้อย ได้มาก ทำในจุดที่สำคัญ แต่กระทบผู้คนน้อย ทำในจุดที่ กทม.สามารถจะเจรจาต่อรองได้ เหมือนการฝังเข็ม เล็งในจุดที่เลือดลมมันอั้น ก็เข้าไป unlock มัน ให้ทุกอย่างมัน flow โดยที่แผลไม่ใหญ่ ไม่แพง ไม่กระทบใคร”

“เมื่อถึงเวลาที่สวนลอยฟ้าแล้วเสร็จ ศาสนสถาน โบราณสถาน หรือสถานที่ท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมร้อยกว่าแห่งในฝั่งธนฯ ฝั่งพระนคร ชุมชนหลายสิบชุมชน รวมถึงโรงเรียนกว่า 20 แห่งในย่านนั้น ทั้งหมดก็จะเอื้อประโยชน์ที่จะสามารถเชื่อมทุกสิ่งอย่างเข้ามาถึงกันได้” ผศ.ดร.นิรมล ย้ำถึงสิ่งที่คนกรุงเทพฯ จะได้ประโยชน์จากสะพานแห่งนี้ 

อนาคตคือความยั่งยืน

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาคือภาพของอนาคตที่จะกลายเป็นต้นแบบในการนำสถาปัตยกรรมทิ้งร้างที่มีอีกมากมายในเมืองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นต้นแบบที่จะก่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มมากขึ้น เป็นต้นแบบที่ช่วยให้เมืองมีทางเลือกมากขึ้นสำหรับเรื่อง urban mobility และเป็นต้นแบบที่จะมีการต่อยอดไปยังโครงการต่างๆ อีกมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตดีๆ ที่ลงตัวมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เหมือนเป็นดั่งสาส์นบอกต่อถึงความจำเป็นของพื้นที่สีเขียวในเมือง นอกจากสาธารณชนจะใช้ประโยชน์ได้แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์สีเขียวที่ทำหน้าที่ประสานสวนสองฝั่งเชิงสะพานให้เชื่อมถึงกัน เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้เกิดโครงการที่จะทำให้พื้นที่สีเขียวในเมืองมีเพิ่มมากขึ้นอีกได้

การเกิดขึ้นของสวนลอยฟ้ายังช่วยทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ที่จะปรับปรุงสถานที่ที่มีอยู่แล้วให้ตอบรับผู้คนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างพื้นที่สีเขียว (น้อย) ‘สะพานเขียว’ ก็กำลังจะกลายเป็นโครงสร้างทางเดินและทางจักรยานยกระดับที่เชื่อมระหว่างสวนลุมพินีกับสวนเบญจกิติเข้าด้วยกัน (พันธมิตรโครงการนี้คือ คือ บริษัท สตูดิโอ ใต้หล้า จำกัด และ Lighting Research and Innovation Center มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) เดิมทีสะพานแห่งนี้เปิดใช้งานมาแล้วกว่า 20 ปี แต่จะเห็นได้ว่าพื้นที่มีสภาพทรุดโทรม พบเจอปัญหาหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน ทั้งทางเดินที่ลำบากเพราะสภาพอากาศร้อน และแสงไฟที่ไม่เพียงพอในตอนกลางคืนที่อาจเป็นเหตุทำให้เกิดการก่ออาชญากรรมได้ นอกจากนี้พื้นที่ยังขาดการเชื่อมต่อกับเมือง ทำให้สะพานเขียวนั้นค่อนข้างที่จะเข้าถึงยาก 

ในวันนี้สะพานเขียวกำลังจะมีสีเขียวเพิ่มขึ้นสมชื่อ และจะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวอีกแห่งที่จะเชื่อมสวน เชื่อมย่าน และเชื่อมชุมชน ปรับพื้นที่เปลี่ยนแปลงกันใหม่ ให้พื้นที่สาธารณะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เพื่อส่งผลให้เมืองได้มี mobility และการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

“จากการศึกษาของหน่วย Urban Intelligence ของ UddC พบว่าค่าเฉลี่ยของระยะทางของชาว กทม.ที่จะเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะที่ใกล้ที่สุดคือ 4.5 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าไกลมากเดินไม่ถึง (เปรียบเทียบกับปารีสที่การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 10 นาทีหรือประมาณ 1 กิโลเมตรมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19) ยุทธศาสตร์ที่ UddC เสนอ คือการฝังเข็มจุดสำคัญๆ เพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นเส้น เป็นชิ้น ให้เป็น Jigsaw มาต่อกันเช่น สวนลอยฟ้า สะพานเขียว หรือการปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วน โครงการเหล่านี้จะสามารถลดระยะทางเฉลี่ยในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของคน กทม.ได้”

โครงข่ายพื้นที่สีเขียวของเมืองในเขตกรุงเทพฯชั้นใน จากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร และ โครงการกรุงเทพฯ 250 

“หนึ่งในนโยบายสำคัญของ กทม. คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว จากปัจจุบันที่ 5-6 ตารางเมตรต่อคน ไปให้ถึง 9 ตารางเมตรต่อคน ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ นอกเหนือจากความสำคัญในเชิงสุขภาพคนเมืองแล้ว สีเขียวยังมีความสำคัญของการสร้าง Branding ให้แก่เมืองด้วย รัฐบาลต้องการดึงดูดบริษัทชั้นนำของโลกมาลงทุนที่ กทม. ที่เมืองต่างๆ ของไทย แต่หากเขาเห็นตัวเลขพื้นที่สีเขียวที่น้อย เขาคงจินตนาการได้ถึงคุณภาพอากาศ คุณภาพชีวิต ในยุคสมัยที่ผู้คนใส่ใจสุขภาพ สภาพแวดล้อมเมืองที่ไม่ดีมันไปลดทอนความน่าดึงดูดในการลงทุน” ผศ.ดร.นิรมล เล่าถึงความสำคัญของการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง

“หากคนเมืองสามารถใช้ชีวิตด้วยการเดินได้มากยิ่งขึ้น มีทางมีสะพานที่เชื่อมเมือง เชื่อมชุมชน ที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยก่อเกิดประโยชน์ ช่วยลดการใช้รถยนต์ ลดการใช้น้ำมัน เพราะฉะนั้นหากสามารถเดินในเมืองได้มากยิ่งขึ้น เมืองก็จะลดคาร์บอนจากรถยนต์ได้ ลดภาวะเรื่องของฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ต้นกำเนิดมาจากรถยนต์” 

ผศ.ดร.นิรมลเล่าอีกว่า หน่วย Urban Intelligence ของ UddC ได้ทำการศึกษา หากโครงการสวนลอยฟ้าสร้างเสร็จ จะทำให้ค่าคะแนนการเข้าถึงโดยการเดินเท้าในย่านรัตนโกสินทร์-ฝั่งธนบุรีเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า จาก 49% เพิ่มเป็น 76% ก็ถือเป็นตัวเลขที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเกิดขึ้นของสวนลอยฟ้าทำให้ผู้คนสามารถเดินถึงจุดหมายปลายทางได้ง่ายกว่าเดิม ไม่ว่าจะไปเรียน ไปทำงาน ไปท่องเที่ยวหรือการจับจ่ายใช้สอย และอื่นๆ อีกนานัปการ

“พอมีโครงข่ายที่เชื่อมถึงกัน ทำให้การเข้าถึงโดยเท้าเพิ่มขึ้นเยอะมาก แปลว่าโอกาสที่เข้าถึงก็จะมีมากตามไปด้วย นักท่องเที่ยวจะเข้าไปเที่ยวในชุมชนเพิ่มขึ้น เราอยากให้มองเห็นว่ามันดีขนาดนี้เลยนะ ลดการจราจรได้เท่าไร ลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไร” 

“หากเราขี่จักรยานจากฝั่งธนฯ จากย่านกะดีจีน-คลองสาน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านสวนลอยฟ้า (แบบจูงผ่าน) ทะลุออกประตูสะพานโอสถานนท์ เลียบคลองผ่านหลังศาลรัฐธรรมนูญ ทะลุเข้าพาหุรัด เราจะสามารถถึงย่านเยาวราช -เจริญกรุงช่วงปลายได้ภายใน 15 นาที หากเดินก็อาจจะใช้เวลา 30 นาที แต่ก่อนก็นั่งรถเมล์หลายต่อ นี่ไง 15-Minute City แบบนโยบายนายกเทศมนตรีนครปารีสที่จะให้ผู้คนเดินทางถึงจุดหมายภายในเวลา 15 นาทีด้วยการเดิน จักรยาน และขนส่งมวลชน กรุงเทพฯ ก็มีได้ ก็เริ่มเป็นช่วงๆแบบนี้ ทำไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งก็ครบ” 

“สรุปท้าย สิ่งที่เราทำคือการปรับโครงสร้างเมืองให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างย่าน ชุมชน บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด ศาสนสถาน ด้วยทางเดินเท้า ทางจักรยาน ทางสีเขียว หมุดหมายแรกได้ปักลงแล้วในพื้นที่ที่เรียกได้ว่าสำคัญที่สุดของแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ คือส่วนปลายของหัวแหวนเกาะรัตนโกสินทร์อันเป็นที่ตั้งของสวนลอยฟ้า พวกเราก็ขอขอบคุณ กทม. กทพ. ทช. และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนอีกครั้ง สำหรับความหวังและความเป็นไปได้ใหม่ของเมืองที่เป็นจริงขึ้นมาได้ในที่สุด” ผศ.ดร.นิรมล ทิ้งท้ายไว้ถึงความสำเร็จที่เห็นได้จากโครงการสวนลอยฟ้าแห่งนี้

พื้นที่สาธารณะในความหมายใหม่

คุณกชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกหัวเรือใหญ่ของ LANDPROCESSได้ให้ความเห็นว่าสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาแห่งนี้ถือเป็นความท้าทายในการออกแบบ เพราะเต็มไปด้วยโจทย์ใหม่ที่ให้ทีมได้ทดลองทำ

“จริงๆ แล้วหน้าที่ของภูมิสถาปนิกไม่ใช่แค่เป็นคนเอาต้นไม้ไปวางในพื้นที่เหลือ แต่เรากับสถาปนิกและทีมทั้งหมดมีโจทย์ว่าจะทำยังไงที่จะให้สะพาน 8 เมตร ยาว 280 เมตรนี้เกิดประโยชน์สูงสุดในรูปแบบของพื้นที่สาธารณะ”

“เรามีแนวความคิดเรื่อง ใช้วิธีการ double space แล้วสอดประสานการใช้สอย จึงเป็นที่มาว่า ที่ว่างจะต้องมีมากกว่าหนึ่งระดับ จุดเด่นของที่นี้คือเรื่อง วิว เพราะว่าจะมีเรื่องมุมมองเข้ามา และพิกัดของสะพานที่รอบๆ เป็นย่านที่มีประวัติศาสตร์มากมาย เช่น สะพานพุทธฯ, พระบรมราชานุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์ฯ และสะพานพระปกเกล้า รวมถึงวัดวาอารามต่างๆ จะใส่ใจกับรายละเอียดเรื่องมุมมองกลางสะพาน ผืนนำ้และผืนฟ้า และ skyline เมือง เรารู้สึกว่าถ้าเราไปอยู่บนสะพานเราก็คงไม่อยากเห็นรถวิ่ง 

“เราจึงยกโครงสร้าง เพื่อมุมมอง และจะพอดีกับดินที่ต้นไม้จะขึ้น เราจะต้องคิดผนวกการรับน้ำหนักของโครงสร้างไปด้วย สิ่งหนึ่งที่ท้าทายมากในการออกแบบงานนี้ก็คือโครงสร้างนั้นขึ้นไปไม่ได้ คือเรารู้ว่ามันแข็งแรงพอ แต่มันถูกทิ้งร้างมา 30 ปี เรื่องน้ำหนักหรือแม้แต่ดินที่จะหนาได้ไม่มาก เพราะเรา double โครงสร้างทั้งสะพานแล้ว ต้นไม้ โครงสร้าง นำ้หนัก อยู่บนความคาดเดาบนหลักการ ก็เป็นงานที่ท้าทายดี

“สะพานนี้จะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เราเลยออกแบบให้เหมือน amphitheater หรืออัฒจันทร์ที่จะนั่งชมพระอาทิตย์ขึ้น จริงๆ มันจะเป็น sunrise amphitheater และ sunset amphitheater บวกกับต้องทำเป็นทางเดินคนด้วย เป็นทางจูงจักรยานข้ามสะพานด้วย มันมีโปรแกรมหรือพื้นที่ใช้สอยเหล่านี้ที่เราคิดร่วมกับสถาปนิก ในโจทย์ที่ทาง UddC-CEUS ให้ เช่น อยากจะเชื่อมชุมชน เป็น pedestrian bridge แต่ว่าถ้าเราคิดโจทย์เท่านั้น มันก็คงจะเป็นสะพานเดินทั่วไป แต่สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา คือสวนสาธารณะประเภทใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นอยู่บนโครงสร้างทิ้งร้างกว่า 30 ปี เราอยากสร้างเอกลักษณ์ที่เรียกได้ว่าต้องมาตรงนี้เท่านั้น ถ้ามากรุงเทพฯ ก็จะต้องมาที่สะพานนี้ เหมือนเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งหนึ่ง”

สวนลอยฟ้าที่ไม่เหมือนที่ไหน

คุณกชกร เล่าให้ฟังถึงประเด็นจากสาธารณะที่ถูกตั้งคำถามจากภาพของสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาแห่งนี้ที่อาจไม่ตรงกับที่หลายคนคิดได้อย่างน่าสนใจ

“เรื่องที่หนึ่งคือ คนจะชอบคิดว่าเป็นสวนทำไมถึงไม่มีต้นไม้ใหญ่อย่างต้นจามจุรี หางนกยูง หรือต้นอื่นๆ จริงๆ แล้วสวนสาธารณะในเมืองนั้นมีหลากหลาย mood & tone ที่ตอบสนองรูปแบบการใช้สอยของย่านของคนเมืองที่ต่างกัน เช่น เราไปวิ่งสวนลุมพินีก็จะได้อารมณ์นึง พอเราไปสวนจุฬาฯ 100 ปี ก็จะได้อีกอารมณ์นึง เป็นเรื่องการสร้างคาแรกเตอร์ในเมือง ไม่จำเป็นว่าสวนทุกสวนจะต้องมีคาแรกเตอร์เหมือนกัน 

“เมื่อเราต้องการสร้างคาแรกเตอร์ของสวนสาธารณะบนสะพาน มุมมองเป็นเอก เพราะการมองพระอาทิตย์ขั้นและตก เราคงไม่ต้องการการบดบัง บวกกับการเลือกต้นไม้และข้อจำกัดเรื่อง แนวเขตทางที่ปลอดภัย และข้อจำกัดของตุ้มดิน หนึ่งในไม้ประธานที่เลือกคือ ต้นมะกอก ทำไมดิฉันถึงเลือกต้นนี้ ลองทายดู (‘มันชื่อคล้ายๆ บางกอก’) ค่ะ มีคนเล่าว่าบางกอก อาจจะมาจากลุ่มน้ำที่มีอยู่กลาดเกลื่อนในเมืองนี้ ว่าเมืองบางกอก แม้จะไม่เห็นแล้วในวันนี้ เราก็จะมีต้นมะกอกน้ำที่ฟอร์มมันได้ตามต้องการ เป็นต้นไม้พื้นถิ่นที่ไม่ผลัดใบไม่ทิ้งใบทั้งต้น ได้ทั้งคาแรกเตอร์และชื่อด้วย ส่วนต้นไม้อื่นๆ ที่เลือกก็จะหลากหลายเพราะอาจให้ต้นไม้ในเมืองมีความหลากหลายให้กับเมืองมากกว่า ชาข่อย ก็เลือกไม้ที่ทนและ อนาคตในเมืองเราอาจจะเห็นความน่าจะเป็นของพืชพรรณ อื่น เช่น ใบต่างเหรียญ ต้นรัก หญ้าหนวดแมว มีไม้ดอกบ้าง ยี่โถ ชงโค ต้องติ่ง เอื้องหมายนา เพื่อเอาใจคนถ่ายรูปหน่อย แต่ก็จะเป็นไม้ดอกที่ให้ประโยชน์กับผึ้ง กับนก ที่ต้องกินผล กินลูก กินใบ สะพานคนข้ามก็ดี แต่ก็หวังว่ามันจะสร้าง micro habitate  ที่ แมลงกรุงเทพฯ กับแมลงฝั่งธนฯ อาจจะได้มาเจอกันมากขึ้น อาจจะเป็นสะพานที่มีประโยชน์เชิงนิเวศเมืองก็เป็นไปได้

แต่ต้องยอมรับว่า ทาง กทม. ก็มีส่วนร่วมและมีข้อจำกัดในการดูแลรักษา ต้นไม้บางชนิดก็ต้องปรับเปลี่ยนโดยผู้ดูแล ตามกาลความเหมาะสม และความคุ้นชินคงต้องเปิดใจยอมรับ ในฐานะผู้ออกแบบ

“เรื่องที่สองคือข้อจำกัดที่มากมาย พูดกันในส่วนเชิงโครงสร้าง ดิฉันคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือประสบการณ์ เมื่อขึ้นไปบนสะพานมันคือเรื่องของมุมมอง คุณอยากจะมีกิ่งไม้มาบังการมองเห็นวิวหรือเปล่า เพราะบนสะพานจะเป็นมุมมองโล่งๆ เหมาะแก่การมองพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกที่สวยมากๆ อีกอย่างคือพื้นที่มีความกว้างแค่ 8 เมตร เราจะปลูกต้นไม้ยื่นไปโดนรถก็ไม่ได้ กิ่งไม้หักลงไปก็ไม่ได้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักอย่างปริมาณดิน ปริมาณต้นไม้ ที่จะสามารถใช้ได้บนสะพาน ดิฉันพูดว่าเป็นสวนสาธารณะก็จริง แต่เป็นสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งมีเราอาจจะหวังให้เป็นเหมือนสวนสาธษรณะบนดิน หรือสวนบนโครงสร้างที่ถูกออกแบบใหม่ คงไม่ใช่เสน่ห์และเรื่องราว ที่มาที่ไป ของสวนแห่งนี้

พื้นที่สาธารณะคงจะไม่สามารถตอบโจทย์แบบสิ่งที่เราเคยประสบมา เพราะ นี้คือที่แรกเพราะยังไม่เคยปลูกต้นไม้กลางช่องลม กลางแม่น้ำ และข้อจำกัดค่อนข้างท้าทายมาก แดด ลม ฝน พายุ กิ่งก้านที่มาบดบังวิวทิวทัศน์ เรายังไม่ต้องการกิ่งก้านที่จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยบนท้องถนนด้วย

“อีกประเด็นที่คนก็บอกว่ากลัวจะร้อน เราต้องจำกัดความก่อนว่า สวนสาธารณะแห่งนี้เสน่ห์คือที่กินลมชมวิว ไม่ใช่แค่เพียงการเดินให้ร่มที่สุดให้ไวที่สุดจาก a ไป b ถ้าเราจะสร้างหลังคาทางเดินคลุมสะพาน คงหลงประเด็น เราก็จะไม่ได้เห็นวิวที่มันสวยที่สุด คำว่า กลางสะพาน บนสะพานจะหายไป โดยเฉพาะแสงยามเช้า และยามเย็นที่ อยากให้ลองไปดูนะคะ

ในแง่การใช้พื้นที่สาธารณะ คนไทยไม่ใช้พื้นที่กลางแจ้งตอนกลางวัน ปริมาณต้นไม้ที่มีข้อจำกัด เราพยายามมีให้ได้มากที่น้อยที่สุดที่ยังรู้สึกเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวเป็นสวนสองฝั่งเข้าด้วยกัน และปริมาณที่จะยังไม่สูญเสียการใช้สอยทางการสัญจรและ การนั่งชมวิว

สวนนี้อาจจะไม่ใช่ที่ที่จะมานั่งแช่นาน นาน ซึ่งก็พอมีจุดที่เป็นพื้นที่ร่มให้นั่งอยู่บ้าง ประเด็นก็คือ ถ้าเรามีร่มเงามาก นั่งนาน อาจเป็นที่มัวสุม การออกแบบที่ลับตาแทบจะไม่ให้เกิด เพื่อลดปัญหา vadalism

ถ้าอยากจะได้อะไรเขียวๆ ก็ต้องลงมาสวนด้านล่าง แต่ถ้าอยากจะขึ้นไปดูพระอาทิตย์ขึ้น วิ่งดูวิว ก็คงมาไม่ผิดที่ ที่นี่ไม่ใช่สวนสาธารณะที่มีพื้นที่สีเขียวเป็นหลัก เหมือสวนบนดิน ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา

“อีกสิ่งหนึ่งที่อยากทำความเข้าใจ อย่างในวันแรกๆ ที่เปิดใช้งาน เราจะเห็นได้ว่า งานสถาปัตยกรรมจะสวยที่สุดในวันนั้น แต่ภูมิสถาปัตยกรรมจะดูไม่ดีที่สุด เพราะว่าเราต้องล้อมต้นไม้ เพิ่งย้ายต้นไม้มาปลูก ก็จะเห็นต้นไม้ที่จะเป็นต้นเล็กๆ เพราะเราจะไม่ล้อมต้นไม้ต้นใหญ่จากป่ามาเพื่อปลูกบนสะพาน แต่พอถึงเวลาต้นไม้โต ความงามก็จะเปลี่ยนไปทุกวัน ซึ่งจะสวยขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอายุเยอะ ภูมิสถาปัตยกรรมก็จะยิ่งเพิ่มความงาม แต่ความงามสถาปัตยกรรมก็จะลดลงไปตามเวลา อยากให้คนเข้าใจตรงนี้ เพราะทุกครั้งที่มีการเปิดงาน ผู้คนจะคาดหวังว่าต้นไม้จะต้องสวยต้องโต มันนี้ผิดอยากปรับเปลี่ยนความเข้าใจ การเลือกเอาต้นไม้เล็กมาเพื่อให้โต เพื่อปรับตัวให้เก่ง ไม่ใช่เลือกเอาต้นไม้จากป่ามาเพื่อให้ดูสวยเพียงพิธีเปิด แต่ก็ไม่มีการเติบโตอย่างเต็มที่ ในอนาคต”

สีเขียวที่ไม่ได้หมายถึงแค่ต้นไม้

ในสายตาภูมิสถาปนิก คุณกชกรยังมองว่าสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาคืองานออกแบบที่ตอบโจทย์เรื่องพื้นที่สีเขียวในเมือง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเดียวกับที่ ผศ.ดร.นิรมล มองไว้

“ด้วยความที่เป็นภูมิสถาปนิก การออกแบบพื้นที่สีเขียวเราก็ใส่ต้นไม้ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ใช้ไม่ได้กับสวนสาธารณะชิ้นนี้ ข้อจำกัดก็มีเรื่องน้ำหนักและเรื่องอื่นๆ อย่างที่เล่าให้ฟัง คำว่าเขียวจึงอาจจะไม่ใช่เต็มไปด้วยต้นไม้ แต่มันคือเขียวสำหรับสิ่งแวดล้อมและคนเดิน เป็น walkable city มันก็จะเป็นตัวอย่างที่ไปแตะได้หลายมุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องเมืองเดินได้เมืองเดินดี เราก็จะมีส่วนขับเคลื่อนในการสร้างเมืองที่มันเดินได้ดีขึ้น อาจจะมีระบบนิเวศขนาดเล็กสำหรับแมลงขนาดเล็กให้เชื่อมโยงกันได้ การ reuse โครงสร้างทิ้งร้างก็ช่วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อีกด้วย

“สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาน่าจะเป็นโครงการที่จุดประกายให้เห็นศักยภาพของโครงสร้างทิ้งร้างหรือการตั้งคำถามกับเมืองว่าตึกเก่าๆ โครงสร้างเก่าๆ ที่เราไม่ได้ใช้ เราสามารถจะปรับเปลี่ยนได้ไหม ทุกอย่างไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ก็ได้ เพราะคอนกรีตก็เป็น carbon footprint ที่เราสามารถ upcycle โครงสร้างได้เหมือนกัน เราใช้คำว่า adaptive reused wasted infrastructure หรือ gray infrastructure ให้กลายเป็น green infrastructure ได้ยังไง

“สะพานนี้มีลิฟต์ขึ้นสำหรับผู้พิการ มีทางเดินสำหรับสัญจรข้ามไปมา โยงวัฒนธรรมให้เชื่อมถึงกัน มีจุดนั่งที่มุมต่างๆ สามารถมองวิวได้ 360 องศา มันจึงเป็นสะพานสำหรับคน ไม่ใช่สะพานสำหรับขับรถ เราจะช่วยกันลดการเบียดเบียนธรรมชาติ ลดการใช้น้ำมัน ลดภาระของขนส่งมวลชน เพราะฉะนั้นการเดินก็ทำให้เมืองลดคาร์บอนจากรถยนต์ได้ มันมีแต่ได้กับได้ คือสุขภาพของเมือง ตอนนี้ที่เมืองเป็นแบบนี้ เมืองมีฝุ่น คนเป็นมะเร็งตาย มันไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วเป็น คือมีเหตุผลมาจากพื้นที่ที่เราอยู่ล้วนๆ พอมีพื้นที่สีเขียวที่มาตอบโจทย์ช่วยเรื่องจิตใจ ผ่อนคลาย คนได้ออกกำลังกาย แล้วมันยังช่วยมิติเรื่องของสุขภาพโดยที่เราไม่รู้ตัว มิติในเรื่องของการทำให้ผึ้งไม่สูญพันธุ์ ทำให้ห่วงโซ่อาหารยังดีอยู่ ทำให้ฝุ่นมีตัวช่วยกรองก่อนที่มันจะมาถึงจมูกเรา 

“จริงๆ อาจจะเกี่ยวกับเรื่องแหล่งอาหารของเมืองด้วยก็ได้ คือพื้นที่สีเขียวมันอาจจะไม่ใช่แค่เอาไว้ดู พืชพันธุ์ที่แทรกเข้าไปบนสะพาน ก็จะมีทั้งไม้ดอก ไม้กินใบกินดอก มีความหลากหลายมากกว่าที่เราเดินตามถนนทั่วไป คนอยู่ใกล้ๆ ป่า เขาจะภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าคนเมือง เขาจะปรับตัวกับไวรัสตัวนั้นตัวนี้ที่มีอยู่ในธรรมชาติได้ง่ายกว่าคนเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราอ่อนแอ

“การมีพื้นที่สีเขียวจึงไม่มีข้อกังขาเลยว่ามันจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น คือมีเท่าไรก็ไม่พอ จะมากจะน้อย ขอให้มาช่วยกันให้เพิ่มเติมตามขนาดคน และเมืองที่น่าอยู่ของเราและคนในรุ่นต่อต่อไป” คุณกชกรกล่าวทิ้งท้ายกับเราถึงประเด็นพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร

ออกแบบใหม่ให้ร่วมสมัย

คุณจักรดาว นาวาเจริญ สถาปนิกจากบริษัท N7A และ สถาปนิกใน ‘โครงการกรุงเทพฯ 250’ จะมาเป็นผู้ไขข้อสงสัยและอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการพลิกฟื้นโครงสร้างสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาให้ตอบโจทย์ทั้งในด้านการออกแบบและการก่อสร้าง

“จริงๆ แล้วต้องย้อนไปนิดนึง โครงการในลักษณะสวนสาธารณะข้ามแม่น้ำเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นทั่วโลกแต่ปัจจุบันไม่มีที่ไหนสร้างสำเร็จ ปัญหาคือความเป็นไปได้ (Feasibility) การสร้างสะพานที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่มีราคาแพง ยิ่งเป็นสวนสาธารณะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยทำได้จริง ที่เห็นได้จะมีลักษณะของทางเดินเท้า (Pedestrian) เช่น Millennium Bridge ของ Norman Foster แต่ถ้าเป็นงานระบบของสวนจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ที่โครงการนี้เกิดขึ้นได้เพราะโครงสร้างสะพานมีอยู่แล้วประกอบกับงบประมาณที่ต้องใช้เพิ่มไม่สูง ทาง N7A และ Landprocess ก็ร่วมงานกับ UddC-CEUS ได้แนวความคิดของสะพานขึ้นมาโดยเราตั้งคำถามว่าการสร้างสวนข้ามแม่น้ำจะเป็นไปได้หรือเปล่า

“โจทย์ที่ได้มาตอนแรกนั้นยากมาก โครงสร้างเดิมถูกสร้างมาสำหรับโครงการรถไฟฟ้า ข้อจำกัดอย่างแรกคือตำแหน่งของโครงการอยู่ระหว่างทางรถวิ่งเป็นถนน 3 เลนทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้ทางเดินข้ามสะพานนี้ค่อนข้างแคบ แต่ว่าตำแหน่งของโครงการก็เป็นข้อได้เปรียบ สามารถมองเห็นทั้งสะพานพุทธและวัดอรุณฯ ได้ แต่ถูกแนวจราจรบนสะพานพระปกเกล้าบังอยู่ เสียงการจราจรก็ดังและอากาศค่อนข้างร้อน ประกอบกับโครงการลักษณะนี้มักเป็นที่สนใจของผู้คน ความท้าทายจึงเป็นความยากในเชิงอัตลักษณ์ด้วย รวมทั้งต้องเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เราจะแก้ปัญหาบริบทตรงนี้อย่างไร” คุณจักรดาวเกริ่นถึงโจทย์ที่ได้รับ ก่อนจะอธิบายถึงงานออกแบบทีละขั้นตอน

ภาพโดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร และ โครงการกรุงเทพฯ 250

“อันดับแรก เราต้องหารูปร่างและรูปทรงของที่ว่างให้ได้ก่อน เราต้องยกพื้นสูงขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น Brooklyn Bridge มีการยกทางเดินเท้าขึ้นมาสูงโดยข้างใต้เป็นรางรถไฟ แต่โครงการของเราด้วยงบประมาณและพื้นที่ไม่ได้ใหญ่ขนาดที่จะสร้างขึ้นมาอีกชั้น แต่อย่างน้อยๆ ในโครงการต้องมีช่วงหนึ่งที่ทางเดินยกสูงขึ้นมา 

“อันดับ 2 อัตลักษณ์ความร่วมสมัยเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องการทำงานให้ถูกใจคนส่วนมากและคนรุ่นใหม่ เราคิดว่างานนี้ต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เยอะมาก เราต้องหาสิ่งที่ไม่ล้าสมัยเกินไป พยายามหาภาษาที่ร่วมสมัย ทั้ง Flow ทางเดิน การสร้างคอนเซปต์บางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องหาสัญลักษณ์ความเป็นไทยที่มากเกิน เราพยายามหาสิ่งที่ละเอียดอ่อนกว่า สิ่งที่คนปฏิเสธได้ยาก เช่น สวน ต้นไม้ ซึ่งเป็นความชอบสากล นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างของสะพานพุทธคอยกำกับซึ่งเราไม่จำเป็นต้องไปเลียนแบบโครงสร้างเดิม ความคิดร่วมสมัยมันมีเรื่องของ Topological Form เป็นการไหลของที่ว่างระหว่างรูปทรงของภูมิทัศน์กับรูปร่างของงานสถาปัตยกรรม ที่จะประสานไปด้วยกัน เราดูรูปร่างโครงสร้างของสะพานพุทธที่เป็นวงโค้ง เรามองว่ามันคล้ายๆ เป็นเนินและน่าจะนำรูปทรงตรงนี้มาใช้ ประกอบกับเราต้องการพื้นที่ที่ยกสูงขึ้นมาด้วย ตำแหน่งของทางเดินที่ยกขึ้นยกลงก็จะสัมพันธ์กับตำแหน่งวงโค้งของโครงสร้างสะพานพุทธ

“อีกเรื่องที่น่าสนใจคือด้วยความกว้างของสะพานไม่ถึง 10 เมตร ยาว 280 เมตร เป็นช่วงสั้นของแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าเราขึ้นไปแล้วเดินไปตรงๆ มองเห็นฝั่งตรงข้ามเลยจะไม่น่าเดินเท่าไร เราจึงหาวิธีการเพิ่มระยะทาง ในเชิงการใช้งานคุณจะเดินข้ามตรงๆ ก็ได้ แต่ถ้าคุณต้องการพักผ่อน คุณจะค่อยๆ เดิน มี Flow โค้งไปโค้งมา ประกอบกับเนินขึ้นลง

“พอได้แนวความคิดที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มันจึงเริ่มเกิดเป็นเส้น เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในลักษณะของเนินไขว้ไปมา เกิดเป็น 2 แกน 2 ทางเลือกให้ผู้ใช้งานที่เดินทอดน่องสามารถขึ้นมาดูวิวในระดับที่สูงกว่าหลังคารถ กับผู้ที่ใช้งานเร็วๆ เช่น ผู้ใช้จักรยานเดินจูงจักรยาน เป็นการออกแบบที่ทันสมัยในสายตาคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันเราก็เคารพอัตลักษณ์รอบๆ เพื่อไม่ให้โครงการแปลกแยกออกจากบริบท นอกจากนี้ การที่เรามองไม่เห็นฝั่งตรงข้ามและมีเส้นโค้งทางเดินที่ซ่อนอยู่ทำให้ไม่รู้ระยะที่แท้จริง จึงทำให้มีระยะที่เพิ่มขึ้นมาในความรู้สึกของเรา”

ความท้าทายของการก่อสร้าง

“การออกแบบเริ่มตั้งแต่ปี 2558 แต่การก่อสร้างจริงๆ ใช้เวลาแค่ปีเดียว ความท้าทายคือเราไม่สามารถจอดรถบนสะพานพระปกเกล้าแล้วใช้เครนยกวัสดุข้ามมาได้ เราไม่สามารถเอาปั๊มปูนขึ้นไปหล่อคอนกรีตด้านบนได้ วัสดุทุกชิ้นต้องใช้คนขนขึ้นไป เราจึงต้องใช้ระบบถอดวัสดุเป็นชิ้นๆ แล้วขึ้นไปประกอบ เริ่มตั้งแต่โครงสร้างส่วนใหม่ที่เป็นโครงสร้างเหล็ก เราต้องตัดขึ้นไปประกอบข้างบน

“เรามีโจทย์ว่าทำยังไงให้วัสดุชิ้นหนึ่งๆ ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เช่น เป็นทั้ง Barrier กำหนดขอบเขตของสวน เป็นตัวบังสายตา เป็นตัวปกป้องคนเดินกับรถที่วิ่งอยู่โดยเฉพาะในจุดวิกฤต วัสดุที่เลือกใช้ควรจะกันเสียงได้บางส่วน เป็นกระบะปลูกต้นไม้ได้ และมีน้ำหนักเบาเพราะเราไม่สามารถเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ได้ เราต้องการลักษณะแพทเทิร์นที่ดูไม่แข็ง เลยเกิดไอเดียของการใช้ GRC Block เป็นวัสดุหลักทั้งหมด มาประกอบกันเป็นบล็อกต่างๆ เช่น บล็อกสำหรับปลูกต้นไม้ บล็อกที่ใช้เป็นราวกันตกที่เอาเหล็กหรือท่อมาเสียบได้”

ส่วนประเด็นเรื่องการดูแลรักษานั้น คุณจักรดาวเสริมว่าลักษณะของวัสดุเปลือยจะมีความเก่าในตัวมันเอง ตอนนี้ GRC Block อาจยังดูขาวแต่ผ่านไปจะอมส้ม อมเหลืองมากขึ้นเรื่อยๆ ผสานไปกับวัสดุทางเดินและกลมกลืนไปกับงานภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อให้นึกถึงแนวความคิดความงามของสิ่งที่ไร้กาลเวลาและความไม่สมบูรณ์แบบ 

“สำหรับเรื่องระบบน้ำนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าแม้ว่าเราจะอยู่ติดกับแม่น้ำ เราไม่สามารถสูบน้ำมาใช้ได้เลยเนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปากอ่าว ค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาในบางช่วงสูงมาก เราไม่สามารถนำไปรดต้นไม้ได้ เราจึงเลือกระบบท่อน้ำที่ใช้น้ำน้อยและเก็บน้ำไว้บางส่วนไม่ต่างจากสวนทั่วไปในกรุงเทพฯ

“เรื่องความปลอดภัยเป็นอีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก เราศึกษาตั้งแต่ความสัมพันธ์เรื่องระยะกับความเร็วของรถ ในด้านผู้ขับขี่ถ้าหากหันมามองจะเกิดอันตรายอะไรหรือเปล่า และสำหรับผู้ใช้งาน เราจะมีราวกันตกซึ่งคำนวณจากระยะปลอดภัยเป็นหลัก หากไกลจากถนนราวกันตกจะไม่สูงมากและจะถูกกั้นด้วยพุ่มต้นไม้ หากเป็นส่วนของเนินที่ไขว้กันและด้านล่างติดถนนตรงนี้จะเป็นรั้วสูง บางช่วงสูงขึ้นไป 2-3 เมตร เพื่อป้องกันคนโยนของหรือทำของตกลงไปโดยไม่ตั้งใจ เกิดเป็นรูปร่างของราวกันตกที่มีสูงมีต่ำ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับราวกันตกของสะพานโดยทั่วไป ราวกันตกของสวนลอยฟ้าเจ้าพระยานี้ถือว่าปลอดภัยกว่า นอกจากนี้เราติดตั้งกล้องวงจรปิด และมีเวลาเปิดปิดที่แน่นอน แต่ระหว่างสะพานพระปกเกล้ากับสวนลอยฟ้ายังคงมีช่องซึ่งไปปิดไม่ได้ แต่จากมาตรการข้างต้น รวมถึงการสอดส่องดูแลของผู้ใช้บริการก็ทำให้การเดินบนสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาปลอดภัยกว่าการเดินข้ามสะพานปกติ

สู่เป้าหมายของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กรุงเทพมหานคร

คุณจักรดาวมองว่าโครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาคงถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นมุมถ่ายรูปมุมหนึ่งที่สำคัญของกรุงเทพฯ แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงของสวนแห่งนี้เกิดมาเพื่อรองรับความต้องการของชุมชนในละแวกนั้น และสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือการได้เห็นคนกรุงเทพฯ ออกมาใช้พื้นที่สาธารณะกันมากขึ้น ตามแผนงาน ‘กรุงเทพฯ 250’ ด้วยการพัฒนาย่านให้น่าเดิน สร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชน สร้างจุดขาย โดยเริ่มจากคนในชุมชนที่ออกมาใช้งานก่อน โดยโครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาจะมีการเชื่อมกันตั้งแต่ย่านกะดีจีน-คลองสานไปจนถึงบริเวณคลองโอ่งอ่างให้คนในชุมชน นักเรียน สามารถเดินถึงกันหรือจะขี่จักรยานเป็นพื้นที่สีเขียวต่อเนื่องกันก็ได้

ท้ายที่สุด โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาถือเป็นสวนสาธารณะกลางน้ำแห่งแรกของโลกซึ่งน่าสนใจมากพอจะดึงดูดให้คนตั้งใจมาดูสถานที่จริง สามารถนำไปประชาสัมพันธ์ทั้งในเชิงรูปถ่าย นวัตกรรม เป็นพื้นที่เป้าหมายของกรุงเทพฯ และประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง ทั้งนี้ ในอนาคตคงจะมี Facility อื่นๆ รองรับ เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ หรือธุรกิจที่ใช้ตึกเก่ามารีโนเวตเป็น Hidden Places ที่เกิดขึ้นตามซอกหลืบของเมืองจนเกิดการบอกเล่าปากต่อปาก ทำให้คนออกมาใช้ชีวิตในเมืองมากขึ้น โดยปัจจุบันสามารถนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปได้ทำให้เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การกระจายตัวของคนเมืองออกจากย่านเดิมๆ

“โครงการนี้เปรียบเสมือนหอกอันหนึ่งซึ่งยังต้องการอีกมากมาย แต่อย่างน้อยๆ น่าจะดึงดูดความสนใจของผู้คนจนเห็นว่าเมืองเป็นเรื่องสนุก เมืองมีอะไรให้ค้นหา ต่างกับการจัดกิจกรรมแบบชั่วคราว แต่นี่คือ Infrastructure ของเมืองที่อย่างน้อยๆ คนก็ต้องข้ามไปข้ามมา เป็นทั้งแลนด์มาร์ก เป็นสิ่งประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไปทั่วโลก สื่อถึงวิธีการคิดของสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ซึ่งหากประสบความสำเร็จรวมถึงได้รับการผลักดัน คนรุ่นใหม่ๆ ก็สามารถเข้ามาสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับเมืองของพวกเราต่อไปในอนาคตได้ง่ายขึ้น” คุณจักรดาวกล่าวทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง

จากสะพานด้วนทิ้งร้าง ถูกต่อยอดให้เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรกของไทย สะพานที่มาเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง  สะพานที่นำสิ่งเก่าไร้ประโยชน์มาสร้างประโยชน์  สะพานที่จะเชื่อมเมือง เชื่อมชุมชน และเชื่อมสวน เพื่อให้เมืองเกิด mobility มากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า และผู้คนสามารถเดินได้เดินดีอย่างเต็มศักยภาพ ในอนาคต เราอาจจะได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองดีๆ ที่ลงตัวมากขึ้นกว่าเดิมก็อาจจะเป็นไปได้ 

พระอาทิตย์ตกวันนี้สวยไหม ใครกำลังมองวิวอยู่บนสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา อย่าลืมถ่ายรูปมาอวดกันบ้าง


Contributor