01/11/2019
Environment
ย้อนรอยกรุงเทพฯ 12 ปี เราเป็นเมืองน้ำท่วมกี่ครั้ง กี่ครากันแน่?
The Urbanis
ความที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ทำให้กรุงเทพฯ เป็นดั่งศูนย์กลางของสถาบันต่างๆ ทั้งการปกครอง การศึกษา การคมนาคม โดยเฉพาะเศรษฐกิจ คงหลีกเลี่ยงได้ยากที่ใครหลายคนจะเปรียบกรุงเทพฯ เป็นดั่งหัวใจหลักของประเทศ กระทั่งหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมมากกว่าพื้นที่อื่น
อย่างไรก็ตาม อย่างที่เราเคยกล่าวไว้ในบทความที่แล้ว หากมองกรุงเทพฯ ในเชิงภูมิศาสตร์จะพบว่า กรุงเทพฯ เป็นดั่งพื้นที่รับน้ำที่ไหลมาจากทุกทิศทาง ฉะนั้นชะตากรรมกรุงเทพฯ จำต้องเผชิญหน้ากับมวลน้ำมหาศาลทุกปีเป็นเรื่องปกติ เราจึงมักได้ยินเสียงบ่นของมนุษย์กรุงเทพฯ ว่า “กี่ปีๆ น้ำก็ท่วมอยู่ดีนั่นแหละ”
ด้วยความสงสัยของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เราจึงไปสืบค้นข้อมูลเพื่อย้อนเวลากลับไปดูในระยะ 12 ปีที่ผ่านมาว่า แท้จริงแล้วมหานครกรุงเทพฯ เผชิญหน้ากับสภาวะน้ำท่วมมาแล้วกี่ครั้งกี่ครากันแน่? ก่อนที่ปี 2560 นี้ กรุงเทพฯ จะต้องเผชิญหน้ากับมันอีกครั้ง
จากข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบว่า สภาวะน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครย้อนหลัง 12 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – 2559 กรุงเทพฯ จมน้ำเพียง 5 ปีเท่านั้น โดยมีการท่วมต่อเนื่อง 4 ปีคือช่วง พ.ศ. 2553 – 2556 และรุนแรงสุดในปี พ.ศ. 2554 โดยแบ่งการท่วมในแต่ละปีดังนี้…
ปี 2549
สภาวะน้ำท่วมปี 49 เริ่มจากเหตุการณ์ฝนตกผิดปกติในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาไม่สามารถอุ้มน้ำฝนได้ ประกอบกับในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ที่พายุช้างสารเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกิดน้ำท่วมอย่างหนักเป็นบริเวณกว้าง
ขณะที่กรุงเทพฯ ต้องพบกับสภาวะฝนถล่มในขั้นวิกฤต วัดค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนได้ถึง 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ตกหนักสุดในเขตบางซื่อซึ่งวัดได้ถึง 110.5 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ระบบระบายน้ำท่วมของกรุงเทพฯ สามารถรองรับได้เพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เมื่อมวลน้ำเหนือไหลมาผสมโรงกับปริมาณน้ำฝน จึงไม่แปลกที่กรุงเทพฯ จะเกิดน้ำท่วมขังถึงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่แอ่งกระทะรับน้ำบริเวณด้านตะวันออกได้รับผลกระทบหนักสุด
ปี 2553
สาเหตุน้ำท่วมปีนี้เกิดจากอิทธิพลของสภาพอากาศที่มีร่องมรสุมกำลังแรงจากปรากฏการณ์ลานีญาที่มาเร็วกว่าปกติ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นจนเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันและน้ำป่าไหลหลาก ประกอบกับน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณมากจนต้องเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มวลน้ำมหาศาลจึงเอ่อล้นออกจากแม่น้ำเข้าท่วมหลายจังหวัดเป็นต้นมาไล่จนถึงกรุงเทพฯ แม้เขื่อนเจ้าพระยาจะพยายามปล่อยน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อชะลอน้ำไหลเข้ากรุงเทพฯ แต่สุดท้ายมวลน้ำก็ยังเดินทางมาถึงเราอยู่ดี โดยท่วมขังบริเวณแอ่งกระทะฝั่งตะวันออกเช่นเดิม คือ เขตหนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา มีนบุรี สายไหม สะพานสูง และคันนายาว ตามลำดับ
ปี 2554
นับเป็นปีที่สภาวะน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี จนสื่อหลายๆ สำนักเรียกว่า ‘มหาอุทกภัย’ความรุนแรงครั้งนี้กินเวลาท่วมทั้งประเทศนานกว่า 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมก่อนจะสิ้นสุดกลางเดือนมกราคม มีรายงานว่าราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท และจัดให้เป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย ทั้งนี้สาเหตุน้ำท่วมหลักมาจากปัจจัยธรรมชาติที่ฝนที่มาเร็วกว่าปกติ และปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ย 35%
ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สรุปรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า เรามีพื้นที่ประสบภัยจำนวน 36 เขต จาก 50 เขต แต่ในความจริงตามข้อมูลของ GISTDA พบว่ากรุงเทพฯ ท่วมทุกเขต เพียงแต่มี 23 เขตที่ท่วมต่ำกว่า 20% ของพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ ‘ไข่แดง’ ย่านเศรษฐกิจ อาทิ เขตปทุมวัน, บางรัก, สาธร, ดินแดง, พญาไท ฯลฯ เพราะ กทม. และรัฐบาลพยายามปกป้องไว้อย่างสุดความสามารถ ระดมเครื่องสูบน้ำมาดักไว้ไม่ถึงพื้นที่เศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตัวให้กับคนทั้งประเทศในการตั้งคำถามต่อปัจจัยตัวใหม่อย่างการบริหารจัดการน้ำว่า แท้จริงแล้วปัญหาน้ำท่วมเกิดจากความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน หรือความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกันแน่?
ปี 2555
จากความรุนแรงเมื่อปี 54 ทำให้รัฐบาลจริงจังในการบริหารจัดการน้ำมากขึ้น แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างสภาพอากาศก็เป็นจุดเริ่มต้นของสภาวะน้ำท่วมในปีนี้
หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2555 ว่า มีสาเหตุต่างจากปี 2554 ที่มีน้ำเหนือมหาศาลหลากลงมา เพราะปีนี้จะเกิดจากร่องมรสุมและพายุผิดปกติ ซึ่งทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเริ่มมีความชัดเจนช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหลังกรมอุตุนิยมวิทยาออกแถลงการณ์ระบุถึงร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง เฉพาะในกรุงเทพมหานครก็มีฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังทั้งหมด 16 จุด อาทิ เขตทวีวัฒนา, ดินแดง, บางพลัด และสามเสน ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออกได้รับผลกระทบจากมวลน้ำเหนือมาผสมเล็กน้อย
ปี 2556
ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ ปัจจัยหลักของสภาวะน้ำท่วมยังเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์และภูมิอากาศในร่องมรสุม โดยปี 2556 นี้ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชันจำนวนมาก กระทั่งกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ “ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย” เพื่อให้เฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้น
มวลน้ำเหนือขนาดใหญ่บวกกับปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก ทำให้ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นสร้างความเสียหายหลายพื้นที่ในภาคกลางตอนล่างเป็นวงกว้าง เช่น สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา หรือปทุมธานี ที่ต้องจมอยู่ใต้บาดาลเป็นเวลานาน ขณะที่ตัวเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ รอดพ้น แต่เมืองชั้นนอกฝั่งตะวันออก ได้แก่ มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา ซึ่งเป็นเขตแอ่งกระทะจนเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเหมือนเดิม
ปี 2560
ครั้นสิ้นสุดฤดูฝนก็เข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลากประมาณเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม จนถึงต้นปีถัดไป ช่วงเวลานี้แหละ ถือเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์กรุงเทพฯ หวั่นใจต่อสภาวะน้ำท่วมเป็นอย่างมาก ยิ่งหากมีสภาพอากาศแปรปรวนก็ยิ่งระทึกใจทวีคูณ เพราะแค่ฝนตกถล่มคืนวันที่ 13 ตุลาคมคืนเดียว ก็ทำให้พระนครจมอยู่ใต้บาดาลกันแล้ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปีนี้ว่า เนื่องจากประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนตาลัส เซินกา พายุไต้ฝุ่นทกซูรี และพายุดีเปรสชั่น ในทางสถิตินับว่ามีปริมาณน้ำฝนรวมสะสมใกล้เคียงกันกับปี 2554 (1,798 มิลลิเมตร) แต่รัฐบาลยืนยันว่า น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน เพราะได้พยายามบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมตามช่วงเวลา และมีแผนการดูแลเยียวยาตามความเหมาะสมอย่างดีที่สุด
ณ วันนี้กรุงเทพฯ รับมือกับมวลน้ำได้ประมาณหนึ่งแล้ว แต่จังหวัดโดยรอบยังคงจมน้ำอยู่วันยังค่ำ
12 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ น้ำท่วมเพียง 5 ครั้ง ทว่าต่างจังหวัดกลับต้องเผชิญหน้ากับน้ำท่วม ‘ทุกปี’ นี่อาจสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของกรุงเทพฯ ที่หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญมากกว่า คำถามทิ้งท้ายของเราคงไม่ใช่แค่ว่ากรุงเทพฯ จะท่วมอีกครั้งหรือไม่? แต่เราอยากตั้งคำถามถึงความใส่ใจของรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม มากกว่าการไล่ให้คนต่างจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมไปเปลี่ยนอาชีพเป็นทำการประมงนั่นเอง
อ้างอิง:
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมภาคกลาง (ก.ย. – ต.ค. 49), โดย Thaiwater , สืบค้นวันที่ 10 มกราคม 2560
บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณภาคกลาง(ตุลาคม 2553), โดย Thaiwater, สืบค้นวันที่ 12 มกราคม 2560
บันทึกเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554, โดย Thaiwater, สืบค้นวันที่ 12 มกราคม 2560
อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553, โดย Wikipedia, สืบค้นวันที่ 13 มกราคม 2560
อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554, โดย Wikipedia, สืบค้นวันที่ 13 มกราคม 2560
อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2555, โดย Wikipedia, สืบค้นวันที่ 13 มกราคม 2560
แก้น้ำท่วม กทม.ตามรอยพ่อ, โดย ลม เปลี่ยนทิศ, สืบค้นวันที่ 15 มกราคม 2560
ฝนถล่มทั้งคืนคนกรุงอ่วมน้ำท่วมขังหลายจุด ‘วิภาวดี-สุขุมวิท’จม พระนครฝนสูงสุด 200 มม., โดย ข่าวสดออนไลน์, 14 ตุลาคม 2560, สืบค้นวันที่ 15 มกราคม 2560
ดาวเทียมเผยภาพปริมาณมวลน้ำ พื้นที่ท่วมหนักล่าสุด อยุธยา สุพรรณบุรีอ่วม เขื่อนป่าสักเตรียมปล่อยน้ำเพิ่ม, โดย ข่าวสดออนไลน์, 25 ตุลาคม 2560, สืบค้นวันที่ 15 มกราคม 2560
นักภัยพิบัติหวั่น กทม. ท่วมปลาย ก.ย. นี้, โดย Kapook, สืบค้นวันที่ 16 มกราคม 2560
เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมกทม.และปริมณฑล, โดย Sanook, สืบค้นวันที่ 16 มกราคม 2560
คสช. เผย ปริมาณน้ำปีนี้ใกล้เคียงกับปี 54, โดย Mthai, สืบค้นวันที่ 16 มกราคม 2560
กทม.ปลอดภัยชั้นในรอด ชั้นนอกชุ่ม, โดย หนังสือพิมพ์โพตส์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2556 , สืบค้นวันที่ 12 มกราคม 2560