01/11/2019
Environment

อดีตที่ไม่มีกรุงเทพฯ และอนาคตที่ ‘อาจ’ ไม่มีอีกครั้ง

The Urbanis
 


เคยได้ยินมาว่า กรุงเทพฯ เปรียบเสมือนเมืองที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะในทางธรณีวิทยากรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณตอนล่างที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเกิดจากดินตะกอนแม่น้ำที่ไหลมาทับถมพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นพื้นที่ดินใหม่ เหมือนดั่งปากแม่น้ำสำคัญหลายๆ แห่งบนโลก อาทิ แม่น้ำอิระวดีในพม่าที่ตะกอนพัดมาสะสมทำให้แผ่นดินงอกออกไปในทะเลปีละประมาณ 55 เมตร หรือแถบแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรตีส ที่สมัยก่อนเมืองโบราณชื่ออัวร์อยู่ติดทะเล แต่ปัจจุบันอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน 240 กิโลเมตร ฉะนั้นพื้นดินกรุงเทพฯ ที่เรากำลังอาศัยอยู่ จึงเป็นพื้นดินใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นจากตะกอนทับถมเมื่อไม่นานมานี้

เช่นเดียวกับรายงานแผนที่ธรณีวิทยาของกรุงเทพฯ ในปี 2559 จากกรมทรัพยากรธรณีประเทศไทยที่พบว่า แผ่นดินส่วนใหญ่เป็นตะกอนดินเหนียวที่ราบน้ำท่วมถึง เจาะสำรวจพบเศษเปลือกหอยทะเล ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวในบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากกระบวนการทำงานของทะเล โดยเฉพาะเขตที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลขึ้นและลง (Tidal Zone) และมีความหนามากในบริเวณที่ใกล้ชายฝั่งทะเลปัจจุบัน เป็นเครื่องการันตีได้ว่าสภาพแวดล้อมอดีตของกรุงเทพฯ (หมายรวมถึงจังหวัดภาคกลางบางส่วน) เคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อน!

จะว่าไปนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะกล่าวว่า แต่เดิมกรุงเทพฯ เคยเป็นทะเลมาก่อน เรามีหลักฐานยืนยันประเด็นนี้มากมาย ทั้งการขุดพบซากหอยทะเลโบราณที่วัดเจดีย์หอย จังหวัดปทุมธานี หรือแม้กระทั่งการขุดพบศีรษะปลาวาฬ ณ พระราชวังเดิมในฝั่งกรุงธนบุรี

ประเด็นนี้ต้องไล่ย้อนถึงประวัติศาสตร์โลกที่มีช่วงอบอุ่น และช่วงยุคน้ำแข็งสลับกันไป โดยเริ่มจากเมื่อ 1,000 ปีก่อนที่โลกยังอยู่ในช่วงอบอุ่น (Medieval Warm Period) ตรงกับประวัติศาสตร์ไทยช่วงสมัยทวารวดีก่อนก่อตั้งกรุงสุโขทัย ความร้อนของโลกทำให้น้ำแข็งละลายออกมาจำนวนมาก แม้แต่เกาะกรีนแลนด์ที่ปัจจุบันมีแต่น้ำแข็งยังกลายเป็นเขตอบอุ่นให้ชาวไวกิ้งเข้าไปตั้งรกรากทำการเพาะปลูกในบริเวณนั้นได้ โดยน้ำที่เพิ่มสูงมากขึ้นทั่วโลกทำให้อ่าวไทยกินพื้นที่จังหวัดภาคกลางจมอยู่ใต้ทะเล เหมือนดั่งภาพแผนที่บริเวณอ่าวไทยโบราณสมัยที่ยังไม่มีแม้กระทั่งประเทศไทย 

/var/folders/p2/_4cfnlf97mggf8nhfyzxxj2h0000gn/T/com.microsoft.Word/WebArchiveCopyPasteTempFiles/map_0.jpg
ภาพแผนที่อ่าวไทยสมัยก่อน (ภาพจาก Paipibat)

ต่อมาโลกเริ่มเย็นลงจนเข้าสู่ช่วงยุคน้ำแข็งย่อย (Little Ice Age) น้ำทะเลเริ่มจับตัวเป็นน้ำแข็งอีกครั้ง ระดับน้ำทั่วโลกจึงค่อยๆ ลดลง ประกอบกับการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายร้อยปี ทำให้เกิดพื้นแผ่นดินใหม่ในภาคกลางตอนล่าง โผล่ขึ้นเหนือระดับน้ำทะเลในยุคกรุงสุโขทัย และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรไทยจวบจนถึงปัจจุบัน

ภาพเปรียบเทียบการเกิดพื้นดินใหม่บริเวณภาคกลาง (ภาพจาก UddC)

กลับมายังโลก ณ ตอนนี้ เราได้กลับเข้าสู่ช่วงอบอุ่นอีกครั้ง กราฟความร้อนพุ่งทะยานเร็วขึ้นอย่างรวดเร็วจากสภาพเรือนกระจก ทำให้น้ำแข็งทั่วโลกเริ่มละลาย มีรายงานว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราประมาณ 3.2 มิลลิเมตร/ปีเลยทีเดียว 

สภาพการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลในลักษณะนี้ จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่วัฏจักรเดิมจะกลับมา ทำให้เราชาวกรุงเทพฯ มีแนวโน้มกลับลงสู่ใต้ทะเลอีกครั้ง เห็นได้จากชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งพื้นที่ติดอ่าวไทยส่วนหนึ่งบริเวณนั้นจมลงทะเลไปบ้างแล้ว 

วัดขุนสมุทรจีนที่จมอยู่ทะเล ก่อนได้รับการป้องกันด้วยแนวกำแพง (ภาพจาก Thai-Blogs )

ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเมืองกรุงเทพฯ ยังมีการทรุดตัวเร็วกกว่าปกติอีกด้วย เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมามีการสูบน้ำใต้ดินจำนวนมหาศาล ประกอบกับน้ำหนักของอาคารสิ่งก่อสร้างที่กดทับลง พื้นดินใหม่ของกรุงเทพฯ จึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้ไหว ทำให้ตัวเมืองทรุดลงเฉลี่ย 1-2 เซนติเมตรทุกปี

เมื่อนำทุกองค์ประกอบมาประกอบกัน ทั้งน้ำทะเลที่ค่อยๆ สูงขึ้นมาจากสภาวะโลกร้อน บวกกับตัวเมืองกรุงเทพฯ ที่ค่อยทรุดตัวลง ระยะเวลาผ่านไป 50 ปีก็อาจทำให้กรุงเทพฯ อยู่ในระดับปริ่มน้ำทะเลได้ และถ้าหากระยะเวลาผ่านไป 100 ปีโดยไม่มีการจัดการใดๆ เช่น เรียนรู้ที่อยู่กับน้ำแบบเมืองเวนิส หรือสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมแบบยั่งยืนอย่างเมืองอัมสเตอร์ดัมฯลฯ กรุงเทพฯ ก็เสี่ยงจะจมน้ำทะเลในระดับ 1 เมตร และนั่นอาจเป็นชะตากรรมกรุงเทพฯ ที่ต้องจมน้ำถาวรในอนาคตอันไกล แสนไกล

ท้ายที่สุด กรุงเทพฯ คงไม่จมน้ำทะเลในเร็ววันนี้หรอกครับ อยู่ที่ว่าปัจจุบันภาครัฐจะมีมาตรการเตรียมการป้องกันสำหรับอนาคตไว้อย่างไร มิใช่แค่ป้องกันปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากรายปีเพียงอย่างเดียว ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นในอนาคต เราหวังว่ากรุงเทพฯ จะต้องหาหนทางแก้ไขป้องกันได้อย่างยั่งยืน แล้วคนกรุงเทพฯ รุ่นลูก-รุ่นหลาน ก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ปกติเสียที

อ้างอิง:

รายการจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีกรุงเทพมหานคร 2550 โดย กรมทรัพยากรธรณี 

ภูมิศาสตร์3เหลี่ยมปากน้ำเจ้าพระยา โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ วันที่ 9 มกราคม 2560

ชัวร์ก่อนแชร์ : เตือนปี 2563 กรุงเทพฯ จมบาดาลจริงหรือ?  โดย ชัวร์ก่อนแชร์ Sure And Share วันที่ 24 มกราคม 2560


Contributor