24/03/2020
Economy
แรงงานนอกระบบ ชีวิตที่แสนเปราะบาง
นาริฐา โภไคยอนันต์
“ทุกเช้าหนี้สินก็เพิ่มไปเรื่อยๆ รายจ่ายก็ยังรออยู่ตอนสิ้นเดือน”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้สังคมได้รับรู้ความเปราะบางของเหล่าคนทำงานนอกระบบมากขึ้น ทั้งคนทำงานรูปแบบเศรษฐกิจกิ๊กเวิร์กเกอร์ (gig worker) ฟรีแลนซ์ คนที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา (part-time) คนเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากค่าจ้างขั้นต่ำ การลาป่วย หรือประกันสุขภาพที่จะช่วยได้ในยามวิกฤติ
เป็นที่รับรู้กันดีว่า อาชีพคนหาเช้ากินค่ำ ลูกจ้างรายวันที่ได้ค่าจ้างแค่พอประทังชีวิตกำลังเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ ด้วยสถานะบุคคลชายขอบของสังคม ทั้งการเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันสังคมนอกจากบัตรประกับสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ถึงแม้จะมีประกันสังคม ม.40 สำหรับผู้ทำอาชีพอิสระก็ตาม แต่ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าเป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) คือ การะบาดอย่างเป็นวงกว้างไปทั่วโลกนั้น หน้าที่ของรัฐบาลคือการให้การรักษา และประชาชนมีสิทธิในการป้องกันโรค การคัดกรอง และการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน
แต่ถึงอย่างนั้น นอกเหนือจากการรักษาตามสิทธิที่พึงจะได้ สิ่งที่แรงงานนอกระบกำลังเผชิญคือ รายจ่ายที่ไม่เคยลดน้อยลง ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าอาหารของสมาชิกในครอบครัวไปจนถึง ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัวเองที่แสนจะหายาก ณ เวลานี้ อย่าง หน้ากากอนามัย หรือ เจลแอลกกอฮอล์ ทุกอย่างล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
นิยามของแรงงานนอกระบบ คือ แรงงานที่ทํางานแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทํางาน ดังเช่นแรงงานในระบบ ปัจจุบันแรงงานนอกระบบถือเป็นแรงงานกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ผลจากการสำรวจแรงงานนอกระบบล่าสุดในปี 2562 ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ ระบุว่า กรุงเทพมหานคร มีแรงงานนอกระบบร้อยละ 26.3 เป็นพนักงานภาคบริการกว่าร้อยละ 60.9 หรือประมาณ 4.58 ล้านคน คนกลุ่มนี้ คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสก่อนใครเพราะภาคบริการในกรุงเทพมหานครนั้นเป็นแรงงานหลักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักลงมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563
ทำงานอิสระ บทแพลตฟอร์มก็ไม่รอด
ก่อนที่จะเกิดวิกฤติ เหล่าคนทำงานผ่านแพลตฟอร์มหรือกิ๊กเวิร์กเกอร์ไม่ว่าจะเป็น ขับรถขนส่งอาหาร รถรับส่งผู้โดยสาร แม่บ้านทำความสะอาดรับงานจากแพลตฟอร์ม หรือแม้เแต่เหล่าครีเอทีพ กราฟฟิคดีไซน์ ที่รับงานเป็นโปรเจค กำลังเป็นกลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยีในการสร้างโอกาสได้มากกว่าและกำลังมีการเติบโตสูง ด้วยความคล่องตัวและยืดหยุ่นจากการทำงานที่ไม่ต้องยึดโยงผูกติดกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในเมื่อทุกที่สามารถรับงานและสร้างรายได้
การเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างโรคระบาดก็ส่งผลกระทบต่อเหล่าคนทำงานในกิ๊กเวิร์กเกอร์ม่ต่างจากคนหาเช้ากินค่ำ เพราะการป่วยไข้ไม่เลือกอาชีพ ไม่เลือกสถานะ ไม่เลือกพื้นที่ ตามปกติการทำงานผ่านแพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการดูแลหรือสวัสดิการเทียบเท่ากับแรงงานในระบบอยู่แล้วโดยเฉพาะสวัสดิการสุขภาพอย่าง การลาป่วย เป็นต้น นี่อาจกำลังเป็นผลกระทบที่รุนแรงสำหรับเหล่าคนทำงานผ่านแพลตฟอร์ม
ความรับผิดชอบจากนายจ้างบริษัทแพลตฟอร์ม Gig Worker อันดับต้นของฝั่งตะวันตก
หนังสือพิมพ์ New Yok Times ได้ทำการสำรวจ สถานะของเหล่าคนทำงานกิ๊กเวิร์กเกอร์ในบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Uber และ Lyft ที่ได้ให้ความหมายของการทำงานในบริษัทของตนเองว่า เป็นการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ก็ยังเจอกับปัญหานี้เช่นกัน ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำไปทุกอาชีพเช่นนี้ จากการสัมภาษณ์กับคนขับรถส่วนบุคคลร่วมโดยสาร (Ride – Hailing Service) กว่า 20 คน ที่ให้บริการจัดส่งอาหารในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่าผลกระทบจากการแพร่กระจายของ COVID-19 นั้นทำให้รายได้ของคนงานกิ๊กลดลงและหลายคนยังไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิการสุขภาพ
การปลดหรือเลิกจ้างพนักงานส่งผลให้คนงานร้านค้าปลีก สายการบิน โรงแรมร้านอาหารและฟิตเนส ต้องปิดสถานบริการชั่วคราว ในขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขทุกประเทศต่างประกาศคำแนะนำให้ ทิ้งระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันผู้คนจากไวรัส แต่เหล่าบรรกากิ๊กเวิร์กเกอร์ยังคงต้องทำงานใกล้ชิดกับคนอื่นเพื่อหารายได้มาเลี้ยงชีพ ทั้ง การขับรถขนส่งอาหาร พนักงานขับรถโดยสาร
ในสหรัฐอเมริกา บริษัทกิ๊กขนาดใหญ่อย่าง uber และ lyft ได้ออกมาตรการช่วยพนักงานด้วยการให้หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และจ่ายค่าชดเชยรายได้ 14 วัน หากพนักงานพบว่าตัวเองติดโรคร้ายแรงนี้และจำเป็นต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน รวมทั้งยังมีนโยบาย “งดการติดต่อ” เมื่อส่งอาหารให้กับลูกค้าด้วยการแขวนอาหารไว้ที่ประตูบ้าน นี่คือตัวอย่างความรับผิดชอบต่อพนักงานในธุรกิจแพล์ตฟอร์มเลยก็ว่าได้
ถึงแม้หลายประเทศจะออกมาตรการเยียวยาพนักงานที่ธุรกิจบริการต้องหยุดชะงักหรือได้ผลกระทบ เช่น สหราชอาณาจักรออกมาตรการจ่ายรายได้ชดเชย 80 %ของเงินเดือน แต่ขณะเดียวกันเหล่าบรรดา กิ๊กเวิ์กเกอร์ หรือคนทำอาชีพอิสระ กลับไม่ได้เข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือ ตัวอย่างการรวมกลุ่มของเหล่าศิลปิน ครีเอทีฟ นักดนตรีที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานบันเทิงในแคนาดาหรือสหราชอาณาจักรต่างอออกมาเรียกร้องมาตราการเยียวยาและเกิดการรวมกลุ่ม ตัวอย่างเช่น หน่วยงาน Independent Professionals and the Self Employed (ISPE) ที่เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาให้กับเหล่าฟรีแลนซ์หรือคนที่เป็นนายจ้างตัวเองได้มีการเขียนจดหมายถึงเลขาธิการสาธารณสุขถึงการคำนึงถึงการขาดรายได้ของฟรีแลนซ์และข้อเรียกร้องในการจัดตั้งกองทุนบรรเทาสาธารณภัยสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อครอบคลุมการสูญเสียรายได้ จนมีการประกาศใช้มาตรการเยีวยาที่ว่า “สำหรับทุกคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ซึ่งหมายรวมถึงผู้ที่ทำงานเป็นเจ้านายตนเองสามารถเข้าถึงเครดิตสากลในอัตราที่เทียบเท่ากับการจ่ายเงินตามกฎหมายสำหรับพนักงานได้ หรือ ประมาณ 95 ปอด์นต่อสัปดาห์
สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมากในประเทศไทย หากยังขาดการคำนึงถึงความเป็นธรมในการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานและความเสี่ยงที่ต้องแบกรับไว้ รัฐจำเป็นต้องทบทวนและคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำที่กำลังขยายความกว้างมากขึ้น ถึงแม้ตอนนี้คนทำงานอิสระจะใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพได้อยู่ โดยเฉพาะงานขับรถส่งอาหารกำลังเป็นตัวช่วยในยามที่ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม กักตัวอยู่ที่พักแต่ไม่ควรชะล่าใจกับความเสี่ยงที่แลกมากับรายได้ ในเมื่อประเทศไทยยังขาดมาตรการเยียวยารองรับและชัดเจนของชีวิตนอกระบบที่แสนเปราะบางในสังคมนี้
บทความ “แรงงานนอกระบบ ชีวิตที่แสนเปราะบาง” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดย กัญรัตน์ โภไคยอนันต์
ที่มา : nytimes.com/2020/03/18/technology/gig-economy-pandemic.html
https://www.thansettakij.com/content/columnist/416461
NSO.GO.TH
https://www.ipse.co.uk/ipse-news/news-listing/coronavirus-ipse-activity-and-advice-freelancers.html