22/03/2021
Economy

การพัฒนาย่านนวัตกรรม: กรณีศึกษา CyberTech District กรุงเทพฯ

สิตานัน อนันตรังสี
 


ความท้าทายของการพัฒนาย่านนวัตกรรมในทุกวันนี้ คงหนีไม่พ้นโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้นวัตกรรมและเมืองถูกรวบเข้ามาไว้ด้วยกัน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวในการบรรยาย MUS x UDDC International Lecture Series 2021 ไว้ว่า นวัตกรรมที่เรามักคุ้นเคยกันดีที่สุดนั่นก็คือ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (product innovation) อย่าง smartphone และ smart gadgets ต่าง ๆ และ นวัตกรรมด้านกระบวนการ (process innovation)

หากในส่วนของกรอบแนวคิดสำหรับย่านนวัตกรรมที่วิทยากรได้นำเสนอนั้น Area Base Innovation (ABI) ถือได้ว่าเป็นจักรวาลสำคัญของการริเริ่มพัฒนาย่านนวัตกรรม ซึ่ง ABI มีลักษณะที่มีความซับซ้อนซึ่งต้องอาศัยทักษะจากหลากหลายสหสาขาวิชามารวมเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ มีองค์ประกอบพื้นฐาน 5 องค์ประกอบ ได้แก่  1) achieve paradigm shift 2) attract investment 3) create job for future 4) improve quality of life และ 5) distinguished and show case

ย่านนวัตกรรม (Innovation District) คืออะไร

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า ในฐานะคนธรรมดา ย่านคือที่เราสามารถเดินได้และมีการกำหนดขอบเขตชัดเจน แต่ประเทศไทยมีข้อกำจัดในเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ร้อน การคำนึงแค่เป็นย่านที่เดินได้อาจไม่ตอบโจทย์ในบริบทไทย

วิทยากรจึงได้นิยามคำว่า “ย่านนวัตกรรม” ว่าหมายถึง ย่านที่เป็นมีการรวมตัวกันของคนและการสร้างงาน ซึ่งต้องมีความหนาแน่นของกิจกรรมทางนวัตกรรม และต้องมีการร่วมมือกันในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความการของคนในพื้นที่

โดยมี 3 องค์ประกอบสำคัญคือ 1) economic assets หมายถึง องค์การหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านเจาะจงเพื่อสนับการสร้างสภาพแวดล้อมของย่านนวัตกรรม 2) physical assets คือ พื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ จากรัฐและเอกชน และ 3) network assets คือ องค์ประกอบที่เป็นนามธรรมแต่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ของแต่ละตัวแสดงของย่านวัตกรรมเข้าด้วยกัน เช่นความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุนกับผู้อยากเริ่มต้นธุรกิจในกรุงเทพ NIA ได้มีพัฒนาพื้นที่สำหรับย่านนวัตกรรมอยุ่หลายแห่ง เช่น Medical  Knowledge Quarter ย่านโยธี, Central Innovation District ย่านลุมพินี, Community Based Innovation ย่านคลองสาน และ Bangkok Cybertech District ย่านปุณณวิถี

Bangkok Cybertech District ย่านปุณณวิถี

NIA ได้ร่วมมือกับ True Digital Park พัฒนา Bangkok Cybertech District ย่านปุณณวิถี เมื่อปี 2017 ตอกย้ำความสำคัญขององค์ประกอบหลักของย่านนวัตกรรมในอนาคตอันใกล้ โดยมุ่งที่จะแก้ปัญหาของการพัฒนา startup unicorn ซึ่งการมีย่านนวัตกรรมนี้จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี Cybertech นี้ต่อมายังได้รับการร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น บางจาก และ bitech เป็นต้น

เป้าหมายของย่านนี้คือการเป็น “Tech Corridor Promote Technology Collaboratives Activities In The Area” ที่ตั้งอยู่บน 4 ฐานคิดหลักที่ครอบคลุมทุกมิติของการใช้ชีวิต ได้แก่ Work Live Play&Support และ Learn และเนื่องด้วยข้อจำกัดที่คุณพันธุ์อาจระบุมาตอนต้นในเรื่องของอากาศที่ร้อนของกรุงเทพ NIA ก็ได้ทำการแบ่งโซนย่านนวัตกรรมแห่งนี้เป็น 3 โซน เพื่อที่จะนำมาสร้างยุทธศาสตร์ที่มีความเฉพาะเจาะจงในพื้นที่

การบรรยาย “การพัฒนาย่านนวัตกรรม: กรณีศึกษา CyberTech District กรุงเทพฯ” โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ทำให้เห็นได้ถึงวิธีการดำเนินงานของหน่วยงานสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ก่อให้เกิดย่านนวัตกรรมสำหรับสังคม ซึ่งมีความซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานด้วยกัน เพื่อพัฒนาให้โครงการมีความสมบูรณ์ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ได้ครบทุกมิติ และยังมีความสามารถในการดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้เข้ามาสร้างงาน สร้างอาชีพในพื้นที่นั้นได้

หมายเหตุ : บทความเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยาย MUS X UDDC INTERNATIONAL LECTURE SERIES 2021 : Urban Regeneration Strategy EP.01 “การพัฒนาย่านนวัตกรรม: กรณีศึกษา CyberTech District กรุงเทพฯ” โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564

ท่านสามารถรับฟังย้อนหลังได้ทาง https://www.facebook.com/276255902507371/videos/770144606943665

การบรรยายสาธารณะ MUS X UDDC INTERNATIONAL LECTURE SERIES 2021 เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ Master of Science on Urban Strategies (MUS) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 4 มีนาคม – 4 พฤษภาคม 2564 ร่วมดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสื่อใหม่ Thai PBS และ The Urbanis


Contributor