13/03/2020
Economy

care economy เศรษฐกิจของเมืองผู้สูงอายุและการเตรียมตัวแก่

The Urbanis
 


จากสถิติผู้สูงอายุของประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ของกรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่า มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น ร้อยละ 16.73 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่า ประเทศไทยในตอนนี้กำลังก้าวสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่การเป็น สังคมสูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) ในอีกไม่ช้า

เมื่อกลับมาดูสัดส่วนผู้สูงอายุในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร พบว่า กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด คือ ร้อยละ 18.78 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดในจังหวัด นั่นหมายความว่า หากเปรียบเทียบกรุงเทพฯเป็นหนึ่งประเทศย่อม ๆ พลเมืองชาวกรุงเทพก็กำลังเผชิญการเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์เช่นกัน 

แล้วจำนวนผู้สูงอายุส่งผลอย่างไรต่อเมือง?

ผู้สูงอายุก็นับว่าเป็นหนึ่งในประชากรของเมือง ซึ่งก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่ก็คือ พี่ ป้า น้า อา ลุงข้างบ้าน อากงที่เราเจอในสวนสาธารณะ หรือคุณยายที่รอรถสาย 40 อยู่ที่ป้ายรถเมล์ เมื่อมานั่งพิจารณาดูแล้ว ผู้สูงอายุก็คือกลุ่มคนใกล้ตัวที่คนเมืองสามารถพบเห็นได้ทั่วไป และอีกไม่นาน พ่อแม่ของเราก็จะต้องขยับขึ้นไปเป็นประชากรในกลุ่มนั้น และหลังจากนั้นไม่เกินสามสี่สิบปี ตัวหนุ่มสาวในวัยปัจจุบันนี้เองก็จะกลายเป็นประชากรในกลุ่ม “สูงอายุ” ด้วยเช่นกัน

ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ชี้ให้เห็นภาพใหญ่ของเศรษฐกิจการดูแลภายในเมืองว่า “เมือง” คือพื้นที่ที่มีอุปสงค์ของการดูแลสูงและอุปทานของการให้การดูแลต่ำอันเนื่องมาจาก aged society และมากไปกว่านั้น อุปทานของการให้การดูแลยังต่ำลงไปอีก ด้วยทัศนคติหรือแนวคิดการดูแลที่เปลี่ยนไปในแต่ละ generation ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวยึดเหนี่ยวคุณค่าของการให้การดูแลระหว่างรุ่นก็คือ “ความสัมพันธ์” (relationship) ที่มีต่อกัน

นอกจากนี้ “เมือง” เองก็เป็นส่วนที่บั่นทอน “ความสัมพันธ์” แบบดั้งเดิมให้แตกสลายลงเช่นกัน คุณค่าของการให้การดูแลที่เคยตั้งอยู่บนฐานของความสัมพันธ์ครอบครัวแบบต่างตอบแทนกำลังพังทลายลงอย่างช้า ๆ ด้วยแนวคิดของการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แนวคิดวัตถุนิยม และสภาวะการแข่งขันที่โหมกระพืออยู่ในเมืองใหญ่ นักสังคมวิทยา Georg Simmel กล่าวถึงสภาวะ blasé attitude ที่เกิดจากความไม่คงที่ของความเป็นเมือง ไว้ใน The Metropolis and Mental Life (1903) สภาวะดังกล่าวของ Simmel คือการที่ปัจเจกแต่ละคนมีแนวคิดว่าจะต้องปกป้องตนเองไว้ก่อน ต้องเอาตัวเองให้รอดเสียก่อน ในสถานการณ์เช่นนี้การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวก็อาจกลายเป็นภาระได้

จากการศึกษาของโครงการวิจัยเชิงสังเคราะห์เพื่อการพัฒนาระบบบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (hospice care) ในประเทศไทย โดย อ.ภาวิกา และคณะ ได้ยกภาพตัวอย่างของประสบการณ์ผู้ป่วยระยะท้าย ที่สามารถนำมาสะท้อนประเด็นของความเป็นเมือง เงื่อนไขและบริบททางสังคมของลูก การให้การดูแล และความต้องการของผู้สูงอายุ ให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นได้ ดังนี้

“ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่อายุ 70 ปี ในยุคนั้นการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ยังไม่เกิดขึ้นในไทย การรักษาทำได้แต่เพียงกินยาไปเรื่อย ๆ เท่านั้น ผู้ป่วยมีลูก 3 คน ต่างก็อายุ 40 ปีขึ้นไป และมีหน้าที่การงานเพียบพร้อมเจริญรุ่งเรือง ด้วยความที่มีเชื้อสายจีน ผู้ป่วยจึงรักลูกชายคนโตและลูกสาวคนเล็กมาก โดยเฉพาะลูกสาวคนเล็กที่ผู้ป่วยวาดฝันให้มาดูแลตน 

ด้วยอาชีพรับราชการของลูกสาว ทำให้ไม่มีเวลาที่ยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรับหน้าที่ดูแล ประกอบกับลูกสาวกำลังก้าวหน้าในอาชีพ หลายครั้งมีงานประชุมเร่งด่วนกับผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถผละออกได้ ปัญหาหน้าที่เรื่องการดูแลผู้เป็นแม่จึงเริ่มเกิด แม้ว่าลูกชายทั้งสองจะมีธุรกิจส่วนตัวก็ตาม แต่พวกเขาก็บ่ายเบี่ยงและคิดว่าให้ลูกสาวทำหน้าที่ในการดูแลแม่จะเหมาะสมกว่า ท้ายที่สุด ด้วยสถานการณ์บีบบังคับ สุดท้ายลูกชายคนโตจึงรับผู้ป่วยมาอยู่ที่บ้าน และคอยอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างเท่าที่ผู้ป่วยคนหนึ่งจะต้องการได้

ลูกชายคนโตอำนวยความสะดวก ทั้งด้านสถานที่ เงินทอง ความรัก แต่ไม่สามารถให้ “การดูแล” ที่ต้องอาศัยความใกล้ชิด (intimacy of care) เช่น อาบน้ำเช็ดตัว หรือพาเข้าห้องน้ำได้ ลูกชายใช้วิธีการจ้างผู้ดูแลแทน ซึ่งไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของผู้เป็นแม่ได้  นอกจากนี้การอยู่ในบริบทของเมืองทำให้ผู้ป่วยอาศัยอยู่แต่ในบ้าน ไม่มีชุมชนรอบข้าง ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับใคร นอกจากลูก ๆ ที่แวะเวียนกันมาเท่านั้น ท้ายที่สุดผู้ป่วยก็ถูกทำให้โดดเดี่ยวจากสังคม เป็นอย่างนี้ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผู้ป่วยอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และค่อย ๆ แตกหักลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจจนกระทั่งเสียชีวิต”

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นจากเรื่องราวข้างต้น คือการต่อรองระหว่างเงื่อนไขหลากหลายประการที่มีข้อจำกัด ได้แก่ (1) “คุณค่า” ของการดูแลคืออะไร เช่น ใช่การอำนวยความสะดวกหรือไม่ หรือความใกล้ชิดอย่างอาบน้ำเช็ดตัว หรือ การให้เวลา ความรัก เงินทอง  (2) “ควร” หรือหน้าที่ของการดูแล เช่น การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวของตนหรือในสังคมควรเป็นความรับผิดชอบแบบหนึ่งหรือไม่ และ (3) “ใคร” จะเป็นผู้ให้การดูแล เช่น ลูกสาวหรือลูกชาย คนโตหรือคนเล็ก คนที่รายได้น้อยกว่าหรือมากกว่า หรือความเชื่อที่ว่าเพศหญิงดูแลดีกว่าเพศชาย เงื่อนไขทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดหน้าตาของการดูแลและรูปแบบการดูแลที่จะเกิดขึ้น เช่น จะดูแลเองหรือจะจ้าง ถ้าจ้างแล้วจะจ้างใคร จะดูแลที่บ้าน โรงพยาบาล หรือ nursing home หรือการเปลี่ยนแปลงของแนวคิดความกตัญญูที่ท้ายที่สุดต่างคนต่างก็ต้องพึ่งพาตัวเอง เพราะลูกก็มีเส้นทางชีวิตเป็นของตน

จากประสบการณ์ศึกษาวิจัยที่ผ่านมา อ.ภาวิกา ตั้งข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันพบเห็นผู้สูงอายุที่ป่วย ขาดคนดูแล หรืออาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในชุมชนหรือโรงพยาบาลมากขึ้น ข้อสังเกตอีกประการคือ ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ต้องลาออกจากงานมาทำหน้าที่ดูแลและการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้งเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ยังพบว่าในบริบทเมือง กลุ่มคนที่มีเงินจะมุ่งสู่การหาแรงสนับสนุนจากตลาด เช่น การจ้างผู้ดูแลจากศูนย์ หรือการเกิดขึ้นของ nursing home และ elderly care 

อาจารย์ ยังกล่าวอีกด้วยว่าการเติบโตของเศรษฐกิจการดูแลเกิดขึ้นทั้งในมิติเชิงท้องถิ่นและข้ามชาติแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย แต่มิติที่สำคัญ 3 ประการ ที่ไม่อาจละเลยได้ คือ (1) อุปสรรคทางการเงิน  (financial barrier) ที่ส่งผลมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงการดูแลที่มีคุณภาพได้  (2) การเป็นในระบบ-นอกระบบ (formal – informal) ของการให้บริการ นั่นคือ เรามักจะมองเรื่องของเศรษฐกิจเป็นเรื่องของการจ้างงานแบบในระบบ แต่แท้จริงแล้วงานนอกระบบยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงมากกว่า เช่น การดูแลที่เกิดจากสมาชิกในครอบครัว มักจะไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีจำกัดเวลา ไม่มีการคิดค่าเสียโอกาส และต้องมีการลาออกจากงาน โดยเฉพาะเพศหญิง เป็นต้น และ (3) งานให้การดูแล (care work) ควรถูกทำให้เป็นงานที่มีเกียรติ (decent work) คือ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เล็งเห็นถึงการขยายตัวของแรงงานในภาคส่วนของการให้การดูแล การทำให้ care work เป็นงานที่มีเกียรติ เท่าเทียม เป็นธรรม และปลอดภัย จะส่งผลไปสู่การคุ้มครองผู้ดูแลเพศหญิงที่ต้องออกจากการทำงานหรือแรงงานนอกระบบจำนวนมาก และเป็นการยกระดับคุณภาพของการให้การดูแลไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

การเตรียมตัวแก่ในเมืองผู้สูงอายุ

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอยู่เกือบร้อยละ 13 ในกรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นกลุ่มประชากรที่มีความต้องการจำเพาะบางประการ เศรษฐกิจภายใต้เมืองผู้สูงอายุนี้ อาจกำลังมุ่งสู่ตลาดของการให้การดูแลแหล่งใหม่ของผู้ที่เล็งเห็นโอกาส รัฐเองก็ได้ยกระดับการสร้างเครือข่ายรองรับทางสังคม (social sefety net) เพื่อผู้สูงอายุให้เป็นวาระระดับชาติ มีการสนับสนุนแนวคิด active aging และให้ผู้สูงอายุเก็บเงินให้เพียงต่อ มีการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่ aged-friendly city และมีการสนับสนุนเครือข่ายจิตอาสาต่าง ๆ เช่น เครือข่าย I See U เพื่อผู้ป่วยระยะท้าย 

แต่อย่างไรก็ตาม อ.ภาวิกาทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ท้ายที่สุดแล้วหัวใจสำคัญของการดูแลที่ “ความเป็นเมือง” ยังขาดหายไปคือปัจจัยเรื่อง “ความสัมพันธ์” ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ สังคมเมืองยังขาดมิติของการ empower ปัจเจกแต่ละคนให้พร้อมเป็นผู้ให้การดูแลทั้งในเชิง หน้าที่ และ ความเกื้อกูล ไม่เฉพาะการให้การดูแลผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังสามารถโยงกลับไปถึงการให้การดูแลตั้งแต่ในวัยเด็ก การให้การดูแลในฐานะพ่อแม่ การดูแลซึ่งกันและกันของคนในครอบครัว ชุมชน คนในคอนโดเดียวกัน หรือคนในที่ทำงาน และขนส่งสาธารณะ

สิ่งที่เมืองจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นคือความเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อาจจะด้วยการเปิดพื้นที่สาธารณะ การสร้างพื้นที่สีเขียว การยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างเมื่อที่ปลอดภัย หรือการสร้างวัฒนธรรมเมืองที่เกื้อกูลกันและเคารพคุณค่าของกันและกัน เหล่านี้จะเป็นการที่คนเมืองเตรียมความพร้อมรับมือกับความชราได้อย่างไม่ต้องโดดเดี่ยวนั่นเอง


Contributor