14/05/2020
Economy

IMMUNITISED, HIGH TOUCH, HIGH TRUST: ฟื้นเมืองท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนด้วยการปลูกภูมิคุ้มกันเชิงพื้นที่ เสริมระดับการบริการ และสร้างความเชื่อถือระยะยาว

ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ มัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์ ปรีชญา นวราช ธนพร โอวาทวรวรัญญู
 


เศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยว และวิกฤตการณ์โควิด

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมในด้านต่างๆ โดยรายได้จากการท่องเที่ยวนั้น คิดเป็นร้อยละ 10.3 ของ GPD โลก ได้สร้างงานให้กับคน 1 ใน 10 หรือคิดเป็น 330 ล้านคนทั่วโลก (WTTC, 2020) โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจต่ำ จะมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องมีการพัฒนาทักษะเฉพาะทาง แค่เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวก็สามารถสร้างรายได้มหาศาล ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างงานให้กับกลุ่มผู้หญิง เยาวชน และคนชายขอบ ประกอบกับนโยบายการลดกำแพงวีซ่า ค่าเดินทางที่ลดลง และค่าครองชีพที่ต่ำ ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา การป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 คือสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากที่สุด โดยได้นำเอานโยบายและมาตรการป้องกันต่างๆ มาบังคับใช้ ทั้งการปิดเมือง การจำกัดการเดินทาง การระงับสายการบินและโรงแรม เพื่อลดพลวัตการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่แปรผันตรงกับการกระจายเชื้อ เนื่องจากเชื้อโควิดเป็นเชื้อที่ติดจากคนสู่คนผ่านสารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่าการชะงักตัวเหล่านี้ ได้สร้างผลกระทบต่อการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่แปรผันตรงกับเรื่องของการเดินทางและความไว้วางใจอย่างมาก  ย่อมเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และที่สำคัญวิกฤตินี้ ได้สะท้อนจุดอ่อนและความเปราะบางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งระบบ

แนวทางหลักของการฝ่าวิกฤตโควิดของการท่องเที่ยวไทย

สำหรับประเทศไทยที่เรียกได้ว่า เป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในระดับสูง (Hyper Tourism Dependency) นั้น รายได้จากการท่องเที่ยวสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานของแรงงานจำนวนมาก จากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ จากการชะงักตัวของการเดินทางและความไว้วางใจของนักท่องเที่ยว หากแต่ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย จนถึงปัจจุบันประเทศไทยได้สร้างความเชื่อมั่นจากมาตรการป้องกันต่างๆ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน แสดงให้เห็นจากรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่น้อยลงทุกวัน และการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ แม้จะเป็นประเทศที่ 2 ที่มีการติดเชื้อหลังจากอู่ฮั่น จึงถึงเวลาที่เราจะต้องเตรียมรับมือกับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศต่อไป

ปรับปรุงจาก: Our World in Data

ทั้งนี้ UNWTO ได้ให้แนวทางที่ช่วยเตรียมพร้อมรับมือและเติมเต็มศักยภาพการฟื้นตัวการท่องเที่ยวในช่วงวิกฤตินี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มงานหลัก  ประกอบด้วย

1) การจัดการปัญหา: การควบคุมสถานการณ์ และการบริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยวให้ยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้และสนับสนุนแรงงานในช่วงเวลาวิกฤต

2) การกระตุ้นการฟื้นตัว: ออกนโยบายที่ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณะ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

3) การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต: เรียนรู้บทเรียนจากสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาในอนาคต และสร้างความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยสถานการณ์ตอนนี้ ประเทศไทยกำลังจะเคลื่อนตัวจากข้อที่ 1 ไปยังข้อที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนผ่านในการฟื้นตัวที่สำคัญและควรจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง

พลิกโควิดเป็นโอกาส กรณีศึกษาภูเก็ต มหานครแห่งการท่องเที่ยว

“ไข่มุกแห่งอันดามัน” หรือเมืองภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและการบริการที่ครบครัน รวมถึงความไว้วางใจในด้านคุณภาพการท่องเที่ยว ในแต่ละปีรายได้จากการท่องเที่ยวของภูเก็ตได้สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมาก โดยเมืองภูเก็ตมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดอยู่ที่ประมาณ 450,000 ล้านบาทต่อปี โดยร้อยละ 49 เป็นมูลค่าอันเกิดจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560)

อย่างไรก็ตามภูเก็ตได้พบกับความท้าทายหลายประการที่ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวซบเซาลงเหมือนกับอีกหลายๆจังหวัดของประเทศ ที่นโยบายการท่องเที่ยวที่ผ่านมาเน้นพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเป็นจุดๆ หรือเป็นเส้นทางที่เชื่อมแหล่งท่องเที่ยว โดยไม่ผูกโยงกับแนวทางการออกแบบและพัฒนาเมืองในภาพรวม ทำให้ขาดการมองเห็นทิศทางในการพัฒนาร่วมกัน อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ยังไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ดีพอ อุปทานส่วนเกินจากการแข่งขันของผู้ประกอบการ การลดลงของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การพึ่งพาแรงงานจากภายนอก ปัญหาเหล่านี้มีผลต่อประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว ต่อภาพลักษณ์ของเมือง ต่อการดำรงชีวิตของคนในเมือง และยิ่งทำให้ศักยภาพและความน่าเที่ยวของเมืองลดน้อยลง (อภิวัฒน์ และ คมกริช, 2562) นอกจากนั้นภูเก็ตยังเผชิญกับสถานการณ์ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มเมื่อกลางปี 2561 และค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง ภูเก็ตจึงไม่สามารถสร้างมูลค่าของการท่องเที่ยวจากแหล่งทรัพยากรล้ำค่าของเมืองได้เท่าที่ควร หรืออาจกล่าวได้ว่า ภูเก็ตติดอยู่ในกับดักเมืองท่องเที่ยวรายได้ปานกลาง ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตขาดความยั่งยืน

จากความท้าทายในข้างต้น ผนวกเข้ากับวิกฤติ COVID-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ตลำบากมากยิ่งขึ้นจากการขาดความเข้มแข็งจากภายในและการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ไม่คาดคิด จึงนำมาสู่โจทย์ในการวางยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสามารถฟื้นตัวได้เร็วทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ภูเก็ตมหานครแห่งการท่องเที่ยว กลับมาเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวให้ความเชื่อมั่น และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ที่มา: กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

การวางยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเมืองท่องเที่ยว ระยะสั้นหลังวิกฤติก่อนภาวะปกติใหม่

จากการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association) ชี้ว่า นักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 60 จะเริ่มจองตั๋วท่องเที่ยวหลังควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วอย่างน้อย 2 เดือน และอีกร้อยละ 40 ยืนยันว่าจะรออีกอย่างน้อย 6 เดือนให้หลัง แม้ว่าเราจะยังไม่ทราบถึงระยะเวลาที่แน่ชัด ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวอันเป็นธุรกิจหลักที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศอยู่นั้นจะกลับสู่สภาวะปกติเมื่อใด แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมตัวพร้อมรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาหมุนเวียนภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ

โดยมาตรการที่จะช่วยฟื้นฟูพื้นที่เมืองหลวงของการท่องเที่ยวของประเทศอย่างภูเก็ตนั้น เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรต้องร่วมกันเสนอแนะและดำเนินการอย่างเร่งด่วนแข่งกับเวลา เนื่องด้วยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเลย ที่เป็นต้นทางของการจ้างงาน ซึ่งต่างมีข้อจำกัดเรื่องสายป่านของทุนที่ใช้ในการหล่อเลี้ยงและฟื้นตัว อันเป็นเหตุให้ต้องเร่งวางยุทธศาสตร์และวางแผนดำเนินการฟื้นตัวพร้อมกับการเยียวยาตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่สายป่านจะหมดแล้วเกิดวิกฤติเศรษฐกิจซ้ำอีกระลอกจนฟื้นตัวได้ยากกว่าเดิม

การเว้นระยะห่างอย่างเดียว ไม่พอสำหรับการเปิดเมืองท่องเที่ยวหลังโควิด

การเว้นระยะห่างแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่พอสำหรับการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวระหว่างที่สถานการณ์โควิดยังคงอยู่ เพราะระยะห่างเป็นต้นทุนของการให้บริการที่ต้องใช้พื้นที่ เพื่อช่วยยับยั้งการดิ่งลงสู่ก้นเหว จนกว่าสถานการณ์จะสงบ เหตุใดเราจึงไม่ออกแบบนิเวศน์แห่งการท่องเที่ยวเพื่อรองรับมาตรการสาธารณสุข ที่จะดึงดูด นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่กำลังมองหาที่พักพิง หรือลี้ภัยในช่วงวิกฤติ โดยการสร้างให้ภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวและอยู่อาศัยชั่วคราวที่ปลอดภัย สร้างระบบความเชื่อมั่น (Immunitised Community) บนพื้นฐานของการปรับตัวของต้นทุนทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ของเมือง โดยใช้ยุทธศาสตร์หลัก 3 ข้อดังนี้

1) ทำการตลาดและสร้างแบรนด์เมืองในฐานะพื้นที่ปลอดเชื้อ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวปลอดภัยและต้องการอยู่อาศัยระยะยาวเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการการกักตัว 14  วัน

2) จัดการตรวจสอบโรคตั้งแต่ต้นทางและปลายทาง รวมถึงสร้างระบบการเดินทางแบบปลอดเชื้อ ตลอดห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว

3) สร้างพื้นที่ท่องเที่ยวปิดล้อมทางด้านสาธารณสุขพร้อมไปกับการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้อยู่อาศัย และนักท่องเที่ยวที่ต้องกลายมาเป็นพลเมืองในระยะสั้น และนำมาซึ่งพลเมืองที่มีคุณภาพในระยะยาวต่อไป

เพื่อให้การดำเนินตามยุทธศาสตร์สัมฤทธิ์ผลสำเร็จ จึงต้องดำเนินมาตรการอย่างเป็นระบบใน 8 ขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางถึงพื้นที่ให้บริการดังนี้

1. ผู้เดินทางปลอดเชื้อ เพื่อโอกาสแห่งการพักผ่อนระยะยาว

เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวปลอดโรค จากประเทศที่ปลอดภัยสามารถนั่งเครื่องบินตรง เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากการต่อเครื่องในประเทศกลุ่มเสี่ยง เข้าสู่ปลายทางได้โดยนักท่องเที่ยวต้องมี Health Digital Passport เพื่อยืนยันและสร้างความมั่นใจ ว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา จะไม่นำเชื้อโรคเข้ามาสู่ปลายทาง ดังนั้นในขั้นตอนนี้สำคัญที่สุดคือ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐของประเทศต้นทาง และปลายทางที่มีการวางแผน ประสานความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ ร่วมรับประกันทั้งจำนวน และคุณภาพของนักท่องเที่ยว เพื่อการเคลื่อนย้ายพลเมืองในระยะสั้น ตามเป้าหมายของการท่องเที่ยวในช่วงเวลาวิกฤตินี้

2. แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและปรับตัวอย่างคู่ขนานไปกับการออกแบบทางกายภาพ คือ การดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขในระดับสากลในด้านการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ ซึ่งควรส่งเสริมให้มีการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการร้านค้า และบริการให้ความร่วมมือในการลงทะเบียนเพื่อตรวจวัดมาตรฐานสาธารณสุข สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ารับบริการ ด้านการให้บริการ แพลตฟอร์มนี้ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้ชีวิตในเมืองได้ด้วยตัวเองในระยะที่ยาวขึ้น ลดความเสี่ยงของการท่องเที่ยวในรูปแบบกลุ่ม โดยให้ข้อมูลตั้งแต่เส้นทางการท่องเที่ยว จุดบริการการท่องเที่ยว จุดให้บริการสาธารณสุข และการจองระบบการท่องเที่ยวออนไลน์ เพื่อสร้างระบบการกระจายนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมทั้งในด้านของช่วงเวลา และสถานที่ ด้านการประชาสัมพันธ์ แพลตฟอร์มออนไลน์จะช่วยแจ้งประกาศ ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ทั้งยังช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้า และบริการต่างๆด้วยกลยุทธ์ออนไลน์ที่สามารถสร้างการรับรู้ และเข้าถึงได้จากกลุ่มคนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

3. สนามบินนานาชาติ ประตูแรกสู่ภูเก็ต

สนามบิน ประตูแรกก่อนเข้าเมือง จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นทั้งจุดคัดกรองผู้โดยสารที่เข้มงวดตามมาตรการสาธารณสุข ทั้งการควบคุมความหนาแน่นและการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น จุดรอรับกระเป๋าสัมภาระ จุดตรวจบัตรโดยสาร ที่นั่งรอก่อนการเดินทาง โดยให้มีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และจำเป็นต้องแบ่งโซนอย่างเป็นสัดส่วนเพื่อแจกจ่าย เหล่าผู้โดยสาร เข้าสู่พื้นที่เปลี่ยนถ่ายและพื้นที่กักตัวอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้นควรประสานกับสายการบินในการอำนวยความสะดวก ส่งเสริมการวางระบบออนไลน์เพื่อลดการสัมผัส ตลอดกระบวนการระหว่างการเดินทาง และการให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ โมเดลของการออกแบบสนามบินอัจฉริยะ ดังเช่น Changi International Terminal 4 แบบสิงคโปร์ อาจจะเข้ามาเป็นแนวทางในการคำนึงถึงต่อการขยาย Terminal ในอนาคต

4. พื้นที่กักตัว ส่วนหนึ่งของการพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ

ฉีกกฎเกณฑ์การกักตัว 14 วันอย่างหดหู่ สู่การกักตัวอย่างผ่อนคลาย ด้วยจุดแข็งทางด้านภูมิศาสตร์ การมีลักษณะเป็น ‘เกาะ’ ที่มีการเชื่อมต่อการคมนาคมทางบกจากแผ่นดินใหญ่เพียงจุดเดียว  ในขณะที่การเชื่อมต่อทางอากาศบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตนั้นมีการวางตัวที่ห่างไกลจากจากเขตเมืองกว่า 20 กิโลเมตร อำนวยความสะดวกต่อการคัดกรองที่สามารถวางระบบการกักตัวได้อย่างรัดกุมมากกว่าจังหวัดที่ท่าอากาศยานตั้งใกล้ตัวเมือง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการ กลุ่มโรงแรมใกล้สนามบิน ริมทะเลที่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน อาจจะเป็นการสร้างโอกาสในวิกฤตให้เหล่าผู้ประกอบการ ในการพลิกโรงแรมที่ไร้แขก สู่พื้นที่กักตัวที่สร้างรายได้แม้ในสถานการณ์วิกฤต และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาด สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อดึงดูดเหล่านักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัด

5. โครงข่ายการเดินทางอย่างปลอดภัย

การเดินทาง ตั้งอยู่บนความเสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อไม่น้อยไปกว่าพื้นที่อื่นๆของเมือง เนื่องจากการเบียดเสียดกันของกลุ่มคนที่หลากหลาย กับรูปแบบการให้บริการที่ต้องทำความหนาแน่นให้ได้เต็มประสิทธิภาพต่อรอบการเดินทาง ประกอบกับการอยู่ในพื้นที่พาหนะที่มีพื้นที่จำกัดและมีสภาพอากาศที่เป็นระบบปิด ล้วนเป็นตัวแปรที่เพิ่มความเสี่ยง ดังนั้นการเดินทางที่ปลอดภัย จำเป็นต้องอาศัยการปรับตัวของทั้ง จุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร หรือสถานีขนส่งของเมือง ที่ควรส่งเสริมให้สถานีวางตัวในจุดที่มีอากาศถ่ายเท มีแสงธรรมชาติเข้าถึง โดยมีการจัดระบบการรอคิวห่างกันตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม  หรือมีการสร้างฉากกั้นระหว่างที่นั่งพักคอย โดยตัวพาหนะเอง ก็ควรมีการควบคุมความจุของผู้โดยสาร และเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม โดยอาจมีวิธีการการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันตามประเภทของพาหนะในแต่ละท้องที่ เช่น รถโดยสารขนาดใหญ่อาจจะใช้วิธีการนั่ง 1 ที่นั่ง เว้นอีก 1 ที่นั่ง และยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ตามเกณฑ์ กรมการขนส่งทางบก โดยห้ามผู้โดยสารนั่งติดกัน หรือ ขนส่งของท้องถิ่นของเมืองภูเก็ต รถโพถ้อง ที่ยากต่อการสร้างระยะห่างของการนั่ง อาจใช้การสร้างฉากกั้นระหว่างที่นั่งแทน นอกจากนี้ควรมีการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ และจะต้องมีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อในทุกรอบบริการ และสร้างระบบแสดงผลโครงข่ายการสัญจรออนไลน์ ซึ่งแสดงข้อมูลของขนส่งสาธารณะ ทั้งด้านเวลา และ ความหนาแน่นต่อรอบ เพื่อการจอง รอคิว และชำระเงินออนไลน์

6. ที่พักปลอดภัย เสริมกลยุทธ์การบริการรูปแบบใหม่

ที่พักอาศัย ควรมีการคำนึงถึงเกณฑ์การออกแบบพื้นฐานตามมาตรฐานสากล (WHO Operational considerations for COVID-19 management in the accommodation sector) โดยสามารถจำแนกได้โดยง่าย 3 หมวด ได้แก่

(1) การออกแบบทางกายภาพ ที่เน้นการจัดสรรและวางระบบของพื้นที่ต้อนรับและส่วนกลางโรงแรม ให้มีการสร้างจุดคัดกรอง วางจุดทำความสะอาดกระจายอยู่ภายในพื้นที่ และควรมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อขั้นสูงตามมาตรฐานสากลหลายรอบต่อวัน เปิดระบายอากาศในทุก 2 ชั่วโมง นอกจากนั้นในส่วนของห้องพักอาศัยควรมีการวางตารางการทำความสะอาดให้สอดคล้องกับการจัดสรรห้องพักแขก โดยให้เวลาในการฆ่าเชื้อโรคและเปิดห้องเพื่อระบายอากาศอย่างเหมาะสม

(2) การวางระบบวิศวกรรม การระบายอากาศและสุขาภิบาล ควรจะมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของการใช้งานอย่างถี่ถ้วน เพื่อความมั่นใจต่อมาตรฐานด้านความสะอาดที่จะถูกแจกจ่ายออกไปเพื่อการใช้งานของทั้งโรงแรม นอกจากการปรับปรุงทางกายภาพแล้ว

(3) การให้บริการพื้นฐานของโรงแรม เช่น การบริการบุฟเฟต์ หรือการจัดงานเลี้ยง นั้นควรจะมีการหลีกเลี่ยงในช่วงวิกฤต หรือหากมีการบริการในส่วนนี้ จำเป็นต้องมีระบบรักษาความสะอาดขั้นสูง มีการควบคุมความหนาแน่น ระบายอากาศ และดูแลภาชนะที่ใช้ร่วมกันที่ควรมีการเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการเว้นระยะห่างของการนั่ง และยืนรอคิว ที่เหมาะสม โดย 1 โต๊ะ สามารถรองรับแขกได้สูงสุด 4 คน (สำหรับ 10 ตารางเมตร) โดยมีระยะในการวางเก้าอี้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร จากทุกทิศ นอกจากนั้นพื้นที่สนามเด็กเล่น เป็นพื้นที่ส่วนที่ควรพิจารณาหลีกเลี่ยงเนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่เปราะบาง

นอกเหนือจากนี้ อีกประเด็นที่สำคัญนอกเหนือเกณฑ์มาตรฐานคือ กลยุทธ์การตลาด ของเหล่าโรงแรมที่ต้องเปลี่ยนจากการรองรับนักท่องเที่ยวปริมาณมาก และการให้บริการจัดประชุม งานอีเว้นท์ที่รองรับความจุคนจำนวนมาก เป็นการท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่อาศัยในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น และให้บริการเสริมด้านการสร้างประสบการณ์ ทั้งด้านวิถีชีวิตและธรรมชาติ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อที่พักเข้ากับโครงข่ายการท่องเที่ยวของละแวก ที่เน้นให้เกิดการท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น

7. สร้างเครือข่ายและแนวทางการปฏิบัติร่วมกันของผู้ประกอบการ ท้องถิ่น เชื่อมโยงกับรัฐและเอกชน

เมืองท่องเที่ยวต่างกับเมืองบริการอื่นๆ เพราะเมืองท่องเที่ยวเป็นการ ขายประสบการณ์ ดังนั้นมาตรการที่เรียกว่ามาตรการหลังบ้าน หรือปฏิบัติการใดๆ ต้องเป็นการลดอุปสรรคและประสบการณ์ที่ไม่ดีของการอยู่อาศัย ล้วนแต่ต้องอาศัยความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติร่วมกันจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ที่พัก อาหาร การขนส่ง และสถานบันเทิง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของท้องถิ่นที่ต้องอยู่ในมาตรการทางด้านสาธารณสุขตลอดเวลา ซึ่งการรวมตัวเป็นเครือข่ายในครั้งนี้ ควรนำไปสู่การจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการถอดบทเรียนร่วมกันเพื่อขอรับความช่วยเหลือ สนับสนุน  และมีส่วนในการจัดทำยุทธศาสตร์อื่นๆ ต่อไปในอนาคต

8. สาธารณสุขที่เพียงพอ และรองรับระดับนานาชาติ

การให้บริการสาธารณสุขเป็นอีกข้อคำนึงสำคัญที่ควรได้รับการพัฒนาตามมาตรฐานข้อกำหนดผังเมืองรวม ซึ่งให้มีจุดบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น หรือสถานีอนามัยในระยะ 2.5 กิโลเมตร และมีโรงพยาบาลใหญ่ในระยะ 5 กิโลเมตร โดยต้องมีการออกแบบและวางโครงข่ายการสัญจรที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในยามฉุกเฉิน

โอกาสในการฟื้นตัวการท่องเที่ยวระยะยาว อย่างยั่งยืน

จากการดำเนินการระยะสั้นเพื่อสร้างกรณีตัวอย่างของพื้นที่ปิดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างปลอดเชื้อ สู่การวางแผนในระยะยาว ต้องการการหันกลับมาพิจารณาถึงขีดความสามารถในการรองรับของทรัพยากรการท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความยั่งยืน

ทรัพยากรทางธรรมชาติของภูเก็ตที่เคยถูกการท่องเที่ยวฉกฉวยประโยชน์อย่างเมามันโดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหาย กลับได้รับการสังเกตเห็นถึงการฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง หลังการหยุดชะงักของการท่องเที่ยว สร้างให้เห็นถึงประโยชน์ของการให้บริการการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ โดยการวางบทบาทใหม่ของการท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยมที่มีคุณภาพต่อการอยู่อาศัยของพลเมืองในระยะสั้น ซึ่งอาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้เราเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยว และก้าวข้ามกับดักการท่องเที่ยวรายได้ปานกลาง

วันนี้เราจึงเสนอการทดลองโมเดลต้นแบบของการวางแผนการท่องเที่ยวระยะยาว ผ่านการคำนึงถึงมิติด้านความยั่งยืนของการท่องเที่ยวที่ได้สกัดมาจากงานศึกษาและวิจัยของ ARUP ในการพัฒนาเพื่อหาดัชนีความยืดหยุ่นของเมือง หรือ CRI (The City Resilience Index) เพื่อตอบโจทย์ 4 มิติ ได้แก่ ด้านการจัดการ สุขภาวะ เศรษฐกิจและสังคม และด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวางแผนลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) ควบคู่ไปกับการออกแบบวางผังทางกายภาพเพื่อตอบรับวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่พร้อมรับมือต่อทุกสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ภายใต้แนวคิดหลักของการกระจายความหนาแน่นของพื้นที่บริการการท่องเที่ยวออกจากพื้นที่เขตเมือง สู่พื้นที่ส่วนอื่นของเกาะ โดยได้มีการคัดเลือกพื้นที่กะตะ กะรน เป็นพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งมีความพร้อมตามเกณฑ์การคัดเลือก 4 ประการ ได้แก่

1. ยุทธศาสตร์ด้านที่ตั้ง กับการสร้างพื้นที่ปิดล้อม กะตะ กะรน เป็นพื้นที่เขตเมืองที่วางตัวเป็นเกาะขนาดเล็ก ภายในเกาะภูเก็ต ถูกโอบล้อมด้วยทิวเขา 3 ทิศ และทะเล ทำให้มีลักษณะของการตั้งถิ่นฐานที่มีอาณาเขตที่สามารถแยกละแวกของเมืองออกได้เป็น พื้นที่กะตะ และ พื้นที่กะรนอย่างชัดเจน โดยมีการเชื่อมต่อโครงข่ายการสัญจรผ่านเนินเขาร่วมกัน และสามารถควบคุมการเข้าออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นในสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาด สามารถที่จะใช้มาตรการการคัดกรอง และปิดล้อมเมือง ได้อย่างเป็นระบบ

2. ภาพจำด้านธรรมชาติที่ครบวงจร เทศบาล 2 หาด หนึ่งในศูนย์รวมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งหาด ป่า และเกาะ อันสมบูรณ์อันดับต้นของภูเก็ต ประกอบไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ  10 แห่ง และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2 แห่ง และมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ สวนสาธารณะกะรน และสวนสาธารณะคลองบางลาง ที่ล้วนส่งเสริมให้กะตะ กะรน เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ มีกลุ่มเป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่ชัดเจนของกลุ่มพรีเมี่ยม ที่ต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายเพื่อการพักผ่อนในระยะยาวอย่างแท้จริง

3. ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ด้วยสัดส่วนของขนาดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น หาดกะรนที่มีจุดเด่นด้านความยาวกว่า 3 กม. และพื้นที่บริการด้านการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมจำนวน 300 กว่าแห่ง แหล่งประกอบการบริการเพื่อความบันเทิงและนันทนาการกว่า 72 แห่ง เทียบกับสัดส่วนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อปี พบว่า กะตะ กะรนนั้นยังคงรักษาระดับความหนาแน่น ที่คงสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4. การขับเคลื่อนของภาคีท้องถิ่น มีการบริหารจัดการพื้นที่ของตัวเองได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ด้วยการประสานความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก-ใหญ่ และผู้ประกอบการภาคบริการรายย่อย ภาคการศึกษา ผ่านกระบวนการออกแบบวางแผนแบบร่วมหารือของคนทุกกลุ่ม (Deliberative planning)

กะตะ กะรน โมเดลต้นแบบ ‘การสร้างระบบภูมิคุ้มกันระดับละแวกย่าน’

กะตะ กะรน โมเดลต้นแบบของการปรับตัวของเมืองท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม สู่การสร้างมาตรฐานใหม่ของการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภายใต้กลยุทธ์หลักของการสร้าง‘ระบบภูมิคุ้มกันระดับละแวก’(Neighbourhood) บนพื้นฐานการออกแบบที่เป็นมิตร 2 ระดับ ได้แก่ การเป็นมิตรต่อการอยู่อาศัยระยะยาว ซึ่งให้ความสำคัญกับการออกแบบละแวกให้ครบวงจร (Self-contain) และสามารถรองรับคนทั้งมวล (Inclusive Design) อันหมายรวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างมาตรฐานในระดับสากล เพื่อให้บริการต่อพลเมืองระยะสั้น นอกจากนั้น การออกแบบและวางระบบสาธารณูปโภค ยังมีการคำนึงถึงการกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด   เพื่อสร้างการเป็นมิตรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหลักการในการออกแบบและยกระดับละแวก 5 ประการ

1. การวางโซนและผสมผสานการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้มีความหลากหลาย ครบครัน โดยเสนอให้มีการจัดวางโซนที่แตกต่างกัน 4 ระดับ กระจายตัวออกจากพื้นที่ที่พักอาศัย ได้แก่ ภายในระยะ 200-250 เมตร จากที่พัก ควรประกอบไปด้วยร้านค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของชำ และมีการวางพื้นที่ศูนย์ข้อมูล และจุดเช่า-จอดจักรยานเพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวมากที่สุด และภายในระยะ 400-500 เมตร จากที่พัก ควรประกอบไปด้วย พื้นที่สวนสาธารณะหรือสวนหย่อม และ จุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรในระดับละแวก เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายของการท่องเที่ยวที่นอกเหนือจากระยะการเดิน ซึ่งนอกเหนือจากการวางพื้นที่บริการการท่องเที่ยวที่จำเป็นไว้ในระยะ 800 เมตรซึ่งเป็นระยะทางเฉลี่ยที่คนไทยพร้อมที่จะเดินเท้าไปยังสถานที่ต่างๆ หรืออยู่ที่ประมาณ 10 นาที (Goodwalk, 2558) โดยพื้นที่ในรัศมีดังกล่าวควรส่งเสริมให้มีการสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ (Sense of place) เช่น การส่งเสริมการสร้างแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมกัน(Design guideline) เพื่อจะฉวยโอกาสในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวให้ใช้เวลาที่ยาวนานขึ้นในการอาศัยอยู่และท่องเที่ยวภายในละแวกย่าน โดยการเดิน หรือจักรยาน เป็นโอกาสในการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง

2. การสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวในละแวกโดยการเดินเท้าและจักรยาน มีการออกแบบสร้างข่ายการสัญจรภายในย่านที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวได้สัญจรภายในย่านด้วยตัวเอง อย่างอิสระ เป็นกิจวัตร เช่น การเดิน หรือขี่จักรยาน ไปยังตลาด แหล่งท่องเที่ยว หรือศูนย์บริการการท่องเที่ยว ช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้ขนส่งสาธารณะ หรือการท่องเที่ยวแบบชะโงกทัวร์ แต่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายตัวของการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ สร้างประสบการณ์ และเรียนรู้การใช้ชีวิตในละแวกย่าน โดยประสานความร่วมมือการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อทั้งที่พัก จุดบริการ และโครงข่ายการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและนิเวศน์อย่างครบวงจร

3. การวางระบบบริการสาธารณสุขที่มีความเพียงพอและมีคุณภาพ แม้ตำบลกะรน จะประกอบด้วย ศูนย์สาธารณสุขชุมชน 1 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 2 แห่ง คลินิก 13 แห่ง แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ใกล้ที่สุด  คือ โรงพยาบาลฉลอง 7.3 กม.  กลับอยู่ห่างจากเทศบาลเกินระยะมาตรฐาน ดังนั้นหากกะตะ กะรนจะสร้างมาตรฐานสากลในด้านความปลอดภัยและสุขภาพ ควรจะมีการเสนอสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ภายในระยะ 5 กม. โดยมีการออกแบบเพื่อยกระดับความพรีเมี่ยมในระดับสากล เพื่อการใช้บริการของทั้งคนท้องที่และพลเมืองระยะสั้น ทั้งด้านการให้บริการด้วยบุคลาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ด้วยการบริการด้วยภาษาสากล และรองรับระบบของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลในระดับนานาชาติ

4. การสร้างกลยุทธ์การท่องเที่ยวใหม่บนพื้นฐานของความร่วมมือ การประสานความร่วมมือระหว่างภาคีภายในละแวก เพื่อสร้างให้เกิดการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตของพลเมืองระยะสั้น รวมถึงการให้บริการทดแทนในกรณีสถานการณ์วิกฤต  เช่น การประสานของโรงแรม กับร้านอาหาร หรือขนส่งสาธารณะในละแวก ในการสั่งอาหารเพื่อนำมาเสิร์ฟให้ถึงห้อง หรือจัดโซนในโรงแรมไว้อย่างถูกสุขอนามัยเพื่อรองรับบริการดังกล่าว ลดการกระจุกตัวอยู่ในบริเวณร้านอาหาร ที่จะสร้างการเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวและบริการขึ้นอีกระดับ

5. การกำกับดูแลและการฝึกอบรมทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรบุคคล เป็นอีกหัวใจสำคัญของภาคการท่องเที่ยว และบริการที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ควรมีการส่งเสริมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการบริการให้ก้าวทันต่อการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพในระดับนานาชาติ โดยหน่วยงานท้องถิ่นและผู้ประกอบการควรที่จะมีการเข้าฝึกอบรมเบื้องต้น เพื่อสามารถเข้าใจ และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนได้อย่างมั่นใจทั้งในสถานการณ์ระยะสั้น ไปจนถึงการยกระดับองค์ความรู้ในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าหลัง COVID-19 ผ่านพ้นไป รูปแบบการท่องเที่ยวคงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หรือหากจะกลับมาเหมือนเดิมคงใช้เวลาในการปรับตัวที่ยาวนานร่วม 2-3 ปี กว่าที่ทุกอย่างจะลงตัว ความต้องการของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปทั้งในเชิงประสบการณ์และความต้องการส่วนบุคคลที่คงให้ความสำคัญกับความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และความสะอาดมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูน แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือภาคการท่องเที่ยวมีการถอดบทเรียน เพื่อเตรียมการกับความไม่แน่นอน และส่งผลที่ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้ หรือพรุ่งนี้ ก็เป็นได้ โจทย์สำคัญของการบริหารจัดการ หรือการวางแผนด้านการท่องเที่ยวจึงไม่จบอยู่ที่การออกแบบ หรือเสนอยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องเตรียมพร้อมให้เกิดภาวะล้มลุกอย่างมีเสถียรภาพได้ เพราะยุทธศาสตร์สำคัญของความล้มลุกคือ ต้องมียาสำรองในกระเป๋าอยู่เสมอเพื่อเยียวยาและรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้น และต้องทำให้ทันท่วงที

สำหรับ ภูเก็ตเอง ในฐานะมหานครด้านการท่องเที่ยวทางภาคใต้ของประเทศไทย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นมหานครการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคเลยก็ว่าได้ คงหนีไม่พ้นกับโจทย์ด้านความสามารถในการล้มลุก รวมถึงการตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมภายนอกอย่างรวดเร็วและฉับพลัน เพื่อให้สามารถยังคงใช้ศักยภาพและจุดแข็งด้านการเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ ความต้องการที่หลากหลายทั้งในปัจจุบัน และอนาคตหลังการเปิดเมือง  เพราะนี่คือโอกาสของปรับเปลี่ยนเพื่ออยู่รอด และก้าวกระโดดต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ

ขอขอบคุณข้อมูลเมืองภูเก็ตและความคิดเห็นจากการให้สัมภาษณ์ของคุณก้าน ประชุมพรรณ์ ประธานกรรมการบริหาร The Beach Group และคุณมโนสิทธิ์ แจ้งจบ นายกสมาคมที่พักบูติคจังหวัดภูเก็ต

อ้างอิงข้อมูล

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ คุณก้าน ประชุมพรรณ์ ประธานกรรมการบริหาร The Beach Group และ คุณมโนสิทธิ์ แจ้งจบ นายกสมาคมที่พักบูติคจังหวัดภูเก็ต
– อภิวัฒน์ รัตนวราหะ, คมกริช ธนะเพทย์. (2562). รายงานฉบับสมบูรณ์แนวทางการออกแบบและพัฒนาเมืองท่องเที่ยวสำหรับประเทศไทย 4.0: กรณีศึกษาภูเก็ต เชียงราย และพัทลุง. กรุงเทพมหานคร:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ภูเก็ตกับ “กับดักซ้ำสอง”, มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, กรุงเทพธุรกิจ (2562).
Operational considerations for COVID-19 management in the accommodation, World Health Organization (WHO)
– สำนักงานจังหวัดภูเก็ต. (2562). วิสัยทัศน์จังหวัด และค่านิยมจังหวัดภูเก็ต.
– สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ. (2556).
COVID-19 ฉุดการท่องเที่ยวโลกหยุดชะงัก คาด…ทั้งปีหดตัว 38-45%, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2563
– Sharifi A, Yamagata Y. (2018). Resilience-Oriented Urban Planning
– Soofi Y. (2016). Achieving Urban Resilience: Through Urban Design and Planning Principles.
สรุป 7 New Normal ที่จะเกิดขึ้นของผู้บริโภคหลัง Covid-19 จากงานวิจัยของเอเจนซี Mindshare [PR], AdAddict, 2563
– UNWTO. (1 APR 2020). UNWTO LAUNCHES A CALL FOR ACTION FOR TOURISM’S COVID-19 MITIGATION AND RECOVERY.
– WTTC. (2020). The World Travel & Tourism Council (WTTC) represents the Travel & Tourism sector globally.
http://www.goodwalk.org


Contributor