11/11/2020
Economy
เมืองสร้างยูนิคอร์น ยูนิคอร์นสร้างเมือง: เกาหลีใต้ผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างไรให้สำเร็จเป็นอันดับ 4 ของโลก
แพงสุดา ปัญญาธรรม
“วงการสตาร์ทอัพ ถ้าเป็นพื้นทรายแทนพื้นคอนกรีตก็คงจะดี ถ้าเป็นงั้นทุกคนคงทำธุรกิจได้ดีขึ้น”
หนึ่งในตัวละครจากซีรีส์เกาหลี Start-Up ที่กำลังเป็นที่นิยม พูดออกมาเพื่อสะท้อนถึงความลำบากในการเริ่มและเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยเปรียบว่าหากต้องล้มลงบนพื้นคอนกรีต ผู้ประกอบการหน้าใหม่ทั้งหลายคงต้องเจ็บตัว และหวาดกลัว ไม่กล้าลงแรงทำธุรกิจเต็มที่ แต่หากเป็นพื้นทรายที่ช่วยซับแรง ผู้ประกอบการคงไม่กลัวล้ม และเต็มที่ไปกับการทำธุรกิจมากขึ้น แม้จะไม่ใช่คำพูดของตัวละครหลักของเรื่อง แต่ก็สะท้อนมุมมองของธุรกิจสตาร์ทอัพได้เป็นอย่างดี
ซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์ Start-Up บอกเล่าเรื่องราวของคนหนุ่มสาวที่แข่งขันกันเพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยตัวเอง แต่การเริ่มต้นธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกเหนือจากไอเดียที่แปลกใหม่ ตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน และทำเงินได้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นได้คือเงินทุนและทรัพยากรสนับสนุน
หลายครั้งที่แฟนๆ ซีรีส์เกาหลีอาจพอจับสังเกตได้ว่า เรื่องราวในซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องพยายามกระตุ้นผู้ชมไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เช่น การสร้างภาพผู้ชายที่อบอุ่นเป็นสุภาพบุรุษเพื่อเสริมสร้างค่านิยมที่ดี การสร้างภาพระบบยุติธรรมที่เที่ยงตรงผ่านซีรีส์สืบสวนสอบสวน หรือการกระตุ้นให้ผู้ชมอยากผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเอง อย่างเช่นที่ซีรีส์เรื่อง Start-Up กำลังได้รับความนิยม
แล้วทำไมเกาหลีใต้ถึงต้องการผลักดันเรื่องสตาร์ทอัพ ในเมื่อมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง ฮุนได และ แอลจี ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งประเทศอยู่แล้ว? คำตอบก็คือ เกาหลีใต้มองว่าการพึ่งพาธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่รายถือเป็นความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว และธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้เติบโตช้าลงทุกที
ปี 2017 ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีมุนแจอิน เกาหลีใต้ตั้งกระทรวงเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (Startup (Ministry of SMEs and Startups) เพื่อให้การสนับสนุนโดยตรงแก่ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ที่ต้องการทำธุรกิจสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ โดยให้ทั้งเงินทุนและทรัพยากรด้านการวิจัยเพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ
หากมองในภาพรวม การส่งเสริมสตาร์ตอัปก็เป็นเหมือนการสนับสนุนให้ประชาชนได้คิดสร้างสรรค์ เรียนรู้ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม และสร้างรายได้ในอนาคต
ดังนั้นคงไม่ผิดเสียทีเดียวที่จะกล่าวว่า เมืองก็มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดเป้าหมายเหล่านี้
นอกเหนือจากเงินทุนกว่า 60,000 ล้านบาทที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าวงการสตาร์ทอัพในแต่ละปี และมาตรการด้านภาษีที่จูงใจนักลงทุนที่สนใจมอบเงินทุนให้เหล่าธุรกิจสตาร์ทอัพ อีกปัจจัยที่ทำให้วงการสตาร์ทอัพเกาหลีใต้อยู่ในระดับที่เทียบเคียงกับยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐอเมริกา คือ โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก คือ 100% เรียกได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีสัญญาณ 4G ให้ใช้งาน นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตเกาหลีใต้ยังมีความเร็วเฉลี่ยและจำนวนผู้ให้บริการมากที่สุดในโลกอีกด้วยเมื่อเทียบต่อจำนวนประชากร มากไปกว่านั้นเกาหลีใต้ยังพัฒนากฎหมายการจดสิทธิบัตรเพื่อให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ไอเดียของเหล่าสตาร์ทอัพซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความสำเร็จ
อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการศึกษา เพื่อหล่อหลอมให้ประชาชนรู้จักคิดและมีความสามารถในการออกแบบโปรแกรม พัฒนาและต่อยอดทางธุรกิจ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศ OECD ทำให้มีจำนวนแรงงานที่มีความสามารถรองรับธุรกิจสตาร์ทอัพได้
นอกจากนี้ ในแง่การพัฒนาโปรแกรมในช่วงแรกเริ่มของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือจำนวนผู้ใช้งานที่ไม่กลัวการเริ่มสิ่งใหม่ๆและพร้อมจะกระโดดเข้าหาเพื่อทดลองใช้งาน ชาวเกาหลีใต้ขึ้นชื่อในฐานะ Early adopter หรือกลุ่มคนหัวก้าวหน้าที่พร้อมริเริ่มทดลองสิ่งใหม่ๆก่อนที่สิ่งนั้นจะกลายเป็นที่นิยม ซึ่งนี่คือปัจจัยที่ทำให้สตาร์ทอัพเติบโตได้โดยง่าย
รัฐบาลเกาหลีใต้ยังให้ความสำคัญในแง่กายภาพ โดยการสร้าง Pangyo Techno Valley หรือเทียบกับ Silicon Valley แหล่งกำเนิดสตาร์ทอัพระดับโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Pangyo Techno Valley อยู่ในจังหวัดกยองกีทางตอนใต้ของกรุงโซล เป็นแหล่งส่งเสริมสตาร์ทอัพแบบครบวงจร ทั้งศูนย์วิจัยและศูนย์ข้อมูลการทำธุรกิจจากภาครัฐและเอกชน และการรวบรวมเอาธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างบรรยากาศให้การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างสตาร์ทอัพและสถาบันวิจัยเป็นไปได้อย่างง่ายดาย จนนำไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เกาหลีใต้ยังมีโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ช่วยให้ความช่วยเหลือในการสร้างธุรกิจกว่า 200 โครงการ ศูนย์นวัตกรรมอีก 134 แห่ง co-working space อีกนับร้อย ทำให้กลายเป็นแหล่งสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพชั้นดีที่ไม่ใช่สำหรับคนเกาหลีใต้เท่านั้น แต่หมายถึงชาวต่างชาติที่สนใจอีกด้วย เพราะรัฐบาลได้อำนวยความสะดวกขั้นตอนการขอวีซ่าสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาทำสตาร์ทอัพในเกาหลีใต้
นอกจากนี้ท่ามกลางสถานการณ์ Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน แต่สตาร์ทอัพกลับเติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นตัวแก้ปัญหาหลักของวิกฤตการณ์นี้ รัฐบาลยังช่วยอัดฉีดเงินทุนอีกกว่า 3,000 ล้านบาทเพื่อช่วยคงการจ้างงาน สนับสนุนอุปกรณ์การทำงานออนไลน์และส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะ โดยในช่วง Covid-19 นี้เหล่าสตาร์ทอัพในเกาหลีใต้ก็ยังคงสามารถระดมทุนและดึงดูดนักลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง
ผลจากการผลักดันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกาหลีใต้มีสตาร์ทอัพที่ก้าวสู่ระดับยูนิคอร์น หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (กว่า 30,000 ล้านบาท) แล้ว 12 ราย ถือเป็นประเทศที่มีธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ตามหลังจีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย โดยรัฐบาลเกาหลีใต้หวังว่าภายในปี 2020 จะเพิ่มเป็น 20 ราย