20/03/2020
Public Realm
เส้นทางแผนที่โรคระบาด จากยุคศตวรรษที่ 17 ถึง Big Data
The Urbanis
ในขณะที่การติดเชื้อโคโรน่าไวรัสกระจายตัวไปทั่วโลกและปรากฏจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ความกังวลมักมากขึ้นเป็นปกติ หนึ่งในรูปแบบข้อมูลที่เราติดตามกันอย่างหนักช่วงนี้คือ แผนที่แบบ Interactive จากหลายสำนัก ที่แสดงให้เห็นว่าโรคนี้กระจายตัวอย่างไร มีที่ไหนได้รับผลกระทบบ้าง และข้อมูลที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะข้อมูลที่แท้จริงและเพียงพอจะช่วยให้เราไม่ตระหนกและระมัดระวังตัวได้อย่างเหมาะสม
หนึ่งในตัวอย่างเด่น คือ แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นโดย Johns Hopkins University’s Center for Systems Science and Engineering งานออกแบบสีแดงตัดดำชิ้นนี้ใช้ซอฟต์แวร์จากบริษัท Esri โดยทาง Johns Hopkins รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขของทางการจากทั่วโลกแบบเรียลไทม์ ยิ่งวงกลมสีแดงใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ นั่นแปลว่าพื้นที่ตรงนั้นมีเคสผู้ติดเชื้อเยอะ ขณะนี้ยอดรวมผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 มากกว่าโรค SARS ที่ระบาดในปี 2003 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Metabiota บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยคุกคามจากการระบาดใหญ่ได้เพิ่มโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ลงในรายการเชื้อโรคที่ทางบริษัทติดตามอยู่กว่า 130 ตัวทั่วโลก หากเข้าไปดูในเว็บไซต์ https://www.epidemictracker.com/ จะพบว่าจุดสีส้มที่กระพริบอยู่ใช้แทนข้อมูลไวรัสที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
การทำแผนที่ลักษณะนี้เป็นเรื่องใหม่ไหม?
การฉายภาพการระบาดเหล่านี้มีมาแล้วเนิ่นนาน มีความพยายามทำมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แต่ในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ การทำแผนที่ทางการแพทย์ก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นเพราะมีคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตยังเป็นตัวเร่งให้การแบ่งปันและรวบรวมข้อมูลทำได้ง่ายขึ้นด้วย
เป็นเวลากว่าศตวรรษที่นักภูมิศาสตร์และสาธารณสุขใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการทำแผนที่เพื่อร่างทฤษฎีขึ้นมาว่าเพราะเหตุใดการระบาดชนิดใดชนิดหนึ่งจึงเกิดขึ้นโดยดูจากกลุ่มคนที่บาดเจ็บล้มตาย ทุกวันนี้สามารถคาดการได้ว่าการระบาดที่เกิดขึ้นจะมีวิวัฒนาการอย่างไรและสามารถกำหนดนโยบายตามข้อมูลที่คาดการณ์นี้
Este Geraghty หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์และผู้อำนวยการแก้ปัญหาสุขภาพของบริษัท Esri ระบุว่า การใช้ GIS ในอดีตมีเป้าหมายเพิ่อพัฒนาความเข้าใจและหาสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ ในขณะที่ทุกวันนี้ GIS พัฒนาแล้ว มันจึงเป็นเครื่องมือที่ทำอะไรได้มากขึ้นไปอีก
แผนที่เมื่อคราวห่าลง
Tom Koch อาจารย์ด้านภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (British Columbia) และผู้เขียนหนังสือเรื่อง Cartographies of Diseases (แผนที่โรค) ระบุว่าแผนที่โรคชิ้นแรกทำขึ้นตั้งแต่ปี 1692 ในเวลานั้นเชื้อโรคคือความหายนะที่กำลังคร่าชีวิตผู้คนทั่วทั้งยุโรป ด้าน Fillippo Arrieta ชาวอิตาลี ได้เล็งเห็นกลยุทธ์ในการกักกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในเมืองบารี (Bari) ของประเทศอิตาลี
ในแผนที่ของ Arrieta เมืองบารีแยกออกจากส่วนอื่นๆ ของประเทศโดยมีเส้นประกั้นซึ่งแสดงถึง เส้นเพื่อป้องกันใครก็ตามให้ออกจากพื้นที่ที่ติดเชื้อโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย ภายในจังหวัดที่มีการปิดล้อมมีพื้นที่ขนาดเล็กสองแห่งที่แบ่งแยกจากพื้นที่อื่นด้วยเส้นหนา และหากสังเกตให้ดีจะเห็นตัวอักษร “D” ในพื้นที่ด้านบนขวาซึ่งหมายความว่าจังหวัดมีการติดเชื้อจากโรคระบาด
อย่างไรก็ตาม ตามงานวิจัยของ Koch พบว่าการศึกษาเชิงพื้นที่รายละเอียดอย่างแท้จริงครั้งแรกของการแพร่ระบาดไม่ปรากฏก่อนปี 1797 (โดยประมาณ) เอกสารตีพิมพ์ใน the Medical Repository ในแผนที่การระบาดไข้เหลืองของ Valentine Seaman ที่นิวยอร์กซิตี้ Seaman แสดงตำแหน่งผู้ป่วยไข้เหลืองโดยจุดลงบนแผนที่ และดูตำแหน่งพื้นที่ทิ้งขยะและพื้นที่โสโครกในแมนฮัตตันโดยทำสัญลักษณ์ตัว S หนาไว้ที่บริเวณนั้น จากการสังเกตของ Seaman เขาสรุปว่าการระบาดของโรคร้ายแรงนี้เชื่อมโยงกับพื้นที่เหล่านั้น
อย่างไรก็ตามทฤษฎีของ Seaman ไม่ได้ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะไข้เหลืองมียุงเป็นพาหะ ซึ่งยุงวางไข่ในพื้นที่สกปรกเหล่านั้น เวลาต่อมาเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นและข้อมูลเกี่ยวกับโรคมีให้เห็นมากขึ้น อย่างไรก็ตามแผนที่โรคเพิ่งจะมีมากมายมหาศาลเมื่อมีการระบาดของอหิวาตกโรคอย่างรุนแรงในยุโรปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักรในช่วงกลางศตวรรษที่ 19
แผนที่ของ John Snow ที่ว่าด้วยการระบาดของอหิวาตกโรคในลอนดอนในปี 1854 ยังคงเป็นตัวอย่างที่ได้รับความนิยมที่สุดในการแสดงให้เห็นพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคเพราะเขาพยายามอย่างมากที่จะเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหา เขาได้พล็อตตำแหน่งผู้บาดเจ็บล้มตายคู่กับตำแหน่งปั๊มน้ำในเมือง จากนั้นเขาก็หาจุดที่น้ำเป็นต้นกำเนิดของโรคได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้เขาไม่ใช่คนเดียวที่ทำแผนที่เกี่ยวกับอหิวาตกโรคในช่วงนั้น
ในบรรดาแผนที่โรคห่าของเมืองลอนดอน มีแผนที่ของ Richard Grainger ที่แสดงสมมติฐานความสัมพันธ์ระหว่างโรคและความสูง Grainger ลงเมืองในแผนที่อย่างแม่นยำ โดยใส่รายละเอียดของอำเภอและตำบลลงไปรวมไปถึงตำแหน่งของบ่อน้ำและท่อระบายน้ำ เขาได้เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับความสูงของพื้นที่และแรงเงาพื้นที่ตามตามความรุนแรงของการระบาดของอหิวาตกโรค: ยิ่งสีน้ำเงินยิ่งเข้ม หมายความว่าได้รับผลกระทบสูง
แผนที่เมื่อมีบิ๊กดาต้า
เมื่อมาดูที่อีกสองศตวรรษถัดมา การมีขึ้นของคอมพิวเตอร์ทำให้การสร้างแผนที่ทำได้รวดเร็วขึ้นมาก ถัดมาอีกไม่กี่สิบปี การเข้ามาอินเทอร์เน็ตยิ่งเร่งให้ให้การรวบรวมและส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างสะดวก ผลก็คือทำให้เกิดการสร้างแบบจำลองเชิงพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าใจว่าการแพร่ระบาดของโรคอาจเกิดขึ้นที่ไหนต่อไป และระบุพื้นที่ที่เสี่ยงที่สุดได้ โมเดลเหล่านี้มีส่วนให้การสาธารณสุขทำงานได้ดี
Geraghty บอกว่าเมื่อเธอเข้าทำงานที่ Esri ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขต่างคุ้นเคย มีความเข้าใจ และมีประสบการณ์ในการทำแผนที่มาก่อน เพียงแต่ทุกวันนี้เครื่องมือเปลี่ยนเป็นรูปแบบเว็บไซต์ GIS
ผลก็คือ ข้อมูลจำนวนใหญ่ขึ้นแสดงให้เห็นได้ง่ายขึ้น และผู้ใช้ GIS สามารถสร้างโมเดลการคาดการณ์ของตัวเองโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่มี ท่ามกลางข้อมูลที่มากล้น ข้อมูลที่พร้อมเข้าถึงได้เลยได้แก่ข้อมูลสัมมโนประชากร เส้นทางเดินเรือและเส้นทางบิน รวมไปถึงเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย
ในปี 2016 ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาได้ใช้ผลิตภัณฑ์และความเชี่ยวชาญของ Esri ในการเฝ้าติดตามการกระจายตัวของไวรัสซิก้า (Zika)
ซิก้าแพร่เชื้อโดยยุงลายและ อัตราการมีชีวิตรอดและสืบพันธ์ของแมลงนั้นขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ อุณหภูมิ สภาพอากาศ การใช้ที่ดิน ประชากร และความสูง หลังจากวิเคราะห์ตามปัจจัยข้างต้น นักวิจัยสามารถระบุพื้นที่รอบโลกได้ว่าที่ไหนเหมาะกับการอยู่อาศัยของยุง และเอาข้อมูลชุดนี้มาดูควบคู่กับข้อมูลสัมมโนประชากร ซิก้าเป็นอันตรายโดยเฉพาะกับผู้หญิงท้อง การเอาข้อมูลสัมมโนประชากรมาวางซ้อนทำให้นักวิจัยระบุได้ว่าพื้นที่ส่วนไหนที่มีคนเสี่ยงอยู๋มากที่สุด การทำข้อมูลลักษณะนี้ทำให้การกำหนดนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการแนะนำคนในพื้นที่เสี่ยงให้กำจัดยุงและลูกน้ำเพื่อลดการแพร่กระจายโรค
หน้าสรุปข้อมูลข้างต้น (Dashboard) แสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ป่วยซิก้าในสหรัฐอเมริกาและข้อมูลข้างต้นนี้เปิดให้ใครก็ตามเข้าถึงได้ ยิ่งสีแดงเข้มเท่าไหร่ในแผนที่แต่ละรัฐ แปลว่าที่นั้นๆ ยิ่งมีผู้ป่วยมาก
ท้ายที่สุด Metabiota ได้รวบรวมและสะสางข้อมูลทั้งหมดที่มีการระบาดถึง 2,400 ครั้งตั้งแต่เริ่มในปี 2008 ส่วนที่ติดตามการแพร่ระบาดนั้นเข้าถึงได้โดยสาธารณะ แต่ข้อมูลการคาดการณ์ที่มากกว่านั้นจะมีแต่ลูกค้าเท่านั้นที่เข้าถึงได้ ซึ่งศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในนั้น
ผู้บริหารของ Metabiota บอกว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดที่ผ่านมามีส่วนช่วยตัดสินใจการควบคุมสถานการณ์ในอนาคตได้ อีกทั้งยังบอกว่าโรคระบาดไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา
สำหรับโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ุใหม่ทางบริษัทกำลังประเมินว่าที่ไหนและเมื่อไหร่การระบาดจะเกิดขึ้น
การแสดงข้อมูลของ The John Hopkins เรื่องโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก็มาจากข้อมูลหลายแห่ง ทั้งจากข้อมูลระดับโลก ข้อมูลจากจีน และสหรัฐอเมริกา ข้อมูลที่แสดงออกมาจึงเป็นไปตามแหล่งข้อมูลที่ได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีบางกรณีที่ไม่ได้รายงานเข้ามาด้วย
ด้าน Esri กล่าวว่า GIS ในอนาคตจะยิ่งเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีความต้องการด้านผู้เชี่ยวชาย GIS มาก ส่วนคนที่อาจไม่ได้ทำงานด้านนี้โดยตรงแต่เป็นผู้ที่ต้องการใช้แผนที่ในการเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ เพื่อกำหนดนโยบายอาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่อง GIS อย่างลึกซึ้ง แต่รู้เรื่องแผนที่ก็เพียงพอแล้ว
บทความ “เส้นทางแผนที่โรคระบาด จากยุคศตวรรษที่ 17 ถึง Big Data” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Coronavirus Outbreak Maps Rooted in History โดย Marie Patino, CITYLAB