09/04/2020
Public Realm

ความเท่าเทียมที่ไม่เท่าเทียม: ความเสี่ยงและอนาคตของคนไร้บ้านในยุคโควิด-19

The Urbanis
 


คนไร้บ้านเป็นกลุ่มเปราะชากรที่เปราะบางที่สุดกลุ่มหนึ่งของเมือง การแพร่ระบาดของโควิด 19 แม้หลายคนจะบอกว่าโรคระบาดเป็นสิ่งที่ไม่เลือกหน้าไม่ว่าจะเป็นยากดีมีจน แต่ดูเหมือนว่าคนจนและคนเปราะบางจะได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์ในระดับมากกว่าคนทั่วไป

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คนไร้บ้านคือกลุ่มที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากไวรัสเช่นเดียวกัน ทว่าพวกเขากลับไม่สามารถรับมือกับมันได้มากเทียบเท่ากับคนทั่วไป

…เราเผชิญไวรัสเท่ากัน แต่ป้องกันได้ไม่เท่ากัน

คนไร้บ้านอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต่อการโรคระบาด ทั้งในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักคนไร้บ้าน เข้าไม่ถึงสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน และความรู้ที่เท่าทันในการป้องกันตัวเองจากความเจ็บป่วย ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชึวิตและสุขภาพของคนไร้บ้านแทบทั้งสิ้น

คนไร้บ้านคือประชากรกลุ่มเปราะบาง ด้วยตัวของพวกเขาเองแล้วนอกจากจะจัดเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดกลุ่มหนึ่งแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่สามารถรับมือกับโรคดังกล่าวได้น้อยที่สุดเช่นเดียวกัน พวกเขาขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและมาตรการป้องกัน หรือแม้จะตื่นตัวแล้ว แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันโรคได้

วันนี้เราจะลองมาดูกันว่าพวกเขามีความเสี่ยงมากไปกว่าคนทั่วไปอย่างไรบ้าง? เพื่อที่เป็นข้อมูลในการจัดการช่วยเหลือและป้องกันทั้งในเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจ ในยุคโควิด 19 และยุคหลังโควิด 19 ซึ่งเราอาจสามารถแบ่งความเสี่ยงที่จะเกิดกับคนไร้บ้านเป็น 2 ส่วนหลักด้วยกัน คือ ความเสี่ยงทางสุขภาพ และความเสี่ยงทางสังคมเศรษฐกิจ

ความเสี่ยงด้านสุขภาพ (Health Risk)

ในประด็นความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไร้บ้านในภาวะการระบาดของโควิด-19 จากการประเมินสถานการณ์ของทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาจจำแนกเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้

  • มาตราการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และอยู่กับบ้าน (Stay Home) แม้จะเป็นมาตรการที่ดีเพื่อลดอัตรการแพร่ระบาดของไวรัส แต่สำหรับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางในเมืองหลายกลุ่มดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก ประการแรก ต้องไม่ลืมว่าคนไร้บ้าน ‘ไม่มีบ้าน’ ให้กักเก็บตัวแต่อย่างใด คนไร้บ้านส่วนใหญ่ออกมาใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ หรือบางส่วนอาศัยอยู่ร่วมกัน รวมตัวในที่ๆ หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน แคมป์ ตึกร้าง หรืออื่นๆ ประการที่สอง งานและรายได้ในการเลี้ยงชีพของพวกเขาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สาธารณะและเป็นงานที่จะต้องพบเจอผู้คน ในแง่นี้ อาจจะต้องมีการคิดมาตรการที่เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้ต่อไป เช่น การป้องกันหรือการให้ความช่วยเหลือในการกักตัวที่เหมาะสมบนฐานของสิทธิ
  • ปัญหาด้านสุขอนามัย ในสภาวะที่เราต้องมีการดูแลตนเองด้านสุขอนามัยความสะอาดให้มากที่สุด แต่คนไร้บ้านกลับไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดได้
  • ปัญหาเรื่องสุขภาพส่วนบุคคลของพี่น้องคนไร้บ้าน คนไร้บ้านส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ค่อนของสูง หรือเป็นคนสูงวัย มีความเจ็บป่วยทางสุขภาพ มีโรคประจำตัว บางคนมีความพิการ ส่งผลต่อการป้องกันและเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
  • คนไร้บ้านไม่ใช่กลุ่มคนที่มีงานประจำ และอาชีพของพวกเขาไม่ได้มีให้เลือกมากมายนัก การออกไปหารายได้ ออกไปทำงานแต่ละวันล้วนมีความเสี่ยง พวกเขาไม่สามารถทำงานจากที่บ้าน (work from home) หรือที่อื่นๆ นอกเหนือไปจากพื้นที่ทางกายภาพในการทำงานเท่านั้น
  • การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกันโรค เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หรือแม้แต่สบู่ล้างมือ ในสภาวะที่ของเหล่านี้ขาดตลาดและราคาถีบตัวสูงขึ้น

ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Risk)

นอกเหนือจากผลกระทบทางสุขภาพของการแพร่ระบาดแล้ว การพร่ระบาดยังส่งผลต่อไปถึงความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อคนไร้บ้านเฉกเช่นเดียวกับประชากรหลายกลุ่มในสังคมด้วยเช่นกัน เราสามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้

  • คนไร้บ้านส่วนใหญ่มีการทำงานหารายได้ ผลสำรวจคนไร้บ้านใน กทม. พบว่าร้อยละ 90 ของคนไร้บ้าน มีงานทำ แต่เป็นงานที่ไม่มีความมั่นคงทางรายได้ หรือเป็นงานที่ได้รับค่าจ้างรายวัน ในแง่นี้ การ Lock Down ที่ส่งผลทำให้งานหายไปจากเมือง โดยเฉพาะงานสำหรับแรงงานกึ่งทักษะและไร้ทักษะ และงานรายวันต่างๆ ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อคนไร้บ้าน ที่เป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำ ไม่มีหลักประกันอื่นใดในทางสังคมเศรษฐกิจ
  • ระบบสวัสดิการและการช่วยเหลือของรัฐจำนวนมาก คนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึงหรือมีสิทธิในการเข้าถึงได้ กล่าวคือ การลงทะเบียนรับความช่วยเหลือที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และต้องพึ่งพาเทคโนโลยี สร้างข้อจำกัดอย่างสำคัญต่อคนไร้บ้านในการเข้าถึงความช่วยเหลือ ในทางเดียวกับ คนไร้บ้านจำนวนมากที่เป็นคนไทยที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ ส่งผลให้ไม่มีสิทธิในการรับความช่วยเหลือ แม้จะเป็นกลุ่มคนที่จนและเปราะบางที่สุดที่ควรได้รับความช่วยเหลือก็ตาม นอกจากนี้ รูปแบบความช่วยเหลือที่มีลักษณะของการจ่ายเป็นรายเดือนอาจไม่เหมาะสมกับคนไร้บ้านที่เป็นแรงงานรายวัน มีรายได้วันชนวัน

ในอนาคตอันใกล้นี้เมื่อเมืองถูกปิด พื้นที่สาธารณะถูกปิด การเดินทางสัญจรนอกบ้านถูกจำกัด และถนนใหญ่ถูกปิด อาจส่งผลกระทบในทางลบอย่างมากต่อคนไร้บ้าน ยังไม่มีอะไรแน่ชัดว่าคนไร้บ้านจะถูกนำไปอยู่ที่ไหนและอยู่อย่างไร ความเปราะบางทั้งหลายเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลและวางแผนจัดการ โดยเริ่มจากความเข้าใจว่าพวกเขามีความเสี่ยงอย่างไร มีความเปราะบางอย่างไร และต้องเผชิญกับอะไรบ้างในสถานการณ์นี้

และแน่นอน ความถดถอยทางเศรษฐกิจ (Economic Recession) ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในช่วงหลังโควิด-19 น่าจะส่งผลให้กลุ่มคนจน คนเปราะบางในเมือง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เข้าสู่ภาวะไร้บ้านมากขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง นี่คือ โจทย์ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดอย่างละเอียด รอบคอบ และรวดเร็ว 

บทความ “ความเท่าเทียมที่ไม่เท่าเทียม: ความเสี่ยงและอนาคตของคนไร้บ้านในยุคโควิด-19” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ทิพย์วิมล บุญมี และ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

แผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานเครือข่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.


Contributor