11/02/2022
Public Realm
“ใครเคลื่อนเมือง?” เมกะโปรเจกต์กับบทบาทกำหนดทิศทางเมือง
นวพร เต็งประเสริฐ
หลายคนคงอาจเคยได้ยินคำว่า “คนสร้างเมือง แล้วต่อไปเมืองจะสร้างคน” ของญาน เกห์ล แล้วเคยคิดหรือไม่ว่าถ้าเมืองมีส่วนในการสร้างคน แล้วคนสามารถสร้างและกำหนดทิศทางของเมืองได้จริงหรือ?
มาทำความรู้จักกับโครงการเมกะโปรเจกต์ ในฐานะบทบาทสำคัญที่เปลี่ยนทิศทางของเมือง มันมีความสำคัญไม่เพียงแต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมภายในเมืองอีกด้วย ลักษณะของเมกะโปรเจกต์ คือ การลงทุนขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน ใช้เงินลงทุนหลายพันล้าน และมีความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ในกรุงเทพฯ เองนั้น จะมีทั้งที่เป็นโครงการของภาครัฐ เช่น สถานีกลางบางซื่อ สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี คลองโอ่งอ่าง โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองผดุงกรุงเกษม หรือโครงการของภาคเอกชน เช่น ไอคอนสยาม สิงห์ คอมเพล็กซ์ สินธร วิลเลจ วิสซ์ดอม 101 เดอะ ฟอเรสเทียส์ วัน แบ็งค็อก ตึกมหานคร เป็นต้น หากยังนึกภาพไม่ออกว่าเมกะโปรเจกต์เหล่านี้มันกำหนดทิศทางของเมืองได้อย่างไร เราจะพาไปดูตัวอย่างของต่างประเทศกัน
ตัวอย่างจากต่างประเทศ
สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (Hong Kong – Zhuhai – Macao Bridge) เป็นโครงการสร้างสะพานและอุโมงค์ในบริเวณ Greater Bay Area ทางตอนใต้ของจีน ที่จะเชื่อมต่อสามเมืองเข้าด้วยกัน ซึ่งจะส่งเสริมให้พื้นที่นี้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภูมิภาค จากเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางกว่า 4 ชั่วโมงจากฮ่องกงไปเมืองจูไห่ก็ลดลงเหลือเพียงแค่ 45 นาทีด้วยการใช้สะพาน เป็นการช่วยลดต้นทุนในการขนส่งและเวลาได้อย่างมาก และยังทำให้การขนส่งสินค้าจากท่าอากาศยานฮ่องกงที่มีความคึกคักที่สุดในจีนมีความสะดวกยิ่งขึ้น ถือเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
คลองชองเกชอน (Cheonggyecheon) คลองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 600 ปี จุดเช็คอินของเกาหลีที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี แต่กว่าจะมาเป็นทุกวันนี้โครงการนี้ได้ผ่านอะไรมาอย่างมากมาย ต้องผ่านการทุบทางด่วนและถนนที่เป็นเส้นทางสำคัญของเมือง เพราะสร้างทับคลองอยู่ รวมถึงต้องบูรณะจากคลองน้ำเสียให้กลายเป็นคลองน้ำใส เป็นอีกโครงการสำคัญที่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายในย่านเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้พื้นที่ในบริเวณนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 64,000 คน/วัน ราคาที่ดินบริเวณใกล้พื้นที่โครงการระยะ 50 เมตร มีราคาเพิ่มขึ้น 30-50 % ซึ่งเป็นอัตราสองเท่าของการเพิ่มขึ้นราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงโซล ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ คือ การมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งร่วมกันหารือกว่า 4,200 ครั้ง เป็นผลทำให้โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนและเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน
จะเห็นได้ว่าโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในเมืองมันสามารถเปลี่ยนทิศทางของเมืองได้จริง ๆ เพียงมีสะพานที่สามารถเชื่อมต่อเมืองให้ถึงกัน ก็เป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หรือการฟื้นฟูคลองน้ำเน่าก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม
แล้วกรุงเทพฯ?
กลับมาดูกันที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีแต่ไซต์งานก่อสร้างทั่วเมืองไปหมด ทั้งโครงการของภาครัฐและเอกชนที่ต่างก็อยากจะให้เมืองนี้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบคมนาคมทางราง โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในเมือง รวมถึงดึงดูดชาวต่างชาติ มุ่งหวังจะยกระดับพื้นที่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ยกตัวอย่าง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ถือเป็นสถานีรถไฟฟ้าแห่งแรกที่เชื่อมต่อไปยันพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทำให้ผู้อยู่อาศัยในย่านลำลูกกา คูคต สามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นตัวช่วยให้ถนนพหลโยธินที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติด สามารถลดความหนาแน่นของการจราจรไปได้ และแน่นอนว่ารถไฟฟ้านอกจากทำให้เดินทางสะดวก มักมาพร้อมกับราคาที่ดินที่สูงขึ้นตามความต้องการซื้อ จากการสำรวจข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่าในปี 2563 ที่ดินทำเลรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย หมอชิต-คูคต มีราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 61.3% ซึ่งเป็นทำเลที่มีการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินมากที่สุดต่อเนื่องมา 4 ไตรมาสแล้ว
วัน แบงค็อก (One Bangkok) โครงการอภิมหาโปรเจกต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนถนนพระราม 4 ลงทุนงบประมาณไปกว่า 1.2 พันล้านบาท บนพื้นที่กว่า 104 ไร่ ที่ถือเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วางเป้าไว้ว่าจะทำให้โครงการนี้เป็นหมุดหมายใหม่ของประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการในโครงการเฉลี่ยวันละ 200,000 คน ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะทำให้ย่านพระราม 4 หรือเมืองชั้นใน มีประชากรหนาแน่นขึ้นในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เราอยากชวนย้อนดูอีกมุมของเมกะโปรเจกต์ที่ต้องหยุดชะงักและเป็นที่กล่าวถึงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตกรุงเทพฯบริเวณคลองลัดโพธิ์ โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารวม 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ เพิ่มกิจกรรมของสาธารณะ เพิ่มทางเดินเท้า ทางจักรยาน รวมถึงพัฒนาทัศนียภาพให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ริเริ่มกันมาตั้งแต่ 2558 จนมาถึงปัจจุบันผ่านมาแล้ว 7 ปีก็ยังคงถูกชะลอโครงการ เนื่องจากเกิดเสียงคัดค้านจากหลายหน่วยงานจนทำให้เกิดการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลมีคำพิพากษาให้ชะลอโครงการออกไป โดยสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการก่อสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำแม่น้ำซึ่งไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังมีผลกระทบทางลบหลายด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ทำให้ทางกทม.ต้องพับโครงการนี้เก็บไปก่อน
เห็นได้ว่าแม้จะวาดฝันวางโครงการเอาไว้อย่างสวยงามก็สามารถหยุดชะงักได้ หากโครงการนั้นส่งผลเสียให้กับสังคมมากกว่าผลดี โดยเฉพาะโครงการที่ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้โครงการสอดคล้องต่อความต้องการของประชาชน
จะเห็นได้ว่าเมกะโปรเจกต์มีส่วนในการกำหนดเมืองได้หลายทาง ทั้งภาพลักษณ์ เศรษฐกิจ กายภาพเมือง และคุณภาพชีวิตของผู้คนหากเมกะโปรเจกต์จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดชีวิตและทิศทางของเมือง แล้วเราได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองจริงหรือ ?
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
.
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS
ที่มาข้อมูล
2563 ศาลสั่งระงับโครงการ เฟส1 แล้ว
เรื่องน่ารู้ของ “ฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า” สะพานข้ามทะเลยาวที่สุดในโลกของจีน
Mega Projects in Bangkok and Chiang Mai
มองคลองชองเกซอนแล้วย้อนดูตัว บทเรียนการปฏิรูปเมืองจากโซลถึงกรุงเทพมหานคร
ผู้นำการบริหารจัดการเมืองรุ่นใหม่: กรณีศึกษา คลองชองเกชอน เกาหลีใต้
ส่อง “ที่สุด” มาสเตอร์แพลนมิกซ์ยูส 1.2 แสนล้าน One Bangkok ปั้นแลนด์มาร์คโลก เปิดเฟสแรกปี 2566
ที่ดินแนวรถไฟฟ้าราคาพุ่ง สายสีเขียวเหนือครองแชมป์
เปิดโผราคาที่ดินเปล่า คูคต-ลำลูกกา พุ่ง 61.3%