05/10/2021
Public Realm
ชุมชนแออัดแห่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ประวัติศาสตร์เมืองบนภาพแกะสลักไม้
สรวิชญ์ ธรรมรติวงศ์
โลกของเราได้เข้าสู่ช่วงแห่งเวลาใหม่ภายหลังเหตุการณ์การปฏิวัติครั้งใหญ่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 คือ ช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดลงมาในภาพวาด ณ สมัยนั้น ทำให้เราเห็นสามารถเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสิ่ง ๆ ต่างได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
เมืองก็เป็นอีกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม อย่างที่เรารู้กันอยู่เสมอว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นทำให้มีผู้คนจำนวนมากจากทุกสารทิศแห่กันเข้ามาในเมืองเพื่อทำงาน ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เห็นได้จากยุโรปในช่วง ค.ศ. 1890 ที่สัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 โดยทั้งจำนวนประชากรและโรงงานอุตสาหกรรมที่มาก สถาพสังคมเมืองในสมัยนั้นจึงมีด้านมืดอยู่หลายอย่าง ๆ ด้านมืดเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านภาพวาดในหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งในบทความนี้จะแสดงถึงภาพวาดที่บอกเล่าด้านมืดทางสังคมอย่างชุมชนแออัดที่เกิดขึ้น เนื่องจากความหนาแน่นที่สูงของประชากรในเมือง
อย่างที่เรารู้กันว่ามีผู้คนจำนวนมาอพยพเข้ามาในเมืองช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้คนที่อพยพเข้ามาเหล่านี้ส่วนมากก็คือ แรงงานที่เข้ามาเพื่อทำงาน พวกเขาไม่ได้มีทรัพย์สินมากมายพอจะสร้างที่อยู่อาศัยที่ดีได้ ประกอบกับอาชีพแรงงานที่ต้องทำงานตลอดเวลา พวกเขาจึงต้องไปอาศัยอยู่รวมกันใกล้โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใจกลางเมือง จนเกิดเป็นชุมชนแออัดกลางเมืองขึ้น
ในพื้นที่ชุมชนแออัด บ้านถูกก่อสร้างในลักษณะหันหลังชนกัน (back-to-back houses) ยาวเป็นแถว แต่ละแถวคั่นด้วยซอยแคบ ด้วยความที่มีผู้คนอาศัยกันอย่างหนาแน่น ทำให้สภาพพื้นที่เต็มไปด้วยความสกปรก ความแออัด เช่น เช่น ณ กรุงปารีส แรงงานประมาณ 30,000 คนต้องอาศัยในห้องเช่าที่มีขนาดเล็ก และในห้องอาจมีคนอยู่ร่วมกันประมาณ 8-9 คน ไม่แบ่งเพศ นับเป็นเรื่องปกติของชนชั้นแรงงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ด้วยสภาพชุมชนที่ระบบสุขภาวะแย่อย่างมาก ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นเสี่ยงต่อโรคระบาดอย่างมาก โรคเหล่านี้มักจะมากับน้ำที่ผู้คนในชุมชนใช้อุปโภคบริโภคกัน และเมื่อเชื้อโรคเข้ามาได้แล้ว ก็จะระบาดไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีผู้อาศัยอย่างหนาแน่น ตัวอย่างโรคระบาดที่เกิดขึ้น เช่น อหิวาตกโรค (Cholera) ไข้ทรพิษ (Smallpox) การะบาดของโรคและระบบสุขภาวะที่ย่ำแย่นี้มีส่วนให้อายุขัยเฉลี่ยของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัดค่อนข้างต่ำมาก อย่างในเมืองแมนเชสเตอร์ อายุขัยเฉลี่ยของผู้ที่ทำงานในโรงงานและอาศัยอยู่ในสลัมอยู่ที่เพียง 17 ปีเท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าน้อยมาก
เมื่อทราบลักษณะทางกายภาพของชุมชนแออัดในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ต่อไปจะเป็นตัวอย่างภาพวาดหรือการ์ตูนล้อเลียนสภาพสังคมของชุมชนแออัดในสมัยนั้น เริ่มจากภาพแกะสลักบนไม้โดย Gustave Dore ใน ค.ศ. 1872 ซึ่งมีมากถึง 180 ภาพ แต่ละภาพจะบอกเล่าของชุมชนแออัดในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ที่เต็มไปด้วยความแออัด ความสกปรก มลพิษ และอื่น ๆ
ภาพด้านบนแสดงถึงชุมชนแออัดในกรุงลอนดอนที่ตั้งอยู่พื้นที่ที่ทางรถไฟวิ่งผ่าน ในภาพเราจะเห็นที่บ้านแบบ back-to-back houses ที่ขั้นซอยขนาดเล็กได้อย่างชัดเจน รวมถึงรถไฟที่วิ่งผ่านแล้วปล่อยควันพิษลงมาพื้นที่ด้วย
ส่วนภาพที่สองเป็นภาพตลาดที่ Dudley Street จะเห็นว่ามีผู้คนกำลังซื้อขายสินค้าท่ามกลางความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กที่จำนวนมากเป็นพิเศษ แสดงถึงที่สภาพสังคมที่ไม่มีการคุมกำเนิดหรือการวางแผนครอบครัว
นอกจากภาพแกะสลักของ Gustave Dove ยังมีภาพอีกภาพที่น่าสนใจ คือ ภาพแกะสลักของ John Leach ที่ชื่อ “A Court of King Cholera” ที่ที่ถูกทำขึ้นใน ค.ศ. 1852 ภาพนี้แสดงถึงระบบสุขภาวะที่ย่ำแย่ในเมืองยุคอุตสาหกรรม เห็นได้จากมีเด็กที่เล่นกับหนู หรือผู้หญิงที่กำลังเก็บกองขยะในเมืองที่ก่อให้เกิดมลพิษหลายประการ สภาพเมืองแบบนี้เอื้อให้เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคอย่างมาก ซึ่งโรคได้ระบาดไปทั่วยุโรปในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทำให้มีผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามสภาพของชุมชนแออัดที่ย่ำแย่นั้นก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป รัฐบาลของอังกฤษได้พยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ตลอด เช่น การออกกฎหมาย Public Health Act ใน ค.ศ. 1848 หรือ Dwellings Act ใน ค.ศ. 1875 จนสภาพสุขอนามัยในพื้นที่เหล่านี้เริ่มได้รับการแก้ไขและดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความพยายามแก้ไขเหล่านี้แสดงถึงการเริ่มให้ความสำคัญแก่สุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนในเมือง โดยเฉพาะชนชั้นแรงงานที่ถือเป็นรากฐานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็กำลังเป็นเทรนด์ที่สำคัญในการพัฒนาเมืองในโลกปัจจุบันเช่นกัน
แหล่งอ้างอิง
ศิริวิไล ธีระโรจนารัตน์. (2563). ภูมิศาสตร์เมือง. กรุงเทพมหานคร: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Spielvogel, Jackson J. (2012). Western Civilization. Boston: Wadsworth, Cengage Learning.
Cole, J., & Symes, C. (2016). Western civilizations: Their history & their culture. New York ; London : W.W. Norton & Company