06/10/2020
Environment
กรุงเทพฯ เมืองเวนิสแห่งตะวันออก กับการสัญจรทางน้ำที่กำลังจะหายไป
The Urbanis
หลายคนคงเคยได้ยินว่า ในอดีตกรุงเทพฯ เคยมีชื่อเล่นเก๋ๆ เป็น ‘เวนิสแห่งตะวันออก’ เนื่องจากมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมือง ทั้งยังมีลำน้ำคูคลองแตกแขนงจำนวนมากที่เชื่อมถึงกันทั้งหมด นำมาซึ่งการสัญจรทางน้ำที่เป็นเส้นทางคมนาคมหลัก คนกรุงเทพฯ จึงผูกพันกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน ทว่าปัจจุบันเหล่าคูคลองเหล่านั้นกลับถูกลดบทบาทลง โดยมีตัวละครใหม่อย่าง ‘ถนน’ เข้ามาช่วงชิงความสำคัญแทน คลองจึงค่อยๆ ลดความสำคัญ และค่อยๆ หายไปจากชีวิตประจำวันของเรา
ย้อนกลับไปดูในเชิงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อนจะมีกรุงเทพมหานคร บริเวณนี้เป็นเพียงสถานีการค้าขนาดเล็กที่อยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแม่น้ำลำคลองเป็นตัวเลือกหลักในการใช้ และขยายเครือข่ายการขนส่ง เราพบว่า ช่วงปีพ.ศ. 2065 – 2179 มีการขุดคลองลัดจากบางกอกน้อย – บางกอกใหญ่ บางกรวยจากวัดชะลอถึงวัดขี้เหล็กบางกอกน้อย และปากคลองแม่น้ำอ้อมถึงวัดเขมา เป็นการเปิดเส้นทางสัญจรใหม่ๆ เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางสู่อยุธยาโดยตรง
แม่น้ำลำคลองจึงเป็นแหล่งที่มาของอุปโภค และบริโภค และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และประเพณีริมน้ำภาคกลางต่างๆ เช่น ตักบาตร, ลอยกระทง หรือทอดกฐินทางน้ำ ฯลฯ เรียกได้ว่า เป็นเนื้อเดียวกับชีวิตประจำวันของคนกรุง และมีบทบาทสนับสนุนเจริญงอกงามของสังคมเป็นอย่างยิ่ง
มีหลายสมมติฐานว่าชื่อ ‘บางกอก’(Bangkok) มีที่มาหลายอย่าง เช่น ‘กอก’ ที่มาจากต้นมะกอกที่ปลูกมากในบริเวณนี้ หรือ ‘เกาะ’ อันหมายถึงพื้นที่ที่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำ และลำคลองจนเป็นเกาะ เพราะแต่เดิมกรุงเทพในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โครงข่ายคลองมีลักษณะเป็นใยแมงมุม และมีจำนวนมากกว่า 1,200 คลอง แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพฯ มีคลองอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะช่วงการขยายตัวของชุมชนทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา(ธนบุรีและพระนคร) จำนวนคลองที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น
หากมองเฉพาะบริเวณฝั่งธนบุรีไม่เพียงแต่คลองธรรมชาติจำนวนมาก แต่ยังนิยมขุดคลองเพื่อใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม สังเกตได้ว่าบ้านสวนฝั่งธนจะมีท้องร่อง คลองหลัก และคลองซอยบริเวณรอบบ้านเสมอ ซึ่งคลองขุดหลายๆ สายยังเชื่อมต่อไปยังต่างจังหวัดอีกด้วย สามารถประยุกต์ใช้เป็นการขนส่งแบบพื้นบ้าน (Traditional Logistic) ได้อีกต่อหนึ่ง เป็นเส้นทางขนส่งสำคัญช่วงที่น้ำตาลและข้าวเป็นสินค้าส่งออกหลัก
ปัจจุบันฝั่งธนบุรีจึงเป็นฝั่งที่มีคลองมากที่สุดในกรุงเทพฯ โดยบางส่วนยังเป็นเส้นทางสัญจรแบบดั้งเดิม หรือทำการอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทตลาดน้ำและชุมชนริมคลอง
ต่อมาเมื่อเมืองขยายตัวจากผู้คนที่หนาแน่นขึ้น โดยเฉพาะจุดกำเนิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่ถนนเข้ามาแทนที่ในฐานะเส้นทางคมนาคมหลัก คลองจึงถูกลดบทบาทและกลายเป็นเพียง ‘แหล่งระบายน้ำและของเสีย’ เห็นได้จากบ้านริมคลองที่เคยหันหน้าบ้านไปทางน้ำ แต่ตอนนี้หันหน้าเข้าถนน ส่วนหลังบ้านเอาไว้ทิ้งของเสียแทน กระทั่งคลองบางเส้นถูกถมกลายเป็นถนนด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น คลองสาทรที่กลายเป็นถนนสาทรเป็นที่เรียบร้อย
ล่าสุดจากรายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำคลองปี 2555 โดยสำนักการระบายน้ำระบุว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีคลองจำนวน 1,161 คลอง อยู่ฝั่งพระนคร 512 คลอง และฝั่งธนบุรี 649 คลอง คลองเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ 213 คลอง และสำนักงานเขต 948 คลอง ซึ่งคลองเกือบทั้งหมดใกล้สิ้นสภาพในฐานะทางสัญจรทางน้ำแล้ว เนื่องจากถูกยึดด้วยชุมชนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง ที่สำคัญคือ กลายเป็นแหล่งรองรับน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือนและโรงงานต่าง ๆ ทำให้เต็มไปด้วยขยะที่ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสีย และสะสมจนตื้นเขินเกินกว่าจะเป็นแหล่งสัญจร และนำไปสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
สอดคล้องกับการสำรวจของ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงปี 2558 ที่พบว่า โครงข่ายระบบคลองในกรุงเทพฯ ไม่ได้ถูกใช้งานมากถึง 90% โดยมีเส้นทางเดินเรือ 67.49 กิโลเมตร ทั้งๆ ที่มีเส้นทางศักยภาพเดินเรือถึง 696.428 กิโลเมตร อาทิ เส้นทางด้านการคมนาคมขนส่งคลองแสนแสบ คลองมหานาค คลองภาษีเจริญ คลองผดุงกรุงเกษม และคลองดาวคะนอง ขณะที่คลองสำหรับการท่องเที่ยวก็จะมี ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองชักพระ ฯลฯ นำมาซึ่งแผนพัฒนาฟื้นฟูศักยภาพคลองที่เหลืออยู่ ให้กลับมาเป็นเส้นทางสัญจรได้อีกครั้ง
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอุปสรรคสำคัญอันดับอันดับต้นๆ ต่อการพัฒนาการขนส่งทางเรือคือ ปัญหาน้ำตื้นเขินจากขยะสะสม รวมไปปัญหาน้ำเน่าในลำคลองนั่นแหละ ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร(กทม.)เอง ก็มีแนวคิดที่จะฟื้นฟูลำคลองให้กลับมามีชีวิต ผ่านการดำเนินการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นอีก 15 โรง จากเดิมที่มีเพียง 8 โรง ซึ่งจะใช้งบประมาณกว่า 71,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2583 สามารถครอบคลุมพื้นที่ 33.59% ของกรุงเทพฯ จากทั้งหมด 1,500 ตารางกิโลเมตร สามารถบำบัดน้ำเสียได้ถึง 1.63 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ทั้งนี้เพื่อทวงคืนชื่อเล่นเวนิสตะวันออก โอกาสสำคัญในการฟื้นฟูการสัญจรทางน้ำยังมีอยู่มาก เพราะการลงทุนปรับปรุงเชิงพื้นที่บริเวณคลองมิได้ใช้ต้นทุนสูงนัก แพลตฟอร์มคลองเรามีพร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างใหม่แต่อย่างใด สิ่งที่ต้องการคือ ระบบสาธาณูปโภคเพิ่มขึ้น สร้างเรือที่เหมาะสมแก่การวิ่ง ยกตัวอย่างในประเทศเวียดนามที่เปิดบริการเรือเมล์สายแรกอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้
ผลประโยชน์จากการพัฒนาการสัญจรทางน้ำ ไม่เพียงจะเป็นทางเลือกใหม่(หรือเก่าแล้วนำมากลับมาทำใหม่) หากมองในระยะไกลยังสามารถพัฒนาระบบการขนส่งให้เชื่อมต่อทั่วทั้งเมืองเกิด Connectivity เชื่อมต่อระบบรถ ระบบราง และระบบเรือ เพื่อความสะดวกและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สอดคล้องกับงานวิจัย เรื่องการเชื่อมคลองกับระบบรถไฟฟ้าของคุณยรรยง บุญ-หลง ที่ว่า หากเราสามารถนำระบบคลองที่มีเยอะแต่วิ่งได้ช้า กับระบบรางที่มันวิ่งได้เร็วแต่มีน้อยมาเชื่อมต่อกัน มันจะกลายเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ที่ครอบคลุม และซื้อเวลาให้คนกรุงได้ เป็นไฮบริดที่จะเกิดปฏิสัมพันธ์ที่น่าสนใจ
ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีเครือข่ายที่สามารถถ่ายเทคนไปมาระหว่างทางบก และทางน้ำได้แล้ว เช่น BTS บางหว้า กับเรือโดยสารคลองภาษีเจริญ, BTS ราชเทวีกับเรือคลองแสนแสบ, BTS สะพานตากสิน กับเรือด่วนเจ้าพระยา และ Airport link รามคำแหงกับเรือคลองแสนแสบ ซึ่งลดความหนาแน่นของปริมาณรถยนต์บริเวณโดยรอบได้ดี และผู้ใช้บริการก็ยังสามารถควบคุมเวลาได้ด้วย
ฉะนั้นหากมีการพัฒนาการสัญจรทางน้ำอย่างจริงจังเพื่อนำกลับมาใช้งานได้จริง ชื่อเล่น ‘เวนิสตะวันออก’ ก็คงไม่ใช่อดีตอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นอนาคตที่เราจะต้องก้าวไปให้ถึง
อ้างอิง:
ผ่าแผน “กรุงเทพฯ” หวนคืนสู่ “เวนิสตะวันออก” หัวใจหลักอยู่ที่ “คน”, โดย MGR Online, 25 พฤษภาคม 2560, สืบค้นวันที่ 30 กันยายน 2562.
คลองในกรุงเทพฯ กับประสิทธิภาพในการสัญจร, โดย Voice Online, 30 Jun 2015, Retrieved 1 October 2019.
คลองในกรุงเทพฯนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อวัฒนธรรม และการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง, โดย Bangkok River, Retrieved 3 October 2019.
ไม่ต้องเบื่อรถติด! โฮจิมินห์เปิดบริการ “รถเมล์น้ำ” สายแรก, โดย Xinhua News Agency, 28 November 2017, Retrieved 3 October 2019