01/11/2019
Mobility
การเดินกับสาธารณูปการของเมือง : เราไม่ชอบหรือเราไม่มี
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
ช่วงนี้กระแสความรู้สึกต่อระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการของเมือง มันก็จะเป็นกระแสที่ร้อนแรงอยู่หน่อยๆ ทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ และในสื่อกระแสหลัก วันนี้ #GoodWalkThailand จะพาคุณผู้อ่านมารู้จักสาธารณูปการในมุมมองมิติของการเดินเท้าในกรุงเทพมหานครกัน
อะไรคือ… สาธารณูปโภค/อะไรคือ… สาธารณูปการ ของเมือง?
เราอาจได้ยินบ่อยในแวดวงข่าวสารการบ้านการเมือง แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่า 2 คำนี้ แท้จริงแล้วมีความหมายที่แตกต่างกัน ระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง หมายถึง บริการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับในชุมชน รัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและรับภาระในการให้บริการ (อาจจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม) บริการดังกล่าวจะปรากฏในเขตเมือง (Urban Area) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถแยกออกเป็น Public Utilities (สาธารณูปโภค) และ Public Facilities (สาธารณูปการ)
มีหลักการแยกง่ายๆ สำหรับการแยกสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เข้าใจได้ง่าย คือให้พิจารณาจากรูปแบบและลักษณะของการให้บริการ ดังนี้
“สาธารณูปโภค” [สาธารณะ+อุปโภค] มีรูปแบบการให้บริการเป็นรูปแบบเส้น/สาย และลักษณะของการให้บริการเป็นแบบบริการเป็นฝ่ายเข้าหาผู้รับบริการ หรือพูดกันง่ายๆ ว่าบริการเหล่านั้นจะวิ่งเข้ามาหาเรา สาธารณูปโภคของเมือง จึงได้แก่ ถนน โทรศัพท์ แก๊ส ไฟฟ้า ประปา การระบายน้ำ การกำจัดขยะ ฯลฯ ซึ่งสามารถจะจัดกลุ่มประเภทของสาธารณูปโภคได้ดังนี้คือ ถนน โทรศัพท์ การขนส่ง แก๊ส ไฟฟ้า เชื้อเพลิง ประปา ระบายน้ำ กำจัดขยะ การสื่อสาร เป็นต้น
ส่วนคำว่า “สาธารณูปการ” [สาธารณะ+อุปการ] มีรูปแบบการให้บริการเป็นรูปแบบจุดหรือตำแหน่ง โดยมีลักษณะของการให้บริการเป็นแบบที่ผู้รับบริการต้องเข้าหาผู้ให้บริการ หรือเรียกได้ว่าถ้าเราต้องการรับบริหารเหล่านั้นเราต้องเข้าหามัน ซึ่งบริการเหล่านั้นล้วนเป็นบริการเพื่อสาธารณะที่ดำเนินการผ่านองค์กรของรัฐหรือเอกชนโดยการควบคุมของรัฐบาล ได้แก่ บริการในเรื่องเคหการ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม การอนามัยความปลอดภัย สันทนาการ และบริการอื่นๆ ตามความต้องการของประชาชน และเป็นกิจการที่ไม่หวังผลกำไร
สำหรับในบทความนี้เราจะมาขยี้และทำความรู้จัก สาธารณูปการของเมือง ที่ตอบโจทย์คนกรุงเทพ และสาธารณูปการที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเดินเท้า เพื่อสะท้อนให้เห็นอีกมิติหนึ่งขององค์ประกอบการเดินเท้าที่สำคัญ นั่นคือ สาธารณูปการซึ่งเป็นบริการสาธารณะเหล่านี้ เปรียบเสมือนจุดหมายปลายทางของการเดินเท้า หรืออีกนัยนะหนึ่งก็คือ เราจำเป็นต้องเดินเข้าหาสาธารณูปการเหล่านี้หากเราต้องการรับบริการ
แล้วคนกรุงเทพชอบใช้บริการสาธารณูปการอะไรบ้าง…
โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการเดินเท้าและการเข้าถึงบริการสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากสาธารณูปการของเมืองกว่า 38 ประเภท เราพบว่า 3 อันดับแรก ที่คนกรุงเทพฯ เข้าถึงบริการบ่อยที่สุด (คือใช้บริการมากกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์) คือ ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 72 ร้านอาหารจานด่วน (รวมอาหารตามสั่ง) ร้อยละ 55 และร้านขายของชำ ร้อยละ 51
ก็คงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะสาธารณูปการยอดฮิตเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องจำเป็นของชีวิต (Life Necessary) นั่นคือ เรื่องอาหารการกินนั่นเอง ที่จะต้องกินต้องใช้ทุกวัน สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบสาธารณูปการที่ดูเหมือนเป็นคู่ตรงข้ามแล้ว จะพบลักษณะบางอย่างของ “รสนิยมคนกรุงเทพ” ว่าเราชอบและเข้าถึงอะไรมากกว่ากันในชีวิตประจำวัน เป็นต้นว่า เรามักจะเข้าร้านสะดวกซื้อมากกว่าที่จะไปตลาดนัด/ตลาดสด เรามีวิถีแดกด่วนที่แทบจะเป็นวัฒนธรรมการกินในเมืองเราก็ว่าได้ เราใช้เวลาเพื่อเดินเตร็ดเตร่ในห้างสรรพสินค้ามากกว่าการไปเสพศิลป์ในพิพิทธภัณฑ์หรือหอศิลป์ และเราชอบไปสถานบันเทิงเริงใจพอๆ กับที่เราชอบไปทำบุญที่วัด
แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนคงอาจจะมีข้อโต้แย้งว่าที่ “เราไม่ชอบ หรือ เราไม่มีให้เข้าถึง” ดูอย่างร้านสะดวกซื้อกับตลาดนั่นสิ เราเดินไปสัก 5 นาทีก็น่าจะเจอร้านสะดวกซื้อสักร้านหนึ่ง แต่ต้องเดินไกลแค่ไหนกว่าจะเจอตลาด? หรืออย่างพิพิทธภัณฑ์ ในกรุงเทพมีพิพิทธภัณฑ์และหอศิลป์มากเพียงพอหรือเปล่า ที่จะไม่ให้คนชอบเข้าห้างสรรพสินค้า ก็ลองดูแถวย่านบ้านท่าน ห้างสรรพสินค้า แทบจะมีทุกหัวมุม แยกถนน (เรื่องนี้เดี๋ยวเอามาเล่าต่อในบทความหน้า)
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดของสาธารณูปการ พบว่า หมวดที่ได้รับความนิยมในการเข้าถึงสูงสุดก็หนีไม่พ้นเรื่องปากท้อง อันดับ 1 คือ เรื่องอุปโภค-บริโภค 43% (ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า/ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า) รองลงมาเป็น หมวดการเดินทาง/บริการขนส่งสาธารณะ 26% (ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า ท่าเรือ วินรถตู้ วินมอเตอร์ไชต์) รองลงมาเป็น หมวดสันทนาการและการพักผ่อน 17% (ฟิตเนส สวนสาธารณะ โรงภาพยนตร์ สนามกีฬา สถานบันเทิง) หมวดบริการสาธารณะอื่นๆ 16% (คลินิก ไปรษณีย์ ธนาคาร บริการทางการเงิน) และท้ายสุดของสุดท้าย คือ บริการและหน่วยงานรัฐ 10% (สำนักงานเขต สถานีตำรวจ สำนักงานไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์)
สาธารณูปการของเมืองเกี่ยวอะไรกับ “การเดินเท้า”
โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี กำหนดให้ “สาธารณูปการของเมือง” เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินเท้าเพราะเราเชื่อว่า การที่คนๆ หนึ่งจะก้าวเท้าออกเดินไปที่ไหนสักแห่ง ต้องมีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเดินเท้าอยู่ 2 ประการคือ
ประการแรก การเดิน นั้นต้องมีจุดหมายปลายทาง และจุดหมายปลายทางนั้นต้องอยู่ในระยะของการเดินเท้า (ผลการสำรวจระยะเกินเท้าที่ไกลที่สุดที่คนกรุงเทพจะยอมเดินอยู่ที่ 800 เมตร หรือประมาณ 10 นาที โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) และประการต่อมา คือ การเดินนั้นจะต้องมีสภาพแวดล้อมของการเดินเท้าที่เหมาะสม กล่าวคือ มีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดการเดินเท้านั่นเอง
ประเด็นจุดหมายปลายทางนี้เอง ที่จะเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่าง สาธารณูปการของเมืองและการเดินเท้า เข้าด้วยกัน ซึ่งจุดหมายปลายทางของการเดินเท้านั้นมีที่มาจากหลายแนวคิดที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเดินทางในเมือง ซึ่งการเดินเท้าถือเป็นรูปแบบการเดินทางแบบหนึ่งในเมือง แม้ว่าจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมในบ้านเมืองของเรา แต่สำหรับในมหานครใหญ่และมหานครชั้นนำของโลกแล้ว การเดินเท้าในเมือง ถือเป็นรูปแบบการเดินทางที่สำคัญเลยทีเดียว
ซึ่งจากการทบทวนและศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่ผ่านมาของโครงการฯ พบว่ามีสำนักคิดที่หลากหลายที่ได้อธิบายเกี่ยวกับการกำหนดจุดหมายปลายทางของการเดินทาง (การเดินเท้า) ในรูปแบบของการตีความจาก “วัตถุประสงค์ของการเดินทาง”
แนวคิดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการเดินทาง (Commuter Behavior) เป็นกลุ่มแนวความคิดที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มของนักวิชาการด้านการคมนาคมขนส่งของเมือง ตัวอย่างเช่น แนวคิดของ Wheeler (1972) ซึ่งเขาเสนอแนวคิดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การเดินทางว่ามีอยู่ 2 แบบ คือ การเดินทางแบบวัตถุประสงค์เดี่ยว ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางแบบจุดประสงค์เดี่ยวมักเกิดจากจากรูปแบบที่ตั้งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจัดกระจายแยกส่วน และการเดินทางแบบหลายวัตถุประสงค์ ซึ่งจะพบในย่านที่รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น ศูนย์การค้าใจกลางเมือง หรือศูนย์การค้าย่อยในเขตชานเมือง
หรือแนวคิดของ Martin T. Cadwallador (1985) ซึ่งแบ่งการเดินทางในชีวิตประจำวันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 3 ประเภท คือ การเดินทางไปทำงานสู่ใจกลางเมือง การเดินทางของคนในเมืองออกไปทำงานในเขตชานเมือง และการเดินทางภายในพื้นที่ ทั้งในพื้นที่เมืองและชานเมือง
อีกกลุ่มหนึ่งเป็นแนวความคิด ที่มองว่าการเดินทางเป็นรูปแบบการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น (Origin) ไปยังอีกจุดหนึ่งซึ่งเป็นจุดปลายทาง (Destination) ด้วยวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง ซึ่งการเดินทางของคนส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดหมายปลายทางอยู่ที่บ้าน/ที่อยู่อาศัย โดยสามารถแบ่งประเภทการเดินทางออกเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) การเดินทางจากบ้านไปทำงาน (2) การเดินทางของนักเรียนนักศึกษาจากบ้านไปโรงเรียน/มหาวิทยาลัย (3) การเดินทางจากบ้านเพื่อไปที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้าน และ (4) การเดินทางจากที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้าน ไปยังที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้าน
จากแนวคิดที่หลากหลายข้างต้น โครงการเมืองเดินได้เดินดี ได้สรุปและนำมาปรับใช้เพื่อกำหนดจุดหมายปลายทางของการเดินเท้าในชีวิตประจำวันของคนเมือง โดยถือเอาสาธารณูปการประเภทของเมืองต่างๆ เข้ามาเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินเท้าออกเป็น 6 ประเภท คือ (1) การเดินเท้าเพื่อไปทำงาน (2) การเดินเท้าเพื่อไปเรียน (3) การเดินเท้าเพื่อไปจับจ่ายใช้สอย (4) การเดินเท้าเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและการสันทนาการ (5) การเดินเท้าเพื่อการติดต่อธุรกรรมและบริการสาธารณะต่างๆ และ (6) การเดินเท้าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในระยะยาว
เพื่อเข้าถึงสถานีบริการระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งสาธารณูปการเหล่านี้ถือเป็นสาธารณูปการที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันของคนเมือง อันอ้างอิงมาจากผลการสำรวจพฤติกรรมและการเข้าถึงบริการสาธารณะของคนกรุงเทพข้างต้น
และนี่เองเป็นที่มาของสาธารณูปการของเมืองซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินเท้าซึ่งสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดระดับของการให้บริการสาธารณูปการของเมืองได้อีกด้วย และนอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าสาธารณูปการประเภทไหนที่ควรอยู่ในระยะเดินเท้า และต้องกระจายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
เพื่อให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสเท่าเทียมกันที่เข้าถึงสาธารณูปการเหล่านั้น และมากไปกว่านั้นยังเป็นการเปิดโอกาสและทางเลือกให้กับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเลือกวิธีการเดินทางที่หลากหลายและวิธีการที่พวกเขาต้องการ โดยเฉพาะโอกาสที่คนเหล่านั้นจะเลือก “การเดินเท้า” เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในเมือง
แต่ทว่า คำถามที่ตามมาคือ โอกาสเหล่านั้นมันเท่าเทียมและทั่วถึงจริงหรือเปล่า และถ้าถามให้แรงกวานั้น คือ เรามีโอกาสได้เลือกการเดินเท้าเพื่อเข้าถึงสาธารณูปการเหล่านั้นของเมืองหรือเปล่า