01/09/2020
Life
เมือง เปลี่ยน ย่าน ? ย่านจะอยู่อย่างไร เมื่อคนรอบข้างเปลี่ยนไป : ชวนพูดคุยกับ ธีรนันท์ ช่วงพิชิต
The Urbanis
ในยุคสมัยที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับมนุษย์มากขึ้น เป็นเหมือนหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเดินทาง การติดต่อสื่อสารและการอยู่อาศัย แต่ในขณะเดียวกันตัวแปรสำคัญนี้ก็ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้เปลี่ยนไปจากเดิม จากชุมชนเล็กๆ กลายมาเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ลองตั้งคำถามดูว่าย่านชุมชนเก่าแก่ จะสามารถรักษามรดกวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับการยกระดับย่านได้หรือไม่ และจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกกลืนกิน
วันนี้จะชวนพูดคุยกับ คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต ผู้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรีและประธานมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน หนึ่งในผู้ผลักดันเพื่อการพัฒนาย่านควบคู่ไปกับรักษามรดกวัฒนธรรมของชุมชนเก่าแก่ใน กรุงเทพมหานคร
คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฝั่งพระนครกับกรุงเทพฝั่งธนฯ ในแง่ของ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ ตึกรามบ้านช่อง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
“เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจบริบททางสังคมศาสตร์ให้ได้ก่อนว่าไม่ใช่ฝั่งธนฯ คือฝั่งตะวันตก พระนครคือฝั่งตะวันออก อันนี้เราเข้าใจผิดทันที ประวัติศาสตร์จริงๆ คือ สังคมกับวัฒนธรรมทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นวัฒนธรรมชุดเดียวกัน แต่ช่วงระยะเวลามันจะเหลื่อมกันประมาณ 15 ปี ในช่วงของ พ.ศ.2310-2325 เป็นเวลาของกรุงธนบุรี แต่ในขณะเดียวกันเวลาของกรุงรัตนโกสินทร์ หรือที่เราเรียกกันว่าบางกอกก็คือ ปี 2325 จนถึงแง่ใดแง่หนึ่งมันจะเป็นการใช้พื้นที่ที่ทับซ้อนกันอยู่
“ธนบุรีเป็นเมืองทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เราเรียกว่าเมืองอกแตก จึงไม่ใช่เมืองฝั่งตะวันตก ถ้าเรียกว่าเมืองอกแตกแล้วเรียกฝั่งธนฯ เป็นฝั่งตะวันตกแสดงว่าผิด เพราะมันคือทั้งสองฝั่ง กรุงเทพฯ คือเมืองที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกภายหลัง ฉะนั้นการใช้ประวัติศาสตร์ลักษณะนี้จะทำให้เราเข้าใจถึงเรื่องของมิติทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราเข้าใจตัวตนเรามากขึ้นว่าเป็นเมืองที่มีทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา”
ในแง่ของวิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดจากการชะลอประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ที่เกิดจากความเจริญทางกายภาพที่เข้ามาไม่ถึงในช่วง 150 ปีของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 2325-2475 ความเจริญไปเติบโตเฉพาะฝั่งตะวันออกก็คือใช้ใจกลางในแง่ของกรุงรัตนโกสินทร์ ฉะนั้นเส้นทางของการเจริญเติบโตเกิดจากการขยายพระนคร เช่น การขุดคลองรอบกรุง การขุดคลองผดุงฯ การตัดถนนหนทาง สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบทางกายภาพที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการชะงักงัน ทั้งสองฝั่งของพระนครเริ่มห่างขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการโปรดเกล้าให้มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงฝั่งธนบุรี นั่นก็คือการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ที่ทำให้พื้นที่ทั้งสองฝั่งสามารถเชื่อมถึงกัน และมีการตัดถนนทีเดียว 11 สาย หลังจากนั้นก็เกิดการเติบโตเพิ่มมากขึ้น
จุดแข็ง-จุดอ่อน ในการยกระดับย่านมีอะไรบ้าง
“จุดแข็งสำหรับการพัฒนาบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกก็คือการมีรกรากทางประวัติศาสตร์ที่สามารถสืบทอดไปได้ เพราะถ้าเราตัดธนบุรีทิ้งเราจะมีรัตนโกสินทร์ลอยๆ ไม่ได้ รัตนโกสินทร์ต้องอาศัยรากจากธนบุรี ธนบุรีต้องอาศัยรากจากอยุธยา นี่คือรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่เราเชื่อมโยงมาตั้งแต่ 2310”
“จุดอ่อนเกิดจากการพัฒนาบ้านเมืองใน 2 ประเด็นหลักๆ คือ ช่วงหลังปี 2504 เป็นต้นมามีการเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ฉบับแรกเกิดขึ้นในปี 2504 แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบในแง่ของการถีบตัวของสองฝั่งให้ห่างออกไปมากขึ้นจนกลายเป็นช่องว่าง ประเด็นที่สองคือ เราไม่มีความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์รกราก คือเราไม่เข้าใจวิถีชีวิตของความเป็นคูคลอง ธนบุรีเป็นเมืองที่มีคูคลองนับพันๆ สาย เราทำลายตรงนี้โดยที่เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงส่งผลถึงวันนี้และอนาคต เราตายไปแล้วปัญหาพวกนี้ก็ยังอยู่”
“การกั้นพนังกั้นน้ำ เป็นตัวที่ทำลายภูมิวัฒนธรรมของคนที่อยู่กับน้ำ บ้านที่ควรจะเป็นคือบ้านที่มีใต้ถุนสูง มันเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นของคนฝั่งธนฯ หรือคนที่อยู่กับน้ำ เราจะเห็นได้ว่าอยุธยาได้ขึ้นเป็นมรดกโลกไม่ใช่เพราะเป็นเมืองโบราณ แต่เป็นเพราะเป็นเมืองน้ำหรือคนที่สามารถอยู่กับน้ำได้ แต่ฝั่งธนฯ คือมีการกั้นน้ำหมดเลย ทุกวันนี้เราใช้วิธีการทำแนวกั้นน้ำมาตลอด สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการร่วมกันทำลายมรดกวัฒนธรรมและภูมิวัฒนธรรมของตัวเอง ในต่างประเทศพยายามที่จะเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันกับน้ำเขามีการปรับรูปแบบทั้งหมดที่จะใช้เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิต”
มีความคิดเห็นอย่างไรกับคำว่า “ฝั่งธนฯในทุกวันนี้มันก็ดีอยู่แล้ว”
“ฝั่งธนฯ ดีอยู่แล้ว ใช่ฝั่งธนฯ ที่ดีอยู่แล้วหรือเปล่า? เดิมฝั่งธนฯ มันดี แต่เราเข้ามาทำลายเขาไม่ต่ำกว่า 30-40 ปี ความคิดในการมาถมคูคลอง มาทำพนังกั้นน้ำ สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ทำให้ทำให้ฝั่งธนฯ ดี แต่ฝั่งธนฯ เคยมีพื้นฐานที่ดี เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดอย่างนี้ต้องไปพูดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว”
การที่เราพยายามรักษาวัฒนธรรมเดิม จะทำให้เราเดินช้ากว่าคนอื่นหรือเปล่า
“เดินช้าหรือเดินเร็วมันอยู่ที่ว่าคุณมีรากมั้ย สมมติพูดถึงกระแสของการเปลี่ยนแปลงเปรียบเสมือนแม่น้ำหนึ่งสายที่มันไหลบ่าลงมา ปัญหามันอยู่ที่ว่าคุณจะเลือกอะไร คุณมี 3 ทางเลือก คือ ทัดทาน เปราะ และทางเลือกที่สามคือ เลือกทางเลือกที่ 1 และ 2”
ทัดทาน คือการทวนกระแส คุณไม่ต้องสนใจ ขวางมันอย่างเดียว เปราะคือการตามกระแส มายังไงก็อยู่อย่างนั้น แต่ถ้าคุณมีรากเหง้าและเรารู้จักมันคือสิ่งที่ธำรงค์ความเป็นตัวตนของเรา เราจะมีสิ่งที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันของตัวเอง เพราะฉะนั้นถึงถามว่าเราจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแส หรือทัดทานกระแส แต่คำตอบผมคือทางที่สาม คือการมีรากเหง้าของตัวเอง ตามอย่างไรไม่ให้ล้มระเนระนาด
“ย่านจะอยู่อย่างไร เมื่อคนรอบข้างเปลี่ยนไป” คำตอบของคำถามนี้อาจไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่อย่างน้อยเราต้องรู้จักที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจรากเหง้าของตัวเองและย่าน เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจในส่วนนี้แล้ว ต่อให้เมืองจะเปลี่ยนย่านหรือตัวเรามากน้อยแค่ไหน เราก็ยังเป็นตัวเรา ที่สามารถอยู่กับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้