13/12/2019
Insight
ตลาด แหล่งอาหารและพื้นที่ชีวิตของเมือง
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์
ในวัยเด็ก เวลาเล่นกับเพื่อนๆ หลายคนคงเคยเล่นบทบาทสมมติต่างๆ
ที่ฮิตที่สุด คงหนีไม่พ้นการเล่นเป็นคนซื้อ-ขายของในตลาด คนขายต้องเอาของอะไรก็ไม่รู้มาวางเรียงๆ กัน สมมติขึ้นมาว่าคือผักผลไม้หรือเครื่องใช้ประจำวันที่ตัวเองคิดจะขาย คนซื้อก็อาจจะไปหาตะกร้ามาถือ ทำเป็นเดินผ่าน แล้วให้พ่อค้าแม่ค้าตะโกนชักชวนให้ซื้อของ หลังจากนั้นการต่อราคาก็จะเกิดขึ้น
การเล่นบทบาทสมมติยังมีเรื่อยมาถึงปัจจุบัน แต่เด็กๆ ในวันนี้เปลี่ยนไป ถ้าสังเกตดู จะเห็นเด็กๆ เล่นเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่สั่งออนไลน์ คนซื้อก็ทำแค่เปิดประตูบ้านมารับของ คนส่งของทำทีเป็นกดมือถือยืนยันการส่ง
เรื่องของการซื้อขายฝังอยู่ในการละเล่นของเด็กๆ ก็เพราะ ‘ความเป็นเมือง’ ของเราเริ่มต้นมาแบบนั้น เมืองทั่วโลกมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นที่กระจุกตัวของพานิชยกรรม ทำให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนสินค้า และเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบและอาหารที่หลากหลายไปในตัว
การรวมตัวของคนและชุมชนยังทำให้เกิดย่านและตลาดขนาดย่อมตามมา พลวัตเหล่านี้ทำให้ตลาดและชุมชนในเมืองกลายเป็นพื้นที่ที่คู่กันไปโดยปริยาย โดยที่ตลาดสดไม่ได้มีเพียงบทบาทเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญต่อชีวิตคนเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ตลาดสดยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเมืองในชุมชนโดยรอบได้มาพบปะและสร้างสัมพันธ์กันระหว่างการจับจ่ายใช้สอย
ใน 30 ปีที่ผ่านมา รูปแบบวิถีชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงอย่างมาก วัฒนธรรมตลาดสดที่มีแผงขายผัก ผลไม้ ปลา และเขียงหมู เริ่มมีคู่แข่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีพื้นที่โล่งกว้างภายในอาคาร เปิดไฟสว่างสไว เปิดแอร์เย็นฉ่ำ เต็มไปด้วยชั้นวางสินค้า เหล่าผัก ผลไม้ และอาหารสดก็ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ตลาดสดที่เราเคยเข้าอยู่เป็นประจำก็เริ่มที่จะถูกแย่งลูกค้าไป
มากไปกว่านั้น ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา วิถีชีวิตคนเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยมีเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก เมื่อชีวิตเร่งรีบมากยิ่งขึ้น หลายต่อหลายคนเริ่มหันมาหาเทคโนโลยีเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ‘ตลาด’ หรือแหล่งอาหารในเมืองสมัยนี้ จึงอาจเป็นเพียงหน้าจอสมาร์ทโฟนที่ใช้เรียกบริการส่งอาหารถึงที่ แอพลิเคชั่นมือถือบริการส่งอาหารเหล่านี้ได้กลายมาเป็นทางออกของรูปแบบชีวิตแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะเดียวกัน คนเมืองในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ประกอบอาหารภายในห้องเช่าหรือคอนโดขนาดเล็ก ซึ่งมักไม่เพียงพอสำหรับการประกอบอาหารกินเอง อีกทั้งยังมีเพียงไมโครเวฟและกาน้ำร้อนเป็นเครื่องครัวที่สามารถทำได้แค่อุ่นอาหารและชงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้น
ข้อจำกัดดังกล่าวมีส่วนทำให้ตลาดที่ขายแต่ของสดเริ่มมีบทบาทในชีวิตคนเมืองลดน้อยลง และในทางกลับกัน ตลาดและร้านอาหารที่ขายกับข้าวกลับยังสามารถคงอยู่เพื่อตอบรับกับความต้องการสะดวกสบายของผู้บริโภคในเมืองต่อไป
จากการสำรวจการเข้าถึงสาธารณูปการของเมืองที่ UddC เคยศึกษาไว้เมื่อปี 2556 พบว่า คนเมืองส่วนมากหันมาเข้าร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารต่างๆ มากกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตราว 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ และเข้าตลาดสดเหลือเพียง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนเมืองดังที่ได้กล่าวไป โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟนและแอพลิเคชั่นต่างๆ ทำให้ทุกวันนี้ ตลาดสด หรือตลาดในรูปแบบดั้งเดิมแทบจะไม่เหลือความสำคัญในชีวิตคนทำงาน และน้อยนักที่เด็กสมัยนี้จะยังมีตลาดสดเป็นภาพจินตนาการอยู่ในใจ
แม้การใช้งานตลาดสดจะเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ตลาดสดยังคงมีคุณค่าและความสำคัญหลงเหลืออยู่ ความสำคัญดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะตลาดสดมีความหลากหลายทางวัตถุดิบพร้อมตอบสนองผู้ที่รักในการทำอาหารไทย เพราะตลาดสดยังมีความสำคัญให้กับกลุ่มคนจากต่างถิ่นที่ต้องการลิ้มรสชาติอาหารจากบ้านเกิด เพราะตลาดสดยังเป็นพื้นที่ที่คนซื้อมีโอกาสต่อราคาให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของตน
ที่สำคัญที่สุด ตลาดสดยังคงเป็นที่พบปะสังสรรค์ ที่พบเจอเพื่อนฝูง เป็นพื้นที่สาธารณะเมืองเพียงไม่กี่แห่งที่ทำให้คนสูงอายุได้พบเจอผู้คน เพื่อนบ้าน หรือคนในละแวกเดียวกัน จากมุมมองเหล่านี้ ตลาดจึงยังคงเป็นสาธารณูปการที่เป็น “พื้นที่แห่งชีวิต” ของเมือง และเป็นแหล่งรวมทั้งวัฒนธรรมทางอาหารและสังคมไว้ด้วยกัน
แต่คำถามสำคัญก็คือ ถ้าเป็น ‘ผู้สูงวัย’ ล่ะ คนเหล่านี้จะ ‘เข้าถึง’ สาธารณูปการที่เป็น ‘ตลาด’ ได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ
ทีมงาน UddC Urban Insights ร่วมกับโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ตระหนักถึงผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งอาหารราคาแพงตามห้างสรรพสินค้า และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการเดลิเวอรรี่ขนส่งอาหาร คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้เหล่านี้จะมีทางเข้าถึงแหล่งอาหารได้อย่างไรบ้าง
เอาเข้าจริงแล้ว สังคมไทยไม่ได้เผชิญกับสังคมสูงอายุอยู่เพียงมิติเดียว แต่เรายังอยู่กับสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทั้งทางรายได้ และความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น การเข้าใจการเข้าถึง “ตลาด” หรือแหล่งอาหารและของสดจึงต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน
ทีมงานได้พิจารณาการเข้าถึงตลาดจากถนนเส้นต่างๆ ผ่านเทคนิคการวิเคราะห์โครงข่าย (Network Analysis) ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) โดยกำหนดขอบเขตระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร การแสดงผลผ่านแผนที่ด้านล่าง แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่ถึง 18.3% ของเมืองที่ยังไม่มีตลาดในระยะ 5 กิโลเมตร หรือละแวกใกล้เคียง ทั้งที่ความสำคัญในการเข้าถึงอาหารเป็นประเด็นที่เราต้องคำนึงถึงทุกวัน ในทางกลับกัน ตลาดกลับกระจุกตัวอยู่มากมายในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ทั้งที่ที่อยู่อาศัยคนเมืองจะเริ่มกระจายตัวออกไปอยู่รอบนอกกรุงเทพฯ มากแล้ว
ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าเรามองไปถึงผู้สูงวัยที่อยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยรายได้น้อยต่างๆ เช่น อาคารสงเคราะห์ ชุมชนบ้านมั่นคง และชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร คนกลุ่มนี้อาจมีข้อจำกัดทางรายได้และการเดินทางมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็ได้
แผนที่ด้านล่างทำให้เราพบว่าจริงๆ แล้วชุมชนกับตลาดสดยังคงเป็นของคู่กันอยู่ โดยมีชุมชนกว่า 1,200 ชุมชนในกรุงเทพมหานครที่ตั้งอยู่ในระยะ 1.5 กิโลเมตรจากตลาด และในชุมชนเหล่านั้น มีถึง 840 ชุมชนที่อยู่ใกล้ตลาดในระยะ 1 กิโลเมตรที่สามารถเดินไปตลาดได้โดยสะดวก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีชุมชนอีก 65 ชุมชนที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตลาด หรือแหล่งอาหารและวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน
ถึงแม้พื้นที่สีน้ำเงินและสีม่วงจะเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากตลาดในระยะต่างๆ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าผู้สูงวัยในพื้นที่เหล่านั้นจะเข้าถึงอาหารไม่ได้เลย สำหรับผู้สูงวัยที่มีสัมพันธ์ที่ดีกับลูกหลานที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน สามารถฝากลูกหลานซื้ออาหารเข้ามาที่บ้านได้เป็นเรื่องปกติ สำหรับคนที่มีฐานะขึ้นมาหน่อย แม่บ้านอาจจะรับหน้าที่นั้นไปแทน สำหรับคนที่อยู่ในชุมชนรายได้น้อยแต่มีความเหนียวแน่นกับเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี ยังมีเพื่อนบ้านบางคนยินดีช่วยเหลือ
นอกจากนี้ผู้สูงวัยในหลายพื้นที่ยังสนิทกับคนขับวินมอเตอร์ไซค์ประจำซอย ทำให้สามารถขอความช่วยเหลือได้โดยง่าย ความสัมพันธ์เหล่านี้ยังคงเป็นพื้นฐานในการสร้างพลังและความยืดหยุ่น (resilience) ให้กับชีวิตบั้นปลาย และเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญสำหรับการดูแลคนแก่ในสังคมผู้สูงวัยของประเทศไทย
มากไปกว่านี้ ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบของกิจกรรมนอกระบบ (informal systems) ต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างเชิงพื้นที่ตามที่เราได้กล่าวไป โดยกิจกรรมนอกระบบที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของการซื้อขายของสดก็คือ รถเร่ขายกับข้าวหรือที่มักถูกเรียกว่า รถพุ่มพวง
หนังสือ กรุงเทพฯ: ขนส่งทำมือ (Bangkok: Handmade Transit) ที่ ยรรยง บุญ-หลง เป็นบรรณาธิการ (2559) ได้กล่าวถึงรถพุ่มพวงว่าเป็น “ผลผลิตของเนื้อเมืองที่ยังไม่สมบูรณ์” ในทำนองเดียวกัน เราอาจกล่าวได้ว่ารถพุ่มพวงเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสังคมที่ตอบโจทย์การเข้าถึงอาหารของพื้นที่ไกลตลาดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ กิจกรรมนอกระบบอื่นๆ เช่น ร้านอาหารหาบเร่ หรือแม้กระทั่งวินมอเตอร์ไซค์ที่ปัจจุบันอยู่ในระบบเรียบร้อยแล้ว ล้วนเป็นเฟืองชิ้นสำคัญของสังคมที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างเชิงพื้นที่ให้ผู้สูงอายุในชุมชนต่างๆ เพื่อให้เขาเหล่านั้นยังคงสามารถเข้าถึงอาหารและของสดได้โดยไม่ต้องซื้อของแพง และไม่ต้องใช้แอพลิเคชั่นที่น่ามึนงงในการเรียกหา
จากลักษณะของรถพุ่มพวงที่เหมือนตลาดสดเคลื่อนที่ ทีมงานได้วิเคราะห์พื้นที่ห่างไกลตลาดเกิน 2.5 กิโลเมตรควบคู่ไปกับพื้นที่ในซอยลึกและซอยตัน โดยพื้นที่เหล่านี้มักเป็นย่านที่อยู่อาศัยชานเมืองที่โหยหาและพึ่งพารถพุ่มพวงเป็นที่สุด พื้นที่สีน้ำเงินตามแผนที่ด้านล่างนี้ จึงน่าจะเป็นพื้นที่เป้าหมายและพื้นที่ให้บริการของเหล่ารถพุ่มพวง ที่จะนำตลาดอาหารสดเคลื่อนที่ไปบริการถึงชุมชนและผู้คนที่อยู่ท้ายซอย
ตลาดสดไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพียงแหล่งวัตถุดิบและอาหารที่สำคัญของชีวิตคนเมือง แต่ยังเป็นพื้นที่ให้คนมาพบปะกัน เป็นสถานที่สร้างสัมพันธ์ทางชุมชนในอีกรูปแบบหนึ่ง เราจึงอาจพูดได้ว่า ตลาดเป็นแหล่งอาหารทั้งทางกายและทางใจให้กับผู้คน
การจับจ่ายซื้อของในตลาดสด ตลาดนัด หรือแม้แต่กับรถพุ่มพวง ยังมีคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วย เพราะเงินในการใช้จ่ายในตลาดสดจะถูกยื่นตรงให้กับผู้ค้ารายย่อย เป็นการกระจายรายได้โดยตรง จากมุมมองนี้ พื้นที่ตลาดสดและกิจกรรมนอกระบบเหล่านี้จึงเป็นพื้นที่สร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับคนอีกหลายต่อหลายคนในประเทศไทย
ผู้สูงวัยส่วนมากเติบโตมากับการไปเดินตลาดสด คนวัยทำงานหลายคนเติบโตมากับซุปเปอร์มาร์เก็ต และคงจะมีเพียงไม่กี่คนที่ยังคงไปตลาดสดอยู่เป็นประจำ หลายคนอาจจะผันตัวมาซื้อของในร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านแทน หรือบางคนก็อาจจะเลือกสั่งอาหารที่ทำเสร็จแล้วจากร้านอาหารผ่านแอพลิเคชั่นต่างๆ มาแทนการทำอาหารไปเลยก็เป็นได้
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปล้วนมีส่วนทำให้การ ‘ใช้เมือง’ ของเราต่างไป และในทางกลับกัน องค์ประกอบต่างๆ ในเมืองก็เปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองความต้องการที่ต่างไปของคนเมืองเช่นกัน
คำถามก็คือเราจะเลือกให้ความสำคัญ และเลือกว่าอยากให้อะไรคงอยู่คู่กับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เมืองยังคงสามารถตอบรับกับความต้องการของคนที่หลากหลายทั้งในเชิงอายุ รายได้ และทักษะทางเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคตบ้าง
เรื่อง/วิเคราะห์ข้อมูล: ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
ที่มาข้อมูลในการวิเคราะห์เชิงพื้นที่:
Nostra Map. (2557). ข้อมูลเชิงพื้นที่ตำแหน่งตลาด ตำแหน่งชุมชน และถนน