11/01/2020
Environment
อนาคตของเมืองจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรง เดินได้เดินดี มีพื้นที่สีเขียว
ชยากรณ์ กำโชค
คำถามหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ค่อยนึกถึงก็คือ – เมืองที่เราอยู่มีความ ‘เป็นมิตร’ กับเด็กมากน้อยแค่ไหน และเมืองที่เป็นมิตรกับเด็ก แสดงให้เราเห็นถึงอนาคตและวิสัยทัศน์ของชาติได้อย่างไร
ทำไมต้องออกแบบเมืองให้เป็นมิตรกับเด็ก
นิยามจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า เด็ก หมายถึง คนอายุ 0 ถึง 18 ปี ปัจจุบันมีเด็กอาศัยในเขตเมืองกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก และจากสถานการณ์การกลายเป็นเมือง ซึ่งคนจะอาศัยในเมืองเกินกว่า 70% ในปี 2050 พบว่า “ชนกลุ่มใหญ่” ของเมืองทั่วโลกคือ “เด็ก” นั่นเอง การบอกว่าเด็กคือ “อนาคตของเมือง” และอนาคตของโลกใบนี้ จึงไม่ผิดจากข้อเท็จจริง
ข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2562 โดยระบบสถิติทางการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีประชากรวัย 0 – 18 ปี อาศัยจำนวน 1,028,097 คน ตามทะเบียนราษฎร์ และอีกจำนวนไม่น้อยในฐานะประชากรแฝง เด็กหลายล้านคนในกรุงเทพฯ เติบโตในครอบครัวที่มีโอกาสเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างส่งเสริมสุขภาวะที่แตกต่างกัน กระทั่งมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่ไม่เหมือนกัน เช่น อาศัยในตึกแถวกลางเมือง อาศัยในบ้านเดี่ยวชานเมือง อาศัยบนอาคารสูง ฯลฯ ทั้งหมดส่งผลต่อ “อนาคตสุกใส” ของเด็กๆ ในเมืองทั้งสิ้น
ผู้เขียนลองค้นหาคำว่า “สนามเด็กเล่น กทม.” ในเว็บเสิร์ชเอ็นจิน พบว่า ข้อมูลที่แสดงผลส่วนใหญ่เป็นแหล่งรวมเครื่องเล่นที่มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น (จำนวนไม่น้อยเลย) ขณะที่สนามเด็กเล่นจริงๆ มักจะอยู่ในรั้วโรงเรียนที่เปิดใช้งานเฉพาะวันทำการ หรือเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะขนาดกลางและขนาดใหญ่ ยากเหลือเกินที่เด็กจะชักชวนกลุ่มเพื่อนละแวกบ้าน เดินไปทำกิจกรรมนันทนาการหรือออกกำลังกายอย่างสนุกสนานตามวัย ด้วยระยะทางที่เดินหรือปั่นจักรยานถึง
ขณะที่ “เด็กคอนโด” หรือเด็กที่เติบโตในอาคารห้องชุดแนวดิ่ง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยในกรุงเทพฯ อ้างอิงจากงานวิจัยโครงการคนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย หัวข้อ การอยู่อาศัยในเมือง โดย รศ. ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ หัวหน้าโครงการวิจัย และ อ.ภัณฑิลา จูละยานนท์ พบว่า
การอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยแนวตั้งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและพัฒนาการ เด็กในอาคารสูงมักใช้เวลาในการเล่นคนเดียวในอาคารและมีโอกาสในการเล่นนอกอาคารน้อยกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านประเภทอื่น เด็กเหล่านี้มักขาดโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติและโอกาสในการพบปะกับผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อทักษะและพัฒนาการของเด็ก เช่น สมรรถภาพทางกลไก (Motor Ability) ภูมิคุ้มกันทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเรียนรู้เชิงสังคม ชีวิตในเมืองหลวงที่ไม่มีเวลาของพ่อแม่กับการอยู่ในคอนโดที่มีพื้นที่สีเขียวน้อยและสวนสาธารณะของเมืองที่เข้าถึงได้ยาก เป็นอีกปัจจัยที่ลดโอกาสในการเล่นนอกบ้านและการสัมผัสดินของเด็กเมืองที่โตในคอนโด
นอกจากนี้ แนวโน้มของห้องคอนโดที่มีขนาดเล็กยังส่งผลต่อคุณภาพด้านโภชนาการของเด็ก แนวคิดตั้งต้นในการออกแบบคอนโดคือผู้อยู่จะซื้ออาหารนอกบ้านกินเป็นหลัก อีกทั้งที่อยู่อาศัยเหล่านี้ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมตลาดหรือแหล่งอาหารที่สามารถหาซื้อวัตถุดิบได้สะดวก แม่ลูกอ่อนในคอนโดเมืองไทยจำนวนมากจึงไม่สามารถทำอาหารให้ลูกกินได้และต้องเลี้ยงลูกด้วยอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่คนอื่นทำ อาหารเหล่านี้ไม่อาจระบุได้ว่ามีสารอาหารที่เหมาะสมหรือจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวหรือไม่ ในขณะที่พ่อแม่บางคนเลือกไปอยู่บ้านเดี่ยวชานเมืองเพื่อให้ลูกได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี โดยยอมแลกกับเวลาที่ต้องเสียไปกับการเดินทาง
นอกจากนี้ แนวโน้มของห้องคอนโดที่มีขนาดเล็กยังส่งผลต่อคุณภาพด้านโภชนาการของเด็ก แนวคิดตั้งต้นในการออกแบบคอนโดคือผู้อยู่จะซื้ออาหารนอกบ้านกินเป็นหลัก อีกทั้งที่อยู่อาศัยเหล่านี้ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมตลาดหรือแหล่งอาหารที่สามารถหาซื้อวัตถุดิบได้สะดวก แม่ลูกอ่อนในคอนโดเมืองไทยจำนวนมากจึงไม่สามารถทำอาหารให้ลูกกินได้และต้องเลี้ยงลูกด้วยอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่คนอื่นทำ อาหารเหล่านี้ไม่อาจระบุได้ว่ามีสารอาหารที่เหมาะสมหรือจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวหรือไม่ ในขณะที่พ่อแม่บางคนเลือกไปอยู่บ้านเดี่ยวชานเมืองเพื่อให้ลูกได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี โดยยอมแลกกับเวลาที่ต้องเสียไปกับการเดินทาง
ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชากรวัยเริ่มต้นชีวิตทั้งสิ้น และเป็นความท้าทายร่วมกันของเมืองทั่วโลก ทั้งเมืองพัฒนาแล้วและเมืองกำลังพัฒนา เช่น อัตราของเด็กที่มีภาวะไขมันสะสมในร่างกายสูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมากถึง 70 ล้านคนในปี 2025 และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในกลุ่มเมืองกำลังพัฒนา ขณะที่อัตราของเด็กที่ประสบปัญหาทางสุขภาพจิตก็เพิ่มสูงขึ้นจากความตึงเครียดในการใช้ชีวิตเมืองและขาดโอกาสเล่นตามประสาเด็ก
หากความหวังของ “ผู้ใหญ่ในวันนี้” คือคุณภาพ “ผู้ใหญ่ในวันหน้า” ผู้กำลังเติบโตท่ามกลางความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลากหลายด้าน การเตรียมความพร้อมเผชิญกับความท้าทายดังกล่าว อาจเริ่มจากการออกแบบเมืองและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับเด็ก กระตุ้นให้เด็กจับมือพ่อแม่ออกมาวิ่งเล่นบนพื้นหญ้า ก่อปราสาททรายกับเพื่อนละแวกบ้าน ปั่นจักรยานท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ ผลที่ได้ไม่เพียงสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง หากยังกระตุ้นให้เกิดความรักความผูกพันกับเมือง เมื่อรักและผูกพันแล้วก็ย่อมรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองอย่างภูมิใจ และเมื่อเปี่ยมด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของ (sense of belonging) แน่นอนว่า ความท้าทายในอนาคตใดๆ ก็พร้อมจะก้าวข้าม
เมืองที่เป็นมิตรกับเด็กหน้าตาประมาณไหน
หากเปรียบเมืองกับเสื้อผ้า การออกแบบเมืองก็คงไม่ใช่การออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูป ยิ่งการออกแบบเมืองที่เป็นมิตรกับเด็ก ยิ่งต้องการการออกแบบพิเศษให้เข้าสรีระ ความชอบ และความต้องการของเด็กแต่ละคน (หรือความคาดหวังที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กเป็น) อย่างไรก็ตาม แม้บริบทแวดล้อมของแต่ละเมืองจะแตกต่างกัน แต่องค์ประกอบของเมืองเป็นมิตรกับเด็กมีพื้นฐานไม่แตกต่างกันเท่าไหร่
อ้างอิงจากรายงาน Cities Alive: Designing for Urban Childhood โดย Arup ได้รวบรวมปัญหาและความท้าทายของการออกแบบเมืองเพื่อเด็กไว้ 5 ด้าน ดังนี้
1. การจราจรและมลภาวะ : เด็กจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในเมืองของประเทศกำลังพัฒนา เสียชีวิตมากกว่าเด็กในเมืองพัฒนาแล้วถึง 4 เท่า ปัญหาจราจรและมลภาวะที่ส่งผลทั้งต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงเป็นความท้าทายที่เมืองทั่วโลกต้องเผชิญ หลายเมืองจึงมีมาตรการถนนปลอดภัยและให้ความสำคัญกับเขตทางข้าม ตลอดจนการสร้างย่านรอบบ้านที่มีคุณภาพ เอื้อให้เด็กสามารถเดินและปั่นจักรยานได้อย่างปลอดภัยรอบบ้าน ตลอดจนส่งเสริมให้เมืองลดการใช้ยานพาหนะที่ยิ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ
2. การอยู่อาศัยในแนวตั้งและเมืองขยาย: เมืองกระชับ บ้านใกล้งาน งานใกล้บ้าน และมีทางเดินเท้าเดินได้เดินดีเชื่อมต่อกับย่านอย่างไร้รอยต่อ เป็นหัวใจสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาวะ เพราะประชากรสามารถเดินทางได้ยังจุดหมายได้ โดยไม่ต้องพึ่งรถยนต์ ตรงกันข้ามกับเมืองขยายในแนวราบที่ผู้คนจำเป็นต้องพึ่งรถยนต์เป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต แน่นอนส่งผลให้รถติดและอากาศเป็นพิษ ทว่าดังกล่าวไปข้างต้น เมืองกระชับที่เต็มไปด้วยอาคารในแนวดิ่ง ก็ส่งผลให้เกิดความโดดเดี่ยวได้เช่นกัน ทางออกจึงอยู่ที่สมดุลของการอยู่อาศัยในบ้านและกิจกรรมนอกบ้านที่มีชีวิตชีวาและมีคุณภาพ
3. อาชญากรรมและความปลอดภัย: หลังเมืองเมอซีย์ไซด์ ประเทศอังกฤษ เดินหน้าโครงการ Play Space โดยกระจายสนามเด็กเล่นไปทั่วเมือง พบว่า อัตราการเก็บตัวอยู่กับบ้านของเด็กลดลงถึง 90 % ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะการเอาชนะพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งก่อนหน้านี้มักมีความคิดในเชิงลบต่อการใช้ชีวิตนอกบ้านของบุตรหลาน ทั้งกังวลอุบัติเหตุ อาชญากรรม และคนแปลกหน้า แต่สนามเด็กเล่นช่วยกระตุ้นให้เด็กและผู้ปกครองอยากเล่นนอกบ้านมากขึ้น
4. ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของเมือง: พื้นที่สาธารณะไร้คุณภาพ ตลอดจนพื้นที่สำหรับให้เด็กวิ่งเล่นที่ไม่ทั่วถึง และการเข้าถึงที่ยากลำบาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสังคมทวีความรุนแรง เมืองที่ดีจะต้องเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะได้อย่างอิสระเสรีและไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการเสริมต้นทุนทางชีวิตในอนาคตระยะยาว
5. ความโดดเดี่ยวและความไม่อดทนอดกลั้น: พื้นที่สาธารณะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เรียนรู้และยอมรับความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ ในทางกลับกัน หากเมืองไร้พื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนโดดเดี่ยวและไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มักมีมุมมองเชิงลบไว้ก่อน
เมืองที่เป็นมิตรกับเด็ก = เมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม
“เด็กเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาเมือง หากสามารถพัฒนาเมืองเพื่อเด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ก็เท่ากับสามารถพัฒนาเมืองให้คนทุกวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เช่นกัน”
นี่คือคำพูดของ เอนริเก้ เพนาโลซ่า นายกเทศมนตรีแห่งกรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ผู้มีชื่อเสียงก้องโลกจากการพลิกฟื้นเมืองอาญชากรรมและยาเสพติด สู่เมืองจักรยาน ขนส่งมวลชน และพื้นที่สาธารณะ หากโปรเจกต์ที่มีคุณูปการกับเมืองโบโกตาที่มีผลดีกับเมืองไม่แพ้กัน คือการสร้างโครงข่ายเชื่อมต่อสนามเด็กเล่นและพื้นที่สาธารณะของเด็กกว่า 1,200 แห่ง ตลอดจนการสร้างพื้นที่ที่ให้ความสำคัญเด็กเป็นลำดับแรก (priority zone) กระจายในย่านที่อาศัยและสถานรับเลี้ยงเด็ก เช่น สร้างจุดชะลอความเร็วรถยนต์ พัฒนาเขตทางข้ามถนนให้มีคุณภาพ สร้างทางเท้าเดินได้เดินดี พื้นที่สีเขียว ฯลฯ การลงทุนโครสร้างเมืองโบโกตาตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาเมืองเพื่อกลุ่มคนเปราะบางในสังคม (เด็ก คนชรา คนพิการ ฯลฯ) ที่สุดท้ายแล้วก็มีผลดีต่อคนเมืองทุกคนอยู่ดีนั่นเอง
เปลี่ยนคำขวัญเป็นของขวัญเพื่ออนาคตของเมือง
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ประเทศซึ่งหลายๆ หน่วยงานพร้อมใจกันทุ่มเงินจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติในทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม และมีประเพณีการมอบคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ อันสะท้อนให้เห็นความคาดหวังของผู้ใหญ่ที่มีเด็กในแต่ละยุคสมัย จะดีซักแค่ไหนหากคำขวัญจะเปลี่ยนไปคำถามว่า สิ่งที่เด็กต้องการมากที่สุดคืออะไร หรือเปลี่ยนเป็นของขวัญสักชิ้นที่จะทำให้พวกเขามีอนาคตในเมืองและโลกใบนี้ที่สุกใส มีสุขภาพที่แข็งแรง มิใช่การเฉลิมฉลองวันเด็กเพียงชั่วคราวท่ามกลางปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ที่คล้ายจะบั่นทอนสุขภาพคนเมืองไปทีละน้อยทุกเมื่อเชื่อวัน
“เราสมควรได้รับอนาคตที่ปลอดภัย และเราต้องการอนาคตที่ปลอดภัย สิ่งที่เราร้องขอมันมากเกินไปจริงหรือ” – เกรตา ทุนเบิร์ก (กันยายน 2019) เด็กหญิงสวีดิชคนหนึ่งตะโกนถามผู้ใหญ่แทนเด็กทั้งโลก
โดย ชยากรณ์ กำโชค
ที่มา
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ http://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/crc.pdf
งานวิจัยโครงการคนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โดย รศ. ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะและคณะ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/857060
Arup: Cities Alive. Designing for urban childhood https://www.arup.com/perspectives/publications/research/section/cities-alive-designing-for-urban-childhoods
สารประชากรมหาวิทยาลัยมหิดล http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/th/Gazette.aspx
ระบบสถิติทางการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age_disp.php
นิยายแห่งสองชรานคร : เราควรออกแบบเมืองเพื่อคนแก่ หรือเมืองเพื่อเตรียมคนให้แก่อย่างมีคุณภาพ? https://theurbanis.com/public-realm/2019/12/27/854/