11/06/2023
Public Realm
ไม่มีผู้พิการ มีเพียงแต่ “เมืองที่พิการ”
ณัฐนิชกุล วนิชพิสิฐพันธ์
“มนุษย์” ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า แต่ “เมืองที่พิการ” ทำให้เราไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้เลย หรือจะกล่าวได้ว่า “คนไม่ได้พิการ แต่สภาพแวดล้อมต่างหากที่พิการ” เพราะเมืองที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ที่มักถูกจำกัดอิสระในการใช้ชีวิต เนื่องด้วยสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึง สร้างความไม่เท่าเทียมในการเดินทาง และการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะของคนเมืองทุกกลุ่ม
เมืองที่พิการ (?)
เมื่อไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ในขณะเดียวกันเรามี‘ผู้พิการ’มากกว่า 2.15 ล้านคน คิดเป็น 3.26 % ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้สูงอายุถึง 56.61 % ของจำนวนผู้พิการทั้งหมด (ข้อมูล วันที่ 31 ธ.ค. 65 จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม การที่เมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมาย กลับไม่มีการออกแบบที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตของผู้พิการและผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ซึ่งแม้แต่มุมมองของคนเมืองส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีความพิการ ล้วนต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่าการเดินทางในกรุงเทพฯ นั้นมีความยากลำบาก ทั้งทางเดินเท้าที่มีบล็อกอิฐชำรุดไม่สม่ำเสมอ เบรลล์บล็อกที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง สิ่งกีดขวาง ฟุตบาทที่สูงกว่ามาตรฐานหรือชันเกินไป
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามุมมองของผู้พิการ ผู้เป็นคนแรกที่ถูกลืมและเป็นคนสุดท้ายที่ถูกนึกถึง ต่างมองว่าการออกแบบสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเผชิญกับฝันร้าย และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ปัญหามากมายที่จะตามมา เช่น ปัญหาความปลอดภัย อุบัติเหตุ และภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น การใช้ชีวิตใน ‘เมืองที่พิการ’ ที่ต้องเอาตัวรอดในแต่ละวันนั้น สะท้อนคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี และทำให้โอกาสในการเข้าถึงมีอย่างจำกัด จนเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม
เมืองที่ออกแบบเพื่อทุกคน
จากผลการสำรวจ 10 อันดับ เมืองที่อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการมากที่สุดในโลก (ข้อมูลจาก การสำรวจของ The Valuable 500 กลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ) พบว่า เมืองในเอเชียที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โดย The Urbanis ขอยกตัวอย่าง กรณีศึกษาจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินทางของผู้พิการ ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 74 เปอร์เซ็นต์เลือกกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เนื่องจากการเข้าถึงที่สะดวกสะบายของระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้เห็นว่ากรุงโตเกียวมีการออกแบบที่เอื้อสำหรับผู้พิการมากมาย เช่น ลิฟต์ในอาคารที่มีอักษรเบรลล์และเสียงบรรยาย บอกตำแหน่งสิ่งของต่างๆ เช่น ตำแหน่งที่นั่งในสถานี เครื่องใช้ในห้องน้ำสำหรับคนที่มีความบกพร่องทางการเห็น สัมผัสของพื้นถนนที่สามารถบอกความหมายให้แก่ผู้พิการได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงราวกั้นระหว่างทางเดินเท้าและถนน ซึ่งเป็นการออกแบบโดยเฉพาะของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น อีกทั้งมีการออกแบบถนนที่ผู้ใช้วีลแชร์สามารถใช้ร่วมกับรถยนต์ จักรยาน และคนเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่ผู้ขับขี่มีความระมัดระวังมากกว่าประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้กรุงโตเกียวในช่วงที่ได้รับคัดเลือกให้จัดพาราลิมปิกและโอลิมปิก ได้ออกกฎหมายเพื่อเป็นโอกาสส่งเสริมประเทศที่ปลอดอุปสรรคสำหรับคนพิการ และมีการขับเคลื่อนหลักการออกแบบ Universal Design อีกด้วย
ที่มา https://www.tokyoupdates.metro.tokyo.lg.jp/en/post-488/
เข้าถึง เท่าเทียม เท่าทัน และยั่งยืน
โดย The Urbanis ขอยกตัวอย่าง กรณีศึกษาจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินทางของผู้พิการ ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 74 เปอร์เซ็นต์เลือกกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เนื่องจากการเข้าถึงที่สะดวกสะบายของระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้เห็นว่ากรุงโตเกียวมีการออกแบบที่เอื้อสำหรับผู้พิการมากมาย เช่น ลิฟต์ในอาคารที่มีอักษรเบรลล์และเสียงบรรยาย บอกตำแหน่งสิ่งของต่างๆ เช่น ตำแหน่งที่นั่งในสถานี เครื่องใช้ในห้องน้ำสำหรับคนที่มีความบกพร่องทางการเห็น สัมผัสของพื้นถนนที่สามารถบอกความหมายให้แก่ผู้พิการได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงราวกั้นระหว่างทางเดินเท้าและถนน ซึ่งเป็นการออกแบบโดยเฉพาะของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น อีกทั้งมีการออกแบบถนนที่ผู้ใช้วีลแชร์สามารถใช้ร่วมกับรถยนต์ จักรยาน และคนเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่ผู้ขับขี่มีความระมัดระวังมากกว่าประเทศอื่นๆ
หัวใจหลักของการออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design คือ เข้าถึง เท่าเทียม เท่าทันและยั่งยืน ซึ่งเป็นการออกแบบสภาพแวดล้อมให้กับคนทุกๆกลุ่ม ผู้สูงอายุ (Older people) คนปกติ ผู้พิการ (people with disabilities) เป็นการทำให้ไม่มีอุปสรรค (Barrier-free) ในการใช้งาน สร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงพื้นที่การให้บริการ การออกแบบเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ถือเป็นหลักการที่พัฒนาพื้นที่ให้สังคมมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“เพราะฉะนั้นสิ่งพื้นฐานเบื้องต้นเลยที่ควรจะต้องเกิดขึ้น เพื่อทำให้ในสังคมเห็นคนพิการก็คือสภาพแวดล้อมของเมืองเอื้อให้ทุกคนใช้ชีวิตจริงๆ และไม่ใช่ใช้ชีวิตแบบพลเมืองชั้นสอง แต่ต้องใช้ชีวิตบนความเท่าเทียมกัน” จากบทความ เมืองไม่สะดวกยิ่งทำให้คนพิการรู้สึกเป็นอื่น
ดังนั้นเมืองของเราซึ่งมีแนวโน้มของผู้พิการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่ต้องการได้รับความสนใจและการดำเนินการจากรัฐ ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ รวมไปถึงสังคมของเรา เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงโอกาสและการบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นเมืองที่ดี เมืองที่ทำให้เราไม่รู้สึกพิการ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่มาข้อมูล
Universal Design หลักการออกแบบอย่างเท่าเทียม เพื่อองค์กรที่ยั่งยืน
รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย
ส่อง 10 อันดับเมืองที่ผู้พิการเทใจโหวตให้เป็นจุดหมายที่ดีที่สุด
ภาพฝันกรุงเทพฯ เมืองปลอดอุปสรรคผู้พิการ
ออกแบบอย่างไร? ให้ไม่ทิ้งใคร…ไว้ข้างหลัง
แนวทางการพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับผู้พิการ