01/02/2020
Life

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ – คนเมืองกับเรื่องโลกร้อน Take action แต่อย่าเครียดเกินไป

The Urbanis
 


“Take action แต่อย่าเครียดเกินไป”

กิจกรรมดีๆ ที่น่าสนใจอย่าง เทศกาลบางกอกแหวกแนว 2563 จะจัดขึ้นในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ ที่มิวเซียมสยามและจักรพงษ์วิลล่า เป็นเทศกาลทางความคิดที่ให้ไอเดียบันดาลใจสำหรับชีวิตในเมือง มีกิจกรรมทั้งเสวนา เวิร์คช็อป เปิดตัวหนังสือ ฉายภาพยนตร์ และคอนเสิร์ต (ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.bangkokedge.com)

เราจึงถือโอกาสนี้เดินทางไปยังวังจักรพงษ์เพื่อพูดคุยกับ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ผู้อำนวยการเทศกาล แต่แน่นอนว่า ในฐานะที่คุณหญิงเป็นนักสิ่งแวดล้อมผู้ก่อตั้งและอดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว และท่ามกลางบรรยากาศสถานการณ์ที่โลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน หัวข้อสนทนาของเราจึงว่าด้วยเรื่องราวตั้งแต่ โลกร้อน, เกรต้า ธุนแบร์ก, บริโภคนิยม, วีแกน, การลดลงของผึ้ง ไปจนถึงทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

สิ่งที่เราสัมผัสได้ก็คือ คุณหญิงนริศรา take action ต่อปัญหาโลกร้อนและพูดถึงมันด้วยท่าทีสบายๆ ซึ่งนี่น่าจะเป็นความ ‘นิ่ง’ ของคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมานาน และความนิ่งนี้เองที่เราคิดว่ามันน่าจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากจะ take action มีกำลังใจขึ้นบ้าง 

Q: เรื่องการตระหนักเกี่ยวกับโลกร้อนในปัจจุบัน เราจะเห็นว่ามีคนอย่าง เกรต้า ธุนแบร์ก (Greta Thunberg) ที่ไม่นั่งเครื่องบินไปร่วมประชุมยูเอ็น วง ColdPlay ประกาศงดทัวร์คอนเสิร์ตโปรโมตอัลบั้มใหม่ เพราะไม่อยากสร้างคาร์บอนหรือ Vouge Italia ฉบับล่าสุด ออกมาบอกว่าใช้ภาพวาดแทนการถ่ายแฟชั่นปก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการโปรดักชั่น เราจะเห็นคนออกมาทำอะไรแบบนี้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนคุณหญิงเองทราบมาว่าทุกวันนี้ก็เลิกซื้อเสื้อผ้ามือหนึ่งไปแล้ว

A: คือเป็นคนไม่ค่อยซื้ออะไรเท่าไหร่ แต่ว่าจริงๆ เราก็ซวย เพราะว่าเราเป็นลูกครึ่ง แล้วก็มีบ้านทั้งที่อังกฤษแล้วก็ที่นี่ ตรงนี้ก็เลยเป็นปัญหาหลักของเรา คือเรื่องเครื่องบิน แต่สิ่งที่จะทำทดแทนก็คือแทบจะไม่ทานเนื้อวัวเลยเดี๋ยวนี้ เพราะว่าเนื้อวัวใช้พื้นที่มากมายแล้วก็มีการปลูกพืชเพื่อที่จะให้วัวกิน เพราะฉะนั้นก็พยายามจะไม่กิน ที่โรงแรมก็จะซื้อไวน์ไทยที่ผลิตในเมืองไทย คือทุกคนก็ต้องทำเท่าที่จะทำได้ เรื่องบริโภคนิยมนี่เป็นปัญหาหลัก แต่ว่าถ้าจะดูเรื่องโลกร้อนจริงๆ ก็ต้องมาดูทั้งหมดว่า เศรษฐกิจรูปแบบเดิมที่เราเคยใช้กันมันไม่น่าจะเวิร์ค ถ้าเราอยากจะกู้โลกของเราให้ได้ 

คือที่เมืองไทยตอนนี้เรามาเน้นเรื่องถุงพลาสติกหรือเรื่องไม่ใช้พลาสติกซึ่งก็ดี แต่นั่นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จริงๆแล้วเราว่ามันน่าเสียดายที่เมืองไทยตื่นตัวช้าไปนิดหนึ่งเรื่องโลกร้อน เพราะว่าประเทศของเราก็มีแสงอาทิตย์ น่าจะมีโซล่าร์มากกว่านี้ น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่ว่าเนื่องจากสถานการณ์การเมืองก็น่าจะเป็นอุปสรรคด้วยในการที่จะเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่ารัฐบาลก็ดูเหมือนคล้ายๆ ว่าจะเอาตัวรอดอย่างเดียว แล้วก็ไม่คำนึงถึงปัญหาของประเทศชาติ อันนี้ก็ต้องพูดไปตามตรง ก็น่าเป็นห่วง มันต้องมีรัฐบาลที่มีนโยบายจริงๆ ต้องมีคนหนึ่งที่เป็นคล้ายๆ Climate star ลุกขึ้นแล้วก็บอกว่า โอเค ฉันจะจัดการตรงนี้ ฉันจะอุทิศชีวิตกับตรงนี้

แล้วก็คนไทยนี่ ไม่ทราบว่าเด็กไทย นักเรียนไทย ออกมาประท้วงเท่าที่อื่นหรือเปล่า หรือคนไทยตื่นตัวเท่าคนอื่นหรือเปล่า เพราะว่าเรื่องประท้วงอะไรต่ออะไร เราก็มีความเจ็บปวดมากกันใช่ไหม เรื่องการประท้วงที่เกิดขึ้น 15 ปีที่ผ่านมา การที่เราจะลุกขึ้น take action ในเมืองไทยอาจจะยากหน่อย เพราะฉะนั้นก็ต้องย้อนกลับมาที่พฤติกรรมส่วนตัว แล้วก็สิ่งที่ทำทุกวัน งดอะไรได้บ้าง เช่นการมีหมามีแมวอะไรแบบนี้ คนอาจจะไม่คิดถึงตรงนี้แต่นั่นมันก็เพิ่มปัญหา ทุกคนก็ต้องพยายามเริ่มที่ตัวเองก่อนดีกว่า แต่ว่าเท่าที่ผลักดันรัฐบาลได้ก็ควรจะผลักดัน 

แต่ว่าตอนนี้เราก็อยู่ในยุคมืดทั่วโลก เพราะว่ามีทรัมป์ ที่อังกฤษก็มีบอริส ที่อื่นก็ไม่อยากจะไปพูดถึงเท่าไหร่ นอกจากนิวซีแลนด์ที่ดูเหมือนตื่นตัวอยากจะลุกขึ้นทำอะไรจริงๆ หรือมีคนที่ทุกคนนับถืออย่าง เดวิด แอตเทนบะระ(David Attenborough) หรือ เกรต้า (Greta Thunberg) แต่ที่น่าสังเกตก็คือ เกรต้าทำให้ผู้ชายวัยกลางคนหรือแก่กว่านั้น ลุกขึ้นต่อต้านมากมาย ทำไม จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่ลึกกว่าการที่จะไม่กินเนื้อหรือแค่ไม่ขึ้นเครื่องบิน มันต้องมาพิจารณาทั้งหมดโดยระบบ Capitalism

Q: เหมือนกับว่าเอาง่ายๆ สุดเลยคือทุกคนเริ่มที่ตัวเองก่อน

A: ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรจริงไหมคะ พอบางทีเรามีปัญหาที่ใหญ่โตมากทุกคนก็จะท้อแท้ ก็จะคิดว่าไม่มีประโยชน์ งั้นเดี๋ยววิ่งออกไปซื้อนาฬิกาแพงๆ หรืออะไรแพงๆ ดีกว่า แก้เซ็งชั่วระยะหนึ่ง แต่จริงๆ การซื้อของแพงๆ เพื่อที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น มันก็เป็นสิ่งที่ผ่านไปแป๊บเดียว มันไม่ช่วยเท่าไหร่หรอก คือคนก็อาจจะมองเราบอก ‘แหม แต่เธอโชคดีบ้านสวยอยู่แล้วไม่ต้องมาพูดกับคนอื่นว่าควรจะเลิกซื้อของสวยๆ งามๆ’ ก็จริง อันนี้เราก็เลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามทำในสิ่งที่ทำได้ ที่ใกล้ตัว และทุกคนก็ทำได้เช่นกัน ซื้อเสื้อผ้าน้อยลง ซื้อเสื้อผ้ามือสอง พอใส่เสื้อผ้าเสร็จก็ไปขายต่อหรือบริจาค แล้วก็เรื่องการกิน อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนเลือกได้ คือโอเค คนที่มีเงินน้อย ปัญหาในการซื้อตัดสินใจเรื่องกินอะไรมันยากกว่าแน่นอน แต่ว่าผักพืช ข้าว คือสมัยก่อนคนไทยเราก็ไม่ได้กินเนื้อมากมายจริงไหมคะ เพราะฉะนั้น ในการกินอยู่ของคนไทยเมื่อก่อน เราไม่ได้พูดถึง Sufficiency economy นะ แต่พูดถึงว่าทุกคนสามารถจะเลือกได้

Q: ที่โรงแรมหรือว่าที่ร้านอาหารของที่นี่เองก็มีการซื้อของที่เป็น Local มากที่สุด

A: ก็พยายามซื้อของโลคัลให้มากที่สุด อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ง่ายๆ คือ หนึ่ง, มันก็ช่วยเศรษฐกิจไทย สอง, มันก็ทำให้ลดการขนส่ง เพราะว่าจริงๆ พอเขาคำนวณเรื่องสิ่งแวดล้อม การขนส่งทางเรือ ยกตัวอย่างนะคะ เขาก็ไม่ค่อยเอาตัวเลขตรงนี้มาคำนึง แล้วก็ที่โรงแรมนี่ เมื่อก่อนเชฟเขาทำมัสมั่นเนื้ออร่อยมาก ตอนหลังก็ไม่ทานกันเลย เขาก็คงเสียใจเขาก็อาจจะไม่ทานด้วยก็ได้ หลายคนบอกมาอยู่เมืองไทยยากสำหรับวีแกน แต่เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เมืองไทยอาจจะอยู่หลังเทรนด์สัก 5 ปี แต่มันก็ไปเร็วมาก

Q: สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำนี่ ก็อาจจะมีคนที่รู้สึกว่ามันช่วยได้จริงๆ หรือ 

A: ก็น่าจะได้ จำได้ไหมตอนนั้นที่นมผงยี่ห้อหนึ่งเขาพยายามจะผลักดันให้แม่ลูกอ่อนไม่เลี้ยงลูกด้วยนมของแม่ เพราะว่าเขาอยากจะขายนมผงของเขา แล้วคนก็ take action กันทั่วโลก แล้วในที่สุดนมผงของเขาก็ขายไม่ได้ อย่างในอังกฤษนี่รู้สึกการทานเนื้อลดลงไป 18% ภายในไม่กี่เดือนเอง จนอีกฝ่ายเขาก็เริ่มรณรงค์ว่า ถ้าคุณไม่กินเนื้อคุณจะไม่มีแรงบลาๆๆ แต่ถ้าดูพวกนักกีฬาที่ฟิตมากๆ เช่น Novak Djokovic หรือ Lewis Hamilton เขาก็กินเจอย่างเดียว เขาเป็นวีแกน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ มันก็เป็นเรื่องการศึกษา เป็นเรื่องของการพูดจนคนรำคาญ แต่ก็ช่วยไม่ได้ ต้องยอมให้คนไม่ชอบ คือบางทีเราอยากจะให้ทุกคนชอบ แต่มันก็เป็นไม่ได้

Q: ต้องยอมให้คนไม่ชอบเมื่อพยายามพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม

  A: ใช่ คือต้องมีจุดยืน ต้องยอมคุยว่า ทำไมเราไม่อยากได้หลอดพลาสติก ทำไมเราไม่ต้องการถุงพลาสติก อย่างบางทีเดินไปที่ปากคลองก็จะเห็นเด็กนักเรียนออกมาจากโรงเรียน แม่เขาก็ซื้อขนมให้ทาน เขาก็ใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ แล้วก็ใส่ลงไปในถุงอีก แทนที่แม่จะบอกว่าไม่ต้องการค่ะ แล้วก็มีถุงผ้าติดตัว คืออันนี้หวังว่าจะเปลี่ยนไป เพราะว่าตอนนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายแล้วก็น่าจะดีขึ้น เพราะฉะนั้นมันแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีนโยบาย ในขณะเดียวกันก็มีการรณรงค์ มันก็สามารถช่วยอะไรได้ คือเราต้องไม่ยอมแพ้ เราต้องไม่ท้อแท้กัน 

Q: อยากให้คุณหญิงพูดถึงเกรต้า ธุนแบร์ก

A: แหม เราก็เป็นแฟน มีคนบอกว่าพ่อแม่ผลักดัน เขาไม่ได้ทำเอง แต่เราว่าไม่ เราว่าเขาทำเอง เขาก็พูดมีเหตุมีผลและก็ดี ชอบให้มีคนที่เป็นเด็ก สำหรับเยาวชน เพราะบางทีเยาวชนไม่มีตัวอย่างที่ดีที่จะคอยเป็นแรงบันดาลใจให้เขา เพราะฉะนั้นเราต้องการคนแบบเกรต้า คนที่รวยมาก เก่ง สร้างบริษัทใหญ่โต แล้วก็เป็นผู้ชาย ก็มีเต็มไปหมด แต่สังเกตว่าคนเหล่านี้จะเกลียดเกรต้าอย่างไม่น่าเชื่อเลย ขณะที่เธอเป็นแค่เด็กอายุ 16 เพราะว่าเขาก็กลัวนิดหน่อย

Q: ดูเหมือนว่าเรื่องแบบนี้ดูมีพลังเพราะว่าเธอเป็นเด็กผู้หญิงและก็อายุน้อย

A: แต่ว่าก็เห็นเขาจับมือกับเดวิด แอตเทนบะระ ซึ่งอายุ 91 หรือ 92 แล้ว ซึ่งก็พูดถึงการสูญเสียของสัตว์ชนิดต่างๆ อย่างน่ากลัว เช่น กบเขียดที่ลดจำนวนลงไป 75% แล้วก็เรื่องผึ้งที่ไม่ทราบว่าคนไทยตื่นตัวแค่ไหน ที่อังกฤษแล้วก็ที่ยุโรปเขาตื่นตัวมาก เพราะการใช้ย่าฆ่าพืชและยาฆ่าแมลงซึ่งทำให้ผึ้งตายมาก ผึ้งเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะผสมพันธุ์ของเชื้อพืชต่างๆ ถ้าไม่มีผึ้งก็จบ สังเกตถ้าขับรถตอนหน้าร้อนที่เมืองนอก เมื่อก่อนตอนสมัย 30-40 ขับรถตอนกลางคืนจะเต็มไปด้วยแมลงที่บินมาแล้วก็มาตายที่กระจกหน้าของรถ เดี๋ยวนี้ลดลงไปมากแทบจะไม่มีเลย เมื่อก่อนต้องหยุดแล้วก็ล้างกระจกหน้ารถ ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว หายไปหมดเลย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่อยากจะพูดแล้ว คนอ่านก็เซ็ง คือบางอย่างถ้าเราปล่อย ข้างถนนแทนที่จะปลูกแต่พืชอย่างเดียว ปลูกให้หญ้าขึ้นให้มีวัชพืชหรืออะไรขึ้น แมลงต่างๆ หรือว่านกมันก็สามารถกลับมาได้ เช่นประธานคนปัจจุบันของมูลนิธิโลกสีเขียวตอนนี้เขาก็ทำ rewilding ปล่อยให้ธรรมชาติกลับมา ให้ร่องน้ำกลับมา ก็มีนากมาอยู่ในที่ของเขา คือถ้าเราทำอะไรเล็กๆน้อยๆ มันก็ยังได้ผล อยากให้คนยังมีกำลังใจ จริงๆ ในกรุงเทพฯ ถ้าปล่อยสวนสาธารณะให้มัน wild มากกว่านี้ บางทีเราจะตัดเล็มหญ้าทั้งหมดเลย เดี๋ยวนี้ที่อื่นเขาจะเก็บหญ้าให้รกไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อให้ตัวแมลงให้สัตว์เล็กๆ พวกนกอยู่ในนั้น มันทำได้ คือตรงนี้ยังมีความหวังอยู่ คิดว่าเราทำได้ แล้วคนไทยพอได้ไอเดียอะไรเขาก็ทำเร็ว ปัญหาคือบางทีเจ้าหน้าที่เปลี่ยนตลอดเวลา เปลี่ยนรัฐบาล เจ้าหน้าที่เปลี่ยนปุ๊บ แทนที่จะมีคนรักแล้วดูแลไปเรื่อยๆ แล้วก็อุทิศชีวิตกับตรงนั้นมันไม่เป็นอย่างนั้น

Q: ในมุมเยาวชนบ้านเรา อย่างที่คุณหญิงพูดตอนแรกว่าไม่ค่อยเห็นคนแบบเกรต้า

A: มันอาจจะมีหลายเหตุผล การศึกษาของเรามันอาจจะเน้นการท่องจนเด็กไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ไม่มีเวลาคิดอย่างอื่น ไม่ทราบนะ สมัยเราเรียน เพราะนี่มันก็ชาติหนึ่งไปแล้ว ก็มีแต่ท่องหนังสือ เดี๋ยวนี้พ่อแม่ก็อาจจะอยากให้ลูกเป็นหมอเป็นทนายก็ผลักดันให้ลูกเข้มงวดในการเรียนหนังสืออย่างเดียวไม่พาออกไป แต่ว่าอันนี้ก็เปลี่ยนนะ อย่างที่พูดให้ฟังประธานมูลนิธิโลกสีเขียวเขาก็จะจัดเป็น nature watch ที่สวนลุมฯ แล้วคนก็มาเยอะมาก เขาบอกว่าทุกครั้งที่เขาจัด เขาก็จะดีใจเพราะว่าเด็กจะตื่นตัวมากในการไปร่วมดูว่า มีสัตว์กี่ตัว แล้วถามคำถามที่น่าสนใจ ก็คิดว่าโอเค คือมีความหวัง แต่ว่าถ้าเปลี่ยนระบบการศึกษาได้ก็จะดี

Q: มีอะไรอีกบ้างที่คุณหญิงอยากจะทำให้ได้แล้วพยายามจะปฎิบัติ

A: ถึงช่วงหนึ่งก็คงต้องตัดสินใจว่าไม่กลับไปอยู่เมืองนอก ไม่บินไม่อะไร คือครั้งหนึ่งเคยทดลองว่ามันเป็นอย่างไรก็ได้เดินทางจากลอนดอนไปโฮจิมินห์ซิตี้โดยใช้รถไฟ ซึ่งใช้เวลา 3 อาทิตย์ เพราะเราก็ว่างระหว่างทาง แน่นอนรถไฟมันก็ประหยัดพลังงานกว่า ก็สนุก เป็นการเดินทางที่มีความสุขมาก ไปกับผู้หญิง 2 คน ทุกคนก็บอกว่าพวกเธอไปเดี๋ยวจะโดนปล้นจะโดนโน่นนี่ ก็ไม่โดนอะไรเลย เปลี่ยนรถไฟ 10 ครั้ง ทุกอย่างราบรื่น ไม่ได้บอกว่าทุกคนจะทำอย่างนั้นได้ นี่เรากำลังจะจัดเทศกาลบางกอกแหวกแนว ต่อไปเราต้องคิดว่าจะให้วิทยากรมาจากที่ไกลมากหรือเปล่า อันนั้นก็เป็นสิ่งที่จะต้องเอามาคิด แต่ว่างานนี้คนส่วนใหญ่ก็มาจากแถวนี้ มาจากเมืองไทย แล้วก็ประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่

Q: งานเทศกาลบางกอกแหวกแนวนี้เกี่ยวกับอะไรบ้าง

A: เกี่ยวกับหลายอย่าง ก็จะมีเรื่อง NGO เรื่องแยกขยะ เรื่องพลาสติก เรื่องโลกร้อน เรื่องแม่โขง ซึ่งแม่โขงก็น่าเป็นห่วงมาก แต่แม่โขง แน่นอน มันก็พันไปกับจีน เพราะว่ามันก็เริ่มในจีน แล้วจีนก็เป็นประเทศมหาอำนาจตอนนี้ ถ้าจีนเขาไม่จัดการกับสิ่งแวดล้อมเขาก็แย่นะ เพราะเขาก็มี desertification ในประทศจีน เพราะว่าน้ำไม่พอ เขาก็จะต้องจัดการเรื่องปัญหาอากาศเป็นพิษด้วย 

แล้วก็มีอีกเกือบทุกเรื่อง มีเรื่องไม่เชิงการเมืองแต่เป็นเชิงรัฐศาสตร์มากกว่า แล้วก็มีเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งที่เขียนเรื่องคิมจองอึนซึ่งน่าสนใจมาก เขาเป็น Bureau Chief ของวอชิงตันโพสต์ที่ปักกิ่ง แล้วก็มี Frank de coster เขียนหนังสือวิธีการที่จะเป็นผู้เผด็จการ แล้วก็ Peter Frankopan ซึ่งเขียนหนังสือที่สุดยอดมากเลย เป็นหนังสือชื่อ The New Silk Roads เขาเขียนถึงการค้าขายประมาณ 2,000 ปีระหว่างตะวันตกกับตะวันออก แต่ก็จะมองไม่เหมือน คือที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ก็จะเน้นตะวันตกมากกว่าตะวันออก แต่เขาจะมองภาพกว้างเลย เขียนแบบสุดยอด เป็นหนังสือที่ดีมาก 

เราก็จะมี launch หนังสือหลายเล่ม เล่มที่ทุกคนกำลังรอคอยมากชื่อ Very Bangkok  ซึ่ง Philip Cornwel-Smith เขาเคยเขียนหนังสือ Very Thai ตอนนี้เขาเขียน Bangkok ในแง่มุมต่างๆ อย่างที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติไม่เคยคิดจะมอง แล้วก็มารวมในเล่มเดียว เขาจะมองเรื่องคนจีน Contribution ของคนจีน คนแขก คนมอญ เขาจะดูเรื่องอาหาร สถาปัตยกรรม ทุกอย่าง เล่มนั้นน่ะจะดีมาก เลยตื่นเต้นมากเรื่องเล่มนี้ แล้วก็จะมีพวกวรรณกรรม เรื่องหลวงพระบาง เลิฟสตอรี่ ของหลานของเจ้าหลวงพระบาง ก็จะมีอะไรสำหรับทุกคนนะคะ 

จริงๆ แล้วมันก็เป็นเทศกาลที่ทั้งแหวกแนวและหลากหลาย มีเวิร์คชอปที่ทำอาหารโดยไม่ใช้น้ำตาลหรือเครื่องปรุง แล้วก็มีเวิร์คชอปเรื่องเขียนฟีเจอร์ไรท์เตอร์ แล้วก็มี Christopher Moore ก็จะมีเวิร์คชอปเรื่องการเขียน crime novel ซึ่งก็สนุก เป็นสิ่งที่คนต่างชาติที่มาอยู่เมืองไทยเขาก็จะชอบเขียนเรื่องนักสืบ คนนี้ก็จะมาสอนเรื่องการสร้างบุคลิกของคนในนวนิยายของเราให้มีตัวมีตน ก็น่าจะสนุก

Q: คอนเซ็ปท์หรือว่าเป้าหมายของงานนี้

A: หนึ่งก็คือเพลิดเพลิน แล้วก็เป็นสิ่งที่ทุกคนมาได้ทั้งครอบครัว ก็จะมีส่วนที่เป็นกิจกรรมของเด็กซึ่ง Museum Siam ก็จะจัด แล้วห้องสมุด Neilson Hays เขาก็จะมาช่วยจัด ตอนเย็นก็มีเพลงมีดนตรีซึ่งลูกชาย เล็ก จุลจักร เขาก็จะเป็นคน curate ตรงนี้ตอนเย็น แล้วก็จะมีฉายหนังด้วย มีอะไรหลากหลายมาก แล้วก็อาหารอร่อยมากด้วย ส่วนในบ้าน ในสวนถ้าซื้อ chill pass ก็สามารถจองขึ้นไปชมบ้านได้ เดินไปหลังบ้านได้ นอกจากตรงนี้ทุกอย่างฟรีหมดเลย ถามว่าทำไมตรงนี้ต้องคิดตังค์ เพราะว่าไม่งั้นคนจะเข้ามาเยอะมากแล้วจะรับมือไม่ไหว แต่หวังว่าปีนี้จะดีกว่าปีอื่นๆ ก็คือมีรถไฟใต้ดินแล้วซึ่งจะทำให้คนมาง่ายมาก เพราะเมื่อก่อนทุกคนจะโทรมาถามว่าจอดรถที่ไหน ปีนี้คุณไม่ต้องจอดรถเลย สถานีสนามไชยจะเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่สวยที่สุด พอมาถึงแล้วคุณมาในเทศกาลคุณก็สามารถออกไปเดินเล่น ไปดูวัดสวยๆ ไปที่สวนสราญรมย์ ไปที่ปากคลองตลาด นอกจากในงานข้างนอกก็มี เดี๋ยวนี้แถวนี้ก็พัฒนาในรูปแบบหนึ่งมีร้านอาหารอร่อยเยอะมาก งานมีระหว่าง วันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2563 ประตูเปิดเที่ยงถึงห้าทุ่ม เราเลือกห้าทุ่มเพราะเป็นเวลาที่รถไฟฟ้าปิด

Q: คุณหญิงปรับตัวกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันของกรุงเทพฯ อย่างไร ฝุ่นหรือว่าอะไรต่างๆ อยู่กับมันยังไง สู้กับมันยังไง

A: ก็ซื้อหน้ากาก จะเดินน้อยลงก็เลยอ้วนขึ้น แล้วก็พยายามออกไปต่างจังหวัดบ้าง โดยเฉพาะตอนนี้งานเยอะมาก งานล้นมือ ส่วนใหญ่จึงนั่งอยู่ในบ้าน ซึ่งไม่ดีสำหรับสุขภาพเท่าไหร่ ก็คิดว่าอันนี้ต่อไปต้องแก้ได้ มันไม่ยากอะไรแล้วคนก็ต้องลงรถไฟใต้ดินมากขึ้นหรือขึ้นบีทีเอส ต่อไปสาย Blue line สายสีฟ้ามันก็จะเป็นเหมือน circle line วิ่งทั่วกรุงเทพฯ มันจะสะดวกมาก

Q: เรื่องทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาล่ะครับ

A: เห็นชัดๆ ว่ามันไม่ใช่ทางสำหรับคนเดิน กว้าง 10 เมตรมั้ง เขาจะแสร้งทำเป็นถนนแน่นอน แล้วทิวทัศน์ของแม่น้ำ ย่านเก่าๆ ที่อยู่แถวนั้นก็ถูกไล่ มันไม่ดีเลย ในขณะที่เราควรจะลดการใช้รถยนต์ คือเขาบอกว่ามันจะเป็นทางเดินและทางจักรยาน ไม่เชื่อ เขาเคยออกไปเดินหรือเปล่า คนที่คิดโครงการนี้ขึ้นมา ตอนกลางวันร้อนมาก คนไทยไม่เดินค่ะ ตรงนั้นน่ะ ถ้าเดินบนถนนเล็กๆ ในซอยนะ ถ้าคิดแผนใหม่ให้มันมีทางนิดหน่อยแล้วก็วกเข้ามาในซอยมันจะน่าเดินกว่าแล้วก็หาอะไรให้คนแถวนั้นทำ แต่นี่จะอยู่โดดๆ อย่างนั้นเหรอ จะมองเห็นอะไร แล้วเขาได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งไหมเรื่อง hydrology (อุทกวิทยา) ของแม่น้ำ ไม่เลย นี่เป็นโครงการที่ไร้ประโยชน์แล้วก็เป็นโครงการที่หวังผลประโยชน์ เท่าที่ดูนะ ทำเป็นว่าสร้างถนนในแม่น้ำโดยที่อ้างว่าเป็นทางเดิน ไม่จริง

ทุกคนที่ต่อต้านก็นึกว่ามันจบไปแล้ว แต่จริงๆ เขาก็ทำไปอีก ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง แล้วแผนที่ตรงนี้ เกาะรัตนโกสินทร์ ที่จะไล่ทุกคนออกให้เหลือแต่พวกอาคารเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาดู เป็นการไม่เข้าใจเลยว่านักท่องเที่ยวอยากได้อะไร นักท่องเที่ยวเขาก็อยากได้ความเป็นไทยแบบธรรมดา ไม่ใช่ความหรูหรา ทุกอย่างต้องเป็นวังหมด ไม่ใช่ เขาอยากจะมาเดินแล้วก็เจอคนบ้าง ซื้ออาหารอร่อยๆ คือพูดแล้วเซ็ง เราคงจะเป็นคนเดียวมั้งที่เคยโตที่นี่ ตรงนี้ ชุมชนนี่ไปหมด แต่ทางเลียบแม่น้ำนี่เป็นสิ่งที่เลวมากๆ

Q: จะต้านไหวไหม

A: ก็น่าจะได้มั้ง ไม่รู้สิ เดี๋ยวต้องคอยดู คือเราไม่ได้นำหน้าตรงนั้นน่ะ แต่ว่าถ้าใครเรียกไปต่อต้านก็พร้อมที่จะไปทันทีเลย เช่นเอาโซ่ไปล่ามกับรถไถหรืออะไรสักอย่าง จริงๆ มันผิดมาก เคยไปเดินไหมคะตรงสะพานพระปิ่นเกล้า มันจะมีทางเลียบแม่น้ำแคบๆ อันนั้นเป็นทางเดินจริงๆ หรือทางที่จักรยานไปได้ คือแทนที่จะข้ามสะพานก็เลี้ยวขวาไป แล้วก็จะเห็นว่า หนึ่ง, ขยะเต็มไปหมดเลย ไม่มีใครมาเก็บขยะ ตอนกลางวันไม่มีใครเดิน แล้วตอนกลางคืนก็น่ากลัว เพราะว่าเมืองไทยร้อน แล้วถ้าคุณไม่มีต้นไม้ ไม่มีใครเดินได้ ต้องต่อต้านค่ะ ต้องช่วยกัน

Q: พูดถึงการอยู่ริมแม่น้ำคุณหญิงก็จะ concern เรื่องเมืองจมน้ำเป็นพิเศษ

A: ต้อง concern แน่นอน ตอนนั้นคุณพิชญา สุดบรรทัด เปิดตัวหนังสือของเขา (Bangkok Wakes to Rain รวมเรื่องสั้นภาษาอังกฤษ) ที่ Neilson Hays ตอนสุดท้ายมองไปในอนาคต 30 ปี กรุงเทพฯ ก็ต้องทิ้งไปหมดแล้ว แล้วคนก็จะนั่งล่องเรือมาดูพวกตึกสูงๆ ที่ยังอยู่บ้าง แล้วพวกตึกสูงๆ นี้ก็กำลังจะล้มลงไปในน้ำ เพราะว่าฐานพออยู่ใต้น้ำเป็นเวลา 10 ปีมันก็จะเริ่มเสีย คุณก็จะเห็นเป็นแท่งๆ กำลังจะล้มลงไปในน้ำ อ่านแล้วก็กลุ้มใจมาก เราก็คงตายไปแล้วล่ะ แต่ก็สงสารลูกสงสารหลาน แต่ว่าจริงๆ นี่ก็เป็นปัญหาที่เมืองที่สร้างใกล้ทะเลก็จะเป็นกันหมดเผชิญกันหมด ลอนดอนก็เหมือนกัน หลายประเทศมีปัญหาเดียวกัน เพราะฉะนั้นก็วนกลับมาที่จุดเริ่มของเรา ก็คือต้องพยายามช่วยกันไม่ให้โลกร้อนขึ้นไปเกิน 1.5

Q: คุณหญิงมีคำแนะนำสำหรับคนเมืองไหมครับว่าเราจะอยู่กันอย่างไร

A: อย่าเครียดเกินไปอันนั้นสำคัญที่สุด ไม่งั้นก็ทำอะไรไม่ได้ อย่าหดหู่ แล้วก็พยายามเดินมากขึ้น ใช้การขนส่งมวลชนมากขึ้น และน่าจะเลิกกินเนื้อวัว ซึ่งคนไทยก็คงไม่ได้กินเท่าไหร่อยู่แล้ว แต่ว่าเลิกกินดีกว่า เพราะนั่นจะช่วยเยอะมากจริงๆ แล้วก็พยายามกินผักมากขึ้น แล้วก็ยิ้มมากขึ้น เรื่องการปลูกต้นไม้ก็เป็นสิ่งที่ดี อาจจะไม่ได้ไปปลูกในโครงการป่า ปลูกที่ไหนก็ได้ ที่นี่เราก็มีต้นไม้เยอะ เดี๋ยวเราก็จะยัดต้นไม้เข้าไปอีก

Q: สุดท้ายแล้ว point ที่เราคุยกันคือทุกคนถ้าทำอะไรได้ก็ช่วยกันทำ

A: ใช่ ทุกคนจะได้ไม่รู้สึกกลุ้มใจ เพราะว่าข่าวตอนนี้เราดูข่าวอะไรก็ตาม เช่นที่ออสเตรเลีย ดูข่าวว่าสัตว์ตายไป 500 ล้านตัว อันนี้ใครอ่านก็อยากจะร้องไห้และหดหู่แล้วก็ไม่ลุกจากเตียง แต่เราก็ต้องลุกจากเตียงแล้วพยายาม อย่างสวนก็พยายามปลูกพืชอะไรที่แมลงชอบ ให้มันรกบ้างไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องเรียบร้อยเหมือนสวนสาธารณะ ให้รกบ้าง แล้วก็ถ้าคิดจะซื้ออะไรก็ซื้อมือสองบ้าง แต่ไม่ได้บอกว่า แหม ต้องอยู่เหมือนแม่ชีหรือพระ แต่สมมุติว่าเราไปนั่งสมาธิสักอาทิตย์หนึ่ง นั่นก็คิดดูสิว่าเราลดการใช้พลังงานแค่ไหน คือทุกคนก็ทำอะไรได้ แต่ว่าอย่าเครียดมากดีกว่า เพราะว่าเครียดมากก็ไม่ช่วยหรอก

Q: ทุกวันนี้ความสุขในชีวิตของคุณหญิงคืออะไร

A: มีหลายอย่าง ครอบครัว อยู่กับลูกกับหลาน แล้วก็ชอบอ่านหนังสือ ชอบกินชอบทำกับข้าว ชอบทานไวน์

Q: ก็แวดล้อมไปด้วยสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว

A: ใช่ๆ แต่ว่าง่ายๆ นะ ไม่ได้เป็นคนหรูหรา ไม่ค่อยชอบไปงานใหญ่ที่ต้องแต่งตัว เจอคนเยอะๆ อะไรอย่างนี้ไม่ค่อยชอบ


Contributor